วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560

"พานทองแท้" ยืนยันไม่ได้ทำผิด ขอความเป็นธรรมคดีกรุงไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผมได้ให้ทนายยื่นหนังสือขอให้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม กรณีที่ดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาผมในข้อหาฟอกเงิน โดยผมได้ขอให้สอบพยานบุคคลเพิ่มประมาณ 20 ปากครับ

ถ้าดีเอสไอมีความตั้งใจที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาอย่างที่ควรจะเป็น เพียงแค่เรียกสอบพยานวันละ 4-5 คน ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็เสร็จสิ้น ไม่ได้เสียเวลาแต่ประการใด แต่ทางดีเอสไอ กลับตัดพยานสำคัญออกเกือบหมด เหลือไว้เพียง 8 คนเท่านั้น

พยานที่ถูกตัดออกนั้น หลายคนคืออดีตเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของดีเอสไอ ที่จะมาให้ข้อเท็จจริงได้ว่า ในทางคดีนั้น ตัวผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลย และไม่เคยกระทำการใดๆ ที่จะเป็นความผิดในคดีฟอกเงินทั้งสิ้น

และหนึ่งในพยานที่ถูกตัดออก คืออดีตเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของดีเอสไอที่ถูกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม และยังมีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ เนื่องจากทำคดีนี้อย่างตรงไปตรงมา และอาจทำงานไม่ตอบสนองกลุ่มบุคคลที่ถูกส่งมากำกับดูแล และคอยชักใยอยู่เบื้องหลังเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอ ให้รีบสอบสวนเพื่อเอาผิดคดีนั้น แต่ยกเว้นยังไม่ต้องทำคดีนี้ อยู่ตลอดเวลา

และหากเหตุผลที่ตัดพยานเหล่านี้ออกคือ การปฏิบัติตาม “ธง” เพื่อตอบสนอง ”นาย” เมื่อสั่งมาให้ต้องฟ้อง ก็ต้องทำทุกทางเพื่อให้ฟ้องให้ได้ อะไรที่เป็นคุณกับผู้ถูกกล่าวหาก็ตัดออก แล้วไปหาเหตุที่เป็นโทษมาใส่เข้าไป มันจะได้ดูน่าเชื่อถือให้สั่งฟ้องได้

รัฐบาลที่คอยแอบสั่งหน่วยงานของรัฐ ให้คอยเป็นมือ-เป็นเท้าในการกระทืบฝ่ายตรงข้าม และสั่งให้ “ลดราวาศอก” เพื่อช่วยฟอกขาวให้กับพวกของตน อย่าคิดว่าคนอื่นจะรู้ไม่ทันครับ เจ้าหน้าที่ดีๆ ที่มีความรู้ความสามารถ ยึดหลักการของการทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ท่านเล่นย้ายออกไปแทบจะหมดสิ้น แบบนี้หรือคือ ธรรมาภิบาลของการเข้ามาสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ..!!

ผมต้องปกป้องสิทธิของผม ด้วยการให้ทนายไปยื่นหนังสือ เพื่อขอให้ทบทวนการตัดพยานบุคคลที่ผมได้อ้างไว้ในคำแก้ข้อกล่าวหาของผมอีกครั้งครั

วัดกันดูครับ ระหว่าง
“ธง” จากผู้มีอำนาจ
กับ “ความถูกต้อง”
DSI จะเลือกทางไหน??

"ภูมิธรรม" แนะคืนอำนาจประชาชน หวังสังคมมีอนาคต


นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

คำถาม: ถึงผู้มีอำนาจในสังคม

1. ที่กล่าวว่า...ไม่อยากยึดถือประชาธิปไตยตามหลักสากล แต่ขอเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆของเราเองหมายความว่าต้องการประชาธิปไตยที่ไม่ต้องยึดหลักนิติธรรม แต่ให้ยึดดุลพินิจของผู้มีอำนาจเป็นสำคัญ ใช่หรือไม่? และ ดุลพินิจ แปลว่าอำเภอใจของผู้มีอำนาจใช่หรือไม่?

2. ถ้าบุคคลใดยึด “หลักตน เหนือหลักการในรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย”...ใช้อำนาจของตนอย่างไม่มีขอบเขต ทั้งที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดกำกับและควบคุมอยู่ ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่?

3. เมื่อตอนเข้ามาสู่อำนาจใหม่ๆ ผู้มีอำนาจทั้งหลายสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” จะเร่งรีบเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม และจะรีบคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว

นี่เกือบ 4 ปีมาแล้วนานพอหรือยัง?...แล้วที่มีการวางกฎกติกาต่างๆ ไม่ว่าจะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, กลไก ส.ว. 250 คน หรือการจัดวางคนลงไปในองค์กรอิสระต่างๆ และต่ออายุหลายองค์กร แต่กลับพบว่าคุณสมบัติของคนเหล่านั้นขัดต่อหลักกฎหมายที่บัญญัติขึ้น หลายคนเข้าใจว่า เป็นการจัดวางพวกพ้อง เพื่อคอยเอื้อต่อเป้าหมายที่ต้องการใช่หรือไม่?

4. การดำเนินการเพื่อผลักดันให้เกิดสิ่งต่างๆโดยขัดหรือละเมิดหลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตย จนหลายคนรู้สึกได้ว่าเกิดความเสียหายต่อประเทศมากมาย มีการทำลายหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ทำลายหลักนิติธรรมของประเทศทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่เคารพสิทธิ เสรีภาพของสมาชิกพรรคการเมือง ถือเป็นการกระทำที่มุ่งทำเพื่อตัวเองและพวกพ้องของตน เพื่อสร้างอุปสรรคและวางกับดักในการขจัดคู่แข่งขันทางการเมืองในอนาคต ใช่หรือไม่?

ผลเสียหายที่เกิดขึ้นในระยะยาวใครจะรับผิดชอบ? และบรรดาเนติบริกรและผู้สนับสนุนทุกคน จะมีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างไร?

5. หากคาดหวังหรือมีความประสงค์ที่อยากจะกลับมามีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองอีกครั้ง ควรแสดงความชัดเจนให้ทุกฝ่ายได้เห็นว่า “พร้อมจะพิสูจน์ตัวเองให้ประชาชนพิจารณา”

พวกเราพร้อมต้อนรับเข้าสู่เวทีการต่อสู้ทางการเมืองที่ยุติธรรมและเสมอภาคชัยชนะที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายใด จะมีความสง่างาม เพราะเป็นที่ยอมรับของคนทั้งสังคม...ท่านพร้อมจะพิสูจน์ตัวเองหรือไม่?

6. ถ้าทุกฝ่ายอยากเห็นสังคมมีอนาคต มีความหวัง ก็ต้องช่วยกันสร้างความชัดเจนและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องสร้างกติกาที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและพร้อมจะคืนอำนาจการตัดสินใจให้กับประชาชนอย่างจริงใจ และจริงจัง

...ท่านพร้อมจะคืนอำนาจให้ประชาชน เมื่อใด?
ภูมิธรรม เวชยชัย / 28 ธ.ค. 2560

วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พรรคเพื่อไทย แถลงค้านการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยแถลงข่าว เมื่อเวลา 10.00น. ที่ผ่านมา หลังพิจารณาข้อกฏหมาย และผลกระทบต่างๆ รวมทั้งการประเมินสถานการณ์ อันเนื่องมาจาก หัวหน้าคสช. ออกคำสั่ง ฉบับที่ 53/2560 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขบทบัญญัติในกฎหมาย เปิดทางให้ดำเนินธุรการทางการเมืองได้ ภายใต้การขออนุญาตจาก คสช. และกำหนดให้ วันที่ 1 มีนาคม 2561 เริ่มจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง และตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 แต่ละพรรคการเมืองต้องยืนยันสถานะสมาชิกพรรค โดยให้สมาชิกพรรคของแต่ละพรรค ทำหนังสือยืนยันสถานะต่อหัวหน้าพรรค พร้อมจ่ายค่าบำรุงพรรค ภายใน 30 วัน หากไม่ทันกรอบเวลาให้ถือว่า “สิ้นสภาพสมาชิกพรรคการเมือง” ไป และกำหนดให้แต่ละพรรคการเมือง เตรียมความพร้อมเรื่องทุนประเดิม พรรคละ 1 ล้านบาท/หาสมาชิกพร้อมค่าบำรุงพรรค ไม่น้อยกว่า 500 คน ภายใน 180 วัน และนับ 1 เมษายน 2561 ภายใน 1 ปี ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คนพร้อมค่าบำรุง ภายใน 4 ปีต้องมีสมาชิกและค่าบำรุงไม่น้อยกว่า 10,000 คน และให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ ปรับโครงสร้างบุคคลและข้อบังคับ จัดตั้งสาขาและตัวแทน ประจำจังหวัด ภาคละ 1 สาขา ภายใน 90 วัน นับแต่ประกาศปลดล็อกให้พรรคการเมือง โดยขอขยายเวลาได้ 1 เท่า หากไม่ทันตามกำหนดจะงดเงินอุดหนุนพรรค นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดให้การเลือกตั้งครั้งแรกนั้นให้พรรคการเมืองจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค 4 คน และหัวหน้าสาขาเลือกกันเอง 7 คน หากพรรคใดหัวหน้าสาขาไม่พอ ก็ให้พรรคการเมืองหาสมาชิกให้ได้จนครบ 7 คนได้


คำแถลงพรรคเพื่อไทย
เรื่อง คัดค้านการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560
   
ตามที่หัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม ดังนี้
   
1. การกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมือง ถ้าประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคต่อไป ต้องยื่นหนังสือยืนยันไปยังหัวหน้าพรรคและแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม พร้อมชำระค่าบำรุงพรรค ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว หากไม่มีการดำเนินการถือว่าพ้นสมาชิก ซึ่งย่อมมีผลว่า นับแต่ออกคำสั่งนี้ สมาชิกพรรคไม่สามารถจะใช้สิทธิหน้าที่ในฐานะสมาชิกพรรคได้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการ ลบล้างสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด การให้สมาชิกยืนยันพร้อมแสดงหลักฐานไม่ต่างกับการสมัครสมาชิกพรรคใหม่ คำสั่งนี้จึงมีผลทำให้สมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมไม่มีสถานะตามกฎหมายเป็นสมาชิกพรรค จนกว่าจะมีการทำหนังสือยืนยันไปยังหัวหน้าพรรค ซึ่งถือว่าเป็นการรีเซ็ตสมาชิกพรรค
   
2. การกำหนดให้การจัดประชุมใหญ่ของพรรค เพื่อแก้ไขข้อบังคับ การเลือกกรรมการบริหาร การจัดตั้งสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ต้องทำภายใน 90 วัน นับแต่มีการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 นั้น เป็นความไม่แน่นอนอย่างยิ่งว่า คสช. จะยกเลิกประกาศและคำสั่งดังกล่าวเมื่อใด หากไปยกเลิกใกล้ๆ วันเลือกตั้ง พรรคก็ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ทัน และอาจ ไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้
   
3. กำหนดให้ดำเนินการต่างๆ จะต้องขออนุญาต คสช. ก่อน และถ้าจะขอขยายเวลา ก็ทำได้เพียงหนึ่งเท่าของเวลาเดิม ทั้งที่ตามกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้ขยายได้ถึง 3 ปี และหากดำเนินการไม่ครบถ้วน ห้ามมิให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและห้ามมิให้จัดสรรเงินอุดหนุนให้พรรคการเมือง เท่ากับเป็นการล็อคพรรคการเมืองไว้สองชั้น และเกิดความ ไม่แน่นอนแก่พรรคการเมือง
   
4. กำหนดให้พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่สามารถดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมือง จัดประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหาร จัดทำข้อบังคับได้ เพียงแต่การจัดประชุมเพื่อจัดตั้งพรรคต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อนเท่านั้น ยิ่งถือเป็นความไม่เท่าเทียมกันตามกฎหมาย มิใช่ เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม
 พรรคเพื่อไทย เห็นว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว ขัดต่อบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญ ขาดความชอบธรรม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรค เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองบางกลุ่มได้จัดตั้งพรรค เพื่อปูทางให้ คสช. ได้สืบทอดอำนาจต่อไป ซึ่งล้วน เป็นการทำลายพรรคการเมืองเดิม มิได้เป็นการช่วยเหลือตามที่อ้างแต่อย่างใด


พรรคเพื่อไทยจึงขอแถลงคัดค้านคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ดังนี้
   
ข้อ 1. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนด้วยการออกเสียงประชามติ ประชาชนจึงเป็นผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ และเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจหน้าที่ขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขไว้อย่างชัดเจน ขณะนี้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ตามมาตรา 263 การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจึงต้องกระทำโดย สนช. แต่ คสช. เป็นเพียงองค์ ที่ได้อำนาจที่ได้รับมอบหมายมาจากรัฐธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง การที่หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยเข้าใช้อำนาจแทน สนช. นั้น จึงไม่อาจทำได้ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18 – 22/2555 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555
   
ข้อ 2. การใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ประกอบมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 นั้น ต้องไม่ใช่เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 53/2560 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา หรือ สนช. ในปัจจุบันนั้น นอกจากไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 44 เพราะมิได้เป็นไปเพื่อปฏิรูปด้านต่างๆ ไม่ใช่เพื่อสร้างเสริมความสามัคคีปรองดอง หรือเพื่อป้องกัน ระงับปราบปรามการกระทำ ที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง เศรษฐกิจของประเทศหรือราชการแผ่นดินแล้ว การกระทำดังกล่าวยังถือเป็นการลบล้าง (Overrule) กระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญด้วย และเหตุที่ คสช. ออกคำสั่งดังกล่าวก็เพื่อแก้ปัญหาที่ตนเองก่อขึ้นจากการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคดำเนินกิจการทางการเมืองและคงข้อห้ามตามคำสั่งดังกล่าวไว้โดยไม่มีเหตุผล การออกคำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่มีความชอบธรรม
   
ข้อ 3. การกระทำของหัวหน้า คสช. เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การคงข้อห้ามตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แม้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จะประกาศใช้แล้ว ก็ยังไม่ยอมยกเลิก ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพของบุคคลในการรวมตัวกันจัดตั้ง พรรคการเมือง และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และเมื่อกฎหมายพรรคการเมืองประกาศใช้ ซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการในเรื่องต่างๆ คสช. ก็ยังไม่ยกเลิกประกาศดังกล่าว มาวันนี้ หัวหน้า คสช. กลับมาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพรรคการเมือง โดยกำหนดให้รีเซ็ตสมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิม กำหนดเงื่อนไขที่การดำเนินการต่างๆ ต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. อีก การจะจัดประชุมใหญ่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือการจัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ก็ต้องรอให้ คสช. ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ก่อน อันเป็นการกระทำที่ คสช. และหัวหน้า คสช. ไม่เคย ให้ความสำคัญและเคารพต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพ ของผู้อื่นเลย ทั้งที่ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ มิได้มาจากพรรคการเมือง แต่เกิดจาก คสช. ทั้งสิ้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการทำลายระบบพรรคการเมืองของประชาชน
   
ข้อ 4. พรรคเห็นว่า การดำเนินการของ คสช. จะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง ที่ต้องการสนับสนุนให้ คสช. และหัวหน้า คสช. สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไป โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ สามารถจัดประชุมเพื่อจัดตั้งพรรค การเลือกกรรมการบริหารพรรค การจัดทำข้อบังคับพรรคได้โดยเพียงขออนุญาตจัดประชุมต่อ คสช. ก่อนเท่านั้น แต่พรรคการเมืองเดิม กลับไม่สามารถทำได้ ประกอบกับมีข้อเท็จจริงว่า ก่อนออกคำสั่ง เพียงไม่กี่วัน มีการเรียกร้องจากบางกลุ่มการเมืองให้มีการรีเซ็ตสมาชิกพรรคใหม่ โดยอ้างเรื่องความเท่าเทียมของพรรคการเมืองเดิมและพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งคำสั่ง ของหัวหน้า คสช. ก็ออกมาสอดคล้องกับข้อเรียกร้องดังกล่าว
 การดำเนินการของหัวหน้า คสช. จึงมิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง บนความเสมอภาคเท่าเทียมตามที่กล่าวอ้าง แต่กลับเป็นไปเพื่อทำลายพรรคการเมืองเดิม และสนับสนุนกลุ่มการเมืองที่จะจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่มากกว่า
   
ข้อ 5. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 (5) กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่และอำนาจดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 23 กำหนดให้คณะกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้ตอบข้อหารือของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง และตามกฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติให้ประธานกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นๆ แต่ในคำสั่งข้อ 7 กลับกำหนดเพิ่มอำนาจให้ คสช. มีอำนาจตอบข้อหารือดังกล่าวได้ จึงถือว่า คสช. ใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มอำนาจให้ตนเองเข้าไปแทรกแซงในกระบวนการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองและกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คสช. ไม่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว นอกจากนี้ตามคำสั่ง ข้อ 8. ที่กำหนดให้องค์กรซึ่งเป็นองคาพยพของ คสช. หารือกับคณะกรรมการเลือกตั้งเพื่อร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอน การดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งนั้น มีผลเท่ากับว่า คสช. เข้าไปแทรกแซงการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการเลือกตั้งในการทำกิจกรรมทางการเมืองและการเลือกตั้ง ทั้งที่การดำเนินการต่างๆ มีกฎหมายบัญญัติอำนาจหน้าที่และขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าวไว้แล้ว
   
ข้อ 6. การกำหนดระยะเวลาให้พรรคการเมืองเริ่มดำเนินการต่างๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบระยะเวลาในเดือนตุลาคม 2561 หรือจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้มีการยกเลิกประกาศของ คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. นั้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า มีเจตนาซ่อนเร้นว่าจะมีการเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ออกไป เพราะเมื่อถึงเวลาดังกล่าว พรรคการเมืองไม่อาจดำเนินการหรือส่งผู้สมัคร รับเลือกตั้งได้ทัน ก็จะเป็นเหตุผลและข้ออ้างของ คสช. ให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งได้

พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้างต้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยมิได้เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทำลายระบบพรรคการเมืองและสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรค เพิ่มภาระให้แก่สมาชิกพรรคเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น เปิดช่องให้มีการตั้งพรรคการเมือง เพื่อสนับสนุนให้ คสช. และหัวหน้า คสช. ได้อยู่ในอำนาจต่อไป และเมื่อหัวหน้า คสช. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย การออกคำสั่งดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง อันขัดต่อหลักธรรมาภิบาล จึงขอให้ คสช. ได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว รวมถึงประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นต้นเหตุแห่งข้ออ้างของ คสช. ในการออกคำสั่งฉบับนี้ด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะได้ยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
   
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
27 ธันวาคม 2560

วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

“เพื่อไทย” แนะรัฐคืนอำนาจประชาชนเป็นของขวัญปีใหม่


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.29 มองว่า ไม่เหมาะสมที่จะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แสดงว่าอนาคตประชาธิปไตยของประเทศยังคงมีความหวัง ประชาชนหวงแหนสิทธิในการเลือกคนเข้ามาบริหารประเทศ หวังว่าผู้มีอำนาจที่อาจจะมองภาพการเมืองไม่ชัดจะรับฟัง เปรียบเสมือนประชาชนชี้ขุมทรัพย์ ชี้แนะแนวทางที่ถูกที่ควรให้ จะได้ตระหนักใคร่ครวญ เพื่อเตรียมการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย

"การใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ขยายเวลาให้พรรคการเมืองดำเนินการในเรื่องสมาชิก เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทั้งที่สิ่งที่ควรจะทำคือการปลดล็อคให้พรรคการเมือง สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ทันที" นายอนุสรณ์ กล่าว

ที่อ้างว่ายังไม่ปลดล็อคเพราะกลัวความวุ่นวายนั้น ตนคิดว่าข้ออ้างดังกล่าวไม่ค่อยมีน้ำหนักและไปยาก ตนไม่เชื่อว่าจะมีใครทำ แม้คิดจะทำก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐบาลมีเครือข่ายกลไกครอบคลุมเต็มทุกพื้นที่ และสังคมคงไม่ยอมรับการสร้างความวุ่นวาย นักการเมืองคนใดดำเนินการขัดกฎหมาย คสช.สามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก การอ้างเช่นนั้นนอกจากจะประจานตัวเองแล้ว ยังแสดงว่า 3-4 ปีที่ผ่านมาคนไทยยังไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยอยากเห็นของขวัญปีใหม่ 4 ข้อ ที่ผู้มีอำนาจควรส่งมอบให้กับประชาชน คือ

1. เร่งแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มแก้ไขยากมากขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยยังลำบาก ราคาพืชผลการเกษตรหลักตกต่ำหนักมาก ทั้ง ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เกษตรกรขาดกำลังซื้อ ปัญหาความยากจนยังมีอยู่มาก รัฐบาลต้องเร่งแก้

2. เร่งสร้างความปรองดอง สร้างความไว้วางใจระหว่างกัน การใช้น้องเกี่ยวก้อยอย่างเดียวไม่พอ ต้องลงลึกในรายละเอียดและแนวปฏิบัติที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น

3. บังคับใช้กฏหมายอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ เปิดพื้นที่สิทธิเสรีภาพให้ประชาชนและสื่อมวลชน ได้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยกเลิกการปรับทัศนคติ และไม่ควรนำกลับมาใช้อีกทุกกรณี

4. คสช.และรัฐบาลควรสร้างบรรยากาศ ในการเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งที่ประชาชนจะตัดสินใจเลือกผู้แทนของตน เพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เลิกมองนักการเมืองว่าเป็นแหล่งรวมของนักเลือกตั้ง เพราะพรรคการเมืองคือกลไกในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนรวมตัวกันเสนอแนวทางแก้ปัญหาประเทศ

“ชวลิต” แนะแม่น้ำ 5 สาย สละสิทธิ์เบี้ยคนชรา


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังไปหารือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อช่วยกันรณรงค์ให้ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี มีฐานะร่ำรวย และรับเบี้ยคนชรา เดือนละ 600 บาท ยอมสละสิทธิ์ดังกล่าว เพื่อนำเงินมาสมทบรวมกับกองทุนช่วยเหลือคนชรา ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ข้อมูลการดำเนินการว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมา มีผู้สูงอายุสละสิทธิ์เพียง 100 กว่าราย จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 500,000 คน เป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท นั้น
       
นายชวลิต กล่าวว่า ตนรู้สึกขัดใจกับข่าวนี้มาก ความจริงแล้วรัฐบาล และแม่น้ำสายต่างๆ ควรเป็นตัวอย่างในการสละสิทธิ์การรับเงินได้หลายทาง โดยควรรับทางเดียว

"ท่านยังไม่เสียสละเลย แล้วจะเป็นตัวอย่างที่ดีกับผู้อื่น ให้ผู้อื่นเสียสละได้อย่างไร"
       
การหาเงินสมทบเข้ากองทุนคนชรา จำนวน 4,000 ล้านบาทตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ควรมีนโยบายเป็นกิจจะลักษณะด้วยการตั้งงบฯ ให้เป็นรายปี โดยพิจารณาความจำเป็น สถานการณ์ และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก เช่น สถานการณ์ปัจจุบันควรซื้อเรือดำน้ำหรือไม่? ฯลฯ เป็นต้น รัฐบาลเพียงเจียดงบมาเล็กน้อยจากงบซื้ออาวุธ ก็สามารถดูแลคนชรา ดูแลประชาชนได้

วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2560

”ชูศักดิ์” ติงคำสั่ง คสช. มุ่งเอื้อพรรคใหม่-รีเซ็ตพรรคเก่า


นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าคำสั่ง คสช.สร้างความสับสนในการใช้อำนาจ นิติบัญญัติ มีผลกระทบกับพรรคเก่าอย่างรุนแรง ผลจากการออกคำสั่ง คสช. 53/2560 การดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมือง 2560 โดยใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แทนที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยยกเลิกประกาศ คสช. ทั้งหลายเสีย กลับออกคำสั่งดังกล่าว ขอยืนยันว่าการใช้มาตรา 44 ยกเลิกแก้ไขกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯและประกาศใช้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีปัญหาในประเด็นการใช้อำนาจว่ามีความเหมาะสมหรือไม่? รายละเอียดของคำสั่งเห็นชัดเจนว่ามุ่งช่วยพรรคที่จะเกิดขึ้นใหม่ พรรคสืบทอดอำนาจให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง ส่วนพรรคเก่าต้องสาระวนกับการแก้ปัญหาสมาชิกที่มีอยู่แล้ว ดูแล้วคือการรีเซ็ตสมาชิกพรรคทางอ้อม

1.บทเฉพาะกาลเดิมตามมาตรา 140 พรป. พรรคการเมือง กำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองยังคงเป็นสมาชิกอยู่ต่อไป จะพ้นก็ต้องรอเวลา 4 ปี ถ้าไม่เสียค่าบำรุงพรรค ตามคำสั่งที่ 53/2560 เปลี่ยนแปลงโดยกำหนดให้สมาชิกที่เป็นอยู่แล้วต้องแสดงเจตนาต่อหัวหน้าพรรคประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกต่อไปภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 พร้อมต้องเสียค่าบำรุงพรรค มิเช่นนั้นจะขาดจากการเป็นสมาชิกทันที ที่สำคัญและจะเป็นปัญหาคือการกำหนดให้สมาชิกพรรคต้องแสดงหลักฐานว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายพรรคการเมือง 2560 จึงต้องดูว่าต้องแจ้งแสดงหลักฐานอะไรบ้างเพราะลักษณะต้องห้ามมีหลายข้อ ต้องแจ้งการไม่เคยถูกลงโทษทางอาญา ไม่เคยล้มละลาย และอีกหลายข้อ จึงไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเป็นการทำลายพรรคการเมืองเดิม สร้างภาระให้พรรคและสมาชิก ก่อให้เกิดภาระมากๆ จึงอาจมีแนวโน้มในทางไม่แจ้ง ไม่แสดงเจตนา เพราะยุ่งยากไม่เข้าใจ ในที่สุดก็ขาดจากสมาชิก จึงคล้ายๆ กับเซ็ตซีโร่อันเป็นความต้องการของบางฝ่าย ในขณะที่พรรคใหม่สมาชิกไม่ต้องแสดงหลักฐานอะไร ที่เขียนคำสั่งมานี้อาจเกิดปรากฏการณ์ที่ผู้สมัคร ส.ส. อาจย้ายพรรคได้โดยไม่ต้องลาออกจากพรรคเดิม พรรคเดิมอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพียงรอเวลาให้พ้นวันที่ 30 เมษายน 2561 ไม่แสดงเจตนาการเป็นสมาชิกพรรค ก็พ้นจากสมาชิกแล้ว จึงเห็นว่าเป็นคำสั่งที่โหดร้าย ซ่อนเงื่อน มีเจตนาที่จะทำลายพรรคการเมืองเดิม สร้างความได้เปรียบสำหรับพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่

2.การไปประกาศกำหนดให้พรรคเก่าต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ สร้างข้อบังคับใหม่ เลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ภายใน 90 วัน นับแต่การยกเลิกประกาศ คสช. 57/2557 และคำสั่งที่ 3/2558 ในขณะที่ของเดิมต้องทำภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศใช้กฎหมาย ระยะเวลา 90 วัน เป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดมาก เรื่องที่กำหนดมิได้ทำได้ง่ายๆ ที่สำคัญเป็นไปตามอำเภอใจของ คสช. เพราะไม่รู้ว่า คสช. จะยกเลิกประกาศและคำสั่งเมื่อไร ระยะเวลาดังกล่าวใช้กับการจัดตั้งสาขาให้ครบอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขาด้วย สำหรับพรรคเก่าจะต้องมีภาระหนักในการสำรวจตรวจสอบสมาชิกไม่ต่ำกว่า 500 คน ในสาขานั้นๆ ว่ายังมีเจตนาที่จะเป็นสมาชิกอยู่ต่อไปหรือไม่ เพราะการมีสมาชิก 500 คน คือเงื่อนไขการเป็นสาขาพรรคในขณะที่พรรคการเมืองใหม่อาจตั้งสาขาไม่ครบก็ได้

ภาระของพรรคเก่าจึงมีมากมาย คำสั่งฉบับนี้จึงเป็นการเอาเงื่อนไขต่างๆ ค้ำคอพรรคที่มีสมาชิกมากๆ สุ่มเสี่ยงกับการปฏิบัติตามคำสั่งไม่ได้ ในขณะที่พรรคใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นไม่ต้องทำอะไรที่ยุ่งยากเช่นนั้นเลย

3.คำสั่งดังกล่าวอนุญาตให้พรรคที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่สามารถดำเนินการทางธุรการในการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ จัดประชุมได้โดยขออนุญาตต่อ คสช. ในขณะที่พรรคเก่าดำเนินการประชุมใดๆ ไม่ได้ คำสั่งดังกล่าวจึงกระทบต่อพรรคที่มีอยู่เดิมอย่างรุนแรง ไม่ใช่การสร้างความเท่าเทียมกันดังที่อ้าง ตรงข้ามกลับสร้างภาระให้แก่พรรคการเมืองและสมาชิกพรรคที่มีอยู่แล้วอย่างไร้เหตุผล คำสั่งที่มีขึ้นจะสร้างปมปัญหาขึ้นใหม่หลายเรื่อง และต้องตีความกันวุ่นวาย เช่น เมื่อสมาชิกพรรคหมดไปตั้งแต่พ้น 30 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2561 แล้ว ทำไมยังต้องมากำหนดให้พรรคเรียกเก็บค่าบำรุงภายในปีแรก ภายใน 1 ปี หรือ 4 ปีอีก จึงเห็นว่าอำนาจที่อยากจะคงไว้คือต้นเหตุของปัญหา ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด คำสั่งฉบับนี้จะสร้างความสับสนอลหม่านให้แก่พรรคและสมาชิก โดยเฉพาะพรรคที่มีสมาชิกเป็นจำนวนมาก
             
         

“ชยิกา” แนะปลดล็อกพรรคการเมือง สร้างความมั่นใจนักลงทุน-เร่งฟื้นเศรษฐกิจ


"ชยิกา" ระบุ สร้างเชื่อมั่นภาคเอกชน ง่ายนิดเดียว ปลดล็อกพรรคการเมืองทันที หยุดใช้ . 44 พร่ำเพรื่อ เพื่อซื้อเวลาเลื่อนเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณแซนด์-ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมายอมรับว่า ภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่น ลงทุนในประเทศน้อย แต่กลับไปลงทุนในต่างประเทศมาก จึงอยากให้เอกชนเร่งกลับมาลงทุนในไทย เพราะเกรงจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่เป็นขาขึ้นได้นั้น

ในข้อเท็จจริงการที่รัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับเอกชนไทยและต่างประเทศนั้นง่ายนิดเดียว คือยกเลิกคำสั่งตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจการทางการเมือง แทนการใช้อำนาจมาตรา 44 พร่ำเพรื่อ ตามคำสั่ง คสช. ฉบับล่าสุดที่ 53/2560 เพื่อดำเนินการตามข้อกำหนดต่างๆใน ...พรรคการเมือง ซึ่งไม่ต่างอะไรกลับการ ซื้อเวลาที่เสมือนว่าต้องการสร้างแต้มต่อให้กับพรรคการเมืองใหม่ ขณะเดียวกันก็มุ่งล้างหน้าตักสมาชิกเดิมของพรรคการเมืองเดิมในคราวเดียวกัน นอกจากนี้จากการใช้อำนาจ มาตรา 44 ดังกล่าว ยังสร้างความกังวลให้กับสังคมในวงกว้างถึง ความจริงใจของรัฐบาล ในการที่จะดำเนินการตามโร้ดแม็บที่เคยประกาศไว้  

ท้ายที่สุด รัฐบาลกลับกลายเป็นผู้สร้างบรรยากาศที่อึมครึม มองไม่เห็นความชัดเจนในอนาคตทางการเมืองและประชาธิปไตยของประเทศ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถพูดถึงกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนได้ ส่งผลให้ภาคเอกชนยังคงมีความไม่มั่นใจในการลงทุน และเมื่อเอกชนไม่ลงทุน การสร้างงานก็ไม่เกิด และเมื่อการสร้างงานไม่เกิด ผลกระทบจึงเกิดกับประชาชนโดยตรง กลายเป็น รายได้ไม่เพิ่ม แต่รายจ่ายกลับมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้ประชาชนเองก็ไม่มีเงินใช้และไม่กล้าใช้เงิน ส่งผลกระทบให้ไม่เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจดังนั้นสิ่งที่ภาคเอกชน นักธุรกิจและนักลงทุน รอคอยในวันนี้ คือความชัดเจนทางจากรัฐบาล เมื่อเกิดความชัดเจน  ความเชื่อมั่นก็จะตามมา หน้าที่ของรัฐบาลจึงควรสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ได้มองเห็นอนาคตที่ชัดเจน  ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความเชื่อมั่น ของภาคเอกชน ไม่ได้เกิดจาก ความมั่นคง แต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากตัวเลขต่างๆ ดังนี้  

1. รายงานธนาคารโลกระบุ ว่าในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา งบลงทุนจากเอกชนไทยไหลออกนอกประเทศกว่า 800,000 ล้านบาทแล้ว แต่กลับไม่มีการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

2. ในปี 2555 หรือช่วงรัฐบาลที่มาจากประชาชน การลงทุนภาคเอกชนเคยสูงถึง 14.4% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในปี 2560 มีเพียง 2.9% 

3. ตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จากธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2560 เพิ่มสูงมากกว่าสองแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าไทยไม่มีการนำเข้าที่เป็นการลงทุนเครื่องมือทันสมัยจากต่างประเทศ ไม่เกิดการลงทุนใหม่

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเป็นสาเหตุสำคัญของการขาดความเชื่อมั่น ทำให้ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน ส่งผลให้ ไม่เกิดการสร้างงานให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ และเมื่อประชาชนไม่มีงาน ก็ไม่มีรายได้ มีแต่เพียงรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ประเทศก็ตกอยู่ในภาวะเงินฝืด รวยกระจุกจนกระจาย ชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินในกระเป๋า สะท้อนให้เห็นปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่จมลึกลงไปเรื่อยๆ จึงขอเสนอให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกระทรวงเศรษฐกิจได้พูดคุยกับหัวหน้ารัฐบาลให้เข้าใจว่าการยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 57/2557 เพื่อปลดล็อกการดำเนินกิจการทางการเมืองในคราวเดียวพร้อมกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชนได้มองเห็นอนาคต ไม่ใช่ติดกับอยู่ในวังวนเดิมๆ แบบนี้

วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560

“จาตุรนต์” ฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ ระงับหนังสือเดินทางมิชอบ


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีความของผมอีกเรื่องคือเรื่องที่ผมฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางที่ทำให้ผมไปต่างประเทศไม่ได้มากว่า 2 ปีแล้ว และศาลปกครองวินิจฉัยว่าคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของผมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กระทรวงต่างประเทศอุทธรณ์ เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ผมจึงยังไม่มีหนังสือเดินทางจนกว่าคดีจะถึงที่สุดครับ

ส่วนเรื่องการที่ผมถูกระงับธุรกรรมการเงินมา 3 ปีกว่าแล้วและยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการยกเลิกคำสั่งคสช.ที่มีต่อผมนี้ ผมกำลังเตรียมการเพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยกเลิกคำสั่งคสช.เพื่อผมจะได้มีสิทธิ์เหมือนคนไทยทั่วไปหรือเหมือนคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยกับเขาเสียที่ ในเร็วนี้คงไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ครับ

เรื่องนี้ผมจะเล่าความเป็นมาให้ฟังกันต่อไปครับ

วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2560

"พานทองแท้" แจงปรับทิศทางวอยซ์ทีวี มุ่งหน้าสื่อใหม่

นายพานทองแท้ ชินวัตร ให้สัมภาษ์สื่อมวลชน ในวันเปิดสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี / ภาพจากแฟ้ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


วันนี้ทุกคนคงทราบข่าวเรื่อง Voice TV ที่มีความจำเป็นต้องปรับลดขนาดขององค์กรลงแล้วนะครับ

ในสภาวะที่สื่อโทรทัศน์รูปแบบต่างๆ มีคนดูน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยสื่อในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและตรงใจผู้บริโภคมากกว่า จนทำให้แทบจะทุกสถานีต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

Voice TV ทีมผู้บริหาร และทีมงานทุกคน ได้พยายามทุกทางอย่างที่สุดมาตลอดระยะเวลากว่าแปดปี และพยายามปรับตัวตามสถานการณ์แต่ก็หนีไม่พ้นในกฎเกณฑ์เดียวกันกับสื่อทีวีช่องอื่นๆ หลายช่อง เรายังประสบปัญหาซ้ำสองจากการที่เรายืนหยัดในการให้ข้อมูลต่อผู้ชมอย่างตรงไปตรงมา และหลายรายการในช่องของเรา มีจุดยืนที่อาจจะไม่ตรงกับสภาพการเมืองมากนัก

หลายๆ ครั้งที่ Voice TV ของเราต้องโดนปิดจากการที่เราได้นำเสนอข้อมูลหลายๆ อย่าง ถูกงดออกอากาศ ถูกห้ามจัดรายการหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งทำให้การบริหารเป็นไปได้อย่างมีอุปสรรคตลอดมา

ในวันนี้ ผู้บริหารของ Voice TV คงได้พูดถึงเหตุผลต่างๆ ในการปรับโครงสร้างองค์กร ไว้อย่างครบถ้วนแล้ว แต่สิ่งที่ผมอยากจะเอ่ยถึงคือ พี่น้องพนักงานและเจ้าหน้าที่ของเราทั้งหมดอีกครั้ง

ตลอดเวลาที่ได้ร่วมงานกันมา ผมพูดได้อย่างเต็มปากว่า ทุกท่านคือผู้ร่วมอุดมการณ์ ทุกท่านมีจุดยืนที่มั่นคง ทุกท่านไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่กดดันพวกเราในทุกรูปแบบ ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ในวันนี้ แม้หลายๆ ท่านจะต้องแยกจากกันไป ผมเชื่อมั่นว่าครั้งหนึ่งที่พวกเราได้เคยร่วมทุกข์ร่วมสุข อยู่ร่วมกันจนเสมือนเป็นครอบครัว Voice TV เดียวกัน จะยังคงอยู่ในใจของพวกเราเสมอ

และผมเชื่อมั่นว่า ด้วยความรู้และความสามารถของพวกท่านทั้งหลาย ท่านจะประสบความสำเร็จในอนาคตอย่างแน่นอน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะมีโอกาสได้ร่วมงานกันเสมือนหนึ่งครอบครัวเดียวกันอีกครั้งครับ

ขอให้พี่น้องทุกท่าน โชคดีครับ
ด้วยรักและห่วงใย
โอ๊ค

"วัฒนา" ให้กำลังใจ "จาตุรนต์" ถูกอายัดบัญชี-ขึ้นศาลทหาร


นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

วันนี้ผมเดินทางมาให้กำลังใจพี่อ๋อย หรือคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ศาลทหารกรุงเทพ หลังการยึดอำนาจพี่อ๋อยได้สร้างสถิติขึ้นหลายอย่าง ตั้งแต่ เป็นคนแรกที่แสดงอารยะขัดขืนจนถูกกล่าวหาว่าขัดคำสั่ง คสช. ที่ให้มารายงานตัว จากนั้นถูก คสช. ยกกำลังมาควบคุมตัวที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ถูกอายัดบัญชี ถูกเพิกถอนหนังสือเดินทาง และต้องขึ้นศาลทหาร ส่วนผมก็เป็นจำเลยที่ศาลนี้เช่นกันจากข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ที่ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังดีที่เราได้คุณนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย มาเป็นทนายให้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ครม. เพิ่งมีมติให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่ คสช. และรัฐบาลก็ยังคงละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนไทยแบบรายวัน เช่น ใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายคอมพิวเตอร์จัดการกับผู้เห็นต่าง 

...ช่างย้อนแย้ง

ฟังไม่ขึ้น! "ชวลิต" ติง "วิษณุ" ชูม.44 กำกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลถึงการใช้ ม.44 ขยายกรอบเวลาดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น ตนเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ทั้งเทียบไม่ได้กับความเสียหายของประเทศที่สูญเสียความเชื่อมั่นซ้ำซาก ซึ่งขอชี้ให้เห็นเป็นข้อๆ เพื่อความเข้าใจง่าย ดังนี้

1. การที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาเสียเอง ขัดกับหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน เป็นการทำลายความเชื่อมั่นประเทศตนเองซ้ำซาก ประเทศใดจะอยากคบค้าสมาคมด้วย ที่สำคัญจะตอบ EU อย่างไรที่ได้ยื่นไมตรีมาฟื้นความสัมพันธ์ แต่รัฐบาลกลับจะทำตรงกันข้าม

2. ผู้ที่เคลื่อนไหวจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ล้วนเป็นคนหน้าเดิมที่ประกาศชัดเจนว่า จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า ไม่ได้ทำเพื่อความเท่าเทียมอย่างที่อ้าง แต่ทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง หรือไม่

3. มีการดำเนินการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างเป็นกระบวนการ เพื่อปูทาง นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ ตั้งแต่วางกติกาใน กฎหมายรัฐธรรมนูญให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้, ส.ว.มาจากการสรรหา แต่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้, ระบบการเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพื่อให้พรรคการเมืองอ่อนแอฯลฯ หากจะอ้างว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ถามว่ามีที่ไหนในโลกที่ทำประชามติท่ามกลางการมีอำนาจตาม ม.44 กำกับอยู่

4. ขณะนี้มีการวิพากษ์อย่างกว้างขวางว่า มีการเอาเปรียบทางการเมือง เพื่อปูทาง นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก นอกจากกำหนดกติกาเอาเปรียบดังกล่าวข้างต้น ยังมีการวิพากษ์ว่า มีการใช้งบประมาณแผ่นดินหาเสียงล่วงหน้า ทั้งงบปกติ งบกลาง งบลับ เงินสะสมท้องถิ่น ไปประชุม ครม.สัญจรที่ไหน ก็ประกาศให้งบประมาณเท่านั้น เท่านี้ ทั้งเกณฑ์ประชาชนมาเพื่อฟังคำถามนำว่า จะสนับสนุนให้เป็น นายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่? ท่านจะตอบเสียงวิพากษ์ดังกล่าวอย่างไร ว่าไม่ใช่เป็นการหาเสียงล่วงหน้า

วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560

"หมวดเจี๊ยบ" ยืนยันโพสต์วิจารณ์ประยุทธ์ไม่ผิด-นานาชาติสังเกตการณ์


ร้อยโทหญิงสุณิสา ทิวากรดำรง หรือ “หมวดเจี๊ยบ” อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความส่วนตัว เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากกรณีที่โพสต์วิจารณ์การการทำงาน ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ร้อยโทหญิงสุณิสา กล่าวว่าวันนี้มาเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมครั้งที่ 2 อีก 3 กระทง ตามจำนวนครั้งที่โพสต์ข้อความ หลังจากก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวน แจ้งข้อหาไปแล้ว 6 กระทง โดยวันนี้ได้มาพร้อมกับตัวแทนสถานทูต 28 ประเทศ เพื่อสังเกตการทำงานของตำรวจ ปอท.ด้วย ส่วนที่ได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

ด้านนายนรินท์พงศ์ ทนายความที่มาวันนี้ เพราะทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่าพนักงานสอบสวน ปอท. เตรียมออกหมายเรียกเพิ่มให้มารับทราบข้อหา จึงเดินทางเข้ามาพบก่อน อีกทั้งเพื่อสอบถามถึงขั้นตอนการดำเนินคดีต่อไป

วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

“ชวลิต” แนะวิษณุทบทวนใช้ ม.44 แก้พรป.พรรคการเมือง


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “ขอให้ความเห็นต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาทบทวนการใช้มาตรา 44 ขยายกรอบเวลาให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพราะการใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 เป็นอำนาจนอกระบบ ที่ไม่ควรนำมาใช้แก้ไขปัญหาประชาธิปไตย โดยเฉพาะ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เป็นกฎหมายลูกของกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านการทำประชามติ จึงไม่ควรถูกแก้ด้วยอำนาจนอกระบบ แต่ควรดำเนินการตามกฎหมายปกติ คือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง แล้วดำเนินการยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองแทน ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย เคารพกฎหมายที่รัฐบาลออกมาเอง

ส่วนปัจจัยเวลาที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้เดินมาเป็นเวลากว่า 60 วันแล้วนั้น เมื่อ คสช. ยกเลิกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง พรรคการเมืองก็สามารถขอขยายเวลาตรวจสอบสมาชิกพรรคจาก กกต. ได้ โดยไม่ต้องใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 แต่ใช้สิทธิตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 141 ในบทเฉพาะกาลได้ และไม่กระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่อย่างใด”

ทั้งนี้ นายชวลิตยังกล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “การตัดวงจรการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ลง โดยไม่ให้ปะปนกับการเดินหน้าประชาธิปไตย จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศได้เป็นลำดับ จึงขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความเชื่อมั่นประเทศให้กลับคืนมาโดยเร็ว โดยเฉพาะสถานการณ์ในปัจจุบันประชาชนประสบปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง มาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ปี การสร้างความเชื่อมั่นประเทศจะส่งผลช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปากท้องได้ไปในตัว”

วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

”จิรายุ” ห่วงปัญหาเศรษฐกิจ แนะเอาให้ชัดพรรคทหารมาหรือไม่?


นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “กรณีที่มีข่าวการจัดตั้งพรรคทหาร นั้นจะเป็นจริงหรือไม่ คงไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขอให้ออกมาประกาศให้ชัดแบบสุภาพบุรุษ เพราะถึงวันนั้นประชาชนผู้เสียภาษีจะเป็นผู้กำหนด แต่ขึ้นอยู่กับว่าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาเป็นนายกฯด้วยวิธีการแบบใดมากกว่า เพราะหากจะมาด้วยพรรคการเมืองสังกัดทหารดังที่เป็นข่าว ก็ต้องยอมรับตนเองว่าเป็นนักการเมือง และลงต่อสู้ในระบอบที่ทั่วโลกยอมรับคือประชาธิปไตย
     
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า “วันนี้ หากมีพรรคการเมืองที่มาจากทหารจริงและมาจากคนที่อยู่ในรัฐบาลชุดนี้หรือผู้สนับสนุนจะแม่น้ำห้าสายทั้งหลายก็ควรจะลงสนามกันอย่างแฟร์ๆ ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เพราะวันนี้ รัฐบาลชุดนี้ออกนโยบายต่างๆมา ไม่ว่าจะเป็นช็อปช่วยชาติหรือตรึงราคาน้ำมันล้วนเป็นการใช้เงินภาษีที่ประชาชนเสียมาทั้งสิ้น และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าหลังปีใหม่จะไม่ขึ้นราคาน้ำมันแบบสองเด้งหรือไปเพิ่มภาษีในส่วนต่างๆ วันนี้ต้องถือว่าเป็นการใช้ประชานิยมอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาล คสช. ออกมาต่อต้านในเรื่องนี้ทั้งสิ้น ผลโพลก็ออกมาบอกว่า ประชาชนเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่า 50% และที่ท่านไปประกาศในภาคอีสานว่าพร้อมจะเป็นนายกฯต่อไปอีก 10 ปี ก็ยิ่งต้องทำให้เกิดความสง่างาม พอถึงวันนั้นหากท่านกลับมาแบบไม่สง่างามประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน”

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า “วันนี้รัฐบาลกำลังหลงทางหรือไม่? ในเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศ  สำนักงานสถิติต่างๆของรัฐได้เอาตัวเลขที่แท้จริงให้ดูหรือไม่อย่างไร? โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ต่อเนื่องถึงปีหน้าหากใช้นโยบายลดแลกแจกแถมเช่นนี้ ก็จะทำให้เงินคงคลังมีปัญหาในปีต่อไปหรือไม่? และสุดท้ายท่านจะต้องไปเรียกเก็บภาษีเพิ่มในส่วนต่างๆกับประชาชนหรือไม่อย่างไร? วันนี้เดินทางไปตรงไหนก็มีแต่พ่อค้าแม่ค้าขาย คนซื้อแทบจะไม่มีตลาดนัดที่คนเดินเบียดกันวันนี้เดินโปร่งโล่งสบาย และสรุปว่าเศรษฐกิจไปดีตรงไหนหรือไปดีกับเจ้าของธุรกิจใหญ่ๆเท่านั้น”

“เรืองไกร” ยื่นสอบที่มา กกต.


วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อนายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านนายพลวัฒน์ พิรติชัยธนกุล ผู้อำนวยการสำนักกิจการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้ตรวจสอบการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต.ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าชอบด้วย พ.ร.ป.กกต. มาตรา 12 หรือไม่ 


โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมายอมรับว่ากระบวนการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอาจมีปัญหา ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่มีความเห็นทางกฎหมายที่เบ็ดเสร็จ ดังนั้นในฐานะประธานกกต. ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพ.ร.ป. กกต และกกต. ทั้ง 5 คน ที่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายใหม่กำหนดจะต้องตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในกรณีดังกล่าวว่าเป็นโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
       
โดยประเด็นที่ขอให้มีการตรวจสอบ 

1. กระบวนการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกกต.ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เป็นไปโดยเปิดเผยตามมาตรา 12 ของพ.ร.ป.กกต.หรือไม่ ซึ่งจากที่ตนได้ตรวจสอบรายงานการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาที่ประชุมคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. จำนวน 389 หน้าที่นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ลงนามส่งไป สนช. ไม่พบมีการชี้แจงรายละเอียดในการลงคะแนนว่าใครได้เท่าไร อย่างไร วิธีการคัดเลือกเป็นอย่างไร รวมทั้งไม่มีการแนบระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง 2560 ที่ในระเบียบฯดังกล่าวก็ได้มีการระบุเรื่องการลงคะแนนโดยเปิดเผยไว้ไปด้วย
       
2.การออกระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง 2560 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะจากที่ตรวจสอบระเบียบฯดังกล่าวประกาศเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 60 โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 222(2) และพ.ร.ป. กกต.มาตรา 8( 2) มาตรา 12 วรรคเจ็ด แต่ทั้งสองบทบัญญัติดังกล่าว ไม่มีข้อความใดที่ให้อำนาจในการออกระเบียบศาลฎีกาไว้ ดังนั้นระเบียบดังกล่าวอาศัยอำนาจตามกฎหมายใดในการออกและมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ ม่พบว่ามีการอ้างว่า ใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการออก
       
"ระเบียบคณะกรรมการสรรหากกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลที่ได้ารับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง 2560 ซึ่งประธานศาลฎีกา ลงนามในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา การออกยังอ้างว่าอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 วรรคสอง และมาตรา 17 วรรคสองของพ.ร.ป.กกต. ที่ก็เขียนรองรับไว้ให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาออกระเบียบได้ และมีการประกาศระเบียบฯดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา แต่ระเบียบของศาลฎีกา กลับไม่มี" นายเรืองไกร กล่าว
       
3.องค์ประชุมของผู้พิพากษาในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกกต. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยตามมาตรา 12 วรรคห้าของพ.ร.ป.กกต. กำหนดให้ผู้ที่จะรับเลือกต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งตนเห็นว่าย่อมหมายถึง ผู้พิพากษาที่มีอยู่ทั้งหมดในศาลฎกีา ไม่ใช่เฉพาะที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีหา หรือผู้พิพากษาอาวุโสที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา195 วรรคหนึ่งเพราะกรณีนี้ใช้สำหรับการเลือกองค์คณะพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ดังนั้นที่ปรากฎข่าวว่า ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นกกต.จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้รับคะแนนเสียง 86 ต่อ 77 น่าจะไม่ใช่คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกา
      
"การเลือกตั้งคงมีแน่ในปี 61 ไม่ว่าใครจะอยากอยู่ต่อหรือไม่ก็ตาม ซึ่ง ประธานกกต. และกกต.ชุดนี้ต้องเสียสละที่จะจัดการเลือกตั้งแทนกกต.ชุดใหม่ 7 คนที่มีปัญหาจัดไม่ได้แน่ เรื่องนี้สำคัญ เนื่องจากกกต.มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริต โปร่งใส ถ้าที่มากกต. มันไม่สุจริต โปร่งใส เสียเอง แล้วจะมาทำให้ ผม หรือพรรคการเมือง เชื่อว่าเขาจะจัดการเลือกตั้งที่สุจริต โปร่งใสได้อย่างไร?" นายเรืองไกร กล่าว

“อนุสรณ์” คาใจนาฬิกา-ถามกลับประยุทธ์ลดราวาศอก หมายความว่าอย่างไร?


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี การตรวจสอบนาฬิการิชาร์ดมิลล์และแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า สังคมรอฟังคำตอบของ พล.อ.ประวิตร อยู่ว่าจะชี้แจงอย่างไร ยิ่งปล่อยให้คนสงสัยนานๆยิ่งกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของรัฐบาล ประชาชนอยากเห็นการทำหน้าที่ตรวจสอบของ ป.ป.ช.อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. ที่สังคมรับรู้ในวงกว้างว่า ท่านเป็นบุคคลใกล้ชิดของ พล.อ.ประวิตร มาก่อน เคยเป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชาชนอยากเห็นการทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่เห็นแก่พวกพ้อง

หากองค์กรหรือตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ตรวจสอบไม่ได้รับความเชื่อถือ สังคมก็อาจเคลือบแคลงสงสัยในผลการตรวจสอบที่ออกมา เพื่อความโปร่งใสและสร้างการยอมรับจากทุกภาคส่วนท่านควรมอบหมายกรรมการ ป.ป.ช.คนอื่นๆที่เป็นกลาง สามารถทำงานอย่างตรงไปตรงมา เป็นคนรับผิดชอบน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าหรือไม่ ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่เรียกร้องสื่อให้ลดราวาศอกกับ พล.อ.ประวิตร บ้างนั้น ตนรู้สึกประหลาดใจและไม่รู้ว่าท่านหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าไม่ต้องตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ วันนี้ประชาชนเปรียบเทียบมาตรฐานในการตรวจสอบของท่านอย่างใกล้ชิด ฝ่ายเดียวกันกับฝ่ายตรงข้ามท่านใช้มาตรฐานตรวจสอบแบบเดียวกันหรือไม่ การส่งสัญญาณและท่าทีเช่นนี้ ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อรัฐบาล ที่จะต้องมีความโปร่งใส มีหลักธรรมาภิบาล ประชาชนอยากให้การบังคับใช้กฎหมายต้องเท่าเทียมและไม่มีสองมาตรฐาน

วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2560

“นพดล” เผยรีเซ็ตพรรคการเมือง ประชาชนไม่ได้ประโยชน์


นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงข้อเสนอให้แก้กฎหมายรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองเดิมให้มาสมัครเป็นสมาชิกและเสียค่าสมัครใหม่นั้น ว่า “ผมเคารพข้อเสนอ แต่ยังมองไม่เห็นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และคนที่ร่างกฎหมายคงคิดดีแล้วในประเด็นนี้ คนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเก่าก็เป็นต่อไป ไปกระทบสิทธิเขาทำไม ใครจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็ต้องไปหาสมาชิกใหม่มาสนับสนุนตามที่กำหนด ไม่มีปัญหาเรื่องความได้เปรียบระหว่างพรรคเก่าและพรรคใหม่ คนที่ฟังข้อเสนอรีเซ็ทสมาชิกพรรครู้เลยว่าคนเหล่านี้ต้องการอะไร”

โดย นายนพดล ได้กล่าวต่อไปว่า “ผมเห็นว่าถ้าโรดแมปเลื่อนไปอีกจะมีผลเสียมากกว่าผลดี เรื่องรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองไม่ใช่ปัญหาและไม่เป็นสาระของประเทศ เอาเวลาไปใส่ใจกับปัญหาของประเทศที่เร่งด่วน เช่น ปัญหาปากท้อง , สินค้าเกษตรราคาตก , ไทยติดลำดับ 1 คนตายจากอุบัติเหตุสูงสุด , ปัญหาคุณภาพการศึกษา และอื่นๆดีกว่า”

สุดท้ายนี้ นายนพดล มีความเห็นว่า “คนที่เสนอแนวคิดอาจไม่แปลก แต่ถ้ามีคนไปทำตามคงแปลก และเตรียมตอบคำถามสังคมให้ได้”

”เพื่อไทย” ติงรีเซ็ตพรรคการเมือง เปิดทางต่อท่ออำนาจ


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “กรณีมีกลุ่มการเมืองเสนอรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งกระทบสิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญและสุ่มเสี่ยงกระทบโรดแมปการเลือกตั้ง ถ้าสังเกตให้ดีกลุ่มการเมืองดังกล่าวจะเป็นคนหน้าเดิมที่ไม่ยอมรับกติกาบ้านเมือง เคยจุดประเด็นการเมืองจนนำไปสู่ความขัดแย้ง และมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบันได้ปกครองประเทศด้วยอำนาจพิเศษมา 3 ปีกว่า ซึ่งชาวโลกไม่ยอมรับไม่ปฏิสัมพันธ์ทางการค้าด้วย จนกว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังเช่น EU ได้ส่งสัญญาณมาเมื่อเร็วๆนี้ ดังนั้น การจุดประเด็นรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองครั้งนี้ จะเป็นการร่วมมือกันในการต่อท่ออำนาจหรือไม่? หรือจะเป็นการทวงบุญคุณกันหรือไม่? ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประการใดล้วนส่งสัญญาณขัดขวางการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย”
     
โดย นายชวลิต ได้ตั้งข้อสังเกตอยู่ 3 ประการ ที่จะฝากรัฐบาล กรธ. สนช. และสังคมช่วยกันพิจารณา ดังนี้
       
1. ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมาเป็นเวลาหลายปี เคยใช้สิทธิเลือกตั้งหลายครั้ง เขาทำผิดอะไร? ถึงจะไปตัดสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เมื่อมาใหม่ ก็ต้องก่อร่างสร้างตัว ไม่ใช่ใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม ทำลายผู้อื่น ซึ่งสังคมอารยะเขาไม่ทำกัน
       
2. กรธ. จะต้องรับผิดชอบป้องกัน พรป.พรรคการเมืองอย่างเต็มกำลัง เพราะช่วงการพิจารณาร่าง พรป.ดังกล่าว กรธ. ได้ทำหน้าที่ชี้แจงแสดงเหตุผลนานัปการว่า พรป.นี้เหมาะสมและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ประการสำคัญ พรป.นี้ยังไม่ได้ใช้เลย เพราะมีคำสั่ง คสช. ตาม มาตรา 44 กำกับอยู่ หากจะมีการแก้ไขตามแรงกดดันดังกล่าว แสดงว่า กรธ. และ สนช. บกพร่อง และไม่รอบคอบใช่หรือไม่? และทั้ง กรธ. และ สนช. จะรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างไร? โดยเฉพาะสมาชิกพรรคการเมืองที่ไม่ได้ทำอะไรผิด
       
3. ประการสำคัญ ช่วง 3 ปีเศษที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารของรัฐบาลได้ประกาศ ได้แถลง ได้ให้สัมภาษณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า จนนับไม่ถ้วน “ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย” แต่การที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม พรป.พรรคการเมืองที่รัฐบาลเป็นผู้ออกมาเสียเอง รัฐบาลจะตอบประชาชนและชาวโลกอย่างไร? การที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่รัฐบาลออกมาเสียเอง นับเป็นการทำลายความเชื่อมั่นประเทศอย่างร้ายแรง ชาวโลกและนักลงทุนที่ไหนจะมาเชื่อมั่นประเทศนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก

นายชวลิต กล่าวในที่สุดว่า “สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจสิ่งที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขเป็นลำดับแรก คือ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่ง 3 ปีเศษที่ผ่านมาสำรวจครั้งใดปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง จะเป็นปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อนที่สุด ดังนั้น ปีใหม่ ปี 2561 ที่จะถึงนี้ ผมขอของขวัญจากรัฐบาลที่จะให้กับประชาชน คือ การสร้างความเชื่อมั่นประเทศด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายและคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนตามเวลาที่รับปากไว้กับประชาชนและชาวโลก เมื่อความเชื่อมั่นประเทศกลับคืนมา ผมเชื่อว่าจะเป็นต้นธารที่จะนำพาประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองและประชาชนมีความสุขสวัสดี”

วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560

"งิ้ว" กล้า ก้าว: อุปรากรจีน ตำนานแดนมังกร


การแสดงอุปรากรจีนหรืองิ้ว "มู่หลาน" ตำนานวีรสตรีแดนมังกร จัดโดยมิวเซียมสยาม ส่วนหนึ่งของกิจกรรม NIGHT AT THE MUSEUM ครั้งที่ 7 ตอน "งิ้ว" กล้า ก้าว จัดขึ้นระหว่างวันศุกร์ที่ 15 - วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2560 เวลา 16.00 - 22.00 น. 


เนรมิตร "โรงงิ้ว" เพื่อการแสดงงิ้วสุดพิเศษ เรื่อง "มู่หลาน" (บทพูดภาษาไทย) ด้วยแก่นของเรื่องที่แสดงถึงความดีงาม กล้าหาญ และกตัญญู เป็นคติสอนใจ โดยเรียบเรียงเนื้อร้องและทำนองขึ้นใหม่เป็นภาษาไทย พร้อมกิจกรรมการทดลองแต่งตัวและแต่งหน้า เรียนรู้สัญญะ ภายใต้ชุดและการแต่งหน้างิ้ว การแต่งแต้มระบายสีสัน บนหน้ากากตามลวดลายแบบฉบับงิ้ว ภายในงานยังประกอบไปด้วย การแสดงลั่นกลองศึกและเชิดสิงโตปีนเสาดอกเหมย การแสดงมายากลเปลี่ยนหน้ากาก เปลี่ยนชุด หงอคงถอดหัว และเสวนาเบิกโรงงิ้ว เปิดตำนานมู่หลัน โดย อ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ และ คุณเต๊ก พงศกร อนันต์กวิน

เรียบเรียง/ภาพข่าว: จรัล อัมพรกลิ่นแก้ว









 


“ภูมิธรรม” ค้านรีเซ็ตพรรคการเมือง-ประชาชนไม่ได้ประโยชน์


นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้เขียนบทความในหัวข้อ "อย่าประเมินประชาชนต่ำ" โดยมีเนื้อหาดังนี้

“อย่าประเมินประชาชนต่ำ”

การรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมือง ที่กำลังมีการเสนอกันจากตัวละครเดิมๆ ที่ล้วนเป็นผู้เอาการเอางาน มีบทบาทหลักในฐานะผู้สร้างเงื่อนไขให้เกิดการเข้ามายึดอำนาจจากฝ่ายทหาร เพื่อล้มล้างรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง ทั้งหมดล้วนเป็นคนหน้าเดิมที่กำลังออกมาสร้างกระแสให้ความต้องการของพวกตนบรรลุไปอีกขั้น เพื่อกระชับอำนาจและเพื่อสืบต่ออำนาจต่อไป กลุ่มคนเหล่านี้กำลังประเมินค่าความรู้ของพี่น้องประชาชนต่ำไป เขาอาจคิดว่าประชาชนจะไม่เข้าใจหรือไม่รู้เท่าทันพวกเขา แต่ข้อเท็จจริงในสถานการณ์ที่โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวันนี้ ประชาชนไม่ได้โง่ หากถึงวันเวลาที่ระบบการเลือกตั้งเปิด ประชาชนจะแสดงความต้องการแท้จริงออกมา และจะเป็นผู้ให้บทเรียนแก่พวกที่มีจิตใจฝักใฝ่เผด็จการเหล่านี้เอง โดยส่วนตัวผมไม่เห็นว่าการรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมือง จะเกิดประโยชน์ใดๆ เพราะประชาชนที่เขาชื่นชมและศรัทธาในพรรคการเมืองใด เขาก็ยังคงยึดมั่นเช่นนั้น ความเสื่อมทรามหรือเบื่อหน่ายในพรรคการเมืองที่ตนนิยม หากจะเกิดขึ้น มันจะเกิดจากพฤติกรรมและอุดมการณ์ของพรรคนั้นๆเอง ที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ยึดมั่นในศรัทธาที่ประชาชนมอบให้ ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงความนิยมและศรัทธาประชาชนด้วยวิธีการเช่นนี้ จึงไม่สามารถจะประสบผลสำเร็จได้

ตรงกันข้ามกลับยิ่งเปิดเผยตัวตนของกลุ่มและพวกพ้องตัวเองอย่างเด่นชัดว่า ทั้งหมดที่ทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน คือความพยายามเพื่อกลุ่มและพวกพ้องของตนเท่านั้น หาใช่ปรารถนาดีต่อประเทศ ไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย และไม่ได้มุ่งให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อพี่น้องประชาชน สิ่งที่คาดว่าจะตามมาต่อไปคือ การพยายามให้เกิดการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้องตนจะเกิดขึ้น การยืดเวลาของโรดแมป และการขยายเวลาของการกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย รวมถึงยังคงไว้ซึ่งกลไกมาตรการพิเศษของตนต่อไป จนกว่าฝ่ายผู้มีอำนาจและพวกพ้องทั้งหลายจะมั่นใจว่าตนจะสามารถสืบทอดอำนาจกลับมาได้อีก แต่สำหรับพี่น้องประชาชน ยังไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับใดๆ นอกจากความหวังหรือคำมั่นสัญญาที่เลื่อนลอย และการรอคอยให้ชีวิตของตนเปลี่ยนแปลง โดยการมีส่วนกำหนดอนาคตที่ตนปรารถนาด้วยตนเอง ดูจะยิ่งเลื่อนลอยและไร้ความหวังต่อไป

ความรักและความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมืองในวันเวลานี้ ไม่ใช่รักเพราะโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นความรักด้วยปัญญา รักและเป็นเจ้าของ เพราะพวกเขาสามารถตรวจสอบพรรคการเมืองของเขาได้ เป็นความรักที่ก้าวเลยไปจากการซื้อเสียงขายเสียงอย่างที่เคยเข้าใจ ประชาชนใช้ทั้งเหตุผลและหัวใจในการเลือกพรรคการเมืองของเขา กลเกมรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองน่าจะเป็นเพียงละครอีกฉากเท่านั้น

ภูมิธรรม เวชยชัย
16 ธันวาคม 2560

วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

นพดลแนะรัฐเร่งเลือกตั้ง ฟื้นความสัมพันธ์สหภาพยุโรป


นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีข้อมติของที่ประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ที่จะยอมติดต่อกับไทยหลังจากที่หยุดไปหลังการรัฐประหารนั้น ตนเห็นว่ามีความพยายามที่จะตีปี๊บว่ามีการฟื้นความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปแล้ว ซึ่งคลาดเคลื่อนจากความจริง เนื่องจากข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม ที่เพิ่มคือจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเงื่อนไขเดิมๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือจะลงนามในกรอบข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ และลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศไทยผ่านรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้ง ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่เลือกตั้งก็ยังไม่มีการลงนาม ตนเห็นว่าถ้าไทยสามารถทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปได้สำเร็จ จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนไทยและสินค้าจากประเทศไทยนับแสนล้าน เพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามได้ลงนาม FTA กับสหภาพยุโรปไปเมื่อปีที่แล้ว

นายนพดล กล่าวต่อว่าที่สหภาพยุโรปยอมที่จะติดต่อทางการเมืองกับไทยนั้นก็เพื่อเจรจาในประเด็นต่างๆที่เขากังวลและเรียกร้องให้ไทยดำเนินการ เช่น การยกเลิกข้อห้ามเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง การเลือกตั้ง การมีรัฐบาลพลเรือน สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ข้อมติจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ผู้เกี่ยวข้องอย่าพึ่งไปตีปี๊บในทำนองว่าสหภาพยุโรปฟื้นความสัมพันธ์กับไทยแล้ว เนื่องจากข้อมติที่ 12 ระบุว่าคณะมนตรีสหภาพยุโรปย้ำว่าจะยังคงพิจารณาทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยต่อไป โดยผูกโยงกับประเด็นดังกล่าวข้างต้น วงการทูตเข้าใจได้เลยว่านั่นคือการกำหนดเงื่อนไขให้ไทยปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การฟื้นความสัมพันธ์ให้กลับไปสู่ระดับปกติ “หลายประเด็นที่สหภาพยุโรปหยิบยกนั้นเป็นประโยชน์ ตนหวังว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการเพื่อคนไทย โดยไม่ต้องรอให้ต่างประเทศมาเรียกร้องให้ดำเนินการ”

“วัฒนา” เผย “พานทองแท้” เป็นตัวประกันทางการเมือง ไม่ได้รับความเป็นธรรม-ไม่เคยรับเงินกรุงไทย


นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

โอ๊ค..ตัวประกันทางการเมือง

ผมกล้ายืนยันว่า การดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินกับนายพานทองแท้ ชินวัตร หรือโอ๊ค บุตรชายของนายกทักษิณมีจุดประสงค์ทางการเมือง โอ๊คถูกกล่าวหาว่าได้รับเงินจำนวน 26 และ 10 ล้านบาท ที่จ่ายจากบัญชีของนายวิชัย กฤษดาธานนท์ เพื่อช่วยซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงินดังกล่าว

จากสำนวนการไต่สวนของ คตส. เงิน 26 ล้านบาท สั่งจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คเพื่อฝากซื้อหุ้นแต่ยังไม่เคยถูกนำเข้าบัญชีของโอ๊คเพราะเช็คถูกยกเลิก โอ๊คไม่เคยได้รับเงินก้อนนี้จึงไม่ครบเป็นองค์ประกอบความผิด ส่วนเช็คจำนวน 10 ล้านบาท โอ๊คได้รับมาเพื่อการลงทุนทางธุรกิจร่วมกัน ไม่ใช่ได้มาเพื่อช่วยปกปิดหรือช่วยซุกซ่อนแหล่งที่มาของเงิน เพราะเป็นจำนวนเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินกู้เกือบ 10,000 ล้านบาท อีกทั้งโอ๊คไม่มีเหตุผลที่จะไปช่วยปกปิดหรือซุกซ่อนเพราะไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วย

พฤติกรรมในการดำเนินคดีคือเครื่องยืนยันว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะโอ๊คไม่เคยได้รับความเป็นธรรมมาตั้งแต่แรก เริ่มจากการสอบสวนซ้ำเพราะเช็คทั้งสองฉบับได้ถูก คตส. ไต่สวนและเห็นว่าไม่เป็นความผิดฐานฟอกเงินแล้วแต่ดีเอสไอยังเอามาสอบสวนใหม่ จากนั้นตั้งข้อกล่าวหาเฉพาะโอ๊คและคนใกล้ชิดทั้งที่มีบุคคลเกือบ 150 คน ที่ได้รับเงินแบบเดียวกับโอ๊คแต่ก็มิได้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว เพิ่งจะมาตั้งเรื่องสอบสวนใหม่เมื่อถูกนายวีระ สมความคิด ยื่นหนังสือร้องเรียน ส่วนการไปดีเอสไอของโอ๊คเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาก็มีการนำเอาภาพจากกล้องวงจรปิดออกมาเผยแพร่ผ่านสื่อทั้งที่เป็นความลับ ล่าสุดมีการออกข่าวว่าโอ๊คจะมาขอขยายเวลายื่นคำให้การเพื่อให้เข้าใจว่าโอ๊คจะประวิงหรือถ่วงคดี แต่ทุกอย่างก็ผิดคาดเพราะโอ๊คมายื่นคำให้การก่อนกำหนด จากนี้ไปจึงเป็นหน้าที่ของดีเอสไอที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาและความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาตามคำให้การจนครบถ้วน หากคิดจะรวบรัดเอาง่ายเข้าว่าหรือคิดว่าเผด็จการจะอยู่ยั้งยืนยงระวังจะตกเป็นจำเลยเสียเอง

วัฒนา เมืองสุข
15 ธันวาคม 2560