วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"อนุสรณ์" เผยไทยวืดเก้าอี้ UNSC เหตุไม่เป็นประชาธิปไตย


29 มิถุนายน 2559 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ไทยชวดเก้าอี้ “UNSC” ว่า ถึงเวลาต้องยอมรับความจริงเสียที รัฐบาลในขณะนี้เป็นรัฐบาลทหาร ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีส่วนใดยึดโยงกับประชาชน แต่เป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนมา ข้ออ้างประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ไม่มีที่ไหนในโลกปฏิบัติกัน ทั่วโลกเขารู้ทัน แถมยังมีเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนมากมาย ลำพัง คสช. บอกว่าไม่เคยมีการละเมิด มันไม่พอ เพราะของจริงเขาเห็นกันหมด ถึงขนาดปล่อยให้สาวกตัวเองออกมาไล่ทูตประเทศมหาอำนาจกลับประเทศก็ทำมาแล้ว จีน รัสเซียที่บอกสนิทนักหนายังไม่โหวตให้เลย ขนาดองค์กรสิทธิมนุษยชนยังคัดค้านประเทศไทยเป็นสมาชิก UNSC งบประมาณที่ใช้ในการรณรงค์กว่า 600 ล้านบาท ต้องละลายทิ้งแม่น้ำเกิดจากอะไร ต้องไปทบทวนท่าทีที่ผ่านมาของรัฐบาลที่ประกาศกร้าว ไม่สนใจนานาอารยะประเทศเขาจะคิดยังไงกับเรา ใครเขาจะโหวตให้ ทีนี้ล่ะจะได้อยู่คนเดียวสมใจ รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องจะรับผิดชอบอย่างไร ที่ปล่อยให้โอกาสดีๆ หลุดมือไป เพราะถ้าไทยได้นั่งเป็นคณะกรรมการของ UNSC ก็จะทำให้ไทยได้รับการยอมรับในเวทีโลก เป็นที่เชิดหน้าชูตาสำหรับคนไทย แล้วอย่ามีใครออกมาบอกขวางโลกว่า ไม่ได้เป็นก็ไม่ตาย หรือโลกสวยต่อว่า ได้มีโอกาสในการหามิตรประเทศเพิ่ม ต้องไปแก้ที่ต้นตอของปัญหา เพราะอะไรถึงไม่ได้รับเลือก เช่น การไม่เป็นประชาธิปไตย การละเมิดสิทธิมนุษยชน การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาด หรือไม่ อย่ายอมจำนนหรือโยนความผิดให้คนอื่น โทษแต่ว่ามีคนใช้ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศ ของจริงอาจจะเป็นยุทธศาสตร์โดดเดี่ยวตัวเองที่ผิดพลาด หรือไม่

“เพื่อไทย” ติงไทยแพ้โหวตUNSC เหตุสอบตกสิทธิมนุษยชน


29 มิถุนายน 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ผลการเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council : UNSC) สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สอบตกในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนในสายตาประชาคมโลก ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีปัญหาการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และมีการดำเนินคดีบุคคลที่คิดต่างจำนวนมาก จนอาจส่งผลให้ประเทศไทยแพ้โหวต ทั้งๆ ที่ไทยทุ่มเทหาเสียงมานาน 4 ปี ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แถมไทยเรายังได้เปรียบคู่แข่ง คือ คาซัคสถาน ตรงที่ประเทศไทยเคยเป็นสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงฯ มาก่อน และมีผลงานโดดเด่นในการสนับสนุนภารกิจขององค์การสหประชาชาติมาโดยตลอด ในขณะที่ คาซัคสถาน เพิ่งลงสมัครเป็นครั้งแรก ทั้งยังเพิ่งเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติหลังไทยตั้ง 50-60 ปี

"นักวิเคราะห์ และสื่อมวลชนต่างประเทศ ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ไทยแพ้โหวต เป็นเพราะไทยมีการรัฐประหารบ่อยครั้ง และมีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจไม่ส่งผลดีต่อการทำหน้าที่สร้างความมั่นคง และส่งเสริมสันติภาพในทวีปยุโรปและเอเชีย ในขณะที่ คาซัคสถาน มีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าไทย นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังออกมาเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ นำประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาประกอบการพิจารณาลงคะแนนให้ประเทศไทย ในการเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงฯ ครั้งนี้ด้วย"

ร.ท.หญิง สุณิสา ระบุว่า "น่าสังเกตว่าคะแนนโหวตของไทยลดลงราว 30% จากเดิมมีเสียงสนับสนุนจาก 77 ประเทศ ในการโหวตรอบแรก เหลือเพียง 55 ประเทศ ในการโหวตรอบสอง และที่สำคัญ ยังมีกระแสข่าวว่าคาซัคสถานได้รับการสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย ทั้งๆ ที่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พยายามเอาอกเอาใจ จีน และ รัสเซีย มาตลอด ซึ่งสะท้อนว่ายุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลอาจมีข้อบกพร่อง และไม่ได้ช่วยให้ไทยมีสถานภาพที่ดีขึ้นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเตรียมตอบคำถามเหล่านี้ ทั้งต่อคนไทยและสังคมโลก ว่าประเมินตัวเองอย่างไร เหตุใดจึงแพ้โหวต นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้นในเรื่องการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยดูดีขึ้นในสายตาชาวโลก"

"ทั้งนี้ ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทยที่กำลังจะมีขึ้น รัฐบาลไม่ควรสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในการแสดงความเห็นเรื่องประชามติ เพราะประชาคมโลกกำลังจับตามองเราอยู่ ขอให้ดูตัวอย่างการลงประชามติในประเทศอังกฤษ ที่ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับข้อมูลสองด้าน เพราะประชาชนควรต้องได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนมากที่สุด ก่อนจะตัดสินใจในเรื่องอนาคตของประเทศ ส่วนจะโหวตอย่างไร ก็ปล่อยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ก็ไม่ยึดติดกับอำนาจ ยอมลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ทำให้ผู้นำของเขามีความสง่างามทางการเมือง และได้รับการชื่นชมจากผู้คนทั่วโลกที่ไม่ยึดติดเก้าอี้" ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว

“สุรพงษ์” เผยเหตุ ไทยชวดเก้าอี้UNSC-ไม่เป็นประชาธิปไตยทำไทยไร้มิตร


(29 มิถุนายน 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า "ผลการลงคะแนนเสียงเลือกสมาชิกแบบไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อวานนี้ (28 มิถุนายน) ปรากฎว่าต้องใช้วิธีการลงคะแนนกันถึง 2 รอบ เพราะรอบแรกผู้ชนะได้คะแนนโหวตชนะไม่ถึง 2ใน 3 ของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมโหวตลงคะแนน ซึ่งประเทศคาซัคสถานได้รับชัยชนะด้วยคะแนน ที่มากกว่าประเทศไทยเราทั้ง 2 รอบ โดยรอบแรก คาซัคสถานได้ 113 คะแนนไทยได้ 77 คะแนน ต่อมาในการลงคะแนนรอบที่สอง คาซัคสถานได้ 138 คะแนน ไทยได้ 55 คะแนน"

"เห็นได้ว่าการพ่ายแพ้ของไทยเราให้แก่ประเทศที่พึ่งจะเกิดขึ้นมาใหม่อย่างคาซัคสถานในครั้งนี้นั้น สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสังคมโลกไม่ให้การยอมรับประเทศไทยเรา เช่นเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนที่องค์การสหประชาชาติจัดขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่หลายๆประเทศได้ตำหนิและทักท้วงการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในประเทศไทยเรามาแล้ว ซึ่งก็ไม่น่าจะเกินความคาดหมายและการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อปี 2557 ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มิตรประเทศที่เคยสนับสนุนไทยเราก็เอาใจออกห่าง ก็เป็นได้"

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ระบุว่า "ถ้ารัฐบาลท่านประยุทธ์ลองคิดทบทวนย้อนกลับไปดูให้ดีๆแล้ว และถอนตัวจากการเป็นผู้สมัครตั้งแต่ปี 2557 นอกจากเราจะไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการรณรงค์ไปใช้หาเสียงและออกค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อเชิญให้เขาเดินทางมาเยี่ยมดูประเทศไทยเรา ฯลฯ เป็นเงินไปกว่า 600 ล้านบาทแล้ว เราก็จะไม่ต้องรู้สึกเสียหน้าในครั้งนี้"

"ดังนั้นก็อยากขอให้ท่านนายกฯ ควรที่จะรีบคืนประชาธิปไตยที่สากลให้การยอมรับโดยเร็ว เพราะเสียเงินไปแค่เพียง 600 ล้านบาท นั้น ไม่ใช่เรื่องใหญ่เมื่อเทียบกับมาตรการอื่นๆที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต การค้าขายและการลงทุนของต่างชาติและความเชื่อมั่นของสังคมโลกที่จะมีต่อรัฐบาลไทยนั้นสำคัญกว่ามากๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ในการแสดงความคิดเห็นต่างในบ้านเราไม่ควรจะเกิดขึ้น"

"ที่อยากจะฝากไว้ก็คือ UN ได้ให้ความสำคัญกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของไทยเป็นอย่างมาก ถึงขั้นให้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้ศึกษาแล้วด้วย และนี่ถ้าผล TIP Report ออกมาเป็นลบอีก ก็ยิ่งจะทำให้เราดูไม่งามเลยในสายตาประชาคมโลก" นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล กล่าว

"วัฒนา" เผย "ทักษิณ" ห่วงประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจ-วิสัยทัศน์ผู้นำ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

"ทริปแรกของผม"

วันศุกร์ที่ผ่านมา (24 มิถุนายน 2559) ผมได้ขออนุญาตศาลเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ เพื่อมาเยี่ยมคารวะพร้อมกับขอความรู้ทางด้านเศรษฐกิจจากท่านนายกฯทักษิณ ชินวัตร นอกจากนั้นยังได้ฟังท่านวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดกับโลกและประเทศไทยกรณีอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอีกด้วย ท่านนายกฯยังเป็นคนเดิมที่มีความกระฉับกระเฉง ตื่นตัว ทันสมัย และติดตามความเคลื่อนไหวของโลกและไทยอย่างสม่ำเสมอ ท่านบอกผมว่า "ธุรกิจแหกกฏ" หรือ Disruptive Economy ที่คิดขึ้นโดย Clayton Christensen จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คือแนวโน้มของธุรกิจในยุคต่อไปซึ่งเราจะต้องตามให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก หากปรับตัวไม่ทันก็จะถูกกวาดตกเวทีไป เช่น กรณีของโกดัก (Kodak) ที่มีพนักงานทั่วโลกถึง 170,000 คน แต่ในที่สุดต้องปิดตัวลง

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของไทยก็ยังคงต้องอาศัย "ความมั่นใจและความเชื่อมั่น" กล่าวคือ ประชาชนจะต้องมีความมั่นใจในนโยบายและมีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำจึงจะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ คำพูดของท่านยังแสดงถึงความผูกพันและความห่วงใยที่มีต่อบ้านเมืองเสมอ ที่สำคัญผมไม่เคยได้ยินท่านพูดถึงใครในทางร้าย ท่านบอกผมว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับโลกในเวลานี้คือโอกาสของประเทศไทย แต่ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำที่จะเข้าใจและมองแนวทางการแก้ไขปัญหาออกหรือไม่ การพูดคุยครั้งนี้ทำให้ผมมีต้นทุนทางปัญญาเพิ่มขึ้น แต่มีบางคำถามที่ผมถามแล้วท่านไม่ตอบคือเรื่องการเมืองไทยและเรื่องของคนอื่น คุ้มค่าจริงๆ ครับกับการเลือกสิงคโปร์เป็นทริปแรก ขอขอบคุณท่านนายกฯครับ

วัฒนา เมืองสุข
พรรคเพื่อไทย
28 มิถุนายน 2559

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"พิชัย" สอนเศรษฐกิจ คสช. รับมือ Brexit-หยุดถ่วงอาเซียน


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัญหา Brexit ที่จะส่งผลกระทบไปทั้งโลก และอาจจะทำให้อียูมีปัญหาถึงขั้นแตกออกได้ แต่จะไม่มีผลกระทบกับการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ตามที่หลายฝ่ายกังวล ทั้งนี้ เพราะ เออีซี และ อียู มีรูปแบบการรวมตัวที่ต่างกัน โดยประเทศในกลุ่มเออีซี ไม่ได้มีการใช้เงินสกุลเดียวกันเหมือนอียูที่ใช้เงินยูโร และเออีซีเป็นเขตการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดยประเทศต่างๆ มีการเจริญเติบโตที่สูงไม่เหมือนอียู ที่มีหลายประเทศมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ยกเว้นประเทศไทยที่มีการเจริญเติบโตที่ต่ำที่สุดในอาเซียน จากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ถึงขนาดที่สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่า ไทยกลายเป็นตัวถ่วงของเออีซีไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากเพราะประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำของอาเซียนได้ จากที่ไทยมีการพัฒนาที่มากกว่า และมีตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสม อีกทั้ง โดยส่วนตัวแล้วอยากเห็นเงินบาทเป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นผู้นำของอาเซียนได้อย่างแท้จริง โดยแต่ละประเทศก็มีเงินสุกลของตัวเอง แต่อิงกับค่าเงินบาท เพราะปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านก็ใช้เงินบาทกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ไทยได้ประโยชน์อย่างมาก

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยจะเป็นผู้นำอาเซียน ประเทศไทยจะต้องมีบรรทัดฐานสากลเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยต้องเร่งกลับสู่ระบอบการปกครองที่ประชาคมโลกยอมรับ ซึ่งต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นสากล และต้องมีการป้องกันการทุจริตที่ผู้รับผิดชอบต้องลาออกทันทีที่มีปัญหา เช่น เรื่อง GT 200 และ อุทยานราชภักดิ์ ที่ประชาชนยังสงสัย เป็นต้น อีกทั้งต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จนยูเอ็นและนานาชาติต้องตำหนิ แต่โฆษก คสช. กลับกล้าออกมายืนยันว่ารัฐบาล คสช. ไม่เคยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และหากประชามติไม่ผ่าน นายกรัฐมนตรีก็ควรจะต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากรัฐบาล และ คสช. เป็นผู้ตั้ง กรธ.เอง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีบรรทัดฐานสากลเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และจะทำให้เป็นผู้นำของอาเซียนได้

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"อนุตตมา" กังวลเศรษฐกิจไม่ฟื้น ห่วงรัฐเหมือนใช้ GT200 นำทาง


น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนได้อย่างไร การส่งออกในเดือนพฤษภาคมยังคงติดลบ 4.40% และ ถ้าหักการส่งออกทองคำจะลดถึง 4.80% และถ้าหักส่งออกทองคำและการส่งคืนยุทโธปกรณ์ การส่งออกจะติดลบ 17 เดือนติดกัน การลงทุนแม้จะเพิ่มขึ้นบ้างแต่ก็ยังต่ำกว่าภาวะปกติค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเป็นรูปตัว L ตามที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกฯ ได้บอกไว้ และยังแสดงความเป็นห่วงความไม่เข้าใจเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งทำให้คณะทำงานเศรษฐกิจเห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลยังไร้ทิศทางเหมือนใช้ GT200 ชี้นำทางซึ่งไม่ได้ผล

น.ส.อนุตตมายังกล่าว่า นอกจากนี้สถานการณ์โลกยังซ้ำเติมจากกรณี Brexit ที่ประชาชนชาวอังกฤษลงประชามติออกจากอียู ซึ่งจะส่งให้หลายประเทศในอียูมีแนวโน้มที่จะออกตาม ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนไปอีกนาน ไม่น่าจะเป็นช่วงสั้นๆ เหมือนที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลคาดการณ์ สถานการณ์ทำให้ทองคำและดอลลาร์ที่เป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงและมีความเสี่ยงน้อยมีราคาเพิ่มขึ้นเพราะคนแห่ลงทุน ซึ่งหากไทยยังมีความเสี่ยงทางการเมืองสูงจากการไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะไม่มีใครมาทำการค้าและมาลงทุนด้วย ทั้งนี้ ไม่อยากให้ข้าราชการประจำออกมาพูดแย้งเพราะหากเศรษฐกิจไม่ฟื้นจริง ข้าราชการที่ออกมาแย้งจะต้องรับผิดชอบด้วย การเติบโตเพียง 2-3% ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะดีใจ เพราะจะไม่สามารถทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นประเทศรายได้ปานกลางขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ ดังนั้นจึงอยากให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลหาทิศทางที่ถูกต้องที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้จริงที่ประชาชนรู้สึกได้ ไม่ใช่เพียงแค่คำพูด

"เพื่อไทย" แถลงเร่ง คสช. ปล่อยตัวประชาชน-นักศึกษา ที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ คำแถลง ผ่านเว็บไซท์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


คำแถลงพรรคเพื่อไทย

เรื่องหยุดการใช้อำนาจคุกคาม ขัดขวาง
ประชาชนที่ดำเนินกิจกรรมแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ
และปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนผู้บริสุทธิ์
ที่ทำกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนไทย
ในการเข้าร่วมกระบวนการประชามติ อย่างไม่มีเงื่อนไข

__________________________________________________________

ตามที่เจ้าหน้าที่รัฐอันประกอบด้วยทหาร ตำรวจ ได้จับกุมคุมขังนักศึกษาและประชาชนที่ทำกิจกรรมรณรงค์แสดงความเห็นและเชิญชวนประชาชน ไปออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและแจกจ่ายเอกสารลงทะเบียนเพื่อไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด ที่ตลาดเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 23 มิ.ย.59 และได้มีการจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันต่างๆที่จัดกิจกรรม "24 มิถุนายน ปัดฝุ่นประชาธิปไตย" บริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญในวันที่ 24 มิ.ย. 59 นั้น

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การขัดขวางและจับกุมประชาชนผู้ใช้สิทธิ เสรีภาพของตนในการแสดงความเห็นและดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจและการร่วมมือกัน ในการเข้าร่วมกระบวนการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นในประเทศ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และถือเป็นการอาศัยข้อกฎหมายที่ขัดต่อหลักการทำประชามติสากลและขัดหลักสิทธิมนุษยชน มาดำเนินการคุกคามผู้เห็นแตกต่างจากรัฐบาลอย่างลุแก่อำนาจ

ที่สำคัญ การดำเนินการเช่นนี้ของผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะยิ่งส่งผลให้การทำประชามติครั้งนี้ไร้ความหมาย เพราะประชามติที่เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่ประชาชนตกอยู่ในภาวะความหวาดวิตกและหวั่นเกรงภัยที่จะเกิดขึ้นกับตน ย่อมขาดความชอบธรรมและขาดการยอมรับทั้งจากในและนานาอารยประเทศ

พรรคเพื่อไทยจึงมีข้อเสนอเรียกร้องไปยัง คสช. และผู้มีอำนาจในคณะรัฐบาลปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

1. ขอให้หยุดการใช้อำนาจที่เป็นการสกัดกั้นและขัดขวางนักศึกษาและประชาชนผู้มีความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ในการดำเนินกิจกรรมและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะนำไปลงประชามติโดยพลัน และขอให้หยุดการดำเนินการใดๆ อันเป็นการละเมิดและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนโดยทันที

2. ขอให้ดำเนินการปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนผู้มีความเห็นต่าง ที่ออกมาดำเนินกิจกรรมและเผยแพร่ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการทำประชามติทันที โดยไม่มีเงื่อนไข

3. ขอให้เร่งส่งเสริมและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการรับรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปลงประชามติอย่างเสรี เสมอภาคและเกิดการมีส่วนร่วมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

พรรคเพื่อไทยขอยืนยันอย่างหนักแน่นในจุดยืนที่สนับสนุนการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชน ทุกกลุ่มทุกฝ่าย ตามหลักการของการทำประชามติสากล เพื่อพิทักษ์หลักการของระบอบประชาธิปไตยให้ดำรงสืบต่อไปเยี่ยงนานา อารยประเทศ

พรรคเพื่อไทย
26 มิถุนายน 2559

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" ไต่สวนคดีจำนำข้าว ห่วงปัญหาเศรษฐกิจกระทบประชาชน


วันที่ 24 มิถุนายน 2559 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์นัดสุดท้าย ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในคดีโครงการรับจำนำข้าว โดยมีประชาชนมารอมอบรวงข้าวและดอกกุหลาบเพื่อให้กำลังใจ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำนวนมาก

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเข้าฟังการไต่สวนว่า วันนี้ ครบรอบ 84 ปี ประชาธิปไตยไทย ตนอยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ พร้อมอยากให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า และในฐานะประชาชนขอฝากถึงผู้ที่มีอำนาจในหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำประชามติ อาทิ กกต. ขอให้กติกามีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทุกคนจะได้แสดงออกอย่างเต็มที่และผู้ที่อยู่ในอำนาจขอให้ปฏิบัติตัวเป็นกลางกับทุกคนอย่างเสมอภาคเพื่อให้สังคมยอมรับผลประชามติที่จะออกมา รวมทั้งเปิดพื้นที่ในการพูดคุยเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการให้สิทธิเสรีภาพของประชาชน

ส่วนกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. มีการเตรียมเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญทางโซเชียลมีเดียนั้น เห็นว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องวางตัวเป็นกลาง มีความเท่าเทียม หากอนุญาตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเกิดข้อครหาได้

นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน เนื่องจากเศรษฐกิจไม่เติบโตมากนัก ผู้ที่มีรายได้น้อยอาจเกิดปัญหา ขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ศาลฎีกายกฟ้อง "ยุทธพงศ์" หมิ่น "เกียรติ" ประชาธิปัตย์


ศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่นายเกียรติ สิทธิอมร คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ และประธานผู้แทนหอการค้าไทยเป็นโจทก์ฟ้องนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ฯ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทยเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท

จากกรณีระหว่าง เมื่อวันที่ 6 - 7 มีนาคม 2554 จำเลย ในฐานะหัวหน้าทีมอภิปราย ได้แถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับการไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น โดยมีการพาดพิงมาถึงโจทก์ทำนองว่า โจทก์เป็นบุคคลที่วิ่งเต้น แทรกแซงคดี ของบริษัทฟิลิป มอร์ริสฯ ซึ่งแสดงราคานำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี โดยโจทก์อาจได้ผลประโยชน์จากต่างประเทศ ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณี ที่จำเลยได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น โดยสุจริต เป็นการนำข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีบุหรี่ ของ บริษัทฟิลิปมอริส มาเปิดเผยความคืบหน้าต่อสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังผลประโยชน์ของประเทศชาติ และทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้าน ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ฎีกาฟังไม่ขึ้น การกระทำของจำเลยในวันที่ 6 มีนาคม 2554 จึงไม่มีพฤติการณ์กระทำความผิด พิพากษายกฟ้องตามศาลชั้นต้น

ทนายความ 'ยิ่งลักษณ์' ยื่นอุทธรณ์ ฟ้อง 'จิรชัย' โครงการรับจำนำข้าว โต้แย้งคำพิพากษาศาลอาญา


นายนพดล หลาวทอง ทนายความของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายัง ศาลอาญารัชดา เพื่อยื่นอุทธรณ์ โต้แย้งคำพิพากษาศาลอาญา ที่ยกฟ้องคดี กรณี นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นโจทก์ฟ้อง นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด จากโครงการรับจำนำข้าว ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 ที่ศาลยกฟ้องไป เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา

โดย นายนพดล ระบุว่า ในวันนี้เป็นการยื่นอุทธรณ์ เพื่อขอความเป็นธรรม เนื่องจาก ศาลอาญาได้สั่งคำร้องและดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ไม่เป็นปกติหลายประการ อาทิ มีการให้ นายจิรชัย ที่เป็นจำเลย แถลงโต้แย้งคำฟ้องของโจทก์ได้ ในฐานะ ทนายความผู้รับมอบอำนาจโจทก์ จึงได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านคำสั่งและกระบวนการพิจารณาโดยมิชอบดังกล่าว

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" ทำบุญวันเกิด 49 ปี “เพื่อไทย” อวยพรคึกคัก

วันที่ 21 มิถุนายน 2559 บรรยากาศสดบริเวณซอยโยธินพัฒนา 3 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำบุญตักบาตรเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 49 ปี พร้อมนายอนุสรณ์ อมรฉัตร และเด็กชายศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือ น้องไปท์ บุตรชาย ทั้งนี้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังได้ส่งช่อดอกโบตั๋น มาเป็นของขวัญวันเกิดในวันนี้ด้วย



นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางพร้อมครอบครัวไปทำบุญใส่บาตรวันคล้ายวันเกิดวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ที่บ้านพักในซอยโยธินพัฒนา 3 โดยปีนี้อายุครบ 49 ปี พร้อมแจกหนังสือสวดมนต์สร้างบุญ ซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องในวันคล้ายวันเกิดให้แก่สื่อที่ไปร่วมทำข่าว ขณะที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังได้ส่งกระเช้าดอกโบตั๋นมาเซอร์ไพรส์วันเกิดแล้วในช่วงดึกที่ผ่านมา พร้อมอวยพรให้โชคดี ผ่านพ้นอุปสรรค มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ได้กล่าวสั้นๆว่า คงอยากให้ตนสดชื่นจึงส่งดอกโบตั๋นมาให้

นางสาวยิ่งลักษณ์ยังเปิดเผยว่า ขออวยพรให้น้องไปป์สุขภาพแข็งแรง สิ่งต่างๆในชีวิตผ่านไปได้ด้วยดี ส่วนของตนเองไม่ได้ขอ แต่เป็นห่วงด้านประชาชนมากกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจที่เรียกว่าไม่เติบโต อยากให้รัฐบาลช่วยกันในการที่จะหานโยบายต่างๆที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชน อย่างน้อยๆอยากให้มีเงินในกระเป๋า แม้จะมีการทำอยู่บ้างแต่ก็อยากให้ทำให้ต่อเนื่อง เพราะเราไม่รู้ว่าเศรษฐกิจช่วงนี้จะซึมแค่ไหน นั้นก็เป็นฐานที่ดีถ้าทุกคนมีเงินในกระเป๋ามีความเป็นอยู่ที่ดี ความสุขของคนในประเทศก็จะมา ตนอยากเห็นบรรยากาศแบบนั้นมากกว่า

นอกจากนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ยังกล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองว่า อยากให้เป็นไปในทิศทางที่ดี เรียกว่าถ้อยทีถ้อยอาศัยและค่อยพูดค่อยจากัน นั่นจะเป็นทางออกที่ดี เพราะเราคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่อ่อนไหว และก็เรียกว่าเป็นช่วงที่จะก้าวเข้าสู่การทำประชามติและการเลือกตั้งเพื่อนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย และเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เราจะต้องช่วยกันประคับประคองได้พูดคุยกัน

ด้านน้องไปท์บุตรชายอวยพรให้แม่ประสบแต่ความสุขและผ่านอุปสรรคได้อย่างราบรื่น ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยเดินทางร่วมงานดังกล่าวโรงแรมเอสซีปาร์คในช่วงเที่ยงอย่างคับคั่ง


วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" ร่วมสวดพระอภิธรรม "สุรพันธ์ ชินวัตร"


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยญาติ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ร่วมฟังสวดพระอภิธรรม นายสุรพันธ์ ชินวัตร (น้องชายคุณพ่อเลิศ ชินวัตร) ซึ่งถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด สิริอายุรวม 85 ปี ณ ศาลาสิทธิสยามการ (4) วัดธาตุทอง

นายสุรพันธ์ ชินวัตร เป็นบุตรของนายเชียง (คู ชุนเชียง) และนางแสง ชินวัตร ชาวไทยเชื้อสายจีนแคะอพยพจากจังหวัดจันทบุรี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ระดับปริญญาตรีด้านย้อมสีและพิมพ์ผ้าจาก ประเทศเยอรมนี ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับนางประเมิน (มีพานิช) ชินวัตร มีบุตร 6 คน

นายสุรพันธ์ ชินวัตร ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ 6 สมัย และ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ. 2529 - พ.ศ. 2531 ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดย นายสุรพันธ์ ชินวัตร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (พ.ศ. 2530) และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (พ.ศ. 2529)

ทั้งนี้ นายสุรพันธุ์ ชินวัตร เคยเป็นผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชินวัตรไหมไทย และเป็นอาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย





วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

“พานทองแท้” แนะหยุดโยนชั่วให้คนอื่น ห่วงความปลอดภัยการบิน-โยงการเมือง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ขอบคุณสมาชิกพรรคฯ เก่าแก่ ที่ขยันทำลายคะแนนนิยมของพรรคตัวเอง และหาคะแนนนิยมให้กับพรรคการเมืองอื่นมาโดยตลอดนะครับ

ในขณะที่คนกว่า 90% ในโซเชียลมีเดีย กำลังวิจารณ์ถึงมาตรฐานทางการบินของนักบิน ซึ่งต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารบนเครื่องกว่าร้อยชีวิต แต่กลับใช้เวลาขณะทำหน้าที่เตรียมตัวบินใน Cockpit มาถ่ายรูปผู้โดยสารและใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม จนเกิดเป็นกระแสสังคม ทำให้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้นำไปพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งนั้น

นักการเมืองพรรคฯ เก่าแก่ และนักเขียนการ์ตูนอาวุโส กลับออกมาสวนกระแสสังคม โดยให้ท้ายว่าเป็นเรื่องธรรมดา และฉวยโอกาสเหน็บแนมทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงชีวิตและความปลอดภัยของผู้โดยสาร และไม่ห่วงใยชื่อเสียงของสายการบินของไทย ซึ่งกำลังโดน ICAO ตรวจสอบเข้มข้น เรื่องมาตรฐานการบินอยู่แล้ว

ผ่านมาแล้ว 60-70 ปี คนพรรคฯ นี้ยังคงยึดมั่นในคอนเซ็ปต์ เรื่องทุกเรื่องถูกโยงเป็นประโยชน์ทางการเมืองทั้งหมด เรื่องดีๆ เอาใส่ตัว เรื่องชั่วๆ โยนให้คนอื่น จนกลายเป็นนิสัยถาวรของพรรคฯ เก่าแก่ไปแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ตั้งหน้าตั้งตาพูดไปเถิด พูดให้เยอะๆ พูดมากๆ เข้าไว้ เพราะยิ่งพูดคนก็ยิ่งเบื่อยิ่งรำคาญ พูดสวนกระแสมากเท่าไหร่ เลือกตั้งกี่ทีก็แพ้มากขึ้นเท่านั้น

เกาะกระแสบวก สร้างตัวเองให้ดังโดนคนว่ายังพอไหว แต่เกาะกระแสลบ สร้างตัวเองให้ดัง แบบพูดไปให้คนด่ากันทั้งเมืองนั้น มีปากพูดเป็นอย่างเดียวไม่พอ ต้อง....ด้วย ว่าป่ะ?

15ขุนพล “เพื่อไทย” โพสต์แสดงจุดยืนร่างฯรธน.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำพรรคเพื่อไทย ต่างพร้อมใจกันโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมกันเพื่อแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธ์ อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา

นอกจากนี้ ยังมี นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรค นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญของพรรค และนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี ที่โพสต์ข้อความแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วย

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"เฝาซี" ยื่น กกต.พิจารณา เรียนฟรีม.6 สุ่มเสี่ยงชี้นำประชามติ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเฝาซี บิลโอ ประธานองค์กรสังเกตการณ์ประชามติจังหวัดสงขลา ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลา ให้พิจารณาเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ของ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรณีการจัดการศึกษาอุดหนุนเรียนฟรีถึง ม.6 หรือ ปวช. เป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อความผิดตาม พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หรือไม่? ทั้งนี้ นายเฝาซี บิลโอ ระบุว่า จะรอฟังผลการพิจารณา ประมาณ 10 วัน ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลา จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อกำหนดท่าทีหลังจากนี้

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สเตรทไทม์ เผยแพร่บทวิเคราะห์ : ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่อยู่นอกการเมือง แต่ไม่เคยอยู่นอกสายตาประชาชน


เว็บไซต์ สเตรทไทม์ ของสิงคโปร์ เผยแพร่บทวิเคราะห์ Yingluck Shinawatra out of politics, not out of sight http://www.straitstimes.com/asia/se-asia/yingluck-out-of-politics-not-out-of-sight โดยกองบรรณาธิการ Social Media สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 สถานีประชาชน เรียบเรียงเนื้อหาดังกล่าวเป็นภาษาไทย ดังนี้

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่อยู่นอกการเมือง แต่ไม่เคยอยู่นอกสายตาประชาชน

“นายกฯ!”  เสียงประชาชนร้องเรียกเธอว่านายกรัฐมนตรี แม้ว่าเธอจะพ้นจากตำแหน่งมาได้สองปีกว่าแล้วจากการทำรัฐประหารของกองทัพ

เธอใช้เวลาช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เดินสายในจังหวัดแพร่ ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพบปะแฟนคลับ 5,000,000 ไลค์ของเธอ

“ไม่ได้มีแผนการอะไร” เธอบอกสื่อมวลชนต่างประเทศที่มาร่วมทริปเดินทางไปจังหวัดแพร่

“ตอนดิฉันเป็นรัฐบาล สิ่งที่ดิฉันทำคือสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ความตั้งใจของดิฉันคือการดูแลและรับฟังเสียงประชาชน แม้ว่าตอนนี้ดิฉันจะไม่ได้มีตำแหน่งอะไรแล้ว การมาเยี่ยมเยือนพี่น้องก็เป็นช่องทางหนึ่งในการได้รับฟังเสียงของเขา”

ขณะที่คณะรัฐประหารกำลังบริหารประเทศ ขณะที่การเลือกตั้งถูกระงับไป กิจกรรมทางการเมืองถูกยุติ ประเทศกำลังเดินหน้าสู่การลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม โดยมีเป้าหมายที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20

พื้นที่ทางการเมืองสำหรับ "ยิ่งลักษณ์" นั้นเล็กลงไปเมื่อเธอถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองจนถึงปี 2020  เธอไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศ ขณะเดียวกันต้องเดินขึ้นศาลในข้อหาละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวซึ่งมีโทษจำคุก 10 ปี แต่เธอก็ยังพยายามสื่อสารกับประชาชนแม้ช่องทางมันจะแคบลงทุกวัน

เดือนกุมภาพันธ์ เธอเชิญนักข่าวร่วมรับประทานอาหารผักสลัด จากสวนผักหลังบ้านของเธอ

เมื่อวันเสาร์ เธอสวมเสื้อผ้าไหมสีพีช และกระโปรงผ้าทอมือ เดินก้าวเท้าเข้าไปในศาสนาสถาน ทีมงานผู้ติดตามพรรคเพื่อไทยพร้อมใจกันใส่เสื้อที่ทำจากผ้าท้องถิ่นของจังหวัดแพร่ ขณะที่บุตรชายของเธอ "ศุภเสกข์ อมรฉัตร" ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างตื่นเต้น

“น้องไปป์ โตขึ้นมาก” ประชาชนที่มาพบยิ่งลักษณ์ เรียกชื่อเล่นก่อนขอถ่ายภาพน้องไปป์

“ผมอายุแค่ 14 ปี ผมยังช่วยเหลืออะไรพวกเขาไม่ได้” น้องไปป์กล่าวกับสเตรทไทม์ น้องไปป์กำลังศึกษาอยู่เกรด 9 โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ กรุงเทพฯ

เมื่อสื่อมวลชนถามในประเด็นของการลงประชามติ เธอเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชนก่อนที่จะมีการลงประชามติ “เหมือนกับการสร้างบ้าน คุณต้องถามเจ้าของบ้านผู้อาศัยว่า ชอบแบบไหน?”

เมื่อสื่อมวลชนถามถึงรองเท้าคู่งามที่เธอสวมใส่มาจังหวัดแพร่ สายตาเธอเป็นประกายพร้อมกล่าวด้วยความภูมิใจว่าเป็นของขวัญที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซื้อมาฝากเธอ

ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมองว่าการเดินสายต่างจังหวัดของเธอนั้น “เป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด”

“เพื่อการกระทำเพื่อให้แน่ใจว่าดุลอำนาจของพรรคเพื่อไทยยังดำรงอยู่ตลอดจนหลังการลงประชามติ และจนกระทั่งถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง”

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"พิชัย" แนะรัฐปรับครม.-เร่งทีมเศรษฐกิจตอบ8คำถาม


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อตอนเช้า 11 มิ.ย.2559 ว่า ตามที่มีกระแสข่าวจะปรับคณะรัฐมนตรี แต่ยังไม่เห็นมีรายชื่อปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งๆที่ทราบกันดีว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้นจึงอยากให้ทีมเศรษฐกิจตอบคำถามดังนี้

1. การที่เวิลด์แบงค์บอกว่าไทยจะโต 2.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก แต่ทีมเศรษฐกิจกลับบอกว่าดีใจ แสดงว่าปีนี้พอใจที่จะโต 2.5% ใช่หรือไม่ แล้วที่บอกว่าโต 3.7% หรือ 3.5% หายไปไหน?
2. การที่ ไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงค์บอกไทยโตต่ำสุดในอาเซียน ทีมเศรษฐกิจเห็นด้วยหรือไม่ และจะแก้ไขอย่างไร และถ้าโตน้อยแบบนี้อีกหน่อยประเทศเพื่อนบ้านจะโตแซงไทยใช่หรือไม่ การที่อ้างบรูไน ทราบหรือไม่ว่าบรูไนมีประชากรไม่กี่แสนคน รายได้พึ่งจากส่งออกน้ำมันซึ่งราคาตกมาก แต่บรูไนมีรายได้เฉลี่ยต่อประชากรประมาณ 40,000 เหรียญต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าของไทยกว่า 6 เท่า และรายได้เฉลี่ยของคนสิงคโปร์สูงกว่าคนไทยประมาณ 10 เท่า
3. การที่บางธนาคารกำหนดดอกเบี้ยที่ 0% แสดงถึงเงินล้นแบงค์ และหนี้เสียยังเพิ่มไม่หยุด แปลว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นใช่หรือไม่
4. การลงทุนทั้งจากต่างประเทศและในประเทศที่ลดลงมาก ถึงขนาดที่ทีมเศรษฐกิจต้องออกมาบ่นแสดงถึงความมั่นใจของนักลงทุนที่หดหายใช่หรือไม่ และจะปรับโครงสร้างประเทศได้ไหมถ้าไม่มีการลงทุน
5. การที่จะอาศัยการลงทุนจากภาครัฐอย่างเดียวจะทำให้เศรษฐกิจโตอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่
6. ยอดการส่งออกที่ลดลง และการที่การลงทุนก็ยิ่งลดลง จะยิ่งทำให้การส่งออกในอนาคตยิ่งลดลงใช่หรือไม่
7. รายได้ประชาชนลดลงถ้วนหน้า รัฐบาลจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชนอย่างไร
8. รัฐธรรมนูญใหม่หากไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ จะสามารถช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่

ซึ่งหากทีมเศรษฐกิจสามารถตอบคำถามเหล่านี้ให้เป็นที่พอใจของประชาชนส่วนใหญ่ได้ก็ถือว่าสอบผ่าน แต่ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พอใจ รัฐบาลก็ควรพิจารณาความเหมาะสมเพื่อไม่ให้ประชาชนลำบากไปมากกว่านี้

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

'พรรคเพื่อไทย' แถลงร้องคืนอนาคตประเทศ ต้องมีเสรีภาพ-ไม่ปิดกั้นสิทธิ์ประชาชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย คืนอนาคตประเทศไทย คืนประชามติที่อยู่ในบรรยากาศเสรี เป็นธรรม และเท่าเทียมกันทุกฝ่าย

ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งคำร้องพร้อมความเห็น ต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 สาระสำคัญคือถ้อยคำที่กำหนดไว้ในมาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ห้ามเผยแพร่ข้อความในลักษณะผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างหนึ่งอย่างใด หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าเป็นความผิดและมีโทษทางอาญาฐานกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นการบัญญัติกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคบรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้ให้ความคุ้มครองไว้

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การออกเสียงประชามติมีความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ และการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญต้องมีหลักประกัน 2 ประการ ได้แก่ 1) ต้องเสรี (Free) โดยประชาชนต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ต้องเปิดโอกาสให้มีการให้ความเห็นและถกเถียงถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญอย่างอิสระ และ 2) ต้องเป็นธรรม (Fair) โดยประชาชนทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญต้องมีโอกาสที่จะเผยแพร่/รณรงค์เสนอความคิดเห็นต่อสาธารณะได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

แต่ก็เป็นที่น่าเสียใจว่าก่อนหน้าและนับแต่ได้มีการนำเสนอ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เข้าสู่การพิจารณาของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ได้มีการสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ มีการชี้นำห้ามประชาชนกระทำการใดๆ โดยจะถือว่าเป็นความผิด ประหนึ่งว่าตนคือกฎหมายเสียเอง โดยเหตุดังกล่าวเนื้อความของกฎหมายนี้จึงมีการแปรญัตติตัดข้อความที่ควรเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนออก ใช้ถ้อยคำที่กำกวมยากจะเข้าใจได้ว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจตีความการกระทำของบุคคลได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน มิให้วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรี เป็นการใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อจำกัดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการของการทำประชามติ

ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ยังได้ให้อำนาจข้าราชการและบุคลากรฝ่ายรัฐสามารถรณรงค์/โน้มน้าวประชาชนให้รับร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเปิดเผย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ดำเนินการโดยใช้งบประมาณของรัฐ ซึ่งมาจากภาษีประชาชน ในทางตรงกันข้ามประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นเดียวกันนั้นได้

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจะนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รับการยอมรับ ประชามติที่ขาดความชอบธรรม ดังนั้นฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องหาหนทางแก้ไขและหาข้อยุติโดยเร็ว พรรคเพื่อไทยขอเสนอให้รัฐบาลและ คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คืนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ เพื่อให้เกิดบรรยากาศการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เสรี (Free) และเป็นธรรม (Fair) อันเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งในประเทศและนานาอารยประเทศต่อไป

พรรคเพื่อไทย
8 มิถุนายน 2559

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"อนุตตมา" ห่วงเศรษฐกิจถดถอย หลังประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย


นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเห็นว่า การที่รัฐบาลพยายามจะบอกว่าความสามารถแข่งขันของไทยดีขึ้น 2 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 28 แสดงถึงความสำเร็จของรัฐบาลนั้น ความจริงอาจจะไม่ใช่ เพราะหากมองย้อนไปในปี 2556 ความสามารถแข่งขันของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ซึ่งสูงกว่าปัจจุบัน โดยหากไม่มีการปฏิวัติความสามารถแข่งขันของไทยอาจจะอยู่ที่อันดับที่ 20 ในปีนี้แล้วก็ได้ ไม่ต้องรอถึงปี 2563 เหมือนที่รัฐบาลบอก อีกทั้งอาจจะเป็นเพราะต่างประเทศคาดหวังว่าประเทศไทยจะกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยในปีหน้าถึงทำให้ระดับความสามารถแข่งขันดีขึ้น ซึ่งหากไปดูการวิเคราะห์ของ World Economic Forum (WEF) ที่มีชื่อเสียงมากกว่าในการจัดอันดับ ระบุชัดเจนว่าปัญหาของประเทศไทยอันดับหนึ่งคือ “ความไม่มั่นคงของรัฐบาลและการปฏิวัติซึ่งทำให้ความสามารถแข่งขันไทยถอยลง”

ทั้งนี้ หากมองสภาวะปัจจุบันที่มีบางธนาคารให้อัตราดอกเบี้ย 0% กันแล้วแต่ถูกกดดันต้องปรับใหม่ ซึ่งหมายถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เงินล้นธนาคาร แต่ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ เพราะกลัวจะเกิดหนี้เสีย จากสภาวะเศรษฐกิจที่แย่ และปัจจุบันหนี้เสียก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอยู่แล้ว ซึ่งแปลว่าเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นจริง มีแต่จะเสื่อมถอยลง ซึ่งรัฐบาลและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องพิสูจน์ฝีมือว่าสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้จริงโดยทำให้เศรษฐกิจโตมากกว่า 3.7% ตามที่เคยประกาศไว้ หรือทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม โดยไม่ต้องมาดิสเครดิตคนของพรรคเพื่อไทยว่า จบจากไหน เก่งมาจากไหน เพราะประชาชนเบื่อวิธีการตลาดแล้ว อยากได้เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นมากกว่า

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"มังโสด" ไม่หวั่น เจ้าหน้าที่ประกบติด องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติฯ


อาจารย์มังโสด มะเต๊ะ ในฐานะประธานองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากองคกรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดแดนภาคใต้ มีการประชุมเครือข่ายสมาชิกให้มีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการสังเกตการณ์ลงประชามติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมไดอิชิ (Daiichi Hotel) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วานนี้นั้น ปรากฏว่า ภายในวันนี้ มีผู้อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง สังกัดหน่วยงานความมั่นคงแห่งหนึ่ง ภายในพื้นที่ จ.สงขลา ได้ติดต่อไปยัง โรงแรมไดอิชิ เพื่อขอต้นฉบับกล้องที่บันทึกเทปกิจกรรมภายในห้องประชุมของโรงแรมที่จัดกิจกรรมดังกล่าว ขณะที่ทางโรงแรมแจ้งกลับไปว่า ไม่ได้มีการบันทึกภาพดังกล่าวไว้ โดย โรงแรมไดอิชิ ได้ให้หมายเลขติดต่อกับ อาจารย์มังโสด มะเต๊ะ ประธานองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้

อาจารย์มังโสด มะเต๊ะ ระบุว่า ต่อมา วันนี้ ตนเอง ได้รับการติดต่อกลับมาโดยมีการอ้างชื่อเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง เพื่อขอต้นฉบับกล้องที่บันทึกเทปกิจกรรมขององค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในห้องประชุมของโรงแรมไดอิชิ โดยตนเองจะยังไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ และขอสงวนท่าทีในกรณีดังกล่าว เพื่อประเมินสถานการณ์ประมาณ 2-3 วัน ก่อนที่จะตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดแดนภาคใต้ มีชื่อภาษามลายูว่า Suara Rakyat Selatan 1437H ได้แถลงข่าวเปิดตัวองค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเครือข่ายพันธ์มิตร 35 องค์กร เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมไดอิชิ (Daiichi Hotel) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.โคทม อารียา และทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ได้จัดการอบรมเพื่อให้ความรู้เรื่องการลงประชามติ โดยภายในงานแถลงข่าวเปิดตัว องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเครือข่ายพันธมิตร 35 องค์กร มีการเผยแพร่เนื้อหา แถลงการณ์องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้

เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดให้มีการลงประชามติของประชาชนในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นั้น ซึ่งตามมาตรา 7  พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฏหมาย” ดังนั้น จึงจัดตั้ง “องค์กรสังเกตการณ์ลงประชามติจังหวัดชายแดนภาคใต้” มีวัตถุประสงค์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายออกเสียงประชามติดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ ได้แก่

  • เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ
  • เพื่อเชิญชวนประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติ
  • เพื่อให้การลงประชามติเป็นไปตามกฏหมาย และเกิดความยุติธรรม
  • เพื่อป้องกันและดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนไม่ให้กระทำผิดกฏหมายประชามติ
  • เพื่อสังเกตการณ์ และเฝ้าระวังไม่ให้มีการทุจริตในการนับคะแนนลงประชามติ
  • เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีเผยแพร่ฯ อาทิ ก่อนเผยแพร่ ต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลงานวิจัย รวมถึงที่มาก่อนนำมาประกอบความเห็นหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ เป็นต้น 











วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"นพดล" ทวงถามรัฐ-คสช. เดินหน้าปรองดอง-ส่งเสริมสามัคคีชาติ เรื่องใดบ้าง?


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนพดล ปัทมะ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า "ตั้งแต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตนไม่เห็นว่ามีกระบวนการใดที่เคลื่อนไหวจนสามารถสั่นคลอนความมั่นคงของคสช.และรัฐบาลได้ การชุมนุมในบางครั้งก็กระทำในเชิงสัญลักษณ์ และคสช.เองก็ระบุว่าสถานการณ์สงบจึงยกเลิกข้อห้ามเดินทางไปต่างประเทศของนักการเมือง ดังนั้นต่อจากนี้จนถึงการเลือกตั้ง ตนจึงไม่เชื่อว่าจะมีใครทำให้เกิดความไม่สงบจนกระทบต่อความมั่นคงของ คสช.ได้ เพราะคสช.และรัฐบาลมีอำนาจและกองทัพสนับสนุน ดังนั้นขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเปิดเผยว่าใครหรือกระบวนการใดที่วางแผนเลวร้าย เพื่อให้สังคมได้รู้ชัดๆไปเลยว่าเป็นใครกำลังทำอะไร ไม่อยากให้สังคมสับสนไปตีความกันเอง อย่างไรก็ตาม ตนหวังว่าผู้มีอำนาจจะแยกแยะได้ระหว่างการมีความเห็นที่แตกต่างของคนในสังคมซึ่งเป็นเรื่องปกติ กับความขัดแย้งที่ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ เช่น การปิดสนามบิน ปิดสถานที่ราชการเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ตนไม่เห็นว่าความเห็นต่างจะเป็นอุปสรรคในการผลักดันนโยบาย หรือการแก้ปัญหาของรัฐบาล เช่น ปัญหาปากท้อง ฝนแล้ง การส่งออก เป็นต้น นอกจากนั้นความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าเพิ่มเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างมากขึ้น"

"เห็นรัฐบาลบอกว่ามีนโยบายสร้างความปรองดอง และส่งเสริมความรักความสามัคคีของคนในชาติ ขอถามว่าท่านได้ทำอะไรในเรื่องนี้ไปบ้าง? มีการเปิดพื้นที่และโอบอุ้มคนเห็นต่างเพื่อสร้างความไว้วางใจหรือไม่? ตราบใดที่เรายังไม่มีมาตรการสร้างความไว้วางใจของคนในชาติอย่างเป็นรูปธรรม ความปรองดองก็ยังอยู่ไกลเช่นเดิม" นายนพดล กล่าว

"พานทองแท้" HBD "ณัฐวุฒิ" พี่ชายคนดี-ไพร่-นักสู้-เสียสละ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิด อดีต รมต.เต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ครับ

พี่เต้น ผ่านร้อนผ่านหนาวมาครบ 41 ปี เคยเป็นนักโต้วาทีระดับประเทศ เป็นนักการเมืองทั้งสภาโจ๊กและสภาจริง เคยติดคุกติดตารางจากคดีการเมือง เคยเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์มาแล้ว เรียกว่าผ่านชีวิตมาครบทุกรูปแบบจริงๆ

พี่เต้นเป็น "คนดี" ที่มักจะเรียกตัวเองว่าเป็น "ไพร่" เป็นนักต่อสู้ที่เสียสละและทุ่มเท ในการเรียกร้องประชาธิปไตย และความเสมอภาคในสังคม จึงเป็นขวัญใจของพี่น้องประชาชน ที่อยู่ในกลุ่ม "ประชากรเต็มขั้น" เสมอ

สำหรับบุคคลที่ชอบคิดไปเอง ว่าตัวเองเป็น"คนดี" เป็นบุคคลที่มีแต้มต่อเหนือประชาชนทั่วไป เป็นคนซึ่งไม่ต้องการส่งเสริมคนจน ให้มีโอกาสก้าวหน้าขึ้นมาทัดเทียมพวกตน มักจะไม่ค่อยชอบในสิ่งที่พี่เต้นทำเท่าไหร่ ก็ในเมื่ออุดมการณ์มันแตกต่างกัน ก็ต้องปล่อยให้เขาคิดกันไป

พี่จะเป็นอย่างไร ในสายตาของใคร พี่ก็คือพี่ที่ผมและพี่น้องประชาชน ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย รักและชื่นชมพี่เต้นเสมอ

สุขสันต์วันเกิดครับพี่ชาย