วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย-มูลนิธิคอนราดฯ" จัดเสวนา Local governance in 2020: experience from Germany

สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) และมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (KAS) ร่วมกันจัดการสัมมนา หัวข้อ “Local governance in 2020 : experience from Germany” โดยมี Dr. Céline-Agathe Caro Head of the KAS office in Thailand , นายจาตรุนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี , Mayor Prof.Dr. Eckart Würzner Mayor of the City of Heidelberg , ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา , ผศ.ชาญณวุฒ ไชยรักษา อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร , ดร.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และสื่อมวลชน และอาจารย์พองาม เหลี่ยมศิริวัฒนา วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมเป็นวิทยากร ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยที่ประชุมได้ชี้ให้เห็นปัญหาการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจของประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการตัวเองและประชาชนเสียโอกาส

ท้องถิ่นเข้มแข็ง คือกำลังสำคัญฝ่าวิกฤต

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวว่า มาสังคมไทยมีการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมานาน และได้ยินเรื่องการเรียกร้องเรื่องนี้มานานหลายสิบปี ซึ่งน่าแปลกใจมากที่ปัจจุบันนี้ก็ยังมีการเรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอยู่ และที่สำคัญ 5-6 ปีที่ผ่านมาองค์กรปกครองท้องถิ่นของไทยถือว่าแทบจะไม่สามารถกำหนดอะไรเองได้เลย เพราะจะทุกอย่างจะถูกกำหนดมาจากรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่นทำได้เพียงแต่สิ่งที่รัฐบาลสั่งมาเท่านั้น แม้บางท้องถิ่นอาจอยากแก้ไขปัญหาตัวเอง อยากส่งเสริมการศึกษาในท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพคนในท้องถิ่น แต่บางครั้งจะเห็นได้ว่าส่วนกลางกลับมีการสั่งให้ใช้งบประมาณไปอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ตอบสนองความต้องการหรือปัญหาแต่ละท้องถิ่นเลย เช่น บางครั้งสั่งให้ใช้งบประมาณเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งๆที่ท้องถิ่นบางแห่งในพื้นที่อาจจะไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวเลย ขณะที่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกาหรือยุโรป และที่เยอรมัน ที่ได้ได้มีการแบ่งปันประสบการณ์กับเรานั้นจะเห็นได้ว่า ท้องถิ่นมีบทบาทมาก สามารถมีอำนาจตัดสินใจแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ 

"การกระจายอำนาจเป็นเรื่องใหญ่มากของประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต ที่ต้องเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 หากท้องถิ่นเข้มแข็งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการผ่าวิกฤต เช่นเดียวกันหากเรายังปล่อยเป็นไปในลักษณะเช่นนี้ประเทศก็จะเสียหายและเสียประโยชน์อย่างมากเช่นกัน"

ท้องถิ่นไทยถูกสกัดกั้นการเติบโต

ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่า ปัญหาการเติบโตของท้องถิ่นไทยที่มีปัญหาอย่างมากในระยะหลัง เป็นเพราะการเมืองระดับท้องถิ่นของไทยมักจะถูกตัดตอนเป็นระยะๆ อยู่ตลอดเวลา จนทำให้ไม่สามารถเติบโตและเข้มแข็งได้ โดยเฉพาะที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ก็มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแช่แข็งองค์กรบริหารงานท้องถิ่นยาวนาน ทั้งๆ ที่การเมืองท้องถิ่นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติ แต่กลับเป็นกลุ่มหนึ่งที่โดนคำสั่งล็อกไว้ยาวนาน อีกทั้งเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แล้ว กลับยังไม่เร่งคลายล็อกให้กับท้องถิ่นจากคำสั่งที่คณะรัฐประหารสั่งล็อกเอาไว้ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยควรที่จะต้องเริ่มต้นจากท้องถิ่นก่อนเป็นอันดับแรก

การมีส่วนร่วมของพลเมืองท้องถิ่น คือกุญแจสำคัญ

ผศ.ชาญณวุฒ ไชยรักษา อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ท้องถิ่นแข็งแรง คือจะต้องส่งเสริมให้พลเมืองท้องถิ่นที่มีความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นให้มากที่สุด โดยเฉพาะการร่วมกันแก้ปัญหาต่างในท้องถิ่น ในส่วนที่องค์กรปกรองท้องถิ่นยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีพอ รวมทั้งส่งเสริมให้พลเมืองท้องถิ่นสนใจในปัญหาสาธารณะระดับชาติหรือระดับโลก ในมิติการตรวจสอบการบริหารงานของท้องถิ่นนั้น แม้การเมืองระดับท้องถิ่นจะแตกต่างกับการเมืองระดับชาติ ที่อาจจะมีกลุ่มต่างๆ รวมทั้งฝ่ายค้านติดตามตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารอยู่เป็นตลอดเวลา แต่ในส่วนของท้องถิ่นอาจจะไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยตรง แต่การตรวจสอบจะเกิดขึ้นในส่วนของภาคประชาชนในชุมชนท้องถิ่นเอง และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่และทุกเวลา เนื่องจากนักการเมืองท้องถิ่นกับพลเมืองในท้องถิ่นนั้นๆ มีความใกล้ชิดกันมากและสามารถพบเจอกันได้ตลอดเวลา





































"ทวี" แนะรัฐลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสิทธิเท่าเทียม-มุ่งสู่รัฐสวัสดิการ

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จัดงาน “มหกรรมรัฐธรรมนูญใหม่สู่รัฐสวัสดิการ: ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ รัฐสวัสดิการ” ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการเสวนา “ความเป็นไปได้ของการจัดสรรงบประมาณในประเทศเพื่อจัดรัฐสวัสดิการ” นำโดย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ และนายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ดำเนินรายการโดย นางสาวหทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด ทั้งนี้มีประชาชนเข้าร่วมงานเสวนาเป็นจำนวนมาก ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุว่า “วันนี้คิดว่ามีความเป็นไปได้ของรัฐสวัสดิการ แต่ก่อนที่จะถึงเรื่องความเป็นไปได้นั้น ก็มีความยาก ความท้าทาย เพราะการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย เพราะเราถือรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งคือรัฐธรรมนูญต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นต้องยอมรับว่าเมื่อเป็นรัฐธรรมนูญนิยมจะมีการแย่งชิงผลประโยชน์ ซึ่งประเทศไทยนั้นมี 4 รัฐมาโดยตลอด คือ 1.รัฐประหาร 2.รัฐธรรมนูญ 3.รัฐสภา 4.รัฐบาล แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังมีรัฐอิสระที่คอยจัดการตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มาตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชนแต่มีอำนาจมาก”

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีเรื่องของรัฐสวัสดิการ แต่เป็นเรื่องของการสงเคราะห์ทุกอย่าง อย่างเช่น เรื่องของผู้สูงอายุ ที่ต้องมีการไปพิสูจน์ความยากจนพิสูจน์ความยากไร้ ต้องทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเมื่อมาดูในเรื่องของงบประมาณแทบจะไม่มีทางออก เพราะการจัดตั้งงบประมาณจะต้องยึดตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ดังนั้นการแก้ความเหลื่อมล้ำวันนี้ไม่ต้องแก้อะไรมาก เพียงแต่ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์เสมอกัน นั่นก็คือรัฐสวัสดิการ ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญที่จะต้องเขียนให้ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน”

“ปัจจุบันยังมีรัฐประหารเงียบอยู่ด้วย คือในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในระบบประชาธิปไตย อำนาจบริหารนั้นจะต้องยึดโยงกับประชาชน โดยประชาชนจะต้องสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านระบบตัวแทนได้ แต่วันนี้มีรัฐประหารเงียบทำให้ให้ประชาชนไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้” 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวในช่วงท้ายว่า "มีงานเฉพาะด้าน อยากจะฝากอาจารย์เดชรัตน์กับทุกคน คือตอนนี้มีการจัดตั้งงบประมาณปี 2565 การจัดทำงบประมาณครั้งนี้อยากให้ภาคประชาชนเข้าไป โดยเฉพาะสิ้นเดือนนี้พอเดือนมกราคมก็เสร็จ เราจะทำยังไงวันนี้ถ้าเราเอาแต่ปฏิรูปกองทัพหรือจะทำให้กองทัพเล็กลง เราต้องเดินไปหยุดงบประมาณแบบประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกอันคือเราคงไม่ใช่มองแค่เราจะเก็บเงินเข้าเป็นภาษีมาบริหาร เพราะวันนี้คนกังวลว่าพอเก็บมาแล้วมันไม่ได้ย้อนกลับไปที่ประชาชน เช่น ปีนี้เราเพิ่มงบจากปีที่แล้วมาหนึ่งแสนล้านบาท 80% เพิ่มไปยังข้าราชการ ส่วนอีก 20% ไปยังประชาชน ถ้าเราเสียภาษีไปแล้วมันไม่ย้อนกลับมาหาประชาชน และสิ่งหนึ่งที่ท่านพิธาพูดคือ ผมได้ตั้งข้อสังเกตกับผู้ว่าแบงก์ชาติไปว่า ครั้งนี้ทำไมดอกเบี้ยเงินฝากประชาชนแค่ 1.5% แต่สินเชื่อส่วนบุคคล 25% แล้วเขาออกระเบียบว่าก่อน 28% ท่านไปยกค่าธรรมเนียม อันนี้ประเทศไทยเรามันสูงมาก เราจึงเห็นธนาคารรวยแล้วรวยอีก แม้แต่ธนาคารของรัฐที่จะเข้ามาทำตามนโยบายก็รวย สิ่งต่างๆพวกนี้มันเป็นการเอาเปรียบประชาชน คือ ดอกเบี้ยเป็นมะเร็งร้ายของชีวิตไปตลอดชีวิต แล้วอีกอย่างหนึ่งรัฐต้องมาดูเรื่องลดค่าใช้จ่าย เช่นค่าไฟน่าจะลดอีกซักครึ่งหนึ่ง วันนี้เรายอมให้นายทุนยอมให้เอกชนขายไฟราคามาแพงมาให้รัฐ ทั้งที่กฎหมายบอกว่า เอกชนจะต้องไม่เกิน 50% วันนี้เกือบ 70% แล้ว ไปซื้อไฟกับเอกชนบางที 11 บาท รวมค่าต่างๆ ราคาต้นทุนเขา 1 บาทกว่าๆเอง แล้วมาเก็บกับประชาชน 4 บาท ผมคิดว่าประชาชนต้องมีเวที เราจะสู้กับรัฐบาลต้องสู้ด้วยความรู้ อย่าสู้ด้วยอารมณ์"

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"เผ่าภูมิ" แนะรัฐกระตุ้นอุปสงค์ข้าวในประเทศ

“ศูนย์นโยบายเพื่อไทย” แนะกระตุ้นอุปสงค์ข้าวในประเทศ ปรับอุปทานให้ตรงความต้องการโลก เพื่อแก้ราคาข้าวตกต่ำ

ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ นายยุ้ง จักรไพศาล กรรมการศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทย แถลงคำแถลงคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย โดยศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย ดังนี้

สถานการณ์ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะข้าวในปัจจุบันได้สร้างความทุกข์ยากแก่พี่น้องเกษตรกรอย่างแสนสาหัส โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร เกิดการกักตุนอาหาร (Panic Buying) โดยเฉพาะข้าว นำไปสู่การเคลื่อนย้ายของความต้องการข้าวจากช่วงปลายปีมาอยู่ช่วงกลางปี อุปสงค์เดิมช่วงปลายปีจึงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่อุปทานส่วนเกินเข้าสู่ตลาดในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดจำนวนมาก จึงเกิดแรงกดดันด้านราคาและปริมาณการส่งออกสุทธิ

ข้าวไทยยังมีราคาสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง (ข้าวขาวเวียดนามถูกกว่า 30-80 USD/ตัน) ปัจจัยหลักเกิดจากผลิตภาพหรือผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำของข้าวไทย ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า อีกทั้งข้าวไทยยังไม่ตรงกับความต้องการตลาดโลก ข้าวขาวพื้นแข็งซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 45-50 เป็นตลาดระดับล่าง มีการแข่งขันสูง ผู้เล่นในตลาดมาก ราคาแปรผันสูง และพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดล่างเปลี่ยนไป หันไปบริโภคข้าวที่มีโภชนาการและคุณภาพมากขึ้น แต่ราคาที่ไม่สูงนัก จึงนำมาสู่ความนิยมข้าวขาวพื้นนุ่ม ซึ่งเป็นจุดแข็งของเวียดนาม และเป็นจุดอ่อนของไทย ไทยยังละเลยการลงทุนเพื่อการพัฒนาพันธุ์ข้าว ในขณะที่เวียดนามและกัมพูชาที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่มอย่างต่อเนื่อง กอปรกับปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ข้าวไทยจึงเสียความสามารถในการแข่งขัน ปัจจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้นทำให้อุปทานข้าวไทย ไม่สอดคล้องและไม่ตรงกับความต้องการของตลาดโลก ส่งผลให้ราคาข้าวไทยตกต่ำ และมีส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลงเรื่อยๆ

ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยเห็นว่า ในระยะสั้นการสนับสนุนด้านราคาฝั่งอุปทานผ่านมาตรการต่างๆยังมีความจำเป็น และต้องกระทำโดยรวดเร็วในราคาที่เป็นธรรม เพื่อลดความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร แต่ทั้งนี้เห็นว่ามาตรการประกันราคาข้าว ไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของสินค้าการเกษตร เพราะไม่ได้ช่วยเรื่องการพัฒนาผลิตภาพและโครงสร้างการผลิตแต่อย่างใด ทั้งนี้ในระยะกลาง-ยาวนั้น ราคาข้าว เหมือนราคาสินค้าทุกชนิดที่ถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน เพราะฉะนั้นต้องแก้ไขที่ต้นตออุปสงค์และอุปทาน ซึ่งศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยเห็นว่าสามารถทำได้ใน 2 แนวทาง ได้แก่

1) การเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศอยู่นอกเหนือการควบคุม แต่สำหรับตลาดในประเทศ (สัดส่วนประมาณ 53%) นั้นสามารถกระทำได้ ปัจจุบันคนไทยบริโภคข้าวอยู่ที่ 83 กิโลกรัมต่อปีต่อคน ลดลงจาก 90-100 กิโลกรัมต่อปีต่อคนในปีก่อนหน้า กอปรกับสถานการณ์โควิด-19 และการไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ความต้องบริโภคข้าวในประเทศลดลงมาก การกระตุ้นการบริโภคข้าวไทยภายในประเทศ สามารถทำได้ผ่านมาตรการสร้างแรงจูงใจผ่านมาตรการทางภาษี และมาตรการทางการคลังฝั่งอุปสงค์ โดยสนับสนุนด้านราคาฝั่งผู้บริโภค สร้างอุปสงค์ส่วนเพิ่มขึ้นมารองรับอุปทานส่วนเกินที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดรายจ่ายการบริโภคของประชาชน และยังไม่เป็นการสร้างอุปทานเทียมที่เกิดจากการสนับสนุนด้านราคาฝั่งอุปทานอีกด้วย

2) การปรับอุปทานให้สอดคล้องอุปสงค์ที่มีอยู่ ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยเห็นว่าความต้องการข้าวในตลาดโลกนั้นยังคงดำรงอยู่ไม่ได้หายไป เพียงแต่ได้เปลี่ยนรูปแบบไป และไทยปรับตัวไม่ทัน เพราะมีโครงสร้างอุปทานข้าวไม่ตรงกับอุปสงค์โลก ข้าวประเภทที่ตลาดโลกต้องการไทยยังผลิตไม่ได้เพียงพอ และในส่วนที่ข้าวประเภทที่มีการแข่งขันสูง ประเทศไทยก็เสียเปรียบด้านราคาจากผลิตภาพที่ต่ำ จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวโดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่มที่มีแนวโน้มสดใสในตลอดโลก และยังต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้กับข้าวขาวพื้นแข็งและข้าวหอมมะลิ โดยไม่เพิ่มพื้นที่การผลิต รวมถึงเห็นว่าควรดำเนินมาตรการในลักษณะกองทุนเปลี่ยนหน้าดินที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตให้ตรงกับความต้องการตลาดโลก รวมถึงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เกษตรแม่นยำ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างเสถียรภาพของปัจจัยการผลิตข้าว และปรับนโยบายการเงินที่มุ่งชิงความได้เปรียบด้านราคาผ่านอัตราแลกเปลี่ยน

"สุดารัตน์" ห่วงชาวนา-เกษตรกร ร้องเรียนไม่ได้รับเงินประกันราคาข้าว

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ขอรายงานผลการติดตาม “เงินประกันราคาข้าว”

มีผู้แจ้งว่า ยังไม่ได้รับเงินประกันราคาข้าวเมื่อวานเพิ่มอีก 52  ราย

โดยเช้านี้ดิฉันได้ทำหนังสือแจ้งไปยังท่านนายกรัฐมนตรี ผ่านกระทรวงพาณิชย์ เพื่อติดตามเงินประกันราคาข้าว ตามที่พี่น้องร้องเรียนมาแล้วค่ะ

ที่ได้รับแจ้งกลับมาว่า นายอำเภอได้เข้าไปสำรวจเมื่อวานแล้ว คือ ที่บ้านหนองแก ตำบลลานสะแก อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ขอขอบคุณท่านนายอำเภอแทนพี่น้องประชาชนด้วยค่ะ​ และขอให้ช่วยเร่งรัดการจ่ายเงินให้ด้วยนะคะ​

ร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อพี่น้องเกษตรกรกันนะคะ

ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกรทุกท่านค่ะ



"หมอกิตติศักดิ์" ท้า “ประยุทธ์” ยุบสภาฯ อัดปรองดองแค่ซื้อเวลาหลอกประชาชน

“หมอกิตติศักดิ์” ท้า “ประยุทธ์” ยุบสภาถ้าคิดว่าประชาชนรัก อัดปรองดองรัฐเล่นเกมซื้อเวลาหลอกประชาชนของรัฐบาล

นายแพทย์ กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่มีการตั้งขึ้นมา หากมองที่ความตั้งใจก็ยอมรับในระดับหนึ่ง แต่ด้วยกรอบการการทำงานคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่เพราะติดเงื่อนไขที่รัฐบาลไม่เอาด้วย เพราะรัฐบาลไม่เคยแสดงความจริงใจ ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมามีการให้ข่าวโจมตี กลุ่มผู้ชุมนุมว่ากระแสตก  ในขณะที่รัฐบาลก็เล่นเกมหลอกประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่แม้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อเดินหน้า แต่เป็นการตั้งเพราะไม่มีทางเลือกมากกว่า  ไม่ได้มาจากความตั้งใจของรัฐบาลแต่อย่างใด

นายแพทย์ กิตติศักดิ์  กล่าวด้วยว่า รัฐบาลพยายามสร้างความได้เปรียบของอำนาจรัฐ เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา ทั้งการใช้กฎหมายปิดปาก การคุกคามประชาชนที่เห็นต่าง  เป็นสิ่งบ่งชี้ว่ารัฐบาล โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่มีความจริงใจ ที่จะทำงานเพื่อประชาชนย่างแท้จริง รวมทั้งพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัว ยึดติดอำนาจและคิดถึงตัวเองมีมากกว่าคิดถึงประชาชน

“การออกมาเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออกนั้น เพราะประชาชนไม่ยอมรับ ประกอบกับการเข้าสู่อำนาจของพลเอกประยุทธ์ไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย ดังนั้นหากพลเอกประยุทธ์คิดว่าตัวเองดีจริง และประชาชนรักตามที่พูดมาเสมอ ควรเร่งแก้รัฐธรรมนูญ แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ หากพลเอกประยุทธ์ชนะใจประชาชนกลับมาเป็นนายกอีกครั้ง เชื่อว่าถึงวันนั้นประชาชนยอมรับท่านแน่” นายแพทย์ กิตติศักดิ์ กล่าว

“พิชัย” เตือน “ประยุทธ์” หากคิดสืบทอดอำนาจ เศรษฐกิจจะยิ่งทรุด

“พิชัย” เตือน “ประยุทธ์” อย่าตุกติกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ส.ส.ร ต้องมาจากประชาชนทั้งหมด ไม่เอาแต่งตั้ง ชี้หากยังคิดสืบทอดอำนาจ เศรษฐกิจจะยิ่งทรุด แนะ ต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นยุ่งแน่ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตามที่รัฐสภาได้มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) จึงอยากขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ได้มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อย่าหมกเม็ดสืบทอดอำนาจเหมือนรัฐธรรมนูญเดิมที่ต้องมาแก้ไขกันใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อได้ และเป็นที่เชื่อถือของคนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังจะเป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่มีความไม่สงบอยู่ในปัจจุบัน ที่ปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหารัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ และมี ส.ว. 250 คน แต่งตั้งเองโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนี้

ปัญหารัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจนี้ เป็นประเด็นที่สื่อหลักต่างประเทศโจมตีอย่างหนัก ซึ่งทำให้การค้าการลงทุนของไทยยังคงย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการปฏิวัติรัฐประหารมากว่า 6 ปีแล้ว เพราะถึงแม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว ประชาคมโลกก็ยังคงไม่เชื่อถือประเทศไทย สาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญนี้และทำให้เกิดรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจทั้งๆที่พรรค พปชร. แพ้การเลือกตั้งได้ สส น้อยกว่า แต่ก็ตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจได้ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นสากลเพื่อสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน และควรจะแก้ไขให้เสร็จโดยเร็ว 

ประเด็นสำคัญคือ แนวทางการสรรหาและคัดสรร สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) ที่มีจำนวน 200 คน จะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด จะต้องไม่มาจากการแต่งตั้งเลย เหมือนที่ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลที่จะเสนอให้มีการแต่งตั้ง 50 คน เพราะจะไม่ต่างอะไรกับการแต่งตั้ง สว. 250 คน ที่กำลังถูกโจมตีอยู่ ถ้ายังขนาดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะไม่ให้มีการแต่งตั้งแล้วยังจะมีการแต่งตั้ง ส.ส.ร ก็จะเป็นแนวทางที่ผิดซ้ำซ้อน และจะไม่ได้รับการเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจะย่ิงทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้นไม่ใช่น้อยลง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ต้องขอยกเครดิตให้กับการชุมนุมของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะ นักศึกษา และ นักเรียน ที่ช่วยกันผลักดันจนเป็นกระแสสังคมจนรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์จำต้องยอมเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถ้าหากมีการตุกติกหรือตั้งใจบิดเบือน หรือ แม้แต่การถ่วงเวลา ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง จะยิ่งแย่ลงไปอีก ดังนั้นรัฐบาล และ พลเอกประยุทธ์จะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปร่งใส ชัดเจน และ ตรวจสอบได้ โดยไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝงเพราะประชาชนทั้งประเทศกำลังจับตาอยู่ และ อยากเห็นทางออกที่ถูกต้องของประเทศนี้ โดยไม่เกิดความวุ่นวายและไม่อยากให้เกิดการบาดเจ็บ เสียเลือดเสียเนื้อกันอีกแล้ว

"ทวี" ติงรัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.หอการค้า เพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม

"พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง" ตั้งข้อสังเกต รัฐบาลเสนอ ร่าง พ.ร.บ.หอการค้า อาจยิ่งเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมมากยิ่งขึ้น

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 วาระที่รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.หอการค้า โดยพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ตั้งข้อสังเกตฝากประเด็นให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ ช่วยแก้ไขให้สร้างความสมดุลย์ที่เกิดประโยชน์ต่อปวงชน และไม่ตอกย้ำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนมากยึ่งขึ้น 

“เราจะเห็นว่ากลุ่มรายชื่อกรรมการที่มาอยู่ในหอการค้าจะเป็นบริษัทหรือคนมีฐานะร่ำรวยในระดับต้นๆของประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่ากฎหมายลักษณะนี้สร้างความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น มีผลประโยชน์จากสถานะผู้นำองค์กรได้สิทธิบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ได้กล่าวถึงในกฏหมายนี้ เช่นมีกฎหมายหลายฉบับที่ให้เข้าเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง เช่น กฎหมายพัฒนาใหญ่ๆ จะใช้ช่องทางของประธานหอการค้า ประธานอุตสาหกรรม เข้าไปเป็นกรรมการ อาทิ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี จะเห็นว่า ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานอุตสาหกรรม ได้เข้าเป็นกรรมการ ในขณะที่ประชาชนพลเมืองในพื่นที่3 จังหวัดของภาคตะวันออก(ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) ไม่มีใครได้เป็นกรรมการเลย ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมา ไม่มีใครได้กำหนดชะตาชีวิตการพัฒนาในพื้นที่ของตนเองเลย แต่ประธานหอการค้าไทยหรือประธานอุตสาหกรรมจะมีโอกาสเข้าไปกำกับดูแล และต้องยอมรับว่าเมื่อมีการพัฒนาจะต้องมีการนำทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรที่เป็นทุนชีวิตของประชาชนถูกนำไปประเคนให้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ แทนที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น”

“ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำจนต้องยอมรับว่ามีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากยิ่งขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการจะเป็นลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งตนเองก็มีบริษัทอยู่เบื้องหลัง ได้รู้เห็นงบประมาณในการพัฒนา และทรัพยากรที่นำไปสู่การพัฒนา แล้วก็นำบริษัทของตนเองเข้าไปได้ประโยชน์ เราจะเห็นได้ว่าโรงงานอุตสาหกรรม เช่นโรงงานน้ำตาล จาก อ้อย คนกลุ่มนี้จะแฝงตัวเข้ามาในบทบาทของสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมด้วย”

“อีกประการหนึ่งในร่าง พรบ น่าตกใจมาก ในการแก้ให้หอการค้าออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เรื่องนี้สำคัญมาก Free Trade Agreement (FTA) ถ้ามีของผลิตในเมืองไทยประมาณ 40% ประเทศคู่ค้าเราก็ไม่ต้องเสียภาษี ทำไมไม่ให้กรมการค้าต่างประเทศหรือราชการ เป็นผู้รับรอง เพราะหากให้คนกลุ่มนี้มารับรองทางการค้า พวกเขาไม่ได้เป็นผู้มีวิชาชีพ แต่มีอาชีพ วิชาชีพหมายถึงการมีศีลธรรมจรรยาเข้าไปกำกับ ส่วนอาชีพจะมีกำไร กำไร กำไร จึงขอตั้งข้อสังเกตต่อคณะกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้น กฎหมายลักษณะนี้จะเป็นกฎหมายที่จะทำให้คนที่อยู่ระดับล่างไม่มีโอกาสได้เข้ามา จึงขอฝากไว้”

นอกจากนี้ พันตำรวจเอก ทวี กล่าวอีกว่า “พรรคประชาชาติเป็นพรรคเล็กที่มี ส.ส. จำนวน 6 คน เมื่อตั้งกรรมาธิการแล้วก็จะไม่ได้เป็นกรรมาธิการ ความจริงแล้วเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ เมื่อเป็นปัญหาของประเทศน่าจะเปิดโอกาสให้มีกรรมาธิการมากกว่า 25 คน”












วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ : เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy)

ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (Instiutute of Democratization Studies : iDS) เผยแพร่ทัศนะต่อ เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy) ผ่านแฟนเพจ https://www.facebook.com/IDS.inThailand/ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy) เป็นการแสวงหาจุดสมดุลและแก้ไขปัญหาของสองแนวทางหลักในระบบเศรษฐกิจ คือ “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม” ที่ไม่ก่อให้การแข่งขันอย่างเสรีหรือแข่งขันแล้วเกิดการผูกขาดความมั่งคั่งและทรัพยากรของทุนขนาดใหญ่ที่ได้เปรียบ จนรัฐจะต้องมีบทบาทเข้ามาแทรกแซง กับ “ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม” ที่จัดสวัสดิการดูแลประชาชน ถึงในระดับจนคนเฉื่อยชาไม่มีผลงานและไม่มีนวัตกรรม เพราะขาดเสรีภาพและแรงจูงใจในการถือครองทรัพย์สิน

เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม จึงเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายคือ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสวัสดิการทางสังคม สำหรับคนทุกกลุ่มในประเทศ ซึ่งจะต้องอยู่บนหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ

1. เสรีภาพ และ ความรับผิดชอบต่อสังคม

2. ความเป็นธรรมทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ให้รางวัลตอบแทนตามผลงาน ที่จะต้องมีเงื่อนไขพื้นฐานคือ ระบบกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป มีความเชื่อถือได้ และที่ชอบด้วยในระบบประชาธิปไตย 

โดยนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศสหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี ได้นำแนวทางดังกล่าวมาใช้ ที่สามารถจำแนกออกเป็นหลักในการปฏิบัติของผู้มีหน้าที่ในสังคมดังนี้

• ผู้ประกอบการ: เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่มีหน้าที่ต่อสาธารณชนและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสาธารณชน/สาธารณสมบัติ

• ปัจเจกบุคคล: ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง อยู่บนหลักของผลงาน (performance)

• รัฐ: จัดระบบกฏหมายที่เอื้อต่อการแข่งขัน การจัดสวัสดิการและระบบสนับสนุนช่วยเหลือให้ประชาชนดูแลตนเองได้ กระจายอำนาจในการแก้ปัญหาไปยังจุดย่อยที่สุด ที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

ความสำเร็จของการนำแนวทางเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคมไปใช้นั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของ ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เห็นทิศทางร่วมกันที่จะปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและมุ่งสู่ความมั่งคั่งยั่งยืนของคนในสังคม สำหรับประเทศไทยแล้วก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ตัวแบบเศรษฐกิจจากประเทศสหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างความเป็นธรรมต่อไป

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย-มูลนิธิคอนราดฯ" จัดเสวนา “Social Market Economy - Principles and Experiences from Germany”

สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) และ มูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ (KAS) จัดงานสัมมนา “Social Market Economy- Principles and Experiences from Germany” กล่าวเปิดการสัมมนา โดย Dr. Céline-Agathe Caro , Head of the KAS office in Thailand โดยมี นายจาตรุนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี รศ.ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ Mr. Martin Schebesta KAS Expert on Regulatory Policy, Social Market Economy, and Political Economy [Via Zoom Application] ร่วมเป็นวิทยากร และ ดร.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และสื่อมวลชน เป็นผู้ดำเนินรายการ งานจัดขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ระหว่างเวลา 14.30 – 17.30 น. ณ โรงแรมเดอะสุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ





นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) กล่าวในงานสัมมนา “Social Market Economy - Principles and Experiences from Germany” ว่า คอนเซ็ปของโซเชียลมาร์เก็ตอีโคโนมี มีความน่าสนใจที่หลายๆ อย่างสอดคล้องกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศไทย ทั้งเรื่องบทบาทของรัฐที่ต้องส่งเสริมให้มีการแข่งขัน ป้องกันการผูกขาดและการส่งเสริมด้านการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหา อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้จะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก แต่คนในประเทศกลับไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งเราจะต้องมาคิดกันว่าจะลดการผูกขาดและส่งเสริมรายเล็กรายน้อยอย่างไร รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่ถูกปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน นอกจากนี้เรื่องรัฐสวัสดิการก็กำลังเป็นเรื่องใหญ่และคนรุ่นใหม่จำนวนมากกำลังพูดถึงเรื่องนี้ ทั้งการดูแลคนที่ยากจน คนไม่มีรายได้และคนตกงาน ซึ่งกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่มากของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ระบบสวัสดิการของไทยดีและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องรีบหาคำตอบ ไม่เช่นนั้นเราจะฝ่าวิกฤติหลังโควิด-19 ไปอย่างทุลักทุเลและเสียหายอย่างมาก หากยังปรับตัวช้าและไม่จริงจัง ประเทศจะล้าหลังและจะก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้วช้าไปอีกหลายปี

ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) ระบุว่า เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy) เป็นการแสวงหาจุดสมดุลและแก้ไขปัญหาของสองแนวทางหลักในระบบเศรษฐกิจ คือ “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม” ที่ไม่ก่อให้การแข่งขันอย่างเสรีหรือแข่งขันแล้วเกิดการผูกขาดความมั่งคั่งและทรัพยากรของทุนขนาดใหญ่ที่ได้เปรียบ จนรัฐจะต้องมีบทบาทเข้ามาแทรกแซง กับ “ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม” ที่จัดสวัสดิการดูแลประชาชน ถึงในระดับจนคนเฉื่อยชาไม่มีผลงานและไม่มีนวัตกรรม เพราะขาดเสรีภาพและแรงจูงใจในการถือครองทรัพย์สิน

เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม จึงเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายคือ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสวัสดิการทางสังคม สำหรับคนทุกกลุ่มในประเทศ ซึ่งจะต้องอยู่บนหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ

1. เสรีภาพ และ ความรับผิดชอบต่อสังคม

2. ความเป็นธรรมทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ให้รางวัลตอบแทนตามผลงาน ที่จะต้องมีเงื่อนไขพื้นฐานคือ ระบบกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป มีความเชื่อถือได้ และที่ชอบด้วยในระบบประชาธิปไตย

โดยนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศสหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี ได้นำแนวทางดังกล่าวมาใช้ ที่สามารถจำแนกออกเป็นหลักในการปฏิบัติของผู้มีหน้าที่ในสังคมดังนี้

• ผู้ประกอบการ: เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่มีหน้าที่ต่อสาธารณชนและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสาธารณชน/สาธารณสมบัติ

• ปัจเจกบุคคล: ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง อยู่บนหลักของผลงาน (performance)

• รัฐ: จัดระบบกฏหมายที่เอื้อต่อการแข่งขัน การจัดสวัสดิการและระบบสนับสนุนช่วยเหลือให้ประชาชนดูแลตนเองได้ กระจายอำนาจในการแก้ปัญหาไปยังจุดย่อยที่สุด ที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

ความสำเร็จของการนำแนวทางเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคมไปใช้นั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของ ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เห็นทิศทางร่วมกันที่จะปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและมุ่งสู่ความมั่งคั่งยั่งยืนของคนในสังคม สำหรับประเทศไทยแล้วก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ตัวแบบเศรษฐกิจจากประเทศสหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างความเป็นธรรมต่อไป

นายอาจอง บิณศิรวานิช - นักธุรกิจผู้ขานรับแนวคิด “เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม” (Social Market Economy) ตอบโจทย์สู้ความเหลื่อมล้ำ- ต้านการผูกขาด ในฐานะผู้มาร่วมงาน ระบุว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 คือภาพสะท้อนที่เด่นชัดที่สุดของความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางไม่สามารถอยู่รอดได้ แต่กลุ่มทุนใหญ่สามารถอยู่ในระบบได้นาน ดังนั้นจากความเหลื่อมล้ำที่มี จนเกิดเป็นวิกฤตของประเทศ จึงจำเป็นที่รัฐต้องเข้ามาแทรกแซง เหตุที่รัฐจะต้องมีบทบาทเข้ามาแทรกแซง เป็นเพราะการแข่งขันอย่างไม่เสรี หรือการผูกขาดให้กับกลุ่มทุนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันและการพัฒนา และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมนี้นำมาสู่ปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และทรัพย์สินของประชาชน ยกตัวอย่างธุรกิจการบริการ เช่น มหาวิทยาลัย หรือในส่วนธุรกิจการผลิตสินค้า เช่น การผลิตสุรา, การผลิตเบียร์ ที่มีการตั้งเงื่อนไขให้ไว้สูงลิ่ว จนยากที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่จะเข้าสู่ตลาดแข่งขัน และยิ่งกลับเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการหน้าเดิมๆ เจ้าเดิมๆ

• การจัดตั้งมหาวิทยาลัย ที่มีเงื่อนไขต้องมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ เท่ากับการ “ผูกขาดมหาวิทยาลัย” ให้กับมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เดิมไม่เพียงกี่เจ้า ทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศเข้ามาเปิด (ร่วมมือ) ให้บริการความรู้ไม่ได้ จนไม่เกิดการแข่งขันหรือพัฒนาคุณภาพ ที่มีผลในการนำพาการสร้างรายได้จากต่างประเทศอย่างมหาศาล และผลของธุรกิจที่จะเกิดตามมาอีกมากมาย เช่น หอพัก ร้านอาหาร ซึ่งเป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง แข็งแรง ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

• การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่นชนิดสุราพิเศษ ประเภทวิสกี้ บั่นดี และ ยิน ข้อกำหนดคือต้องขนาดกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน เท่ากับการ ”ผูกขาดเหล้า” ให้กับผู้ผลิตหน้าเดิม ถ้าผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่จะเข้ามาผลิตวิสกี้ให้ได้ตามเกณฑ์นี้ การพัฒนาวิสกี้คุณภาพดีๆออกมาแข่งขัน เพื่อใช้สร้างรายได้ภายในประเทศ หรือส่งออกนั้น ก็แทบจะไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย

• หรือข้อกำหนดในการผลิตเบียร์ 10 ล้านลิตรต่อปี เท่ากับการ “ผูกขาดเบียร์” มีเบียร์ไทยให้เลือกไม่กี่เจ้า คุณภาพก็แบบที่เห็น ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศญี่ปุ่น กฎหมายการผลิตเบียร์ ในประเทศญี่ปุ่น เคยตั้งไว้สูงเหมือนประเทศไทย จะขอใบอนุญาติผลิตเบียร์นั้นต้องผลิตปีละ 2 ล้านลิตร ต่อมาภายหลัง มีการแก้กฎหมาย ให้เกณฑ์จากที่ต้อง 2 ล้านลิตร เหลือเพียง 60,000 ลิตร ทำให้ผู้ประกอบการใหม่ขออนุญาตผลิตเบียร์ในปีถัดมามากกว่า 200 โรง 

สร้างบรรยากาศการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จนเกิดการพัฒนาสินค้าต่างๆออกมาให้ผู้คนได้เลือก ผู้คนยินดีเดินทางข้ามจังหวัดไปดื่มเบียร์ท้องถิ่นที่หาได้เฉพาะโรงเท่านั้น และในปัจจุบันบันหลายยี่ห้อก็มีจำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อ โดยข้อดีของการปลดล็อค กฎหมายครั้งนี้ที่รัฐเอื้อการแข่งขันที่เป็นธรรม คือเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถประกอบกิจการได้ ผู้ผลิตหลายแห่งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ สร้างงานให้ท้องถิ่น เป็นการยกระดับสภาพชีวิตของสาธารณชน

จะเห็นได้ว่าหากนำ Social Market Economy มาปรับใช้ จะช่วยการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รัฐจัดระเบียบเพื่อสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม สำหรับคนทุกกลุ่มในประเทศ เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการผูกขาดความมั่งคั่งของกลุ่มทุน จะกระตุ้นส่งเสริมการแข่งขันในผู้ประกอบการระดับเล็กและกลาง หากยิ่งผู้ประกอบนี้มีมากเท่าไร ความแข็งแกร่งของ Social Market Economy จะมีมากขึ้นเท่านั้น เช่น ประเทศเยอรมัน หลังจากวิกฤต WWII ประเทศเยอรมันสามารถนำตนเองมาสู่การเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ระดับแนวหน้าของโลกในปัจจุบันนี้

นายณัฐวัฒน์ พอใช้ได้ ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวถึง ความท้าท้ายทางกฎหมายของไทย หากนำประเทศสู่เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม - Social Market Economy ว่า ที่ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าอุปสรรคที่แท้จริงอยู่ที่ตัวบทกฎหมายเพียงเท่านั้นหรือไม่? นั้น ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า Social Market Economy เป็นระบบเศรษฐกิจแบบระบบตลาดเสรี ซึ่งมีภาคเอกชนแข่งขันกันอยู่ในระบบที่ใช้กลไกของตลาด โดยมีรัฐบาลเป็นผู้กำกับที่เข้มแข็ง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นๆดำเนินไปตามกฎตามเกณฑ์ ที่ไม่มีใครเอาเปรียบใคร โดยรัฐต้องพยายามสร้างจุดเริ่มต้นอย่างเท่าเทียมกันให้กับพลเมืองทุกคน ผ่านนโยบายการศึกษา การสาธารณูปโภค และนโยบายสังคมอื่นๆ และเมื่อใดที่พลเมืองคนใดตกหล่นออกจากระบบ ด้วยเหตุใดๆก็ตาม รัฐจะต้องเข้าไปช่วย โอบอุ้ม คุ้มครอง และให้ความช่วยเหลือ จนทำให้คนๆนั้นกลับมายืนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคม และเพื่อให้ระบบตลาดเสรีดำเนินต่อไปได้ โดยระบบนี้เป็นระบบที่ประเทศเยอรมันตะวันตกนำมาใช้เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อบูรณะ และฟื้นฟูประเทศ ตั้งแต่ยุคของนายกรัฐมนตรี คอนราด อเดนาวร์ (1949 – 1963) ที่มี ลุดวิก แอร์ฮาร์ด เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ และยังคงใช้เรื่อยมาจนทุกวันนี้ 

เมื่อมองย้อนมาที่กฎหมายไทยที่ส่วนใหญ่เปิดช่องให้ผู้บังคับใช้กฎหมาย ใช้ดุลพินิจเสียเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจากกรณีล่าสุด การควบรวมกิจการของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งมีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่คอยกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมาย โดย “คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” มีอำนาจและหน้าที่ที่สำคัญ คือ เสนอแนะรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ประกาศกำหนดส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขายของธุรกิจใดเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าผู้ประกอบธุรกิจนั้นเข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พิจารณาเรื่องร้องเรียนในกรณีบุคคลใดอ้างว่าได้มีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.นี้ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บหรือนำสินค้าไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ หรือตรวจวิเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาด การรวมธุรกิจ และการจำกัดการแข่งขันทางการค้า พิจารณาดำเนินคดีอาญาตามที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ในกรณีได้รับความเสียหายจากการกระทำอันมีลักษณะผูกขาดทางการค้า

ซึ่งจากอำนาจ และหน้าที่ดังกล่าว ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า กรรมการเสียงข้างมากได้มีมติลงความเห็นว่า “การควบรวมกิจการดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็กจะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม”

เมื่อฟังแล้ว มติดังกล่าวเป็นอะไรที่ขัดแย้งกับความตั้งใจแต่แรกเริ่มเดิมที ที่ต้องการจัดให้มีร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่ว่า “เพื่อให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบอันจะเป็นการส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างเสรีและป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” 

ซึ่งที่สุดแล้วความท้าทาย อาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย แต่จะอยู่ที่ตัวผู้บังคับใช้กฎหมายต่างหาก" การที่สมดุลระหว่างภาครัฐกับเอกชน หรือระหว่างผู้กำกับ กับผู้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้หายไป เมื่อนักธุรกิจก้าวจากการเป็นผู้สนับสนุนนักการเมือง ไปเป็นนักการเมืองเสียเอง ส่งผลทำให้ธุรกิจเอกชน และอำนาจรัฐ รวมเข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน Social Market Economy จริงๆ ในประเทศไทยจึงประสบความสำเร็จได้ยาก แต่ถึงอย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายมาเพื่อควบคุมกลไกทางตลาดได้ในระดับนึง ความจริงใจในการแก้ไขกฎหมายของรัฐบาลจึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ Social Market Economy ในประเทศไทยเจริญเติบโต โดยสร้างความเป็นธรรมในการค้า การลงทุน เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีของภาคเอกชน ที่มีรัฐบาลเป็นกรรมการ ที่คอยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งรัฐบาลยังมีหน้าที่คอยตรวจสอบข้อกำหนด และตัวบทกฎหมายที่เป็นปัญหา และที่ล้าหลังเกินไป มาปรับปรุงแก้ไขให้ทันต่อประเด็น และปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

โดยจุดแรกที่จะต้องเริ่มปรับแก้อย่างเร่งด่วนก็คือ การใช้อำนาจของผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยต้องพยายามทำให้การใช้อำนาจในทางมิชอบของผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นทำได้ยากขึ้น โดยปิดประตูในเรื่องการใช้ดุลพินิจ และเพิ่มจำนวนของเสียงข้างมากในคณะกรรมการที่มีอำนาจตัดสินใจในการลงมติสำคัญ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นอย่างจริงแท้จริงในระบบการแข่งขัน ที่มีคณะกรรมการคอยตรวจสอบ ถ่วงดุล อย่างเข้มงวด แต่ในบางครั้ง ตัวบทกฎหมายที่ล้าหลัง หรือบังคับใช้มานานแล้ว ก็ควรมีการนำมาปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย อาทิเช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายแรงงาน กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายเกี่ยวกับการลงทุน เป็นต้น

ทางด้าน คุณพิราภรณ์ บุญเรือง เลขานุการ คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม แสดงความคิดเห็นในฐานะผู้ร่วมงานเสวนา ระบุว่า “Social Market Economy คือการเปิดเสรีการค้า การเข้าเป็นคู่สัญญา โอกาสในการเข้าถึงตลาด รวมถึงเสถียรภาพทางการเงิน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะไม่มีประสิทธิภาพเลย หากเราอยู่ในประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะหากไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ ประชาชนจะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าการค้านั้นจะเสรีและเป็นธรรมหรือไม่? รัฐอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อควบคุมกลไกราคาตลาด เมื่อประชาชนไม่สามารถแข่งขันได้สุดท้ายก็จะเข้าสู่ระบบทุนผูกขาด ประเทศไทยมีศักยภาพมากในด้านการเกษตร และคุณภาพชีวิตเกษตรกรจะดีกว่านี้ หากมีการพัฒนาด้านประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง และทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่นว่าการทำการค้ากับประเทศไทย จะเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ และปัญหาทางการเมืองจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศคู่ค้า และสิ่งที่ดิฉันอยากจะบอก คือต่างชาติอาจจะไม่ได้อยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเพราะห่วงคนไทย แต่ทุกประเทศอยากทำการค้ากับประเทศที่ทุกองค์กรมีความยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้ ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศเขา”