วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ยกฟ้อง “วัฒนา เมืองสุข” โพสต์วิจารณ์ คสช. ไม่ผิด


นายนรินท์พงศ์ ที่ปรึกษาทางกฎหมายของนายวัฒนา เมืองสุข เปิดเผยถึงผลคำพิพากษาว่า ศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้ว ได้พิพากษาให้ยกฟ้องนายวัฒนา เนื่องจากเห็นว่าข้อความที่วิจารณ์ทำนองว่า คสช.อยู่ลากยาว และยังไม่มีการจัดเลือกตั้งนั้น เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ซึ่งทางนำสืบชั้นพิจารณาเราก็มีนายโภคิน พลกุล อดีตรองนายกฯ , นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษา เบิกความถึงข้อเท็จจริงในสถานการณ์ว่าปัจจุบัน คสช. ยังคงอยู่ และยังไม่มีการจัดเลือกตั้ง ดังนั้นกรณีไม่ใช่การนำความเท็จเผยแพร่ แต่เป็นการแสดงความเห็นที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ต้องรอดูว่า ฝ่ายอัยการโจทก์ จะยื่นอุทธรณ์คดีอีกหรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายต้องดำเนินภายใน 30 วัน

“เพื่อไทย”ยืนยันช่วยชาวนา ติงรัฐมนตรีปล่อยข้าวราคาตกต่ำ


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี รัฐบาลและคสช. ระบุ ราคาข้าวตกต่ำ เพราะฝีมือนักการเมืองร่วมกับโรงสี ช่วยกันกดราคา ว่า "ถือเป็นข่าวใหม่ที่คนในสังคมไทย ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน แสดงว่าถ้าราคาข้าวที่ตกต่ำ เกิดจากการสมคบคิดกันระหว่างนักการเมืองกับโรงสี คงจะต้องสมคบกันทั้งประเทศ เพราะราคาข้าวที่ตกต่ำเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ รัฐบาลและคสช.มีเครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง แทรกซึมอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน น่าจะไม่ยากเกินไปที่จะเอาความจริงมาประจานว่า มีนักการเมืองคนใด พรรคใด หรือโรงสีใด ทำเรื่องเลวร้ายเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่เห็นใจชาวนา มุ่งคิดยุทธศาสตร์เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้ชาวนาได้ลืมตาอ้าปาก ที่สำคัญเป็นพรรคที่ทำโครงการจำนำข้าว และจากการสอบถามก็ไม่พบนักการเมืองคนใดของพรรคไปกระทำเช่นนั้น ก่อนโทษคนอื่น รัฐบาลควรไปตรวจสอบศักยภาพของรัฐมนตรี หรือหน่วยงานในกำกับของท่าน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า มีความสามารถ หรือศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลราคาข้าวเพื่อให้ความเป็นธรรมกับชาวนาได้หรือไม่ ไม่ใช่มีเหตุอะไรเกิดขึ้นก็โทษนักการเมืองไว้ก่อน เหมือนอย่างเช่น เหตุระเบิดราชประสงค์ เหตุระเบิด 7จังหวัดภาคใต้ตอนบน ก็โทษนักการเมือง พอราคาข้าวตกต่ำ ก็ยังพยายามจะโทษนักการเมืองอีก ซึ่งไม่น่าจะใช่ ส่วนที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า มีโรงสีร่วมกับกลุ่มอำนาจเก่าทุบราคาข้าวนั้น ต้องพิสูจน์และระบุให้ชัดๆว่า โรงสีชื่ออะไร กลุ่มอำนาจเก่าคือใคร อย่ากุข่าวใส่ร้ายคนอื่น พูดเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่นรายวัน ถ้าเก่งจริงก็ช่วยเสนอแนวคิดแก้ปัญหาให้ชาวนาดีกว่า อย่าเล่นการเมืองแบบเก่าที่ทำให้คนเบื่อหน่าย อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยขอเอาใจช่วยทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ชาวนาอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วน เพื่อให้ชาวนา กระดูกสันหลังของชาติ ได้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีต่อไป"

"พิชัย" ถาม "สมคิด" 6 ข้อ ฟังเสียงประชาชน เศรษฐกิจดีหรือไม่?


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ออกมาบอกว่า ศักยภาพไทยเข้มแข็ง จะขยายได้ 3.5% และจะมีข่าวดีเรื่องการส่งออกและการลงทุนออกมาเรื่อยๆ ซึ่งหากถามประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นตรงข้ามกับนายสมคิดอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเกษตรกร เพราะไปที่ไหนประชาชนก็บ่นถึงความลำบากในภาวะเศรษฐกิจอย่างมาก จึงอยากให้นายสมคิดได้ลองเดินสำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปบ้าง ดังนั้นจึงอยากขอให้นายสมคิดตอบข้อสงสัย 6 ข้อดังนี้

1. ที่บอกว่าศักยภาพไทยเข้มแข็ง แล้วปัจจุบันไทยขยายตัวได้เต็มศักยภาพหรือไม่? เหตุใด ไอเอ็มเอฟ และ เวิร์ลแบงค์ถึงบอกว่าไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาก และแนวโน้มอนาคตจะเป็นอย่างไรถ้าการลงทุนและการส่งออกยังมีระดับต่ำมาก

2. เป็นที่ทราบดีว่าการที่บอกว่าไทยจะเติบโตได้ 3.5% นั้น ซึ่งจะเติบโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด อยากให้นายสมคิด ชี้แจงว่ารัฐบาลได้ใช้เงินอัดฉีดไปเป็นจำนวนกี่แสนล้านบาท และทำไมใช้เงินมหาศาลแต่ขยายตัวได้เพียงเท่านี้ แล้วอนาคตจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องได้อย่างไรจากภาวะปัจจุบัน อีกทั้งการขยายตัวดังกล่าวเงินไปกระจุกอยู่ที่ไหน ทำไมจึงไม่ถึงมือประชาชนส่วนใหญ่

3. การที่นายสมคิดดีใจว่าการส่งออกเป็นบวก 2 เดือนติดกัน หลังจากที่การส่งออกแท้จริงติดลบมาก่อนหน้านี้ 19 เดือน จึงอยากถามนายสมคิดว่าทราบไหมว่าการส่งออกในปีนี้ถึงปัจจุบันต่ำสุดในรอบ 6 ปี ถึงแม้ขยายตัวบ้างแต่โอกาสจะเป็นบวกยังมีน้อย และรับรองได้ว่าไม่มีทางขยายถึงปีละ 5% ตามที่นายสมคิดยืนยันไว้ตอนต้นปี

4. อยากให้นายสมคิดแถลงตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศที่ลงทุนจริงว่ามีปริมาณเท่าไหร่ หลังจากที่ครึ่งปีแรกเหลือแค่ หมื่นกว่าล้านบาท หรือหายไปเกือบ 100% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี และในครึ่งปีหลังการลงทุนได้ฟื้นขึ้นมาเท่าไหร่ คิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของภาวะปกติที่มียอดการลงทุนปีละกว่าล้านล้านบาท และอยากให้ชี้แจงว่าผลกระทบจากการลงทุนลดลงมากจะผลต่ออนาคตของประเทศอย่างไร และจะมีประโยชน์อะไรที่ความสะดวกในการทำธุรกิจของไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่อันดับที่ 46 แต่ไม่มีใครมาลงทุนและทำธุรกิจด้วย

5. ความเดือดร้อนของชาวนาปัจจุบันจากราคาข้าวที่ตกต่ำมากสุด นายสมคิดจะช่วยเหลืออย่างไร โดยก่อนหน้านี่นายสมคิดเคยประกาศว่าจะไม่มีโครงการอุดหนุนสินค้าเกษตร

6. อยากให้นายสมคิดชี้แจงว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องได้ด้วยเครื่องยนต์เศรษฐกิจใดเพราะเท่าที่เห็นทุกเครื่องยนต์ทำท่าจะดับหมดแล้ว และนายสมคิดได้แก้ไขเสาหลักเศรษฐกิจที่เสื่อมที่เคยวิจารณ์ไว้เองเหล่านี้อย่างไรบ้าง

ดังนั้นจึงอยากให้นายสมคิดได้รับรู้ความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ที่ลำบากกันอย่างมาก และอยากให้แก้ปัญหาให้ถูกทาง หากนายสมคิดยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจดีในขณะที่คนเกือบทั้งประเทศเห็นตรงข้าม นายสมคิดก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ประชาชนก็จะยิ่งลำบากกันมากขึ้น และอยากให้กำลังใจให้แก้ปัญหาได้จริงๆ ไม่ใช่แค่พูด

"ภูมิธรรม" เผยทิศทางพรรคเพื่อไทย คำตอบอยู่ที่ประชาชน


นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับการสอบถามของผู้สื่อข่าวเรื่องทิศทางของพรรคเพื่อไทยหลังจากนี้ โดยมีเนื้อหาดังนี้

วันนี้มีนักข่าวโทรมาสัมภาษณ์...อยากได้เรื่องความเหนียวแน่น ของพรรคเพื่อไทยเป็นยังไง หลังโดนกันหลายคดี

แกนนำยังเหนียวแน่น กันดีไหม? ผมตอบไปว่าพรรคไม่มีปัญหาอะไร...การโดนหลายคดีล้วนสะท้อนความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ซึ่งประชาชนไทยและนักการเมืองของพรรค/แกนนำพรรคทราบและเข้าใจดี

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในพรรครักกันมากขึ้นเพราะรู้ดีว่า...ที่ผ่านมาที่พรรคเราทำงานล้วนพยายามมุ่งแก้ปัญหาให้ประชาชนทั้งสิ้น คนส่วนใหญ่ของพรรคเชื่อว่าประชาชนรักเราและจะไม่ทอดทิ้งเรา..ตราบใดที่เรายังยืนยันจุดยืนเดิมของเราที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการมองปัญหาทุกเรื่อง.

สมาชิกและนักการเมืองของพรรคจะทิ้งพรรคหรือไม่? ให้ดูความนิยมของประชาชนในแต่ละพื้นที่....ถ้าคนส่วนใหญ่ในพื้นที่นั้น ยังรักพรรค/คิดถึงผู้นำของพรรค/คิดถึงนโยบายพรรค......จะไม่มีใครกล้าทิ้งพรรค

หากจะมีเกิดขึ้นบ้างคงต้องดูความเป็นจริงของสถานการณ์ทางการเมืองและ..ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากมีการเลือกตั้ง...ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบตอนนี้ยังไม่มีใครเห็นอะไรชัดเจน......เมื่อสถานการณ์เปิดโอกาสให้พรรคทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เหตุการณ์ต่างๆที่จะปรากฎขึ้นจะเป็นตัวบ่งบอกคำตอบเอง....

"คำตอบอยู่ที่ประชาชน ไม่ใช่อยู่ที่นักการเมือง"

วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"เรืองไกร" โต้หนังสือชดใช้ฯสับสน ยืนยัน "ยิ่งลักษณ์" มีสิทธิ์ค้าน


นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาอ้างว่า การยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลังเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าวเป็นการเล่นการเมือง ว่า "เป็นการใช้สิทธิทางข้อกฎหมายของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สามารถทำได้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย จะให้มัดมือมัดเท้าไม่ทำอะไรเลยหรือ สำหรับการยื่นเพิกถอนคำสั่งชดใช้ค่าเสียหายกรณีจำนำข้าวของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ตนคิดว่าควรโต้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะหนังสือที่เขียนยังสับสนปนเป เรื่องนี้ต้องถามปลัดกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยว่าอ่านดีหรือยัง? เพราะจากที่ตนได้อ่านตามที่หนังสือระบุคือไม่เท่ากับทุจริตทุกขั้นตอน ซึ่งก็งงว่าตกลงจะทุจริตทุกขั้นตอนหรือไม่ทุกขั้นตอน เพราะตรงนี้ขัดแย้งกับหนังสือของ สตง. และยังขัดแย้งกับคดีความที่ว่ามาทั้งหมดที่ระบุว่าทุจริตทุกขั้นตอนด้วย ตกลงจะเอาอย่างไร?"

"อนุสรณ์" แนะรัฐช่วยวิกฤตชาวนา ราคาตกต่ำ-ภัยแล้ง-น้ำท่วม


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี รัฐบาลเตรียมประชุม นบข. เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ว่า ก่อนอื่นรัฐบาลต้องปรับทัศนคติ วิธีคิดที่ว่านักการเมือง สื่อบางพวกใช้ความเดือดร้อนชาวนามาสร้างกระแสเข้าใจผิดรัฐบาล เพราะไม่น่าจะมีใครหาประโยชน์บนความเดือดร้อนของชาวนา วันนี้ชาวนาเดือดร้อนกันหนักจริงๆ ราคาข้าวตกต่ำอย่างรวดเร็วและรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ขนาดพวกจุดชนวนล้มโครงการจำนำข้าว กดดัน ขัดขวาง ทำทุกวิถีทาง เพื่อทำให้โครงการจำนำข้าวที่ดูแลชาวนาต้องล้มเลิกไป ยังออกมาสารภาพเองเลยว่า ราคาข้าวต่ำขนาดนี้ชาวนาลำบากสุดๆ รัฐบาลกำลังตัดไม้หรือสร้างสิ่งกีดขวาง ปิดขวางทางตัวเองหรือไม่ ที่จะไม่ทำโครงการช่วยชาวนาในลักษณะประชานิยม ชาวบ้านกำลังรอดูว่านโยบายประชารัฐจะช่วยชาวนาได้อย่างไร ถ้าออกมาแบบครั้งก่อน ที่รัฐบาลจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละพัน มันก็ไม่ช่วยอะไร ชาวนาเสียสละมามาก ตอนภัยแล้งชาวนาก็รับกรรม น้ำท่วมก็ต้องเสียสละ มาวันนี้นอกจากรัฐบาลจะยังไม่มีมาตรการเป็นชิ้นเป็นอันในการช่วยชาวนาแล้ว ยังมีความเห็นในลักษณะมีปัญหา เมื่อชาวนาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการขายข้าวเอง ทั้งการขู่ว่าถ้าโพสต์ขายข้าวเองจะผิดกฎหมาย ทำสมดุลเศรษฐกิจเสีย ทั้งที่ควรจะหาช่องทางในการสนับสนุนเพื่อให้ชาวนาได้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ แต่รัฐบาลกลับไม่ทำ

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"เพื่อไทย" เตือนกระทรวงการคลังอย่าส่งสัญญาณสับสน จะหมดความน่าเชื่อถือ


นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการคลังออกมาตอบโต้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเตือนด้วยความหวังดีและเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจช่วงปลายปีจะถดถอย ประชาชนจะลำบากมาก โดยอยากให้กระทรวงการคลังกลับไปดูคำสัมภาษณ์ของ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ให้ข่าวในวันที่ 22 กันยายน 2559 และนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้ข่าวในวันที่ 17 ตุลาคม 2559 และล่าสุดเมื่อวานนี้ (25 ตุลาคม 2559) นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กระทรวงการคลัง ก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจปลายปีนี้จะถดถอยเช่นเดียวกัน ซึ่งหากถามประชาชนส่วนใหญ่ก็เชื่อได้ว่าจะได้คำตอบถึงความลำบากทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยหากพิจารณาตามความเป็นจริง เกษตรกรเดือดร้อนกันมาก เพราะราคาข้าวตกต่ำมากสุดในรอบหลายปี และราคาสินค้าเกษตรอื่นๆก็ย่ำแย่ รายได้เกษตรกรไม่ได้เพิ่มขึ้นเหมือนที่กระทรวงการคลังบอก โดยเฉพาะชาวนาได้รับความเดือดร้อนกันมาก นักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงอย่างมาก หลังจากมีการจับกุมทัวร์ศูนย์เหรียญ และยังไม่ฟื้น ซึ่งสามารถเช็คอัตราการเข้าพักของโรงแรมต่างๆได้ การใช้จ่ายภาครัฐแม้จะอัดฉีดเข้าไปมากหลายแสนล้าน แต่ไม่รู้ไปตกอยู่ในมือใคร เพราะไม่ได้เข้าไปถึงประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกเลยว่าดีขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำมาก ครึ่งปีแรกหายไปเกือบ 100% เหลือแค่หมื่นล้านบาท ครึ่งปีหลังก็ยังไม่ฟื้น การลงทุนของนักลงทุนในประเทศก็เหลือน้อย หนีไปลงทุนในต่างประเทศกันหมด แม้จะมีการขอส่งเสริมการลงทุนบ้าง แต่การลงทุนจริงกลับมีน้อยหรือแทบไม่มีเลย ดังนั้น จึงอยากให้กระทรวงการคลังได้ปรึกษากันในหน่วยงานของตัวเองกันก่อนที่จะมาแถลงแก้ตัว และช่วยไปชี้แจงโฆษกหลายๆคน ที่คงจะมีความรู้ทางเศรษฐกิจไม่มากนัก เพราะหากกระทรวงการคลังเองยังสับสน ความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนจะยิ่งหดหาย เศรษฐกิจจะยิ่งทรุดหนักกว่าเดิม เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ และที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าใครที่เป็นคนพูดความจริง ซึ่งพรรคเพื่อไทยอยากเห็นเศรษฐกิจที่ดีเหมือนสมัยที่พรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทยบริหารประเทศ

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"พิชัย" ห่วงเศรษฐกิจทรุด แนะรัฐบาลนึกถึงประชาชน


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ๐เห็นด้วยกับแนวคิดของกระทรวงการคลังที่ห่วงว่าเศรษฐกิจในช่วงปลายปีจะทรุดหนัก เพราะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทำท่าจะดับทุกเครื่องแล้ว เพราะการบริโภคภายในประเทศลดต่ำลงมากจากรายได้ประชาชนที่ลดลง โดยเฉพาะราคาข้าวที่ตกต่ำมาก การส่งออกยังคงจะติดลบในปีนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในะระดับต่ำมาก อีกทั้งเครื่องยนต์เศรษฐกิจเดิมที่เคยพึ่ง เช่น การท่องเที่ยว ก็ปรากฏว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมีปริมาณลดลงมาก และการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการต่างๆก็ชะงักงัน จึงอยากรัฐบาลได้พิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหมาะสมก่อนที่จะสายเกินไป ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลหลายแสนล้านบาทอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งในโครงการประชารัฐ แต่เศรษฐกิจกลับไม่ขยับเลย แถมประชาชนก็ยังลำบากหนักกว่าเดิม จึงอยากให้พิจารณาว่าที่ได้อัดฉีดเงินจำนวนมากลงไปนั้น น่าจะไม่ถูกทาง และจะต้องถือเป็นความเสียหายของประเทศด้วยหรือไม่ อีกทั้งการที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ จะส่งเสริมให้มีการตั้งธุรกิจใหม่ หรือ startup โดยให้ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็อยากให้ พิจารณาให้ดีเพราะ 80-90% ของบริษัท startup จะล้มเหลว ซึ่งจะสร้างความเสียหายของนักลงทุน หรือไม่ก็คงไม่มีใครกล้ามาร่วมลงทุน จึงอยากให้นายสมคิดได้หาแนวทางการหาทุนให้กับบริษัท startup ที่มาจากกำไรขององค์กรต่างๆ เพื่อจะไม่ให้มีความเสี่ยงมากไป ทั้งนี้ นายสมคิด อาจจะไม่เคยมีประสพการณ์ในการตั้งบริษัทเองจึงอาจจะไม่ทราบว่า การจะตั้งบริษัทใหม่ให้ประสพสำเร็จได้นั้นยากมาก และหลายครั้งที่อาจจะต้องยุบกิจการไป และไม่ใช่แต่เฉพาะ บริษัท startup เท่านั้น ขณะนี้ผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดต่างลำบากกันอย่างมากกับสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ซึ่งส่งผลกระทบถึงแรงงานและประชาชนที่ต้องหาเช้ากินค่ำด้วย จึงอยากให้รัฐบาลได้ตั้งหลักคิดให้ดีในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยต้องเร่งแก้ไขปัญหาใหญ่ๆที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก่อน อย่ามัวแต่ทำเรื่องเล็กๆเพื่อนำมาใช้ทางการตลาดแค่นั้น อดไม่ได้ที่ประชาชนส่วนใหญ่คงจะต้องคิดถึงและอยากจะให้มีภาวะเศรษฐกิจที่ดีก่อนที่จะมีปัญหาทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา"

"ภูมิธรรม" เผย ประชาชนห่วง "ยิ่งลักษณ์" ถูกยึดทรัพย์-ไม่ได้รับความเป็นธรรม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

หยุด!!! สร้างเงื่อนไข ที่ทำลายความหวังของชาวนา 
หยุด!!! ใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ ทำลายประชาธิปไตยและนิติรัฐ 

ผมเห็นใจท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่กำลังเผชิญกับความกดดันครั้งสำคัญของชีวิต จากนโยบายและความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวนาในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนที่ได้มอบความไว้วางใจเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ  แต่กลับต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ทั้งโดยการรัฐประหารและใช้กลไกทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติหลายรูปแบบ ตั้งแต่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ไม่มีตำแหน่งและรัฐธรรมนูญก็ถูกยกเลิกแล้ว เพื่อทำให้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้าสู่อำนาจทางการเมือง เร่งรัดรีบเร่งไต่สวนคดีทั้งหลาย เพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี

ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้กระทรวงการคลังโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังลงนามให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นการส่วนตัว ที่อ้างว่าเกิดจากโครงการรับจำนำข้าวถึง35,000 ล้านบาท อย่างขาดเหตุผลอันชอบธรรมที่จะอธิบายต่อสาธารณะโดยมีคำถามในประเด็นสำคัญทางกฎหมายว่า การที่นายกรัฐมนตรีนำนโยบายที่ได้แถลง และผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อรัฐกระนั้นหรือ?

ที่ผ่านมา มีโครงการสาธารณะเป็นจำนวนมากที่ต้องใช้งบประมาณแก้ปัญหา ไม่ปรากฏว่ามีอดีตนายกรัฐมนตรีท่านใดต้องรับผิดชอบ  แม้จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีความเสียหายต่องบประมาณของรัฐ   ที่สำคัญคือรัฐบาลที่เกิดจากการรัฐประหารมีความชอบธรรมแล้วหรือที่จะชี้ผิดถูกเอากับรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ และต้องพ้นไปจากตำแหน่งโดยน้ำมือของตน นี่มิใช่วิถีทางประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

การออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายจากการกล่าวหาว่า "เป็นนายกรัฐมนตรีที่ปล่อยปละละเลย ทำโครงการจำนำข้าวช่วยชาวนา และเกิดความเสียหาย ต้องชดใช้เป็นจำนวนเงิน 35,000 ล้านบาท..."  ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลมีความจำเป็นใดที่ทำให้ต้องรีบเร่ง และรวบรัดดำเนินการเข้าสู่กระบวนการเรียกให้ชดใช้ความเสียหายด้วยเงินจำนวนมากขนาดนี้

ทั้งๆ ที่มีปัญหาที่เห็นได้ชัดว่าการกระทำเช่นนี้ จะอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 หรือไม่ แม้ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่อ่านดูเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้หลายรอบแล้ว เขาก็บอกไว้ชัดว่ากฎหมายนี้ตราขึ้นเพื่อช่วยมิให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดทางละเมิด ให้รัฐต้องรับผิดแทน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่นั้นกระทำละเมิดด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ผู้รู้ทางกฎหมายหลายท่านตั้งประเด็นว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้คุมนโยบาย มิใช่เจ้าหน้าที่รัฐตามบทนิยามของกฎหมายนี้ ยังไม่นับรวมประเด็นว่า การกระทำทางนโยบาย ไม่เป็นการละเมิดตามความหมายของกฎหมายนี้แต่อย่างใด
 
ประเด็นข่าวอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ถูกเรียกให้ชดใช้ความเสียหายจากนโยบายการรับจำนำข้าว การออกคำสั่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีเข้าไปยึด และอายัดทรัพย์ได้  ซึ่งในที่นี้คงจะหมายรวมถึงการยึดบ้านที่พักอาศัยและทรัพย์สินอื่นๆ  กำลังสร้างความขัดแย้งในสังคม การมีปรากฏการณ์ที่ประชาชนบางส่วนแสดงเจตจำนงจะร่วมแบ่งปันความทุกข์กับอดีตนายกฯ  เพราะตระหนักดีว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นฝ่ายถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม ท่าทีและการดำเนินการในห้วงเวลาอันเร่งรัดโดยไม่คำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในหลักนิติธรรม กำลังเป็นหมุดหมายสำคัญที่คนไทยและชาวโลกจำนวนหนึ่งกำลังเฝ้าดู และติดตามระบบและกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย
 การเร่งรัดตัดสินใจเพื่อหวังว่าจะจัดการให้ฝ่ายผู้เห็นต่างในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน ให้ตกเป็นจำเลย และเพื่อให้ยุติบทบาททางการเมือง โดยไม่ใส่ใจถึงความละเอียดอ่อนของผลที่ตามมา ไม่ใส่ใจต่อการจุดเชื้อไฟประเด็นความขัดแย้งใหม่ๆ  เป็นการตัดสินใจที่ทำให้สังคมไทยหลุดไม่พ้นจากวงจรแห่งปัญหา

ผมไม่มีอะไรที่จะขอร้องรัฐบาล เพราะดูเหมือนท่านจะปักธงของท่านไว้แน่น แต่ในฐานะผู้เกี่ยวข้องเช่นในฐานะผู้คิดและมีส่วนกำหนดนโยบาย ในฐานะเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยอาศัยกลไกรัฐประหารยึดอำนาจมาโดยตลอด ผมเห็นว่าถึงเวลาที่เราต้องร่วมแรงร่วมใจ ผนึกกำลังความคิดและสติปัญญาโดยวิถีทางแห่งอารยชนช่วยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ให้รอดพ้นจากอันตรายใดๆ

ผมเชื่อว่าท่านมิได้ทำอะไรผิด แต่ตกเป็นเหยื่อของการทำลายล้างบนความแตกแยก ร้าวฉานของสังคมไทยที่มีมาโดยช้านานนั่นเอง

ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
24 ตุลาคม 2559

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“ยิ่งลักษณ์”ติงคำสั่งชดใช้ไม่เป็นธรรม ยืนยันสู้คดี-รอแถลงเมื่อถึงเวลา


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาศาลฎีกาฯ เพื่อเข้ารับฟังการไต่สวนในคดีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งวันนี้เป็นการสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดที่ 5 โดยมีมวลชนแต่งกายชุดสีดำชูป้ายให้กำลังใจแต่ไม่ได้ส่งเสียงเชียร์ ขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีสีหน้าเรียบเฉย

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ดิฉันขอยืนยันจะใช้สิทธิทุกช่องทางตามกฎหมายที่มีในการต่อสู้ครั้งนี้ และขอปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ รวมถึงการใช้คำสั่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม และจะเปิดแถลงการณ์ในเวลาอันควร เพราะเป็นช่วงที่คนไทยทั้งประเทศโศกเศร้า เราคิดว่าเราคงจะไม่พูดอะไรมากในตอนนี้”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในคำสั่งทางปกครองมีกรอบเวลาให้ร้องคัดค้านต่อศาลปกครองนั้น? นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า "ยืนยันจะทำตามข้อกฎหมายในทุกช่องทางที่มี เมื่อถามว่าการใช้มาตรา 44 คุ้มครองเจ้าหน้าที่ในการทำงาน มองว่าไม่เป็นธรรมกับตัวเองหรือไม่?" นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอเบ้าว่า ยืนยันว่า "ขบวนการตั้งแต่เริ่มต้นก็ไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว ซึ่งดิฉันก็ได้ร้องขอ ก็เรียนว่าใครเป็นอย่างดิฉัน คงรู้ว่ามันไม่ได้รับความเป็นธรรมแค่ไหน"

วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“พรรคเพื่อไทย” แพร่แถลงการณ์ แนะรัฐให้ความเป็นธรรมคดีจำนำข้าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ผ่านเว็บไซต์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่รัฐบาลโดยความเห็นชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เตรียมการที่จะออกคำสั่งทางปกครองให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชำระค่าเสียหายที่อ้างว่าเกิดจากการดำเนินการ "โครงการรับจำนำข้าว" เป็นจำนวนเงินประมาณ 35,000 ล้านบาทนั้น พรรคเพื่อไทยได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริง หลักกฎหมายและเหตุผลทั้งปวงแล้วเห็นว่า การใช้คำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบายสาธารณะของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่อาจกระทำได้ และขัดต่อกฎหมาย หลักนิติธรรม และพันธกรณีระหว่างประเทศ ด้วยเหตุผล ดังนี้

1. โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อันถือเป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะ              
เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงไม่อาจใช้เกณฑ์เรื่องกำไรหรือขาดทุนเพื่อกำหนดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินได้ เช่นเดียวกับนโยบายสาธารณะอื่นๆ การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่อาจถือว่าเป็นการทำละเมิดที่จะนำมาเป็นเหตุเพื่อเรียกค่าเสียหายจากนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องได้

2. รัฐบาลนี้ได้อำนาจมาโดยผลพวงจากการที่ คสช. ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลเดิมที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีได้แสดงความคิดเห็นผ่านสาธารณชนหลายครั้งว่าไม่เห็นด้วยกับ “โครงการรับจำนำข้าว” รัฐบาลจึงขาดความเป็นกลาง และถือเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับอดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น การที่รัฐบาลจะใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครอง เพื่อเรียกค่าเสียหายและใช้คำสั่งของหัวหน้า คสช. เปลี่ยนแปลงกลไกทางกฎหมายปกติให้อำนาจของหน่วยงานรัฐ ยึด อายัด ทรัพย์สินอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องได้ทันทีโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมทางศาล และศาลยังมิได้มีคำพิพากษา การกระทำดังกล่าวเป็นการทำละเมิดหรือไม่นั้น จึงเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรมและละเมิดสิทธิของอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรม กรณีดังกล่าวหากรัฐบาลเห็นว่ามีการทำละเมิดและประสงค์จะเรียกค่าเสียหาย ก็ควรใช้ช่องทางฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดว่าได้มีการทำละเมิดจริงหรือไม่?

3. กระบวนการเรียกให้ชำระค่าเสียหาย โดยใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครองล้วนเกิดจากรัฐบาลและ คสช. ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ในการตรวจสอบและกำหนดค่าเสียหายโดยอ้างว่าเกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ ทั้งๆ ที่การดำเนินโครงการดังกล่าว หน่วยงานของรัฐเท่านั้นเป็นผู้ทำนโยบายไปปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น คณะกรรมการดังกล่าวก็อยู่ในการกำกับหรือการบังคับบัญชาของรัฐบาลและ คสช. ที่สามารถจะชี้นำการดำเนินการได้ทุกอย่าง การตรวจสอบและการเรียกค่าเสียหายจึงขาดความเป็นกลางและไม่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรมได้ จึงขัดต่อหลักนิติธรรม

4. พรรคเห็นว่าแทนที่รัฐบาลจะเรียกค่าเสียหายจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยใช้กลไกทางคดีแพ่งปกติ และใช้กฎหมายที่มีอยู่ แต่รัฐบาลและหัวหน้า คสช. กลับเลือกที่จะใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครอง และอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ คสช. ร่างขึ้น ออกคำสั่งฉบับที่ 39/2558 และ ฉบับที่ 56/2559 โดยให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งให้ไม่ต้องรับผิด และให้อำนาจกรมบังคับคดีบังคับทางปกครองแทนที่จะเป็นหน่วยงานปกติ จะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถถูกตรวจสอบตามกฎหมายปกติได้ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขัดต่อหลักความเสมอภาคที่กำหนดว่าบุคคลย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม

5. มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีเนื้อหาขัดหลักการประชาธิปไตย ขัดหลักนิติธรรม และขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจ อำนาจตามมาตรานี้มิได้มาจากความยินยอมของประชาชนแต่เป็นสิ่งที่หัวหน้า คสช.เขียนให้อำนาจตนเอง ยิ่งกว่านั้น มาตรา 44 ได้กำหนดเงื่อนไขที่หัวหน้า คสช.จะสามารถใช้อำนาจได้ ซึ่งพรรคเห็นว่าการออกคำสั่งฉบับที่ 39/2558 และ ฉบับที่ 56/2559 มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่มาตรา 44 กำหนดไว้ ดังนั้นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งดังกล่าวจึงขัดหลักนิติธรรม

จากการที่กฎหมายเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งโดยการฟ้องต่อศาลแพ่ง ดังเช่นที่เคยยื่นฟ้องอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาแล้ว รัฐบาลในขณะนั้นมิได้มีที่มาจากการรัฐประหารและมิได้เป็นคู่ขัดแย้งกับจำเลยคนดังกล่าว แต่ก็ยังเลือกใช้วิธีการฟ้องต่อศาลแพ่ง ในทางกลับกัน รัฐบาลปัจจุบันซึ่งมาจากการรัฐประหารซึ่งทำให้รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายจำนำข้าวต้องพ้นไป จึงควรต้องดำเนินการด้วยความเป็นกลาง และเป็นธรรมต่อผู้ที่ถูกกล่าวหา เพื่อให้สาธารณชนได้รู้สึกว่ากระบวนการทั้งปวงไม่ใช่การดำเนินการที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่เป็นการดำเนินการทางกฎหมายที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ตามหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน 

จากเหตุผลข้างต้น พรรคเพื่อไทยจึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครองให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดและชำระค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว หากรัฐบาลและ คสช. ประสงค์ที่จะพิสูจน์ว่ามีการทำละเมิดจริงหรือไม่? และใครเป็นผู้ทำละเมิดรวมถึงมีความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรในโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลและ คสช. ควรสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ดี ยึดมั่นในหลักนิติธรรมและปฏิบัติตามกฎหมายโดยการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ดังเช่นที่เคยกระทำมาในอดีต เพื่อให้ศาลแพ่งเป็นผู้พิจารณาตัดสินเรื่องความรับผิดทางแพ่งและกำหนดค่าเสียหาย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย อันจะเป็นการผดุงความยุติธรรมที่แท้จริง พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าการเคารพหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน จะนำไปสู่ความยุติธรรม และความสามัคคีปรองดองของคนในชาติต่อไป

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

พรรคเพื่อไทย
12 ตุลาคม 2559




วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“ชวลิต” ค้านยึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์ ห่วงรัฐไร้จำนำข้าวช่วยชาวนา


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีรัฐบาลใช้คำสั่งทางปกครองซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร บวกกับ ม.44 ซึ่งเป็นอำนาจของคสช.เป็นกระบวนการในการเรียกค่าเสียหาย/ยึดทรัพย์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการบริหารโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะ นั้นตนมีความเห็นว่ากระบวนการเรียกค่าเสียหาย/ยึดทรัพย์ ดังกล่าว ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมและคงมีแห่งเดียวในโลก คือประเทศไทย เท่านั้น ที่คดีเดียว ใช้วิธีการผสมผสานหลายรูปแบบ ทั้งใช้อำนาจบริหาร ทั้งใช้อำนาจ คสช. แล้วประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประชาคมโลกจะได้รับความเชื่อมั่นในการค้า การลงทุน กับชาวโลก อย่างไร?
       
ตนได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม ACD ในประเทศไทย แม้เป็นเพียงพิธีการก็รู้สึกดีใจที่มีการจัดการประชุม ACD ในประเทศไทย แต่ในภาคปฏิบัติที่จะต้องปฏิสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนกับภูมิภาค หรือชาวโลก ถ้ากติกาของเราไม่ยึดหลักนิติธรรม ก็จะไม่มีความเชื่อมั่นเกิดขึ้น การค้า การลงทุน จะพัฒนาได้อย่างไร?
       
นายชวลิต กล่าวว่า ตนติงเรื่องนี้ด้วยความเป็นห่วงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนดังกล่าว ซึ่งโพลทุกสำนักสำรวจพบว่าประชาชนหนักใจการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจสูงสุด จึงควรลดเงื่อนไขในการแก้ปัญหาให้เหลือน้อยที่สุด ส่วนการเรียกค่าเสียหาย/ยึดทรัพย์ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในโครงการ รับจำนำข้าวนั้น  ควรเป็นไปตามกระบวนยุติธรรมปกติ รัฐบาลก็จะได้ชื่อว่ายืนอยู่ในระบบนิติธรรม ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา
       
นายชวลิต กล่าวในที่สุดว่า กรณีมีสมาชิกพรรคการเมืองหนึ่ง คนหนึ่ง ให้ความเห็นเหน็บแนมในเชิงชวนทะเลาะกันไปมา ซึ่งตนไม่อยากตอบโต้ เพราะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน ตนไม่ต้องการเป็นไก่ในเข่ง จิกตีกันไปมา สุดท้ายรอวันถูกเชือด แต่ตนอยากจะฝากให้ไปคิดวิเคราะห์หาแนวทางช่วยชาวนาในอีก 1 เดือนข้างหน้าที่จะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปี เมื่อราคาข้าวเปลือกปัจจุบันดิ่งเหว จะมีมาตรการใดช่วยชาวนาที่กำลังย่ำแย่มา 2 ปี เมื่อไม่มีโครงการรับจำนำข้าว มาคิดหาวิธีการช่วยชาวนากันดีกว่า

“พิชัย” แนะรัฐปรับครม. รับผิดชอบปัญหาเศรษฐกิจ


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนยังเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลยังแก้ไขไม่ได้ ผลสำรวจทุกครั้งออกมาว่ารัฐบาลสอบตกทางเศรษฐกิจรวมถึงผลสำรวจครั้งล่าสุดด้วย ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลได้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยต้องเดือดร้อนไปมากกว่านี้ และอยากให้แก้ไขให้ประชาชนรู้สึกได้ว่าดีขึ้นจริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่คำพูด ซึ่งล่าสุดทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเดินทางไปเยอรมันและฝรั่งเศส เพื่อชักชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศ ก็อยากให้เห็นมีการลงทุนอย่างแท้จริง อย่าให้เหมือนกับครั้งที่แล้วที่ยกทีมเศรษฐกิจไปญี่ปุ่นแล้วบอกญี่ปุ่นจะลงทุน แต่ปรากฏว่าการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นหายไปกว่า 90% ทั้งนี้เชื่อว่านักลงทุนทั้งในเยอรมันและฝรั่งเศสน่าจะยังเป็นห่วงการเจรจาการค้าที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในภาวะการเมืองปัจจุบัน ตามที่อียูประกาศว่าจะไม่เจรจาการค้ากับไทยหากยังไม่เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะทำให้สินค้าต้องจ่ายภาษีเต็ม และจะทำให้นักลงทุนเยอรมันและฝรั่งเศสไม่กล้าเข้ามาลงทุน ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลสามารถสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้จริงๆเพราะปัญหาการลงทุนที่หดหายไปจนเกือบหมดจะเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเจริญเติบโตและการจ้างงานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตที่การใช้หุ่นยนตร์แทนการจ้างคนงานจะมีเพิ่มขี้นอีกมาก รัฐบาลก็ต้องหาทางให้มีการลงทุนมากขึ้นเพื่อ รักษาระดับการจ้างงานในประเทศ ทั้งนี้ หากยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ก็ควรปรับทีมเศรษฐกิจยกชุด

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“นปช.” ไม่กังวลถูกถอนประกัน ยืนยันจัดรายการโทรทัศน์ไม่ผิด


ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวกรณีที่วันพรุ่งนี้ (11 ตุลาคม 2559) ศาลอาญาได้นัดแกนนำ นปช. 5 คน ฟังคำวินิจฉัย กรณีที่อัยการสูงสุดกล่าวหาว่า แกนนำ นปช. ทั้ง 5 คน กระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีก่อการร้ายนั้น

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวขณะจัดรายการผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ว่า "ส่วนตัวเชื่อมั่นว่า การแสดงความเห็นของตนเองผ่านช่องพีซทีวีไม่ได้เป็นความผิดตามข้อหาจนทำให้ถูกถอนประกันตัว แต่จากประสบการณ์ต่อสู้ในชั้นศาลมาตลอด 10 ปี จึงต้องเตรียมความพร้อมทุกอย่างในการเดินทางไปฟังการตัดสินของศาล ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (11 ตุลาคม 2559) ตนเองได้เตรียมตัวไปฟังคำตัดสินอย่างไม่ประมาท แม้ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร แต่พวกตนพร้อมเผชิญหน้าอย่างไม่มีปัญหาใดๆ"

“ชวลิต” แนะรัฐ หยุดชี้นำคดียิ่งลักษณ์-จำนำข้าว


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกคำสั่งทางปกครองให้นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้โครงการรับจำนำข้าวกว่า 3 หมื่น 5 พันล้านบาทว่า ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีที่รัฐบาลใช้คำสั่งทางปกครอง เรียกค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ใน 2 ประเด็น คือ

1. รัฐบาลมาจากการยึดอำนาจรัฐบาลนางสาว ยิ่งลักษณ์ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจทางฝ่ายบริหารเรียกค่าเสียหาย เพราะถือว่า ขัดหลักนิติ ธรรมอย่างร้ายแรง

2. ไม่ควรมีการชี้นำใดๆ ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ทุจริต เพราะนางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหาย ขณะนี้คดีอาญาอยู่ระหว่างการต่อสู้ทางคดีอยู่

หากในที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินว่า นางสาว ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นหากขอให้รัฐบาลทบทวนให้ความเป็นธรรมกับนางสาว ยิ่งลักษณ์ ด้วยการกลับมาใช้กระบวน การยุติธรรมปกติด้วย

วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"โอฬาร" ย้ำจำนำข้าวช่วยชาวนา ขยายเศรษฐกิจ-มองแต่เพียงงบขาดดุลไม่ได้


ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทยและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "โครงการรับจำนำข้าว เป็นนโยบายสาธารณะมีประโยชน์กับประชาชนไม่มีการขาดทุนเพราะการขาดทุนเป็นการดำเนินการของบริษัทเอกชนแบบธุรกิจ แต่รัฐเน้นช่วยเหลือให้ประชาชนให้กินดีอยู่ดี จึงต้องมีการทำโครงการเพื่อดูแลประชาชน เหมือนกับการทำถนน การทำรถไฟฟ้า และอื่นๆอีกมากมาย"

นอกจากนั้นนายโอฬารยังกล่าวว่า จะดูเพียงการขาดดุลการคลังอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องพิจารณาควบคู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน เพราะเงินที่จ่ายตรงไปยังชาวนานอกจากทำให้รายได้สุทธิของชาวนาดีขึ้น แต่ผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือด้านสังคมที่ลูกหลานชาวนาได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ลดภาระหนี้สิน การก่ออาชญากรรมหรือยาเสพติดลดลง

นายโอฬารได้ชี้ต่ออีกว่า ชาวนาไทย 4 ล้านครัวเรือนหรือประมาณ 15 ล้านคนนั้น 98%เป็นคนยากจน มีแค่ 2% ที่มีรายได้เทียบเท่ากับชนชั้นกลางในเมืองชาวนาเหล่านี้เป็นฐานปิระมิดของสังคมไทย ถ้าเราไม่ใส่ใจคนกลุ่มล่างของสังคม ไม่ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็เหมือนเลื่อยฐานของปิระมิด จนกลายเป็นลูกข่างฐานเล็กหัวโต เมื่อใดที่ลูกข่างนี้หยุดหมุน ก็จะล้มลง  เหมือนคนในเมืองกรุงระยะยาวแล้วก็อยู่ไม่ได้ เปรียบเสมือนกับประเทศที่ฐานรากไม่เข้มแข็ง เมื่อประเทศล้มแล้วก็ยากที่จะฟื้นกลับมา

“อยากอ้อนวอนอัยการอย่าพิจารณาคนส่งออกข้าวไม่กี่รายที่เป็นมหาเศรษฐี จงคิดถึงคนจนที่สุดคือชาวไร่ชาวนาบ้างไม่งั้นสังคมเราก็อยู่ไม่ได้”

"อนุสรณ์" เตือนแม่น้ำ5สาย-หยุดHateSpeechโจมตี "ทักษิณ"


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี คนในเครือข่ายแม่น้ำ 5 สายออกมาตอบโต้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ว่า "ไม่เหนือความคาดหมายที่คนเหล่านี้ออกมาตอบโต้ในลักษณะนี้ ทั้งที่ ดร.ทักษิณพูดด้วยความห่วงใยประเทศไม่ได้เรียกร้องอะไรส่วนตัวพูดด้วยความปรารถนาดีอยากเห็นประเทศเดินหน้าได้ซึ่งการออกมาตอบโต้อย่างรุนแรงก็เป็นการพิสูจน์ว่าผู้ถืออำนาจรัฐและเครือข่ายแม่น้ำ 5 สายยังไม่ก้าวข้าม ดร.ทักษิณ การที่ใครจะชอบหรือไม่ชอบใคร เป็นสิทธิ์ส่วนตัวแต่อยากจะให้แสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล ไม่จำเป็นต้องใช้วาทกรรมสร้างเกลียดชัง (Hate Speech) ที่จะทำลายบรรยากาศแห่งความปรองดองสมานฉันท์ คสช. ยึดอำนาจมาและมีมาตรา 44 เป็นเครื่องมือพิเศษ ก็ขอให้แก้ไขปัญหาให้ได้ อย่าโทษคนอื่น หรือรำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง ที่บอกว่ายึดอำนาจเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ อยากถามว่ามีผลสัมฤทธิ์หรือความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ความขัดแย้งแตกแยกในประเทศลดน้อยลงหรือไม่ หรือผู้ถืออำนาจรัฐและเครือข่ายเป็นผู้สร้างเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งขึ้นมาใหม่เสียเอง ซึ่งที่สุดเชื่อว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าที่อ้างเหตุผลยึดอำนาจเข้ามา แก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ประชาชนจะเป็นคนให้คำตอบผ่านการเลือกตั้งครั้งต่อไปแน่นอน"

"สุรพงษ์" แนะงบรัฐต้องโปร่งใสตรวจสอบได้-เตือนโฆษกคสช.อย่าสร้างข่าวโยงกลุ่มการเมือง


นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า "การเดินทางของคณะท่านรองฯประวิทย์ ไปทริปฮาวาย นั้นประชาชนให้ความสนใจอย่างยิ่ง ในเรื่องค่าใช้จ่าย 20 ล้าน กับรายชื่อผู้ร่วมคณะเดินทางไปด้วยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการที่มีคนนำเอาข้อมูลผู้ร่วมคณะเดินทางมาเปิดเผยถึงขนาดที่นำเอาผังที่นั่งมาแสดงให้เห็นว่าใครนั่งตรงไหนบนเครื่องบิน และการที่รัฐบาลควรจะต้องเปิดเผยและชี้แจงให้ประชาชนทราบก็ถือเป็นเรื่องปกติภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่ฝ่ายบริหารจะต้องถูกตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใส และการที่ท่านอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ออกมาให้คำแนะนำให้ท่านรองฯประวิทย์ ชี้แจงให้สังคมได้รับทราบก็ถูกต้องแล้ว และการที่โฆษกรัฐบาลออกมาโยนเรื่องนี้ให้เป็นการเมืองโดยพยายามกล่าวหากลุ่มการเมืองเก่าที่มีคดี ซึ่งมันก็เป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากคนของพรรคเพื่อไทย ก็อยากขอความเป็นธรรมให้กับพวกเราบ้าง การเป็นชายชาติทหารนั้น ถ้ากล้าทำก็ต้องกล้ารับการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ความจริงก็คือความจริงมันปิดบังกันไม่ได้อยู่แล้ว ข้อมูลต่างๆที่ถูกเผยแพร่ออกมานั้น ถ้าไม่ใช่คนในด้วยกันเองทำ ก็เชื่อได้ว่าไม่มีทางที่คนนอกจะล้วงออกมาเปิดเผยได้อย่างแน่นอน และอยากเสนอว่าเพื่อเป็นการพิสูจน์ความจริงความบริสุทธิ์ ก็ให้คนที่ประชาชนมีข้อกังขาอยู่ในใจว่าได้ร่วมเดินทางไปกับคณะจริงหรือไม่ เอาพาสปอร์ตหรือหนังสือเดินทางมาเปิดพิสูจน์กันดูเลย ว่ามีการแสตมป์ในหนังสือเดินทางช่วงเวลา 29 ก.ย - 2 ต.ค. ได้มีการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาหรือไม่? เท่านั้นเอง ก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไรและอยากให้ผู้ว่าสตง. สืบเสาะหาความจริงด้วยวิธีนี้เช่นกันเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" ขอความเป็นธรรมคดีจำนำข้าว ติงรัฐบาลเล่นการเมือง


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท ว่า "อยากขอความเห็นใจ เพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งได้ร้องขอความเป็นธรรมกับคณะกรรมการไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานใด สำหรับการยื่นขออุทธรณ์ในขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสาร ซึ่งต้องรอเพื่อศึกษารายละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ มองว่าการใช้คำสั่งทางปกครองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอยากให้รัฐบาลรับไปพิจารณา เพราะทุกอย่างต้องอยู่บนข้อเท็จจริง ควรใช้กระบวนการทางศาลแพ่งมากกว่าคำสั่งทางปกครอง เพราะเท่ากับว่าเป็นการตัดสินตนไปแล้ว นอกจากนี้ อยากฝากให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือชาวนา หลังตัวเลขการส่งออกข้าวลดลงในรอบ 5 ปี เพื่อไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำ ส่วนกรณีที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนจากการบริหารจัดการน้ำถึง 15 คดีนั้น อยากให้ทุกหน่วยงานยึดแนวทางของรัฐธรรมนูญที่ต้องปฏิบัติเท่าเทียมกันทุกคน"

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังกล่าวถึงเรื่องการเช่าเครื่องบินเหมาลำของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในการเดินทางไปประชุมที่ฮาวายกว่า 20 ล้านบาท ว่า "เป็นหน้าที่ของโฆษกรัฐบาล ที่ต้องชี้แจงกับประชาชน หากรัฐบาลโยนไปโยนมาก็กลายเป็นว่ารัฐบาลเป็นผู้เล่นการเมืองเสียเอง"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การตรวจสอบในขณะนี้เหมือนการตรวจสอบภายในของรัฐบาลด้วยกันเองแทบจะน้อยมาก มองเรื่องนี้อย่างไร? นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่า "จริงๆ แล้วรัฐบาลถือว่าเป็นผู้นำ มีอำนาจทุกอย่าง อยู่ที่ผู้มีอำนาจที่จะคิด จะทำให้ประชาชนยอมรับ"




วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

40ปี 6ตุลา รำลึกวีรชนประชาธิปไตย


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรำลึกถึงวีรชนเดือนตุลาฯ ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยภายในงานมีญาติวีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา นิสิตนักศึกษา ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน แม้จะมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการแสดงนาฏกรรม "ลีลาศิลป์ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 จารึกไว้ในใจชน" ในช่วงเช้า ก่อนจะมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 41 รูป เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่วีรชน และพิธีวางพวงมาลา ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมการกล่าวสดุดี โดยตัวแทนฝ่ายต่างๆ และนิทรรศการ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ขณะที่ในช่วงบ่าย จะมีการจัดฉายภาพยนตร์ 4 เรื่อง ในงานเทศกาลภาพยนตร์การเมือง และปิดท้ายด้วยการแสดงจนถึงเวลา 21.30น. ที่หอประชุมศรีบูรพา












วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย-มูลนิธิคอนราดฯ จัดเสวนาวิชาการหนุน ไทย-เยอรมัน แลกเปลี่ยนนโยบายการศึกษา


(5 ตุลาคม 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) นำโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง ร่วมกับ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ มูลนิธิจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งให้การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านต่างๆ จัดเสวนา ในหัวข้อ "Dual Education Apprenticeship: experience sharing from Germany" เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเยอรมนี เกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษา โดยมีวิทยากรจากเยอรมนีมาให้ความรู้ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มาร่วมงาน ณ โรงแรมสุโกศล


ทางด้าน Mr.Michael Winzer ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อจะได้มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างทางด้านของฝ่ายการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย ผู้มีความเชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาแบบคู่ขนานกันไป ทั้งในเรื่องของการศึกษาและการฝึกงาน และรูปแบบของประเทศเยอรมันที่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์เพื่อสนับสนุนในเรื่องของการแลกเปลี่ยน การสัมมนากันระหว่างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ทั้งทางด้านเครือข่ายของฝ่ายการเมืองของเรา รวมถึงเศรษฐกิจ สังคม และประเด็นที่เกี่ยวข้อง"