วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง กังวลการยกเลิกเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า-เห็นว่าเป็นแนวทางล้าหลัง-ไม่ก้าวหน้า หนุนสิทธิเสมอกัน รองรับสังคมสูงอายุ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ คัดค้านกรณีที่กระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนด “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

.
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน แสดงทัศนะต่อประเด็นดังกล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศกำลัง พัฒนาแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ทำให้ตัวเลขสูงถึงร้อยละ 18 ติดอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจนคาดการณ์ว่าอีก 9 ปีข้างหน้า จะกลายเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด สูงถึงร้อยละ 28 ของประเทศ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นภาพผู้สูงอายุตามเขตชนบทถูกทอดทิ้งอยู่ลำพัง อันมีสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ เพราะขาดรายได้ขาดการส่งเสียจากบุตรต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรับเงินรายเดือน 600-1,000 บาท แล้วแน่นอนว่า วัยที่เพิ่มขึ้น ร่างกายย่อมเสื่อมถดถอยลงตามมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บอีกมากมาย”


พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวด้วยว่า “ด้วยภาวะสังคมสูงวัย พรรคประชาชาติได้มีนโยบายพรรคที่สนับสนุนสวัสดิการถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน ด้วยหลักการระบบบำนาญแห่งชาติและสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งรัฐต้องจัดให้ประชาชนอย่างเสมอหน้า ด้วยสิทธิที่เสมอกันไม่ว่ายากดีมีจน ภายใต้หลักการที่ว่าสวัสดิการเป็น สิทธิอันพึงมีของประชาชน มิใช่เพียงแค่หน้าที่ของรัฐในการสงเคราะห์คนอนาถาเพื่อให้เป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต จึงมีความจำเป็นสำคัญที่สอดคล้องกับ ภาคประชาสังคม และแวดวงนักวิชาการ ต่างร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันนโยบายบำนาญถ้วนหน้า สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รับเงินรายเดือนละ 3,000 บาท เพื่อยกระดับให้ประชาชนเกิดความเท่าเทียมกันครับ”



วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2566

“ดร.เผ่าภูมิ” ยืนยัน Digital Wallet ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการและโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นในงานสัมนาของ ธปท. ว่า


ผมมีความเห็นแลกเปลี่ยนกับผู้ว่าแบงค์ชาติ 5 ประเด็น


1. เข้าใจความกังวลของผู้ว่าแบงก์ชาติเรื่อง ประชานิยม ซึ่งหากรัฐบาลใหม่หมายถึงรัฐบาลเพื่อไทย นโยบายนี้ก็คงจะหมายถึง Digital Wallet ซึ่งผมแลกเปลี่ยนดังนี้

1.1. Digital Wallet ไม่ใช่ประชานิยม แต่คือการชุบชีวิต ศก. ครั้งใหญ่ 10,000 บาทสำหรับทุกคน (16 ปีขึ้นไป) สร้างพายุหมุนทาง ศก. กระจายอยู่ทั่วทุกชุมชนทั่วประเทศ Digital Wallet เป็นความจำเป็น ไม่ใช่ทางเลือก ในจังหวะที่ประเทศบอบช้ำ และการสร้างกำลังซื้อตามธรรมชาตินั้นไม่ทันการ

1.2. เทคโนโลยี Blockchain ของ Digital Wallet สร้างเงินหมุนได้รวดเร็ว ตรงเป้า เขียนเงื่อนไขและระยะเวลาได้ จะเกิดเงินหมุนที่พลังสูงกว่าและเป็นตัวจุดกำลังซื้อรวดเร็วแม่นยำกว่าแบบดั้งเดิม

1.3. Digital Wallet นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเงินรองรับโลกยุคใหม่ พลิกโฉมประเทศ การลงทุนที่จะตามมานั้นมีผลตอบแทนมากกว่าเงินที่ลงทุนไป

1.4. ทุกนโยบายของพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญสูงสุดต่อความมั่นคงทางการคลัง ทุกบาทที่ใช้ต้องมีผลตอบแทนสูง และย้อนกลับมาเป็นความมั่นคงทางการคลังในระยะยาว

2. เห็นตรงกันว่าหนี้ครัวเรือนคือปัญหาใหญ่ แต่เห็นต่างกันที่ต้นตอของหนี้ครัวเรือน ธปท. มองว่าเกิดจากดอกเบี้ยต่ำ คนจึงก่อหนี้เยอะ แต่ข้อเท็จจริงนั้นเกิดจากประชาชนและภาคเอกชนรายได้ทรุดลงอย่างกะทันหัน (Income Shock) จำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อการดำรงชีวิต และความอยู่รอดของธุรกิจ พรรคเพื่อไทยจึงมีนโยบายเข้าแก้ไขปัญหาใน 2 ขั้นตอนทันที 1.แก้หนี้ทันที ทั้งมาตรการพักหนี้เกษตรกร และหนี้ SME ในรหัส 21 ที่เดือดร้อนจากโควิด และ 2.สร้างงานสร้างรายได้ทันที เริ่มจาก Digital Wallet ตามด้วยการดึงรายได้ใหม่เข้าประเทศจากการดูดการลงทุนใหม่ เปิดประเทศด้วยนโยบายต่างประเทศเชิงรุกทันที เป็นต้น

3. เห็นแย้งกับ ธปท. ที่ไม่กังวลกับการตั้งรัฐบาลช้า การขาดงบลงทุนใหม่หลายแสนล้านบาทไปครึ่งปีนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าสบายใจ เสมือนรถใส่เกียร์ว่าง ไร้คันเร่ง ที่กำลังถูกแซงไปครึ่งปี สำคัญกว่านั้นคือส่วนที่ไม่ใช่งบประมาณ ค่าเสียโอกาสของประเทศจากการชะลอการลงทุน การสูญเสียความเชื่อมั่น การย้ายฐานการผลิต ความสูญเสียในตลาดทุน และการขาดทิศทางของประเทศ เหล่านี้ประเมินค่าไม่ได้ คือสุญญากาศทางเศรษฐกิจ

4. เสถียรภาพ vs ศักยภาพ ของสถาบันการเงิน ตรงนี้เห็นต่าง ที่ผ่านมาไทยติดกับดักคำว่าเสถียรภาพ สร้างธนาคารเป็นสถาบันที่แข็งแกร่ง แต่กลับไม่ถูกใช้เป็นกลไกผลักดันทางเศรษฐกิจไปสู่รากหญ้าและ SME เพราะกลัวความเสี่ยง และกันคนเสี่ยงออกนอกระบบ จนการสร้างศักยภาพจากฐานของประเทศยังทำได้ไม่ดีพอ

5. พรรคเพื่อไทย หากจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ จะเดินหน้าพลิกโฉมประเทศสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดยวิธีคิดแบบใหม่ สร้างรายได้แบบใหม่ ทัศนคติใหม่ แนวทางการบริหารแบบใหม่ สู่การพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย และสร้างการทำงานประสานระหว่างนโยบายทางการคลังกับนโยบายทางการเงินอย่างไร้รอยต่อ

วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ชื่นมื่น ! ภูมิใจไทย-เพื่อไทย” แถลงจัดตั้งรัฐบาล ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว

(Politica) - วันที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่พรรคเพื่อไทย มีการแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทย 141 เสียง กับพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง รวม 212 เสียงนำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ขณะที่พรรคภูมิใจไทย นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรค

นพ.ชลน่าน ได้อ่านคำแถลงจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ว่าพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่เรายังคงต้องการเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สามารถบริหารประเทศ และเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้โดยเร็ว

รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นในครั้งนี้ แม้จะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่เรายังต้องการการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เนื่องจากปัญหาของประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนที่กำลังเผชิญอยู่นี้มีความเดือดร้อนรุนแรง การประวิงเวลาออกไปยิ่งทำให้เกิดความเสียหายยิ่งขึ้น การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเท่าไรจะยิ่งแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น

เรามีความประสงค์จะทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความพิเศษ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งในสังคม และวิกฤตรัฐธรรมนูญก่อตัวเป็นปัญหาของประเทศ และประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

เราจึงต้องการเสียงสนับสนุนจากทุกพรรคการเมืองให้มาสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก อาทิ เมื่อฝ่ายค้านเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รัฐบาลพร้อมจะให้การสนับสนุน นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่

พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับพรรคภูมิใจไทย เห็นว่าทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้ จึงกำหนดแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้

1.ยึดวาระของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและประชาธิปไตย นำความปรองดอง สมานฉันท์กลับคืนสู่ประเทศ

.

2.จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีในวาระแรก จะมีมติให้ทำประชามติขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการจัดตั้ง ส.ส.ร.

.

3.ดำเนินงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์จะร่วมกันผลักดันให้สำเร็จ สิ่งใดที่เป็นปัญหาจะต้องถูกตรวจสอบและเร่งแก้ไขให้ถูกต้อง

.

4.จัดตั้งรัฐบาลที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

.

5.การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้เปิดกว้างให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อผ่าทางตันระบบการเมืองของประเทศ และฝ่าวิกฤตรัฐธรรมนูญที่สร้างปัญหาอยู่ในปัจจุบัน


หลังจากนี้ เราจะเดินหน้าทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในสังคม รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา เพื่อแสวงหาความร่วมมือ และกำหนดเจตนารมณ์ในการบริหารประเทศ จึงร้องขอการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง ทุกฝ่าย ทุกคน มาร่วมกันกอบกู้วิกฤตของประเทศในครั้งนี้

.

นพ.ชลน่าน ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า มีพรรค 2 ลุง และพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน หรือไม่ ? ว่า ในคำแถลงชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่มี 2 ลุง แต่เราเองไม่ปฏิเสธเงื่อนไขว่า ถ้าจะมี สส. และ สว.ลักษณะเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละคน

.

ด้านนายภูมิธรรมกล่าวว่า หลังจากนี้ไปเราเริ่มที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ในสัปดาห์นี้เราจะเห็นว่าเราจะดึงใครเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลเราบ้าง ในแถลงการณ์ไม่ได้จัดตั้งสมาชิกที่เป็นรายบุคคล

.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันหลักการร่วมรัฐบาลว่า ต้องไม่มีการแตะต้องกฎหมายอาญามาตรา 112 และต้องไม่ใช่รัฐบาลเสียงข้างน้อย รวมทั้งไม่มีพรรคก้าวไกล ร่วมอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล สอดคล้องกับคำตอบของ นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า เงื่อนไขของพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทยรับได้ หากมีพรรคก้าวไกลจะไม่ได้รับการโหวตจากพรรคการเมืองอื่น และไม่มีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิก

.

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีพรรคไหนมาร่วมบ้าง ? และมีเงื่อนไขอะไรอีกหรือไม่ ? นพ.ชลน่านกล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย เป็นสารตั้งต้นที่มีความเข้มแข็ง หลังจากนี้จะมีการเชิญ หรือเข้าไปหาพรรคการเมืองอื่น ๆ ภายในสัปดาห์นี้ทั้งหมด

.

เมื่อถามว่า เป็นการสลาย 188 เสียงหรือไม่ ? นายภูมิธรรมกล่าวว่า เราไม่มีความตั้งใจตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เรารวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งแล้ว และพยายามสร้างความมั่นคงเต็มที่ เรียกร้องทุกพรรคการเมือง ทุกกลุ่ม ทุกคนสามารถเลือกนายกฯ ได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล จากนี้ไปทั้งสัปดาห์จะเห็นภาพการร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลจากนี้ไป

นายอนุทินกล่าวเสริมว่า คำตอบอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว การที่พรรคภูมิใจไทยเสนอพรรคเพื่อไทย ในการหารือครั้งแรก ว่าไม่มีนโยบายจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะไม่เกิดความมั่นคงใด ๆ ทางการเมือง และไม่มีประโยชน์กับประเทศ ต้องถือว่า 188 ไม่เคยมีอยู่ในสมการจัดตั้งรัฐบาล

.

เมื่อถามว่า เป็นรัฐบาลสมานฉันท์หรือไม่ ? นพ.ชลน่านกล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้โดยเฉพาะวิกฤตรัฐธรรมนูญที่ทำให้เราไม่สามารถทำเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชน หรือสิ่งที่เรามุ่งหวังได้ มันติดไปทุกด้าน การที่เราหันหน้าเข้าหากันจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติบ้านเมือง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

.

นายภูมิธรรม กล่าวเสริมในคำถามเดียวกันว่า ในแถลงการณ์ชัดเจนว่าวิกฤตปัจจุบันของประเทศมี 3 ด้าน ทั้งวิกฤตรัฐธรรมนูญ เศรษฐกิจที่ประชาชนกำลังเผชิญ สังคมเรื่องความขัดแย้ง ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา

.

“การที่เราพยายามให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ เป็นการที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามาคลี่คลายปัญหาของประเทศ ถ้าครั้งนี้ทำได้สำเร็จก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

.

เมื่อถามพรรคภูมิใจไทย ว่าการจับมือกับพรรคเพื่อไทย มี 2 ลุงก็ได้ ไม่มีก็ได้ใช่หรือไม่ ? นายอนุทินตอบว่า มีเพียง 3 เงื่อนไขที่แจ้งกับพรรคเพื่อไทยไป ส่วนการดำเนินการอย่างไรเป็นดุลพินิจพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

.

เมื่อถามว่าจะจับมือกับพรรคเพื่อไทยไม่มีสลับดีลอะไรกันอีกแล้วใช่หรือไม่ ? นายอนุทินกล่าวว่า เราทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ บ้านเมือง การพูดอะไรที่ผูกมัดตัวเองเกินไปอาจทำให้เกิดทางตันได้ เราเอาบ้านเมืองกับประชาชนเป็นหลัก มั่นใจว่าจะหาทางออกได้

.

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยเคยออกแคมเปญไล่หนูตีงูเห่าจะชี้แจงประชาชนอย่างไร ? รวมถึงกระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยเคยบริหารจะได้อยู่หรือไม่ ? นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องกระทรวงเรายังไม่ลงลึกรายละเอียดจะต่อรองกระทรวงไหนอย่างไร เราไม่ได้เริ่มต้นจากกระทรวง แต่ภายใต้วิกฤตแบบนี้ มีความจำเป็นที่ทุกคนต้องหันหน้าเข้าหากันและทำงานร่วมกัน

.

ส่วนการรณรงค์หาเสียงของพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทย ไล่หนูตีงูเห่า มันเป็นการรณรงค์เพื่อให้ได้มาเพื่อคะแนนเสียงเลือกตั้ง มิติทางการเมืองเราไปขอเสียงประชาชน เราไม่เคยประกาศเป็นศัตรูกับใคร แต่เราเป็นคู่แข่งกันจริง เทคนิคการหาเสียงต่างฝ่ายต่างมี เราไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูกัน พรรคเพื่อไทยไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูกับใคร แต่ทุกพรรคเป็นคู่แข่งทางการเมืองกัน เมื่อประชาชนตัดสินใจมอบอำนาจให้ใคร เราก็มาทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบอำนาจ ถ้าร่วมกันจัดตั้งเป็นรัฐบาลของประชาชนได้ก็ร่วมกันทำ ถ้าทำไม่ได้ก็มาเป็นฝ่ายค้าน



วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2566

"ประชาชาติ" แนะรัฐเร่งเยียวยาความเสียหาย โกดังพลุระเบิดมูโนะ หนุนตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เสนอญัตติ พิจารณาการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโกดังพลุระเบิดที่มูโนะ ว่า ผมและพรรคประชาชาติ เล็งเห็นความเดือดร้อนจากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ได้เห็นและรับฟังสภาพความเดือดร้อนของประชาชนที่นั่น และขอบคุณท่านประธานฯ ที่ท่านเองก็ได้เดินทางไปในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 31 เช่นกัน คลิปที่ผมเตรียมไว้นี้สะท้อนให้เห็นถึงอานุภาพความร้ายแรงของเหตุที่เกิดที่หมู่ 1 โกดังเก็บพลุที่ตําบลมูโนะ อําเภอสุไหงโก-ลก ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ผมและพรรคประชาชาติ ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและพี่น้องประชาชนหมู่ที่ 1 ตําบลมูโนะ และบริเวณใกล้เคียงประมาณหกร้อยกว่าหลังคาเรือน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ามันมีผลประโยชน์สีเทาอยู่ภายใต้สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่มีเหตุการณ์อื่นที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนเหมือนเช่นนี้

รัฐมีหน้าที่ดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด หลังเหตุการณ์ที่มูโนะ ผมรอเวลาที่รัฐบาล, นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ต้องดูแลรับผิดชอบ หน่วยงานของท่านปรากฏว่ายังไม่มีคําตอบใด ๆ ที่ชัดเจนที่ออกมาแถลงโดยนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีรักษาการ ถึงแม้จะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีรักษาการ แต่ท่านยังต้องมีหน้าที่ที่ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ

ผ่านมาหลายวัน ข้อเท็จจริงหลายหลายอย่างเริ่มปรากฏ พลุต่าง ๆ ที่อยู่ที่โกดังแห่งนี้ โกดังที่อยู่ใจกลางชุมชนที่เก็บพวกดอกไม้ไฟจํานวนเป็นพันตัน มันไม่น่าจะอยู่ได้ และมันสะท้อนให้เห็นว่านี่คือการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน เราอาจจะโฟกัสไปที่เจ้าของโกดัง เมื่อไหร่จะมอบตัว ? จะดําเนินคดีกับเจ้าของโกดัง ? ยังไม่กลับมาสักที ? 

สิ่งที่พี่น้องประชาชนอยากเห็นการดําเนินการทางกฎหมายอย่างตรงไปตรงมาตามรัฐธรรมนูญ ก็คือการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด

เราอยากเห็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ อยากให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงนําเสนอ สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะอย่างนี้อีก เพราะผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายโกดังตามตะเข็บชายแดน ในจังหวัดนราธิวาส

ขอขอบคุณหน่วยงานภาคเอกชนไปเยี่ยมและบริจาคเงินอีกหลายสิบล้านบาท ขอขอบคุณมาก ๆ ขออัลเลาะห์ได้ทรงตอบแทนความดีงามให้ท่านด้วย แต่ผมขอให้คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จนเป็นเหตุให้พี่น้องเสียชีวิต-บาดเจ็บ-ล้มตาย ขอให้พระผู้เป็นเจ้า อัลเลาะห์จงลงบารอให้กับคนเหล่านี้ด้วยครับ