วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563

"จาตุรนต์" เตือน "สมคิด" หยุดพูดเรื่องกู้ไอเอ็มเอฟ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


การใช้งบประมาณ หางบประมาณ สับสนสะเปะสะปะ ไว้วางใจไม่ได้

ภาพและข่าวที่มีคนตั้งคำถามมากที่สุดเรื่องหนึ่งในขณะนี้คือการที่โรงพยาบาลต่างๆต้องขอรับบริจาคอุปกรณ์ สิ่งของเครื่องใช้และเงิน เหตุใดรัฐบาลจึงไม่จัดการให้ ไม่มีเงินหรืออย่างไร

การบริจาคช่วยเหลือหมอพยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุขเป็นเรื่องดี ใครช่วยอะไรได้ก็ช่วยกัน หากจะช่วยในการจัดการเพื่ออำนสวยความสะดวกในเรื่องที่หมอพยาบาลไม่สามารถช่วยตัวเองได้ก็เป็นประโยชน์อยู่ แต่ของที่ต้องใช้จำนวนมากหรือของหายาก การบริจาคคงช่วยไม่ได้มาก รัฐบาลต้องจัดการให้

แต่ไม่ปรากฏว่ามีการจัดระบบในการสำรวจความต้องการของโรงพยาบาลต่างๆและจัดหาของที่ต้องการให้เพียงพอหรือหรือจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลต่างๆได้ใช้ตามที่จำเป็น การขอรับบริจาคจึงเกิดขึ้น

งบประมาณเพิ่งผ่านสภามาเมื่อเร็วๆนี้ ถ้าเป็นเรื่องเยียวยาผลกระทบจากโควิด19และหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจซี่งไม่ได้เตรียมไว้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องหาเงินมาใช แต่ในขณะนี้ เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะไม่มีเงินพอที่จะใช้สำหรับต่อสู้กับโควิด19

มีคำถามว่างบกลาง 5 แสนกว่าล้านหายไปไหน ผมเปิดดูเอกสารงบประมาณก็พบว่า ในงบกลาง 5 แสนกว่าล้านนี้ใน 11 รายการเป็นงบรายจ่ายประจำที่มาฝากไว้เช่นเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ ฯลฯ เสียมากเอามาใช้ไม่ได้ แต่ก็มีงบอยู่ 2 ยอดที่เอามาใช้ได้คือรายการที่ (2) ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจำนวน 3000,000,000 บาทและรายการที่ (11) เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 96,000,000,000 บาท

เงินเกือบ 1 แสนล้านบาท ถ้าจะไม่เหลือแล้วอย่างที่นายกฯเคยพูดไว้ คงต้องชี้แจงว่าเอาไปทำอะไร แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะหมดแล้ว

ดังนั้นยังมีเงินพอที่จะใช้สำหรับสู้กับโควิด19 แน่ เพียงแต่จะใช้หรือไม่และจะใช้อย่างไร

วิธีใช้เงินเพื่อซื้อสิ่งของต่างๆที่จำเป็นสำหรับหมอพยาบาลทั้งระบบนั้น เมื่อรวบรวมจากกระทรวงต่างๆที่มีโรงพยาบาลเช่นกระทรวงอุดมศึกษา กระทรวงกลาโหม สตช.และสธ.เอง รวบรวมข้อมูลได้แล้วก็เสนอนายกฯให้ใช้งบกลางแจกจ่ายไปและให้เบิกจ่ายได้สะดวกรวดเร็วก็หมดปัญหา

แต่นายกฯกลับไม่ทำ

สำหรับที่เตรียมตัดงบทุกกระทรวง 10 % รวดและจะออกพรก.กู้เงิน เท่าที่ชี้แจงมาเป็นปัญหาใหญ่มาก แสดงว่าไม่ได้คิดอะไรให้ดีหรือไม่ได้คิดจะทำอะไรดีๆเลย

การจะตัดงบประมาณสู้กับวิกฤตครั้งนี้ต้องดูว่างานด้านไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น อะไรขาดอะไรเกิน กระทรวงสาธารณสุขที่ดูทั้งประเทศและกระทรวงอุดมศึกษาที่มีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่ง งบประมาณไม่พอแน่นอน จะต้องเพิ่มให้อีกมากด้วยซ้ำ บางกระทรวงงบน้อยอยู่แล้วและบางกระทรวงก็มีเรื่องจำเป็นเช่นการเยียวยา สวัสดิการและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากตัดไม่ได้ก็อาจต้องเพิ่มอีกเช่นกัน จะมีที่ควรตัดคืองบที่ไม่จำเป็น ไม่ก็ให้เกิดการสร้างงานจ้างงานหรือต้องนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือชะลอได้หรือไม่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่นกอรมน. และกระทรวงกลาโหมเป็นต้น

การจะตัดงบ 10 % ทุกกระทรวงจึงเป็นการทำแบบสุกเอาเผากิน จะเป็นผลเสียมากกว่าดี

ส่วนเรื่องที่จะออกพรก.กู้เงิน 2 แสนล้านหรือมากว่านั้นโดยบอกว่า”...เพื่อนำมาดูแลทั้งระบบ ให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ให้ตลาดเงินตลาดทุนมีสภาพคล่องที่เพียงพอ เพื่อหล่อเลี้ยงทั้งระบบได้” นั้นเป็นความสับสนและอันตรายอย่างยิ่ง เพราะการกู้เงินแบบนี้ที่จริงต้องเป๋็นการหาเงินมาใช้ทางการคลังเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐไม่ใช่เพื่อใช้ดำเนินมาตรการการเงิน โดยเฉพาะตลาดเงินตลาดทุนนั้น ไม่เกี่ยวด้วยเลย

ก่อนหน้านี้รองฯสมคิดพูดเรื่องไอเอ็มเอฟพร้อมช่วยไทยซึ่งก็ไม่ควรพูดเพราะไทยไม่ต้องอาศัยไอเอ็มเอฟ
ทำเรื่องกองทุนพยุงหุ้นซึ่งไม่ควรทำ มาตอนนี้จะออกพรก.กู้เงินก็นึกถึงตลาดเงินตลาดทุนอีก หายใจเป็นเรื่องทุนไปเสียหมด

สับสนสะเปะสะปะ ไม่น่าไว้วางใจตั้งแต่รัฐมนตรี รองนายกฯและนายกฯเลยครับ

"เก่ง-การุณ" นำชาวดอนเมืองฝ่าวิกฤติโควิด-19

ส.ส.พรรคเพื่อไทย จัดแคมเปญร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19 แจกอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโควิด-19 ให้ตำรวจ และบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมแบ่งปัน ข้าวกล่องให้ประชาชนที่เดือดร้อน



หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมากขึ้นและพบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ และข้าราชการตำรวจ ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการให้บริการประชาชน ทำให้มีหลายฝ่ายต้องการส่งกำลังใจ และให้ความช่วยเหลือไปยังเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ โดย นายการุณ โหสกุล ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ได้จัดแคมเปญ "ดอนเมืองไม่ทิ้งกัน คนไทยรักกัน เราจะผ่านวิกฤติโควิด-19ไปด้วยกัน" โดยมอบเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย ให้กับข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ใน สน.ดอนเมือง เพื่อไว้ใช้ในการดูแลป้องกันตัวเอง รวมถึงไว้คอยให้บริการประชาชนที่เดินทางมาสถานีตำรวจ นอกจากนี้ ยังมอบเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลทหารอากาศด้วย เพราะบุคลากรเหล่านี้ถือเป็นผู้เสียสละ ที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด


นอกจากนี้ สถานการณ์ของโรคโควิด- 19 ยังทำให้หลายครอบครัวได้รับความเดือดร้อน ขาดรายได้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในแคมเปญดังกล่าวนี้ จึงมีกิจกรรมแจกข้าวกล่องให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทุกวัน โดยในช่วงนี้เราทุกคนยังต้องทำ Social Distancing ดังนั้นจะขอความร่วมมือประชาชนที่เดินทางมารับข้าวกล่อง ให้สวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน และล้างมือให้สะอาดก่อนที่จะรับสิ่งของไป รวมถึงแบ่งปันให้เพียงพอกับคนที่ขาดแคลน และเว้นระยะห่างในช่วงที่มารับข้าวกล่องทุกครั้ง ส่วนอาหารที่นำมาปรุงในแต่ละวัน ได้รับบริจาคมาจากประชาชนที่ต้องการร่วมด้วยช่วยกันในการผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน โดยในทุกๆวันจะการนำอาหารมาปรุงสุก และมีกรรมวิธีที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนที่มารับข้าวกล่อง


"ช่วงเวลานี้หนทางเดียว ที่เราจะผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ ก็คือการแบ่งปัน และการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และหวังว่าจะเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ที่จะร่วมกันแบ่งปันอุปกรณ์สำคัญในการป้องกันและดูแลตัวเองจากเชื้อโควิด-19 ให้แก่ผู้ที่ไม่มีต่อๆไปได้" นายการุณ กล่าว

"เพื่อไทยพลัส" นำชาวบ้าน บริจาคโลหิตสภากาชาดไทย


เช้านี้ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กรุงเทพมหานคร นำโดย นาย สุรชาติ เทียนทอง รองเลขาธิการพรรค และ อดีต ส.ส.กทม. เขตหลักสี่ น.ส. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เขตลาดกระบัง นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เลขาธิการกลุ่มเพื่อไทยพลัส และ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตบางกะปิ - วังทองหลาง พร้อมด้วยทีมงานพรรคเพื่อไทย กรุงเทพมหานคร ได้พาชาวบ้านมาบริจาคโลหิต ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย


นายสุรชาติ เทียนทอง กล่าวว่า การมาบริจาคโลหิตในครั้งนี้ เนื่องจากได้ทราบข่าวมาว่าสภากาชาดไทย มีโลหิตไม่เพียงพอ เพราะมีพี่น้องประชาชน ไม่กล้าที่จะออกจากบ้านมาบริจาค รวมถึงการที่หลักเกณฑ์การให้บริจาคโลหิต ได้มีการเพิ่มเติมหลังจากมีการระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า โดยผู้ที่บริจาคโลหิต จะต้องไม่เดินทางมาจากประเทศที่เสี่ยง และ ไม่สัมผัสกับบุคคลกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น


น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง กล่าวถึงมาตรการการตรวจที่เข้มข้นโดยสภากาชาดไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มาบริจาคโลหิต โดยมีการตรวจอุณหภูมิ วัดไข้ และมีการเว้นระยะห่าง 1 เมตร ระหว่างบุคคลต่อบุคคล จึงขอเชิญชวนพี่น้องมาร่วมบริจาคโลหิต เพื่อให้สภากาชาดไทยมีปริมาณเลือดสำรองเพียงพอ ต่อความต้องการใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศ


ด้านนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เลขาธิการกลุ่มเพื่อไทยพลัส และ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขตบางกะปิ-วังทองหลาง กล่าวว่า ณ ขณะนี้ มีผู้ป่วยธาลัสซีเมียจำนวนมาก ที่ต้องใช้โลหิต แต่เนื่องจากผู้บริจาคน้อยลง ทำให้ปริมาณคลังโลหิตนั้นอาจไม่เพียงพอต่อผู้ต้องการได้ ซึ่งทางสภากาชาดไทย ได้มีหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ไปตามเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ จึงขอให้พี่น้องผู้ประสงค์บริจาคโลหิต ช่วยติดตามข่าวสาร เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางของผู้มาบริจาค และขอให้ความมั่นใจว่า สภากาชาดไทย มีมาตรการคัดกรองที่เข้มงวด ปลอดภัย ไม่ต้องกังวล


"วิสาร" เสนอตั้งโรงพยาบาลสนามดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ภาคเหนือ

"วิสาร" แนะรัฐเร่งจัดหาชุดป้องกันเชื้อให้แพทย์ แนะตั้งโรงพยาบาลสนามดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ภาคเหนือ


นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน สร้างความหวั่นวิตกให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ควรมีโรงพยาบาลที่จะดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะเพื่อแยกออกจากผู้ป่วยอื่น ทั้งนี้โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่มีความเหมาะสมเป็นโรงพยาบาลสนามที่จะใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะผู้ป่วยในพื้นที่เชียงรายเต็มล้นทุกโรงพยาบาลแล้ว

ที่ผ่านมาผู้นำหมู่บ้านในแต่ละพื้นที่ทำงานร่วมกันเจ้าหน้าที่สาธารณะสุข ประจำหมู่บ้าน ทำการคัดกรองผู้ติดเชื้อแยกไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อดูอาการ แต่ก็ยังพบปัญหา เพราะเชื่อว่ายังมีผู้ติดเชื้ออีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ เพราะด้วยเชื้อร้ายมีระยะฟักตัว ดังนั้นทางภาครัฐควรให้ประชาชนตรวจหาเชื้อโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ที่อาจจะได้รับเชื้อรับการตรวจเพื่อหยุดการแพร่กระจายโดยไม่ตั้งใจ ทั้งนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบเพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

นายวิสาร กล่าวด้วยว่า ในการดูแลและรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดในขณะนี้ ต้องขอขอบคุณและให้กำลังใจ บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ภาคสนามทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครหมู่บ้าน ที่ทุ่มเททำงานเพื่อรักษาชีวิตประชาชนอย่างเต็มที่

“ที่น่าเป็นห่วงคือพบว่าตามโรงพยาบาลหลายแห่งในพื้นที่ ที่มีปัญหาการระบาดของโควิด-19 อุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่พร้อม ทั้ง หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันเชื้อไม่มี แพทย์และพยาบาลต้องซื้อเสื้อกันฝนใส่แทนชุดป้องกันเชื้อ อยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานสาธารณะสุขที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน อย่าปล่อยให้บุคคลเหล่านี้หมดกำลังใจในการทำงาน”นายวิสารกล่าว

เอาให้ชัด! "วิชาญ" ถามฝ่ายการเมืองช่วยรัฐฉีดฆ่าไวรัสได้หรือไม่?

“วิชาญ” โวย เอาให้ชัดตกลงฉีดพ่นฆ่าเชื้อช่วยราชการได้หรือไม่หลังสธ./กทม.ออกข่าวห้าม ขณะที่นักการเมืองซีกรัฐบาลยังทำ เกรงหวังดีประสงค์ร้ายทำเชื้อฟุ้ง


นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19ในกรุงเทพมหานครว่าขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดต่างพยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่จะให้ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันให้ได้ ในทุกรูปแบบ ตนในฐานะประธาน สส.ภาคกรุงเทพมหานคร พรรคได้ประชุมหารือทางวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งหลายเขตที่มีผู้แทนราษฎรและสาขาของพรรคเพื่อไทย ได้ช่วยกันรณรงค์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิดในทุกๆด้าน

แต่สัปดาห์ที่ผ่านมากลับพบว่ากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร มีประกาศห้ามฉีดละอองพ่นยาป้องกันเชื้อโควิดเนื่องจากเกรงว่าน้ำยาไม่ได้มาตรฐานและจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจาย อาจเป็นอันตรายต่อชุมชนหมู่บ้านได้ ซึ่งได้แจ้งให้งดการฉีดพ่นละอองตามชุมชนต่างๆแล้ว

นายวิชาญ กล่าวต่อไปว่าวันนี้อยากให้กรุงเทพมหานครตอบให้ชัดว่าตกลงแล้วอาสาสมัครทุกภาคส่วนจะสามารถพ่นละอองฆ่าเชื้อโควิดได้หรือไม่และการพ่นดังกล่าวตามคำแจ้งเตือนจะส่งผลให้เชื้อโรคฟุ้งกระจายหรือไม่ ถ้าใช่ สธ.และกรุงเทพมหานครต้องออกประกาศห้ามให้ชัดเจนทั้งหมู่บ้านชุมชนหรือที่สาธารณะต้องอธิบายให้ชัด

ซึ่งวันนี้ตนจะทำหนังสือสอบถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าสรุปแล้วฉีดได้หรือไม่จะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไปต้องทำอย่างไรกัน เนื่องจากขณะนี้ก็มีนักการเมืองซีกรัฐบาลหลายพื้นที่ ออกพ่นยาฆ่าเชื้อโควิดแต่พอซีกฝ่ายค้านกลับต้องขออนุญาต ซึ่งหากทำแล้วจะเป็นโทษต่อประชาชนภาครัฐทั้งกรุงเทพมหานครและสาธารณสุขต้องรีบออกมาประกาศให้ชัดเจนเพราะถึงวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเอกชนและนักการเมืองอยากช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับทางการที่ยังดูแลไม่ทั่วถึงนายวิชาญกล่าว

“เผ่าภูมิ” แนะรัฐหาหน้ากากให้ประชาชน


ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง การชะลอการระบาดของ COVID-19 ว่า

ปัจจุบันเราสามารถแบ่งกลุ่มประเทศเรื่องการคุม COVID-19 คร่าวๆออกเป็นสองกลุ่ม 1. ที่คุมอยู่ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงค์โปร์ กับ 2. ที่คุมไม่อยู่ เช่น อเมริกา อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส เป็นต้น หลายแนวคิดแบ่งสองกลุ่มนี้โดยคำว่า “ปิดทุกอย่างในประเทศหรือไม่” ซึ่งจริงๆแล้วไม่ถูกต้อง

ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงค์โปร์ ไม่ได้ปิดทุกอย่างในประเทศ แต่คุมอยู่ แล้วอะไรหล่ะที่ทำให้คุมอยู่ ถ้าไม่ใช่การปิดทุกอย่างในประเทศ

ปัจจัยที่น่าเอาไปศึกษาต่ออย่างยิ่ง คือ กลุ่มที่คุมอยู่ มีวัฒนธรรม กฎหมาย และความระวังอย่างเคร่งครัดในการ “สวมหน้ากากอนามัย” แต่กลุ่มที่คุมไม่อยู่ กลับเห็นหน้ากากอนามันเป็นเรื่องไม่จำเป็น อีกทั้งยังมีความเชื่อที่ว่าไม่ติดไม่ต้องใส่

ฉะนั้นประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่การ “ปิดทุกอย่างในประเทศ” หรือไม่ แต่อาจอยู่ที่การทำให้คนใส่หน้ากากอนามัยโดยเคร่งครัดได้หรือไม่นั่นเอง

ผมมองว่า หากเราใช้ “กฎหมายบังคับ” ให้ “ทุกคน” เมื่อออกนอกบ้าน 1.ต้องใส่หน้ากาก 2.ต้องใส่แว่น 3.ห้ามทานอาหารร่วมกัน ควบคู่ไปกับ Social Distancing แค่ในช่วง 30-60 วันนี้ ผมมองว่าทำทั้ง 3-4 ข้อนี้ “มนุษย์” ก็แทบจะไม่สามารถ “แพร่เชื้อและติดเชื้อ” ได้ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ต้นทุนทางเศรษฐกิจต่ำกว่าการปิดประเทศทั้งประเทศหรือเคอร์ฟิวอย่างมีนัยสำคัญ

แน่นอนว่าประสิทธิภาพในการปกป้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของหน้ากาก ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่จะจัดหาให้ประชาชนอย่างเพียงพอ

31 มี.ค. 2563

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563

"อนุดิษฐ์" ชี้ การปิดเมืองต้องมีมาตรการรองรับ

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


หากรัฐบาลมีงบประมาณไม่เพียงพอ จำเป็นต้องกู้ย่อมสามารถกระทำได้ แต่อยากให้พิจารณาข้อเสนอที่พรรคเพื่อไทยได้แถลงไปก่อนหน้านี้ ว่าควรใช้เงินในกระเป๋าตัวเองก่อนจะดีกว่าหรือไม่

วันนี้รัฐบาลมี #งบกลาง ที่กันไว้ใช้ยามฉุกเฉินเหลืออยู่พอสมควร หากบวกเข้ากับโครงการในงบประมาณปี 63 หลายรายการที่ชะลอได้ จะมีตัวเลขกลมๆ เกือบ 2 แสนล้านบาท การที่รัฐบาลตั้งใจนำเงินกู้มาแก้ปัญหาทั้งหมด โดยไม่ใช้เงินในกระเป๋าตัวเอง คิดว่าอาจไม่ใช่วิธีการที่ฉลาดและดีที่สุด

ผมสนับสนุนมาตรการชดเชยรายได้ของรัฐบาลและอยากให้เร่งดำเนินการแจกให้ถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด แต่การแจกเงินเพียงอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอกับการแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องหาวิธีการให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตและทำมาหากินได้ตามปกติ

"ผมเกรงว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้ เศรษฐกิจจะพังพินาศย่อยยับไปเรื่อย ๆ การปิดเมืองเป็นเรื่องที่ถูกต้องแต่ต้องมีมาตรการรองรับ ไม่ใช่ตัดสินใจปิดเมือง แล้วให้ทุกคนอยู่บ้านเพียงอย่างเดียว เมื่อประชาชนเรียนรู้การป้องกันตัวได้แล้ว รัฐบาลควรเร่งผ่อนคลายธุรกิจที่ไม่อันตรายก่อน"

ก่อนหน้านี้รัฐบาลยอมให้ธุรกิจบางประเภทเช่นร้านสะดวกซื้อเปิดบริการได้ ผมจึงมั่นใจว่ารัฐบาลย่อมพิจารณาธุรกิจอื่น ๆ ให้เปิดบริการได้เช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่มีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะหากปล่อยให้สภาพเป็นแบบนี้ต่อไป คนส่วนใหญ่อาจอดตายก่อนเป็นโควิดครับ

"จาตุรนต์" แนะรัฐเปลี่ยนยุทธศาสตร์ รับมือวิกฤติโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้



จะหลีกเลี่ยงความเสียหายใหญ่หลวงได้ ต้อง "เปลี่ยนแปลง"

จาตุรนต์ ฉายแสง
30 มีนาคม 2563

มาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ลดการเดินทางและขอให้คนอยู่บ้านมาอาทิตย์กว่าๆ เริ่มมีคำถามว่าเราจะต้องอยู่อย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหน เมื่อครบกำหนด 30 เมษาแล้ว การแพร่ระบาดจะลดน้อยหรือไม่
เราจะกลับสู่สภาพปรกติหรือจะต้องเจอกับมาตรการที่เข้มข้นกว่าเดิม สภาพการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ตัวเลขวันนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 136 คน เป็น1,524 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 9.7 % ต่อวัน ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มด้วยอัตราประมาณ 10 % ในแต่ละวันอย่างนี้ ด้วยการคำนวณอย่างคร่าวๆ

•อีก 1 สัปดาห์จะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 3,000 คน

•และถึงวันที่ 30 เมษายน เราอาจมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 29,000 คน

หวังว่ามาตรการที่ใช้ในหลายวันมานี้และที่จะทำเพิ่มจะมีผลให้ตัวเลขไม่สูงอย่างที่คำนวณ

ถ้าตัวเลขสูงไปถึงขั้นนั้นจริง ระหว่างทางจะเจออะไรและถ้าหลังจากนั้นการแพร่ระบาดจะยิ่งมากขึ้นและเร็วขึ้น ระบบสาธาณสุขที่ขาดแคลนทุกอย่างอยู่แล้วในวันนี้จะไม่มีทางรับมือได้เลย

ก่อนหน้านี้ผมได้เสนอว่าต้องใช้เวลา 36 วันระหว่างใช้มาตรการชะลอการแพร่ระบาดนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยจัดการกับเรื่องสำคัญๆเสียใหม่ ดูเหมือนไม่สามารถสื่อสารไปถึงรัฐบาลได้

“แล้วเรายังมีทางที่จะหลีกเลี่ยงสภาพการณ์ที่เลวร้ายนี้หรือไม่?”

ในความเห็นผมคิดว่ายังมีเรายังมีทางที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายใหญ่หลวงได้ แต่จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์กันใหม่(ถ้าถือว่าปัจจุบันมียุทธศาสตร์แล้ว) วางระบบวางแผนจัดการกับโควิด19ในด้านที่สำคัญๆในแบบที่แตกต่างจากปัจจุบัน หาจุดผลิกผันหรือตัวเปลี่ยนเกม(Game Changers)ให้ได้และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

ถ้าศึกษาจากคำแนะนำของ WHO และบทเรียนจากประเทศต่างๆ แล้วมาดูสภาพการณ์ของประเทศไทย เรื่องหนึ่งที่ประเทศที่คุมสถานการณ์ได้ดีทำตั้งแต่เนิ่นๆคือการห้ามชาวต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศเสี่ยงเข้าประเทศ เรื่องนี้เราทำช้าไปมากและขณะนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นแล้ว

ผมคิดว่ามี 4 เรื่องใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ !

1.รณรงค์สร้างความรู้เข้าใจให้เกิดความตระหนักและการปฏิบัติที่จริงจังในการวางระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ให้มีผู้เข้าร่วมปฏิบัติตามเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

หลังจากกทม.ปิดสถานที่ต่างๆเพื่อไม่ให้คนมาอยู่ด้วยกันมากๆ ผลกลายเป็นคนออกต่างจังหวัดและมีการติดเชื้อมากขึ้น ภาพคนไปเข้าคิวรอติดต่อธนาคารตามมาตรการ"เราไม่ทิ้งกัน” การหิ้วตัวผู้อยู่ระหว่างการกักตัวขึ้นเครื่องไปกักขังในโรงพัก เหล่านี้สะท้อนถึงความไม่เข้าใจเรื่องการจัดระยะห่างทั้งของทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน การที่คนอยู่บ้านมากขึ้นเป็นเรื่องดี แต่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าการจัดระยะห่างยังมีคนปฏิบัติกันไม่มากพอ

2.วางระบบการกักตัวที่มีประสิทธิภาพและมีขนาด "มหึมา" อาศัยบุคลากรเป็นแสนๆทั่วประเทศ เน้นการสอบสวนโรค สืบหาผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ จัดหาสถานที่สำหรับกักตัวผู้ที่ไม่สามารถกักตัวเองที่บ้าน มีการติดต่อเยี่ยมเยียนแนะนำผู้อยู่ระหว่างกักตัว คัดเลือกผู้ที่ควรตรวจ (Testing) และรักษาโดยเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้าในระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์

ประเทศที่ประสบความสำเร็จให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทั้งนั้น

ที่ผ่านมาการกักตัวเป็นจุดอ่อนมากโดยเฉพาะผู้ที่มาจากต่างประเทศเกือบจะไม่มีการกักตัวเลย เมื่อมีการแพร่ระบาดในประเทศก็จะเห็นประกาศเตือนผู้ที่เข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยงต่างๆ แต่ไม่มีระบบติดตามรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ

แต่ก็มีหลายพื้นที่เกิดสิ่งที่ดีๆขึ้นโดยเฉพาะในต่างจังหวัด มีกรณีพบผู้ป่วยคนหนึ่ง ก็สืบหาผู้เข้าข่ายเสี่ยงติดเชื้ออย่างจริงจังจนได้รายชื่อหลายร้อยคน แล้ววางระบบติดต่อและส่งบุคลากรไปเยี่ยมทุกวัน มีอาการผิดปรกติก็รีบส่งตรวจทันที บางจังหวัดมีการล็อคดาวน์หมู่บ้าน ใช้เจ้าหน้าที่เป็นร้อยส่งข้าวส่งน้ำดูแลจนกว่จะยกเลิกมาตรการ ในต่างจังหวัดมีความพร้อมที่จะวางระบบอย่างนี้ ถ้าใช้คนหมู่บ้านละ 5-6 คนก็คือใช้คน 400,000 คนแล้ว ในกทม.และชุมชนเมืองก็อาจจะยากกว่า นอกจากบุคลากรที่มีอยู่แล้วและคงต้องใช้อาสาสมัครจำนวนมากมาคอยติดต่อทางออนไลน์กับผู้ถูกกักตัว

ในบางประเทศเวลาประกาศหาอาสาสมัครมีคนสมัครเป็นล้านคน

ที่ผมใช้คำว่า “มหึมา” ก็คืออย่างนี้

ระบบแบบนี้ใช้บุคลากรทางการแพทย์น้อยมาก แต่ลดผู้ป่วยไปสู่หมอได้มาก

3.ตั้งเป้าหมายเพิ่มการตรวจ(Testing)ผู้ที่ควรตรวจให้ได้จำนวนมากและเร็วใกล้เคียงกับประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่นกี่แสนครั้งภายในวันที่ 30 เมษายนนี้

เช่นเดียวกันกับเรื่องการกักตัว ประเทศที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย ให้ความสำคัญอย่างมากกับการตรวจ (Testing) ซึ่งเชื่อมโยงกับ การหาผู้ต้องสงสัยและผู้ติดเชื้อเพื่อเข้าสู่ระบบการคัดกรองและรักษา

ของไทยเราขาดน้ำยาที่ใช้ในห้องแล็บมาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน แต่ขณะนี้เป็นเรื่องน่ายินดีและมีความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหานี้เพราะมีการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆทั้งในต่างประเทศเช่นที่ FDA เพิ่งรับรองและของไทยเองเช่นที่จุฬาฯก็เพิ่งส่งเครื่องตรวจโควิด19 จำนวน 1 แสนเครื่องถึงมือนายกฯแล้วเป็นต้น หากพยายามหาทางนำเข้าและส่งเสริมให้พัฒนาและผลิตเพิ่มในส่วนที่ทำเองได้อย่างจริงจังก็จะสามารถเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ได้

4.การจัดหาโรงพยาบาล ห้อง เตียง อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชน จะต้องทำอย่างเป็นระบบ มีการวางระบบของประประเทศ มีศูนย์อำนวยการ รู้สภาพความต้องการในปัจจุบันและประเมินล่วงหน้า โดยตั้งเป้าหมายในทางปริมาณที่ชัดเจนและสนับสนุนงบประมาณให้ทุกส่วนอย่างไม่จำกัด

ถ้าติดตามสถานการณ์โควิด19 ในต่างประเทศก็จะเห็นความน่าอเน็จอนาถของการขาดอาคารสถานที่เครื่องมืออุปกรณ์ ขณะนี่หลายฝ่ายก็พยายามหาทางช่วยแก้ปัญหานี้ แต่ไม่ควรปล่อยให้แต่ละส่วนแต่ละฝ่ายต้องดิ้นรนแก้ปัญหากันไปทั้งๆที่ไม่มีอำนาจสั่งการและงบประมาณ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการวางระบบ มีศูนย์กลางในการวางแผนและอำนวยการ ประเทศไทยจะต้องนำเข้าอะไร ผลิตอะไรเองได้ จะต้องสั่งให้มีการผลิตอะไรหรือเปลี่ยนจากที่ทำอยู่มาผลิตอะไร

หากมีการกำหนดยุทธศาสตร์เสียใหม่ใน 4 เรื่องดังกล่าว เรายังจะเปลี่ยนเกมได้ หลีกเลี่ยงความเสียหายใหญ่หลวงได้ การจะเปลี่ยนเกมได้มีเงื่อนไขที่จะต้องทำงานแตกต่างจากที่เป็นอยู่คือ
1. การรู้จักคาดการณ์ล่วงหน้าถึงสถานการณ์ที่เลวร้าย
2.การมียุทธศาตร์ที่ถูกต้อง รู้ว่าอะไรคือตัวเปลี่ยนเกม
3. การวางระบบและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
4. ขนาด ปริมาณ และความครอบคลุมของมาตรการที่สอดคล้องกับขนาดของปัญหา

ที่เสนอมาทั้งหมดนี้ ที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือ “ต้องเปลี่ยนแปลง” ครับ

"สุดารัตน์" ปลุกประยุทธ์ตื่น เตือนเรือดำน้ำ-รถถังสู้เชื้อโรคไม่ได้

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


#งบกลาโหมห้ามแตะ

ภัยคุกคามของโลก ได้เปลี่ยนไปแล้ว
แต่มติ ครม.ของประเทศไทยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ในการอนุมัติงบประมาณปี 64 ยังคงวนเวียนอยู่ในกรอบเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงค่ะ..!!

นอกจากงบประมาณปีนี้ที่นายกฯ ยังไม่ยอมสั่งให้ทุกกระทรวงตัดงบที่ไม่จำเป็น อย่างการซื้ออาวุธ, การสร้างตึกใหม่, ซื้อรถใหม่ ฯลฯ เรื่องที่น่าเป็นห่วง และชี้ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ผู้นำคือ มติ ครม.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกฯ ยังไฟเขียว กรอบงบประมาณปี 64 โดยตัดงบกระทรวงกลาโหมแบบขอไปทีเพียง 0.1% (คงเหลือไว้ 99.9%)

เมื่อวานดิฉันได้เสนอมาตรการที่ควรทำเร่งด่วนลำดับแรก เมื่อรัฐบาลตัดสินใจประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือเรื่องการแก้ปัญหาอุปกรณ์การแพทย์ขาดแคลนให้กับนักรบด่านหน้า ทั้งแพทย์, พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ โดยเร่งจ่ายงบกลางที่กองอยู่ที่นายกฯ เป็นแสนล้าน กระจายให้ทุกโรงพยาบาล

วันนี้เป็นวันที่ 5 ของการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแล้ว ขอย้ำอีกครั้ง..!!

“นายกฯ ต้องใช้อำนาจล้นฟ้าที่มี แก้ไขปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ได้” ค่ะ

จะรออะไรอีกคะ เงินก็มี อำนาจก็มาก

ทุกคนได้ยิน IO ของรัฐบาลในทุกช่องทาง ที่พยายามจะบอกให้ประชาชนเชื่อว่า “อุปกรณ์เพียงพอ” แต่ข้อเท็จจริงคือ แต่ละโรงพยาบาลต่างออกมาเรียกร้องว่าอุปกรณ์การแพทย์ขาดแคลน และต้องขอรับบริจาคกันแทบทุกโรงพยาบาล

ถ้าเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์แค่นี้ นายกไทยแก้ไขอะไรไม่ได้ แล้วจะรวบอำนาจไว้กับตัวเพื่ออะไร? หรือพูดง่ายๆชัดๆว่า #เราจะมีนายกไว้ทำอะไร? นายกไม่คิดจะใช้อำนาจที่มีมาแก้ปัญหาให้หมอและประชาชนบ้างหรือ ??

ขณะนี้ ภัยคุกคามของโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว มนุษย์ทั้งโลกรวมถึงคนไทยทั้งประเทศ กำลังถูกคุกคามและเสียชีวิตจากเชื้อไวรัส เชื้อโรคตัวเล็กๆ ที่ใช้รถถัง หรือเรือดำน้ำไปปราบไม่ได้

#นายกตื่นได้แล้ว

ผู้นำประเทศ ควรเข้าใจว่า วิกฤตโควิด และ AfterShock ของมันนั้น จะกระทบชีวิตและเศรษฐกิจไทยอย่างแสนสาหัส การตั้งงบประมาณประเทศ ต้องสอดคล้องกับวิกฤตสำคัญที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น งบประมาณปี 63 และปี 64 ควรตัดงบที่ไม่จำเป็นทั้งหมด และนำเงินมาใช้ในส่วนที่จะแก้ผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด โดยต้องช่วยพยุงเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนให้ได้เป็นลำดับแรก

นายกฯ ควรเร่งพิจารณาข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ในการปรับเปลี่ยนงบประมาณปี 63, 64 ใหม่ อย่างเร่งด่วน

1. งบกลางที่กองอยู่ในมือนายกฯ เป็นแสนล้าน รีบนำมาใช้ในการระงับการระบาดของ COVID-19 อย่างเร่งด่วนที่สุด อย่าปล่อยให้มีการติดเชื้อวันละเป็นร้อยคนเช่นนี้อีกต่อไป และกระจายงบและกระจายอำนาจการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ไปให้ทุกโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน

2. ตัดงบประมาณปี 63 ของทุกกระทรวงที่มีความจำเป็นเร่งด่วนน้อยกว่าการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยให้เลื่อนการใช้เงินออกไปก่อน ตั้งเป้าตัดให้ได้ 10% เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาCOVID-19 อย่างบูรณาการ และนำเงินส่วนที่เหลือมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ COVID-19 ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ เบื้องต้น 5000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ทั้งลูกจ้าง, พ่อค้าแม่ค้า, อาชีพอิสระอื่นๆ ตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย

3. ขอให้นายกฯ นำกรอบการพิจารณางบปี 64 เข้าไปพิจารณาในครม.ใหม่ เพื่อปรับลดงบที่ไม่จำเป็นทุกกระทรวงออก ตั้งเป้าอย่างน้อยกระทรวงละ 10-15% เพื่อนำเงินมาแก้ผลกระทบทางเศรษฐกิจของ COVID-19 ในปีหน้า

ส่วนเรื่องเงินกู้ที่รัฐบาลกำลังจะออกกฎหมายมากู้เงิน ขอให้ใจเย็นๆ ต้องกู้แน่ค่ะ
แต่ต้องกู้มาเพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังการระบาดของ COVID-19 ซึ่งต้องใช้เงินอีกหลายแสนล้านค่ะ ตอนนี้เร่งใช้งบกลางและเร่งตัดงบปี 63,64 ที่ไม่จำเป็นออกก่อนค่ะ

ขอย้ำว่า ยุทโธปกรณ์เพื่อใช้ในการสู้รบราคาแพงทั้งหลาย เรือดำน้ำ, รถถัง ไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคที่กำลังเป็นภัยคุกคามประเทศไทยของเราได้ อาจเทียบไม่ได้กับแมสเพียงแผ่นเดียว หรือชุด PPE เพียงชุดเดียว ให้กับคุณหมอของเราในเวลานี้ค่ะ

ปรับปรุงการใช้งบประมาณเสียใหม่ ใช้เงินให้ตรงกับความจำเป็นเร่งด่วน แก้ไขวิกฤตประเทศให้ได้ พี่น้องประชาชนตลอดจนพรรคฝ่ายค้าน จะสนับสนุนให้ท่านทำงานค่ะ พลเอกประยุทธ์ !!

"ยิ่งลักษณ์" ชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ ต่อสู้วิกฤติโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ทำให้ทุกคนตกอยู่ในความหวาดกลัวและวิตกกังวล แต่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ถือว่าเป็นหน่วยหน้าที่ต้องรับภาระหนักหนาสาหัส โดยเฉพาะในปัจจุบันอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคยังไม่เพียงพอ อีกทั้งวัคซีนยังอยู่ในระหว่างการคิดค้นอยู่นั้น แต่ด้วยจรรยาบรรณในวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านยังคงทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งที่หลายท่านต้องอยู่ห่างจากครอบครัว และบางท่านต้องติดเชื้อ

ดิฉันขอขอบคุณและชื่นชมในความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน และขอส่งกำลังใจให้กับทุกท่านนะคะ พวกเราคนไทยทุกคนรับรู้ได้ด้วยใจว่าพวกท่านคือวีรบุรุษในยามยากของคนไทยค่ะ

พวกเราทุกคนควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการลดภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์ เราควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการรักษาความสะอาด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะได้ต้านโรคและมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หรือการรักษาระยะทางสังคม Social Distancing ก็เป็นเรื่องที่สำคัญนะคะ ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อ ดิฉันขอส่งกำลังใจให้ทุกท่านหายจากโรคโดยเร็วค่ะ

ในช่วงนี้ก็ขอให้ติดตามข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ตระหนักรู้กับข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมีสติ จะทำให้ทุกท่านรู้ทันกับโรคโควิด-19 ค่ะ แล้วเราจะผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน ด้วยรักและห่วงใยพี่น้องคนไทยทุกคนค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2563

"นพดล" ชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ สู้วิกฤติไวรัส

"นพดล" ชี้ประชาชนพร้อมร่วมมือตามที่ภาครัฐเรียกร้อง แต่ภาครัฐต้องทำหน้าที่ของตนให้มีประสิทธิภาพด้วย


นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด 19 นี้  ตนชื่นชมหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานหนัก ในขณะที่ตนได้ยินผู้มีอำนาจเรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือในด้านต่างๆ รวมทั้งการอยู่บ้าน และไม่ไปที่แออัดเพื่อลดการแพร่เชื้อ ซึ่งเชื่อว่าประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องทำงานในส่วนของตนให้เกิดผลสำเร็จด้วย โดยเฉพาะหลังจากที่มีอำนาจตาม พรก ฉุกเฉิน ประชาชนยังมีคำถามและข้อเรียกร้องว่า

1. จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันยังสูง ภาครัฐมีแผนที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้ตัวเลขลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างไร มาตรการต่างๆเช่นการตั้งด่านกระจายไปตามที่ต่างๆได้ผลดีแล้วหรือ การระดมตรวจเชื้อกลุ่มเป้าหมายขนานใหญ่ที่มีผู้เรียกร้องทำไปแล้วหรือยัง?

2. ต้องทำให้ประชาชนสามารถซื้อหาหน้ากากอนามัย เจลและแอลกอฮอล์ ได้ในราคาที่เป็นธรรมและสะดวกกว่านี้ ขอให้แก้ปัญหาให้เสร็จเด็ดขาดเสียทีได้หรือไม่

3. รัฐต้องทำให้หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมั่นใจว่ามีหน้ากาก ชุดป้องกัน PPE และเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆอย่างพอเพียงทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพื่อรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ ถามว่าทำไมยังคงมีข่าวการขอบริจาคหน้ากากอนามัยให้โรงพยาบาลอยู่

4. ผู้ป่วยทุกคนต้องเข้าถึงยาอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม รัฐควรสต็อคยารักษาโควิด 19 ให้พอเพียงทั่วประเทศ ทราบว่าจะซื้อเพิ่มประมาณ สามแสนกว่า เม็ด ถามว่าถ้าผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจะพอหรือไม่ ควรเร่งซื้อเพิ่มหรือไม่

5. รัฐต้องให้ประชาชนมั่นใจว่าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ขาดแคลน ข่าวเรื่องไข่ไก่สร้างความกังวล รัฐควรดูแลให้ผู้สูงอายุและผู้พิการให้เข้าไปซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็นได้ โดยอาจจัดเวลาเฉพาะให้คนเหล่านี้                                           

"นี่เป็นเพียงบางคำถามและข้อเรียกร้องที่ประชาชนต้องการความชัดเจนจากรัฐบาล และหวังว่าเวลาภายใต้ พรก ฉุกเฉิน การแก้ปัญหาจะมีประสิทธิภาพและความสำเร็จมากขึ้น"

"สุดารัตน์" แนะชาวไทยให้กำลังใจ บุคลากรทางการแพทย์

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


การสู้รบกับ “ศัตรูที่มองไม่เห็น”
ขวัญ-กำลังใจ และอุปกรณ์ป้องกันตัว
คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ค่ะ

ขวัญ-กำลังใจ คือสิ่งที่ประชาชนไทย พร้อมใจกันมอบให้กับ “นักรบด่านหน้า” ทุกท่าน ที่เสียสละ “เสี่ยงชีวิตตัวเอง เพื่อช่วยชีวิตพวกเรา” ด้วยความซาบซึ้งใจยิ่ง

โดยเวลา 20:00-20:05น. คืนนี้ ประชาชนทั้งประเทศได้นัดกับตบมือให้กำลังใจ คุณหมอ-พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน จากทุกตรอกซอกซอย คอนโด หอพัก อพาร์ทเม้นท์ บ้านพัก ชุมชน ตลอดจนทุกแหล่งพักอาศัย ทุกๆที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่

ส่วนในเรื่องอุปกรณ์ป้องกันตัวของบุคลากรทางการแพทย์นั้น หน้าที่หลักในการจัดหา “เป็นหน้าที่ของรัฐบาล” ที่จะอนุมัติเงินจาก “ภาษีอากรของพี่น้องประชาชน” ที่ส่งให้รัฐทุกปี ไปใช้ในการจัดซื้อจัดหามาให้ ซึ่งขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับแรก และถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด...!!

นายกฯประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเป็นวันที่ 4 แล้ว เรื่องเร่งด่วนที่นายกฯ ควรจัดการมากที่สุดคือ การผ่าตัดระบบการบริหารจัดการอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อให้ทุกโรงพยาบาลมีอุปกรณ์ต่างๆใช้อย่างเพียงพอ จะปล่อยให้ขาดแคลน จนถึงขั้นที่ต้องใช้ถุงก๊อปแก๊ปมาครอบกันเชื้อ หรือซักแมสตากไว้ใช้ซ้ำอีก อย่างที่ผ่านมาไม่ได้ นายกฯต้องลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้ค่ะ!!

อย่าลืมว่า การที่นายกฯส่งคุณหมอไปใกล้ชิดรักษาผู้ป่วย โดยที่ไม่สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันตัวให้นั้น มันไม่ต่างอะไรจาก ผบ.ทบ.ส่งทหารราบออกไปรบ โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันกระสุนเลยค่ะ

นอกจากนั้นแล้ว ที่ผ่านมายังมีกลุ่มบุคคลที่โยงใยถึงคนในรัฐบาล ได้แสวงหาผลประโยชน์ จากอุปกรณ์เหล่านี้ จนกระทั่งทั้งคุณหมอ และประชาชนทั่วไปไม่มีใช้ เมื่อประกาศ พรก.ฉุกเฉินแล้ว นายกก็ควรจัดการให้เด็ดขาด ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายประจำ เพื่อสร้างขวัญ-กำลังใจ และความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลกลับมา

ดิฉันขอเสนอให้นายกฯ ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สู้ COVID-19 ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เร่งดำเนินการเรื่องต่อไปนี้ให้เร็วที่สุด

1.) เร่งจัดสรรงบกลางให้ รพ. ให้มากพอที่จะจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่ขาดทั้งหมด กระจายอำนาจการจัดซื้อให้ รพ.จัดซื้อเอง โดยแก้ระเบียบจัดซื้อและข้อบังคับต่างๆ ชั่วคราวในภาวะวิกฤต เพื่อให้รพ.ต่างๆ สามารถจัดซื้ออุปกรณ์ที่ รพ.ต้องการซื้อได้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลจัดสรรงบกลางให้สาธารณสุขเพียง 1,500 ล้านบาท จากงบกลาง 4 แสนกว่าล้านบาทนั้น ไม่เพียงพอกับการต่อสู้กับ COVID-19 ขอย้ำว่า ให้ทุ่มงบกลางให้ รพ. และแพทย์ให้มากที่สุด

ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยเสนอให้รัฐบาลตัดงบที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน จากทุกกระทรวงลงมาสัก10% เพื่อเกลี่ยเงินจำนวน 8-9หมื่นล้านออกมาใช้เพื่อแก้ปัญหา วิกฤตโควิด-19ก่อน โดยเชื่อว่าประชาชนเจ้าของภาษีอากร และฝ่ายค้านทุกพรรคการเมือง จะให้ความเห็นชอบ ให้กระทำได้อย่างรวดเร็วค่ะ

2.) เร่งแก้ไขปัญหาคอขวด การนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น ทั้งแก้ระเบียบ และสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งเปิดทางในการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เป็นการชั่วคราวในภาวะฉุกเฉินนี้

3.) ควรเพิ่ม "เบี้ยเสี่ยงภัย" ให้นักรบของเรา ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่ต่ำกว่า 2เท่า รวมทั้งการดึง อสม.มาช่วยในชุมชนอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งจัดเบี้ยเลี้ยงให้ด้วย

4.) ออกคำสั่งห้ามส่งออกอุปกรณ์ทุกชนิดที่ผลิตได้ในประเทศ และจำเป็นต้องใช้ เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การรักษาประชาชนในประเทศ อย่างเด็ดขาด ทั้งหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์การแพทย์อื่น ๆ ที่ในประเทศต้องการใช้

ต่อไปนี้ประเทศไทยต้องไม่มีการ “เสียค่าโง่” ในการควบคุมราคาอุปกรณ์ โดยที่ไม่มีของขายจริง และปล่อยให้กลุ่มบุคคลหาผลประโยชน์ จากการส่งออกอุปกรณ์ไปขายแพงๆในต่างประเทศ จนคนไทยไม่มีใช้อีกต่อไป

5.) ระมัดระวังไม่ให้กลุ่มแสวงหาผลประโยชน์นี้ กักตุนและปั่นราคาสินค้าอื่นๆ เช่นเดียวกับที่ทำกับ หน้ากากอนามัย, เจลแอลกอฮอล์, ไข่ไก่ ฯลฯ ได้อีกต่อไป

ขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาในข้อเสนอเหล่านี้ เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาด, รักษาคนไข้อย่างมีประสิทธิภาพ, บำรุงขวัญและกำลังใจให้ "นักรบด่านหน้า" ตลอดจนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล กลับคืนมาให้กับพี่น้องประชาชนไทย โดยเร็วค่ะ

"จาตุรนต์" ห่วงปัญหาไข่แพง-ขาดตลาด


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาไข่ไก่ขาดตลาดและราคาแพงว่า ตนพอรู้ปัญหาไข่ไก่อยู่บ้างเนื่องจากจังหวัดฉะเชิงเทรามีการเลี้ยงไก่ไข่มากที่สุดในประเทศ โดยได้สอบถามเจ้าของฟาร์มและหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วเข้าใจว่าปัญหาไข่ไก่ขาดตลาดและราคาแพงนี้เป็นปัญหาที่แก้ได้ไม่ยาก

ภาวะไข่ไก่ขาดตลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันและชั่วคราวเท่านั้น หากดูแลให้ดีมีวิธีการที่ถูกต้องไม่ไปซ้ำเติมปัญหา คนไทยจะมีไข่ไก่กินเกินพอในราคาไม่แพงผิดปรกติแน่นอน

ที่รัฐบาลควรดูแลให้ดีคือสินค้าจำเป็นโดยเฉพาะอาหารประเภทอื่นที่กักตุนได้ แต่อย่าไปแทรกแซงจนไม่เกิดการผลิตหรือทำลายวงจรการค้าขาย

ประเทศไทยเป็นครัวโลก ถ้าจัดการดีๆไม่มีทางขาดแคลนอาหาร เราควรจะใช้วิกฤตเป็นโอกาสผลิตให้เกินพอสำหรับใช้ในประเทศและส่งออกอาหารในยามที่โลกจะขาดแคลนด้วยซ้ำ

นายจาตุรนต์กล่าวว่าทั่วประเทศมีไก่ไข่อยู่ประมาณ 50 ล้านตัว มีไขไก่วันละประมาณ 40 ล้านฟอง ตัวเลขนี้อาจคลาดเคลื่อนเล็กน้อย แต่ประเด็นสำคัญคือมีไข่ไก่พอแน่ ปรกติมีการส่งไข่ไก่ออกนอกเพียง 2-3 %  ของไข่ไก่ทั้งหมดและราคาไม่ค่อยดี ใน 3-4 ปีมานี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ 20-30 ล้านคนก็บริโภคไข่ แต่ขณะนี้นักท่องเที่ยวหายไปหมดและคงมีน้อยตลอดปี ส่วนการกักตุนก็เป็นไปไม่ได้เพราะไข่ไก่เก็บไว้ไม่ได้นาน ใครเก็บไว้นานก็จะเสีย ต่อไปข้างหน้า แนวโน้มไข่จะล้นตลาดด้วยซ้ำ

ที่ไข่ไก่ขาดตลาดในช่วงนี้เป็นเพราะคนอยู่กับบ้านกันมากต้องทำอาหารกินเอง ไข่ไก่ทำกับข้าวได้ง่ายสะดวกและแต่ละบ้านก็กลัวจะหาซื้ออาหารได้ยากจึงซื้อกันคนละมากๆ แต่ถ้าซื้อมากจนเกินไปก็จะกินไม่ทัน การซื้อไข่ไก่ก็จะน้อยลง

เท่าที่ได้ข้อมูลรัฐบาลควรทำอยู่ 2 อย่างและไม่ควรทำอยู่ 2 อย่าง

ที่ควรทำคือ
1. ดูแลไม่ให้อาหารสัตว์ขึ้นราคาและ
2. ให้ข้อมูลแก่ประชาชนว่ามีไข่พอแน่และราคาจะไม่แพงผิดปรกติ ผู้ที่ซื้อได้ ไม่ต้องซื้อครั้งละมากๆ

ที่ไม่ควรทำคือ
1. ไม่พยายามไปกำหนดราคาที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและ
2. ไม่ไปตัดวงจรการค้าของเขาซึ่งต้องอาศัยหั่งเช้ง ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และผู้ค้าปลีก รัฐบาลไม่ควรคิดไปขายเสียเองหรือจ้องจับผิดเจ้าของฟาร์มซึ่งส่วนใหญกำหนดราคาเองไม่ได้และไม่ควรไปเอาเป็นเอาตายกับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย

หากดำเนินการอย่างถูกต้องปัญหาไข่ไก่ขาดตลาดและราคาแพงจะแก้ได้ในเวลาสั้นๆ

นายจาตุรนต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจจริงจังคือการดูแลให้สินค้าจำเป็นรวมทั้งอาหารให้มีเพียงพอไม่ให้ขาดตลาดและราคาแพงเกินไปโดยเฉพาะสินค้าที่กักตุนได้และมีการผูกขาดโดยผู้ผลิตหรือผู้ค้ารายใหญ่ สำหรับอาหารนั้นถ้าจัดการให้ดีประเทศไทยไม่ขาดอาหารแน่ เพราะประเทศไทยเป็นครัวโลก ผลิตได้เกินพอ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็หายไป อาหารจะเกินพอสามารถส่งออกได้มากด้วยซ้ำ ที่สำคัญอย่าไปแทรกแซงจนเขาลดการผลิต อย่าไปทำลายวงจรการผลิตและการค้าเช่นถ้าร้านอาหารปิดกันหมดคนปลูกผักก็ไม่รู้จะไปขายใคร ก็จะหยุดปลูก ต้องส่งเสริมให้ผลิตมากๆและใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ผลิตอาหารให้เพียงพอใช้ในประเทศและส่งออกให้มากเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ รัฐบาลจะได้มีเงินมาใช้ดูแลประชาชนที่เดือดร้อนซึ่งจะต้องดูแลกันอีกนานและใช้เงินมหาศาล

“อนุดิษฐ์” แนะใช้เงินในกระเป๋าลดกู้ ห่วงรัฐอัดฉีดแต่ฟันเฟืองไม่หมุน

“อนุดิษฐ์” แนะใช้เงินในกระเป๋าลดกู้ ห่วงรัฐอัดฉีดแต่ฟันเฟืองไม่หมุน


น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ให้สัมภาษณ์กรณีรัฐบาลเตรียมกำหนดแนวทางการออกพระราชกำหนดกู้เงินกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจว่า หากรัฐบาลมีงบประมาณไม่เพียงพอและมีความจำเป็นต้องกู้ย่อมสามารถกระทำได้ แต่อยากให้พิจารณาข้อเสนอที่พรรคเพื่อไทยได้แถลงไปก่อนหน้านี้ ว่าควรใช้เงินในกระเป๋าตัวเองก่อนจะดีกว่าหรือไม่ วันนี้รัฐบาลมีงบกลางที่กันไว้ใช้ยามฉุกเฉินเหลืออยู่พอสมควร หากบวกเข้ากับโครงการในงบประมาณปี 2563 หลายรายการที่ชะลอได้ จะมีตัวเลขกลมๆเกือบ 2 แสนล้าน ขณะนี้ทั่วโลกประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเหมือนกัน ดังนั้นการชะลอโครงการที่ไม่จำเป็นย่อมทำได้ไม่ยาก เช่นโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ โครงการฝึกศึกษาและดูงานต่างประเทศ โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ โครงการเช่าซื้อรถประจำตำแหน่ง ฯลฯ เป็นต้น หากโยกงบเหล่านี้มาใช้ก่อนจะทำให้ภาระการกู้ลดลงเหลือเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

“ผมเห็นด้วยกับมาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำหนดออกมา เพื่อช่วยเหลือประชาชนและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นต้องกู้เงิน ก็ควรกู้เท่าที่จำเป็นและใช้เงินในกระเป๋าตัวเองให้คุ้มค่าเสียก่อน แม้ฐานะการคลังของประเทศจะแข็งแรงและไม่มีปัญหากับการกู้เงินครั้งนี้ก็ตาม แต่การที่รัฐบาลตั้งใจนำเงินกู้มาแก้ปัญหาทั้งหมด โดยไม่ใช้เงินในกระเป๋าตัวเอง ผมคิดว่าอาจไม่ใช่วิธีการที่ฉลาดและดีที่สุด”

นอกจากนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ ยังกล่าวว่า ตนเองสนับสนุนมาตรการชดเชยรายได้ของรัฐบาลและอยากให้เร่งดำเนินการแจกให้ถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด แต่การแจกเงินเพียงอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอกับการแก้ไขปัญหา เพราะเงินที่อัดฉีดให้ประชาชนเปรียบเสมือนน้ำมันหล่อลื่น หากฟันเฟืองธุรกิจต่างๆยังไม่หมุน อัดฉีดไปเท่าไหร่เศรษฐกิจก็ไม่ฟื้น เพราะประชาชนยังทำมาหากินไม่ได้ ดังนั้นนอกจากมาตรการแจกเงินแล้ว รัฐบาลต้องหาวิธีการให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตและทำมาหากินได้ตามปกติ โดยเริ่มจากธุรกิจที่สามารถควบคุมได้และไม่กระทบกับการป้องกันการแพร่ระบาด เพื่อให้ธุรกิจและแรงงานที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองน้อยใหญ่เหล่านี้หมุนไปข้างหน้า โดยมีเงินชดเชยของรัฐบาลช่วยหล่อลื่นให้คล่องตัวและหมุนเร็วขึ้น

“ผมเกรงว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้ เศรษฐกิจจะพังพินาศย่อยยับไปเรื่อยๆ การปิดเมืองเป็นเรื่องที่ถูกต้องแต่ต้องมีมาตรการรองรับ ไม่ใช่ตัดสินใจปิดเมืองแล้วให้ทุกคนอยู่บ้านเพียงอย่างเดียว ขณะนี้เมื่อประชาชนเรียนรู้การป้องกันตัวได้แล้ว รัฐบาลควรเร่งผ่อนคลายธุรกิจที่ไม่อันตรายก่อน ก่อนหน้านี้รัฐบาลยอมให้ธุรกิจบางประเภทเช่นร้านสะดวกซื้อเปิดบริการได้ ผมจึงมั่นใจว่ารัฐบาลย่อมพิจารณาธุรกิจอื่นๆให้เปิดบริการได้เช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่มีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด หรือธุรกิจที่สามารถเว้นระยะเพื่อป้องกันความเสี่ยง หากธุรกิจใดไม่กระทบกับการแพร่ระบาดหรือมีมาตรการป้องกันที่รัดกุม รัฐบาลควรเร่งพิจารณาโดยด่วน เพราะหากปล่อยให้สภาพเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่อาจอดตายก่อนเป็นโควิดตายก็ได้” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563

"จาตุรนต์" เตือนรัฐ หยุดผลักชาวโซเชียลมีเดียเป็นศัตรู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


อย่าผลักชาวโซเชียลมีเดียไปเป็นศัตรู

ชาวโซเชียลมีเดีย ชาวเน็ตคือกำลังสำคัญของสังคมในการสู้กับวิกฤตโควิด รัฐบาลต้องไม่ผลักให้เขาเป็นศัตรู เลิกคิดแต่จะจับผิด ขู่จะใช้พรก.เล่นงานทุกครั้งที่แถลงข่าวแบบนี้

ในการรับมือกับโควิด โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตมีศักยภาพช่วยในการแก้ปัญหาได้มากในหลายด้าน ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีบางประเทศเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเราเช่นเกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยงานในหลายมิติเช่นการติดตามความเคลื่อนไหวและดูแลผู้ที่อยูระหว่างการกักตัว รวบรวมข้อมูลผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ แสดงข้อมูลอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็นเช่นหน้ากากฯลฯ รวมทั้งการทำกิจกรรมต่างๆอีกสารพัด

ประเทศไทยยังใช้เทคโนโลยีเหล่านี้น้อยมาก

ถ้าจะคิดเรื่องพวกนี้ เช่นจะคิดทำแอ็พหรือแพล็ตฟอร์มหรือวางระบบหรือใช้อาสาสมัครสำหรับเรื่องแบบนี้ ก็ชาวโซเชียลมีเดียนี่แหละที่เก่งเรื่องแบบนี้อยู่เยอะแยะ

ชาวโซเชี่ยลมีเดียยังช่วยให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนได้อย่างมาก ที่ผ่านมาก็สามารถหาความรู้จากผู้เชี่ยวชารระดับโลกหรือประสบการณ์จากประเทศต่างๆมาเผยแพร่อยู่เสมอ

ส่วนเรื่องเฟคนิวส์ รัฐบาลไม่น่ากังวลเกินเหตุ สังคมโซเชี่ยลมีเดียมีระบบวิธีจัดการกับเฟคนิวส์อย่างได้ผลอยู่เหมือนกัน ใครเสนอข้อมูลผิดๆ ก็จะมีคนเสนอความจริงมาแก้ ที่ผ่านมายังไม่เห็นมีเฟคนิวส์ในโซเชี่ยลมีเดยที่ทำให้เสียหายมากๆสักเรื่อง

จะว่าไปรัฐบาลต่างหากให้ข้อมูลน้อยและเสนอเฟคนิวส์อยู่บ่อยๆ รัฐมนตรีสาธารณสุขบอกว่าโควิดก็แค่หวัดธรรมดา หน้ากากมีพอ รัฐมนตรีพาณิชย์บอกว่าจะผลิตเท่านั้นเท่านี้ มีสต๊อคเป็นร้อยๆล้านชิ้นและห้ามส่งออก นายกรัฐมนตรีพูดหลายครั้งว่าโรงพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์มีเพียงพอ ล้วนเป็นเฟคนิวส์ที่ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจผิด ประมาทและไม่หาทางแก้ปัญหา

ส่วนเรื่องความเห็นต่างนี่อย่าคิดเหมือนเรื่องการเมืองตอนที่มีศอฉ. จะทำให้คนมีความเห็นดีๆไม่กล้าเสนอความเห็นหรือสะท้อนปัญหา เรื่องโควิดนี้ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญก็ยังเห็นต่างกัน

รัฐบาลต้องเลิกมองผู้เห็นต่างเรื่องการแก้ปัญหาโควิดเป็นฝ่ายตรงข้าม เอาโซเชียลมีเดียเป็นพวก ส่งเสริมให้ผู้คนได้สะท้อนปัญหาเสนอความคิดเห็น

ส่วนกระทรวงดิจิทัล ต้องเลิกทำตัวเป็นเกสตาโป มีงานที่ท่านต้องทำอีกมาก เราอาจจะต้องอยู่กับปัญหาโควิดอีกเป็นปี จะใช้ Internet of Things ให้เป็นประโยชน์อย่างไรต่อการแก้ปัญหาโควิดอย่างไร ดิจิทัลอีคอนอมี จะเป็นเรืองสำคัญ กระทรวงท่านจะทำยังไง ถ้าโรงเรียนเปิดไม่ได้ ท่านจะวางแผนการเรียนการสออนออนไลนตั้งแต่ตอนนี้ยังไง เป็นหน้าที่ของท่านและรัฐบาลนี้ทั้งนั้น อย่ามัวเอาเวลาไปหาตำรวจมาเพิ่มไล่จับชาวโซเชี่ยลมีเดียอยู่เลย

นายกฯแถลงข่าวดูดีขึ้น แต่เรื่องขู่โซเชียลมีเดียนี่ควรเปลี่ยนความคิดได้แล้วครับ

"เพื่อไทย" เร่งรัฐเอาผิด ละเลย-ปล่อยเชื้อแพร่สนามมวย


นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฏร เปิดเผยกรณีการที่กองทัพบกไม่ยกเลิกการแข่งขันชกมวยที่สนามมวยลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา ทั้งๆที่การกีฬาแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึงนายสนามมวยลุมพินีเพื่อแจ้งข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ก่อนมีการชกมวยเกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปอย่างกว้างขวางนั้น

ตนเองในฐานะกรรมาธิการทหารซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของกองทัพโดยตรงเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหม ต้องตั้ง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้โดยด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เพราะเรื่องนี้จะปล่อยให้เงียบหายไปกับสายลมแบบนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะตัวละครสำคัญที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงก็ปรากฏหลักฐานอยู่ทนโท่ ตนเองจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องว่านายกรัฐมนตรีจะนำผู้ที่กระทำความผิดมาลงโทษได้หรือไม่? เพราะวันนี้ชาวบ้านสะท้อนความเห็นกันมาแล้วว่า สุดท้ายเรื่องนี้ก็จะกลายเป็น “มวยล้มต้มคนดู” เหมือนคดีอื่นที่หาคนผิดไม่ได้

“ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านต้องสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาคนผิดโดยด่วน เพราะ เรื่องนี้ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก และท่านต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยสุจริต ในฐานะที่ สนามมวยลุมพินี อยู่ในการกำกับดูแลของกองทัพบก ท่านนายกฯจะปล่อยให้เรื่องนี้เงียบหายไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะชาวบ้านจะรู้ทันทีว่าท่านตั้งใจอุ้มใครอยู่”

นายประเสริฐยังกล่าวต่อไปอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่กองทัพบกจะต้อง ยกเครื่องสนามมวยลุมพินี ให้ถูกต้องตาม วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสนามมวยแห่งนี้ คือเป็นสวัสดิการของข้าราชการกองทัพบก และส่งเสริมศิลปะมวยไทย ไม่ใช่เป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และเป็นแหล่งอบายมุขในรูปแบบต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งในสนามมวยแห่งนี้ เช่น การปาระเบิด การยิงกัน เป็นต้น และครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา ยังฝ่าฝืนให้มีการจัดการชกมวย จนทำให้คนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวนมาก และกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคระบาดไป ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศอย่างไม่ควรเกิดขึ้น

“ผมจะคอยดูว่า ผู้รับผิดชอบจะดำเนินการเรื่องนี้ให้ถูกต้องหรือไม่ วันนี้กองทัพต้องเป็นที่พึ่งที่หวังให้กับประชาชน ผมเชื่อมั่นในรากฐานของประเทศนี้ว่ามีความมั่นคงและแข็งแกร่งมาโดยตลอด และหวังว่าผู้มีอำนาจจะไม่ทำให้ความดีงามเหล่านี้ต้องพังคามือตัวเองในเวลาอันใกล้” นายประเสริฐกล่าว///

“เผ่าภูมิ” เตือนรัฐรับมือผลกระทบหากเคอร์ฟิว


ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง แนวคิดการเคอร์ฟิวประเทศว่า

ผมเข้าใจความกังวลในมิติและมุมมองทางด้านสาธารณสุข ซึ่งผมเห็นพ้องและเคารพ แต่อีกมุมมองที่ควรพิจารณาคู่กันคือมิติด้านเศรษฐศาสตร์ เรากำลังมีอีกวิกฤติหนึ่งรออยู่ หากเราควบคุมวิกฤติทางโรคระบาดด้วยต้นทุนที่สูงเกินจริง มันเป็นการซื้อเวลาวิกฤติหนึ่ง ด้วยราคาของอีกวิกฤติหนึ่ง ซึ่งมีอันตรายไม่น้อยไปกว่ากันเลย

สิ่งๆนั้น เรียกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการล้มตายของธุรกิจ การตกงาน และหากลามถึงปัญหาในระบบสถาบันการเงิน จะเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

บางแนวคิดอาจมองว่าเจ็บแต่จบ แต่ภาวะ "จบแต่เจ็บจนเกินเยียวยา" ก็อาจจะเกิดขึ้น

ปัจจุบันที่รัฐบาลทำคือการปิดไม่ให้คนเข้าออกประเทศ แต่ยังไม่ได้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด (มีปิดห้าง ปิดโรงหนัง ร้านอาหารบ้าง ตามจำเป็น ฯลฯ)

ผมเห็นว่า ระดับนี้เป็นขั้นมากสุดที่เศรษฐกิจไทยจะรับไหวแล้ว หากเราเดินไปถึงขั้นหยุดทุกอย่างในประเทศ เรากำลังแก้ปัญหาหนึ่ง ด้วยการสร้างอีกปัญหาหนึ่งขึ้นมา

ญี่ปุ่น ใต้หวัน สิงค์โปร์ ก็ทำแบบเราที่ทำอยู่ในตอนนี้….เท่านั้น ไม่ได้ไปไกลแบบอู่ฮั่นโมเดล

แต่ละประเทศมีกลไก เงินกองทุนของธนาคาร และกันชนทางการเงินของประเทศและธุรกิจที่ต่างกัน ผมเรียกมันว่า “สายป่านของประเทศ” อเมริกา จีน ยุโรป มีสายป่านที่ยาว มีธนาคารกลางที่สามารถทำนโยบายการเงินแบบไม่จำกัดได้

สายป่านของไทย ไม่ได้สั้นมาก แต่ไม่ยาวพอที่จะรองรับการหยุดทุกอย่างในประเทศ แบบที่อู่ฮั่นทำแน่นอน

การหยุดทุกการเคลื่อนไหวหรือเคอร์ฟิว เป็นการใช้ “บ้าน” เป็น “เครื่องป้องกัน” ไม่ให้มนุษย์สัมผัสกับมนุษย์ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเกือบทุกอย่างในประเทศมันต้องหยุดลง เพราะ “บ้าน” มันเคลื่อนที่ไม่ได้

จะดีกว่าไหม ถ้าเราใช้ "เครื่องป้องกัน" ที่สามารถเคลื่อนที่ไปทำงานได้บ้างตามจำเป็น คือการใช้ “กฎหมายควบคุม” ให้ผู้คน 1.ต้องใส่หน้ากาก 2.ต้องใส่แว่น 3.ห้ามทานอาหารร่วมกัน 4. Social Distancing แค่ในช่วง 30-60 วันนี้ ควบคู่ไปกับการหรี่ไฟประเทศแบบที่ทำอยู่ตอนนี้

ผมมองไม่เห็นว่าถ้าเราควบคุมให้ทุกคนทำทั้ง 4 ข้อนี้ เราจะสามารถ “แพร่เชื้อและติดเชื้อ” ได้ในทางไหน และเรายังสามารถไปทำงาน ใช้ชีวิตตามปกติได้ เราทุกคนก็ไม่ต้องตกงาน ธุรกิจก็ไม่ต้องล้ม ไม่ต้องเดิมพันเศรษฐกิจประเทศทั้งประเทศ

ฝากเป็นอีกหนึ่งความเห็นให้รัฐบาลพิจารณาว่า เราอย่าไปไกลจนถึงจุดนั้น

“อนุดิษฐ์” แนะโยกงบรัฐ ช่วยวิกฤติโควิด


น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีรัฐบาลกำหนดมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิดในครั้งนี้ว่า ตนเองต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญและดำเนินการตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยเกือบทั้งหมด แม้จะยังไม่ครบทุกข้อก็ตาม แต่ความช่วยเหลือเหล่านี้จะเป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่ผ่านวิกฤติในช่วงนี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนเองเป็นห่วงก็คือมาตรการทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อเยียวยาจำนวนมหาศาล ขณะเดียวกันกับที่รัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า และ “จีดีพี” ปีนี้จะติดลบอย่างแน่นอน ดังนั้นเงินที่จะนำมาใช้กับมาตรการชดเชยรายได้ให้กับประชาชนเชื่อว่ารัฐบาลจะขอสินเชื่อเงินกู้แน่นอน ซึ่งหากจำเป็นจะกู้ก็ต้องกู้ ขอเพียงรัฐบาลมีวินัยทางการเงินและกู้ที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อเป็นการลดภาระของลูกหลานในอนาคต แต่ที่สำคัญ อยากเสนอแนะให้รัฐบาลใช้เงินตัวเองก่อน ด้วยการชะลอการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็นและโยกเงินเหล่านี้มาใช้ในมาตรการเร่งด่วน เพื่อลดการกู้เงินลงไปให้น้อยที่สุด

“หากดูรายละเอียดของงบประมาณปี 63 จะเห็นว่ามีงบประมาณอยู่หลายหมวดที่เชื่อว่าสามารถเจรจาเพื่อชะลอโครงการออกไปก่อน เช่นโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม การสร้างอาคารสถานที่ราชการใหม่ การเช่าซื้อรถประจำตำแหน่งใหม่ งบฝึกศึกษาอบรมในต่างประเทศ เป็นต้น และผมเชื่อว่าหากเอ็กซเรย์ดีๆจะพบงบประมาณอื่นๆอีกหลายหมวดที่ชะลอได้ ดังนั้นถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และรีบเร่งขอชะลอโครงการ รัฐบาลจะสามารถโยกงบมาสนับสนุนมาตรการฉุกเฉินต่างๆได้ทันทีโดยไม่ต้องกู้ หรือกู้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น”

น.อ.อนุดิษฐ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า เมื่อวานนี้ตนเองได้เข้าประชุมคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. เพื่อร่วมกันสอบสวนกรณีหน้ากากอนามัยขาดตลาดและมีราคาแพง ซึ่งจากการฟังผู้ชี้แจงมาให้ข้อเท็จจริงนั้น พบว่ามีความไม่ชอบมาพากลอยู่หลายประการ โดยเฉพาะสัปดาห์สุดท้ายก่อนการประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ นั้น ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์  ปรากฎว่ามีการรีบเร่งส่งออกหน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมหาศาลถึง 200 กว่าตัน หรือคิดเป็น 70 กว่าเปอร์เซนต์ของปริมาณส่งออกทั้งหมดของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์

“คำถามที่สงสัยก็คือ ทำไมอาทิตย์สุดท้ายก่อนประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ที่ต้องขอใบอนุญาตส่งออก บริษัททั้งหลายจึงรีบส่งออกหน้ากากอนามัยปริมาณมหาศาลมากกว่า 200 ตัน ออกนอกประเทศ เหมือนกับจะทราบล่วงหน้าว่าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ จะส่งออกเสรีไม่ได้ ทั้งๆที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พึ่งออกมายืนยันเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า ประเทศไทยมีสต็อคหน้ากากอนามัยเพียงพอกับคนทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นความจริงทันทีถ้ามันไม่ถูกส่งออกไป แต่สุดท้ายก็ถูกรีบเร่งส่งออกไปทั้งหมด ทำให้อุปกรณ์พื้นฐานในการป้องกันตัวเองของคนไทยขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้นมาทันที”

“เฉพาะวันที่ 1 ถึง 4 กุมภาพันธ์ มีปริมาณส่งออกหน้ากากอนามัยถึง 135 ตัน หรือคิดเป็นจำนวนหลายร้อยล้านชิ้น ผมไม่เชื่อว่าหน่วยงานราชการจะไม่ทราบ โดยเฉพาะก่อนประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม หน่วยงานต่างๆต้องประชุมกันอย่างละเอียดถึงความจำเป็นที่ต้องมีหน้ากากอนามัยใช้อย่างเพียงพอภายในประเทศ เมื่อมีปริมาณส่งออกหน้ากากอนามัยสูงผิดปกติตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ทำไมจึงปล่อยไปเรื่อยๆไม่รีบประกาศควบคุม แต่ไปประกาศในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ หลังหน้ากากอนามัย 200 กว่าตัน ถูกส่งออกนอกประเทศไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ ผมและคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.จะเกาะติดเรื่องนี้ต่อไป และจากข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่าคณะกรรมาธิการทุกคนจะร่วมกันกระชากหน้ากากขบวนการหาผลประโยชน์บนความทุกข์ของคนไทยทั้งประเทศในครั้งนี้ออกมาให้ได้” น.อ.อนุดิษฐ์ทิ้งท้าย

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" แถลง แนะรัฐแก้ปัญหาวิกฤติอย่างจริงจัง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่มีการควบคุมประชาชนในระดับสูง พรรคเพื่อไทยเห็นว่า เมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้ยาแรงแล้วปัญหาต้องจบเร็วที่สุด ไม่ควรเกินระยะเวลาที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ รัฐบาลไทยต้องควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ โดยมีตัวชี้วัด ทางการแพทย์ชัดเจน ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส การบริหารวิกฤติของรัฐบาลค่อนข้าง หละหลวม บกพร่อง โดยรัฐบาลได้ปล่อยปละละเลยมาตรการสำคัญหลายประการ ตั้งแต่เริ่มต้นสภาวะวิกฤติ จนกระทั่งสถานการณ์บานปลาย ปล่อยให้มีการกักตุน และหาผลประโยชน์จาก อุปกรณ์ป้องกันตัว และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งจะเห็นได้จากการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นในโรงพยาบาล จนกระทั่งทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว จนทะลุหลักพันคนในวันนี้ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ และแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ขอให้รัฐบาล ปูพรมในการค้นหาผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ นำผู้ติดเชื้อทั้งหมดมารักษา พร้อมทั้งควบคุมไม่ให้สามารถแพร่เชื้อต่อ

2.ขณะนี้อุปกรณ์ในการดำรงชีวิตให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส ทั้งของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ ขาดแคลนอย่างหนัก และราคาสูงกว่าปกติมาก นายกรัฐมนตรี ควรเรียกความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชนคืนมา ด้วยการจับกุม และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย และลักลอบส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศให้ได้

3.นายกรัฐมนตรี ควรตัดสินใจนำงบกลางมาใช้ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดอย่างเร่งด่วน โดยที่ไม่ต้องสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีก

และ 4.ควรต้องใส่ใจ ในการวางมาตรการเพื่อช่วยเหลือดูแลคนยากจน ผู้มีรายได้น้อย หรือลูกจ้างรายวัน คนหาเช้ากินค่ำที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ และวิกฤตการณ์ต่างๆ ในครั้งนี้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ




"สุดารัตน์" นำเพื่อไทย ขอบคุณรัฐบาลเยียวยาประชาชน

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ขอบคุณรัฐบาลที่ฟังเสียงฝ่ายค้าน โดยได้ออกมาตรการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ตรงตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยนะคะ

การเยียวยาสำหรับผู้ตกงาน ผู้ถูกพักงาน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือนนั้น เราเห็นว่ารัฐบาลใช้งบประมาณเหมาะสมแล้วค่ะ

แต่นอกเหนือจากการเยียวยาดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อเสนอแนะจากพรรคเพื่อไทยอีกหลายเรื่อง ที่จะช่วยเยียวยาประชาชน และภาคธุรกิจรายย่อย SMEs ที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ซึ่งรัฐบาลยังมิได้พิจารณาดำเนินการ

ขอย้ำอีกครั้งว่า ดิฉันและพรรคเพื่อไทยได้เสนอความช่วยเหลือเป็น 3 กลุ่มคือ

1.กลุ่มประชาชนคือ พนักงานลูกจ้างที่ต้องถูกพักงาน เลิกจ้าง รวมทั้งอาชีพอิสระต่าง ๆ และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย

2 กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก SMEs ร้านค้าย่อย ทุก Sector ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สปา รับจัด Event และอื่น ๆ

3 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เช่น ภัยแล้ง และ COVID

ซึ่งดิฉันได้เสนอมาตรการทั้งหมดของพรรคเพื่อไทยไปแล้ว ในโพสต์วันที่ 23 มีนาคม แต่รัฐบาลยังไม่พิจารณาให้ครบถ้วน จึงขอเสนอซ้ำอีกครั้งนะคะ เพื่อให้รัฐบาลเร่งพิจารณาดำเนินการ บรรเทาทุกข์ให้ประชาชน, ธุรกิจรายเล็กและเกษตรกรอย่างเร่งด่วน

ตาม Infographic ด้านล่าง 3 ตารางนี้

ตารางที่ 1 คือ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ตกงาน ถูกพักงาน ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประกันสังคม รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบ พ่อค้าแม่ขายรายย่อย, Taxi, วินมอเตอร์ไซค์, ไกด์ เป็นต้น

ตารางที่ 2 คือ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง SMEs ร้านค้ารายย่อย และทุกประเภท ที่ได้รับผลกระทบ

ตารางที่ 3 คือ มาตรการช่วยเหลือ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง และ COVID-19

ขอให้รัฐบาลรีบนำไปพิจารณานะคะ โดยเกลี่ยหรือปรับเปลี่ยนจากงบประมาณปี 63 ในส่วนที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน เช่น งบซื้ออาวุธ งบอบรมสัมมนางบสร้างตึกใหม่ เป็นต้น โดยขอให้รีบดำเนินการ

หากรัฐบาลอนุมัติโครงการเหล่านี้ และดำเนินการอย่างโปร่งใส โดยปราศจากการหาผลประโยชน์จากความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว

ดิฉันเชื่อว่า ทั้งฝ่ายค้านตลอดจนประชาชนทั้งประเทศ จะยินดีสนับสนุนการใช้งบประมาณดังกล่าวค่ะ

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

"ทวี" ชี้ พรก.ฉุกเฉิน เป็นวาระเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


เมื่อ พรก.ฉุกเฉิน ถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาโรคติดต่ออันตราย ไวรัส COVID-19

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาใช้ในการแก้ปัญหาโรคระบาด ทั้งที่มีอำนาจในการบริหารสถานการณ์ภายใต้ พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่บัญญัติขึ้นเพื่อการป้องกันและการควบคุมโรคติดต่ออยู่แล้ว

สาระสำคัญของกฎหมาย 2 ฉบับนี้ มีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งในเชิงปรัชญา กลไกและความเชี่ยวชาญของผู้ใช้อำนาจบริหาร โดย พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มี “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ” จำนวน 30 คน ส่วน พรก. ฉุกเฉิน มี “คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน” จำนวน 19 คน

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แม้มีตำแหน่งที่ซ้ำกัน 5 ตำแหน่ง ส่วนอีก 25 ตำแหน่งที่ไม่ซ้ำจะมีหน้าที่ในการป้องกัน รักษาและขจัดโรคติดต่อเป็นส่วนใหญ่ อาทิ รมว. สาธารณสุข, ปลัดกระทรวงสาธารณะสุข, อธิบดีกรมการแพทย์, อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, อธิบดีกรมอนามัย, ผู้แทนแพทยสภา, ผู้แทนสภาการพยาบาล, ผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยมีอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและเลขานุการ

ขณะที่องค์ประกอบหลักของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน จะเป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ และหน่วยงานด้านความมั่นคง เป็นส่วนใหญ่

พรก.ฉุกเฉิน มีจุดกำเนิดเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี พ.ศ.2548 ภายหลักเหตุการณ์วางระเบิดเมืองยะลาเป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับทั้งตัวเมืองติดต่อเป็นเวลานาน จึงได้กำหนด พรก. ฉุกเฉิน ขึ้นใช้บังคับต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ส่วน พรบ. โรคติดต่อนั้น เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีรับพันธะกรณีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่กำหนดเรื่องการป้องกัน รักษาและควบคุมโรคระบาด มีจุดเด่นในการกระจายอำนาจให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีทั้งนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ ที่อยู่กับปัญหาและมีหน้าที่โดยตรงเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัดด้วย

ดังนั้น การป้องกัน รักษาและควบคุมโรคระบาด ปรัชญา ที่มา และการดำเนินการ อีกทั้งความรู้ที่ใช้ จะเป็นเรื่องการสาธารณสุข การแพทย์ พยาบาล เภสัชศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ วิจัย ค้นคว้าเป็นส่วนใหญ่ จึงแตกต่างกับ พรก. ฉุกเฉิน อย่างสิ้นเชิง

แต่อย่างไรก็ตาม การประกาศ พรก.ฉุกเฉิน อาจมีข้อดีที่ทำให้ประชาชนตระหนักรู้ว่าสถานการณ์ที่สังคมไทยและโลกเผชิญอยู่เป็นภัยพิบัติจากโรคติดต่ออันตรายรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติที่พลเมืองต้องร่วมมือ ร่วมใจกันแก้ไขปัญหานี้ในทุกมิติ โดยยึดหลักว่า

“ความอยู่รอดของมนุษย์ย่อมสำคัญกว่าสิ่งใด”

"ชัชชาติ" ชวนประชาชนผลิตหน้ากาก-เจลล้างมือ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ผมเองเกิดที่ซอยทองหล่อ อยู่มาตั้งแต่เด็ก สมัยเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อนแถวนี้ยังเป็นชานเมือง ทองหล่อเป็นซอยเล็กๆสองเลน มีคลองอยู่ฝั่งนึง มีฝูงวัวออกมาเดินในซอย บางทีเข้ามากินใบไม้ในบ้าน

ในทองหล่อ มีชุมชนอยู่แห่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่ ชื่อชุมชนหลังสถานีทองหล่อ ตั้งอยู่บนพื้นที่คลองระบายน้ำเดิมที่อยู่ระหว่างกำแพงของคอนโดทองหล่อทาวเวอร์กับกำแพงของสถานีตำรวจทองหล่อ ชุมชนมีบ้านอยู่ประมาณ 42 หลังคาเรือน มีคนอยู่ประมาณ 200 คน เด็กๆก็จะเรียนโรงเรียนแถวนั้น เช่น โรงเรียนวัดภาษี โรงเรียนแจ่มจันทร์ โรงเรียนวัดธาตุทอง ส่วนคนทำงานก็จะทำงานในละแวกทองหล่อ เป็นแม่บ้าน แม่ครัว ทำงานในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ขับรถส่งของ ในแถบซอยทองหล่อ เอกมัย

ชุมชนนี้เป็นเหมือนกับชุมชนอีกสองพันกว่าแห่งที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโควิดรุนแรง เริ่มจากสภาวะทางเศรษฐกิจ คนในชุมชนนี้ น่าจะเป็นกลุ่มแรกๆที่ถูกกระทบ โดนให้หยุดงาน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน หลายคนที่นั่งอยู่กับบ้านเฉยๆมาหลายอาทิตย์ จากนั้นที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องสุขภาวะ เพราะสภาพการเป็นอยู่ที่แออัด การขาดแคลนอุปกรณ์อนามัยขั้นพื้นฐาน ทั้งหน้ากาก เจลล้างมือ เศรษฐกิจกับสุขภาพคือเรื่องเดียวกัน

วันนี้ผมชวนเพื่อนๆอาสาสมัคร แวะมาที่ชุมชนใกล้บ้านนี้ โดยเรามาสอนให้ชาวชุมชนทำแอลกอฮอล์เจลไว้ใช้ จัดเตรียมวัตถุดิบ (ซึ่งหายากมากๆ) หาหน้ากากผ้าซึ่งผลิตโดยชาวสลัมสี่ภาคมาแจกให้กับชุมชน ให้ความรู้เรื่องสุข อนามัย การล้างมือ การดูแลตัวเอง รับฟังปัญหา โดยพยายามรักษาระยะห่างสองเมตร ซึ่งทำได้ค่อนข้างยากในวิถีชีวิตของชาวชุมชน รู้ได้เลยว่า ชุมชนอยู่ในสภาพที่เปราะบางมากทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้าและความเสี่ยงจากไวรัส ที่เข้ามาใกล้ตัวเข้าทุกที

ขณะที่สังคมกำลังอยู่ห่างกันเพื่อลดการระบาดของไวรัส แต่เรายังคงต้องใกล้กันให้มากขึ้นในความห่วงใย การดูแลกันและกัน ในภาพใหญ่ เราให้กำลังใจบุคลากรของภาครัฐในการแก้ปัญหา แต่ในระดับเส้นเลือดฝอย ถ้าเราพอมีกำลังที่จะทำอะไรให้กับคนใกล้ๆตัวได้บ้าง ขอให้เราช่วยกันนะครับ

ในวิกฤติไวรัสโควิด เรารอดคนเดียวไม่ได้ เราต้องรอดด้วยกัน

"วัฒนรักษ์" ถามประยุทธ์ ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใครได้ประโยชน์?


ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษ และหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดทั่วประเทศ เป็นเพราะประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดหรือไม่? จึงทำให้เกิดการบริหารราชการที่ล่าช้า ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยประสบกับวิกฤตโควิด-19 จนประชาชนไม่สามารถออกจากบ้านได้ ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งๆที่บ้านเราเป็นเมืองร้อน สามารถแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้ง่ายกว่าเมืองหนาวมากมายนัก

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรใช้ยุทธวิธีหยุดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างชาญฉลาด และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนจะดีกว่าหรือไม่? หากรัฐบาลต้องการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อมาแก้ไข ปัญหาการควบคุมโรคระบาด ก็ควรที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และไม่ควรมีการควบคุมสื่อ หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน จนทำให้การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งนี้ของรัฐบาลดูขัดกับหลักความเป็นจริง และจากการที่รัฐออกมาตรการปิดห้างสรรพสินค้าและสถานบริการหลายแห่ง จนทำให้ประชาชนต้องแห่ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาเก็ต และร้านสะดวกซื้อนั้น เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนหรือไม่ และไม่ควรให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ กำหนดโทษร้ายแรง  จับกุม ควบคุมตัว ตรวจค้น โดยไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา และวินัย หากจำเป็นต้องใช้ก็ควรให้อยู่ในกรอบการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เพียงเท่านั้น ท้ายที่สุด คณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกท่านและ ประชาชนชาวไทยทุกคน ร่วมกันก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน และขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ตระหนักว่า ศึกครั้งนี้มีชีวิตของคนไทยทั้งประเทศเป็นเดิมพัน

“เรืองไกร” ร้องนายกฯ สอบที่มาไวรัสระบาดจากเวทีมวย


นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา แจ้งว่าจากข่าวเว็บไซต์แห่งหนึ่งที่ระบุว่าการชกมวยที่สนามมวยเวทีลุมพินี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น การกีฬาแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึงนายสนามมวยเวทีลุมพินี เพื่อแจ้งข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีตามมติครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ให้ทราบก่อนถึงวันชกมวยแล้ว

นายเรืองไกรกล่าวว่า จากข่าวและหนังสือดังกล่าวเมื่อตรวจสอบกับเว็บไซต์ครม. พบข้อสั่งการตามมติครม.ดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ข้อ 1.7 ที่ระบุว่า

“1.7 ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนหลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่จำเป็น เช่นการแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต และการจัดมหรสพ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีความจำเป็นต้องจัดกิจกรรมโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

ในกรณีที่เป็นกิจกรรมที่ต้องขออนุญาตจากส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ที่เป็นผู้มีอำนาจอนุญาตพิจารณาตามความเหมาะสมของการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก ให้พิจารณาอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสาธารณชนโดยรวมต่อการแพร่ระบาดของโลกเป็นสำคัญ”

จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ควรมีผลบังคับไปถึงสนามมวยเวทีลุมพินีด้วย เพราะเป็นของกองทัพบกและมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธานอำนวยการสนามมวยเวทีลุมพินี

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า การไม่ปฏิบัติตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดจาก COVID-19 เกิดขึ้นตามมาอีกจำนวนมาก กรณีนี้จึงต้องส่งหนังสือทาง EMS ให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบต่อไปว่า ในการจัดชกมวยที่สนามมวยเวทีลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) แพร่ระบาดตามมาอย่างมากนั้น มีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใดจงใจฝ่าฝืนข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีตามหนังสือด่วนที่สุด ที่นร 0505/ว 86 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2563 ข้อ 1.7 หรือไม่

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563

"อนุสรณ์" ติงรัฐ สื่อสารไม่ชัดเจน

"อนุสรณ์" ชี้ ถ้ารัฐบาลสื่อสารชัดเจน ประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือแก้ปัญหา COVID-19


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงมาตรการสำคัญสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 เป็นต้นไป จะมีการใช้ พระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ว่า สรุปเป็นการแถลงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ยังไม่ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันนี้ นอกเหนือจากการที่ประชาชนต้องเสียสมาธิกับการแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ เดี๋ยวหน้ากากอนามัยหลุด เดี๋ยวแว่นตาหล่น แถลงเสร็จก็ลุกลี้ลุกลนเดินออกไป ไม่ได้อยู่ตอบคำถามเพิ่มเติมใดๆจากนักข่าว ส่วนของเนื้อหาที่แถลงก็ดูว่ามีความย้อนแย้งอยู่ในตัวเอง คือ จะประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 26 มี.ค.2563 เป็นต้นไป แต่เบื้องต้นจะขอความร่วมมือจากประชาชนก่อน ประชาชนจึงเกิดคำถามว่า ถ้าจะใช้วิธีการขอความร่วมมือแล้วทำไมต้องประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลักการสำคัญของการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ ไม่ควรมีเป้าหมายเพื่อการควบคุมสื่อ หรือลิดดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงไม่ควรมีการขยายขอบเขตของการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปเพื่อการอื่น มีคำถามว่าหลังการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากประชาชนจะร้องเรียนเรื่องหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ ขาดตลาดหรือราคาแพง จะสามารถร้องทุกข์กับรัฐบาลได้หรือไม่? จะตกเป็นกลุ่มที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่?

 “ประชาชนมีความตื่นตัว และพร้อมอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่มาตรการใดๆที่ออกมา หากแถลงให้มีความชัดเจนได้มากและทันสถานการณ์ ประชาชนก็พร้อมจะปฏิบัติตัวให้ถูกและให้ความร่วมมือกับแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ดีขึ้น” นายอนุสรณ์ กล่าว

"จาตุรนต์" ติงรัฐใช้พรก.ฉุกเฉินอย่างไม่ฉุกเฉิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ใช้พรก.ฉุกเฉินอย่างไม่ฉุกเฉิน

การที่ครม.มีมติให้ใช้พรก.ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีค.โดยไม่ได้ประกาศมาตรการใดๆทำให้ผู้คนผิดหวังกันไปทั่ว

การรับมือแก้ปัญหาโควิด19 เป็นไปอย่างไม่มีทิศทาง ขาดเอกภาพ ไม่มีนโบายและมาตรการที่ชัดเจน ไม่มีประสิทธิภาพ ล่าช้าไม่ทันการณ์ ทำให้การระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีแนวโน้มที่น่าวิตก

มีการเสนอจากนายแพทย์นักวิชาการและฝ่ายต่างๆถึงความจำเป็นที่จะตองใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นและรีบแก้ปัญหาต่างๆที่มีอยู่ให้ได้โดยเร็ว เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประชาชนจึงคาดหวังว่าจะเป็นการประกาศพร้อมกับมาตรการที่เข้มข้น เป็นระบบที่จะสามารถแก้ปัญหาสำคัญๆได้

แต่ประชาชนต่างก็ต้องผิดหวังเพราะเป็นประกาศที่ไม่ได้มีมาตรการหรือความคืบหน้าในการแก้ปัญหาใดๆเลย ซ้ำการที่มีมติให้ใช้พรก.ฉุกเฉินในวันที่ 26 มีค. ซึ่งห่างออกไปอีกถึง 2 วัน ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้เห็นสถานการณ์ขณะนี้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินจริงอย่างชื่อพรก.

ครม.รออะไร ในเมื่อไวรัสไม่เคยรอใครรอใคร?

ผมทราบความเป็นมาของการมีพรก.ฉุกเฉินฉบับนี้ดีและเคยเป็นผู้ใช้พรก.นี้แทนนายกรัฐมนตรีมาก่อน ความเป็นมาและวัตถประสงค์ของการมีพรก.ฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหาความไม่สงบเป็นหลัก แม้จะมีข้อความเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติอยู่บ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่พรบ.นี้จะให้ความสำคัญ

ความจริงพรบ.โรคติดต่อและกฎหมายทางด้านสาธารณสุขก็ให้อำนาจรัฐบาลและทางราชการแก้ปัญหาได้มากมายอยู่แล้ว แต่ก็พอเข้าใจว่าที่ใช้พรก.ฉุกเฉินเพราะต้องการให้นายกฯมีอำนาจสั่งการตามพรบ.ต่างๆได้โดยรวมศูนย์อำนาจมาอยู่ที่นายกฯแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนั้นก็ต้องการใช้อำนาจในการสั่งการต่างๆที่จำเป็นได้

แต่ปัญหาก็คือพรก.ฉุกเฉินนี้มีสาระที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรค โครงสร้างของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีนายกฯเป็นประธาน เต็มไปด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพและมีเลขาธิการสภาความมั่นคงเป็นเลขานุการนั้น จะหวังให้คณะกรรมการชุดนี้มานำหรือกำกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดไม่ได้ ยิ่งฟังนายกฯแถลงว่าศอฉ.จะประชุมแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆในแต่ละวัน ยิ่งทำให้เป็นว่าการใช้พรก.ฉุกเฉินจะไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพและไม่มีองค์กรนำอย่างเป็นระบบที่เป็นอยู่ได้

นอกจากนี้ กฎหมายนี้ยังให้อำนาจนายกฯเกินจำเป็นที่อาจนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้องเช่นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนเป็นต้น

จากที่นายกฯแถลงวันนี้ ทำให้เกิดความวิตกกันว่าวัตุประสงค์แท้จริงของการเลือกใช้พรก.ฉุกเฉินอาจจะเป็นเพราะรัฐบาลต้องการจัดการกับสื่อและประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล ซึ่งหากเป็นจริงจะเป็นอันตรายต่อการแก้ปัญหาอย่างมากเพราะจากประสบการณ์ของประเทศต่างๆบอกเราว่าสิ่งที่ทำให้ประเทศต่างๆแก้ปัญหาได้ดีก็คือความโปร่งใสตรวจสอบได้และการให้มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น

อย่าลืมว่าการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริงได้ทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงในบางประเทศมาแล้ว

สถานการณ์ในขณะนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ น่าเสียดายที่ในการแถลงวันนี้นายกฯไม่ได้แสดงให้เห็นทิศทางในการแก้ปัญหา แถลงมติครม.ที่คนรอฟังกันทั้งประเทศเสร็จแล้ว ไม่ทำให้เห็นความหวังได้บ้างเลยว่าจะทำอย่างไรให้สถานการณ์ดีขึ้น

ก็คงต้องรอดูว่าการใช้พรก.ฉุกเฉินและการจัดตั้งศอฉ.ขึ้นจะทำให้เกิดทิศทาง นโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหาที่ชัดเจนหรือไม่?

แต่อีก 2 วันปัญหาจะเลวร้ายลงไปอีก มีปัญหามากมายทีมีอยู่ต้องการการแก้ไขโดยเร็ว

ขณะนี้โรงพยาบาล เตียง ห้องไอซียู เครื่องช่วยหายใจ เครื่องป้องกันการติดเชื้อของหมอพยาบาล ขาดแคลนอย่างหนักแล้ว เวลานี้ต่างคนต่างหาทางแก้ปัญหากันจ้าละหวั่นไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพดูแล หน้ากาก เยลล้างมือสำหรับประชาชนขาดแคลนมาตลอดก็ยิ่งขาดแคลนหนักขึ้น ต้องแก้วันนี้และคงต้องแสดงให้เห็นว่าเมื่อใช้พรก.ฉุกเฉินและศอฉ.แล้วจะแก้อย่างไร

การกักตัวเฝ้าระวังที่เป็นระบบขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีเลย จะต้องสร้างขึ้น มิฉะนั้นจะกลายเป็นมีคนติดเชื้อมหาศาลจนหมอพยาบาลดูแลไม่ไหว ล่มทั้งระบบ ป่วยแล้วไม่มีใครรักษา

ถึงอย่างไรประเทศไทยต้องไปถึงจุดที่ต้องล็อคดาวน์ทั้งประเทศแน่ ยิ่งเนิ่นนานไปอย่างที่รีๆรอๆอยู่ก็ยิ่งเสียหาย ควรจะต้องมีการวางแผนเตรียมการที่จะดูแลประชาชนที่จะต้องหยุดงานอยู่บ้านกันจำนวนมหาศาล กิจการห้างร้านที่ปิดจะได้รับการดูแลอย่างไรและกิจการที่จำเป็นต้องเปิดต่อไปจะช่วยเขาอย่างไร และต้องมีการวางแผนทั้งระบบไม่ให้เกิดความโกลาหล

เมื่อใช้พรก.ฉุกเฉิน รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทำอะไรก็ไม่ผิดกฎหมาย จะทำอย่างไรให้เกิดความพอดี ไม่ให้ประชาชนที่ลำบากอยู่แล้วต้องเดือดร้อนจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่มากเกินไป

เรื่องเหล่านี้ต้องเตรียมทั้งนั้น หวังว่าวันที่ 26 มีค.ที่เริ่มใช้พรก.ฉุกเฉิน รัฐบาลจะมีแผนมาตรการที่จะแก้ปัญหาและรองรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2563

“จิรายุ” แนะรัฐ เร่งทำความสะอาด สถานที่เสี่ยง


นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าขณะนี้การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 กระจายไปในพื้นที่ต่างๆมากขึ้นจนน่ากังวลใจ  วันนี้ตนได้รับแจ้งจากญาติผู้ป่วยที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวเองมาที่ตนว่า เขาทำงานอยู่ ตึกใหญ่แถวถนนรัชดาภิเษก เมื่อมีอาการป่วยก็ไปตรวจที่ โรงพยาบาลจุฬา และพบติดเชื้อโควิด-19 ตนจึงได้ประสานงานสำนักงานสาธารณะสุขในพื้นที่ให้เข้าทำความสะอาดบ้านที่มีผู้ติดเชื้อแต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ ว่าผู้ป่วยมีประวัติใกล้ชิดเดินทางหรือทำงานที่ไหนเพื่อให้สังคมได้เกิดความระมัดระวัง

ทำให้ประชาชนไม่สามารถระวังตัวได้ จึงอยากเสนอให้รัฐบาลเร่งเพิ่มมาตรการตรวจสอบการเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อทุกคน ว่าทำงานที่ไหน และเดินทางไปไหนอย่างไรบ้าง เพื่อเข้าไปทำความสะอาดทุกสถานที่ให้ปราศจากเชื้อ ป้องกันไม่ให้การแพร่เชื้อกระจายไปทั่ว และขอให้ประชาชนที่ติดเชื้อให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ด้วย เพราะจะเป็นประโยชน์ทั้งตัวผู้ติดเชื้อเองและประโยชน์สาธารณะ เพราะต่อให้มีมาตรการปิดสถานที่ต่างๆมากแค่ไหน แต่ไม่เร่งทำความสะอาดทุกสถานที่เสี่ยง และการให้ข้อมูลของ การปฏิสัมพันธ์ของผู้ป่วยการป้องกันก็อาจไม่ได้ผล 100% นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลเร่งให้การสนับสนุนศูนย์สาธารณสุขในทุกเขตให้มีความพร้อมในเรื่องของยาฆ่าเชื้อและอุปกรณ์ในการทำความสะอาดด้วย เพราะเท่าที่ทราบบางที่อุปกรณ์ไม่เพียงพอ วันนี้ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อให้ประเทศผ่านวิกฤติไปให้ได้

ศูนย์โควิดเพื่อไทย แนะรัฐ ออกมาตรการทางเศรษฐกิจ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แถลงการณ์ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและติดตามการแก้ไขปัญหาการระบาด ของโรคไวรัสโคโรนา 2019 พรรคเพื่อไทย (ศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19) ล่าสุด ระบุว่า มาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบวิกฤต COVID-19 จากมาตรการของรัฐบาลให้ปิดสถานประกอบการ คือเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการควบคู่กับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด  โดยเฉพาะต้องเร่งช่วยคนตัวเล็ก คือ พนักงาน, ลูกจ้าง, ผู้ใช้แรงงาน จากมาตรการปิดสถานที่ต่าง ๆ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่าง SMEs โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว, ร้านอาหาร, ร้านค้าปลีกรายเล็ก และอื่น ๆ

โดยขอเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบดังต่อไปนี้

1. มาตรการสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ต้องถูกเลิกจ้าง คนตกงาน ถูกพักงาน 
1.1 สำหรับคนที่ต้องออกจากงาน ตกงาน หรือพักงาน เพราะผลกระทบจาก Covid-19  เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (หากมีงานทำก่อน ก็ยกเลิกการอุดหนุนเบี้ยยังชีพนี้)
1.2 พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทุกประเภท ให้ประชาชน ทั้งหนี้ผ่อนบ้าน, ผ่อนรถ มอเตอร์ไซค์, ผ่อนรถยนต์, ผ่อนเครื่องมือทำการเกษตร หรือผ่อนเครื่องมือทำมาหากินอย่าง คอมพิวเตอร์  (ที่เป็นหนี้มาก่อน ไม่ใช่หนี้ใหม่) เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนเป็นเบื้องต้นนับตั้งแต่เดือนมีนาคม
1.3 ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ประชาชนทุกประเภท 
1.4 สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังต้องถูกกัดตัว 14 วัน ต้องจ่ายชดเชยรายได้ให้คนละ 5,000 บาท
1.5 ช่วยลดค่าน้ำค่าไฟ ให้ผู้มีรายได้น้อย ใช้ไม่เกิน 1000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน 
1.6 สำหรับเด็กนักเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์ และพนักงานที่ต้องทำงานจากบ้านให้ใช้อินเตอร์เน็ตฟรี โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งให้เอกชนช่วยสนับสนุนบางส่วน
1.7 ขอความร่วมมือภาคเอกชนงดเก็บค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กอย่างน้อย 3 เดือน โดยลดภาษีให้ผู้ประกอบการ

2. มาตรการสำหรับภาคธุรกิจ
ต้องเร่งช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง SMEs กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มผู้ผลิต ขนาดเล็กขนาดกลาง ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร รับจัดอีเว้นท์ สปา ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดย
2.1 พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือนก่อนในเบื้องต้น นับตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นไป
2.2 ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธุรกิจเล็ก กลางที่ได้รับผลกระทบ ให้เหลือ 3% พร้อมทั้งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เอกชนพอที่จะยืนอยู่ได้ ในสภาวะเช่นนี้ 
2.3 ให้soft Loan “สินเชื่อเพื่อต่อชีวิตธุรกิจ”ในอัตราดอกเบี้ย 1% เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ SMEs  (โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อ และค้ำประกันเงินกู้ให้ธนาคารพาณิชย์)
2.4 ให้เงินอุดหนุนนายจ้าง”ไม่ให้เลิกจ้างพนักงาน” โดยช่วยสนับสนุนค่าจ้างพนักงานบางส่วน
2.5 ลดราคาน้ำมันตามราคาตลาดโลก โดยเฉพาะให้ยกเลิกการเก็บภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนการผลิต
2.6 เลื่อนการจ่ายภาษีนิติบุคคลออกไปอีกหกเดือน สำหรับธุรกิจSMEs และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

3. มาตรการสำหรับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและกำลังมีปัญหาผลกระทบจาก Covid  
3.1 พักชําระหนี้เกษตรกรทุกชนิด 6 เดือน หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น อาจขยายเวลาเพิ่มขึ้น
3.2 เร่งจ่ายชดเชยค่าภัยแล้ง ไร่ละ 2,500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ส่วนเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อยให้ขั้นต่ำ รายละ 25,000 บาท 
3.3 จัดสรรเงิน SML 500,000-800,000-1,000,000 บาท ให้หมู่บ้านนำไปพัฒนาแหล่งน้ำ ถนนในหมู่บ้าน โดยให้ใช้แรงงานในพื้นที่เท่านั้น

"ทวี" ถามรัฐ ทำไมนายทุนต้องมาก่อน? เยียวยาวิกฤติโควิด-19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบวิกฤติโควิด-19 ‘ทำไม นายทุนต้องมาก่อนเสมอ’?

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม รัฐบาลให้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมกับ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ผู้ว่า ธปท. ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการ ก.ล.ต. ประธานสมาคมธนาคารไทยและคณะ ร่วมแถลงเรื่องมาตราการช่วยเหลือเยียวยาที่เป็น ‘มาตรการรองรับโควิด-19’ แต่สาระที่รวมกันแถลงมุ่งช่วยเหลือผู้ซื้อตราสารหนี้ กองทุนรวมในตลาดเงิน ตลาดทุนที่เป็นปัญหาของคนมีโอกาส หรือคนรวย ซึ่งขอเรียกว่า ‘นายทุน’ โดยมี 3 มาตรการสำคัญ คือ

มาตรการแรก ‘ตั้งกองทุนรวมตราสารหนี้’ มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านบาทเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนรวม ให้ ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงินได้โดยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนเหล่านี้มาเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องกับ ธปท. ได้

มาตรการที่สอง ‘ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง’ เพื่อลดความเสี่ยงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้

มาตรการที่สาม มีกลไกที่ดูแลตลาดบอนด์ ซึ่งถือเป็นหัวใจของตลาดตราสารหนี้

ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตไวรัส โควิด-19 ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแต่อย่างใด คือผู้มีอาชีพใช้แรงงาน ประกอบธุรกิจค้าขายและอาชีพต่างๆต้องหยุดงานและปิดกิจการ ทำให้ขาดรายได้เกิดความเสียหาย ได้รับกระทบในวงกว้าง ตั้งแต่เจ้าของบริษัท ห้างร้าน พนักงาน ลูกจ้าง ลูกจ้างรายวัน แม่ครัว เด็กเสิร์ฟ เด็กรับรถ พนักงานทำควาสะอาด ยาม แรงงานนอกระบบ อาทิ หาบเร่ แผงลอย หรือขับรถรับจ้าง และครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบ ฯลฯ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้หาเช้ากินค่ำ ไม่มีรายได้อื่น บางคนไม่มีเงินซื้ออาหารประทังชีวิตเกิน 1 วัน ไม่สามารถที่จะกักตุนอาหาร อาจถึงอดตายได้ ไม่มีเงินค่าเช่าที่พักอาศัย แหล่งเงินก็ต้องไปกู้นอกระบบมา ไม่สามารถกู้เงินธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินได้

การช่วยเหลือเยียวยาที่สำคัญที่สุดคือต้องให้คนเหล่านี้มีชีวิตอยู่อย่างความเป็นมนุษย์ เบื้องต้นต้องปลอดภัยจากโรคติดต่อ อยู่ได้โดยมี ปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดก่อน พร้อมกับมีมาตรการอื่น ๆ ตามมา

การที่ นายกอบศักดิ์ และแถลงถึงมาตราการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมที่เป็น ‘นายทุน’ ก่อนนั้น อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่มีความเป็นธรรม

จึงมีคำถามว่า ได้จัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือเหมาะสมแล้วหรือ? ทำไมไม่ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงเป็นการเร่งด่วนก่อน? และการที่อ้างว่ามาตราการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะต้องรอประชุม ครม. ก่อนนั้น

จึงสงสัยว่า ทำไมกรณีของนายทุนจึงไม่ต้องรอประชุม ครม.ก่อน? และแรงงานนอกระบบ เช่น หาบเร่ แผงลอย ร้านค้ารายย่อยตามริมถนน ตรอก ซอกซอยที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมเหมือนนายทุน ทำไมถึงถูกเลือกปฏิบัติ?

ดังเป็นที่ทราบทั่วกันว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะให้ความสำคัญกับเจ้าสัว กลุ่มนายทุน และข้าราชการ มากกว่า จึงพบมาโดยตลอดว่านโยบายที่ออกมามักขาดการมีส่วนรวมของผู้ได้รับผลกระทบและภาคส่วนประชาชน จึงเป็นลักษณะ นโยบายที่ว่า ‘นายทุนต้องมาก่อนเสมอ’