วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566

"ทวี" แนะรอ “SEA:สงขลา-ปัตตานี” ชะลอให้ประทานบัตรเหมืองหินสายบุรี

จากกรณี เครือข่ายประชาชนพิทักษ์เขาเตราะปลิง รวมตัวคัดค้านโครงการขอประทานบัตรเหมืองหินแกรนิต และบุกล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ที่เทศบาลตำบลเตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสำนักงานอุตสาหกรรมประจำจังหวัดปัตตานี และ บริษัท อิบนู อัฟฟานแกรนิต กรุ๊ป จำกัด โดยอ้างเหตุผลว่าไม่เปิดให้ประชาชนกลุ่มคัดค้านการขอประทานบัตรเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยนั้น


ล่าสุด สื่อมวลชนได้สอบถามเรื่องนี้มายัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ส่วนตัวขอให้กำลังใจประชาชน และขอเรียนว่าจุดยืนส่วนตัวให้ความสำคัญระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม การพัฒนาต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนรวม ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และต้องคำนึงถึงความยั่งยืน

การจัดทำโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ จะต้องมี “การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (Strategic Environmental Assessment) หรือ SEA ก่อน

.

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า กรณีพื้นที่ปัตตานีนั้น มีโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี SEA:สงขลา-ปัตตานี ที่เป็นผลมาจากการรุกขึ้นสู้ของ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ได้คัดค้านและชุมนุมเรียกร้องโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อปี 2564-2565 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลต้องชะลอโครงการ และต้องทำผลประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เสียก่อน

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.65 รัฐบาลให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลงนามสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในการจัดทำ SEA “แผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี” วงเงินค่าจ้าง 28.22 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษานาน 18 เดือน หรือแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567

.

ขณะที่การจัดทำ SEA ครั้งนี้ จะมีการจัดเวทีประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรวม 40 เวที และมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 3,000 คน แบ่งเป็นปี 2566 จำนวน 32 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 2,100 คน และปี 2567 จำนวน 8 เวที ผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 900 คน

.

จากการติดตามทราบว่ามีการประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27-29 พ.ค.66 จัดขึ้นที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งถือว่าทุกอย่างดำเนินการไปตามครรลองที่ควรจะเป็น

“จุดยืนส่วนตัว การทำโครงการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ต้องรอผลการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี หรือ SEA:สงขลา-ปัตตานี ให้เสร็จก่อน เพราะ SEA ครอบคลุมทั้ง 3 ด้านของการพัฒนา ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากแผนหรือแผนงานที่ไม่ยั่งยืน และที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียหรือเสื่อมสภาพของสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ หรืออาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณในการพัฒนาประเทศ” พ.ต.อ.ทวี กล่าวในที่สุด

.

วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566

"ประชาชาติ" รับเรื่องร้องเรียน-ขอความยุติธรรม แก้ปัญหาประมง

(2 มิถุนายน 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานพรรคประชาชาติ กรุงเทพฯ ว่า เมื่อเวลา 14.00น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และว่าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และ นายพิสุทธิ์ อังจันทร์เพ็ญ ฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาชาติ และนายมนตรี บุญจรัส คณะกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ รับเรื่องร้องเรียน ขอความเป็นธรรมจาก นายศรัณย์ แก้วชัยเจริญกิจ, นายกฤษดา ตั้งวิชิตฤกษ์ และนายขันธ์ชัย ซิ้มสกุล ในฐานะกลุ่มตัวแทนผู้ได้รับปัญหาความเดือดร้อน จากกรณีปัญหาประมง โดยข้อบังคับทางกฎหมายสร้างผลกระทบกับประชาชน ซึ่งพรรคประชาชาติ จะร่วมพิจารณาศึกษาข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำประมง เพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาช่วยประมงไทยต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566

"พ.ต.อ.ทวี" ติงแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ ขัดเจตนารมณ์ประชาชน

(1 มิถุนายน 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในประเด็นกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางคน มีแนวคิดที่จะเสนอรัฐบาลแห่งชาติ โดย  พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า "แนวคิดดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะในกระบวนการประชาธิปไตย ประชาชนไปเลือกตั้งแล้ว ซึ่งคำว่าชาติในความหมายของรัฐบาลแห่งชาติ ไม่ใช่ชาติของประชาชน แต่เป็นชาติของบางคนที่กำลังจะหมดอำนาจ แต่คล้ายกับว่ายังต้องการตำแหน่งและผลประโยชน์ จึงสร้างเรื่องขึ้นมาเพราะอาจมีความวิตกกังวล ซึ่งเป็นธรรมดาของคนที่อยู่ในอำนาจจนเคยชิน วันนี้ทุกอย่างเดินตามขั้นตอนอยู่แล้ว เราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เชื่อมั่นเสียงของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยรวมกว่า 70% ฉะนั้น ถ้าหากใครไม่พอใจผลที่ออกมาก็ขอให้เขารอไปอีก 4 ปีครับ"

วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

“ทวี” พอใจ “เอ็มโอยู” แก้ปัญหาภาคใต้ครบ แนะทางออกปม “112”

“พ.ต.อ.ทวี” พอใจภาพรวม “เอ็มโอยูว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล” เหตุครอบคลุมทุกเรื่อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ เล็งเปลี่ยนภารกิจหน่วยปฏิบัติ โดยเฉพาะ กอ.รมน. เลิกระบบ “ทวิรัฐ” เปลี่ยนให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นความมั่นคงของรัฐกับความผาสุกของประชาชนต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ขณะที่สมรสเท่าเทียมไม่บังคับ ไม่ขัดแย้งศาสนา แนะทางออกแก้ 112 ป้องกันการใส่ร้าย หากผู้ถูกร้องไม่ผิด ผู้ร้องต้องรับโทษ   

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “มอร์นิ่งเนชั่น” ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 เมื่อวันอังคารที่ 23 พ.ค.66 ถึงภาพรวมความพึงพอใจ 23 ข้อของเอ็มโอยู ว่า ใน 23 ข้อเป็นจำนวนมากเป็นส่วนของพรรคประชาชาติที่ได้บอกกับประชาชนเอาไว้ ซึ่งเอ็มโอยูเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ โดยปกตินโยบายสาธารณะเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องทำอะไร แต่สิ่งสำคัญที่เราไม่ค่อยพูดถึงคือ รัฐบาลไม่ควรทำอะไรและรัฐบาลต้องไม่ทำอะไร ก็คือรัฐบาลจะต้องไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือหลักความยุติธรรม อันนี้สำคัญมาก 

ทุกวันนี้เราจึงมีกระบวนการข้อหนึ่งคือ ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปราชการ ปฏิรูปกองทัพ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะกฎหมายที่ดีถ้าถูกใช้โดยคนไม่สัตย์ซื่อ หรือไม่ธำรงไว้ซึ่งการจะคุ้มครองสิทธิของประชาชน ก็จะทำให้บ้านเมืองไม่ยุติธรรม ความยุติธรรมเป็นเป้าหมายของการรวมตัวเป็นประเทศชาติ  ซึ่งในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน เราต้องแยกผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม และต้องใช้ระบบคุณธรรม ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาสิ่งนี้ถูกละเลย 

“สิ่งที่สำคัญในเอ็มโอยูจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจ, รายได้,  การปฏิรูปที่ดิน ซึ่งวันนี้เรามีปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินมาก จะต้องกล้ามาทำ แล้วก็ที่สำคัญความไม่ยุติธรรมมากที่สุดคือการจัดทำงบประมาณ เราจะต้องมาสร้างประสิทธิภาพ และยังมีอีกหลายๆ เรื่อง ในเรื่องปัญหาเกษตรกรก็เขียนไว้เยอะมากเลย การประมงอะไรต่างๆ แม้แต่เรื่องแรงงาน ระบบสวัสดิการ โดยรวมๆ พรรคประชาชาติก็พอใจในข้อเสนอ โดยเฉพาะเราต้องแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นมายาวนาน ต้องแก้ให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืน”

@@ สมรสเท่าเทียมไม่บังคับ ไม่ขัดแย้งศาสนา

พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงประเด็นสมรสเท่าเทียมในเอ็มโอยูว่า เรื่องการยืนยันและการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ใช่มาตรการบังคับ แล้วทางพรรคแกนนำก็เขียนไว้ว่า โดยจะไม่บังคับกับประชาชนที่มีความขัดแย้งกับหลักการศาสนาที่ตนเองนับถือ อันนี้ไม่ได้ใช้กันทุกคน สิ่งนี้ท่านอาจารย์วันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ) และคณะก็ได้ดู เพราะว่าบริบทหรืออัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่เราก็เขียนอาจจะไม่ใช่ศาสนาอิสลามอย่างเดียว ไม่ใช่มุสลิมอย่างเดียว ศาสนาอื่นก็เหมือนกัน เราพยายามมองเรื่องพหุวัฒนธรรม

@@ เลิกแก้ปัญหาใต้แบบ “ทวิรัฐ” เปลี่ยนให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ในประเด็นเรื่องการทบทวนภารกิจของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า พรรคที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลือกมากที่สุด คือพรรคประชาชาติ รองลงมาก็คือพรรคก้าวไกล ดังนั้นเราถือเป็นตัวแทนของประชาชน เราจึงได้บรรจุเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไป มันไม่ใช่ปัญหาของคนภาคใต้อย่างเดียว มันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาครั้งหลัง 20 ปีใช้เงินไป 5 แสนล้านบาท ยังไม่ได้รวมเงินตามหน่วยงานปกติ ตามฟังก์ชั่น (งบฟังก์ชั่น) แต่สันติภาพยังไม่เกิดขึ้น เราจึงเห็นว่าภารกิจหรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ใช้ความมั่นคงของรัฐอยู่เหนือความยุติธรรมของประชาชน ทุกอย่างต้องมีการทบทวน 

“ในช่วงที่พรรคประชาชาติเราหาเสียง เราจะเปลี่ยนภารกิจของ กอ.รมน.จากความมั่นคงของรัฐเป็นความมั่นคงของประชาชน งบที่ไป กอ.รมน.นั้น คน กอ.รมน.มีแค่ 120 กว่าคน แล้วไปเอาข้าราชการมาบรรจุเป็นกำลังพล ใช้เงิน เมื่อก่อนเกือบหมื่นล้าน เดี๋ยวนี้ 7,000 ล้าน แต่ขณะที่ประชาชน 2-3 ล้านคน กลับไม่ได้รับการดูแลคุณภาพชีวิต ปัญหาปากท้อง ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน การศึกษา อันนี้ถือเป็นสันติภาพเบื้องต้น”

“เราจะต้องเปลี่ยนภารกิจบทบาท กอ.รมน. เราอาจจะต้องเปลี่ยนระบบวิธีคิดจากรัฐซ้อนรัฐ เป็นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง จริงๆ มันเป็นเรื่องการบริหารราชการ ไม่ได้ไปแก้กฎหมาย ไม่ได้ไปแก้อะไรเลย คราวที่แล้วนายกฯ มียศนำหน้าเป็นพลเอก แต่ตอนนี้นายกฯเป็นนายแล้ว และเรื่องหลักการการเมืองนำการทหารมันมีมานานแล้ว แต่เพิ่งมาเปลี่ยนหลังยึดอำนาจให้ทหารนำการเมือง” 

“ผมมองว่าวันนี้มันจะพัฒนาไปอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง คือต้องใช้ความยุติธรรมและการศึกษานำการทหาร นำการเมืองด้วยซ้ำไป เพราะภาคใต้อยู่ในภาวะของความหวาดระแวง ความไม่เข้าใจ ที่สำคัญในสามจังหวัดไม่ใช่พี่น้องที่เป็นมุสลิมอย่างเดียว เรามีพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธและพี่น้องที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีความปลอดภัยและมีอนาคต” 

“สันติภาพกับการแบ่งแยกดินแดนเป็นคนละเรื่องกัน สันติภาพคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดินแดนเราจะแบ่งแยกไม่ได้อยู่แล้ว มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ว่าเราต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เรียกว่า ‘พหุวัฒนธรรม’ เมื่อก่อนเราแก้ปัญหาแบบ ‘ทวิรัฐ’ คือคนถือปืนกับคนมีความขัดแย้ง แต่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมเลย วันนี้เราต้องกล้าให้ประชาชนมีส่วนร่วม“

@@ ความมั่นคงของรัฐกับความสุขประชาชนต้องเป็นเรื่องเดียวกัน

“เราต้องมานิยามก่อนว่า ความมั่นคงของรัฐกับความสุขของประชาชนต้องเป็นเรื่องเดียวกัน วันนี้ภารกิจของ กอ.รมน. เหมือนมองแค่ความมั่นคงของรัฐ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส แย่งกันเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรมากที่สุด ดังนั้นรัฐต้องไปดูแล อย่างเช่น อาชีพประมงถูกทำลายด้วยออกกฎหมายเหมือนห้ามทำการประมง พ.ร.ก.การประมง ลักษณะอย่างนี้ กอ.รมน.ต้องมาดูแลเรื่องพวกนี้ด้วย ไม่ใช่ กอ.รมน.เอางบไปเรื่องการข่าว พอเป็นเรื่องการข่าว เป็นเรื่องหวาดระแวง เป็นเรื่องความมั่นคงหมด ที่ผมพูดไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลนะ แต่เป็นมุมมองของผม” 

“ในรายละเอียดเอ็มโอยู เราต้องมาคุยกัน ทุกพรรคการเมืองจะมีคณะทำงานทำนโยบาย ซึ่งทางพรรคประชาชาติได้เตรียมรายละเอียดไว้ทุกข้อ ทั้ง 23 ข้อ และก็มีบางข้อที่ไม่ได้ใส่ไว้ ที่เราเสนอ เรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องหนี้สินเกษตรกร หนี้สินทางด้านการศึกษา เช่น กยศ. หนี้สินครู หนี้สินข้าราชการ”

“พรรคประชาชาติมีองค์ความรู้ว่า เวลาใช้นี้ต้องไปหักเงินต้นที่กู้ยืมก่อน แต่ที่ผ่านมา เวลาเราส่งเงินไปใช้หนี้ไปใช้เบี้ยปรับและดอกเบี้ยก่อน หากเหลือจึงไปหักเงินต้น จึงเห็นว่าใช้หนี้ไปเท่าไหร่เงินต้นไม่ลดลงเลยเราต้องแก้ลำดับการใช้หนี้ว่าเงินที่ใช้ไปต้องหักเงินต้นก่อน แล้วจึงไปหักดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ แม้มีแก้กฎหมายแพ่ง ซึ่งมันแก้ไปแล้ว แต่ว่าหนี้เก่า ยังไม่ได้ประโยชน์ ส่วนหนี้ กยศ. เราก็ต้องผลักดันให้แก้ ขณะนี้กองทุน กยศ ยังไปนำไปปฏิบัติที่ลูกหนี้จำนวนมากจ่ายเงินไปอาจเกินเงินต้นที่กู้ยืมจะต้องได้รับประโยชน์เราสิงที่จะผลักดันในอนาคตต้องมีระบบฟื้นฟูบุคคลธรรมดามาใช้ สิ่งต่างๆ พวกนี้ก็คือบางส่วนที่ไม่อยู่ในนี้ อันนี้คือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่อย่างนั้นสถาบันการเงิน หรือแบงก์ ก็รวยอยู่อย่างเดียว” 

@@ แนะทางออก 112 หากผู้ถูกร้องไม่ผิด ผู้ร้องต้องรับโทษ 

กรณีไม่มีประเด็นแก้ไขมาตรา 112 ในเอ็มโอยู พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หลักการ 23 ข้อไม่มีประเด็นเรื่องนี้ แต่ว่าจะมีอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องความยุติธรรม เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย 

“ผมเองเคยเป็นอธิบดีดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) เคยอยู่กองปราบ การที่กฎหมายทุกชนิด ไม่ว่ากฎหมายจะดีแค่ไหน จะยุติธรรมแค่ไหน มันก็เป็นเพียงกฎหมาย แต่โดยผู้พิทักษ์กฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือผู้พิพากษาที่มีความสัตย์ซื่อ แม้แต่เรื่อง 112 เราน่าจะถึงเวลาแล้วว่า หมวดความผิดเรื่องความมั่นคงตามกฎหมายอาญาเดิมคงไม่ไปแก้ แต่วิฯอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) หรือการที่จะกำหนดผู้เสียหาย ไม่ใช่ว่านักร้องเรียนก็ไปร้องได้ มันขาดหลักเกณฑ์”

“อันนี้ผมคิดว่าก็มีหลายคนพูดไว้ แต่เรายังไม่ลงรายละเอียด เพราะแนวความคิดเรื่องการไปแก้เนื้อหาวิฯอาญา หรือมี พ.ร.บ.ผู้เสียหายฯ ที่กำหนดขั้นตอนการเป็นผู้เสียหายว่า ผู้ที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษ จะต้องมีสถานะเป็นผู้เสียหายอย่างไร แล้วก็มีองค์กรในการดูเรื่องนี้” 

“ผมคิดว่าเรื่องนี้ก็มีความสำคัญ ถ้าเราไปเถียงกันเรื่องโทษว่ามากหรือน้อย ในหลักอาชญาวิทยา คือโทษต้องเป็นภยันตรายต่อสังคมแค่ไหน ซึ่งมุมมองภยันตรายต่อสังคมหรือความสุขของประชาชนในแต่ละประเทศมันจะต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งคือเราจะต้องไม่ใช้เรื่องนี้ไปกลั่นแกล้ง หรือไปถึงเรื่องความคิดที่มันใช่-ไม่ใช่ แล้วตอนหลังมันก็ขยายไปทั่ว”

“ในเอ็มโอยูไม่มีเรื่องนี้ ก็ต้องดูว่าพรรคก้าวไกลจะเสนออย่างไร แต่ในพรรคประชาชาติเราเห็นว่า วันนี้มันมีกระบวนการที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีหากคนที่ถูกกล่าวหาไม่ผิด ผู้ที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษอาจจะต้องรับโทษ ไม่ใช่ว่ายืมมือใคร หรือบัตร์สนเท่ห์ใบเดียวก็ไปทำร้ายคนอื่น”

วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เลือกตั้ง 2566 : “พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง” ปักหมุด พรรคประชาชาติ ทิ้งทวนหาเสียงโค้งสุดท้าย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 พ.ค.2566) นับถอยหลังอีกเพียง 2 วันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 14 พ.ค.นี้ เป็นวันเลือกตั้ง ยิ่งใกล้ช่วงโค้งสุดท้ายในการหาเสียงของพรรคประชาชาติยิ่งเข้มข้นมากขึ้น


บรรยากาศล่าสุด เวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคประชาชาติ จัดขึ้น ที่ หน้าสนามที่ว่าการอำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยวันนี้มีประชาชน จาก เขต 5 อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ เขต 2 อ.รามัน จ.ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง หมื่นกว่าคน เพื่อหาเสียงขอคะแนนให้ผู้สมัครเบอร์ 4 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ และผู้สมัครเบอร์ 11 นาย ซูการ์โน มะทา ซึ่ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ หมายเลข 11 อ้อนขอคะแนนเสียงให้ ส.ส. ทั้งเขตและพรรค



เนื้อหาการปราศรัยของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ มีการนำเสนอนโยบายพรรคทุกมิติที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งพัฒนา การแก้ปัญหา และการชูอุดมการณ์พรรค โดยประชาชนให้ความสนใจ นโยบายการขจัดปัญหาความยากจน เรื่องที่ดินทำกินนโยบายรัฐสวัสดิการตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงเสียชีวิต การสร้างสันติภาพ และ ล้างหนี้ กยศ.เรียนฟรีมีคุณภาพถึงปริญญาตรี รวมทั้งต่างเชื่อมั่นว่า เมื่อเข้าเป็นรัฐบาลประชาชาติเข้าถึงได้ง่ายและจะเกิดการพัฒนาและแก้ปัญหา


พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวปราศรัย โดยมีเนื้อหา ระบุว่า ปัญหาทั้งหลายที่เราต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ปัญหาการคอรัปชั่น หรือปัญหาอื่นๆที่ร้ายแรงในสังคม เป็นเพียงปลายเหตุ เพราะต้นเหตุของปัญหานี้

.
ประการที่ 1) เกิดจากความไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นต้องสร้างความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาให้ได้ ระบอบประชาธิปไตยคือ ระบอบที่การปกครองนั้น มาจากการยอมรับของผู้ถูกปกครอง ผู้ที่ขึ้นมาปกครองไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนที่มีฐานันดร ไม่ใช่คนที่มีความเหนือกว่า ไม่ว่าจะสถานะ ฐานะทรัพย์สินต่างกัน แต่เขาปกครองได้ เพราะคนอื่น ๆ ทั้งหลายนั้นยอมรับเขา การยอมรับคือต้องให้เขาเลือก จะเลือกด้วยวิธีการอะไรต่าง ๆ อันนั้นคือให้การให้ความยอมรับ ไม่ใช่อยู่ที่ตัวคนที่ขึ้นมาปกครองว่าเขาจะเป็นเทวดา หรืออะไรต่างๆนั้น ไม่สำคัญ เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมคิดว่า ถ้าหากว่าเราให้ระบบประชาธิปไตยก้าวเดินต่อไป รากฐานของความเป็นชาติเนี่ยมันจะได้รับการสานต่อ มันจะได้รับการปลูกฝัง และก็สร้างความมั่นคงขึ้นทีละก้าวนะครับ

.
ประการที่ 2) คือ ต้องมีการกระจายอำนาจลงไปสู่ระดับชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจในอนาคตของตัวเองได้ นี่คือกระบวนการที่เรียกว่าประชาธิปไตย

.
ประการที่ 3) คือ ต้องมีความยุติธรรม เกิดมาเป็นมนุษย์จะยากดีมีจน มีฐานะร่ำรวยหรือยากจนแต่ค่าของชีวิตเท่ากันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความรักความสามัคคี ก็คือการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นให้จงได้ และ ประการที่ 4) คือต้องมีการปฏิรูป คำว่าปฏิรูปในที่นี้คือ การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยกระบวนการสันติและประชาธิปไตย

"มนตรี บุญจรัส" เปิดเวทีปราศรัยย่อย จังหวัดอ่างทอง แสดงวิสัยทัศน์ นโยบายเกษตรกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอ่างทองว่า เมื่อเวลา 16.00น. ที่ผ่านมา นายมนตรี บุญจรัส คณะกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ และรองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ หมายเลข 11 ผู้แทนพรรคประชาชาติ และคณะ เดินทางมาแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีปราศรัยย่อย แสดงวิสัยทัศน์และนโยบาย “เกษตรกรรม : เลือกตั้ง 2566” โดยมีประชาชนชาวจังหวัดอ่างทองที่สนใจและกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก


นายมนตรี บุญจรัส คณะกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ และรองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ หมายเลข 11 ผู้แทนพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า การปราศรัยแสดงวิสัยทัศน์ในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญและมีความหมายสำหรับประเทศไทย หลังจากผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และสังคม อันเนื่องจากผลของโรคระบาด ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลก รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมภายในประเทศไทยด้วย ซึ่งพรรคประชาชาติ ได้นำเสนอนโยบายหลายด้าน และยังมีประเด็นที่เกี่ยวโยงกับการปรับเปลี่ยนเกษตรกรรมเพื่อรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ปัญหาโภชนาการของเด็กไทย การกระจายอำนาจและสร้างความเท่าเทียมในระบบเกษตรและอาหาร รวมอยู่ด้วย





ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมนตรี บุญจรัส คณะกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ และรองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ หมายเลข 11 ผู้แทนพรรคประชาชาติ ได้แสดงวิสัยทัศน์และตอบคำถามกลุ่มเกษตรกร ในประเด็นการก้าวไปสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการลดสารเคมีตกค้างในพืชผักและผลไม้ รวมถึงกลไก และมาตรการ เพื่อลดปัญหาการรวมศูนย์ทั้งด้านการผลิต การตลาด รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาการเกษตรของประเทศด้วย














วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

บรรยากาศโค้งสุดท้าย! “มนตรี บุญจรัส” ปล่อยคาราวานหาเสียง "ประชาชาติ" ทั่วจังหวัดอ่างทอง


นายมนตรี บุญจรัส กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ และรองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ หมายเลข 11 จัดกิจกรรมปล่อยคาราวานรถ ย้ำนโยบายหลักของพรรคที่ส่งเสริมรัฐสวัสดิการ มุ่งลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้ชาวอ่างทอง พร้อมขอโอกาสให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาชาติ เข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ เพื่อผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ให้เป็นจริง




(9 พฤษภาคม 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.09. ที่ผ่านมา นายมนตรี บุญจรัส ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ หมายเลข 11 ปล่อยคาราวานรถแห่หาเสียงทั่วจังหวัดอ่างทอง ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง จากจุดเริ่มต้น บริเวณชมรมเกษตรปลอดสารพิษ ตำบลรำมะสัก อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง โดยนายมนตรีย้ำว่า พรรคประชาชาติ พร้อมที่จะรับใช้ชาวอ่างทองด้วยใจจริง ด้วยนโยบายที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวอ่างทองทุกคน และเชิญชวนประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้




นายมนตรี บุญจรัส กล่าวว่า ขณะนี้ พรรคประชาชาติ ขอคะแนนเสียงเลือกตั้งของทุกคน ที่จะทำให้พรรคประชาชาติ เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร โดยขบวนคาราวานของพรรควันนี้ ออกไปสร้างความมั่นใจให้ประชาชนรับรู้ว่า เราพร้อมทำงานเพื่อชาวอ่างทอง และมีนโยบายที่ดี ที่จะส่งต่อให้พี่น้องชาวอ่างทอง ไม่ว่าที่ผ่านมาจะเคยเลือกใคร แต่วันนี้ขอโอกาสให้พรรคประชาชาติได้พัฒนาจังหวัดอ่างทอง ครับ