วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564

"ฝ่ายค้าน" ยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รมต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 9.30 น. ที่ผ่านมา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยมี ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์และพรรคเศรษฐกิจใหม่ร่วมด้วย โดยได้นำรายชื่อ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 208 คน เข้ายื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล จำนวน 10 คน ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายมีทั้งหมด 10 คน ประกอบด้วย

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข

4. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์

5 .พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

6. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ

7. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

8. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

9. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

10. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ระบุว่า กระบวนการตามกฏหมายหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม เบื้องต้นทั้ง 2 ฝ่ายหารือกันว่าจะมีการอภิปรายในช่วงวันที่ 16-19 ก.พ.นี้ แต่อย่างไรก็ตามจะเชิญทั้ง 2 ฝ่ายหารือระยะเวลาการอภิปรายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ขณะที่สื่อมวลชน เผยแพร่ความเห็นของ นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุ วันเวลาในการใช้อภิปรายที่ผ่านมามีการพูดคุยกันเบื้องต้น ยังไม่ได้มีการสรุปว่า จะอภิปรายกี่คน แต่เห็นตรงกันว่า วันที่ 16 กุมภาพันธ์ถือว่าเหมาะสม ส่วนวันสิ้นสุดอยู่ที่ความเหมาะสมของผู้อภิปราย ซึ่งคราวนี้จะเยอะกว่าทุกครั้ง

"ทวี" หนุนทบทวน พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ แนะใช้วิทยาศาสตร์แทนดุลย์พินิจคณะกรรมการ

“พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ชี้ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ ให้อำนาจอยู่ในอุ้งมือคนกลุ่มหนึ่ง แนะใช้วิทยาศาสตร์หรือวิชาการแทนดุลย์พินิจคณะกรรมการ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในญัตติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายด้วย

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง อภิปรายว่า “กฎหมาย พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ ฉบับนี้มีความสำคัญยิ่ง แต่สำคัญกว่านั้นต้องเริ่มต้นที่หลักคิดก่อน เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการใช้คณะกรรมการ การใช้ระบบอนุญาต การใช้ดุลพินิจ และหลักเกณฑ์กำหนดโทษอาญาในกฏหมาย ปัญหาคอรัปชั่นประเทศไทยวันนี้ การทุจริตคอร์รัปชั่นสู้เป็นอันดับต้นๆของโลก ซึ่งเราไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ หากวิเคราะห์ในเชิงลึกการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดจากต้นทุนของกฎหมาย เสียค่าวิ่งเต้นหรือค่าใต้โต๊ะใบอนุญาต นั่นคือกฎหมายที่เขียนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรตัวแทนประชาชน แต่เอาอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปอยู่ในรูปของคณะกรรมการ หรือไปอยู่ในอุ้งมือของคนกลุ่มหนึ่งและคนกลุ่มนั้นก็จะสามารถใช้อำนาจในการอนุมัติ หรืออนุญาต หรือใช้ดุลพินิจ ทำไมไม่เขียนกฏหมายให้ชัดเจนที่ทุกคนได้รับความเป็นธรรมจากกฏหมายอย่างเสมอหน้ากันเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขไม่ต้องให้ใครใช้ดุลพินิจเขียนให้ชัดเจน วันนี้ต้นทุนค่าวิ่งเต้นในระบบอนุญาต ที่ต้องจ่ายที่เรียกว่าต้นทุนทางกฎหมายไม่ต่ำกว่า 15% ของเงินงบประมาณที่จะต้องไปใช้วิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับอนุญาต หรือสัมปทานเรื่องนี้เป็นรากเหง้าของการทุจริตคอรัปชั่นขณะนี้”

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวอีกว่า “สมัยเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคดีที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดี วัตถุอันตรายตามประกาศรัฐมนตรีอุตสาหกรรม บริษัทนำเข้าวัตถุอันตรายจะต้องถูกปรับหลายๆร้อยล้าน หรือเป็นพันล้านบาท ปรากฏว่ารัฐมนตรีฯ ได้ยกเลิกประกาศอุตสาหกรรม วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมถูกฟ้องอยู่ที่ศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดยังไม่ตัดสิน นั่นคือการให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายออกกฎห้ามวัตถุอันตรายบางประเภท เช่น ซันเฟอร์ หรือวัตถุอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ ถูกจับกุมเมื่อปี 2551 เนื่องจากนำเข้าสารเคมีที่เป็นพิษต่อมนุษย์ในปริมาณมาก ผู้นำเข้าคือบริษัทนำเข้าวัตถุอันตรายนอกจากมีโทษอาญาและ ต้องเสียค่าปรับรวมกว่าพันล้านบาท วิธีแก้ปัญหาคือใช้อำนาจของกรรมการวัตถุอันตรายและรัฐมนตรีไปยกเลิกว่าไม่เป็นวัตถุอันตรายทำให้วัตถุที่อันตรายกลายเป็นวัตถุที่ไม่อันตราย แล้วใช้ช่องกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญ มาตรา 2 ของกฏหมายอาญา คือ”บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง”

การใช้ช่องทางนี้ให้เกิดการสั่งไม่ฟ้อง พนักงานสอบสวนก็ไม่กล้าจะสั่งไม่ฟ้องเพราะเป็นเรื่องใหญ่และเป็นประเด็นทางวิชาการ พนักงานสอบสวนได้หารือทางกฤษฎีกา กฤษฎีกาก็ต้องตอว่าเมื่อกฎหมายกำเนิดขึ้นภายหลังไม่เป็นความผิดไม่ต้องรับโทษ นี่คือตัวอย่าง”

“ผมได้ถามผู้เกี่ยวข้องทราบว่าฟ้องศาลปกครองตั้งแต่ปี 2551-2552 ฟ้องปี 2555 ตุลาการชั้นต้นตัดสิน เรื่องอุทธรณ์วันนี้เรื่องเกือบ 7 ปีแล้วศาลปกครองสูงสุดยังไม่ตัดสิน จึงอยากจะเรียนว่าการเขียนกฎหมายในหลักการเช่นนี้ น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การกำหนดหลักเกณฑ์จัดทำร่างกฏหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฏหมาย จึงขอฝากกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นศึกษาด้วย”

“ประการสำคัญอย่างยิ่งคือรูปแบบของกรรมการคือรูปแบบการขาดความรับผิดชอบ ประเทศเราใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับแผนบูรณาการ เช่นแผนบูรณาการยาเสพติด 5-6 พันล้าน ยิ่งบูรณาการยาเสพติดยิ่งเพิ่มขึ้นเพราะไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริงมีแต่การใช้เงิน ตราบใดที่ยังมีการบูรณาการโดยใช้กระทรวง ทบวง กรม เป็นหลักโดยไม่เอาพื้นที่เป็นหลักแล้วอย่าหวังเลยว่าจะแก้ปัญหาได้ นั่นคือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นชุมชน”

“ผมจึงเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่น่าจะมีการทบทวน ถ้าจะมีคณะกรรมการน่าจะเป็นองค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมาโดยเฉพาะ ให้เป็นวิทยาศาสตร์อย่างเดียว เพราะหากเป็นดุลย์พินิจของคนบางทีคนจะเห็นความสำคัญคุณค่าของชีวิตมนุษย์น้อยกว่าผลประโยชน์บริษัทหรือนายทุนที่เอาสารเคมีพิษหรือวัตถุอันตราย เป็นภัยต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์จึงขอให้ทบทวนกฎหมาย”

“อีกประการการให้รายได้ไม่ต้องส่งเข้าคลังน่าจะทบทวน วันนี้ระบบงบประมาณมีปัญหาเงินนอกงบ ในพิจารณาวงงบประมาณมากกว่า 4 ล้านล้านบาทเป็นเงินนอกงบประมาณ เรายังตามไม่ได้เลยการที่พรบ นี้ได้เงินค่าตรวจหรือค่าอนุญาตแล้วไม่ต้องส่งเข้าแผ่นดินเหมือนเอาหน่วยราชการให้คนกลุ่มนี้หารายได้ เรียกค่าตรวจ ได้เงินต่างๆและไม่ต้องส่งคืนคลังทั้งที่ใช้สถานที่ราชการ ซึ่งเป็นเงินภาษีอากรของประชาชนไปใช้แล้วกลับไปอยู่ในอุ้งมือของคนกลุ่มหนึ่ง”

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า “อีกส่วนหนึ่งที่อันตรายอย่างยิ่งคือกฎหมายฉบับนี้มาตรา 8-9 ให้ยอมรับมรดกของการรัฐประหาร คำสั่ง หน คสชที่ 77/2559 คงใช้ได้ ประเทศไทยมีรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก และวันนี้กลับให้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนไปรับอำนาจประกาศ คสช.ที่ 77 เป็น เรื่องวัตถุตาม  อย.ซึ่งเกี่ยวข้องกับเครื่องสำอาง เครืองมือทางการแพทย์ รวมถึงวัตถุสารเสพติด ถ้าเราปล่อถ้าเราไปยอมรับการกระทำการกระทำตามคำสั่ง หน.คสช ดังกล่าวเหมือนรับอำนาจเผด็จการ ดังนั้นจึงฝากกรรมาธิการอยากให้ศึกษากฎหมายฉบับนี้ให้ดีไม่เช่นนั้นจะเป็นภัยอย่างยิ่ง ถ้ากฎหมายไปอยู่ใต้อุ้งมือ ถ้าคนดีก็ดีไปถ้าเป็นโจรก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง”


"จาตุรนต์" ลงพื้นที่สำรวจถนนข้าวสารร้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

อย่าทำให้ “ถนนข้าวสารเป็นเมืองซอมบี้” โดยไม่จำเป็น

วันเค้าท์ดาวน์เข้าสู่ปี 2564 ควรจะเป็นวันที่กิจการในย่านถนนข้าวสารทำกำไรสูงสุดของปี แต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทุกร้านในข้าวสารปิดกิจการแทบจะ 100% ผู้ประกอบการที่นี่บอกว่าวันนั้นคือวันเค้าท์ดาวน์ชีวิตของเขาและลูกน้องในร้าน เพราะเงินก้อนสุดท้ายที่เขามีถูกจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับพนักงานในร้านเป็นเดือนสุดท้าย และกำลังจะหมดไปในสิ้นเดือนมกราคมนี้

นี่คือเสียงจากเจ้าของกิจการที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในถนนข้าวสาร มีพนักงานกว่า 50 ชีวิต เจ้าของร้านเล่าว่าเขาอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยมีเหตุการณ์ไหนเลยที่ทำให้ถนนข้าวสารร้าง ทุกวันที่ตื่นลืมตาข้าวสารจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดินเบียดเสียดจนเป็นภาพที่คุ้นเคย แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการของภาครัฐวันนี้ถนนข้าวสารร้างเป็นเมืองซอมบี้ และคนในถนนข้าวสารตอนนี้หายใจรวยรินมองไม่เห็นว่าอาชีพและรายได้ของพวกเขาจะกลับมาตอนไหน ไม่ต่างจากซอมบี้ที่ตายทั้งเป็น

เจ้าของกิจการท่านนี้สะท้อนได้น่าสนใจว่า ในวันที่ประเทศไทยสามารถควบคุมจนมีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่ทำไมรัฐกลับไม่ยอมให้กิจการเหล่านี้เปิดได้ตามปกติ หรือบวกกับมีนโยบายที่จูงใจให้มากพอให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย แต่ในวันที่ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์กลับยังคงมีมาตรการห้ามผู้ประกอบกิจการที่เข้มข้น ทำให้ในวันที่กิจการมีโอกาสจะทำเงิน เพื่ออย่างน้อยเก็บสำรองในยามฉุกเฉิน แต่รัฐกลับตัดโอกาสเหล่านั้นไป และเหตุการณ์ฉุกเฉินก็เกิดขึ้นจริงเมื่อโควิด-19รอบใหม่กลับมาอีกครั้ง พวกเขาจึงไม่มีเงินที่มากเพียงพอมาต่อลมหายใจให้กับกิจการ  

ผมเดินผ่านร้านของเขาก็เห็นด้วยว่าถนนข้าวสารได้กลายเป็นเมืองร้างแล้ว ใต้ร้านมีแค่แสงไฟสลัว ๆ มีกลุ่มวัยรุ่นจับกลุ่มนั่งทานข้าว สีเสื้อที่ใส่บ่งบอกชัดว่าเป็นพนักงานขับรถส่งอาหารจากแอปพลิเคชั่นเจ้าดัง ถามจนได้ความถึงรู้ว่าปกติเป็นพนักงานของร้านเหล้าแห่งนี้ ที่วันนี้ต้องประกอบอาชีพเสริม และเมื่อถามว่ารายได้เป็นอย่างไรเพราะยิ่งเมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้น ก็ย่อมต้องสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น แต่คำตอบคือโควิดครั้งนี้รายได้จากการส่งอาหารหายไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง

สาเหตุก็อาจมาจากทั้งคนตกงานเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนคนที่หันมาทำอาชีพขับรถส่งอาหารเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งลูกค้าที่สั่งอาหารน้อยลงเพราะเงินมีน้อยลงจนไม่สามารถสั่งอาหารจากแอปที่มีราคาสูงกว่าร้านอาหารข้างทาง และหันไปซื้ออาหารจากร้านที่เข้าโครงการคนละครึ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งก็คงจะจริงเพราะผมนั่งอยู่ในร้านอยู่นาน แต่น้อง ๆ ก็ยังไม่ลุกไปไหน เพราะยังไม่มีออเดอร์สั่งอาหารเข้ามาสักที

ส่วนรายได้หลักที่มาจากการเป็นพนักงานร้าน เจ้าของร้านก็ให้คำตอบไม่ได้ว่าเดือนหน้าเขาจะมีเงินจ่ายเด็ก ๆ พนักงานเหล่านี้หรือไม่ และเมื่อหวังเงินจากประกันสังคมก็ยังไม่มีความแน่ชัด เพราะโควิดรอบใหม่นี้รัฐไม่ได้สั่งให้ร้านปิดกิจการ แต่ให้เปิดขายอาหารได้ถึง 3 ทุ่ม (แต่ร้านของเขาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ขายอาหาร และปกติมีลูกค้าจำนวนมากในเวลาเที่ยงคืน) ทำให้เมื่อรัฐไม่ได้สั่งให้ปิดร้านจึงไม่รู้ว่าประกันสังคมจะรับผิดชอบในส่วนนี้หรือไม่

ผมคิดว่าพื้นที่อย่างข้าวสารซึ่งปรกติจะมีคนมาตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงดึก การให้ปิดตั้งแต่สามทุ่มจึงทำให้คนเที่ยวน้อยจนร้านค้าต่าง ๆ อยู่ไม่ได้และต้องปิดกันจนหมดเหมือนเป็นเมืองร้าง ทางแก้ง่าย ๆ ก็คือไม่ต้องไปจำกัดเวลา แต่ใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น จัดระยะห่าง ใส่หน้ากาก วัดอุณหภูมิ ใช้แอลกอฮอล์ล้างมือก็พอ รัฐต้องช่วยเสริมความมั่นใจให้คนกล้าไปเที่ยวหรือใช้บริการในพื้นที่นี้

ส่วนการเยียวยานั้น รัฐควรถือว่าทั้งผู้ประกอบการและพนักงานลูกจ้างในพื้นที่เหล่านี้คือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการของรัฐ พวกเขาจึงควรได้รับความช่วยเหลือในการรักษาคนงานไว้ ด้วยการที่รัฐแบ่งเบาภาระร่วมจ่ายเงินเดือนค่าจ้าง แต่เมื่อไม่มีมาตรการแบบนี้ รัฐก็ควรช่วยเหลือผู้ที่ต้องหยุดงานตกงานให้มากกว่าที่ให้ผ่านโครงการประเภท “เราชนะ” ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเขาเสียไป ซ้ำรัฐยังต้องให้พวกเขาต้องไปเสี่ยงโชคเอาด้วย

ยังมีพื้นที่แบบถนนข้าวสารอีกมากมายหลายแห่งในอีกหลายจังหวัด รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังกว่าที่เป็นอยู่ซึ่งเหมือนปล่อยให้พวกเขาตายกันไปตามยถากรรมจากมาตรการของรัฐเอง

"วัฒนรักษ์" แนะรัฐรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะแก้ไขปัญหาการแผ่ระบาดโควิด-19 รอบที่ 2 ล่าช้า และยังไม่มีแผนการที่ชัดเจนนั้น จะยิ่งส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจของไทยให้แย่ลงไปกว่าเดิม เพราะรัฐบาลขาดความชัดเจน ทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจต่อรัฐบาลและยังมองไม่เห็นถึงเส้นเวลา (Timeline) ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากเป็นแบบนี้ใครจะกล้าใช้จ่าย ดังนั้น รัฐบาลจึงควรวางแผนอย่างเป็นระบบ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ควรที่จะเชื่อตามที่นักวิชาการหลายท่านที่ได้เคยเสนอไว้ว่าให้ Lock Down ระยะเวลาสั้นๆ และมีนโยบายการเยียวยาที่ชัดเจน เพราะการทำแบบนี้ชาวบ้านเรียกว่า “เจ็บแต่จบ” ในขณะที่ฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยคือ SMEs แต่ปัจจุบัน SMEs ต่างไปกันไม่รอด แล้วแบบนี้เราจะสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างไร ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 15.9 ล้านล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีจะมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของขนาดเศรษฐกิจ (GDP) แต่ในขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติแทบจะไม่มีเลย ประกอบกับที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่สามารถที่จะสร้างความมั่นใจให้คนไทยออกมาเที่ยวหรือจับจ่ายใช้สอยได้เลย

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรเริ่มต้นจากการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้ดี เพราะหากแย่ไปกว่านี้ก็ยากที่จะแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้ แถมยังจะส่งผลให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของพล.อ.ประยุทธ์ อีกว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด เพราะความสามารถในการเป็นผู้นำ (นายกรัฐมนตรี) คือตัวกำหนดระดับศักยภาพในการประสบความสำเร็จของประเทศ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ควรที่จะทำความเข้าใจในทฤษฎี “กฎแห่งเพดาน” ซึ่ง ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย ได้ทำการศึกษาทฤษฎีดังกล่าวแล้ว และขอเสนอแนะให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำไปปรับปรุงและพัฒนาดังนี้ 

1. การมอบหมายงาน: การรวบอำนาจโดยให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการตัดสินใจเกือบทุกเรื่องนั้น มักจะส่งผลทำให้ประเทศชาติล้มเหลว เพราะผู้บริหารที่ดีควรบริหารบุคคลากรได้อย่างถูกต้อง โดยมอบหมายงานให้ถูกคน ซึ่งการบริหารประเทศนั้นไม่สามารถที่จะทำได้ด้วยคนเพียงกลุ่มเดียว แต่ควรที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แม้กระทั่งผู้ที่เห็นต่าง หรือฝ่ายตรงข้าม 

2. การแสดงความมั่นใจ: ผู้นำที่ดีจะต้องรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของตนเอง เพราะผู้นำควรมีบุคลิกภาพและการแสดงออกที่ดี ซึ่งหากเราเป็นคนที่มีอุปนิสัยใจร้อนก็ควรต้องฝึกหัดนั่งสมาธิเพื่อฝึกฝนการเก็บอารมณ์และความรู้สึก 

3. มุ่งความสนใจไปที่ภาพรวม: อย่าแก้ไขงานราชการเฉพาะหน้าแบบวันต่อวัน เพราะประเทศชาติจะไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหนเลย แต่เราต้องรู้จักการคิดแบบกลยุทธ์ (Strategic Thinking) ผู้นำต้องมี Vision and Strategy ร้อยละ 10 และอีก 90 คือการบริหาร ซึ่งผู้บริหารที่ดีควรที่จะมีวิสัยทัศน์ที่ดีและกว้างไกล มีกระบวนการความคิดที่เป็นระบบ เพื่อที่จะสามารถกำหนดทิศทางในการบริหารประเทศว่าควรจะเดินต่อไปอย่างไรและวิธีไหน 

4. การให้ข้อมูลป้อนกลับที่เป็นประโยชน์: ผู้นำควรจะต้องมีความกล้าที่จะมีข้อเสนอเพื่ออธิบายและแนะนำทีมงาน ให้เข้าใจถึงขีดความสามารถการบริหารงานของรัฐมนตรีทุกคน โดยกล้าที่จะปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีที่ขาดความสามารถเพราะทุกนาทีมีความสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก

การพัฒนาประเทศจะสำเร็จหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์เพียงผู้เดียว แต่ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีและคณะทำงานของรัฐบาลทั้งหมดว่าจะมีศักยภาพในการทำงานขนาดไหน โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ เราควรที่จะสนับสนุนคนที่มีภาวะเป็นผู้นำและมีความรู้ในเรื่องต่างๆ มากกว่าการเอาพวกของตัวเองมาบริหาร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งในทุกๆ เรื่อง แต่ควรที่จะสรรหาคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ มาแนะนำ ดังคำนิยามความหมายผู้นำที่ดีของ John C. Maxwell ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำว่า “ถ้าคุณพัฒนาตัวเอง คุณจะประสบผลสำเร็จเพียงคนเดียว ถ้าคุณพัฒนาทีม องค์ของคุณจะเติบโต แต่ถ้าคุณพัฒนาผู้นำ องค์กรของคุณจะเติบโตแบบก้าวกระโดด” สุดท้ายนี้ก็คงขึ้นอยู่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกทิศทางในการบริหารประเทศอย่างไร จะเลือกที่จะพัฒนาประเทศอย่างจริงใจ หรือจะเก็บเฉพาะพวกพ้องเอาไว้ใช้งาน

"นพดล" เร่งรัฐ เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

"นพดล" ขอรัฐบาลรีบกำหนดกรอบเวลาเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ได้แล้ว ความชัดเจนทำให้คนกรุงเทพฯได้ประโยชน์

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าตนไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลยังไม่กำหนดกรอบเวลาการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ทั้งๆที่การเลือกตั้งนายก อบจ. ก็เกิดขึ้นแล้ว และเทศบาลก็กำลังจะเกิดขึ้น ที่มีกระแสข่าวว่าอาจมีการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ปลายปีนี้ก็ช้าไป การกำหนดเวลาเลือกตั้งให้ชัดเจนจะทำให้พรรคการเมืองหรือบุคคลที่สนใจเสนอตัวเข้าแข่งขันเพื่อให้คนกรุงเทพฯได้พิจารณาประวัติ ผลงาน แนวนโยบายของผู้สมัครในการแก้ปัญหากรุงเทพฯ แต่เนิ่นๆ เนื่องจากมีปัญหาปากท้อง การจราจร น้ำท่วม ที่อยู่อาศัย ขยะ ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต PM 2.5 ยาเสพติด หาบเร่แผลงลอย การศึกษา ถนนหนทาง การท่องเที่ยวรวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่รอการแก้ไข ผู้ที่สนใจเสนอตัวลงสมัครผู้ว่าฯต้องมีนโยบายและแนวทางชัดเจนในการแก้ปัญหาที่สำคัญดังกล่าว ไม่ใช่จะอาศัยชื่อเสียงหรือความปรารถนาส่วนตัวและป้ายโฆษณาหาเสียงอย่างเดียว  การเลือกตั้งจะทำให้ผู้เลือกตั้งเห็นแนวคิดก่อนลงคะแนนและติดตามการทำงานของผู้ได้รับเลือกว่าทำตามนโยบายหาเสียงหรือไม่ ดังนั้นรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องควรรีบกำหนดกรอบเวลาการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ให้ชัดเจน ยิ่งเร็วทุกฝ่ายยิ่งได้ประโยชน์เพราะในขณะนี้การพูดคุยส่วนใหญ่เป็นเรื่องตัวบุคคลว่ามีใครสนใจจะลงสมัคร พรรคใดจะส่งไม่ส่ง แต่วาระการดีเบทควรเป็นเรื่องแนวนโยบายกทม. ของผู้สมัครหรือของพรรคที่จะส่งผู้สมัคร ว่ามีนโยบายในแต่ละด้านเป็นอย่างไร มีความชัดเจนเป็นไปได้ไหม กทม. มีงบประมาณทำได้หรือไม่ มิใช่เพียงขายฝัน และที่สำคัญต้องดูว่าความสามารถและความปรารถนาทางการเมืองของผู้สมัครได้สัดส่วนกันหรือไม่

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564

"วัฒนรักษ์" ชี้ ปัญหาฝุ่นพิษ ไม่ใช่เรื่องขี้ผง

“ผู้กองมาร์ค” เตือน “ประยุทธ์” ฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่แค่เรื่องขี้ผง แต่กลับกลายเป็นหายนะของคนไทยทั้งประเทศ

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นพิษ  PM2.5 ไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนไทย เพราะเราพบเจอกับปัญหานี้อย่างหนักมาตลอด 6 ปี  โดยหลายวันที่ผ่านมานี้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 มีค่าที่เกินมาตรฐานเป็นอย่างมาก ทำให้คนกรุงเทพฯและปริมณฑล ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ จากปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานจึงทำให้คนไทยส่วนใหญ่อดสงสัยไม่ได้ว่านี่เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขาดความเข้าใจ หรือไม่สนใจกับปัญหานี้กันแน่ จึงทำให้เราต้องเจอกับปัญหาฝุ่นหนักๆ ทุกหน้าหนาวและทุกๆ ครั้งที่อากาศปิด ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินแบบนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “บริหารแบบรอเวลาให้ฝุ่นหายไปเอง” โดย พรรคเพื่อไทย เป็นห่วงประชาชนคนไทยทุกคนเป็นอย่างมาก เพราะทุกวันนี้นอกจากเราจะต้องต่อสู้กับปัญหาโควิด-19แล้วยังต้องผจญและแก้ปัญหาฝุ่นพิษด้วยตนเองอีกด้วย

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้ชี้แจงว่าร้อยละ 72.5 ของฝุ่นพิษ PM2.5 มาจากรถยนต์ และร้อยละ 28 มาจากรถขนาดใหญ่ นั้นหมายความว่ารถดีเซลเป็นอีก 1 ปัจจัยหลักที่ต้องเร่งแก้ไข พรรคเพื่อไทย จึงขอเสนอแนะวิธีที่จะพลิก “ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ให้เป็นโอกาส เพื่อรับมือวิกฤตฝุ่นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครบทุกมิติ” ดังนี้

1. ปรับคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ดีขึ้น และออกกฎหมายให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะวางขายในตลาดหลังเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ต้องติดตั้งเครื่องกรองฝุ่นจากดีเซล (Diesel Particulate Filters) ซึ่งจะช่วยลดการปล่อย PM2.5 ลงได้มากถึงร้อยละ 82 และรถดีเซลที่มีอยู่ในประเทศให้ติตั้งเครื่องดังกล่าวทั้งหมดภายในวันที่ 1 มกราคม 2565 โดยรัฐบาลมอบหมายให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเป็นผู้วิจัยและรัฐบาลผลิตจำหน่ายในราคาทุน

2. สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดทุกประเภท และดำเนินการปิดโรงงานไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดให้ได้ภายใน 1 ปี และออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือบริษัทโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ให้มาร่วมพัฒนาผลิตพลังงานสะอาดแทน

3. สนับสนุนและผลักดันให้พลเมืองเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEVs) โดยต้องปรับเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางทั้งหมดให้เป็นรถ BEVs ทันที และที่สำคัญที่สุดรัฐบาลควรช่วยสนับสนุนการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าให้เพียงพอ โดยรัฐบาลควรสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) อย่างเร่งด่วน

4. รัฐบาลควรที่จะให้มีการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังในการ ตรวจ จับ ปรับ รถยนต์ที่ปล่อยควันดำและมีค่าไอเสียที่เกินมาตรฐานทันที เพราะกองบังคับการตำรวจจราจรเพียงหน่วยเดียว อาจจะไม่มีบุคคลากรเพียงพอ จึงเป็นการที่ดีจะปฎิบัติราชการร่วมกัน

5. ปัญหาโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่หวาดผวากับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้ยอดผู้ใช้รถไฟฟ้าตกวูบลงถึง ร้อยละ 54.63 และอีกปัญหาคือค่าตั๋วรถไฟฟ้าราคาสูงเกินไป ดังนั้นหากรัฐบาลจะสนับสนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงและลดปัญหาฝุ่นพิษได้ รัฐบาลก็ควรที่จะสนับสนุนค่าตั๋วส่วนต่างให้กับบริษัทท่างด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ โดยลดค่าตั๋วเดินทางลงร้อยละ 50 

จากคำกล่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดว่า “ปัญหาบ่อน 100 นายกฯ ก็แก้ไม่ได้ เก่งกาจแค่ไหนก็ทำไม่ได้ทั้งนั้น” ทำให้คนไทยอดคิดไม่ได้ว่าชีวิตคงต้องเจอแต่ความมืดมน  ในขณะที่ทางพรรคเพื่อไทย มีความเชื่อมั่นเสมอมาว่าหากเราได้กลับมาผู้บริหารประเทศจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโควิด-19 เศรษฐกิจและปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 หรือปัญหาอื่นใด เพราะในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสแฝงตัวอยู่ด้วยเสมอ

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

"สกุณา" เตือนสติรัฐ ใช้งบช่วยประชาชนดีกว่าสร้างหนังสงครามรักชาติ

“สกุณา” อัด “ประยุทธ์” ใช้เงินกู้โควิดเอื้อนายทุนทุบรายย่อย แนะรัฐบาลนำงบ 300 ล้านช่วยประชาชนดีกว่าสร้างหนังรักชาติ

นางสาว สกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาของการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ของรัฐบาล ถือว่าสอบตกเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวันแสดงให้เห็นว่า แนวทางที่รัฐบาลดำเนินการไม่ถูกต้อง ทั้งการตรวจหาเชื้อที่ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ กรณีที่จะใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อสร้างหนังรักชาติ เป็นแนวคิดที่ไร้สาระมากที่ใช้เงินประชาชนเพื่อโปรโมทตัวเอง อยากเตือนสติพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า ไม่มีคนไทยคนไหนไม่รักชาติ งบประมาณ 300 ล้านบาทสามารถที่จะนำไปสนับสนุนในการตรวจหาเชื้อประชาชนได้เป็นอย่างดี รัฐบาลควรนำงบประมาณไปสร้างประโยชน์ให้ประชาชนดีกว่ามาทำเรื่องนี้

นางสาว สกุณา กล่าวด้วยว่า ประชาชนมองว่านโยบายการแก้ปัญหาประเทศหลังโควิดของรัฐบาลทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาวสิ้นหวังหมด เงินงบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลกู้มาหวังฟื้นฟูประเทศ ถึงวันนี้สามารถช่วยผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีได้กี่ราย นอกจากนี้จากงบประมาณ 500,000 ล้านบาท จนถึงวันนี้รัฐบาลปล่อยกู้ได้เพียง 1 แสนกว่าล้าน เหลืออีก 300,000 กว่าล้านที่ยังคงค้างอยู่ที่สภาพัฒน์ ซึ่งไม่มีคำตอบว่าทำไมไม่อนุมัติเงินก็จำนวนนี้เพื่อช่วยผู้ประกอบการตามที่มาร้องขอ

“รัฐบาลออกนโยบายใดๆออกมาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐบาลไม่เคยติดตามว่านโยบายสั่งไปมีการดำเนินการหรือไม่ เพราะระบบรัฐข้าราชการไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนได้ รวมทั้งพลเอกประยุทธ์ ปล่อยให้นายทุนใกล้ชิดรับประโยชน์จากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูประเทศ รัฐบาลไม่มีความตั้งใจจริงในการกู้วิกฤติประเทศ เพียงแค่พูดให้ดูดีแต่การกระทำตรงข้าม รวมทั้งเอื้อประโยชน์นายทุนมากกว่าตั้งใจช่วยประชาชน” นางสาว สกุณา

"อนุสรณ์" แนะมหาดไทย-ตำรวจ ปราบบ่อน

"อนุสรณ์" แนะ ปราบบ่อน ควรใช้โครงสร้างมหาดไทย-ตำรวจ เป็นหลัก

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีสถานที่เล่นการพนันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า เห็นการแต่งตั้งคณะกรรมการของพล.อ.ประยุทธ์ ร้อยนายกฯก็คงแก้ไม่ได้จริงๆ ไม่แน่ใจว่าพล.อ.ประยุทธ์ แก้ปัญหาบ่อนการพนันไม่ได้ หรือไม่อยากแก้กันแน่ ออกคำสั่งตั้งกรรมการเพราะได้รับผลกระทบจากอาการเมาลำโพงหรือไม่ รัฐบาลไม่ควรตั้งโจทย์ผิดว่า บ่อนมีได้เพราะตำรวจมีเอี่ยวอย่างเดียว เพราะคนเกี่ยวข้องและรับประโยชน์จากบ่อนมีหลากหลายกลุ่ม จึงควรใช้โครงสร้างมหาดไทยร่วมกับโครงสร้างตำรวจเข้ามาเป็นหลักในการแก้ปัญหา ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีผบ.ตร.หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ พื้นที่ใดปล่อยให้มีบ่อนการพนัน ต้องย้ายจริง ปลดจริง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้การฯจังหวัด ต้องรับผิดชอบ ถ้าแก้แบบนี้ 30 วันจะเริ่มเห็นผล แต่ถ้าแก้แบบลูบหน้าปะจมูก ตั้งคณะกรรมการซื้อเวลาไปเรื่อยๆ 100 นายกฯก็จะแก้ไม่ได้จริงๆ

"ถ้าพล.อ.ประยุทธ์  คิดได้เท่านี้ ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ไม่ปราบปรามปัญหาบ่อนการพนันอย่างจริงจัง ไม่มีทางแก้ปัญหาได้" นายอนุสรณ์ กล่าว

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2564

"วัน อยู่บำรุง" สอนรัฐจับบ่อนแก้โควิด

"วัน อยู่บำรุง" เสนอตั้งกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีสถานที่เล่นการพนันฯ ชุดใหม่ โดยไม่ต้องรอให้ชุดที่เพิ่งตั้งทำงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัน อยู่บำรุง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต26 พรรคเพื่อไทย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ยสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผมเพิ่งทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 9/2564  เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีสถานที่เล่นการพนันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 โดยมีนายชาญเชาน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ , แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีการเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 โดยมีนายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ  เพื่อดำเนินการแก้ไขเรื่องปัญหาแรงงานเถื่อน เรื่องปัญหาการทุจริต เรื่องปัญหาปราบปรามบ่อนที่ลักลอบเล่นการพนัน จนกระทั่งเป็นที่มาของโรคไวรัสโควิดที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน

ผมพิจารณาแล้วเห็นว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว แม้ยังไม่เริ่มทำงาน แต่ผมมั่นใจว่า มันจะไม่เกิดประสิทธิภาพแล้วไม่เกิดประสิทธิผล เนื่องจากเอาอดีตข้าราชการมาเป็นประธานดำเนินการ ไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาและองค์ประกอบของคณะกรรมการก็เป็นผู้ที่ไม่มีอำนาจที่แท้จริง แม้ว่าจะได้รับอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าว ก็เห็นได้ว่าไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาได้เท่ากับผู้ที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ได้อย่างแน่นอน

ผมมีข้อเสนอว่า หากต้องการให้ลดปัญหาการติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 ในสถานที่เล่นการพนัน หรือกรณีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จะต้องแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ และจะต้องมีอธิบดีกรมการปกครอง และ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ เพราะในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจมีอำนาจเท่ากัน จากเดิมที่การสอบสวน จับกุมเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่สมัยที่คุณพ่อผม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คุณพ่อผมได้เป็นผู้เสนอแก้กฎหมายให้ฝ่ายปกครองและฝ่ายตำรวจมีอำนาจหน้าที่เท่ากัน 

เมื่อเกิดการกระทำความผิดในพื้นที่ มีบ่อนการพนันในพื้นที่ หรือ กรณีมีคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด หากมีการย้ายผู้บังคับการจังหวัด ก็ต้องย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย  หากมีการย้ายผู้กำกับ ก็ต้องย้ายนายอำเภอด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าแต่งตั้งคณะกรรมการแบบนี้ ไม่เกิน 90 วันจะได้ผลอย่างแน่นอน


"ยุทธพงศ์" นำทัพเพื่อไทย เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย แถลงข่าว นำโดย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ว่า วันที่ 25 มกราคม พรรคฝ่ายค้าน จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีหมัดเด็ดที่จะอภิปรายแน่นอน โดยประเด็นที่จะอภิปรายคือโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง– สมุทรปราการ และหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต ที่ปัจจุบันพบปัญหา และรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปราย ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ดีหมัดเด็ดที่ตนระบุนั้น คือ หลังจากที่ฝ่ายค้านอภิปรายแล้วจะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการกระทำที่ดำเนินการนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่? นอกจากนั้นยังมีประเด็นความล้มเหลวของการบริหารราชการล้มเหลวทุกด้าน ทั้ง การแก้ไขปัญหาของการระบาดของโควิด-19, ปัญหาเศรษฐกิจ, การปล่อยให้มีบ่อนการพนันผิดกฎหมาย และ การทุจริตคอร์รัปชั่น

“เที่ยวนี้มีคนปรามาสว่าฝ่ายค้านคงทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ ผมบอกว่าขอให้ดูการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่ผ่านมา ที่มีเรื่องใหญ่ 2 เรื่อง คือ กรณีนายกฯพักบ้านหลวง ที่ทำให้มีเรื่องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แม้นายกฯจะรอด แต่ทำให้คนทั้งประเทศตกอกตกใจ และเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว หากไม่มีการอภิปรายจะต่อไปนานแล้ว แต่การอภิปรายทำให้ชะลอ และเกิดผลกระทบไปทุกสี ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะการต่อสัญญา ภายใน 16 กุมภาพันธ์ หากไม่ต่อจะทำให้ประชาชนเสียค่าโดยสารสูงสุด 158 บาท” นายยุทธพงศ์ กล่าว 

นายยุทธพงศ์ ยังได้เรียกร้องรัฐบาล ให้ช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง ทั่วประเทศ จากเดิมที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงจะช่วยเหลือประชาชนเพียง 28 จังหวัด  นอกจากนั้นขอให้พล.อ.ประยุทธ์ ตัดงบประมาณของหน่วยงานกองทัพ อาทิ กองทัพเรือ, กองทัพบก, กองทัพอากาศ ที่เตรียมเสนอของบประมาณในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมนำเอกสารเป็นหนังสือทางราชการของกองทัพเรือ ที่พบว่าเตรียมนำเสนอโครงการในปีงบประมาณ 2565 เพื่อใช้ต่อการจัดหาซื้อเรือดำน้ำ , กองทัพบก มีโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตี, จัดหายานเกราะ , กองทัพอากาศ อาทิ โครงการพัฒนาปฏิบัติการในห้วงอวกาศ, โครงการจัดหาเครื่องบินโจมตีเบา, โครงการหาเครื่องบินฝึกทดแทน มูลค่ารวมกว่า 3.8หมื่นล้านบาท

“ไม่มีความจำเป็น และชะลอได้ทั้งหมด หากนำช่วยเหลือประชาชน คนละ 3,500 บาท จะช่วยเหลือประชาชนได้มากถึง 5.43 ล้านคน ส่วนที่รัฐบาลบอกว่าไม่มีเงิน ควรปรับงบกองทัพมาใช้จ่าย ไม่ใช่หั่นงบประมาณของหน่วยงานอื่นและบอกให้หน่วยงานอื่นประหยัด เช่น กรณีให้ตัดงบลงทุนในจังหวัดต่างๆ ทั้งที่งบดังกล่าวสามารถขยายการจ้างงานและช่วยเหลือประชาชนได้” นายยุทธพงศ์ กล่าว

"จาตุรนต์" ห่วงปัญหาแรงงานข้ามชาตินอกระบบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

ฟังเพื่อนเล่าประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติแล้วสะท้อนปัญหาได้มากเลย

ผมขออนุญาตเอามาเล่าต่อ อาจจะยาวหน่อย แต่น่าติดตามมาก

เชิญอ่านจากภาพแต่ละภาพครับ

ผมเสนอความเห็นมาตลอดในหลายปีมานี้ว่า ประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างขนานใหญ่ ยิ่งสังคมไทยกำลังจะเป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้น คนวัยทำงานจะน้อยลง เศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านกำลังโตเร็วกว่าเรา ต้องการแรงงานไว้ใช้เองมากขึ้น ยิ่งมาเจอสถานการณ์โควิด-19 การไม่มีนโยบายที่ดียิ่งทำให้ปัญหาต่างๆ มากขึ้น

จริงๆ ก็คือ ต้องรื้อกันใหม่หมดด้วยความคิดที่จะให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ ไม่หวังเอาประโยชน์จากค่าหัว ค่าใช้จ่ายที่แพงทั้งสำหรับผู้ประกอบการและแรงงานเองอย่างที่เป็นอยู่

การมีกฎหมายที่เข้มงวดด้วยบทลงโทษที่รุนแรงกลับทำให้ทุกฝ่ายไม่อยากเข้าระบบ การอยู่นอกระบบกับการคอร์รัปชันติดสินบนจึงเกิดขึ้นเต็มไปหมด

สภาพอย่างนี้เมื่อเจอกับโควิด ก็กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดหลักซึ่งหากรัฐบาลดูแลให้ดี ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายเข้าระบบ จะลดความเสียหายได้อีกมากและเป็นประโยชน์ในระยะยาวหรือในอนาคตข้างหน้ามากกว่าอย่างที่เป็นอยู่

เรื่องนี้คงต้องหาโอกาสคุยกันเพิ่มเติมอีกครับ

"วัฒนรักษ์" เตือนรัฐบาล ศึกอภิปรายฯครั้งนี้ ได้ม้วนเสื่อกลับบ้าน

“ผู้กองมาร์ค” ชี้ “ประยุทธ์” เจอแค่เรื่อง EEC ในศึกซักฟอกครั้งนี้ ม้วนเสื่อกลับบ้านแน่นอน

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ นอกจากประเด็นความล้มเหลวในการจัดการกับเรื่องของนายทุนบ่อนการพนันและการลักลอบขนแรงงานเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับคนมีสี ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการระบาดโควิด-19 ในรอบ 2 และจากการที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ค้างคามาช้านาน จนประชาชนต้องต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวด้วยตนเอง ยังกลับพบอีกว่ามีการบริหารงบประมาณแผ่นดินในหลายโครงการที่น่าสงสัย เช่น การลงทุน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) ใช้พื้นที่ 98,715 ไร่ ซึ่งมีงบประมาณกว่า 527,603 ล้านบาท เป็นโครงการขนาดยักษ์ใหญ่ โดยการร่วมลงทุนของรัฐ – เอกชน หรือ PPP ที่ควรเป็นผลประโยชน์ของคนไทยทุกคน และถือว่านี่คือการเดิมพันของคนไทยทั้งประเทศ เพราะเศรษฐกิจไทยตกต่ำมาตลอด 6 ปี ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะรัฐมนตรี ควรที่จะใช้เงินภาษีของประชาชนแบบระมัดระวัง ในส่วนของการเชื่อมการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงระหว่าง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินฉะเชิงเทรา รวม 3 สนามบินนั้น นอกจากความหวังจากโครงการนี้คือการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว  เราควรจะพิจารณาว่าการเชื่อมระหว่าง 3 สนามบิน ณ เวลานี้มีความสำคัญและคุ้มค่ากับประเทศไทยจริงหรือ ซึ่งในสัญญาระบุถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณทางรถไฟ ซึ่งบริษัทเจ้าของสัญญาสามารถพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) โดยที่ดินผืนงามใจกลางกรุงเทพฯ กว่า 457 ไร่ บริเวณย่านมักกะสัน  ความหวังสุดท้ายของพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ กำลังถูกพัฒนาเป็นคอมเพล็กยักษ์ และที่ดินบริเวณสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งหากทำให้เป็นการเชื่อมระหว่างจังหวัดต่างๆ แทนนั้นจะดีกว่าหรือไม่ เพราะการกระจายความเจริญไปสู่ทุกจังหวัดนั้นมีความสำคัญมากกว่า และจากการที่คณะกรรมการ EEC ที่มาจากส่วนกลาง 27 คน โดยไม่มีคนในพื้นที่แม้แต่คนเดียว มีพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีนักวิชาการอีก 5 คนเป็นคณะกรรมการ ซึ่งคนจากส่วนกลางจะมีความเข้าใจปัญหาของคนในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด 

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์เชิงลึก ของศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นว่า การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การที่ผู้เข้าร่วมโครงการ EEC ได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล (Corporate Income Tax) เยอะมากและนานเกินไป ถึง 15 ปี โดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ที่มากกว่า BOI หากไม่ใช่อุตสาหกรรมที่เกิดห่วงโซ่อุปทานใหม่ (New Supplier Chain) เราก็ควรจะเก็บภาษีให้เท่ากับอุตสาหกรรมอื่นๆ และนำรายได้นั้นกลับคืนให้กับท้องถิ่น เพื่อให้คนระยอง คนชลบุรี และคนฉะเชิงเทรา ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ EEC ในส่วนของฝุ่นควัน น้ำที่อาจเป็นพิษ เพื่อให้คนในท้องถิ่นที่รู้ซึ้งถึงปัญหาได้จัดการแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะพวกเขารู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไรให้ดีที่สุด และจากการที่บริษัทที่เข้าร่วมกับ โครงการ EEC ได้รับการยกเว้นกฎหมายที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการจัดสรรที่ดิน ให้อำนาจรัฐเวนคืนที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น จะดีแล้วหรือ เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ชาวบ้านทำการเกษตร แหล่งผลิตอาหาร ขวางทางน้ำ และการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะกระทบต่อระบบสาธารณูปโภคของ ปตท. ทั้งท่อน้ำมันและท่อก๊าสธรรมชาติ และหากต้องมีการรื้อถอนระบบสาธารณูปโภคทั้งหมด จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 4,000 ล้านบาท แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ หาก พล.อ.ประยุทธ์ อยากส่งเสริมระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ควรที่จะเอาภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ จะดีกว่าหรือไม่ เพราะคนต่างจังหวัดจะได้ไม่ต้องเข้ามาทำงานในกทม.เพียงอย่างเดียว และจะเกิดอะไรขึ้นหากบริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ EEC พร้อมใจกันใช้แต่หุ่นยนต์ ภาษีก็ไม่ต้องเสีย คนไทยจะได้รับผลประโยชน์อย่างไร  ดังนั้น พรรคเพื่อไทย ขอเสนอโครงการไทยทำ โดยเน้นที่สินค้าของคนไทย (Made in Thailand) คิดและผลิตโดยคนไทย ซึ่งอุตสาหกรรมนั้นควรจะต้องกระจายไปในทุกภาค ไม่ใช่มุ่งเน้นเฉพาะ 3 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งนิด้าโพลเคยตั้งคำถามเอาไว้ว่า คนไทยรับรู้เรื่อง EEC หรือไหม แต่ผลการสำรวจปรากฎว่าร้อยละ 56.90 ไม่เคยรับรู้/ไม่เคยได้ยิน และคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างชัดเจน ดังนั้นศึกซักฟอกในครั้งนี้จะแสดงให้เห็นถึงปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งยากที่จะเอาตัวรอดได้ แต่ถ้าวิเคราะห์ดูจากผลงานตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดนี้ คงจะเป็นไปได้ยากมากที่จะนำประเทศไทยให้พ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้ ระหว่างที่คนไทยทั้งประเทศกำลังต่อสู้กับปัญหาโควิด-19 ที่ระบาดหนักรอบ 2 แต่กลับมีมือดีแอบเซ็นสัญญาไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน แบบนี้เราจะยังเชื่อมั่นการทำงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้ต่อไปอีกหรือไม่ เพราะประชาชนอดสงสัยไม่ได้ว่าผลประโยชน์ของโครงการ EEC ที่แท้จริงแล้วตกอยู่กับใครกันแน่ รัฐ นายทุน หรือชาวบ้าน

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2564

"เพื่อไทย" แนะรัฐแก้ปัญหาฝุ่น ก่อนซื้อเรือดำน้ำ

"โฆษกเพื่อไทย" เร่งประยุทธ์จัดการปัญหาฝุ่นก่อนตั้งเรื่องซื้อเรือดำน้ำ ชี้ทุกปัญหาแก้ได้ อย่าถนัดแต่ตั้งกรรมการเพื่อยื้อเวลา 

นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหา PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานจนถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต  บางพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานกว่า 215 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมของทุกปี  วนซ้ำกลับมาเหมือนเทศกาลตายผ่อนส่ง  จนทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีมลพิษเลวร้ายติดอันดับ 7 ของโลก ขณะที่ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ค่าฝุ่นในระดับสีม่วงเป็น อันตรายต่อคนป่วยโรคปอดและหัวใจ  อาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพดีเกิดโรคปอดและหัวใจได้  แต่รัฐบาลยังไร้มาตรการและการวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ   ทั้งที่ต้องตระหนักว่าคุณภาพชีวิตที่ดี ชีวิตความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย คือหน้าที่รัฐต้องจัดสรรให้ประชาชน 

โฆษกพรรคเพื่อไทย จึงเสนอ 3 มาตรการเพื่อลดปัญหาค่าฝุ่น โดย 

1. รัฐต้องสร้างแรงจูงใจในการใช้รถไฟฟ้า ด้วยการปรับลดค่าโดยสารให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและสถานการณ์ปัจจุบัน   แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาสูง จนประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้  

2. รัฐบาลควรเร่งดำเนินการจริงจังเรื่องการวางระบบรถเมล์ไฟฟ้า เพราะในต่างประเทศระบบรถเมล์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี  อย่างในจีนราคาอยู่ที่คันละ  9-11 ล้านบาท หรือในยุโรปราคาอยู่ที่ 12-15 ล้านบาท  แต่ถ้ารัฐพิจารณาเรื่อง การซ่อมบำรุงในระยะยาวเมื่อเทียบกับรถเมล์ดีเซลจะถูกกว่า ไม่ต้องเปลี่ยนผ้าเบรก ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนแบตอย่างเดียวในระยะยาว 15 ปี  และยังมีราคาถูกกว่ารถใช้น้ำมัน 

ทั้งนี้ ตัวเลขรถเมล์ในกรุงเทพที่ ขสมก.ดำเนินการเองแบ่งเป็น รถธรรมดา 1,500 คัน ปรับอากาศ 1,400 คัน รวม  2,900 คัน เปลี่ยนเป็นรถเมล์ไฟฟ้า จะใช้งบประมาณ 29,000 ล้านบาท  แค่พลเอกประยุทธ์ ยุติการซื้ออาวุธเพิ่มแสนยานุภาพ แล้วนำงบประมาณส่วนนั้นมาซื้อรถเมล์ไฟฟ้าเพิ่ม ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า 

3. รัฐบาลควรจูงใจประชาชนให้ใช้รถไฟฟ้าด้วยมาตรทางภาษี  ด้วยการสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชนที่นำเข้ารถไฟฟ้าหรือทำกิจการรถไฟฟ้าโดยจัดเก็บภาษีให้ต่ำ เพื่อกระตุ้นการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแบบไฟฟ้ามากขึ้น 

"ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ยาเสพติด บ่อน ส่วยหรือ  PM2.5  แต่อย่าแก้ปัญหาด้วยการตั้งคณะทำงาน เพราะมันสะท้อนว่ารัฐราชการนี้แก้ปัญหาไม่ได้ ทำได้แต่ยื้อเวลา ทุกวันนี้ประชาชนยอมเป็นหนี้ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของเค้าดีขึ้น ไม่ใช่เป็นหนี้เพื่อให้รัฐบาลเอาไปซื้อเรือดำน้ำ " นางสาวอรุณีกล่าว

"ชัชชาติ" ห่วงปัญหากทม. ค้างจ่ายจ้างเดินรถไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

เมื่อวานช่วงบ่ายมีเวลาว่าง เลยถือโอกาสไปนั่งรถไฟฟ้าสายสีเขียวเล่น นั่งจากหมอชิต ไปถึงพหลโยธิน 24 ลงไปเดินเล่น คุยกับพี่วินมอเตอร์ไซค์ แล้วนั่่งกลับมา แวะซื้อขนมที่เซ็นทรัลลาดพร้าว และ นั่งกลับมาที่หมอชิต

เพราะตอนนี้ทาง กทม. ยังให้ขึ้น "ฟรี" อยู่ ไม่ต้องเสียค่าโดยสารตั้งแต่สถานีห้าแยกลาดพร้าวเป็นต้นไป

รถไฟสายสีเขียวส่วนต่อขยาย มีสองส่วน

ส่วนเหนือ จากหมอชิต(หรือจตุจักร) ไปคูคต และส่วนใต้จากบางจากไป เคหะฯสมุทรปราการ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายนี้เดิมทาง รฟม.ของกระทรวงคมนาคมเป็นคนสร้าง แต่ครม.มีมติโอนให้ กทม.เป็นผู้ดำเนินการเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561

ทาง กทม.ก็ทยอยเปิดการเดินรถไฟตามสถานีต่างๆ มาตั้งแต่ปลายปี 2561 และ ให้ประชาชนนั่ง"ฟรี"โดยไม่เก็บค่าโดยสาร แต่ กทม.ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถให้ทางเอกชนตลอดเพราะเอกชนเขามีค่าใช้จ่ายในการเดินรถ (ส่วนรายละเอียดว่าค่าจ้างเป็นอย่างไร สัญญาจ้างเป็นอย่างไร หาไม่ได้จริงๆครับ)

เมื่อเช้ามีข่าวว่าค่าจ้างสำหรับการเดินรถให้ประชาชนนั่ง"ฟรี" ตอนนี้มียอดหนี้ที่ กทม.ค้างชำระถึงเก้าพันล้านบาทแล้ว  และ ก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย เห็นว่าจะไปขอจากทางรัฐบาลให้ช่วยออกให้ (แต่สุดท้ายก็เงินพวกเราทั้งนั้นแหละครับ) ซึ่งก็อาจจะไม่ง่าย เพราะจ้างไปก่อนแล้วและเท่าที่ดูมติครม.เมื่อปี 2561 มีแต่เรื่องโอนรถไฟฟ้า แต่ไม่มีระบุว่า กทม.ไม่ต้องเก็บค่าโดยสาร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกสำหรับการบริหารว่า สามารถจ้างไปก่อนเกือบหมื่นล้านบาทโดยยังไม่รู้ว่าจะเอางบประมาณที่ไหนจ่าย

ถ้าพวกเรามีโอกาสต้องไปแถวนั้น ทั้งหมอชิต หรือ อ่อนนุช ก็ไปนั่งรถไฟฟ้า"ฟรี" กันนะครับ เพราะเหลือเวลาอีกแค่เดือนเดียวก็จะเริ่มเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายแล้วและสุดท้ายแล้วพวกเราต้องร่วมกันจ่ายเกือบหมื่นล้านบาทอยู่ดีครับ



"วิสาร" จวกรัฐ จ่ายเงินเยียวยาประชาชน น้อยกว่าเบี้ยประชุม ครม.

นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 รอบใหม่ ว่า ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะจำนวนเงินที่จ่ายให้ประชาชนต่อเดือนยังน้อยกว่าเบี้ยประชุมรัฐมนตรีต่อหนึ่งการประชุม ดังนั้นการจ่ายเงินเยียวยาของประชาชนจึงเป็นการจ่ายเพื่อตัดความรำคาญมากกว่าที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวไม่ควรที่จะให้มีการลงทะเบียน เพราะกลุ่มที่จะได้ก็คือกลุ่มที่เคยได้ประจำจากมาตรการรัฐ ไม่ว่าจะเป็น เราเที่ยวด้วยกัน  เราไม่ทิ้งกัน จนถึงคนล่ะครึ่ง เป็นการตอกย้ำว่ารัฐไม่เคยคิดนอกกรอบและไม่มีมีความจริงใจที่จะกระจายรายได้ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

นายวิสาร กล่าวด้วยว่า กรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่าไร้ความสามารถในการแก้ไขปัญหายาเสพติดกับปัญหาบ่อนการพนัน เป็นการยอมรับตรงๆว่าไร้ความสามารถ ทั้งๆที่รัฐบาลมีเครื่องมือในการดำเนินการ และกฎหมายมากมายแต่รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้เป็นความล้มเหลวของพลเอกประยุทธ์

“ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ ไร้ผลงานที่ประชาชนจับต้องได้ สร้างแต่ปัญหาให้ประชาชน รวมทั้งใช้อำนาจเป็นกฎหมายในการจัดการประชาชน ผลสะท้อนที่ออกคือความล้มเหลวในการแก้ปัญหาไวรัสโควิดรอบใหม่ ผลที่ตามมาคือประเทศชาติหยุดนิ่งไร้การพัฒนา ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัส เพราะรัฐบาลไร้ความสามารถในการนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักความยากจนไปได้” นายวิสาร กล่าว

"การุณ" แนะรัฐต้องเยียวยาคนทุกกลุ่ม ไม่จำกัดเฉพาะผู้ลงทะเบียน

“การุณ” ชี้การเยียวยาประชาชนต้องถึงทุกกลุ่ม ชี้รัฐไร้ความสามารถโยนผ้ายอมแพ้หมดทางแก้ยาเสพติด

นายการุณ โหสกุล ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า  จากการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า ต่อให้ 100 นายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดและบ่อนการพนันได้นั้น ตนเองเห็นว่าเป็นการคำตอบต่อสังคมที่ไม่แสดงความรับผิดชอบและเลวร้ายที่สุดตั้งแต่ตนเองเข้ามาเป็นนักการเมือง เพราะคนเป็นนายกรัฐมนตรีออกมายอมรับว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหา เหมือนพี่เลี้ยงโยนผ้าบนเวทีมวย ทั้งๆที่รัฐบาลมีทั้งเครื่องมือ กำลังพล และงบประมาณดังนั้นการออกมายอมรับเช่นนี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ จึงควรรีบลาออกโดยเร็วที่สุด เพื่อให้คนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานแทน ก่อนที่ประเทศไทยจะเสียหายไปมากกว่านี้

นอกจากนี้ การจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนจำนวน 3,500 บาทต่อคน เป็นเวลา 2 เดือน เป็นการจ่ายเงินที่ไม่ได้มาจากหลักคิดที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นการจ่ายเยียวยาเพราะลดแรงกดดันที่มาจากภาคสังคมมากกว่า ตนเองถือว่าเป็นการชดเชยแบบขอไปที เพราะไม่มีความจริงใจในการช่วยเหลือแม้แต่น้อย

นายการุณ กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนในการดูแลประชาชนมากกว่านี้  การเยียวยาต้องเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม และไม่ควรที่จะมาจากการลงทะเบียนเท่านั้น เพราะมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงระบบการลงทะเบียนของรัฐ  ดังนั้นรัฐต้องปรับแนวทางการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนให้ครบทุกคน  ไม่ใช่เช้าชามเย็นชามกันอยู่แบบนี้

“พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยเดือดร้อนเพราะกินข้าวหลวง อยู่บ้านหลวงมาตลอด จึงไม่เข้าใจปัญหาของชาวบ้านว่าวันนี้เขาทุกข์ยากกันแค่ไหน ผมอยากพาท่านลงพื้นที่ดอนเมืองเพื่อไปสัมผัสชีวิตของผู้เดือดร้อนตัวจริง วันนี้ท่านมัวแต่ฟังรายงานที่สวยหรูจากลิ่วล้อว่าเศรษฐกิจดี คนอยู่ดีกินดี ผมบอกเลยว่าดีเฉพาะเจ้าสัว แต่คนตัวเล็กๆจะอดตายกันหมดแล้ว ลองมาลงพื้นที่กับผมสักครั้ง เดินไปกันแค่ 2 คน ลิ่วล้อ ขบวนแห่ไม่เกี่ยว ผมจะพาไปดูว่าคนที่อดมื้อกินมื้อเขามีชีวิตอยู่กันยังไง บางทีโอกาสแบบนี้จะได้เปิดโลกทัศน์ของท่านนายกฯให้กว้างขวางขึ้นด้วย” นายการุณ กล่าว

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564

“เผ่าภูมิ” ชี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มาถูกทาง ทำ “มาตรการคงการจ้าง” ตามเพื่อไทยเสนอ

“เผ่าภูมิ” ชี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มาถูกทาง ทำ “มาตรการคงการจ้าง” ตามเพื่อไทยเสนอ เร่งคลัง-แรงงานทำตาม

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะ ผอ.ศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณี รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นชอบร่วมกับผู้ประกอบการประคองการจ้างงานภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมแบบ Co-Pay (จ่ายคนละครึ่ง) ระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการโดยไม่เลิกจ้างแรงงาน เป็นเวลา 2 เดือน ตามข่าว ว่า กระทรวงท่องเที่ยวฯ เริ่มมาถูกทางที่เล็งเห็นปัญหาและนำ “มาตรการคงการจ้างงาน” ที่พรรคเพื่อไทยเสนอไปปรับใช้ ฝากเพิ่มว่า

1. ควรสนับสนุนเป็นขั้นบันได (50-60%) ตามลักษณะธุรกิจ แปรผันตามโอกาสการอยู่รอด เพราะถ้าไม่ละเอียดตรงนี้สนับสนุนหว่านไปทั่ว Zombie Firm ที่ไม่ควรได้รับก็ได้รับ

2. ควรสนับสนุนจ่ายตรงผ่านนายจ้างไปยังลูกจ้างเป็นเวลา 6 เดือน เพราะ 2 เดือนสั้นเกินไปที่จะทำให้เอกชนและลูกจ้างเชื่อมั่นในกระแสรายได้ในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุน (ของภาคเอกชน) และการใช้จ่าย (ของแรงงาน)

3. ควรระบุให้ดำรงการจ้างงานไม่น้อยกว่า 90% ของการจ้างงานเดิม

แปลกที่เป็นกระทรวงท่องเที่ยวฯ เห็นปัญหาก่อน แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ คลัง และแรงงานโดยตรงกลับยังขาดมาตรการลักษณะนี้มารองรับ ต้องรีบดำเนินการ อย่าลืมว่าการระบาดในครั้งนี้ จะเกิดการตกงานไม่ใช่เฉพาะเจาะจงที่ภาคบริการเหมือนที่ผ่านมา แต่จะลามไปถึงภาคอุตสาหกรรมด้วย เนื่องจากมีการล็อกดาวน์เข้มข้นในเขตจังหวัดอุตสาหกรรมของประเทศ ตรงนี้ต้องระวังให้มาก

ย้ำว่า “มาตรการคงการจ้างงาน” ไม่ใช่การเยียวยาตามระบบประกันสังคมซึ่งแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่ใช่โครงการจ้างงานบัณฑิตใหม่ที่มีอยู่ แต่เป็นมาตรการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานแรงงานเพื่อป้องกันการพังลงของตลาดแรงงานซึ่งเปราะบางมากมาระยะหนึ่งแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564

"พัฒน์พงศ์" : ผลกระทบการระบาดของโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19) ระลอกใหม่

โดย ดร.จรัล อัมพรกลิ่นแก้ว

“ตั้งแต่มีโควิดรอบนี้ กิจการในถนนพัฒน์พงศ์อยู่กันไม่ไหว ขนของย้ายออกไปกันเกินครึ่งซอยแล้ว”

ชายเจ้าของกิจการบาร์แห่งหนึ่งในถนนพัฒน์พงศ์ ซอย 1 ถนนสายสั้นๆ ที่เชื่อมถนนสีลมและถนนสุรวงศ์แต่เป็นถนนที่มีมูลค่าที่ดินสูงติดลำดับต้นๆของประเทศไทย  พี่ผู้ชายเจ้าของกิจการบาร์และภรรยาต้องผันตัวเองมาเปิดแผงข้าวแกงเล็กๆ ภายหลังเกิดวิกฤติโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019  “กินอะไรดีครับ? สั่งได้เลยครับ มีกะเพราหมู เนื้อ ไก่ ไข่ดาวไข่เจียวร้อนๆ ง่ายๆ เลยนะครับ” เสียงเรียกเชิญชวนให้แวะทานอาหารกลางวันของพ่อค้าวัยกลางคนอารมณ์ดี

ผู้เขียนตัดสินใจเลือกเมนูทานง่าย นั่งทานข้าวไป พลางมองเข้าไปในบาร์ที่เปิดประตูระบายอากาศ เห็นเสาแสตนเลสเงาหม่น เวทีที่ว่างร้างเปล่า เก้าอี้ถูกยกขึ้นไปวางพาดไว้บนเวที ลังเบียร์ถูกวางกองรวมๆไว้มุมร้านพร้อมกับพรมพื้นสีเขียวที่ถูกซักตากทิ้งไว้ แต่ไม่มีพนักงานเหลืออยู่เลยสักคน

“ร้านเราถูกปิดตามคำสั่งคณะรัฐมนตรี ที่ให้ปิดสถานบริการ สถานบันเทิงตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว เพื่อป้องกันการระบาดโควิด แล้วลูกค้าเราซอยนี้หลักๆ เป็นต่างชาติ เป็นญี่ปุ่นมากที่สุด และญี่ปุ่นเองก็โควิดระบาดหนักมาก พอลูกค้าต่างชาติญี่ปุ่นมาไม่ได้ เราก็ไม่มีเงินรายได้ ไม่มีเงินจะจ่ายลูกน้อง  ลูกน้องก็ต้องกลับบ้านไปหางานอื่นทำกันใหม่”

เจ้าของบาร์ผู้ชายพร้อมภรรยา มานั่งคุยกับเรา เจ้าของบาร์เล่าว่า เขามาเช่าที่ตรงนี้ที่ทำบาร์ มานานหลายปี แม้ว่าลูกค้าจะค่อยๆ เงียบลงมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังกัดฟันพออยู่ได้ แต่พอมีโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบาดจนถูกประกาศให้ปิดสถานบริการตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว จนถึงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เดือนธันวาคม ก็ตั้งหลักว่าจะเปิดกลับมาให้บริการนักท่องเที่ยวอีก แต่ยังไม่ทันเปิดร้าน โรคไวรัสโคโรนาก็ระบาดซ้ำตอนปลายปี จึงทำให้แผนที่จะเปิดให้บริการเป็นอันยุติไปรอบที่สอง

“ปิดมาตั้งแต่มีนาคมที่แล้ว ตอนปลายปีที่ผ่านมาก็เปิดนะ แต่พอเจอระบาดสิ้นปี ปิดเลย ปิดยาว” 

เจ้าของบาร์เล่าว่า คนที่มาทำธุรกิจบาร์ ไนต์คลับในซอยนี้แทบจะทั้งหมดไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน เช่าจากเจ้าของโดยตรงบ้าง เซ้งธุรกิจมาบ้าง หรือเช่าช่วงต่อกันมาบ้าง จึงมีภาระค่าเช่าในราคาสูง 

“เช่าเกือบทั้งหมดแหละ ค่าเช่าเดือนหนึ่ง ห้องตรงข้าม น่าจะห้องละ 1 แสนบาท โควิดหยุด แต่ค่าเช่าไม่ได้หยุดนะครับ อย่างตรงนั้น 3 ห้องติดกัน 3 แสนแน่ๆต่อเดือน ตั้งแต่มีนาคมที่แล้วนับไปสิกี่ล้าน” 

เมื่อถามว่าเจ้าของตึกเขาได้ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เช่น การลดค่าเช่า เป็นต้น เจ้าของบาร์ตอบว่า 

“มันแล้วแต่ บางเจ้าเขาไม่ลด บางเจ้าก็ลดให้ อย่างตรงนั้นเจ้าของที่ดิน เขาลดให้ 40 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องหามาจ่ายเดือนละเกือบ 2 แสน  ขนาดลดแล้วก็อยู่กันไม่ได้” 

แม้จะได้ลดค่าเช่าลงส่วนหนึ่ง แต่เมื่อไม่สามารถเปิดร้าน ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางมาได้ ผู้ประกอบการส่วนมากก็ไม่มีเงินทุนมากเพียงพอที่จะประคองธุรกิจเพื่อรอวันที่กลับมาเปิดกิจการได้  “ย้าย ย้ายออกกันเยอะมาก  ปลายซอยทางโน้นเพิ่งขนของออก อีกร้านหนึ่งขายกระเป๋า พวกกระเป๋าแบรนด์เนม มาขนของออกหมด โน้นสุดซอยตรงสุรวงศ์โน้น แปะป้ายให้เช่าติดยาวทั้งตึกแล้ว อยู่ไม่ไหว” 

เมื่อถามว่า แม้จะไม่สามารถเปิดกิจการแต่ยังมีภาระอะไรบ้าง เจ้าของบาร์บอกว่า บาร์ของตนหลักๆ คือค่าเช่า แต่โชคดีที่ช่วงที่ปิดโควิด เจ้าของตึกลดค่าเช่าให้ “เจ้าของตึก ตอนแรกเขาก็ลดค่าเช่าให้ ตอนนี้ก็ไม่เก็บค่าเช่า เพราะเค้าก็รู้ว่าเราไม่มีรายได้ แต่เราก็อยู่เฉยไม่ได้ไง ไม่มีค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟต้องมีอยู่ ภาระก็ยังมี ลูกก็ต้องเรียน แล้วตึกพวกนี้หากปิดไว้จะโทรมเร็วฝุ่นจับ เราก็ต้องเปิดประตูไว้แบบที่เห็น คอยเก็บกวาดดูน้ำรั่วไหม ไฟสว่างไหม คอยกวาดถู” 

แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือภาคธุรกิจจำนวนมาก แต่ด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ละเอียดบางอย่าง ก็ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือดังกล่าว ทั้งในส่วนกิจการและบุคคล

“ธุรกิจผมไม่ได้อะไรเลย เพราะเราทำธุรกิจแบบนี้คือ เจ้าของกิจการแต่ไม่ใช่เจ้าของที่ไง เวลาธนาคารประเมิน ก็ดูว่าเรามีสินทรัพย์อะไร เรามีแต่คลับ บาร์  และเราก็เช่าเขา แต่ที่ดินตึกอาคารไม่ใช่ของเรา เราจะเอาอะไรไปเป็นหลักประกันให้เขา” เจ้าของบาร์เล่าต่อ “ส่วนตัวเอง พอจะไปลงทะเบียนอะไรก็ไม่ได้ไม่ทัน แอปพลิเคชันอะไรก็ไม่ทันเขา เราก็ไม่ใช่คนยากจนไม่มีบัตร  อ้าว...ตกลงไม่ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง เลยมานั่งขายข้าวแกงได้ค่าน้ำค่าไฟก็ยังดี” เจ้าของบาร์บ่น 

ทุกวันนี้ เจ้าของกิจการบาร์สองคนสามีภรรยา มาช่วยกันเปิดร้านข้าวแกงเล็กๆ จานละ 40 บาท หารายได้เป็นค่าน้ำค่าไฟ ด้วยความหวังว่าปลายปีนี้ เมื่อสถานการณ์โรคระบาดบรรเทาเบาบางลง  ก็มีความหวังจะเปิดกิจการกลับมาคึกคักอีกครั้ง “โควิดมารอบนี้ ผมว่าคงเปิดร้านได้อีกทีปลายปีนี้ไม่ก็ต้นปีหน้า ถ้ามีวัคซีนโควิดเร็วๆนะ แม้ว่าจะเปิดได้”

เมื่อถามว่า ถ้าเปิดกิจการคราวหน้า ร้านค้าต่างๆ จะกลับมาคึกคักหรือรูปแบบจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์แค่ไหนอย่างไร เจ้าของบาร์บอกเราว่าเขาเองก็คาดเดาไม่ถูกแล้ว เค้าแอบภาวนาให้ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ลึกๆ ใจเขาก็ยอมรับว่าทุกอย่างในอนาคตอาจไม่เหมือนเดิม แต่เขาพร้อมสู้จนถึงที่สุดอีกครั้ง 

“ผมสู้นะ ผมรู้แค่ว่าผมต้องเหนื่อย แต่ที่ผมไม่รู้จริงๆ ก็คือ ร้านรวงแถวนี้ จะเปลี่ยนหน้าตาเปลี่ยนกันไปขนาดไหน แต่จะเปลี่ยนยังไงผมก็ยังสู้ แม้รู้ว่าหลังโควิดรอบนี้ พัฒน์พงศ์อาจจะไม่เหมือนเดิม!”

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564

"เพื่อไทย" เตรียมต้อนรับ "สุธรรม" เป็นสมาชิกใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองสื่อสารพรรคเพื่อไทย แจ้งหมายข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีเนื้อหาระบุว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2564 เวลา 11.00 น. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนสมาชิกพรรค และนางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค ต้อนรับอดีตผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ที่จะมาสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่สำนักงานพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายสุธรรม แสงประทุม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ รศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล นักวิชาการอิสระ-นักเศรษฐมิติระดับโลก ผู้ริเริ่มความคิด หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โครงการ OTOP ในปัจจุบัน) โดยหลังสมัครเสร็จ จะมีการแถลงข่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุธรรม เป็นผู้เข้าร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย โดยเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยแรกของรัฐบาลพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งนี้ นายสุธรรม ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ทั้งในคราว พ.ศ. 2544 และคราว พ.ศ. 2548 โดยในปี พ.ศ. 2553 นายสุธรรมร่วมกับ รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อดิศร เพียงเกษ เป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ "ตรงไปตรงมา" ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียมเอเชียอัปเดต หรือ TV24 ในปัจจุบัน ก่อนที่เฉพาะนายสุธรรมจะยุติการจัดรายการดังกล่าว เมื่อสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ล่าสุด นายสุธรรม แสงประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 28 พรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) ก่อนพรรคถูกยุบ

"จาตุรนต์" ลงพื้นที่สวนหลวง-ประเวศ ฟังเสียงประชาชนเดือดร้อนเพราะโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผมมีโอกาสได้ไปพูดคุยเรื่องงานกับพรรคพวกแถวสวนหลวง เขตประเวศ จึงถือโอกาสไปเยี่ยมชุมชนเล็กๆ ที่อยู่บริเวณนั้น ชุมชนเล็กที่มีเพียง 26 หลังคาเรือน มีคนอาศัยอยู่ประมาณ 150 คน  ซึ่งพวกเขาคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการของรัฐที่ออกมาโดยตรง ขณะเดียวกันในกรุงเทพมหานครมีชุมชนเปราะบางเช่นเดียวกันนี้อีกอย่างน้อย 1,500 แห่งและมีคนอาศัยอยู่อีกกว่า 1.2 ล้านคน



คนในชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง มีทั้งเป็นแม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด รปภ. เมื่อบริษัทต้องหยุดกิจการ พวกเขาจะเป็นคนแรกๆ ที่ถูกให้ออกก่อนพนักงานคนอื่น เพราะไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ซึ่งการระบาดรอบใหม่นี้พวกเขาต้องหยุดงานและขาดรายได้ภายในสัปดาห์แรกที่มีการระบาดทันที 

ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา พวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรงและลำบากเดือดร้อนกันอย่างมาก และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ นอกจากรับผลกระทบจากปัญหาที่พวกเขาไม่ได้ก่อ เรื่องราวของพวกเขาไม่อยู่ในรายงานข่าวประจำวัน คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้ว่าพวกเขาอยู่กินกันอย่างไร และต้องใช้ชีวิตอย่างไรในยามนี้

ที่บ้านหลังแรก

ได้พูดคุยกับเด็กผู้หญิงที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยม ซึ่งอาศัยอยู่กับคุณยายและลูกสาวของคุณยายที่กำลังตั้งครรภ์ เด็กๆ สะท้อนปัญหาการปิดโรงเรียนได้อย่างชัดเจน โดยชี้ให้เห็นว่า การเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์ ทำให้ไม่สามารถเรียนและทำความเข้าใจบทเรียนได้อย่างเต็มที่ และโรงเรียนที่มีห้องเรียนกว้างขวางและในห้องก็มีเด็กเพียงแค่ 30 คน น่าจะพอทำให้นั่งห่างกันได้

บ้านหลังที่สอง 

มีเด็กทั้งหมด 8 คน ผู้ใหญ่ 5 คน และมีผู้พิการอยู่ด้วย เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่านโยบายรัฐที่ให้เด็กหยุดเรียนอยู่บ้านเพื่อให้เด็กห่างกัน แต่ตามชุมชนแออัดเหล่านี้มีครอบครัวลักษณะเช่นนี้ที่มีเด็กอยู่ถึง 8 คน เมื่อพวกเขาหยุดอยู่บ้านจึงอยู่กันอย่างแออัด 

ผู้ปกครองในครอบครัวนี้แสดงความเป็นห่วงเด็กๆ ในเรื่องที่ต้องหยุดเรียนและการเรียนออนไลน์ ซึ่งมีปัญหาและอาจทำให้เด็กๆ เรียนไม่รู้เรื่อง เนื่องจากไม่ได้เรียนกับครูโดยตรง นอกจากนี้การระบาดของโควิดครั้งนี้ ทำให้ผู้ใหญ่ 2 คนในบ้านต้องหยุดงาน เนื่องจากที่ทำงานต้องปิดตามมาตรการของรัฐ ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ไม่มีความชัดเจน มีเพียงรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการตัดเย็บผ้าขาวม้าที่รับมาจากโครงการของศูนย์ดูแลคนพิการ แต่ดูเหมือนจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญในการจุนเจือสมาชิกในบ้านทั้ง 13 ชีวิตขณะนี้ รวมทั้งต้องจัดสรรสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาพยาบาลน้องที่เป็นผู้พิการในบ้านด้วย 

.

บ้านหลังที่สาม 

เป็นครอบครัวของครูที่สอนในโรงเรียนเอกชน ซึ่งหยุดงานและได้เงินเดือนเพียงบางส่วน ซึ่งยังไม่มีคำตอบจากที่ทำงานว่าจะจ่ายเงินเดือนอย่างไร จนทำให้เกิดความกังวลอย่างมาก เพราะอาจทำให้ทั้งครอบครัวขาดรายได้ไปในที่สุด 

นี่เป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศนี้ 

แม้วันนี้รัฐบาลจะเริ่มออกมาพูดถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบบ้างแล้ว แต่ก็เป็นการเริ่มพูดหลังจากประชาชนได้รับผลกระทบกันมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะผลกระทบเกิดขึ้นในทันทีที่รัฐประกาศมาตรการบังคับต่างๆ โดยเฉพาะคนยากคนจนและผู้ที่ต้องหยุดงานจากมาตรการของรัฐผโดยตรงซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมาโดยตลอด ดังนั้นจึงล่าช้าไม่ได้ ยิ่งช้าผู้ได้รับผลกระทบทุกคนจะยิ่งยากลำบาก

ที่สำคัญคือการเยียวยาที่จะเกิดขึ้นนั้น จะมากเพียงพอและครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน มีใครต้องตกหล่นไม่ได้รับการเยียวยาหรือไม่และเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก รัฐบาลมีบทเรียนมาแล้วจากการระบาดครั้งที่แล้ว จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดปัญหาและผิดพลาดซ้ำซากอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายฮิม-อาจอง บิณศิรวานิช โพสต์ข้อความ ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ว่า "ผมได้มีโอกาสพา ท่านจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่มาพบพี่น้องชาว #สวนหลวง  #ประเวศ เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ ครูเอกชนท่านนี้ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ #COVID เช่นเดียวกันกับพี่น้องของเราที่ประกอบอีกหลายๆอาชีพครับ"

"ชัชชาติ" แนะบริหารจัดการงบกรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนโควิดช่วยประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

ตาม พรบ ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 89 กำหนดให้กรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ในการดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่องต่างๆรวม 27 เรื่อง โดยรวมถึงข้อ (16) การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัวและ การพยาบาล

ปี 2563 กทม.ประมาณการรายได้ไว้ที่ 83,000 ล้านบาท และเมื่อดูจากสถานะการเงินในรายงานของสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2562 กทม. มีเงินสะสมปลอดภาระผูกพันสูงถึง 53,568 ล้านบาท (จริงๆแล้วก็คือเงินภาษีที่เก็บมาจากประชาชนที่ยังไม่ได้ใช้)

กทม. มีประชากรตามทะเบียนประชากรประมาณ 5.6 ล้านคน ถ้ารวมคนที่เข้ามาทำงานด้วยอีกประมาณสองล้านกว่าคน รวมแล้ว 8 ล้านคน ถ้าเราจะฉีดวัคซีนโควิดให้ทุกคน คนละ 2 โดส ที่ราคา 1,000 บาทต่อคน จะใช้งบประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่ง กทม.มีเงินสะสมมากพอที่จะรับภาระแทนประชาชนได้ทันที

การสร้างความมั่นใจด้านสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อปากท้องของประชาชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะในเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง มีโอกาสระบาดรุนแรง ท้องถิ่นในหลายแห่งเช่น นนทบุรี แหลมฉบัง ได้มีแนวคิดนี้แล้ว กทม.เองน่าจะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขได้ทันทีเพราะมีความพร้อมมากที่สุด

เวลามีค่าครับ

"พิชัย" เตือนคนออกจากพรรคเพื่อไทย อย่าป่วน

“พิชัย” ยืนยัน “ เพื่อไทย” เข้มแข็ง “เตือน” คนออกจากพรรค อย่าป่วน และ อย่าคิดตกปลาในบ่อพรรค เชื่อ หากมีเลือกตั้ง “เพื่อไทย” ชนะขาด 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ขอยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยเข้มแข็งและแข็งแกร่ง พรรคเพื่อไทยไม่ได้ปั่นป่วนตามที่มีกระแสข่าวการโจมตีพรรคแต่อย่างใด พรรคมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถครบทุกด้าน และมีคนรุ่นใหม่ที่เก่งและฉลาด พรรคมีแนวทางและหลักคิดที่ดี  ซึ่งจะเป็นความหวังของประเทศและประชาชนได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กระแสความสับสนน่าจะเกิดมาจากการสร้างกระแสของกลุ่มคนที่ออกจากพรรคไปแล้ว แต่พยายามสร้างความปั่นป่วนเพื่อให้พรรคดูสั่นคลอน โดยอยากขอเตือนไปยังผู้ที่ออกจากพรรคไปและพยายามสร้างความปั่นป่วนให้กับพรรค ทั้งที่พรรคได้ให้โอกาส และเคยได้รับการสนับสนุนจากพรรคจึงไต่เต้าขึ้นมาได้ อย่าได้คิดอกตัญญูโดยการให้ร้ายพรรค เพราะจะสะท้อนภาพลักษณ์ที่แย่ไปหากลุ่มคนเหล่านั้นเอง เพราะที่ผ่านมาปัญหาของพรรคเกิดจากภาวะผู้นำและยุทธศาสตร์การบริหารที่ผ่านมาไม่สร้างความหวังให้กับประชาชน ความนิยมของพลเอกประยุทธ์ตกต่ำอย่างสุดๆแล้ว แต่กลับไม่สามารถทำตัวเองให้เป็นทางเลือกของประชาชนได้ พรรคจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้น เพื่อให้เป็นความหวังของประชาชนได้ ซึ่งเชื่อว่าด้วยวิสัยทัศน์ที่พรรคได้แสดงออกหลังการเปลี่ยนแปลงการบริหารและจะยังจะมีนโยบายอีกหลายเรื่องตามมา ประชาชนจะมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่

โดยอยากให้ยึดหลักศาสนาพุทธที่ต้องรู้จักกตัญญูรู้คุณและต้องมี หิริโอตตัปปะ หรือการละอายและการเกรงกลัวต่อบาป อย่าปากพูดอย่างแต่กลับมีการกระทำอีกอย่าง อย่าทำตัวเป็นก้อนหินถ่วงพรรค ออกไปแล้วก็ควรเอาเศษหินออกไปด้วย พรรคจะได้ขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยไม่มีอุปสรรค ถ้าหวังดีกับพรรคจริงก็ควรจะออกไปด้วยกันโดยดี จากกันด้วยดี อย่าคิดจะมาตกปลาในบ่อของพรรค ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าละอายอย่างมาก และขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีการแตกสาขาไปพรรคอื่นแต่อย่างใด พรรคยังเป็นหนึ่งเดียวไม่มีสาขาและเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยหลักคิดและแนวทาง ประกอบกับประวัติศาสตร์ของพรรคที่พัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชนมาตลอด และมีนโยบายที่ประชาชนสามารถจับต้องได้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โอทอป SMEs SML ฯลฯ และพรรคจะมีนโยบายที่โดนใจประชาชนต่อเนื่องไปถึงอนาคต เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเพิ่มรายได้ของประชาชนและของประเทศ ที่เป็นจุดแข็งของพรรค การเปลี่ยนแพลตฟอร์มของประเทศทั้งของราชการและของเอกชน เป็นต้น ประกอบกับภาวะการบริหารประเทศที่ย่ำแย่ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในปัจจุบัน หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยจะชนะอย่างถล่มทลายแน่นอน

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

"ภูมิธรรม" แจง เพื่อไทยจะเข้มแข็ง ชัยชนะรออยู่

นายภูมิธรรม เวชยชัย โพสต์ข้อความในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ระบุว่า  "เพื่อไทย"กำลัง..ปฎิรูปครั่งใหญ่...ได้ยินว่าแกนนำและผู้ใหญ่เห็นตรงกันว่าจากนี้ไปต้อง ทบทวน และ ปรับขบวนอย่าง เต็มที่...เพราะ"มือในสภาไม่สำคัญเท่าศรัทธา มหาชน "...ถ้าเรารักษาศรัทธาและค.มุ่งมั่นที่เคยมี เราก็จะเข้มแข็งและเป็น ที่พึ่งหวังของพี่น้องปช.ตลอดไป...เฝ้าดูการป.ป.ในเร็ววัน

"การเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องธรรมดา"..คนที่ยังยืนหยัดอยู่ หากยังมุ่งมั่น รักปช.และยึดมั่นปชต. มาช่วยกันทำงาน เรามีแต่เข้มแข็งและเติบโต..ปช.จะปกป้องและโอบอู้มเรา...รถไฟขบวนนี้ ไม่มีวันถอยหลัง...เราจะร่วมกับปช.สร้างสังคมที่งดงามร่วมกัน...ชัยชนะรออยู่เบื้องหน้า

"เพื่อไทย" นั่งประชุมออนไลน์ที่พรรค เสนอรัฐ 4 ข้อ แก้ปัญหาโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ พรรคเพื่อไทย จัดการประชุมออนไลน์ ฟอรั่มพิเศษ “รับมือโควิดอย่างไร ไม่ให้ประเทศพัง” ร่วมเสนอทางออกจากวิกฤติ ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านของพรรคเพื่อไทย โดยใช้เวลาประชุมออนไลน์ประมาณ 48 นาที โดยมีผู้แสดงความคิดเห็น 5 คน ประกอบด้วย นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.พลังงาน ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผอ.ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทย และ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ โดยมีการสรุปเนื้อหา เท่ากับ กระดาษ A4 จำนวน 2 หน้า ระบุ ข้อเสนอชุดมาตรการรองรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ดังนี้

พรรคเพื่อไทย เสวนา "รับมือโควิดอย่างไร ไม่ให้ประเทศพัง"

ข้อเสนอชุดมาตรการรองรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 

ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้มีแนวโน้มจะมีจะรุนแรงทั้งในมิติลึกด้านความรุนแรง และมิติกว้างด้านจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบจากระลอกที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัว จำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากเป็นทวีคูณและมีอัตราเร่งมากกว่าการติดเชื้อครั้งแรก การระบาดในระลอกนี้จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ภาคเอกชน รวมถึงพี่น้องแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบอย่างยิ่งยวด พรรคเพื่อไทยโดยคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทยเห็นถึงความสำคัญที่รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับ เยียวยา และรวมการป้องกันความเสียหายที่เหมาะสม แต่ปัจจุบันยังไม่มี จึงได้เสนอชุดมาตรการรองรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ดังนี้ 

1. กลุ่มแรงงานในและนอกระบบ 

1.1. กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอิสระ ลูกจ้าง กลุ่มเปราะบาง และเกษตรกร (กลุ่มเดิมจากการเยียวยาครั้งก่อน) ให้ได้รับเงินสนับสนุนคนละ 15,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เท่ากับการเยียวยาให้ครั้งแรก) สำหรับนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ และเงินสนับสนุนคนละ 18,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 6,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ 

1.2. สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคม ใช้มาตรการคงการจ้างงาน (Job Retention Scheme) โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างโดยตรงผ่านผู้ประกอบการ เพื่อดำรงการจ้างงาน โดยเอกชนที่รับการสนับสนุนคงการจ้างงานไม่น้อยกว่า 90% ของจำนวนแรงงานเดิม ทั้งนี้ภาครัฐสนับสนุนเป็นระบบขั้นบันไดตั้งแต่ 50-60% ตามโซนจังหวัดตามความรุนแรงของการระบาด เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนสิทธิ์อื่นตามประกันสังคมให้คงตามมาตรการของรัฐ 

1.3. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ สำหรับเอกชนที่สามารถจ้างงานเพิ่มกว่าจำนวนเดิม เพื่อสนับสนุนการจ้างงานเพิ่มเติมจากเอกชนที่มีกำลัง 

1.4. เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีผู้ตกงานจำนวนมาก เสนอให้จัดตั้งแพล็ตฟอร์มกลางเพื่อการจ้างงานในภาวะวิกฤติขนาดใหญ่ จับคู่ความต้องการ นายจ้าง-ลูกจ้างชนกันผ่านระบบ AI โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งสองฝ่าย 

2. กลุ่มผู้ประกอบการและ SMEs  

2.1. ใช้มาตรการทางการเงินที่ไม่ได้ใช้ในช่วงเวลาปกติ (Unconventional) ในการสร้างสภาพคล่อง โดยการตั้งกองทุนสินเชื่อเพื่อ SMEs ผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท โดยไม่ผ่านกลไกของสถาบันการเงินพาณิชย์ 

2.2. แก้ไขข้อจำกัดและเงื่อนไขที่เข้มงวดของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำตาม พรก. Soft Loan เช่น ไม่เป็น NPL วงเงินไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง เป็นต้น 

2.3. ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐดำเนินมาตรการพักหนี้ผู้ประกอบการรวมถึงเกษตรกร ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และธนาคารหยุดคิดดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนธนาคารพาณิชย์ให้ภาครัฐชดเชยรายได้ดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักหนี้ 

3. กลุ่มประชาชนทั่วไป 

3.1. มาตรการลดภาระของประชาชน อุดหนุนภาระดอกเบี้ย สำหรับผู้ที่ผ่อนยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน 

3.2. ขยายระยะเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมวันที่ 31 มีนาคม 2564 เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2564 

3.3. ลดภาระประชาชนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ โดยภาครัฐสนับสนุนบางส่วน เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมถึงการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร 

3.4. มาตรการรองรับการเรียนออนไลน์ สนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์มือถือหรือแท็บเล็ตสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลน ดูแลการเข้าถึงอาหารกลางวันของนักเรียน 

4. มาตรการสร้างรายได้ กระจายโอกาส และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 

4.1. เร่งพัฒนาทุนมนุษย์ พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาทุกมิติ เร่งสร้างแพล็ตฟอร์มการเรียนออนไลน์ จัดหาอุปกรณ์ให้เด็กขาดแคลน จัดทำเนื้อหาหลักสูตรระดับโลก อีกทั้งเร่งสร้างและเพิ่มทักษะใหม่ให้คนทำงานและตกงานรองรับตลาดงานและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี  

4.2. ลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำครบวงจรเพื่อเป็นมหาอำนาจผลิตอาหารปลอดภัย  

4.3. ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาในด้านอาหาร การแพทย์ พลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญทันทีเพื่อไทยแข่งขันได้ 

4.4. ส่งเสริมมาตรการหารายได้เข้ารัฐ ที่ไม่ใช่เพียงภาษี การลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มระบบราชการ การคลัง และระบบภาษีทั้งหมด เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ลดขนาดราชการ และป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงการใช้ระบบบล็อกเชน การแก้ไขระบบศุลกากร ปรับปรุงระบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  

4.5. ส่งเสริมและพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทย เพื่อสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้  

4.6. จัดระบบงบประมาณใหม่ โดยต้องเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ทบทวนงบประมาณที่ไม่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา  

 

11 ม.ค. 2564

"จาตุรนต์" เยือนเยาวราช ฟังเสียงประชาชน ห่วงพ่อค้า-แม่ค้า เผชิญวิกฤตโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เสียงสะท้อนจากเยาวราช

.

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปแถวๆ เยาวราช เลยแวะไปกินก๋วยจั๊บเจ้าอร่อย มีโอกาสพูดคุยทักทายพ่อค้าแม่ค้าเจ้าประจำที่คุ้นเคยกัน จึงได้รู้ว่าในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก 

เยาวราชวันนี้แปลกตา ภาพผู้คนที่เคยเนืองแน่น จับจ่ายใช้สอย ไม่เหมือนเดิมเลย คนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด 

วันนั้นมีโอกาสถ่ายภาพมาด้วย จึงคิดว่าควรนำเนื้อสาระที่น่าสนใจจากการได้พูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้า มาเล่า มาแบ่งปันกันเพื่อข้อมูลและเป็นกำลังใจให้กันในสถานการณ์นี้ 

1. ก๋วยจั๊บเจ้าประจำหน้าโรงหนังเก่าเยาวราช ปกติคนแน่นมาก คิวยาว วันนี้คนน้อยลงไปเยอะ แต่อร่อยและบริการดีเยี่ยมเหมือนเดิม

ถามหลายๆ ร้านจะบอกตรงกันว่า ช่วงนี้แต่ละวันแต่ละคืนขายของได้น้อยลง บางร้าน บางร้านบอกว่า ตั้งแต่มีคำสั่งห้ามรับประทานอาหารที่ร้าน หลัง 21.00 น. บางร้านว่าลูกค้าหายไป 50% บางร้านว่าลูกค้าหายไปกว่า 80 %

2. แม่ค้าทุเรียนเจ้าประจำอีกเหมือนกัน เมื่อก่อนขายดีมาก แต่หลังจากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยแล้ว ก็ต้องเลิกขายทุเรียน หันมาขายบัวลอยแทน ช่วงนี้พอขายได้ น่าจะเพราะอร่อยเป็นพิเศษ

3. แม่ค้าขายซีดีเพลงจีน ไปเมื่อไรก็ต้องแวะคุยกันเป็นประจำ ฟังเพลงเติ้ง ลี่ จุน ไปเพลินๆ ยังคุยล้อเล่นกันว่าเคยจะฝากขายซีดีเพลงจีนที่ผมร้องอัดแผ่นไว้ แต่เกรงใจว่าจะไปแย่งลูกค้านักร้องคนอื่น 555

4. ได้คุยกับ project manager ร้านหลงโถว คาเฟ่ (Lhong Tou Cafe) ร้านคาเฟ่สไตล์จีนที่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ ได้ข้อมูลมามาก โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบรรยากาศการค้าขาย

SMEs หลายรายที่เยาวราช ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดร้านค้าขายเฉพาะช่วงเย็น บางร้านตัดสินใจปิดร้าน หยุดดำเนินกิจการเลยหลังมีคำสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านหลัง 21.00 น. เพราะคิดว่าขาดทุนแน่ บางร้านอาจเลิกไปเลยเพราะยังเป็นหนี้อยู่ตั้งแต่รอบที่แล้ว ส่วนที่ยังเปิดค้าขายกันอยู่ก็ลำบากเต็มที ที่สำคัญคือลูกค้ารู้สึกว่าคำสั่งและมาตรการบังคับแสดงถึงว่าไม่ปลอดภัย ไม่ไปกินตามร้านดีกว่า ทำให้ลูกค้าน้อยลงมาก

ปัญหาสำคัญมาก คือ ทางการไม่ได้แจ้งว่ามีแผนจะเยียวยาผู้ประกอบการและพนักงานลูกจ้าง ยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการรักษาพนักงานไว้ ปล่อยให้ผู้ประกอบการต้องคิดแก้ปัญหากันเอง soft loan ที่น่าจะเป็นความหวังของผู้ประกอบการก็เข้าถึงยาก มีเงื่อนไขยิบย่อยที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงมากมาย ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการจำนวนมากมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือเรื่องนี้ 

พนักงานลูกจ้างส่วนใหญ่รู้สึกหวั่นไหว ไม่รู้ว่าจะมีงานทำไปอีกกี่วัน จะถูกลดเงินเดือน ค่าจ้างเหลือเท่าไหร่ หรือจะต้องออกจากงานกันอีก ร้านที่ปิดไปแล้วก็ต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยแพงๆ เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวให้ได้ก่อน

ขณะนี้หลายร้านอาหาร พยายามช่วยกันคิดวิธีการในการซื้อขายออนไลน์และจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้าผ่านผู้ให้บริการเดลิเวอรี่แทนการขายในร้าน พยายามหาความร่วมมือและจับมือกันเพื่อแก้ปัญหาในช่วงวิกฤต ให้ SMEs โดยยังไม่รู้เลยว่ารัฐบาลมีนโยบายในเรื่องเหล่านี้อย่างไร

การมีภาครัฐคำสั่งบังคับ รวมทั้งเข้มงวดต่อร้านอาหารโดยไม่มีมาตรการมารองรับ กำลังสร้างความเสียหายอย่างมากต่อคนทำมาค้าขายทั้งหลาย หากยังไม่มีการทบทวนการใช้มาตรการเหล่านี้โดยเร็ว ความเสียหายจะยิ่งมาก

วันนี้พวกเขาไม่สามารถดำเนินกิจการแบบเดิมได้และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะได้กลับมามีชีวิตแบบเดิมได้เมื่อไร  

ส่วนการเยียวยา ที่วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ จากผู้ออกคำสั่งและผู้รับผิดชอบนั้น จะต้องมีการดำเนินการให้ชัดเจนทั้งในส่วนของผู้ประกอบภาร ธุรกิจภาคเอกชนและประชาชน คนงาน ลูกจ้างที่ต้องหยุดงาน ตกงาน ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่สั่งปิด สั่งหยุดกิจการสารพัดไปก่อนแล้วค่อยมาหาทางแก้กันทีหลังอย่างที่ทำกันอยู่