วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

“ชยิกา-คณาพจน์” นำทัพเพื่อไทย The Change Maker ตั้งโรงครัวช่วยชาววังทองหลาง

นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ อดีตประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย นายอนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตวังทองหลาง นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ ผอ. โครงการ The Change Maker และผู้เข้าร่วมโครงการ The Change Maker ลงพื้นที่ชุมชนทรัพย์สินใหม่ เขตวังทองหลาง โดยตั้งครัวชั่วคราวสำหรับทำอาหารแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน พร้อมพูดคุยถึงปัญหาความยากลำบากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ไปจนถึงปัญหาการลงทะเบียนรับวัคซีน โดยมีตัวแทนชุมชนร่วมพูดคุยสะท้อนปัญหาและรับอาหารไปแบ่งบันให้กับคนในชุมชนทั้งหมด 7 ชุมชน โดย นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ อดีตประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนและพรรคฝ่ายค้านได้พยายามสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนไปถึงรัฐบาลมาโดยตลอด แต่รัฐบาลนิ่งเฉยไม่แก้ไขปัญหา เหมือนที่แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้เคยย้ำเตือนผ่านสำนักข่าวต่างประเทศไปก่อนหน้านี้ว่าถ้ารัฐบาลยังบริหารจัดการสถานการณ์ไม่ได้แบบนี้ อาจทำให้ไทยมีการระบาดหลายคลัสเตอร์และน่าห่วงเรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสได้ 

ขณะที่ นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ ผู้อำนวยการทีมคิดเพื่อไทย กล่าวว่า ทีม The Change Maker มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์นี้มาโดยตลอด โดยส่วนแรกมีผู้เข้าร่วมโครงการ 100 คนที่มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย อีกทั้งการที่มีผู้มาร่วมมาจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จึงได้มีการประสานงานกันให้ผู้เข้าร่วมโครงการลงพื้นที่ประสานงานช่วยเหลือประชาชนที่ยังขาดแคลนความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ต่อเนื่อง แต่ปัญหาขณะนี้คือที่พบก็คือ หมอพร้อม ประชาชนพร้อม แต่วัคซีนกับรัฐบาลไม่พร้อม ในการแก้ไขสถานการณ์วิกฤต กลุ่ม The Change Maker จึงขอเป็นกระบอกเสียงและเข้าช่วยเหลือประชาชนในชุมชนต่างๆ ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะการให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก ให้ทุกคนมีความพร้อมไปด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่าพลังเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนสังคมได้ไม่มากก็น้อย 












ดร.ปิติพงศ์ เสนอ 5 ข้อ ทางออกวิกฤตโควิด-19

30 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม (FAIR Party) โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ https://www.facebook.com/dr.pitipong โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผมรู้สึกเป็นห่วง หลังเห็นศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวัน มีประชาชนถามผมจำนวนมากว่า ถ้าผมมีอำนาจรัฐ จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร? ผมมองว่าหนึ่งในปัญหาหลักของการแพร่ระบาด โควิด-19 คือ จำนวนวัคซีนไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนประชาชนทั้งประเทศ 

ผมขอเสนอทางออกจากวิกฤตครั้งนี้ โดยสิ่งที่รัฐต้องทำเป็นอันดับแรก คือ 

1.) การเปิดเสรีวัคซีน ให้สามารถนำเข้าวัคซีนมาใช้ภายในประเทศได้อย่างหลากหลายยี่ห้อ หลายหลายผู้ผลิต โดยไม่ผูกขาดทางการค้าเพียงเจ้าใดเจ้าหนึ่ง เพราะการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ไม่หลากหลาย มีวัคซีนให้ประชาชนเลือกน้อยเกินไป ประกอบกับการสื่อสารที่เป็นปัญหาของรัฐบาล จะทำให้วิกฤตที่เกิดขึ้นลุกลาม เกินเยียวยาครับ โดยจัดให้เป็นทางเลือกประชาชนฉีดได้คนละ 1 ชุดเป็นอย่างน้อย 

2.) หากประชาชนต้องการฉีดมากกว่า 1 ชุด รัฐจะต้องยินยอมให้ประชาชนมีสิทธิ์รับผิดชอบการตัดสินใจเอง ไม่ใช่การบังคับ 

3.) ต้องการสร้างภูมิต้านทานร่วม จึงให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มที่ถูกมองข้ามเพราะเรียกร้องไม่ได้ เช่น นักบวช พระ คนต่างด้าว คนต่างชาติ ซึ่งเป็นบุคคลในสังคมที่รัฐไม่ค่อยให้น้ำหนักในการดูแลรักษาจากวิกฤติโควิด-19 เป็นจำนวนมาก 

4.) ประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ต้องมีเอกสารรับรอง การฉีดโดยต้องอนุญาตให้เปิดร้าน สำนักงาน และทำงานได้ทันที แต่อยู่ในลักษณะสุขอนามัยเหมือนเดิม เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยมีการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ถูกสั่งปิด และลูกจ้าง แรงงาน ที่ถูกรัฐสั่งให้หยุดงาน จะทำอย่างไรไม่ให้กิจการต่างๆ ต้องล้มลงไปเสียก่อน เพื่อรักษาคน รักษางานและการจ้างงานไว้ให้มากที่สุด เป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มของรัฐ เน้นให้ความเป็นธรรมกับทุกคนในสังคมอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ

5.) รัฐต้องรับผิดต่อการทำงานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานของรัฐ หรือความบกพร่องของรัฐอื่นใด ที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ในวงกว้าง อย่างเข้มงวด จริงจัง และเป็นรูปธรรม

ผมหวังหากผู้มีอำนาจ รับฟังเสียงท้วงติง และปรับเปลี่ยนการดำเนินการแก้วิกฤต ด้วยปัญญา เอาข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง พี่น้องประชาชนจะได้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 โดยเร็วครับ

ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ  

หัวหน้าพรรคเป็นธรรม FAIR Party

#เป็นธรรม

วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

"แซนด์-ชยิกา" ห่วงวิกฤตโควิด ติงรัฐฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้า

ที่พรรคเพื่อไทย จัดงานเสวนาออนไลน์เรื่อง การบริหารวิกฤตโควิด-19 และสภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทย นำโดยนางนลินี ทวีสิน ประธานคณะทำงานต่างประเทศ พร้อมกับแกนนำพรรคเข้าร่วม ได้แก่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง และอดีต รมว.พาณิชย์ รวมทั้ง นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ โดยบรรยากาศการเสวนามีผู้เข้าชมผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมชม และผู้สื่อข่าวต่างประเทศตั้งคำถามกับผู้ร่วมเสวนาด้วย 

นางสาวชยิกา กล่าวว่า "แผนวัคซีนคือกุญแจสู่การปลดล๊อคประเทศจากวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ หากแผนฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้า ไม่หลากหลาย และเพียงพอ ก็จะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าไทยกำลังประสบอีกปัญหา คือรัฐบาลบริหารล้มเหลว เศรษฐกิจอาจใช้เวลาฟื้นตัวถึง 4 ปี รัฐต้องแสดงภาวะผู้นำ รับฟังเสียงประชาชนก่อนจะสายเกินแก้ค่ะ"

ทางด้าน นางนลินี กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และมีความกังวลอย่างมาก 3 ประเด็นคือ 1.การจัดลำดับความสำคัญและประสิทธิภาพในการจัดการกับโรคระบาด 2.วิธีการจัดสรรและกระจายทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาและฟื้นฟูประเทศชาติ 3.ความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาล จึงจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาการบริหารจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล 

ขณะที่นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน จีดีพีมีอัตราการเติบโตที่ช้ากว่าหนี้สาธารณะแม้ก่อนการระบาด การว่างงานสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด จุดอ่อนของการคลังคือหนี้สาธารณะที่สูงจนเกือบชนเพดาน ฐานะการคลังอ่อนแอจนเสี่ยงเข้าสู่วงจรอุบาทว์  หากรัฐยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดและยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงได้ เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อย 4 ปี ซึ่งเป็นเวลาหลังจากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป และมีรัฐบาลใหม่ที่เข้าใจวิธีแก้ปัญหา ทั้งนี้เพื่อไทยเสนอให้รัฐบาลคิดนอกกรอบและไม่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมเดิม ๆ เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างได้ผลทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังที่เกื้อหนุนกัน กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การแก้ไขกฎระเบียบ และการแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน และ ภาครัฐ-ประชาชน 

กรณีมีผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการรายย่อยกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไม่ได้นำประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ดังจะเห็นได้จาก พรก.เงินกู้ 5 แสนล้านที่กำลังอภิปรายอยู่ในสภาไม่ได้มีการใช้งบประมาณเพื่อแก้วิกฤตโควิดที่รากเหง้าอย่างเพียงพอ สำหรับมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจรัฐบาลควรพิจารณาให้ “เงินกู้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย” เมื่อถึงมือภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยผู้รับภาระคือธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ แทนมาตรการทางการคลังที่กำลังอ่อนแอ และไม่มีประสิทธิภาพอย่างในปัจจุบัน พร้อมลดภาระภาษีเพื่อให้ประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แม้รัฐจะมีรายได้รวมลดลง

“ทวี สอดส่อง” ลงพื้นที่ชุมชนดอกไม้ เป็นห่วงประชาชน ประสบปัญหา “ถูกเลิกจ้าง-ว่างงาน"


(29 พฤษภาคม 2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ เยี่ยมและมอบสิ่งของกับ “ชุมชนดอกไม้” เขตประเวศ กรุงเทพฯ ด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้มีผู้นำชุมชน ผู้แทนชุมชน และทีมอาสาสมัครตัวแทนรับมอบข้าวสาร อาหารปรุงสำเร็จ อาหารแห้ง ปลากระป๋อง น้ำดื่มบรรจุขวด แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ รวมทั้งฟักทองจากเกษตรกรผู้ปลูกฟักทองจาก ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นของเยี่ยมให้กำลังใจ


พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง กล่าวว่า “ชุมชนดอกไม้ มีประชากร ประมาณ 700 คน จำนวน 157 ครัวเรือน ที่ดั่งเดิมเป็นทุ่งทำการเกษตร เปลี่ยนแปลงต่อมาจากการสร้างถนนมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-สนามบินสุวรรณภูมิ ตัดผ่านชุมชนทำให้แยกชุมชนออกเป็น 2 ฝั่งถนน เมื่อถนนสร้างเสร็จการไปมาหาสู่คนภายในชุมชนต้องใช้สะพานลอยข้ามมอเตอร์เวย์และทางกลับรถใต้ถนนมีความยากลำบากกว่าอดีต อาชีพของชุมชนได้เปลี่ยนไป เช่น ทำงานในอุตสาหกรรม อาชีพเลี้ยงปลาในบ่อปลา เปิดร้านอาหาร หมู่บ้านจัดสรร บ้านให้เช่า”


“สิ่งที่ชาวชุมชนกังวลใจจากวิกฤติแพร่เชื้อโควิด -19 ด้านสุขภาพแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง อาชีพการงาน ที่โรงงานหลายแห่งปรับลดพนักงาน ต้องปิดกิจการ ปัญหาว่างงาน กำลังจะตามมา การหางานใหม่เป็นเรื่องยากมาก ชุมชนจึงรวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยตนเอง เพราะไม่มีใครรู้ปัญหาชุมชนดีเท่ากับคนในชุมชน ได้รับฟังปัญหา ข้อคิดเห็น ที่เป็นประโยชน์ ส่วนตัวเป็นห่วงปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ประชาชน ถูกเลิกจ้าง-ว่างงาน ที่รัฐบาลได้แสดงความไม่จริงใจ จริงจังในการแก้ปัญหา ที่เห็นชัดเจนคือ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในส่วนของกระทรวงแรงงานซึ่งเป็นเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ดูแลแรงงงานและสวัสดิการสังคมกลับได้รับงบประมาณลดลงจากปี 2564 มากถึงจำนวน 19,977.5 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 28.7 จากปีที่ผ่านมา) ดังนั้น ปัญหาการว่างงานและแรงงาน จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ถ้ารัฐบาลไม่ทบทวนการจัดงบประมาณปี 2565 และมีความจริงใจกับประชาชน” พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง กล่าว














วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ประชาชนรำลึก ครบรอบ 7ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ ว่า ตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากต่างทยอยเดินทางมาร่วมทำกิจกรรมจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 7 ปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม โดยเวลา 19.00 น. นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย รวมทั้ง นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์, ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และสมาชิกเพื่อไทย THE CHANGE MAKER ได้ร่วมจุดเทียนแสดงสัญลักษณ์การรัฐประหาร 7 ปีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะ คสช. พร้อมร่วมร้องเพลงมวลชน จนเสร็จสิ้นกิจกรรมและเดินทางกลับ ในเวลา 19.30น.

นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ระบุว่า “วันนี้ตั้งใจไปร่วมจุดเทียนครบรอบ #7ปีรัฐประหาร เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้รู้ว่า ประเทศต้องสูญเสียหลักนิติรัฐ นิติธรรม และโอกาสทางเศรษฐกิจ ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และโอกาสในการพัฒนาศักยภาพให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ และที่ร้ายที่สุดเมื่อรัฐบาลบริหารล้มเหลว ผิดพลาด ส่อทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งๆที่มีหลักฐานเต็มไปหมดแต่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบหรือเอาผิดใครได้เลย หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง” 

“สุดท้ายคนที่ต้องรับกรรม ก็คือประชาชน แล้วเราจะอยู่กับแบบนี้จริงๆหรือ?" นางสาวชยิกา กล่าว