วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2565

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือ ป.ป.ช. สอบทุจริต ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา ว่า เมื่อเวลา 14.00น. ที่ผ่านมา นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) พร้อมด้วย พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ , นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ, นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีการเดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เพื่อเร่งตรวจสอบการทุจริตของ นายกรัฐมนตรี ,รัฐมนตรีคมนาคม และพวก ในความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ(ฮั้วประมูล) ความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบและโดยทุจริต กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม


พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ระบุว่า ประเด็นดังกล่าว อยู่ในส่วนของ ในการทุจริต คอรัปชั่น และเกรงว่า ก่อนการเลือกตั้งถ้า ครม. อนุมัติ โครงการดังกล่าว จะสามารถเปลี่ยนประเทศได้ด้วยการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า การประมูล 2 ครั้งเพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีส่วนต่างที่รัฐต้องอุดหนุนเพิ่มขึ้นถึง 68,000 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายค้านมองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาลและผลประโยชน์ก้อนนี้จะตกที่นายทุนผู้รับสัมปทานโดยตรง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนเงินที่มากอาจเกิดเงินทอน ย้อนกลับไปที่กระเป๋าของนายทุน หรือ พรรคการเมือง เพื่อนำไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ส่วนจะไปแบ่งต่อให้ใคร พรรคการเมืองใดเรารู้ได้ยาก จึงอยากให้ช่วยกันติดตาม เพราะเป็นประเด็นใหญ่ที่เรียกว่าเป็นเมกะดีลในตำนานประยุทธ์ 2 ที่ผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลจึงต้องดำเนินการร่วมกัน ทั้งที่ได้ยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา และมีช่องทางเพิ่มเติมคือร่างหนังสือยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบเพื่อเอาผิดพลเอกประยุทธ์ กับนายศักดิ์สยาม และคณะกรรมการคัดเลือกที่ปล่อยให้เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น และฝ่ายค้านจะติดตามตรวจสอบต่อไป เพราะเห็นว่ากลิ่นไม่ดีไม่อยากให้อนุมัติเงินก้อนนี้ก่อนการเลือกตั้ง เพราะจะมีส่วนต่างเกิดขึ้น จึงไม่อยากให้นำเงินนั้นมาใช้ในการเลือกตั้ง เพราะเกรงว่าการเลือกตั้งจะไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม    

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565

"ทวี" ห่วงเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน-ปัญหานายทุนฮุบ ส.ป.ก.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ปัญหาการ “ฮุบที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย”
ต้องแก้ด้วยการถ่ายโอนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการแทน


.
ตามที่ สื่อมวลชนเสนอข่าว ว่ามีกลุ่มบุคคลทำงานในบริษัทตลาดหลักทรัพย์บุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือที่ดิน ส.ป.ก.พื้นที่ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอหมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เนื้อที่มากกว่า 1,000 ไร่ เป็นที่ดินที่ล้อมรอบภูเขาทั้งลูก ถือเป็นความล้มเหลวในการบริหารและการจัดการที่ดิน ส.ป.ก.ที่เป็นรูปแบบ “รัฐรวมศูนย์” ทั้งที่คุณสมบัติผู้จะได้สิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก.จะต้องเป็นเกษตรกร ต้องดูถึงความสามารถในการเข้าทำประโยชน์โดยดูถึงสำเนาทะเบียนบ้าน ไม่มีรายได้เพียงพอกับการยังชีพหรือไม่มีรายได้ประจำอื่นเป็นหลัก เช่นรับราชการ พนักงานเอกชนมีประกันสังคม มีรายการเสียภาษี หรือได้รับเงินเดือนประจำ ผู้ที่จะรู้คุณสมบัติดังกล่าวดีที่สุดคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนหมู่บ้าน แต่กลับไม่มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการที่ดิน ส.ป.ก. หากย้อนไปนับตั้งแต่ที่มีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 จนถึงปัจจุบัน ประเทศมีพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทั้งหมดราว 40,134,230 ไร่ โดยในจำนวนนี้ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรแล้วจำนวน 36,182,056 ไร่ แต่พบว่ายังเกิดปัญหาสั่งสมต่อเนื่อง ทั้งการทับซ้อนแนวเขตระหว่างหน่วยงาน การประกาศครอบคลุมทั้งอำเภอที่กระทบต่อการออกเอกสารสิทธิของประชาชน ข้อพิพาทระหว่างผู้ถือครองและทำประโยชน์ การครอบครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ ที่ขอแยกได้ 4 ประการ คือ
.
ประการแรก ปัญหาพบว่ามีการบุกรุกครอบครอง หรือการฮุบที่ดิน ส.ป.ก. โดยมิชอบด้วยกฎหมายของกลุ่มนายทุน ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ใช้วิธีการส่งนอมินีเข้าไปครอบครองที่ดิน โดยมีข้าราชการทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบร่วมมือกันทำผิด คาดการณ์ว่าทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่ ที่ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ขาดคุณสมบัติ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ สปก และผู้เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามหรือไม่บังคับตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ยังมีเกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
.
ประการสอง ปัญหาข้อพิพาทจากการประกาศแนวเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ไม่มีชัดเจนและทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินประเภทอื่น อาทิ แนวเขตป่าไม้ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินราชพัสดุ จึงทำให้ประชาชนเสียสิทธิในการใช้ประโยชน์ ไม่ได้รับสิทธิอย่างถูกต้อง เสี่ยงต่อการถูกยึดที่ดินคืนและคดีความ
.
ประการสาม ปัญหาการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินแปลงใหญ่ทับทั้งอำเภอ จำนวน 122 อำเภอ ในพื้นที่ 21 จังหวัด ส่งผลให้ประชาชนที่ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินเดิมที่มีสิทธิในการขอออกเอกสารสิทธิที่ดินประเภทโฉนดไม่สามารถดำเนินการได้ตามสิทธิอันพึงได้ ในกรณีที่พบว่าเป็นพื้นที่ซ้อนทับกับแนวเขตป่า ส่งผลประชาชนที่เข้าทำประโยชน์อยู่ไม่สามารถดำเนินการขอรับรองสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ได้ ซึ่งกระทบสิทธิอันพึงได้ในที่ดินดังกล่าว
.
ประการสี่ ปัญหาการขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการหรือการส่งเสริมศักยภาพชุมชนในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ไม่สามารถดำเนินการมากกว่าประเด็นการประกาศแนวเขตที่ดิน อาทิ การสร้างภูมิคุ้มกันครัวเรือนเกษตร การแก้ปัญหาหนี้สิน การยกระดับวิถีเกษตรที่เหมาะสมและยั่งยืนตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน
.
ข้อเสนอเร่งด่วนรัฐต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหามีมาตรการให้เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่ง จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินโดยมิชอบและมีเอกสาร ส.ป.ก.เท็จ น่าจะผิดต่อ ก.ม.หลายลักษณะ เช่น
1.เป็น จพง.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต
2.มาตรา 54, 72 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้
3.ส่วนประชาชนผู้ครอบครองและผู้บงการ ใช้ จ้าง ว่านมีความผิดฐานผู้ใช้หรือสนับสนุน จพง.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
4.มาตรา 9, 108, 108 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน
5. เป็นผู้ใช้หรือตัวการร่วมแบ่งหน้าที่กันทำ ฐาน แจ้งความเท็จ แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ
.
ด้านการบริหารจัดการที่ดิน ส.ป.ก.เสนอให้เปลี่ยนแปลงจาก ส่วนรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีหน้าที่และอำนาจ หรือเรียกว่า “รัฐราชการรวมศูนย์ “ ไปให้องค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชนเป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจแทน ส่วน สำนักงาน ส.ป.ก.ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลระดับกรม ทำหน้าที่กำกับดูแลภาพรวม (Regulator) ที่เป็นมาตรฐานหลักเกณฑ์ในฐานะผู้รักษาพระราชบัญญัติให้ “องค์กรปกครองท้องถิ่น” เป็นเจ้าภาพหลักแก้ปัญหา ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการในกิจการ (Operator) ของ ส.ป.ก. จะทำให้ปัญหาการ “ฮุบที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หมดไปสามารถแก้ไขปัญหาทั้งสี่ประการที่กล่าวข้างตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบเก็บภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างจะเป็นผู้รู้ดีว่าใครเป็นเกษตรกรและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ท้องถิ่นต้องตรวจสอบสิทธิของผู้ได้รับ ส.ป.ก. ทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลผู้ถือครองจริง ในปัจจุบัน ว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรตามคุณสมบัติหรือไม่ ซึ่งหากเป็นผู้ที่ผิดคุณสมบัติตามระเบียบกฎหมาย ต้องเร่งดำเนินการเพิกถอนสิทธิและจัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณสมบัติต่อไปเชื่อว่าจะสามารถคืนที่ดิน ส.ป.ก.จากผู้ขาดคุณสมบัติ จัดสรรให้เกษตรกรมากกว่าล้านไร่ และกรณีแปลงที่ดินที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าประชาชนหรือชุมชนใดได้อยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ มาก่อนการถูกประกาศเขตปฏิรูปที่ดินหรือเขตที่ดินอื่นของรัฐ ให้กันแนวเขตที่ดินดังกล่าวออกและดำเนินการ ออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชน
.
ในด้านนโยบายที่ดิน ส.ป.ก.นั้น ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยึดมั่นหลักการเพื่อการใช้ ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรม แม้ในข้อเท็จจริงจะพบว่าบางกรณีมีการเปลี่ยนแปลงในสภาพที่ดินหรือ ลักษณะการใช้ประโยชน์ แต่การพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบาย ส.ป.ก. นั้น ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นตั้งแต่ระดับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บนฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงและ การวิเคราะห์เชิงสหวิชาการอย่างรอบด้าน เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาความเหลื่อมล้าเชิงโครงสร้างของประเทศที่สัมพันธ์โดยตรงกับการจัดการที่ดิน ถึงเวลาที่ต้องแก้ไข พระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสถานการณ์ปัจจุบันโดยใช้ลักษณะของญี่ปุ่นมาเป็นตัวตั้งนั่น คือ เน้นที่พื้นที่ต้องทำการเกษตร ส่วนใครจะมาทำการเกษตรนั้นควรจะเปิดกว้างได้อย่างมีเงื่อนไขครับ
.

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565

"ทักษิณ" เชิญชวนทุกฝ่าย งดกิจกรรมทางการเมือง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

"ผมของดรายการคลับเฮ้าส์ในวันอังคารที่ 20 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ และอยากขอเชิญชวนให้ฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายงดกิจกรรมทางการเมืองไปซักระยะ เพื่อให้คนไทยได้รวมกันส่งใจถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ของพวกเราให้ทรงฟื้นจากพระอาการประชวรโดยเร็วครับ" -

“ฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ” ร่วมเวทีผู้นำฝ่ายค้านฯ “ระดมสมอง ร่วมหาทางออก สู้ภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง”


พรรคประชาชาติ ส่ง “ฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ” ร่วมเวทีผู้นำฝ่ายค้านเพื่อประชาชน “ระดมสมอง ร่วมหาทางออก สู้ภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง” จังหวัดนครสวรรค์

.
(วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก โรงแรมโฟทูซีเดอะชิคโฮเต็ล จังหวัดนครสวรรค์ ว่า นายฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ รองเลขาธิการพรรคประชาชาติ และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในฐานะ ตัวแทน พรรคประชาชาติ เดินทางมาร่วม โครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ประจำปีงบประมาณ 2566 “ระดมสมอง ร่วมหาทางออก สู้ภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง” โดยมีแกนนำและตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมถึงประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมอย่างคึกคัก อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย, นายพันธ์ศักดิ์ ซาบุ กรรมการบริหารพรรค และนายทะเบียนสมาชิกพรรคพลังปวงชนไทย, นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย, นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ฯลฯ เป็นต้น โดย นายฐาคณิษฐ์ สนับสนุนแนวคิดการใช้เทคโนโลยี มาแก้ปัญหา น้ำท่วม-น้ำแล้ง ให้กับประชาชน

.
นอกจากนี้ นายฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ รองเลขาธิการพรรคประชาชาติ ยังระบุว่า ประเทศไทยเผชิญกับความแปรปรวนของธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณของน้ำฝนในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สภาพอากาศในปัจจุบันกับเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมามีความแตกต่างกันมาก วิธีการที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในอนาคตขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เริ่มจากปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ เขื่อน แม่น้ำ ประตูน้ำ ปั๊มสูบน้ำ ท่อระบายน้ำ ต้องมีการออกแบบให้เหมาะสมในทุกพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำง่ายขึ้น ปัจจัยต่อมาคือเรื่องของกฎกติกาในบริหารการจัดการน้ำ สุดท้ายคือปัจจัยเรื่องคน ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ต้องรับรู้ข้อมูลและนำข้อมูลที่ทันสมัยมาใช้ให้มากขึ้นครับ

.
“การสร้างความมั่นคงในมิติการพัฒนาสมัยใหม่ การบริหารจัดการน้ำเป็นประเด็นสำคัญทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมครับ” นายฐาคณิษฐ์ กล่าว









วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2565

“จิรายุ-ซูการ์โน” แถลงข่าว รับหนังสือสอบทุจริตที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 หนองย่างเสือ-สระบุรี

(15 ธันวาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานจากอาคารรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 13.00น. ที่ผ่านมา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน พร้อมด้วย นายซูการ์โน มะทา ประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ ในฐานะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ , นายธงชาติ รัตนวิชา ฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาชาติ , นายไชยพล เดชตระกูล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาชาติ และคณะ แถลงข่าวการรับเรื่องร้องเรียนจาก ตัวแทนประชาชน จาก จังหวัดสระบุรี แจ้งเบาะแส ขอให้สืบสวน สอบสวน ข้อเท็จจริงการให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดิน ส.ป.ก. บริเวณ ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี




นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ระบุ การร้องเรียนดังกล่าว เป็นการตรวจสอบเกณฑ์เงื่อนไขระเบียบของทางราชการ โดยเฉพาะ ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ที่มีการเข้าถือครองที่ดินจำนวนมาก ซึ่งสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายการนำที่ดินไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อาทิ การนำที่ดินไปให้นิติบุคคลอื่นเช่าทำประโยชน์ โดยใช้วิธีการหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากภาครัฐ ซึ่งหลังจากนี้รับเรื่องร้องเรียน จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป



นายซูการ์โน มะทา ประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ ระบุว่า คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหาร ราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และภูเก็ต เกี่ยวกับการกระทำความผิดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบริษัทเอกชน กรณีการได้มาซึ่งที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จำนวนมากกว่า 1,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งที่ดินดังกล่าวรัฐได้สงวนไว้เฉพาะให้กับประชาชนซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ยากจนหรือ ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกิน โดยมีการนำบุคคลที่เป็นเครือข่ายและพนักงานของบริษัทเข้าถือครอง สิทธิในที่ดินเป็นจำนวนมาก ทั้งๆที่บุคคลเหล่านั้นไม่เข้ากฎเกณฑ์เงื่อนไขระเบียบของทางราชการ และไม่มีคุณสมบัติของการได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทำกิน ประกอบ กับไม่เข้าหลักเกณฑ์นิยามคำว่ายากจนแต่ประการใดทั้งสิ้น และยังพบว่าบุคคลที่ครอบครอง ได้นำที่ดินไปแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของกฎหมายอีกด้วยด้วยหลักฐานที่ปรากฏทั้งชื่อ การลงนาม สถานะ อาชีพ แหล่งที่อยู่ สถานที่ ทำงาน ของผู้ครอบครองมีความเกี่ยวพันกับบริษัท ดังนั้น กระบวนการได้มาซึ่งสิทธิและ ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. ดังกล่าวอาจมิชอบด้วยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518



.
ดังนั้น คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ จึงจะได้นำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ในวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2565 โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ หากผลการพิจารณาเป็นประการใดจะได้แจ้งให้ ทราบอีกครั้ง

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2565

“ทวี สอดส่อง” นำพรรคร่วมฝ่ายค้าน รับหนังสือเครือข่ายยางไทย แก้ปัญหายางพารา-ปาล์มน้ำมันตกต่ำ

(13 ธันวาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานจากอาคารรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 10.30น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย นายมนตรี บุญจรัส คณะกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ และ รองโฆษก พรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย และนายไชยพล เดชตระกูล คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ ด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาชาติ, นายพิทยบรรณ​ ว่องปรีชา , นายพลรักษ์ รักษาพล คณะทำงานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคประชาชาติ รับมอบหนังสือจาก นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา-ปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เรื่อง การแก้ไขปัญหายางพารา-ปาล์มน้ำมัน ราคาตกต่ำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน โดยมีพรรคร่วมฝ่ายค้าน รับหนังสือพร้อมกันในครั้งนี้ด้วย


พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า "การกำหนดนโยบายยางพาราต้องเป็นส่วนสำคัญของทุกพรรคการเมือง โดยทำยางพาราให้มีเสถียรภาพในทุกภาคส่วน ต้องใส่ใจให้เป็นยางพาราแบบครบวงจร ผลักดันให้ยางพาราเป็นผลผลิตที่ส่งออกสูงที่สุดในโลก"


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าเนื้อหาหนังสือได้ระบุว่า เนื่องจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน เป็นอาชีพหลักของเกษตรกรไท และยังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้ให้กับประเทศมหาศาลปีละหลายแสนล้านบาทเป็นอันดับต้นๆ ของโลก  แต่เป็นปัญหาเรื่องของราคาที่ผันผวนขาดเสถียรภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปยางพารา-ปาล์มน้ำมันทั้งระบบครบวงจร เพื่อให้ยางพารา-ปาล์มน้ำมัน และเกษตรกรดำรงชีพอยู่ได้อย่างถาวรมั่นคงและยั่งยืน 


ดังนั้น ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา-ปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย จึงมีแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

.

1.) แนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 1.1 ขอให้เร่งรัดให้มีการชดเชยเงินประกันรายได้ให้กับเกษตรกรตามนโยบายแห่งรัฐโดยเร่งด่วน 1.2 เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดต้นทุนการผลิต พืชผลทางการเกษตรเสียใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ 

2.) แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างมั่นคงและยั่งยืน 2.1 แก้ปัญหาด้านการตลาดโดยการผลักดันให้เกิดเป็นตลาดซื้อขายจริง 2.2 ขับเคลื่อนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าและการใช้ยางในประเทศ โดยเฉพาะนโยบายการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ 2.3 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการส่งเสริมปลูกยางจากเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกยางแบบผสมผสานให้สอดคล้องกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นไปตามแบบแผนของ ก.ย.ท. (ป่าสวนยาง) 

2.4 ส่งเสริมงบประมาณด้านการส่งเสริมอาชีพ เสริมเพิ่มรายได้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ประมงครบวงจร เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในยามวิกฤต 2.5 เร่งรัดพิสูจน์สิทธิ์พื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ทับซ้อนเพื่อสอดคล้องกับกฎหมายกีดกันทางการค้า (FSC) เพื่อให้ทันตามกำหนดภายในระยะเวลา 2 ปี จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาและดำเนินการแก้ไขต่อไป 




นอกนั้นยังมีเรื่องโครงการชะลอยาง ซึ่งเป็นปัญหาของกลุ่มเครือข่ายยาง เพื่อผนึกเข้าร่วมกันเป็นประเด็นในการแก้ไขปัญหายางพารา จาก 4 กลุ่มสวนยาง เช่น ภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศ สมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปยางพารารมควัน

วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2565

เพื่อไทย เฮ! "เฉลิม อยู่บำรุง" ประกาศ กลับมาแล้ว!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้อยตำรวจเอก ดร. เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

กราบเรียนพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นแฟนทางการเมือง ของ  ร้อยตำรวจเอก ดร. เฉลิม อยู่บำรุง  

วันนี้ผมมีความรู้สึกคิดถึงพี่น้อง จึงอยากจะส่งข้อความที่ไม่ยาวนัก มาให้พี่น้องได้อ่าน และ ต้องขอโทษแฟนคลับทั้งหลาย ที่ผมห่างหายไปนาน แต่จิตใจยังระลึกและคิดถึงพวกท่านเสมอ  ปัจจุบัน พรรคการเมืองคึกคัก ออกนโยบาย ไม่เว้นแต่ละชั่วโมง บางพรรค ต้องการคะแนนนิยม คิดได้แม้กระทั่ง  ให้กัญชาพ้นจากวงจร ยาเสพติด  ผมไม่ใช่นักเรียนนอก แต่ ผมปราบยาเสพติดมาตั้งแต่เป็น นายตำรวจกองปราบผมยังยืนยันว่า "กัญชา" ยังต้องเป็นยาเสพติดไม่ใช่ผมคนเดียว  สมาชิกกลุ่มอาเซียนทุกประเทศด้วย 

ในประเทศไทย มีความขัดแย้งทางความคิด ส่วนตัว ผมขอขีดเส้นใต้ว่า ผมไม่เห็นด้วย  การเมืองเล่นกันนอกระบบมากเกินไป นักการเมืองอย่าหลงระเริง ว่า "8 ปี จะไม่มีการกลับมาอีกครั้งหนึ่ง"

 ผมคิดว่า หากมีโอกาสทำงานให้บ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง ผมมีภารกิจที่จะต้องปฏิบัติโดย เร่ง ด่วน ดังนี้!

1.  การแก้ไขปัญหายาเสพติด

2. การลดปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ

3. การแก้ไขปัญหาทุจริต คอร์รัปชันในระบบราชการ

4. การรับมือต่อโรคติดต่ออุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ

5. การรับมือต่อสังคมสูงวัย

6. การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ที่กระผมเรียนมาทั้งหมด 6 ประการ ส่วนหนึ่ง

ขอเก็บเอาไว้เพื่อที่จะได้แสดงความเห็นให้ท่านได้รับทราบในโอกาสต่อไป 

ผมรักเคารพพี่น้องและ ขอส่งความปรารถนาดี มายังทุกท่าน ขอให้มีความสุข 

ขอความกรุณาให้ท่านติดตาม "เฉลิม กลับมาแล้ว"

"นพดล" ขอบคุณประชาชน ตอบผลสำรวจ เลือก พรรคเพื่อไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายกฎหมาย ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะ แกนนำพรรคเพื่อไทย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

กรณีที่นิด้าโพลเปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “6 พรรคกับโอกาส ได้เป็นรัฐบาล” ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2565 พบว่า มากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ที่สำรวจเห็นว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นรัฐบาล
ผลสำรวจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ประกาศวิสัยทัศน์การประชุมใหญ่วิสามัญ ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นในนโยบายของพรรคเพื่อไทย 10 ด้านที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากให้กับพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งก่อนที่พรรคจะประกาศนโยบายใดออกมา ได้ศึกษาว่าสามารถทำได้จริง ไม่ขายฝัน และเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากให้พี่น้องประชาชนหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง หนี้สินในขณะนี้

สำหรับ 10 นโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศไว้ เป็นนโยบายเบื้องต้นที่สามารถตอบโจทย์ประเทศ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาส ซึ่งมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ และยังมีอีกหลายนโยบายที่จะทยอยเปิดเพิ่มเติม เพราะหลังจากนี้ไปการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง การต่อสู้ทางการเมืองจะเป็นการสู้กันทั้งในเชิงนโยบาย และการได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนว่าพรรคนั้นจะทำตามสัญญาหาเสียงได้หรือไม่ ดังนั้นพรรคการเมืองใดก็ตามที่เคยหาเสียงและสัญญากับประชาชนไว้ แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็เป็นโอกาสที่พี่น้องประชาชนจะได้ใคร่ครวญพิจารณาในการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง
ผมขอขอบคุณการสนับสนุนของพี่น้องประชาชนจากการสำรวจความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง โดยพรรคมุ่งมั่นที่จะนำเสนอนโยบายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศต่อไป เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ชะล่าใจต่อเสียงสนับสนุน แต่เราจะมุ่งมั่นทำงานหนักต่อไป และเปลี่ยนความคาดหวังของประชาชน ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่หลายคนสิ้นหวังให้เป็นความสมหวังให้ได้

"ทวี สอดส่อง" แนะสอบปม ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

สัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” คำชี้แจง รฟม ยิ่งเพิ่มข้อสงสัยว่า 

“การทุจริตมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาทมีจริง”

กรณี สำนักสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง โต้ BTS ปมทุจริต สัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อนั้น เห็นว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุน 235,320 ล้านบาท ที่การประมูลรอบแรกเมื่อปี 2563 หากไม่ยกเลิก และ BTS ชนะการประมูล รัฐจะอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาท แต่ในการประมูลรอบสองเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ซึ่ง BEM ชนะการประมูล รัฐต้องอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ในทางเทคนิคก็คือสร้างสิ่งเดียวกัน  ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565 รฟม ได้ออกแถลงการณ์คำชี้แจงนั้น ไม่ได้ตอบชี้แจงให้หายสงสัยในประเด็นของการทุจริต ที่รัฐต้องรับภาระแพงขึ้นประมาณ 68,612 ล้านบาท  ซึ่งต้องใช้ภาษีของพี่น้องประชาชนมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐในส่วนนี้  แต่การชี้แจงของ รฟม ได้เพิ่มความสงสัยและน่าเชื่อว่าการทุจริตมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท มีจริง เพราะ

1. ข้อกล่าวหา “รฟม เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล” ทำไมต้องกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 2 “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้องานเลย ที่เปลี่ยนคือคุณสมบัติผู้เสนอราคาโดยเพิ่มคุณสมบัติเดินรถไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศไทยเท่านั้นมาจากต่างประเทศก็ได้ ส่วนคุณสมบัติผู้รับเหมาต้องมีผลงานตรงกับรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จเท่านั้น ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการ กีดกันไม่ให้มีผู้เข้าแข่งขันมากราย และไม่เป็น international competition Bidding ตาม มติ ครม  เพียงเพราะต้องการกีดกันไม่ให้ BTS ที่เข้าประมูลครั้งแรกได้  แต่ไม่สามารถเข้าประมูลตามหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 2 ได้  ซึ่งการยกเลิกการประมูลที่ 1 นั้น ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า ‘การยกเลิกการประมูลดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย’  ปมสงสัยการทุจริต คือการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล “ลดคุณสมบัติผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่เพิ่มคุณสมบัติผู้รับเหมาขึ้น” ทั้งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้องานเลย เนื้องานก่อสร้างยังคงเดิม แต่ “การกีดกัน BTS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ประเทศไทยยาวนานประมาณ 23 ปี (ประเทศไทยมีผู้ให้บริการเดินรถมีเพียง 3 รายเท่านั้น) ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่เพราะขาดคุณสมบัติต้องห้ามด้านการรับเหมา ทำให้ผู้เสนอราคาได้แค่รายเดียวคือ BEM ซึ่งเสนองานแพงกว่ากลุ่ม BTS ที่เสนอราคาครั้งที่ 1 มากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท จึงมีคำถามว่า ทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินเพิ่มถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ?

การที่  รฟม. ชี้แจงว่า “เอกชนที่ยื่นข้อเสนอฯ ทั้ง 2 ราย ได้รับคืนซองเอกสารข้อเสนอฯ แล้ว จึงไม่สามารถกลับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อีกและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่” ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเสมือน “ถามช้างตอบม้า ถามวัวตอบควาย” ตอบไม่ตรงคำถาม สิ่งที่ประชาชนและสังคมต้องการทราบว่าทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินเพิ่มมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน และมีใครบ้างเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ ?

2. กรณีไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ให้กลุ่ม ITD ที่เข้าประมูล ประธานบริหารและกรรมการ ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ขัดพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 33 ไม่อาจผ่านคุณสมบัติได้ (การที่กลุ่ม ITD เข้ามาจึงเข้าลักษณะเป็นเพียงจัดให้เป็นคู่เทียบ) ดังนั้น ด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่มีสภาพบังคับให้เอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว ไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน แต่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ดันทุรังให้บริษัท ITD ผ่านทั้งเกณฑ์คุณสมบัติ และเทคนิค แม้จะมีเสียงทักท้วงถึงความไม่ถูกต้อง จึงมองได้อย่างเดียวว่า มีเจตนาเคลือบแฝง คือต้องการให้มีผู้ผ่านเกณฑ์มากกว่า 1 ราย เพื่อเปิดซองราคา เป็นคู่เทียบ ที่กล้าทำก็เพราะน่ารู้อยู่แล้วว่าใครจะเป็นผู้ชนะ และถึงแม้เกิดการพลิกล็อก ITD ยื่นขอเงินสนับสนุนต่ำกว่า ก็ยังสามารถจัดการตี ITD ให้ตกในขั้นตอนสุดท้ายได้อยู่ดี โดยไม่ว่าจะออกหน้าใหน ผู้ได้ผลประโยชน์ก็ยังเป็นผู้รับเหมาเจ้าเดิมอยู่ดี

3. ตามมาตรา 10 พ.ร.บ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

“เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดซึ่งมีอํานาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณาหรือการดําเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ละเว้นไม่ดําเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดําเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น มีความผิดฐานกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท”

พฤติการณ์และการกระทำเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ” เป็นอำนาจที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นกระบวนการ ถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนที่ใช้เป็น “มติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ที่มีมูลเชื่อได้ว่า “รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ถึงการล็อคเสปค กีดกันและเอื้อประโยชน์ แต่ “เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณาหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ” ยังละเว้นไม่ดําเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดําเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคา”  อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 ที่เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง และทำให้รัฐต้องรับภาระแพงมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องใช้ภาษีของพี่น้องประชาชนมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐในส่วนนี้ หรือชดเชยโดยการเรียกค่าโดยสารจากพี่น้องประชาชนจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

จึงขอชี้เบาะแสให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และหน่วยงานบังคับใช้กฏหมายในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่และอำนาจในการสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่เป็นหน้าที่ของรัฐและประชาชนต้องช่วยกันขจัดอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผู้ที่ชี้การชี้เบาะแส รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครอง (ตามมาตรา 63) และหน้าที่ของปวงชนชาวไทยต้องไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ


วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565

“พรรคประชาชาติ” วางพานพุ่มวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม

(10 ธันวาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา นายมนตรี บุญจรัส กรรมการบริหาร พรรคประชาชาติ และรองโฆษก พรรคประชาชาติ เดินทางมาห้องสัมมนา B1 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา เพื่อร่วมพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และวางพานประดับพุ่มดอกไม้ถวายบังคมพระรูปต้นแบบพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยข้าราชการ และตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

. นายมนตรี บุญจรัส กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ และรองโฆษก พรรคประชาชาติ กล่าวว่า วันรัฐธรรมนูญ ในประเทศไทย หรือวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย โดยผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกันครับ