วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"สุดารัตน์" แนะ คสช. เปิดพื้นที่ภาคการเมืองมีส่วนร่วมยุทธศาสตร์ชาติ


คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวขณะเดินทางมาปฏิบัติธรรมที่วัดมหาธาตุฯ ถึงกรณีที่ผู้มีอำนาจยังไม่ได้เปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองว่า "ที่ผ่านมาไม่ได้มีเจตนาให้เกิดสิทธิและเสรีภาพของนักการเมืองและประชาชนที่จะให้สื่อสารกันมากนัก ไม่ได้เดินไปสู่การเป็นประชาธิปไตย การจะให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริงต้องมีกฎหมายและองค์ประกอบให้เกิดภาพสมานฉันท์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องทำให้การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ประเทศไทยติดหล่มเป็นเวลานาน โดยเห็นว่าที่ผ่านมายังไม่เห็นชัดเจนว่าจะทำตามโรดแม็พ จากนี้ไปอยากให้ผู้มีอำนาจสร้างความเข้าใจ หาความร่วมมือระหว่างผู้มีอำนาจ ประชาชน และพรรคการเมือง เปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมที่จะคิดยุทธศาสตร์ชาติ 10 ปี หรือ 20 ปี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ หากคิดแต่จะกำจัดทางการเมือง ไม่ฟังความเห็นพอถึงการเลือกตั้งก็จะเกิดปัญหาได้ อย่าคิดว่าฉันคือกฎหมาย ฉันจะเอาแบบนี้ เพราะท้ายที่สุดก็เหมือนแรงโน้มถ่วงของโลก ลูกตุ้มมันเอียงไปด้านใดมากจนเกินไป ท้ายที่สุดมันจะอยู่ไม่ได้ ส่วนที่วิจารณ์ว่าพรรคที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งอาจจะไม่ได้เป็นรัฐบาลนั้นไม่กังวล แต่สิ่งที่น่าห่วงกว่านักการเมืองคือ เงื่อนไขและบรรยากาศเช่นนี้เหมือนไม่ให้มีส่วนร่วมใดๆ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรต้องได้รับฟังความเห็นอย่างถี่ถ้วน อย่าทำอะไรแล้วต้องไปแก้ทีหลังมันยุ่งยาก"

"ชวลิต" เผยอดีตส.ส.เพื่อไทย ร่วมอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลฯ


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวกับสื่อมวลชนเช้านี้ ที่วัดมหาธาตุฯ ว่า อดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย เตรียมอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลฯแบ่งเป็นพื้นที่ภาคอีสาน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อุปสมบทไปแล้วที่วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม, ภาคกลาง โดย นายพายัพ ปั้นเกตุ อุปสมบทที่วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร จังหวัดสิงห์บุรี, ภาคเหนือ โดย นายรังสรรค์ มณีรัตน์ กำลังจะอุปสมบท ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 และ กรุงเทพมหานคร โดย นายการุณ โหสกุล กำลังจะเข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดดอนเมือง (พระอารามหลวง) เขตดอนเมือง ในวันที่ 4 ธันวาคม 2559 นี้ โดยตนเองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและควรสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง










วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"เพื่อไทย" ติงเงื่อนไขกฏหมายพรรคการเมือง-ผิดหลักการ


นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า จากการติดตามเห็นว่าผิดตั้งแต่ต้น เพราะพรรคการเมืองคือที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์ ความคิดเดียวกัน ดังนั้น กรธ.ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้จัดตั้งโดยไม่ยาก จนเกินไป เพราะพรรคการเมืองจะได้รับเลือกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน แต่วันนี้ กรธ.ตั้งข้อจำกัด เงื่อนไข จนความเป็นพรรคการเมืองที่มีเสรีภาพหายไปหมด

นายสามารถ ยังกล่าวว่า "สมมุติว่าชาวไร่ชาวนาที่อยากตั้งพรรคการเมืองของตัวเองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะ กรธ.กำหนดให้เริ่มต้นตั้งพรรคที่ 500 คน กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ โดยแต่ละคนต้องลงขันเป็นทุนประเดิมเริ่มต้นคนละ 2,000 บาท และภายใน 4 ปี ต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 2 หมื่นคน และบังคับให้มีสาขาทุกภูมิภาค ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ชอบด้วยหลักการ เพราะไปบังคับว่าต้องมีสมาชิกตามจำนวนที่กำหนด ทั้งที่พรรคการเมืองจะมีสมาชิกมากหรือน้อย ก็ควรจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้พัฒนาตัวเอง ไม่ควรไปบังคับ"

ขณะเดียวกัน นายสามารถ ยังอยากขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้พรรคการเมืองจัดประชุมพรรคได้เพราะร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำกฎหมายลูก จากนั้นจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง พรรคการเมืองควรได้ประชุมหารือเพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ไปให้ผู้ที่ทำกติกา และพรรคการเมืองก็จะได้เตรียมการรองรับกฎหมายใหม่ที่จะออกมาด้วย

"เพื่อไทย" วิจารณ์ ร่างพรป.พรรคการเมือง มุ่งสกัดพรรคใหญ่


นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 ในฐานะ ประธานคณะทำงานติดตามการร่างกฏหมายลูก พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวถึง กรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ระบุว่า จะไม่มีการรีเซ็ตพรรคการเมืองว่า ฟังดูเหมือนจะเอาใจพรรคการเมืองเก่าที่จะได้ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่ที่ไหนได้พอเห็นบทเฉพาะกาลของ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พรป.)พรรคการเมือง ที่ กรธ. กำลังจะเผยแพร่ในวันสองวันนี้แล้ว เหมือนเป็นการเตะ สกัดขาพรรคใหญ่เสียมากกว่า ทั้งนี้ เพราะ (1) มาตรา 114 ให้พรรคการเมืองดำเนินการให้มีสมาชิกพรรคและสาขาพรรคตามกฎหมายใหม่ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ มิฉะนั้นจะต้องสิ้นสภาพพรรคการเมือง (2) มาตรา 116 ให้พรรคปรับปรุงข้อบังคับพรรคให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ภายใน 60 วัน มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิ์ส่งสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก และ (3) มาตรา 117 ให้พรรคจัดทำและส่งทะเบียนสมาชิกพรรค พร้อมบัญชีการเงินของพรรคและสาขาพรรคแก่นายทะเบียน พรรคการเมือง ภายใน 90 วันมิฉะนั้น จะไม่มีสิทธิ์ส่งสมัครรับเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

นายคณิน  กล่าวว่า เรื่องการจัดทำทะเบียนสมาชิกพรรคและส่งให้นายทะเบียนภายใน 90 วัน นี่แหละจะเป็นปัญหาสาหัสของพรรคการเมืองเก่า ที่มีสมาชิกเป็นเรือนแสนเรือนล้าน เพราะกฎหมายใหม่บังคับไว้เลยว่าหัวหน้าพรรคต้องจัดทำทะเบียนสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริง และจะติดต่อสอบถาม หรือตรวจสอบให้ละเอียดเป็นรายคนได้อย่างไร ? ในเมื่อตลอดเวลา 3 ปี กว่าที่กฎหมายใหม่จะมีผลใช้บังคับ คสช. ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวอะไรเกี่ยวกับสมาชิกพรรคเลย ชุมนุมเกิน 5 คนยังไม่ได้ ดังนั้น เวลา 90 วัน ตามบทเฉพาะกาลซึ่งเป็นเสมือนกับดักอันเบ้อเร่อที่จะ ทำให้พรรคเก่าที่มีสมาชิกเป็นแสนเป็นล้านคน ต้องกลายเป็น “กิ้งกือตกท่อ” เอาได้ง่ายๆ ครั้นจะตัดสมาชิกไปเฉยๆ เพื่อให้เหลือจำนวนน้อยๆ ก็ทำไม่ได้ ต้องให้เขาลาออกเอง ซึ่งต้องจี้กันเป็นรายตัว แต่เดี๋ยวก็จะไปร้อง กกต.ว่าถูกบีบบังคับให้ต้องลาออก และภายหลังเมื่อส่งให้นายทะเบียนไปแล้ว ยังมีชื่อคนที่ตายไปแล้ว ไปบวช หรือขาดคุณสมบัติอื่นๆ หรือเป็นสมาชิกพรรคซ้ำกันกับพรรคอื่น ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ จะทำอย่างไร หรือเกิดมีใครไปร้องต่อ กกต. ว่าเขาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่มีชื่อเป็นสมาชิกอยู่ จะทำอย่างไร ทั้งหมดนี้จะส่งผลร้ายต่อพรรคการเมืองเก่าทั้งสิ้น

นายคณิน กล่าวว่า ที่พอจะได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขที่ว่านี้อยู่บ้างก็จะเป็นพรรคขนาดเล็ก ที่มีสมาชิกระดับพัน แต่ที่จะได้แจ็คพอตไปกินคำโตก็เห็นจะเป็นพรรคการเมืองตั้งใหม่นั่นแหละ เพราะการที่ กรธ. ลดจำนวนสมาชิกพรรคจาก 5,000 คน ลงมาเหลือแค่ 500 คน ในตอนเริ่มก่อตั้งและมีสาขาพรรคภาคและหนึ่งสาขา พร้อมมีเงินทุนสำรอง 1 ล้านบาทขึ้นไป ตามกฎหมายใหม่นี้ ถือเป็นเรื่องง่ายอย่างยิ่ง แถมยังมีเวลาตั้งปีในการดำเนินการจนเสร็จสิ้น ได้รับการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง ที่พร้อมจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

นายคณิน กล่าวในที่สุดว่า การที่ กรธ. เขียนบทเฉพาะกาลไว้เช่นนี้ ไม่ว่าจะมีเจตนาอย่างไร แต่ผลเหมือนเป็นการสกัดพรรคการเมืองใหญ่ ก่อนที่จะถึงวันสมัครรับเลือกตั้งด้วยซ้ำ ในขณะที่ ดูเหมือนจะเปิดทางโล่งสำหรับพรรคการเมืองตั้งใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย และทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันมากเกินไป เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เซตซีโร่ จะด้วยเหตุผลอะไรก็สุดแล้วแต่ ก็ควรเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในบทเฉพาะกาลการเสียใหม่ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และเป็นไปได้มากกว่านี้

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" มอบข้าวถวายวัดทุ่งเหียง-เลี้ยงอาหารเยาวชน หลังจากรับซื้อจากชาวนา


ผู้สื่อข่าวรายงานจากวัดทุ่งเหียง ต.หมอนนาง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายวราเทพ รัตนากร และผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางมาที่วัดทุ่งเหียง เพื่อนำข้าวสารที่ซื้อมาจาก จ.มหาสารคาม มามอบให้กับหลวงปู่บุญ โสภโณ หรือพระครูโสภณพัฒนาภิรม เจ้าอาวาสวัดทุ่งเหียง พร้อมกับถวายอาหารเพลแด่พระภิกษุ จำนวน 10 รูป สามเณร จำนวน 105 รูป และเลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก จำนวน 300 คน ขณะที่ในช่วงบ่าย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมแหล่งผลิตสินค้า OTOP จักสานใหญ่ที่สุดในโลก ของกลุ่มจักสานชุมชน เทศบาลเมืองพนัสนิคม จ.ชลบุรี

















วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"พิชัย"วิจารณ์รัฐแจกเงินหมื่นล้านเพราะคะแนนนิยมทรุด แนะลดความเหลื่อมล้ำยั่งยืนกว่า


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการที่ คณะรัฐมนตรี-คสช. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เงินประชาชนจำนวน 1,500-3,000 บาทนั้น นายพิชัย กล่าวว่า ตามที่ตนเคยเตือนแล้วว่าเศรษฐกิจปลายปีจะถดถอย แต่รัฐบาลก็ออกมาเถียงว่ายังคงดี แต่ในที่สุดก็ต้องออกมายอมรับ โดยเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งๆที่เคยบอกว่าไม่จำเป็น แต่การแจกเงินในแบบนี้ แม้ว่าจะเป็นความพยายามของรัฐบาลที่พยายามจะช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบาก แต่จะไม่ได้เกิดประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะเศรษฐกิจในภาพรวมยังแย่อย่างมากจาก การลงทุนที่หดหาย และการส่งออกที่ลด รายได้ของประเทศหายไปมาก เศรษฐกิจที่แท้จริงจะต้องแก้ในภาพรวมของทั้งประเทศมากกว่าการแจกเงินให้กับประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ต่างจากเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ที่ทำไปแล้วสูญเปล่า ซึ่งรัฐบาลน่าจะเรียนรู้จากบทเรียนการแจกเงินสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แถมมีคำถามอีกว่า การแจกเงินแบบนี้เป็นประชานิยมหรือไม่ และ ทำให้ประเทศเสียหายด้วยหรือไม่? อีกทั้งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้นเพราะผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรไม่ได้รับเงินในส่วนนี้ การใช้งบประมาณทั้งหมด 12,759 ล้านบาท เพื่อแจกให้กับประชาชนบางกลุ่มจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะประชาชนที่ยังลำบากและไม่ได้รับจะรู้สึกถูกทอดทิ้งเพราะไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ ดังนั้นจึงควรใช้เงินนี้กับโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกภาคส่วนให้มากที่สุด

นายพิชัยกล่าวอีกว่า ถ้ารัฐบาลแจกเงินประชาชนแล้วประเทศเจริญ รัฐบาลคงไม่ต้องมาคิดนโยบายและสร้างโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆให้กับประเทศแล้ว รัฐบาลควรพัฒนาแนวคิดที่เป็นประโยชน์ในระยะกลางและระยะยาว เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่องให้ประชาชน ดีกว่านโยบายที่ให้ผลแค่ระยะสั้นแบบนี้ ประสบการณ์ก็มีแล้วจากสมัยประชาธิปัตย์ที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ใช้แล้วก็หมดไป รัฐบาลควรคิดให้เบ็ดมากกว่าที่จะให้ปลา เพราะประขาชนยังนำไปหากินในอนาคตได้ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าอาจจะเป็นการหาเสียงของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง เพราะคะแนนความนิยมของรัฐบาลที่ผ่านมาตกต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เช่น เรื่องราคาข้าว และราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ตกต่ำมาก จึงทำให้ต้องหาทางออกโดยการแจกเงินเพื่อหวังฟื้นคะแนนนิยมที่ยังทรุดหนัก

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"กิตติรัตน์" ถามรัฐ 2 มาตรฐาน ล่าโครงการรับจำนำข้าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ตั้งคำถามถึงกรณีที่รัฐบาล คสช. เร่งตรวจสอบหนี้คงค้างในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งๆที่กระทรวงพาณิชย์ยังระบายข้าวไม่แล้วเสร็จ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับเพิกเฉยต่อหนี้เงินกู้ของโครงการไทยเข้มแข็งและหนี้คงค้างโครงการประกันรายได้เกษตรกรในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยระบุว่า “หนี้เงินกู้โครงการไทยเข้มแข็งที่เบิกเงินมาครบตั้งแต่ปี 2553 กลับไม่ต้องสนใจ และหนี้คงค้างโครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ยังคงทิ้งค้างอยู่ และเอาไปแฝงรวมกับ หนี้ไทยเข้มแข็งก็ไม่ต้องสนใจด้วยว่าจะใช้หมดเมื่อไหร่?”

นายกิตติรัตน์ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าเงินกู้เพื่อชดเชย การขาดดุลงบประมาณที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558/59 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2559/60 นี้ด้วย เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของงบประมาณรายจ่ายในสารพัดโครงการ ในขณะที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้น้อยกว่า และยังเป็นการจัดเก็บที่ต่ำกว่าเป้าหมาย เป็นจำนวนมาก จนเงินคงคลังลดลงอย่างน่าเป็นห่วง เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ให้ความสนใจ กลับพุ่งเป้าไปแต่ที่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลก่อนเท่านั้น จึงถือเป็นการใช้อำนาจรัฐแบบสองมาตรฐานหรือไร้มาตรฐานหรือไม่?

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แกนนำพรรคเพื่อไทย ร่วมสวดพระอภิธรรม "ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งบุคคลในแวดวงการเมืองและนักวิชาการ อาทิ อาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ฯลฯ เดินทางมาร่วมพิธีรดน้ำและสวดพระอภิธรรม ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตและนักวิชาการรัฐศาสตร์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ วัดธาตุทอง เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต เป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญการเมืองไทย อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (พ.ศ. 2540) อดีตหัวหน้าพรรคพลังแผ่นดินไท (30 มิถุนายน พ.ศ. 2549-30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550) และ เคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย (พ.ศ. 2545-2548 และ พ.ศ. 2549)







วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" ชวนทุกฝ่ายช่วยชาวนา เล็งฟ้องกลับคดีจำนำข้าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมทีมทนาย เดินทางมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขึ้นสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดที่ 7 ในคดีโครงการรับจำนำข้าว โดยมีประชาชน เกษตรกร และชาวนาจากจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดยโสธร เดินทางมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก โดยยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงการขอทุเลาคำสั่งทางปกครอง ว่า "ความจริงแล้วตนได้ยื่นขอให้เพิกถอนคำสั่ง แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะใช้สิทธิทุกขั้นตอนที่มีภายใต้กรอบเวลาของกฎหมาย ทั้งนี้ ขณะนี้เป็นหน้าที่ของทีมทนาย และฝ่ายกฎหมาย หากมีอะไรเพิ่มเติมจะเรียนให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงการฟ้องกลับด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของ 80% มีคำถามว่าจะดำเนินการด้วยวิธีการอย่างไร? นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า อยากจะขอว่าในฐานะรัฐที่จะเข้ามาตรวจตรงนี้ก็อยากขอให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคน และทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย อย่าเร่งรัด อย่างไรก็ตาม การหว่านแหแบบนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นผลดีหรือไม่? อาจจะเป็นผลกระทบโดยกว้างมากกว่า

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า "เราควรจะมองว่าควรช่วยกันแก้ปัญหาแก่พี่น้องชาวนามากกว่าการที่จะมาตีกันเป็นประเด็นการเมือง น่าจะบอกว่าต่างคนต่างมาช่วยชาวนาดีกว่า อย่ามาเถียงกัน หรือตีกันทางหน้าสื่อเลย"


วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" เปิดบ้าน ปรุง 50 เมนูข้าว รณรงค์สร้างมูลค่าเพิ่ม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมกับแฟนเพจจัดกิจกรรม “ช่วยชาวนา สร้างมูลค่าข้าวไทย ร่วมใจบริโภคเพิ่ม” ที่บริเวณบ้านพักซอยโยธินพัฒนา 3 โดยมีบรรดาอดีตรัฐมนตรี แกนนำ และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.คลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรค นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส.กทม. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตส.ส.ขอนแก่น นางสาวขัตติยา สวัสดิผล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ อดีต ส.ส.กทม. สำหรับบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีแฟนเพจจาก Facebook ของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลุ่มคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสตรีเขตบึงกุ่ม กลุ่มเนกซท์ โรงเรียนการอาหารนานาชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต กลุ่มราชบุรี กลุ่มเพชรบุรี ฯลฯ นำเมนูอาหารที่แปรรูปจากข้าว มาจัดแสดงกว่า 50 เมนู อาทิ ข้าวตังหอมข้าวหอมมะลิหน้าลาบทูน่า ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมจีนน้ำยาหมู แป้งเส้นทานคู่ส้มตำ ข้าวตัง ก๋วยจั๊บ พิซซ่าข้าว พุดดิ้งข้าว ซูชิไส้อั๋ว สลัดข้าวหอมมะลิ หอมมะลิยัดไส้ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนบริโภคข้าวมากขึ้น รวมทั้งนำข้าวมาแปรรูป ลดปริมาณข้าวเปลือกที่มีอยู่ในประเทศให้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวขยับสูงขึ้น ถือเป็นอีกวิธีในการช่วยเหลือชาวนา ทันทีที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาถึงได้ชิมอาหารและสอบถามวิธีการทำจากกลุ่มต่างๆ โดยบางส่วนได้มอบขนมและอาหารเป็นที่ระลึก ก่อนสาธิตการประกอบอาหารที่แปรรูปจากข้าวเป็นเมนูต่างๆ อาทิ ขนมครกข้าวหมูยอไส้อั่ว ข้าวยำสไตล์ไทย และลาบข้าวเหนียวอกไก่ ฯลฯ

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ระหว่างจัดงาน“ช่วยชาวนา สร้างมูลค่าข้าวไทย ร่วมใจบริโภคเพิ่ม” เพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาข้าวตกต่ำ ว่า "ได้เห็นการร่วมมือ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยชาวนาได้ขายข้าวไปถึงผู้บริโถคโดยตรงมากขึ้น เพิ่งถึงเป็นเรื่องที่น่าดีใจ หากอยากให้มีการขายจำนวนมาก ก็ต้องช่วยกันกระตุ้นความต้องการในการซื้อข้าว เป็นการต่อยอดช่วยเหลือชาวนา ทั้งนี้กิจกรรมในวันนี้มีแนวคิดเริ่มมาจากคนใกล้ชิดและแฟนคลับ เพื่อให้ทุกคนหันมาบริโภคข้าวมากขึ้น ด้วยการแปรรูป หรือการประยุกต์ในรูปแบบต่างๆ หากทำให้ทุกคนมีความนิยมในเรื่องอาหารไทย นำข้าวไปใช้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร ก็จะทำให้ทุกคนมีความต้องการข้าวมากขึ้น มากขึ้นสุดท้ายก็จะมีการซื้อข้าวจากชาวนามากขึ้น อาหารเช้าส่วนคนที่อยู่ที่บ้านถ้าได้ช่วยกันผัดข้าว หรือคิดเมนูเกี่ยวกับข้าวมากขึ้นก็ถึงว่าช่วยชาวนาแล้ว จึงเป็นที่มาในวันนี้ ที่จะเชิญชวนทุกคนคิดเมนูเล็กๆ น้อยๆ หากชาวนานำข้าวไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากการจำหน่ายเป็นข้าวสาร นำมาทำเป็นอาหาร ก็จะช่วยเพิ่มมูลราคาข้าวให้สูงขึ้น เราต้องการที่จะช่วยเหลือชาวนา ถ้าเราช่วยกันรณรงค์ในการเพิ่มเมนูอาหารที่เกี่ยวกับข้าวบ้านละหนึ่งอย่าง ก็เชื่อว่าหนึ่งปีคนจะบริโภคข้าวกว่า 10 ล้านตัน สุดท้ายเมื่อความต้องการซื้อและความต้องการขายสมดุลกัน ราคาก็จะขยับตัวขึ้นตาม



วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"สุรพงษ์" หนุน "ยิ่งลักษณ์" ขายข้าวช่วยชาวนา-ถามกลับ "อภิสิทธิ์" ปั่นราคาหรือไม่?


นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงที่พรรคเพื่อไทยว่า การกล่าวหาว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่าทุบราคาข้าว นั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ซื้อข้าวจากชาวนามาในราคากิโลกรัมละ 20 บาท ชาวนาได้รับเงินตามจริงโดยที่ไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ค่าแรง ไปจนถึงค่าบรรจุหีบห่อ จึงทำให้ต้นทุนถูก ดังนั้นการกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ว่าเป็นผู้ทุบราคาข้าวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ช่วยซื้อข้าวจากชาวนาในราคากิโลกรัมละ 25 บาทนั้น หากตนเป็นคนนิสัยไม่ดีก็อาจจะมองว่านายอภิสิทธิ์กำลังปั่นราคาหรือไม่? อย่างไรก็ตาม ตนดีใจที่ทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือรับซื้อข้าวจากชาวนา เช่น บริษัทแกรมมี่ฯ ที่รับซื้อข้าวจากชาวนาในราคากิโลกรัมละ 20 บาทเช่นเดียวกัน

"ยิ่งลักษณ์" เดินหน้าช่วยชาวนาไทย แนะรวมกลุ่มแปรรูปข้าวเพิ่มมูลค่า


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ดีใจและภูมิใจค่ะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการริเริ่มช่วยชาวนาขายข้าว 2 ครั้งที่ผ่านมาซึ่งเป็นการช่วยให้ชาวนามีทางเลือกหากไม่ได้รับราคาที่เป็นธรรม และเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ชาวนาสามารถขายข้าวเองได้โดยตรงก็จะทำให้คุ้มกับต้นทุน หรือเหลือกำไรบ้าง ซึ่งดิฉันไม่เคยคิดที่จะกดราคาหรือเอาเปรียบชาวนา ตามที่มีใครพยายามกล่าวอ้างแต่อย่างใด ดิฉันซื้อข้าวเปลือกในราคา 12 บาท หรือ ข้าวสาร 20 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ชาวนามีกำไรและพออยู่ได้ ดิฉันลดต้นทุนด้วยการไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามขายข้าวตามสภาพ และ รับผิดชอบขนส่ง ซึ่งหากดิฉันคิดเอากำไร หรือผลักภาระ ส่วนนี้ไปยังผู้ซื้อดิฉันก็ต้องขายด้วยราคา 25 บาท แต่ดิฉันไม่ต้องการเช่นนั้น เพื่อให้ผู้ซื้อได้ซื้อข้าวราคาเดียวกับที่ชาวนาขายที่ต่างจังหวัด

การช่วยกันคนละไม้ละมือในยามที่ชาวนาเดือดร้อน ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนพึงกระทำ แม้ปัจจุบันดิฉันไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ช่วยในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่พอสามารถช่วยเหลือกันได้ แต่กลับถูกตีเจตนาเป็นอย่างอื่น นับเป็นสิ่งที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง แทนที่จะตั้งคำถามว่าแม้ข้าวราคาถูกแค่ไหน เหตุใดราคาขายไปยังผู้บริโภคยังคงเป็นราคาเดิม ทำไมไม่เอากำไรส่วนนี้คืนให้กับชาวนา หรือผู้ซื้อบ้าง กลับมาช่วยกันซ้ำเติมและใช้หลักโทษคนนั้นโทษคนนี้ แล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร

เพราะการขายข้าวครั้งนี้ ถือเป็นการช่วยชาวนาขาย โดยไม่ผ่านคนกลาง ข้าวส่งตรงถึงมือผู้ซื้อ ซึ่งการซื้อโดยตรงนี้ ทำให้ลดต้นทุนในส่วนของคนกลาง และต้นทุนในแต่ละขั้นตอนเช่น ค่าบรรจุภัณฑ์ การคัดข้าว วิธีที่ดำเนินการเช่นนี้ทำให้ชาวนาสามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาสูงขึ้น มีกำไรและไม่ถูกกดราคา ส่วนผู้ซื้อก็สามารถซื้อข้าวได้ในราคาที่ถูกลง เพราะไม่มีการผลักภาระของคนกลางไปให้ผู้ซื้อ ก็จะเห็นได้จากหลายพื้นที่ ที่ชาวนาเริ่มที่จะสีข้าว ขายเองแล้ว เชื่อว่าในที่สุดกลไกนี้ก็จะค่อยๆปรับตัว ทั้งคนขาย ผู้ประกอบการ และ ผู้ซื้อ มากขึ้น จึงเป็นที่น่าดีใจนอกเหนือจากการช่วยชาวนาขายข้าวค่ะ

ดังนั้นเพื่อให้ชาวนาขายข้าวได้มากขึ้น เราก็น่าจะร่วมกันสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนบริโภคข้าวมากขึ้น ด้วยการช่วยกันคิดหาวิธีแปรรูปหรือทำอาหารเกี่ยวกับข้าว เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายเป็นทางเลือกในการบริโภค ซึ่งจะทำให้การบริโภคข้าวที่ปัจจุบันมีอยู่เกือบ 10 ล้านตันนั้นเพิ่มขึ้น แค่นี้เราก็ถือว่าได้ช่วยชาวนาแล้วค่ะ จึงถือโอกาสเอามาแชร์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและช่วยกันแนะนำด้วยนะคะ

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"ขัตติยา" หนุน "ยิ่งลักษณ์" ขายข้าวช่วยชาวนาราคาเหมาะสม-โต้เสียงวิพากษ์อิจฉาริษยา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "เดียร์-ขัตติยา สวัสดิผล" อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เพียงแค่หนึ่งภาพ......แต่แทนคำพูดได้เป็นล้านคำ

วันศุกร์ที่แล้วก็เป็นอีกหนึ่งวันที่เดียร์ได้ไปช่วยนายกปูและพี่น้องชาวนาขายข้าวสารหอมมะลิ ที่ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง

ภาพที่เห็นเป็นภาพจากมุมสูง สิ่งที่เรารับรู้ได้จากภาพนี้ คือสีหน้าและแววตาที่มีแต่รอยยิ้มของนายกปู พี่น้องชาวนาและคนที่มาช่วยขาย รวมถึงผู้คนที่มาซื้อ

ดีใจที่ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของงานในวันนั้น แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ก็ตาม

ดีใจที่เห็นประชาชนคนไทยตั้งใจมาอุดหนุนซื้อข้าวสาร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวนาในยามยากลำบาก
ข้าวเหล่านี้ เป็นข้าวที่ “นายกปูซื้อมาจากชาวนาแบบไม่กดราคา และขายต่อให้กับทุกคนแบบไม่บวกกำไร” ยิ้มออกกันได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

นายกปูซื้อข้าวเปลือกมาจากชาวนา ตกราคากิโลกรัมละ 12 บาท (ทั้งๆ ที่ ถ้าชาวนาขายกันเองในพื้นที่ ก็จะขายข้าวเปลือกได้แค่กิโลกรัมละ 7.50 บาท) จากนั้นก็นำข้าวเปลือกที่ซื้อไปให้โรงสีชุมชนสีออกมาเป็นข้าวสาร จาก “ข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม” จะสีออกมาเป็น “ข้าวสารได้ประมาณ 600 กรัม” คำนวณกันใหม่ก็จะได้ข้าวสารตกราคากิโลกรัมละ 20 บาท เรายกแกลบและรำที่ได้จากการสีให้แก่โรงสีชุมชน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

การบรรจุหีบห่อ เราใช้จิตอาสามาช่วยกัน ค่าขนส่งนายกปูช่วยดูแลให้ ด้านการตลาดเราก็ทำกันง่ายๆ ผ่านทางเฟสบุ๊ค จึงไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ต้องมาบวกกับราคาขาย

ที่นายกปูทำเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เพื่อช่วยระบายข้าว ให้ชาวนาได้เจอกับผู้บริโภคโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง ปริมาณข้าวที่นำมาขายถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณข้าวทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาด จึงไม่ทำให้กลไกราคาตลาดเสีย

อย่างไรก็ดี มีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่นายกปูทำกันเยอะค่ะ แต่ถามว่ารู้สึกเสียใจอะไรหรือไม่ คงต้องตอบว่าไม่เลย.....

เพราะสิ่งที่ทำ เราเน้นคนที่ได้ประโยชน์ ซึ่งก็คือชาวนา ไม่ใช่นายกปู

และรู้สึกดีใจด้วยซ้ำ เพราะหลังจากที่นายกปูได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือชาวนาแล้ว มันเหมือนเป็นแรงผลักดันให้หลายๆ ภาคส่วนที่กลัวน้อยหน้า ต้องรีบหาวิธีเพื่อช่วยเหลือชาวนาเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลทหาร หรือพรรคประชาธิปัตย์

คนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นายกปู ถ้าท่านมีวิธีที่ช่วยชาวนาได้ดีกว่านี้ และชาวนาได้รับประโยชน์สูงสุด ก็รีบทำเถอะค่ะ มัวรออะไร? หรือแท้ที่จริง ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันนั้น เพราะต้องการแสดงถึงความอิจฉาริษยาที่มีต่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากประชาชน และยังคงเป็นที่รักของคนไทยจำนวนมากอยู่ ก็เท่านั้นเอง

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ประทับใจ! ชาวน่านให้กำลังใจ "ยิ่งลักษณ์-เยาวเรศ" ทอดกฐิน-"ครูบาสมจิต" มอบเงินสู้คดี


เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนางเยาวเรศ ชินวัตร พี่สาว นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยสมาชิกพรรคเพื่อไทย อาทิ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ อดีต ส.ส.กทม. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น นายชลน่าน ศรีแก้ว และนางสิรินทร รามสูต อดีต ส.ส.น่าน ร่วมกับพี่น้องประชาชนถวายกฐินสามัคคี มหากุศล เพื่อสมทบทุนสร้างศาลาหลวงสุดเจ่นตา มหาบารมี 3 ปี 3 เดือน 3 วัน และบรรจุหัวใจถวายพระพุทธรูปองค์พระประธานศาลาหลวง ณ พุทธสถานถ้ำเชตะวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน โดยประชาชนที่มาร่วมทำบุญได้เข้ามาอวยพรให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผ่านพ้นอุปสรรค ที่ผ่านมาทำดีแล้วขอให้สู้ต่อไป และอยู่เป็นแรงใจของประชาชนอย่างนี้ตลอดไป

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กราบนมัสการท่านครูบาน้อย ณัฐวุฒิ ญานวิไชย ณ หน้าประตูถ้ำเชตะวัน เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยครูบาน้อยเข้าปฏิบัติธรรมในถ้ำเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งจะออกจากถ้ำในปี 60 นี้ ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับครูบาน้อยได้โต้ตอบกับผ่านทางจดหมายน้อย โดยการเขียนตอบส่งกัน เพราะครูบาน้อยจะไม่เปร่งวาจาพูดคุยกับใครตลอดการเข้าถ้ำ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ถวายซองปัจจัยให้แก่ครูบาน้อย แต่ครูบาน้อยยืนส่งคืนกลับมาให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมระบุว่าให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เก็บไว้เพื่อเอาไปซื้อข้าวช่วยชาวนา นอกจากนี้ ในงาน ครูบาสมจิต จากวัดสะแล่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ที่เดินทางมาร่วมงาน ได้นำเงินมามอบให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 3,000 บาท เพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เอาไว้สู้คดีและหากต้องถูกยึดทรัพย์









วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"อนุสรณ์" สอน "อภิสิทธิ์" รับ กปปส.-ประชาธิปัตย์พวกเดียวกัน


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ ในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีใครที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มกปปส.ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ทุกคนในพรรคยังอยู่ครบ เลือกตั้งเมื่อใด สมาชิกของพรรคจะกลับมารวมตัวกัน เพราะทุกคนอยากกลับมาเป็นสมาชิกของพรรคเหมือนเดิม ว่า "ความจริงสังคมได้ตั้งคำถามมาตลอดว่า พรรคประชาธิปัตย์กับกปปส.คือกลุ่มเดียวกันหรือไม่? แต่ก็มีความพยายามสื่อสารกับสังคมว่าทั้งสองกลุ่มไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นเมื่อนายอภิสิทธิ์พูดยอมรับเช่นนี้ จะเท่ากับเป็นการสารภาพคำโตหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้คนไทยอยากออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ใครขัดขวางการเลือกตั้งในปี 2557 วันนี้สารภาพแบบนี้ สังคมน่าจะมองภาพออกและเข้าใจมากขึ้น การที่พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้ง แล้ว กปปส. ก่อจลาจลขัดขวางการเลือกตั้ง มีเจตนา แยกกันเดิน รวมกันตี แบ่งงานกันทำเป็นกระบวนการหรือไม่? รวมถึงต้องตั้งคำถามว่า การที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ไปเข้าร่วมกับ กปปส. ชัตดาวน์ประเทศ ปิดกระทรวงการคลัง ธนาคารรัฐ เพื่อไม่ให้สามารถจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว จนเป็นเหตุของการทำรัฐประหารนั้น จะร่วมกันรับผิดชอบอย่างไร? เป็นทฤษฎีสมคบคิด ที่มีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ดำเนินยุทธวิธีสร้างความวุ่นวายอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การก่อรัฐประหารหรือไม่? การระบุอย่างชัดเจนว่าเลือกตั้งครั้งหน้า กปปส. จะกลับมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเดิมนั้น บ้านเมืองเรามาถึงจุดนี้ จุดที่เกิดความเสียหายจากการที่ประชาธิปไตยถูกเว้นวรรค เกิดขึ้นเพราะคนกลุ่มใด? ขณะนี้ประชาชนต้องการกำหนดอนาคตของตัวเองผ่านการเลือกตั้ง หวังว่าจะไม่มีกระบวนการขัดขวางการเลือกตั้งใดๆเกิดขึ้นอีก และช่วยตรวจสอบด้วยว่าคดีความของ กปปส. ดำเนินการถึงขั้นใด แตกต่างจากการดำเนินคดีของฝ่ายอื่นหรือไม่?"

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"วิม" ไล่ส่ง "กรณ์-วรงค์" ซื้อแพง-ยืนยัน "ยิ่งลักษณ์" ขายข้าวช่วยชาวนาเดือดร้อน


นายวิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซื้อข้าวสารและข้าวเปลือกจากชาวนามาขาย เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวนาแต่กลับถูกโจมตีว่ากดราคา หากคุณกรณ์และคุณวรงค์ซื้อได้แพงกว่านี้ก็ช่วย ไปซื้อหน่อยครับ เพราะชาวนาอีสานทุกคนรออยู่"


"นิยม" ยัน "ยิ่งลักษณ์" ซื้อข้าวตามราคาตลาด-ชาวนามีกำไร ถามกลับ "วรงค์" กลัวเสียผลประโยชน์?


วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2559) นายนิยม ช่างพินิจ อดีตส.ส.จังหวัดพิษณุโลก พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่พยายามสร้างวาทะกรรมว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซื้อข้าวจากชาวนาราคาถูกและกดราคาว่า สิ่งที่นายกฯยิ่งลักษณ์ทำคือทำด้วยหัวใจ เป็นเพียงส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่ต้องการช่วยชาวนาที่ประสบกับภาวะราคาข้าวตกต่ำ ภายใต้ศักยภาพที่สามารถทำได้ในสถานการณ์เช่นนี้  คงไม่มีใครจะใจร้ายเหมือนนายวรงค์อีกแล้วที่คิดเช่นนี้ เอาข้อมูลมาพูดและบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างหน้าไม่อาย ซึ่งสิ่งที่นายกฯยิ่งลักษณ์ได้ดำเนินการคือ

1.  นายกฯยิ่งลักษณ์ ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ราคากิโลละ 12 บาท ไม่ต่ำกว่าราคาตลาดอย่างแน่นอน เพราะราคาท่ีชาวนาขายได้ในพื้นท่ีหลังจากตากแห้งแล้วกิโลกรัมละ 7.50 บาท เมื่อนำมาสีแปรเป็นข้าวสารจะได้ประมาน 600 กิโลกรัม คิดกลับเป็นข้าวสารจะอยู่ที่กิโลละ 20บาท เท่ากับราคาที่ชาวนาวางขายเองในต่างจังหวัด

2. สิ่งที่นายกฯยิ่งลักษณ์ดำเนินการนั้น มีจิตอาสามาช่วยแพ็คข้าว และช่วยชาวนาเรื่องค่าขนส่ง จึงไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด เป็นการช่วยทั้งคนซื้อข้าวไปบริโภคและคนขายคือชาวนาไปในคราวเดียวกัน

3.  ข้าวที่นำมาขาย เป็นข้าวที่ไม่ได้คัดเกรดจึงเป็นข้าวที่ขายตามสภาพ ซึ่งจะมีข้าวหักผสมอยู่บ้างจึงเทียบไม่ได้กับข้าวที่บรรจุถุงที่จำหน่ายทั่วไป ดังนั้นวิธีนี้จึงเป็นขายที่ให้ราคายุติธรรม ตั้งแต่ชาวนาขายมีกำไร แต่ลดต้นทุนในส่วนกลางทางและปลายทาง

4.  ปริมาณที่ขายมีน้อยมากไม่กี่สิบตัน เทียบไม่ได้กับปริมาณข้าวทั้งตลาดที่ฤดูกาลนี้จะมีผลผลิตออกมาเกือบ 30 ล้านตัน

นายนิยมยังถามกลับนายวรงค์ว่า ที่มุ่งโจมตีแต่เรื่องนี้เป็นเพราะว่ากลัวพรรคพวกตัวเองที่ทำธุรกิจค้าข้าวจะเสียผลประโยชน์ใช่หรือไม่? ซึ่งการโจมตีโดยไม่คิดทำอะไรเลยในการที่จะช่วยชาวนาในยามที่พวกเขาเดือดร้อน สำนวนที่ชาวบ้านเขาใช้กันมานานก็คือ “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” ซึ่งก็ได้แต่สงสารพี่น้องชาวนาจังหวัดพิษณุโลก