วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

"จาตุรนต์" นำทัพเพื่อไทย ขอพลังชาวอีสานเปลี่ยนประเทศ

"จาตุรนต์ ฉายแสง" นำทัพเพื่อไทย ระดมแกนนำบุกบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา พบพี่น้องชาวอีสานในฉะเชิงเทรา ชูประชาธิปไตยกินได้ ขอพลังชาวอีสานเปลี่ยนประเทศ ชี้ 8 ปีประยุทธ์ล้มเหลว เลือกเพื่อไทยเป็นรัฐบาล "แก้หนี้-ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้" สร้างประชาธิปไตยกินได้ เลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์ทั่วประเทศ

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาเพื่อไทยยกทัพบุกอีสาน ปราศรัยกันยาวๆ 5 จังหวัด 9 เวที มีประชาชนชาวอีสานให้การตอบรับอย่างล้นหลาม รวมทุกเวทีไม่ต่ำกว่าแสนคน เน้นย้ำภาพคนอีสานต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกันเพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่ประชาธิปไตย และแก้ปัญหาของประชาชนที่เรื้อรังมาตลอด 8 ปี 



ทำให้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แกนนำพรรคเพื่อไทยเร่งเครื่องพูดคุยกับพี่น้องชาวอีสานต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่กระจายตัวไปทำงานในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคือเวทีปราศรัยเวทีย่อย อ.บางประกง จ.ฉะเชิงเทรา นำทัพโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี , นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อดิศร เพียงเกษ โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และว่าที่ผู้สมัครส.ส.จังหวัดขอนแก่น พรรคเพื่อไทย, นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และว่าที่ผู้สมัครส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ชาวอีสานผูกพันแน่นแฟ้นกับพรรคเพื่อไทยมายาวนาน ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาจนถึงพรรคเพื่อไทย เพราะนโยบายที่ยึงโยงกับประชาชนทำให้คนทั่วประเทศเห็นว่า #ประชาธิปไตยกินได้ ตั้งแต่สมัยไทยรักไทย นำโดยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายเป็นจำนวนมากที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ  อาทิ กองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค หรือธนาคารชุมชน โดยพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองแรก ทีเริ่มทำทุกนโยบายที่ประกาศไว้ตั้งแต่เป็นรัฐบาลในปีแรก และทำสำเร็จทั้งหมดทุกนโยบายภายใน 4 ปี" 

นายจาตุรนต์ กล่าวปราศรัยว่า “นโยบายที่ประกาศไปเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ ทุกภาค ไม่เว้นใครทั้งสิ้น แต่ทำไมคนอีสานถึงรักพรรคไทยรักไทย ในเมื่อทุกภาคก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน นั่นเป็นเพราะคนอีสานเดือดร้อนที่สุด ยากจนที่สุด แต่เมื่อนโยบายออกมาเป็นประโยชน์ต่อคนยากคนจน คนรากหญ้า ไม่ใช่เพื่อนายทุน หรือใครคนใดคนหนึ่ง คนอีสานจึงได้ประโยชน์มากที่สุด”

"ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นอีกครั้งพรรคเพื่อไทยต้องเป็นรัฐบาล ซึ่งคนอีสานและพรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายร่วมกัน ในการที่จะร่วมกับคนอีสานทั่วทั้งภาค คนฉะเชิงเทรา และคนไทยทั้งประเทศ เลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์ ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยกินได้อีกครั้ง เหมือนกันที่พี่น้องชาวอีสานเคยทำมาแล้วในอดีต" นายจาตุรนต์ กล่าว

ทางด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า "เพื่อไทยคิดว่าเราจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ลูกหลานเรียนจบมาได้เงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท รวมถึงเบี้ยผู้สูงอายุ เราวางแนวทางในการลดรายจ่ายสร้างรายได้ ปลดหนี้ให้กับพี่น้องประชาชน เพราะพรรคเพื่อไทยตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้น 5% ทุกๆปี อัดเงินเข้าไปในหมู่บ้าน และกระตุ้นเศรษฐกิจ เราจะไม่คิดแต่เอาบัตรมาแจกพี่น้องกินไปวันๆและก็กู้มาแจกไปเรื่อย ๆ เราไม่ทำแบบนั้น" 

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังย้ำให้มั่นใจว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง เหมือนครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรค เพราะฝ่ายเผด็จการเรียนรู้แล้วว่า ไม่ว่าจะยุบพรรคเพื่อไทยไปแล้วกี่ครั้ง พรรคเพื่อไทยกลับเติบโตและเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ และยิ่งถ้าเลือกเพื่อไทยให้ชนะขาดเกิน 251 เสียงในสภา ก็จะทำให้ไม่ว่าพลเอกประยุทธ์ได้เป็นรัฐบาล โดยการเลือกของ ส.ว. ก็จะทำให้เป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ

นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย โดยจากการลงพื้นที่ต่อเนื่องทำให้เห็นว่า ตลอด 8 ปีประชาชนเดือดร้อนสาหัส ที่เห็นชัดคือมีพ่อแม่จำนวนมากที่ไม่เหลือกิน จนต้องปล่อยให้บุตรหลานไม่ได้ไปโรงเรียนและหลุดจากระบบการศึกษาในที่สุด ซึ่งตนเห็นว่านี่คือเรื่องใหญ่ที่สุดของประเทศ เพราะหมายถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไทยจะไม่มีบุคลาการที่มีคุณภาพมาขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ


“แต่เล็กพ่อหิ้วผมไปด้วย ทำให้ได้วิชาจากพ่อมาว่าผู้แทนที่ดีต้องอุทิศตนให้ประชาชน ทำให้ตั้งแต่เป็นผู้แทนมาผมไปช่วยงานไม่ต่ำกว่า 20,000 งาน พอมีคนมาขอความช่วยเหลือแล้วเราช่วยไม่ได้เราจะนอนไม่หลับ แล้วยิ่งเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมเราจะยิ่งเครียด เพราะเราเป็นผู้แทน เราต้องทำหน้าที่แก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนให้ได้ และไม่ใช่แก้แค่เรื่องเล็ก ๆ ที่ระดับท้องถิ่นทำได้ แต่ต้องเชื่อมโยงไปยังระดับประเทศ ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทราสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ”

"เพราะจากการทำงานตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมในจังหวัดฉะเชิงเทรามีศักยภาพและความพร้อมหลายด้าน ถ้าส่งเสริมให้มีเทคโนโลยีขั้นสูง มีนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อีกมาก โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมให้เด็กไทยมีศักยภาพในการต่อยอดไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ นั่นคือปัจจัยที่เพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้วต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้น" นายวุฒิพงศ์ กล่าว

นายวุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในจังหวัดฉะเชิงเทรามีการนำระบบการศึกษาแบบทวิภาคีอาชีวะ (Dual System) เข้ามาปรับใช้ในสถานศึกษา เพราะเมื่อผู้ประกอบการมาสร้างอุตสาหกรรมในพื้นที่แล้ว ก็จะร่วมมือกับสถานศึกษาในการส่งมอบองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการปั้นเด็กในพื้นที่ฉะเชิงเทราและใกล้เคียงให้มีความรู้ความสามารถผลิตออกไปทำงานบริษัทเหล่านั้นได้จริง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เด็ก ๆ ในพื้นที่สามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมขั้นสูงได้มากยิ่งขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า การคมนาคมระบบราง หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้จะถูกสานต่อและทำให้เห็นผลได้อย่างชั้นเจน นายวุฒิพงศ์เน้นย้ำว่า การเลือกตั้งที่จะถึงนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกให้ฝ่ายประชาธิปไตย โดยต้องไม่ทำให้คะแนนเสียงทุกเสียงตกน้ำ จากการเลือกแบบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic voting) ที่เมื่อใกล้เลือกตั้งแล้วพรรคประชาธิปไตยพรรคไหนมีทีท่าจะชนะ ประชาชนก็ควรเทคะแนนเสียงทำให้พรรคนั้นชนะขาด ซึ่งตนเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยที่พิสูจน์มาแล้วว่าสามารถดำเนินทุกนโยบายมาได้จริงในอดีต จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกครั้ง"














#คิดใหญ่ทำเป็นเพื่อไทยทุกคน

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

"ประชาชาติ" ร่วมรณรงค์ปลอดควันพิษจากไฟป่า

(24 กุมภาพันธ์ 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมนตรี บุญจรัส กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ และ รองโฆษกพรรคประชาชาติ และที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ว่า 

"วันนี้ (24 กุมภาพันธ์) เป็น วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า สาเหตุของไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์แทบทั้งสิ้น และควันจากไฟป่าก็ส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของมนุษย์เองทั้งต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิต ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีนั้นเป็นช่วงที่ตรวจพบการเผาป่ามากที่สุด คงจะเห็นได้จากข่าว รวมถึงความพยายามป้องกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะถ้าเกิดไฟป่าขึ้นที่ใด มักทำให้พื้นที่บริเวณนั้นและใกล้เคียงประสบปัญหาที่ตามมาด้วย นั่นคือ ฝุ่นควันของไฟป่าที่อาจจะส่งผลกระทบสุขภาพ"

.
"เราทุกคน ต้องช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชน และเกษตรกร งดการจุดไฟเผาป่า เพื่อลดควันไฟที่เกิดจากการเผาป่า สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักให้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา หน่วยราชการ องค์กรเอกชน ถึงอันตรายและผลกระทบของควันที่เกิดจากไฟป่า และยังจะช่วยป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ครับ" นายมนตรี ระบุ

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

"ทวี" แลกเปลี่ยนความเห็นนิสิต ม.เกษตรฯ เสวนาล้อมวงเล่าเหลานโยบาย

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ว่า เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายมนตรี บุญจรัส กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ และรองโฆษกพรรคประชาชาติ นางสาวธนัญญรัชช์ เศรษฐาธิรัชฎ์ นายไชยพล เดชตระกูล นายพลรักษ์ รักษาพล คณะทำงานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคประชาชาติ รวมทั้งกลุ่มเยาวชนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนับสนุนพรรคประชาชาติ ร่วมงานเทศกาลแห่งความรัก(ษ์) จัดโดย องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ภายใน มีการเปิดร้านค้าของนิสิต จำหน่ายต้นไม้-อาหาร ตลาดนัด และการอบรมปฏิบัติการต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการพบปะแลกเปลี่ยนความเห็น ระหว่างนิสิต-นักศึกษา ในกิจกรรม “ล้อมวงเล่าเหลานโยบาย” ณ บริเวณหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ด้วย



พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง กล่าวแสดงทัศนะในกิจกรรม "ล้อมวงเล่าเหลานโยบาย" ว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองได้ร่วมเรียกร้อง พรบ.อากาศสะอาด เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องตายแบบผ่อนส่ง แต่สุดท้ายรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญจนหมดสมัยประชุม และมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมแก้ไขได้ยากแต่จำเป็นต้องทำ ควรออกแบบการจัดเก็บภาษีมลพิษ แก่ผู้ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ใช้กลไกทางกฎหมายให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม พร้อมชี้ให้เห็นว่าสิ่งอันตรายที่สุดคือการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่คิดถึงผลกระทบของคนในพื้นที่ เช่น มลภาวะ ขยะพิษ รัฐไม่มีประสิทธิภาพเรื่องนี้ รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ป่าของรัฐที่เห็นผลว่าป่าลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี




ทั้งนี้นักศึกษาที่ร่วมเวทีต่างสะท่อนความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้นำเสนอ พร้อมระบุว่า ควรเร่งรณรงค์ให้ผู้คนเข้าใจปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข เพราะการไปโฟกัสที่ปัญหาปากท้องแล้วเอาสิ่งแวดล้อมไว้ข้างหลัง อาจเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เยาวชนต้องการเห็นรัฐที่แข็งแรง เอาจริงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี ยังได้ร่วมเขียนข้อความบนกระดานสนทนาสาธารณะส่งต่อถึงนิสิตนักศึกษาที่เข้ามาร่วมงาน บริเวณด้านข้างของหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ว่า "ยุติธรรมถ้วนหน้า ให้ประชาชนเป็นผู้กำหนด" ด้วย ก่อนเดินทางกลับ ในเวลา 19.00น.

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

“จูฟะห์-วรลักษณ์ ศรีสอาด” สานสัมพันธ์พลังสตรี เพื่อสรรสร้างสังคม

 
(17 กุมภาพันธ์ 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานจากศูนย์การเรียนรู้ ประชาชาติ (Learning Center) ซอยรามคำแหง 59 กรุงเทพฯ ว่า เมื่อเวลา 16.30. ที่ผ่านมา คุณจูฟะห์-วรลักษณ์ ศรีสอาด เหรัญญิกพรรคประชาชาติ ในฐานะ ผู้บริหารศูนย์อาหารฮาลาล ราม59 มินิพลาซ่า ซอยรามคำแหง 59 กรุงเทพฯ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มสตรี ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้กิจกรรมสานสัมพันธ์พลังสตรี เพื่อสรรสร้างสังคมโดยเป็นการจัดกิจกรรมที่มุ่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาบทบาทสตรี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก 



นางวรลักษณ์ ศรีสอาด ระบุว่า สตรี คือกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม กิจกรรมในวันนี้ เป็นการประสานงานความร่วมมือ และการสร้างพลังเครือข่าย ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญให้เกิดสภาพแวดล้อมของการสนับสนุนซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบครอบคลุมและการสร้างพลังให้กับสตรีทุกคน ปัจจุบัน บทบาทของสตรี ได้ถูกยกให้เป็นบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่องของสังคม



การหารือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลด้านนโยบายของภาคประชาชน รวมถึงการสร้างกรอบการดำเนินงานเพื่อพัฒนางานด้านสตรีและสังคมในอนาคต และนำข้อมูลที่ได้รับไปพัฒนาและประยุกต์ให้มีประสิทธิภาพ และยังช่วยเสริมสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างกันอีกด้วย โดยหลังจากนี้จะมีการจัดกิจกรรม ตลอดทุกสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมานางวรลักษณ์ ศรีสอาด กล่าว

















 

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

“ทวี” อัดรัฐต่อสัญญาBEM-เขากระโดง ไม่ไว้วางใจ “นายกฯ-ศักดิ์สยาม”

(15 กุมภาพันธ์ 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก อาคารรัฐสภาว่า บรรยากาศการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี​ โดยไม่มีการลงมติ​ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย​ พุทธศักราช 2560​ โดย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ระหว่างวันที่​ 15-16 กุมภาพันธ์​ 2566 เป็นไปอย่างเข้มข้น
.
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายในญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า การที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้ไขสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2A โดยให้ขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน ให้กับ บริษัท ทางด่วน และ รถไฟฟ้า กรุงเทพ จำกัด หรือ BEM เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 63 ถือเป็นการปล้นสาธารณสมบัติแผ่นดิน รีดเอาทรัพย์กับประชาชน แทนที่จะได้จ่ายค่าทางด่วนถูกลง เพราะถ้าครบสัญญาจะต้องเปิดเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน แต่กลายเป็นอีกไม่กี่ปี ค่าทางด่วนจะถูกปรับเพิ่มขึ้นอีก ทำให้เอกชนกลายเป็นเสือนอนกิน ทั้งที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินออกมาแล้ว นายกฯ และ ครม. ได้ดำเนินการอย่างไร และศาลฯก็เห็นด้วยที่ค่าทางด่วนต้องต่ำลง เงินก้อนนี้แทนที่รัฐบาลจะได้ใช้ แค่กลับไปเป็นของคนภายนอกที่เป็นพวกพ้อง
.
ส่วนปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ทางพรรคประชาชาติ ได้เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่แต่เดิมมาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เพื่อให้มีกรรมสิทธิ์อยู่ต่อไปได้ โดยเป็นกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการเงิน เพราะหากรัฐรังแกประชาชนก็ต้องมีการเยียวยา แต่สุดท้ายรัฐบาลไม่รับกฎหมายนี้ นอกจากนี้ยังพูดถึงที่ดินในความดูแลของการรถไฟฯ ด้วย
.
ในระหว่างนี้ นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ได้ลุกขึ้นประท้วง ขอให้ประธานฯควบคุมการประชุม ขณะที่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้วินิจฉัยว่า ไม่ผิดข้อบังคับ สามารถพูดต่อได้
.
จากนั้น นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงประธาน โดยขอให้ควบคุมการประชุมอย่างเข้มข้น สุดท้าย นายศุภชัย ก็ยังย้ำว่า ผู้อภิปรายยังไม่ผิดข้อบังคับขอให้สมาชิกเข้าใจด้วย

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

"ทวี" ย้ำร่างฯ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ ต้องยึดโยงประชาชน-สิทธิมนุษยชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ “ให้ยึดโยงประชาชนและสิทธิมนุษยชน”
.
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง กับ ส.ส.พรรคประชาชาติ และคณะ ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กำหนดให้พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นหรือต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าสวนแห่งชาติ และกำหนดให้พื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนให้เพิกถอนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ทับซ้อนออกและให้กรมที่ดินดำเนินการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมายหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

.
นอกจากนี้ กำหนดให้การพิจารณาอนุญาตเพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพิจารณา โดยให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย ตามหลักการสิทธิชุมชนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย
.
ปัจจุบัน พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ในพื้นที่ 77 จังหวัด มีพื้นที่ตามความเป็นจริงทั้งหมดประมาณ 60,379,343.94 ไร่ (แต่พื้นที่ตามประกาศท้ายกฎหมายก่อนทำการปรับปรุงฯประมาณ 146,376,720.90ไร่) แบ่งตามแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลางประมาณ 4,177,584.76 ไร่ ภาคตะวันออกประมาณ 1,863,461.61 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 12,395,887.17 ไร่ ภาคใต้ประมาณ 4,479,425.77 ไร่ ภาคใต้และภาคใต้ชายแดนประมาณ 1,561,206.85 ไร่ และภาคเหนือประมาณ 35,901,777.78 ไร่
.
ร่างได้เสนอแก้ไขการอนุญาตตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ที่ให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และปัญหาพื้นที่ที่หมดอายุการอนุญาต การดำเนินการ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2546 มีผลบังคับใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดกระบี่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยแก้ไขเพิ่มเติมว่า
.
“การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพิจารณา โดยให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
.
เหตุที่ต้องมีการแก้ไข ในการพิจารณาการใช้ประโยชน์เพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพิจารณา และประชาชน ชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์นำจัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองและเป็นคนในพื้นที่เป็นหลัก หรือนำพื้นที่ไปจัดการให้เป็นป่าชุมชน ฟื้นฟูสภาพป่า ป่าในเมือง หรือป่าเศรษฐกิจชุมชน
.
ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้อนุญาตผู้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ รวมทั้งหมด 8,119 ราย แบ่งเป็น ส่วนราชการ 6,467 ราย และภาคเอกชน 1,652 ราย ในพื้นที่มากเกือบ 4 ล้านไร่ ( ข้อมูลที่รวบรวมยังไม่ครบทุกแปลงประมาณ 3.79 ล้านไร่ ) ที่รัฐให้เช่าในราคาถูกมากๆ บางแปลงไร่ละ 50 สตางค์/ปี ในจำนวนนี้ มีการอนุญาตให้นายทุนเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันและปลูกยางพารา 115 ราย ในพื้นที่กว่า 222,322.26 ไร่ ขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
.

.