วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2567

“คลัง” สั่ง 4 แบงค์รัฐ ทำ 4 มาตรการ ส่วนลดเงินเข้ากองทุน SFI ทุกบาท ต้องตรงเข้าช่วยประชาชน

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงการคลังได้สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้ง 4 แห่ง ที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ออมสิน ธ.ก.ส. ธอส. และ ธอท. ที่ต้องการขยายเวลาปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ จากร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.125 ต่อปี ต้องมีมาตรการใหม่ที่สะท้อนว่า “เงินนำส่งกองทุนฯที่ลดลงนั้นได้นำไปช่วยเหลือลูกหนี้อย่างแท้จริง” โดยเฉพาะรายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มฐานราก ลูกหนี้นอกระบบ โดยต้องมีมาตรการตามแนวทาง ดังนี้

1) ลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราผ่อนปรนพิเศษให้แก่ลูกหนี้เป็นการทั่วไป เช่น ลดดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อยชั้นดี (MRR) ลดดอกเบี้ยลูกหนี้รายใหญ่ชั้นดี (MLR) เป็นต้น 

2) นำเงินนำส่งกองทุนฯที่ลดลงไปดำเนินโครงการใหม่ ที่มีการชดเชยความเสียหายที่เกิดจาก NPLs หรือชดเชยความเสียหายเพิ่มเติมจากโครงการหรือมาตรการของรัฐที่ได้รับการชดเชยไปแล้ว 

3) ลดอัตราดอกเบี้ยหรือเงินต้นตามสัญญา หรือ

4) เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ที่ทำให้เงินต้นของลูกหนี้ปรับลดลงในทุกงวดที่ผ่อนชำระ 

“โดยการช่วยเหลือลูกหนี้จะต้องมากกว่าหรือเท่ากับเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ ที่ลดลง”

วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2567

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เยือนเรือนจำชาย HMP Chelmsford ศึกษาแนวทางตรวจเรือนจำ และพัฒนาการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำของสหราชอาณาจักร

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงยุติธรรม ว่า ระหว่างเวลา 10.30-15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ โดยมีสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักร และสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยให้การต้อนรับ ในการเข้าร่วมศึกษาดูงานการตรวจเรือนจำ และมาตรการดูแลผู้ต้องขัง ณ เรือนจำชาย HMP  Chelmsford กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีอายุมากกว่า 200 ปี 

การศึกษาดูงานฯ ดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก Mr. Martin Lomas , Deputy Chief Inspector of His Majesty’s Inspectorate of Prisons (HMIP) และ Ms Sara Pennington , Inspector of HMIP บรรยายสรุปเกี่ยวกับองค์กร HMIP วิธีการตรวจเรือนจำ ประโยชน์จากการตรวจเรือนจำ การตรวจความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง  นอกจากนั้น ยังได้เข้าร่วมตรวจเรือนจำ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการรับตัว การคัดแยก การดูแลผู้ต้องขัง การฝึกทักษะอาชีพ การเตรียมความพร้อมกลับคืนสู่สังคม โดยยึดหลักการประเมิน 4 ข้อ ประกอบด้วย ความปลอดภัย (Safety) การเคารพ (Respect) การจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผูัต้องขัง (Purposeful activity) การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย (Preparation for release) รวมถึงการประเมินภาวะผู้นำในทุกระดับชั้นของผู้บริหารเรือนจำ ตลอดจนบรรยายสรุปกิจกรรม แนวทางในการฟื้นฟูผู้ต้องขัง เช่น การจัดกิจกรรมกระชับสัมพันธ์และเรียนรู้ทักษะด้านกีฬาฟุตบอล ระหว่างผู้ต้องขังกับ กับทีมฟุตบอลอาชีพที่มาช่วยเรือนจำแห่งนี้คือทีมจากสโมสรฟุตบอลเวสต์แฮมยูไนเต็ด (Westham United ) เป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ มีฉายาในภาษาไทยว่า "ทีมขุนค้อน"เป็นต้น



ทั้งนี้ การศึกษาดูงานฯ ดังกล่าว เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนามาตรการเพิ่มประสิทธิภาพงานราชทัณฑ์ในประเทศไทย อาทิ การสร้างระบบตรวจเยี่ยมเรือนจำของประเทศไทย การอบรมทักษะการตรวจเยี่ยมให้แก่ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม การพัฒนาการเรียนการสอนในเรือนจำ การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะและเชื่อมสัมพันธ์กับผู้ต้องขังด้วยความร่วมมือกับสมาคมกีฬา การพัฒนาระบบและมาตรการดูแลผู้ต้องขัง เป็นต้น รวมถึงเป็นรากฐานในการจัดโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร เพื่อพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับหลักนิติธรรมของไทยในภาพรวมต่อไป













วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2567

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวขอบคุณนายกฯ แทนประชาชน ลงพื้นที่ภาคใต้ สร้างความเชื่อมั่นแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกมิติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวขอบคุณนายกฯ แทนประชาชน ลงพื้นที่ภาคใต้ สร้างความเชื่อมั่นแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกมิติ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความสนใจแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นำทุกมิติ ซึ่งคณะพูดคุยสันติภาพและสันติสุขยืนยันว่ามีความก้าวหน้ามากกว่ายุคก่อนๆ แม้เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ ณ สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง) 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ผมขอขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อาจเป็นคำขอบคุณแทนประชาชนที่ท่านได้กรุณาลงพื้นที่ภาคใต้ และได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งการไปครั้งนี้ จะไม่มีด่าน อาจเห็นตำรวจบ้าง แต่ไม่มีทหารสวมเครื่องแบบ รวมถึงการเดินไปยังพื้นที่ต่างๆ ไม่มีการรักษาความปลอดภัย เพราะนายกฯเศรษฐาต้องการไปแบบประชาชนธรรม แสดงถึงความกล้าหาญของนายกรัฐมนตรี 


บางฝ่ายตั้งคำถามว่า เหตุใดนายกรัฐมนตรีไม่มีการพูดคุยเรื่องสันติภาพและสันติสุข แต่เท่าที่ถามหัวหน้าคณะพูดคุยพบว่า การพูดคุยในช่วงรัฐบาลชุดนี้มีความก้าวหน้ามากที่สุดแล้ว ที่สำคัญ การไปมัสยิดกรือแซะ สถานที่ที่มีบาดแผลมีการเสียชีวิต 34 คน และการเสียชีวิตรอบมัสยิดอีกนับร้อย ซึ่งการเข้าไปในสถาน่ที่แห่งนี้แสดงถึงความกล้าหาญอย่างมาก ยิ่งกว่าการพูดคุยสันติภาพและสันติสุขเพราะสันติภาพและสันติสุข คือ การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความหวัง ผมจึงไม่อยากให้วาทะกรรม ให้คนแก้แค้นกันซึ่งเป็นภาวะตรงข้ามกับคำว่า สันติภาพ ซึ่งจะพัฒนาอย่างไรให้เสมอภาคเท่าเทียมเกิดขึ้น และขอยืนยันการพูดคุยสันติภาพและสันติสุข นายกฯเศรษฐา ให้การสนับสนุนฝ่ายความมั่นคงอย่างเต็มที่ 


“เราเชื่อมั่นว่าการพูดคุยจะยังมีอีก โดยเฉพาะอีกไม่กี่วันพี่น้องประชาชนจะถือศีลอด หรือ รอมฎอน เป็นช่วงเวลาอันประเสริฐของพี่น้องชาวมุสลิมในการปฏิบัติภารกิจทางศาสนา ฝ่ายรัฐจะอำนวยความสะดวกในการถือศีลอด และก่อนเข้าสู่การเข้าพรรษาซึ่งเชื่อว่าพี่น้องชาวมุสลิมให้การสนับสนุนชาวพุทธด้วย ฉะนั้น เดือนรอมฎอน จึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่น่าเป็นห่วง แต่เป็นช่วงเวลาของความปลอดภัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

\\






วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2567

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดกิจกรรมการประชุมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2567 เพื่อให้ปัญหายาเสพติดหมดไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

วันนี้ (2 มีนาคม 2567) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรมการประชุมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมี พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำศาสนา ผู้แทนภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม PENDULA CONVENTION HALL โรงแรมปาร์คอินทาวน์ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี


โอกาสนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหายาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะยาบ้าที่เป็นยาเสพติดหลักที่แพร่ระบาดในไทยที่มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 80 ของการใช้ยาเสพติดในประเทศ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสังคมเป็นมูลค่ามากมายมหาศาล รวมถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตของผู้เสพ ผู้ติดยาบ้า และครอบครัว คนใกล้ชิดชุมชน เพราะปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมเป็นอย่างมาก โดยได้มอบนโยบายเน้นย้ำ ขอให้ทุกภาคส่วนเอาจริงเอาจัง ในการช่วยเหลือลูกหลาน ให้พ้นจากยาเสพติดให้ได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหายาเสพติด จะกระทำโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะไม่สำเร็จ จะต้องมีการบูรณาการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน อันจะเป็นแนวทางที่จะได้รับความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น แม้ปัญหายาเสพติดอาจไม่หมดไปในสังคมและในโลกนี้ แต่พวกเรา พี่น้องประชาชน จะต้องเข้าใจ และอยู่กับมันให้ได้โดยไม่มีผลกระทบในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งมีท่านแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะลดความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบของยาเสพติด โดยมุ่งเน้น การจับกุมผู้ค้ารายย่อยในชุมชน การค้นหาผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับการรักษา และขยายผลจับกุมไปยังผู้ค้า ผู้บงการและนายทุน อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมออยู่แล้วนั้น ในวันนี้ ถือเป็นมิติใหม่ ของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เราจะนำพลังความเข้มแข็งของภาคประชาชน ความเข้มแข็งของศาสนา ความมั่นคงในอัตลักษณ์ ความสามัคคีของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ของพี่น้องจังหวัดชายแดนใต้ เราจะใช้พลังแห่งความดีงามที่มีอยู่มาช่วยเหลือพี่น้อง ลูกหลาน ในชุมชนของเราให้ปลอดภัยจากยาเสพติด ด้วยตัวเราเอง



ทางด้าน พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า กิจกรรมการประชุมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในมิติของศาสนา การพัฒนา และชุมชนพหุวัฒนธรรม ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันนี้ ศอ.บต. ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการจัดตั้ง "ศูนย์ประสานงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดในมิติของศาสนา และภาคประชาสังคม จังหวัดชายแดนภาคใต้" (ศปส.ศส.จชต.) พร้อมทั้งแต่งตั้ง คณะผู้บริหารศูนย์ฯ และ คณะกรรมการศูนย์ฯ เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยให้ความสำคัญกับลักษณะ อัตลักษณ์ และจุดแข็งของสังคมที่ยึดหลักศาสนาดำเนินวิถีชีวิต จึงกำหนดกรอบแนวคิดของการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวม 3 มิติหลัก ได้แก่ 1. มิติทางศาสนาและพหุวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มบทบาทผู้นำสถาบัน องค์กรทางศาสนา 2. มิติการพัฒนา เพื่อเพิ่มบทบาทการพัฒนาและแก้ไขปัญหาพื้นฐาน และ 3. มิติชุมชน เพื่อเพิ่มจิตอาสาในชุมซนและเพิ่มบทบาทกลไกนอกภาครัฐ รวมพลังป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านชุมชน ร่วมกับของกลไกภาครัฐในวันนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ การรวมพลังชุมชนเข้มแข็ง ด้วยธรรมนูญหมู่บ้าน “ฮูกุมปากัต” การบรรยาย ในหัวข้อ ข้อคิดเห็นในงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยพลังชุมชน และการบรรยายในหัวข้อ การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยได้รับเกียรติจาก นายมูฮัมมัดซูวรี สาแล  นายกสมาคมสถาบันปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย นายเสรี ศรีหะไตร อตีด ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงและจังหวัดบุรีรัมย์ และพลโทสุวรรณ เชิดฉาย  ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ร่วมบรรยายพิเศษในครั้งนี้ด้วย โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย ผู้นำศาสนา ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน สมาคมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สมาคมเมืองดาหลาพัฒนาพี่น้องไทย ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด จิตอาสา อาสาสมัครภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และจังหวัดสงขลา) รวมจำนวนทั้งสิ้น 750 คน