วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2567

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดงานเสวนา มุมมองและเสียงสะท้อน ภายหลังกัญชา-กระท่อมออกจากกฎหมายยาเสพติด หนุนเครือข่าย-ภาคประชาสังคมเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของกัญชาและกระท่อม

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา "มุมมองและเสียงสะท้อน ภายหลังกัญชา กระท่อมออกจากกฎหมายยาเสพติด" ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2567 พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ผู้แทนจากกองทัพไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมการพัฒนาชุมชน ผู้แทนกรมกิจการเด็กและเยาวชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองต่างๆ 15 พรรค ประชาชน และหน่วยภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังเสวนา ณ ห้องประชุมกระทรวงยุดิธรรม 10 -09 (ห้องออดิทอเรียม) ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร รวมทั้งเครือข่ายวิชาการ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ส่วนภูมิภาค และกระทรวงมหาดไทย ศอ.ปส.อ. ทั่วประเทศ ภาคประชาชน ที่เข้าร่วมรับฟังผ่านระบบออนไลน์ผ่านการถ่ายทอดสดเพจเฟสบุ๊ก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยงานเสวนามีการพูดคุยใน 2 ประเด็น คือ 1. มุมมองต่อการที่กัญชา กระท่อมออกจากกฎหมายยาเสพติด หรือสภาพปัญหา และผลกระทบจากการที่กัญชา และกระท่อมออกจากยาเสพติด และ 2. ข้อเสนอเชิงนโยบาย หรือแนวทางในการเฝ้าระวังปัญหาการแพร่ระบาดของกัญชาและกระท่อม

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ภายหลังกระท่อม และกัญชาถูกยกเลิกจากการเป็นยาเสพติด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เศรษฐกิจ และการใช้กระท่อมในวิถีชาวบ้าน แต่กลับพบว่า มีการขายน้ำต้มใบกระท่อมที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งกระท่อม กัญชา ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่งผลให้เด็กและเยาวชนและประชาชน เข้าถึงและใช้ กัญชา กระท่อม เพิ่มขึ้น และมีการนำมาใช้ในทางที่ผิด ทั้งสันทนาการ ผสมยาควบคุม ยาอันตราย วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาเสพติดให้โทษ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่นตามมา 

“ผมเห็นว่าจำเป็นต้องติดตามสภาพปัญหา และให้มีการเสวนาขึ้น โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านยาเสพติด นักวิชาการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคต่าง ๆ หน่วยงานภาคี สื่อมวลชน ประชาชนทั่วไปผู้สนใจ เข้าร่วมรับฟังการเสวนาเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ร่วมกันสะท้อนผลที่เกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของกัญชาและกระท่อมในกลุ่มเป้าหมายอย่างเร่งด่วน รวมถึงสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนให้เข้าใจถึงประโยชน์และโทษของกัญชา กระท่อม เพื่อไม่นำไปใช้ทางที่ผิด” พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว



















วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2567

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดงานมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ระดม 23 สถาบันการเงิน แก้ทุกข์ประชาชน-ให้โอกาส-สร้างสังคมที่เข้มแข็ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก หอประชุมรักตะกนิษฐ ชั้น 2 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดย กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับ กรมบังคับคดี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรมพระธรรมนูญ โดยมี นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี นายสมบูรณ์  ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี พร้อมด้วย คณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ทนายความ ประชาชน และประชาชนผู้ที่สนใจ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก


พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวระหว่างการเปิดงาน ว่า  “ปัญหาหนี้สิน คือ ทุกข์ของประชาชน สถาบันการเงินที่มาในวันนี้ จำนวน 23 สถาบันการเงินทั้งส่วนที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน สถาบันการเงินควรที่จะสร้างโอกาสให้ลูกหนี้ได้กลับมายืนในสังคมในขณะที่เขามีทุกข์ ผมจึงถือว่า มหกรรมแก้หนี้ฯ ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นมหกรรมแก้หนี้ฯ แต่เป็นมหกรรมแก้ทุกข์ และเป็นทุกข์ของประชาชน โดยที่มีการแก้หนี้ด้วยการสร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม การแก้หนี้ด้วยการไกล่เกลี่ย”


“ความเป็นธรรม คือ ความถูกต้อง แต่ความถูกต้องที่มากกว่านั้น คือ ความถูกต้องทางสังคม ทุกคนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี วันนี้เป็นการให้โอกาส โอกาสเป็นเรื่องที่สำคัญ คนที่อยู่ในภาวะลำบาก บางทีเขาไม่ต้องการการสงเคราะห์มากนัก แต่เขาต้องการโอกาส วันนี้เป็นเป็นการให้โอกาสกับคนที่มีภาวะเป็นทุกข์ การจัดมหกรรมฯครั้งนี้ จึงมีความสำคัญ” พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ”หน้าที่กระทรวงยุติธรรม โดยหลักมีอยู่ 3 อย่าง อย่างแรก คือ หน้าที่ในการแก้ปัญหาอาชญากรรม ที่มาทำร้ายประชาชน สองคือหน้าที่ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย เพื่อให้ความเป็นธรรม ส่วนหน้าที่อย่างที่สาม คือ การปกป้อง คุ้มครองประชาชน ให้ได้รับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องเข้ามาดู ก็คือได้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในเรื่องทางกฎหมาย การพัฒนากระบวนการยุติธรรม เราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ปริมาณคดีความไปสู่ศาลมากนัก เราจะทำอย่างไรในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่เราหนีไม่พ้นที่จะต้องมีความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือความยุติธรรมทางเลือก“

“การไกล่เกลี่ย ก็คือ การสมานฉันท์ เริ่มต้นที่ความพอใจของทุกฝ่าย ในวันนี้ก็ต้องอาจจะเริ่มต้นด้วยความพอใจ ให้สามารถมีโอกาสกลับมายืน มีชีวิตอยู่ได้ จึงถือเป็นงานมหกรรมที่สำคัญ รวมทั้ง เป็นความจริงจังและเป็นความตั้งใจของผู้ที่เป็นรัฐบาล ว่า เราต้องการแก้ปัญหา หนี้ครัวเรือน คือ หนี้ของประชาชน โดยจะให้อยู่ในระดับที่สังคมอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง จึงถือว่ามหกรรมแก้หนี้สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรมในครั้งนี้ เป็นจุดที่เป็นรูปธรรมของการแก้หนี้” พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

“ผมขอขอบคุณ หน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาจัดกิจกรรมในวันนี้ เป็นครั้งที่ 1 ครับ ซึ่งมี 23 สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่มีร่วมจัดนิทรรศการ ให้ความรู้ทางกฎหมาย และให้บริการต่างๆ แก่ประชาชน สิ่งที่อยากจะฝาก ข้อสังเกต ไว้ ก็คือ ทำอย่างไร เมื่อมีการแก้หนี้แล้ว เมื่อมีการไกล่เกลี่ยแล้ว ปลายทางคือ กรมบังคับคดี คือ ปริมาณคดี ของกรมบังคับคดีจะต้องน้อยลง โดยไม่อยากให้เป็นความพอใจเฉพาะหน้า หรือไม่อยากให้เป็นความพอใจเพราะภาวะจำยอม และเหนือสิ่งอื่นใด วิถีแห่งความเป็นธรรม ความเป็นธรรม ต้องเท่ากับความถูกต้อง ความเป็นธรรม ต้องเท่ากับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สถาบันการเงินหลายแห่ง ก็เป็นสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งรัฐตั้งใจเกิดสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี นี่คือเจตนารมณ์ที่สูงสุด ฉะนั้น ในการไกล่เกลี่ยวันนี้ ผมคิดว่า อย่างน้อยที่สุดเป็นการสร้างโอกาส และเป็นโอกาสที่สำคัญโดยมีหนี้สินของประชาชนอยู่ในส่วนนี้จำนวนมาก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีครับ” พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในช่วงท้าย

ผู้สื่อข่าวรายวานเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงานในครั้งนี้  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 - 28 มกราคม 2567 โดยภายในงานได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมที่ลงทะเบียนแก้ไขหนี้สิน การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง และการไกล่เกลี่ยหลังศาลมีคำพิพากษา เข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และข้อกฎหมายต่างๆ จากวิทยากรทรงคุณวุฒิ และการจัดแสดงนิทรรศการจาก ๑๓ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม

ทั้งนี้ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี ผนึกความร่วมมือกับ สถาบันการศึกษา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินกว่า 23 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน), บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด, บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด , บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน), ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) และธุรกิจในเครือ , บริษัท บริหารทรัพย์สิน กรุงเทพพาณิชย์ (BAM), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) , ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) , ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (มหาชน), บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) , บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย , กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) , ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) , บริษัท จำกัดบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท (SAM) , ธนาคารออมสิน , ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัทยู โอบี แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด, บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษาด้วยการไกล่เกลี่ย ตามที่มีกฎหมายของหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบ 

สำหรับการเปิดเวทีในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ก่อนฟ้อง/หลังศาลมีคำพิพากษา สถาบันการเงิน  กยศ. จำนวนกว่า 135,155 ราย คิดเป็นทุนทรัพย์กว่า 24,791,731,583 ล้านบาท แยกเป็น ชั้นก่อนฟ้องคดี จำนวนกว่า 33,810 ราย ทุนทรัพย์กว่า 8,145,081,258 ล้านบาท  ชั้นหลังศาลมีคำพิพากษา จำนวนกว่า 135,155 ราย ทุนทรัพย์กว่า 16,646,650,325 ล้านบาท  โดยที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรม โดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ กรมบังคับคดี เคยจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนมาแล้วทั้ง 76 จังหวัด โดยสามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนไปแล้ว ทั้งในชั้นก่อนฟ้องคดีช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ถูกฟ้องคดีต่อศาลจำนวน 44,735 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 5,810.5 ล้านบาทและในชั้นหลังศาลมีคำพิพากษา ช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ถูกยึดทรัพย์และอายัดทรัพย์ จำนวน 44,393 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 16,450,422,403.43 ล้านบาท  ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน 604,495,172.10 บาท

สำหรับประชาชนที่มีความสนใจ และต้องการสอบถามข้อมูลหรือข้อสงสัยต่างๆ เพิ่มเติม สามารถติดต่อผ่านช่องเว็บไซต์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามผ่าน สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 และสายด่วนกรมบังคับคดี โทร. 1111 กด 79 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

วันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ยืนยัน เดินหน้าคดีหมูเถื่อน-ว่ากันตามหลักฐาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในประเด็นหมูเถื่อน โดยระบุว่า พนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อนทำคดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ทำตามความรู้สึก พร้อมระบุว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะเรื่องปศุสัตว์ โดยได้กำชับพนักงานสอบสวนว่าอย่าใช้ความรู้สึก แต่ต้องใช้พยานหลักฐานและความรอบคอบ หากสาวถึงใครก็ให้เรียกมาสอบและให้ศาลเป็นผู้ออกหมายจับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวว่า รมช.​เกษตรฯ ก็อยากแก้ปัญหา แต่กับตนไม่พูดอะไร เหมือนให้กำลังใจกันตลอด นอกจากนี้นายกฯ ยังกำชับให้ทำอย่างตรงไปตรงมา ส่วนจะสามารถจับตัวการใหญ่ได้หรือไม่นั้นไม่ได้ตั้งธงว่าจะจับใคร แต่หากหลักฐานถึงใครก็ต้องดำเนินการ

"ต้องว่าไปตามพยานหลักฐาน หากเรื่องเป็นสำนวนแล้วพนักงานสอบสวนไม่สามารถช่วยใครได้ และแม้ว่าพนักงานสอบสวนจะสั่งสำนวนอย่างไร ก็ยังมีอัยการพิจารณาสำนวนอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งโดยหลักการต้องยึดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และที่สำคัญจะทำอย่างไรให้เกษตรกรรายย่อยได้รับการคุ้มครอง" พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2567

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แจง แก้กม.ราชทัณฑ์ ไม่เกี่ยวนายกฯ แต่แก้เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล ยันเป็นไปตามระเบียบทุกอย่าง ย้ำ ไม่มีการเลือกปฏิบัติกรณีอดีตนายกฯ ชี้ เจ็บป่วยก็ต้องรักษา แพทย์หลายคนรับรอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.35 น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขึ้นชี้แจง ว่า รัฐบาลได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด โดย พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ 2560 มีมาก่อนการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายเดิม เกิดจากกฎหมายเดิมนั้นไม่สามารถจัดการหรือบริหารนักโทษได้อย่างเหมาะสม ทำให้ต้องแก้กฎหมายราชทัณฑ์ 2560 ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างถูกต้อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล  ทั้งนี้ ปัจจุบันเรือนจำมีผู้ต้องขัง จำนวน 280,000 คน ซึ่งล้นเรือนจำ และเกินอัตราที่รับรองได้ ทำให้สอบตกตามมาตรฐานสากล ซึ่งการที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายดังกล่าวถือว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากรัฐต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมาย ต้องธำรงค์ไว้ซึ่งหลักนิติธรรม อย่างไรก็ตาม การออกกฎกระทรวงและระเบียบกรมราชทัณฑ์ใหม่ไม่เกี่ยวข้องกับนายกฯ แต่มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ผ่านคณะกรรมการของกรมราชทัณฑ์เพื่อฟื้นฟูหลักนิติธรรม และเป็นไปตามหลักกฎหมาย โดยราชทัณฑ์มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ต้องออกเพื่อจำแนกผู้ต้องขังตามเกณฑ์ที่นานาชาติยอมรับ ทั้งพฤตินิสัย การศึกษา การอบรม กลุ่มผู้ต้องขังเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุด้วยว่า จากประเด็นที่กล่าวว่าราชทัณฑ์เลือกปฏิบัติกรณีอดีตนายกฯ ถือว่าไม่เป็นความจริง เพราะราชทัณฑ์ไม่ได้เลือกปฏิบัติ และมีการดำเนินการตามหลักยุติธรรม หากเจ็บป่วย ก็ต้องได้รับการรักษา เนื่องจากการเจ็บป่วยของท่านเกิดก่อนรัฐบาลชุดนี้เข้ามา และจากการตรวจสอบกับแพทย์พบว่าป่วยจริงจากแพทย์หลายคน องค์กรหลายหน่วยงาน เกินกว่า 120 วัน โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พิจารณาตรวจสอบเพื่อให้ความเห็นชอบ สำหรับข้อท้วงติงเรื่องงบประมาณของกรมราชทัณฑ์จำนวนมากนั้น ตนขอยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นไปเพื่อต้องการพัฒนาสถานที่สร้างคน สร้างชาติ