วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" ขอบคุณแฟนเพจ ครบ 5 ล้านไลค์


นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้จัดงานขอบคุณแฟนเพจเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ครบ 5 ล้านไลค์ ที่ร้าน Coffee Gallery CDC ในงานชื่อ "Coffee with Yingluck" ภายในงานได้มีการมอบเสื้อเชิ้ตสีขาว แทนคำขอบคุณ ที่ติดตามกันมาอย่างต่อเนื่อง




วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559

"ธีรรัตน์-ขัตติยา" ผนึกกำลัง ให้กำลังใจ "วัฒนา เมืองสุข"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าเพิ่มเติมกรณีที่ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางมายังศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อเข้ารายงานตัว หลังครบกำหนดฝากขังผลัดที่ 2 กรณีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ข้อความวิจารณ์การทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังทหารนำรถมาเฝ้าหน้าบ้านตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา เนื่องจากสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นของนายวรชัย เหมะ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ  ที่ถูก คสช. ควบคุมตัวเนื่องจากต้องการให้มีผู้รับผิดชอบหากประชาชนลงประชามติร่างฯรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่าน

ต่อมา ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 20 พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความในเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


เช้านี้ได้เดินทางมาให้กำลังใจท่านวัฒนา เมืองสุข (พี่ไก่) ณ ศาลอาญากรุงเทพใต้ หลังจากที่ถูกทหารเรียกปรับทัศนคติ วันนี้พี่ไก่ต้องไปรายงานตัวที่ มทบ.11 ตามคำสั่งของหัวหน้า คสช. ได้มีโอกาสคุยกันว่ารอบนี้พี่ไก่เตรียมเสื้อผ้าพร้อมมั้ย หยูกยาเอามารึยัง พี่ไก่บอกว่าไม่ได้เตรียมอะไรมาเลย เพราะยังไม่ได้เข้าบ้านตั้งแต่เมื่อวาน มานั่งคุยกันก็ตลกแบบขำไม่ออกนะว่า เราไม่เอาเผด็จการ แต่เรากลับปฏิบัติตามกฎหมายของเผด็จการ เข้าใจว่าเป็นเพราะคำว่า "อารยธรรม" นั่นเอง พี่ไก่เป็นนักคิดนักเขียน คิดอย่างไรก็เขียนออกมาเช่นนั้น ตอนเป็นรัฐมนตรีหรือผู้แทนก็ใช้สภาฯ เป็นสถานที่สื่อสารกับประชาชน ตอนนี้อยากสื่ออะไรก็โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คเท่านั้น ไม่เคยทำอะไรให้ใครเดือดร้อน ไม่เคยเอาอาวุธ ปืน ไปจี้บังคับข่มขู่ใครให้เห็นด้วยตามตน ไม่น่าเชื่อนะ ว่าภาพอนาคตของไทยคือการกำลังเดินถอยหลังกลับสู่อดีต แม้เทคโนโลยีจะก้าวไกล แต่ก็แพ้ภัยเผด็จการ ขอให้พี่ไก่ปลอดภัยนะคะ เป็นกำลังใจให้นักสู้เพื่อประชาธิปไตยค่ะ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความในเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


นับแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันนี้...ก็เป็นเวลากว่า 600 วันแล้วค่ะ ที่รัฐบาลทหารยังคงเรียกตัวบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตน (ที่แม้จะมีอยู่เพียงน้อยนิด) ไป “ปรับทัศนคติ” แบบไม่หยุดหย่อน เดียร์ไม่แน่ใจว่า...ทางรัฐบาลทหารเคยลองคิดน้อมรับความเห็นหรือคำวิจารณ์ เพื่อนำไปหาแนวทางในการบริหารประเทศหรือหาแนวทางในการปรองดองอย่างที่ปากบอกว่าต้องการหรือไม่ แต่เดียร์ว่าประชาชนทั่วไปน่าจะคิดได้ว่า...วิธีแบบไหนจะทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า และแบบไหนจะทำให้ประเทศถอยหลังลงคลอง และการกระทำแบบไหนคือการทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน และแบบไหนคือการกระทำเพื่อต่ออำนาจให้ตัวเองและพวกพ้อง

จากที่สัมผัสมา...นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมถึง ส.ส. (โดยเฉพาะที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน) ถือหลักว่าทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกเราให้เข้าไปเป็นตัวแทนเขาในสภานั้นมีคุณค่า ผู้ที่ได้รับเลือกเข้าไปจึงต้องตั้งใจทำงานเพื่อตอบแทนทุกคะแนนเสียงที่มีให้ และแม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว (ไม่ว่าจะด้วยการยุบสภาหรือโดนปล้นไปก็ตาม) หน้าที่หลักในการพูดแทนประชาชน เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน และสะท้อนความทุกข์ร้อนของประชาชนให้ดังขึ้นเพื่อรับการแก้ไขนั้น ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ติดตัวอดีตนายกฯ อดีตรัฐมนตรี และอดีตส.ส. อยู่ตลอดเวลา

เช่นเดียวกับกรณีของพี่เงาะ (วรชัย เหมะ) และอาไก่ (วัฒนา เมืองสุข) ค่ะ ทั้งคู่เป็นอดีตส.ส. และตัวอาไก่เองก็เป็นอดีตรมต. ด้วย ที่แม้จะถูกข่มขู่จากรัฐบาลทหารหลายต่อหลายครั้งเกี่ยวกับการออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง แต่การที่ทั้งคู่ออกมาเสนอความคิดหรือตั้งคำถามไปยังรัฐบาลนั้นก็ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อสะท้อนความคิดหรือคำถามของประชาชนให้รัฐบาลทหารได้ฟัง และเพื่อให้รัฐบาลทหารได้ตอบคำถามในสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ เดียร์จึงขอส่งกำลังใจจากโพสต์นี้ของเดียร์ไปยังอาไก่และพี่เงาะนะคะ

เดียร์ว่า...ให้โอกาสเราได้พูด ได้แสดงความเห็น ได้สะท้อนความคิดของประชาชนให้ท่านฟังบ้างเถอะค่ะ

เพราะสุดท้ายแล้วไม่ใช่นักการเมืองแต่เป็นประชาชนนี่แหละ ที่จะเป็นคนเลือกทางเดินให้กับประเทศ

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

"เพื่อไทย" แถลงการณ์ คสช.คุมตัว "วรชัย" ละเมิดสิทธิมนุษยชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สุทรปราการ ได้ทหารเข้าคุมตัว เพื่อนำตัวไปปรับทัศนคติ ล่าสุดพรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ เมื่อเวลา 22.30น. เรื่อง การควบคุมตัวนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส. สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยมีเนื้อหาดังนี้

ด้วยปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2559 เวลา 10.40 น. ได้มีกำลังทหารเข้าควบคุมตัวนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส. สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ณ บ้านพักเลขที่ 555/340 หมู่บ้านเลอร์นีโอ 2 ถนนศรีนครินทร์ ต.บางเมือง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ การเข้าควบคุมตัวดังกล่าวนำโดย พ.อ.อาทิตย์ ดีประเสริฐ เสนาธิการ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งนำกำลังทหารเข้าควบคุมตัว นายวรชัยฯ ขึ้นรถตู้สีขาวหมายเลขทะเบียน กข 4878 ปราจีนบุรี เดินทางออกจากบ้าน โดยไม่ทราบจุดหมาย
  จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น พรรคเพื่อไทยได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และกังวลอย่างยิ่งต่อการจับกุมตัว พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การดำเนินการโดยใช้กำลังทหารที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาล เข้ามาควบคุมตัวนายวรชัยฯ นั้น มิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จึงขอเรียกร้องมายังรัฐบาล เพื่อเร่งดำเนินการดังต่อไปนี้

1.  ขอให้ปล่อยตัวนายวรชัยฯ ทันที หากนายวรชัยฯ กระทำผิดกฎหมายใด ขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย มิใช่เข้าจับกุมที่ไร้ซึ่งข้อกล่าวหา/ไร้ความชัดเจนเช่นนี้ การกระทำดังกล่าวนี้ถือเป็นการเข้าจับกุมตามอำเภอใจของรัฐบาลและ คสช. อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง อีกทั้งยังขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ร่วมกันจัดทำเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนอีกประการหนึ่งด้วย

2.  ขอให้รัฐบาลเคารพสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพราะที่ผ่านมานับแต่การยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2557 นักการเมือง/นักวิชาการ/สื่อมวลชน/นักศึกษา/และประชาชน ได้ถูกจับกุมตัวโดยใช้การกระทำที่อ้างว่าเพื่อ “ปรับทัศนคติ” จำนวนหลายร้อยคน ประชาชนถูกจับกุมตัวเพื่อดำเนินคดีโดยใช้ศาลทหารมากกว่า 1,500 คน เวปไซต์ต่างๆ ถูกปิดลงจำนวนมากกว่า 200 เวปไซต์ และสถานีโทรทัศน์และวิทยุถูกปิดลงจำนวนมาก การกระทำทั้งหมดของรัฐบาลและ คสช. นี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง พรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี

3.  พรรคเพื่อไทยได้ติดตามการให้ความเห็นของนายวรชัยฯ ที่แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะมาโดยตลอด เห็นว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และมิได้ก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองแต่ประการใด และการสัมภาษณ์ในวันที่ 24 มีนาคม 2559 ที่นายวรชัยฯ ได้ให้ความเห็นเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน นับเป็นสิ่งที่ชอบตามมารยาททางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่สาธารณชนและโลกให้การยอมรับ จึงไม่เห็นเหตุผลว่าการแสดงความเห็นโดยสุจริตเช่นนี้ จะเป็นความผิดไปได้อย่างไร

  พรรคเพื่อไทยขอประณามการคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนในทุกรูปแบบ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายวรชัย เหมะ ในทันทีและรัฐบาล และ คสช. ต้องเปิดเผยเหตุผลการเข้าจับกุมนายวรชัยฯ ให้สังคมทราบโดยเร็ว โดยระบุรายละเอียดว่านายวรชัยฯ ได้กระทำการซึ่งขัดต่อกฎหมายใดและในลักษณะใด พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวมิใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความเห็นต่างเกิดขึ้นได้ในสังคมและเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในระบอบประชาธิปไตย และการกระทำของรัฐบาลเช่นนี้จะส่งผลต่อภาพพจน์ของรัฐบาลและของประเทศไทยต่อนานาชาติโดยหลีกเลี่ยงมิได้

พรรคเพื่อไทย
27 มีนาคม 2559

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

"นพดล" แนะ คสช. ให้เสรีภาพประชาชนวิจารณ์ร่างฯรธน.


นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้ คสช.และรัฐบาลคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด โดยตนมีข้อเสนอและคำถามถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่า

1. ควรให้พรรคการเมืองรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้

2. ให้สื่อมวลชน สถาบันการศึกษา และประชาชนจัดเวทีเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญได้ ไม่ใช่ให้เฉพาะให้ กกต.จัดเวทีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมและประหยัดงบประมาณภาครัฐลงได้

3. สนช.ควรปรับแก้เนื้อหาร่างกฎหมายการออกเสียงลงประชามติที่เกี่ยวกับการกำหนดโทษสำหรับความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงความคิดเห็นต่างๆในช่วงการรณรงค์ เพราะเป็นการตีกรอบที่เข้มงวดเกินไปจนอาจทำให้สื่อมวลชนและประชาชนไม่กล้าแสดงออกทางการเมืองได้

4. การอนุญาตให้ใช้เครื่องลงคะแนนได้นั้น เหมาะสมแล้วหรือ ประเทศมีเงินและมีความพร้อมหรือยัง มีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการทุจริตจากการใช้เครื่องลงคะแนนเพียงพอหรือไม่?

5. ควรชี้ให้ชัดหรือให้ประชาชนออกเสียงว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการออกเสียงประชามติ ผู้มีอำนาจหรือประชาชนต้องการนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้บังคับ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเลือกและพิจารณาว่าจะลงมติอย่างไร?

“กรธ.คงไม่เปลี่ยนแปลงประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้นคนไทยทั้งประเทศจะให้คำตอบสุดท้ายว่าประเทศจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยหรือไม่ เมื่อประชาชนตัดสินเราก็ต้องเคารพ แต่ขอพียงให้การออกเสียงลงประชามติเป็นไปอย่างมีเสรีภาพ สุจริตและเที่ยงธรรม จะเป็นผลดีต่อประเทศ”

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" ไต่สวนคดีจำนำข้าว แนะ กรธ. ฟังเสียงประชาชน


บรรยากาศจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประชาชนจำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาในเวลา 09.30น. ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดไต่สวนพยานฝ่ายอัยการ 5 ครั้ง ในวันนี้ (23 มีนาคม 2559) เป็นนัดครั้งที่ 5 สำหรับวันนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมรับฟังกระบวนการไต่สวนพยานด้วยตัวเอง โดยมีประชาชนร่วมเดินทางมาให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แสดงความเห็นถึงสถานการณ์การร่างรัฐธรรมนูญล่าสุด โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงนี้กรธ.กำลังปรับแก้รัฐธรรมนูญ อยากฝากอะไรถึงกรธ.? นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "เรื่องนี้ได้เคยพูดไปบ้างแล้ว และตนเองก็เชื่อว่ามีนักวิชาการให้ความเห็นอย่างมากมาย สิ่งที่อยากจะฝากคืออยากให้กรธ.นั้นได้รับฟังความคิดเห็นของทุกคน เพราะช่วงนี้ถ้าเราได้รับฟังความคิดเห็นของทุกคนแล้วเอามาปรับให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนจริง ให้ประชาชนได้มีสิทธิ์ มีเสียง มีส่วนร่วม อันนี้จะเป็นสิ่งที่จะทำให้รัฐธรรมนูญนี้ได้อยู่อย่างถาวร ทุกคนจะมีความสุข ก็อยากฝากตรงนี้มากกว่า ส่วนเนื้อหาต่างๆเชื่อว่ามีหลายท่านได้วิพากษ์วิจารณ์เยอะแล้ว วันนี้ยังไม่ขอกล่าวอะไร"


















วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

'ยิ่งลักษณ์' แสดงความเสียใจ ประณามผู้ก่อการร้ายเบลเยียม


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความแสดงความเสียใจ และประณามการก่อการร้ายเหตุระเบิดกลางกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

เหตุระเบิดที่สนามบินในกรุงบรัสเซลส์ส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในช่วงเย็นวันนี้ตามเวลาประเทศไทย  ดิฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับประชาชนชาวเบลเยียม ญาติผู้เสียชีวิต รวมทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้  ดิฉันไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงไม่ว่าในรูปแบบใดและขอประณามการกระทำดังกล่าว ดิฉันหวังว่าจะสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วค่ะ

I would like to convey my deepest sorrow and condolences to all Belgians especially ones who have been affected by these horrific incidents.  I strongly condemn terrorism and violence against humanity. We must be all united in these troubling times to counter such senseless acts and bring back peace and normalcy to the world. 

'ภูมิธรรม' เตือน คสช. นั่งส.ว.แต่งตั้ง-สืบทอดอำนาจ


นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย  ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศในขณะนี้ว่า  "ประชาธิปไตยที่ คสช. จะคืนให้ภายใต้การร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธานนั้น เป็นร่างที่ทุกฝ่ายยังไม่พอใจ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ที่สำคัญต่างประเทศก็ยังไม่ยอมรับการปกครองของรัฐบาลชุดนี้ ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางแต่ก็ไม่ดีขึ้น เพราะต่างประเทศไม่ยอมรับความไม่เป็นประชาธิปไตย"

ร่างฯรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยต้องอย่าบิดเบือนความเป็นจริง
ร่างฯรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัย พยายามจะบอกเหตุผลความจำเป็นว่า เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นสากล 100 เปอร์เซ็นต์ จะสร้างแบบไทยๆ ถึงขนาดมีการเปรียบเทียบว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญแบบเรือหางยาว แบบสามล้อตุ๊กๆ แต่ผมคิดว่าต้องอย่าบิดเบือนความเป็นจริง และต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญจริงๆ ต้องมีหลักสากล ยอมรับในความมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่เป็นคนกำหนดกติกาที่จะดูแลตัวเขาเอง โลกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจึงควรเป็นคนกำหนดกติกาที่เขาได้อยู่ร่วมกัน

ผมไม่สบายใจที่ กรธ. หรือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์รู้สึกว่าการที่จะเอารัฐธรรมนูญมาเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ออกความเห็นจะนำไปสู่ความขัดแย้งและสร้างปัญหา ผมคิดว่าระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ยอมรับความแตกต่างกันอยู่แล้ว ระบบนี้ไม่กลัวความขัดแย้ง คิดว่าความขัดแย้งเป็นการนำมาซึ่งสิ่งที่ดีๆที่จะเกิดขึ้นใหม่

เพราะฉะนั้นหลายเรื่องที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเราต้องให้คนส่วนใหญ่ยอมรับว่ากติกาที่จะอยู่เป็นยังไง ไม่ใช่ให้คนเพียงไม่กี่คนเป็นคนผูกขาดความเป็นประชาธิปไตยหรือผูกขาดความ ถูกต้อง แล้วมากำหนดว่ารัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ความจริงถ้าไปดูร่างรัฐธรรมนูญที่คุณมีชัยร่างขึ้นมามีลักษณะที่ไปสร้างองค์กรหรือเอาอำนาจไปให้กับบางองค์กรที่มีอำนาจเหนือองค์กรที่ประชาชนจะเลือกมา ซึ่งยังเป็นปัญหา

ยกตัวอย่างระบบการเลือกตั้ง การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน นี่ก็ไม่ถูกหลัก ควรจะให้คนที่ผ่านการตัดสินจากประชาชนเป็นผู้ที่มีสิทธิมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือล่าสุดจะมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 200 คน เพื่อคุมช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ซึ่งถ้าเห็นว่า ส.ว. มีความสำคัญก็ควรให้ประชาชนเป็นคนเลือกขึ้นมาเอง และกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน ดังนั้น ไม่ควรมีสภาที่มาจากการแต่งตั้งให้คนบางคนบางส่วนเข้ามา โดยที่ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งจากประชาชน แล้วมากำหนดอะไร มีอำนาจมากมายในการถอดถอน ในการดำเนินการต่างๆ

ผมคิดว่าต้องเคารพประชาชน อย่าดูถูกประชาชน ต้องให้ประชาชนได้มีส่วนในการคิด ตัดสินใจอนาคตของเขา เขาเลือกคนมาบริหารประเทศ ระบบประชาธิปไตยให้เวลากับคน เรียกว่าถ้าเลือกมาผิดหรือเลือกมาได้ไม่ดีพอ เวลาในการกำหนดให้บริหารประเทศหรือกำหนดให้มาเป็นผู้แทนราษฎรก็จะเป็นคนฟ้อง ให้ประชาชนรู้ว่าคนนี้ยังทำหน้าที่ ไม่ได้ดี เขาก็จะเลือกขึ้นมาใหม่

นอกจากนี้ที่น่าเป็นห่วงและอันตรายคือ การมอบอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนว่าอันนั้นทำได้ อันนี้ทำไม่ได้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร หรือการกำหนดแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี เพื่อให้สังคมเดินตาม หรือให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนั้นเดินตาม ผมคิดว่าประชาชนเลือกคณะรัฐบาลมาเขาก็จะต้องกำหนดสิ่งที่เขาทำและเป็นประโยชน์ ถ้าทำแล้วไม่เป็นประโยชน์ มีปัญหา ประชาชนเขาตัดสินใจเอง อยู่ๆ จะมากำหนด 20 ปีให้เดิน ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลเสนอ ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจะไม่สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

อ้างว่า เป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่เป็นวิธีคิดที่ก้าวไม่ทันโลก
ผมคิดว่า เป็นวิธีคิดที่ก้าวไม่ทันโลก โดยเฉพาะโลกสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การคิดแบบนี้อาจจะ ก่อผลเสียหายอย่างร้ายแรงกับโลกด้วย เพราะในขณะที่โลกและ คนอื่นปรับตัวเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เรากลับสร้างกฎหมายขึ้นมาพันธนาการตัวเองไม่ให้ก้าวทันโลก แต่ถ้าคิดในแง่ร้ายขึ้นไปอย่างที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าคุณกำลังจะสืบทอดอำนาจหรือเปล่าก็อาจจะถูกมองอย่างนี้ได้

เพราะฉะนั้นไม่เป็นผลดีใดๆ เลย มองอย่างหวังดีก็คิดว่าท่าน ไม่ก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง มองอย่างในแง่ร้ายท่านกำลังจะวางกรอบให้อยู่ในอำนาจของกลุ่มพวกท่านเองหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ไม่เป็นผลดีต่อประเทศเท่าไร ดังนั้น ไม่ว่าจะมองดีมองร้ายอย่างไรก็ตาม วิธีคิดแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติ ก็ควรจะปรับใหม่ ไม่ต้องกำหนดกรอบใหญ่ กำหนดเรื่องทิศทางใหญ่ได้ว่าประเทศควรจะพัฒนาไปในทิศทางใหญ่ๆ อย่างไรบ้าง

ส่วนเรื่อง 5 ปีช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ผมไม่เชื่อว่าผู้มีอำนาจจะ มองสังคมได้ถูกต้อง เหมาะสมเหนือกว่าคนอื่นๆ ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยึดรูปแบบหรือการดำเนินการให้อยู่ถึง 5 ปีหรืออะไรต่างๆ หลังจากที่รัฐบาล คสช. ทำมา 2 ปีกว่าก็น่าจะเพียงพอแล้ว และควรคืนอำนาจให้ประชาชนได้ดำเนินการ เพราะถ้าเขาชอบ พล.อ.ประยุทธ์แล้วท่านไปตั้งพรรคการเมือง เขาก็จะเลือกท่านเข้ามาเอง มันก็จะสง่างาม ไม่ต้องไปตั้งกติกากำหนดให้ตัวเองอยู่ต่อ 5 ปี เพื่อดูแลประเทศต่อไป

คสช. ไม่ควรนั่ง ส.ว.แต่งตั้ง มองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ
ผมคิดว่า คสช. หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ควรจะเข้ามานั่งในตำแหน่ง ส.ว. เพราะเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ หรืออยากอยู่ในอำนาจอย่างต่อเนื่องต่อไป ไม่เป็นผลดีต่อภาพพจน์ตัวท่านเอง รวมทั้งในหลักการทั่วโลกเขาไม่ทำกัน ทางที่ดีควรจะร่างกติกาและเปิดโอกาสให้คนส่วนต่างๆเข้ามา จะได้ไม่ถูกกล่าวหาหรือถูกครหาได้ว่าตัวเองร่างกติกาเพื่อตัวของพวกตัวเอง

ขอย้ำว่า ไม่เห็นด้วย เพราะใน กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยควรปล่อยให้ประชาชนได้ใช้อำนาจตัดสินใจ ใช้สิทธิของเขาได้เต็มที่ อยู่ๆ การที่ไปเอาคนอื่นมา หรือผู้มีอำนาจ หรือ คสช. ซึ่งบริหารประเทศอย่างต่อเนื่องมาแล้วยังจะไปนั่งต่ออีก ก็จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยลดลง เหมือนกับถอยหลังเข้าคลองในที่สุด

รัฐบาลต้องใจกว้าง อย่าคิดว่าตนเองกุมความดีฝ่ายเดียว
การที่จะคาดเดาการตัดสินใจของประชาชนคงยาก แต่ถ้าตัดสินใจให้ประชาชนได้ลงประชามติ สิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้คือ มีแนวคิดที่จะไม่ให้มีการพูดคุย ถกเถียงกันให้กว้างขวาง ตรงนี้เป็นปัญหา ซึ่งเรื่องของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ เป็นกติกาใหญ่ที่กำลังกำหนดกรอบทิศทางการเดินของประเทศว่าจะให้ประเทศเดินไปในทิศทางไหน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรเปิดโอกาสให้คนทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น ไม่ต้องกลัวว่าเปิดโอกาสแล้วจะเกิดความขัดแย้ง ทำให้ประเทศมีปัญหา ทุกคนมีวิจารณญาณ เป็นผู้ใหญ่เพียงพอ

เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องใจกว้าง และคณะผู้ร่างก็อย่าคิดว่าตัวเองเป็นผู้ยึดกุมความดีและความถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น เพื่อจะทำให้ข้อสรุปในการที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าเป็นข้อสรุปที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันถกเถียงอย่างชัดเจน และร่วมกันตัดสินที่จะเดินไปด้วยกัน

แม้ประชามติผ่านแต่ปิดกั้นความเห็นประชาชน ก็ไม่สง่างาม
ประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่าน เป็นเรื่องของประชาชน ซึ่งประชาชนเป็นคนตัดสิน แต่ถ้าปิดกั้นตลอด ไม่ให้ร่วมแสดงความเห็นเต็มที่ ผ่านออกมาก็ไม่สง่างาม ไม่สามารถแอบอ้างว่าเป็นความเห็นของประชาชนทั้งหมดอย่างชอบธรรม อาจจะถูกครหา ถูกนินทา ถูกเขาว่าร้ายได้

กติกาบ้านเมืองเป็นแบบนี้ ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ 
ผมยังไม่อยากให้คิดว่ามันจะต้องผ่านแน่ๆ แต่ถ้าสมมติมันผ่านขึ้นมา ภายใต้กติกาแบบนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้ ผมเชื่อว่าประเทศจะเสียหายอย่างหนักหน่วง เรียกว่าจะเกิดปัญหาทั้งเรื่องความไม่เชื่อมั่น เรื่องความไม่แน่นอน เรื่องการดำเนินการต่างๆ แล้วมันจะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน

จุดยืนพรรคเพื่อไทยต้องการรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย
พรรคเพื่อไทยได้แสดงความเห็นชัดเจนต่อเนื่องว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่นานาอารยประเทศยอมรับ และคนส่วนใหญ่ในสังคมได้มีส่วนในการแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ถ้าหากเป็นรัฐธรรมนูญที่ไปในทิศทางแบบนี้เป็นเรื่องยากที่ฝ่ายต่างๆ จะยอมรับและปล่อยให้ผ่านไปได้ เพราะมีแต่จะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น

วันนี้เรายังไม่ได้พูดชัดเจนว่า จะรณรงค์คัดค้านหรือไม่อย่างไร คิดว่าอยู่ในขั้นตอนของการให้ทุก ฝ่ายได้แสดงความเห็นเพื่อจะปรับ ปรุงเปลี่ยนแปลง ผมเองก็คาดหวังว่าผู้มีอำนาจจะรับฟังเสียงที่ได้วิพากษ์วิจารณ์กันไป ที่สำคัญจะต้องพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้ประเทศได้หลุดพ้นจากปมที่เป็นปัญหาที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของประเทศอยู่ให้เดินหน้าไปได้ ถ้าหากยังยืนยันแบบนี้ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมจะคัดค้านไม่ยอมให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัยผ่าน

พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่าเราต้องเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้กติกาที่ยุติธรรม เป็นประชาธิปไตย เป็นกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ เราไม่ได้เรียกร้องให้เร็วโดยไม่คำนึงถึงความเป็นประชาธิปไตย และเราก็ไม่ได้เรียกร้องว่าเป็นประชาธิปไตยโดยไม่คำนึงถึงเวลา เพราะเรากำลังต่อสู้กับเวลาที่มีอยู่ไม่มากนัก เศรษฐกิจเรากำลังจมดิ่งไปเรื่อยๆ ยิ่งช้าก็ยิ่งแย่ ยิ่งสร้างปัญหา เพราะฉะนั้นยิ่งต้องเร็ว และยิ่งต้องสร้างความเป็นประชาธิปไตยเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและเกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย จะทำให้ทุกอย่างที่เป็นปัญหาค่อยๆ คลี่คลาย

ดังนั้น ผู้มีอำนาจจะต้องทำให้โรดแม็พต่างๆ เข้าสู่ภาวะปรกติตามที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน เพราะมีแต่ทำให้ประเทศกลับสู่ภาวะปรกติโดยเร็วเท่านั้นที่จะเป็นทางออกของประเทศ วันนี้เราเองก็พยายามประคับประคองประเทศ เพราะสถานการณ์ก็หนักหน่วงอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้มันแย่มากไปกว่านี้ ผมอยากให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเองและเร่งคืนประชาธิปไตยกลับคืนมา แล้วทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี

"ระบอบประชาธิปไตยโดยตัวของมันเองแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้อยู่แล้ว มีแต่ผู้ที่ไม่หวังดีต่อระบอบประชาธิปไตยที่เป็นผู้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น"

ฝ่ายที่ไม่ต้องการประชาธิปไตยต่างหากที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย
ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายมีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ต้องการที่จะสร้างความขัดแย้ง เชื่อได้ว่าระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมาโดยตัวของมันเองแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้อยู่แล้ว ไม่เคยสร้างปัญหาความขัดแย้งให้บานปลาย มีแต่ผู้ที่ไม่หวังดีต่อระบอบประชาธิปไตยหรือผู้ไม่ต้องการความเป็นประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นผู้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น ประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ผ่านมา แม้กระทั่งการรัฐประหารที่เกิดขึ้นครั้งนี้หรือก่อนหน้านั้น จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องของฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย ฝ่ายที่ไม่ต้องการประชาธิปไตยต่างหากที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย

ดังนั้น อยากให้ยอมรับความเป็นจริงอันนี้ ถึงแม้เราจะไม่ต้องการไปสืบหาความว่าใครผิดใครถูก แต่เราต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ผมอยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจให้กว้างเพื่อจะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้รวดเร็วมากกว่านี้ มิฉะนั้นมันจะสายเกินไป จะไม่ทันการณ์ ความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างมากมาย

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

'เรืองไกร' ร้องผู้ตรวจฯ สอบ 'มีชัย' ทำผิดขั้นตอนร่างฯรธน.


ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน นายธาวิน อินทรจำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบและยื่นเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัยกรณีที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ไม่ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 39/1 บังคับไว้ ซึ่งจะมีผลทำให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ที่เป็นร่างฯ เบื้องต้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะหรือไม่

โดย นายเรืองไกรกล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 39/1 วรรคสอง ได้บัญญัติว่าระหว่างจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ กรธ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประชาชน แต่จนกระทั่งวันที่ 29 ก.พ. 2559 ที่กรธ.มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ไม่พบว่า กรธ.มีการออกหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลทั้ง 4 กลุ่ม ซึ่งคล้ายกับการสรรหา พล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อปี 2545 ที่คณะกรรมการสรรหาเปลี่ยนวิธีการสรรหา ในรอบที่ 6 ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยว่าการสรรหานั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อ กรธ.ไม่มีการออกหลักเกณฑ์วิธีการการรับฟังความคิดเห็น ย่อมถือว่าดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงขอให้วินิจฉัยเพิกถอนร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ กรธ.นำกลับมาดำเนินการตามขั้นตอนให้ครบถ้วน เพราะห่วงว่าถ้าปล่อยจนถึงการทำประชามติ จะสร้างความเสียหายและสูญเสียงบประมาณ

นอกจากนี้ นายเรืองไกร ยังกล่าวถึงการยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้วินิจฉัยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขาดคุณสมบัติการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ และจากกรณีที่ศาลอาญามีคำพิพากษาว่าคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ปลดนายอภิสิทธิ์ออกจากราชการทหารชอบด้วยกฎหมายว่า ตนได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้วว่า กรณีดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ ได้ยื่นอุทธรณ์จึงถือว่าคดียังไม่สิ้นสุด ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยุติเรื่องไว้ก่อน ซึ่งส่วนตัวก็ไม่เป็นอะไร จะรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ถ้าในอนาคตมีการเลือกตั้ง และนายอภิสิทธิ์ลงนามรับรองในการส่งตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ก็คงต้องมาถกเถียงกัน และตนอาจต้องยื่นให้ กกต.พิจารณากันใหม่.

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2559

“ยรรยง” ผิดหวังรัฐบาล ส่งออกลด ราคาตก-ผลผลิตต่ำ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ไสว่าสิบ่โกงกิน ? รัฐบาลระบายข้าวให้อุตสาหกรรมและขายข้าวจีทูจีโปร่งใสจริงหรือ ?

ในฐานะปุถุชนคนหนึ่งผมขอยอมรับตรงๆว่ารู้สึกหงุดหงิดและผิดหวังกับการบริหารเศรษฐกิจการค้าของรัฐบาลชุดปัจจุบันค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องข้าวและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวนาชาวสวนชาวไร่ซึ่งตกตํ่าลงมากในช่วง 1-2 ปีนี้

เรื่องที่เห็นชัดๆ เช่น ทั้งๆที่ชาวนาทำนาได้น้อย ผลผลิตตกต่ำ ยังปล่อยให้ราคาข้าวตกตํ่าลงอย่างต่อเนื่อง การส่งออกข้าวก็ลดตํ่าลงทั้งราคาและปริมาณ แทนที่รัฐบาลจะวางแผนแก้ปัญหาร้ายแรงนี้กลับเสียเวลาหาข้อแก้ตัวว่าเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าทั้งโลก

ปัญหาคาใจของผมในช่วงนี้คือเรื่องการระบายข้าวในสต็อครัฐบาลกว่า 10 ล้านตันบางส่วนให้อุตสาหกรรมและการขายข้าวแบบจีทูจีให้จีน ซึ่งมีพิรุธหลายประการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่น่าจะสวนทางกับนโยบายปราบโกงและบริหารประเทศอย่างโปร่งใส ผมขอสรุปประเด็นคำถามเพื่อให้ทุกฝ่ายช่วยกันค้นหาคำตอบและเพื่อหาทางปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ดังนี้

1. การระบายข้าวเสื่อม(ข้าวเกรดC)ให้อุตสาหกรรมที่ผ่านมาและที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้รวม 3 ล็อต ล็อตแรกเมื่อ ธ.ค.2558 จำนวน 37,412 ตัน ล็อตที่สองเมื่อ ก.พ.2559 จำนวน 221,375 ตัน และล็อตที่สามกำลังจะเปิดประมูลปลายเดือนนี้จำนวน 223,762 ตัน มีพิรุธที่ส่อว่าจะเปิดช่องทุจริตและดำเนินการอย่างโปร่งใสจริงหรือไม่ ?

1.1 ทำไมการประมูลข้าวเสื่อมทั้ง 3 ล็อต จึงจำกัดเฉพาะอุตสาหกรรมบางประเภทเท่านั้น ทำไมไม่เปิดประมูลทั่วไป ? (ถ้าเปิดประมูลทั่วไปจะขายได้ราคาสูงกว่ามาก เช่นข้าวสารเจ้า5%ถ้าเปิดประมูลเฉพาะโรงงานปุ๋ยและโรงงานไฟฟ้าจะได้ตันละ 4,200-5,200 บาท ถ้าเปิดให้โรงงานอาหารสัตว์ร่วมประมูลด้วยจะขายได้ตันละ 7,000-8,000 บาท แต่ถ้าเปิดประมูลทั่วไปโดยไม่จำกัดจะได้ตันละ 11,000-12,000 บาท) มีหน่วยงานใดตรวจสอบและยืนยันว่าข้าวเสื่อมหรือข้าวเกรดซีไม่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารมนุษย์หรือสัตว์ได้หรือไม่ ? ทำไมการประมูลข้าวล็อตที่สองจึงเปิดให้โรงงานอาหารสัตว์เข้าร่วมประมูลด้วยแตกต่างจากการประมูลล็อตแรก ?

1.2 รัฐบาลมีความมั่นใจเต็มที่หรือไม่ว่าได้ตรวจสอบคุณภาพข้าวอย่างถูกต้องโดยละเอียดทุกกอง(กองละประมาณ 20,000 กระสอบ) ? รัฐบาลมั่นใจหรือไม่ว่ากองข้าวแต่ละกองที่ผลตรวจสอบแบบสุ่มตรวจเป็นข้าวเสื่อม(ข้าวเกรดC1 หรือ C2 หรือ C3)เหมือนกันหมดทั้งกองทุกกระสอบหรือเป็นส่วนใหญ่ ? (ถ้ามีข้าวดีปนข้าวเสื่อมรัฐก็จะเสียประโยชน์เพราะขายข้าวในราคาต่ำ ส่วนผู้ได้ประโยชน์ก็คือเจ้าของโรงงานที่ชนะประมูล)

1.3 ถ้าระบายข้าวและตรวจสอบคุณภาพอย่างถูกต้องและโปร่งใสจริง ทำไมรัฐบาลจึงห้ามหรือกีดกันไม่ให้เซอร์เวเยอร์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตรวจสอบคุณภาพข้าวและเป็นคู่สัญญากับรัฐบาล มีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพข้าวและเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการส่งมอบข้าวที่ขายให้อุตสาหกรรมด้วย ?

2. การขายข้าวแบบจีทูจีให้จีน ก็มีหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติชวนสงสัยว่าจะเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)จริงหรือไม่ และน่าจะมีพิรุธส่อว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่พ่อค้าเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ?
2.1 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตัวจริงทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายทำหน้าที่ในฐานะของรัฐบาล( Government= G)จริงหรือไม่ ? (ฝ่ายจีนดำเนินการโดยบริษัท COFCO Corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีนแต่ได้แปรสภาพเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อข้าวในลักษณะของการทำธุรกิจปกติทั่วไปคือซื้อข้าวไทยไปบรรจุถุงขายแข่งขันกับเอกชนและวิสาหกิจอื่นๆตามปกติ ดังนั้น COFCO จึงเข้มงวดเรื่องคุณภาพเช่น ต้องส่งมอบข้าวฤดูใหม่เท่านั้น (รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันไม่มีข้าวใหม่เพราะได้ยกเลิกโครงการรับจำนำแล้ว) นอกจากนี้ COFCO ยังต่อรองซื้อข้าวไทยในราคาตํ่าอีกด้วย ส่วนฝ่ายไทยดำเนินการโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งเป็นผู้จัดสรรโควต้าข้าวที่ขายให้สมาชิกของสมาคม โดยไม่ได้ขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลหรือข้าวของพ่อค้ากลุ่มอื่นเช่นโรงสีแต่อย่างใด)
2.2 ในขณะที่ผู้ส่งออกได้รับประโยชน์จากการขายข้าวโดยมีรัฐบาลเป็นประกัน แต่รัฐบาลนอกจากจะเสียโอกาสในการขายข้าวของรัฐบาลเองแล้วยังอาจถูกฝ่ายจีนใช้อ้างให้รัฐบาลไทยลดเงื่อนไขหรือเพิ่มราคาสร้างรถไฟความเร็วสูงอีกด้วย ในกรณีนี้ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์กันแน่ ?

รัฐบาลชุดนี้ชูนโยบายปราบโกงมาตั้งแต่เริ่มต้น จึงควรจัดการระบายข้าวอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ทั้งในเรื่องการตรวจสอบคุณภาพ การเปิดประมูลและการขายแบบจีทูจี ไม่ควรทำแบบปิดประตูตีแมวและมัดมือชกนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" ขอบคุณแฟนเพจ มอบกำลังใจ-ทะลุ5ล้านไลค์!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook : Yingluck Shinawatra ล่าสุด โดยมีเนื้อหาดังนี้

ขอบคุณแฟนเพจอีกครั้งนะคะ ที่เรามีครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น มีสมาชิกครบ 5 ล้านไลค์ และไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าการกล่าว คำว่า ขอบคุณสำหรับมิตรภาพ และความจริงใจที่มีให้ดิฉันเสมอมา  ในครั้งนี้ ดิฉันได้ทำเสื้อเชิ้ตเพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกสำหรับแฟนเพจที่เข้ามาคอมเม้นท์ในรูปนี้ พร้อมมานั่งดื่มกาแฟกันค่ะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสมาชิกตั้งแต่แรกเริ่มหรือสมาชิกใหม่ก็มีสิทธิเหมือนกัน 1. ขอมอบให้ทันที สำหรับ 20 คนแรก ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นใต้ภาพนี้ 2. มอบให้ทันทีอีกเช่นกัน เพื่อเป็นการขอบคุณ สำหรับสมาชิก 20 คน ที่เคยแสดงความคิดเห็นและให้กำลังใจกันเป็นประจำโดยคลิกไลค์ใต้ภาพตั้งแต่เริ่มต้น 3. และสุดท้าย สำหรับสมาชิกใหม่คนที่ 5 ล้านที่เข้ามากดไลค์ค่ะ โดยกิจกรรมนี้รับทันทีไม่มีลุ้นค่ะ  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม 5ล้านไลค์ดีๆต่อเนื่องอีกค่ะ คอยติดตามนะคะ หมายเหตุ  สำหรับผู้โชคดี ทาง Admin จะตอบคอมเม้นท์ของผู้โชคดีใต้ภาพ แล้วให้ผู้โชคดี ท่านนั้น แจ้งติดต่อกลับมายัง Inbox นะคะ


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เปลี่ยนหน้าปก Facebook โดยมีข้อความเขียนเป็นลายมือ ระบุว่า "ขอบคุณแฟนเพจทั้ง 5 ล้านไลค์ ที่ทำให้เรามีวันนี้ รวมทั้งกำลังใจดีๆ ที่ส่งให้กันเสมอมาค่ะ" - นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร




วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559

"เพื่อไทย" แนะเร่งคืนประชาธิปไตย หลังรัฐบาลถอดใจ แก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศไม่ได้

นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะใช้เวลาในการฟื้นตัว 5-10 ปี ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยภายในที่เกิดจากปัญหาความไม่เชื่อมั่นของต่างประเทศ โดยทีมเศรษฐกิจรัฐบาลได้ออกมา ยอมรับแล้วว่าเศรษฐกิจของไทยจะฟุบ ยาวถึง 2 ปี ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับก่อนหน้านี้ที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลยืนยันมาตลอด ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นแล้ว และมาตรการต่างๆของรัฐบาลได้ผล แสดงให้เห็นว่าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเริ่มถอดใจและยอมรับความจริงว่าไม่มีหนทาง จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้แล้ว และนับแต่วันนี้จนถึงวันเลือกตั้งตามโรดแมป เศรษฐกิจไทยจะไม่มีทางที่จะดีขึ้นเลย ซึ่งจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส หากคิดว่าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้แล้ว ก็ควรจะเลื่อนการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น โดยนำรัฐธรรมนูญที่เป็นสากลมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศ ยิ่งกลับสู่ประชาธิปไตยเร็วขึ้นเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็จะฟื้นเร็วขึ้นเท่านั้น

“การที่รัฐบาลบอกว่าพัฒนาเศรษฐกิจอย่ายึดติดจีดีพี แสดงถึงความไม่เข้าใจมาตรฐานการวัดการพัฒนาตามแบบสากล ซึ่งเหมือนกับการบอกว่าการแก้ปัญหาภัยแล้งโดยไม่ต้องสนใจว่าระดับน้ำในเขื่อนมีเท่าไหร่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งจะยิ่งซ้ำเติมให้ประชาชนมีความลำบากมากยิ่งขึ้น โดยคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยกังวลว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจ ปีนี้จะขยายไม่ถึง 3 % และคงต้องมีการกลืนน้ำลายตัวเอง” นางสาวอนุตตมากล่าว

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559

“วันชัย บุนนาค” ยื่นร้อง DSI เร่งสอบคดีกรุงไทยอย่างเป็นธรรม สร้างความกระจ่างแก่สังคม


ทนายวันชัย บุนนาค นักวิชาการด้านกฎหมาย เข้าเรียกร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้รื้อคดีกรุงไทยปล่อยกู้กลุ่มบริษัทกฤษดานครเพื่อความเป็นธรรมต่อกลุ่มพนักงานกรุงไทยที่ถูกจำคุกและสร้างความกระจ่างแก่สังคม

14 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 13.00 น. นายวันชัย บุนนาค นักวิชาการด้านกฎหมาย มาพบผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้การต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษประกอบการกล่าวโทษเพิ่มเติมไว้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ในประเด็นหลักๆ พร้อมมอบเอกสารประกอบคดีให้พนักงานสอบสวนฯ โดยขอให้พนักงานสอบสวนทำการรวบรวบพยานหลักฐานเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงตามเส้นทางการโอนเงินจากธนาคารกรุงไทย สาขาพระปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2546 และทำการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้เกี่ยวข้อง ทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และข้อสำคัญในคดีอาญานั้น ต้องดูเรื่อง “เจตนาทุจริต” ด้วยเพื่อเป็นการอำนวยความเป็นธรรมทางอาญาอย่างแท้จริง นายวันชัยฯ จึงให้มาให้ความร่วมมือต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อัยการที่ร่วมสอบสวน และเห็นถึงความเข้มแข็ง และความตั้งใจทำงานจากการที่เรียกตนมาสอบสวนและส่งมอบพยานหลักฐานในครั้งนี้


“วันชัย บุนนาค” ยื่นร้อง DSI เร่งสอบคดีกรุงไทยอย่างเป็นธรรม
#TV24 ทนายวันชัย บุนนาค นักวิชาการด้านกฎหมาย เข้าเรียกร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้รื้อคดีกรุงไทยปล่อยกู้กลุ่มบริษัทกฤษดานครเพื่อความเป็นธรรมต่อกลุ่มพนักงานกรุงไทยที่ถูกจำคุกและสร้างความกระจ่างแก่สังคม14 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 13.00 น. นายวันชัย บุนนาค นักวิชาการด้านกฎหมาย มาพบผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้การต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษประกอบการกล่าวโทษเพิ่มเติมไว้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ในประเด็นหลักๆ พร้อมมอบเอกสารประกอบคดีให้พนักงานสอบสวนฯ โดยขอให้พนักงานสอบสวนทำการรวบรวบพยานหลักฐานเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงตามเส้นทางการโอนเงินจากธนาคารกรุงไทย สาขาพระปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2546 และทำการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้เกี่ยวข้อง ทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และข้อสำคัญในคดีอาญานั้น ต้องดูเรื่อง “เจตนาทุจริต” ด้วยเพื่อเป็นการอำนวยความเป็นธรรมทางอาญาอย่างแท้จริง นายวันชัยฯ จึงให้มาให้ความร่วมมือต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อัยการที่ร่วมสอบสวน และเห็นถึงความเข้มแข็ง และความตั้งใจทำงานจากการที่เรียกตนมาสอบสวนและส่งมอบพยานหลักฐานในครั้งนี้
โพสต์โดย TV24 สถานีประชาชน บน 14 มีนาคม 2016


"วัฒนา" แนะประชาชนสามัคคี ประชาธิปไตยจะกลับมา


นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่า การกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย เผยแพร่ ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

"เมื่อประชาชนเป็นเพียงเหยื่อ"

สิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบอบเสรีประชาธิปไตยมากที่สุด ในสายตาของนักรัฐศาสตร์ที่ถือเป็นบิดาแห่งนโยบายสาธารณะอย่าง Harold Lasswell คือ การรวมตัวกันของบุคคล 3 กลุ่ม เพื่อขัดขวางพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย บุคคลทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวประกอบด้วย กลุ่มชนชั้นนำ ผู้นำทางการทหาร และนักวิชาการหรือผู้ที่มีการศึกษาสูงทั้งหลายที่ยอมก้มหัวรับใช้เผด็จการเพื่อแลกกับอำนาจหรือผลประโยชน์ หากพวกเขาเหล่านี้รวมตัวกันสำเร็จ ก็จะสามารถปิดกั้นการตรวจสอบของประชาชนผ่านตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งตัวแทนเหล่านี้คือเครื่องมือสำคัญของประชาชน ในการตรวจสอบความโปร่งใสของการทำงานภาครัฐเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมนั่นเอง

วิบากกรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศชาติเกิดจากการที่คนไทยทะเลาะกันเอง จนถูกทหารนำไปเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจการปกครอง จากนั้นทหาร กลุ่มชนชั้นนำ และผู้ที่มีการศึกษาสูงทั้งหลายซึ่งรวมถึงเนติบริกรได้ตั้งรัฐบาล สภาและองค์กรต่างๆ ที่เรียกว่าแม่น้ำ 5 สายใช้อำนาจรัฐโดยไม่ยอมให้ประชาชนตรวจสอบ โดยใช้กองกำลังและกฎหมายที่พวกเค้าสถาปนาขึ้นเป็นเครื่องมือควบคุม เมื่อต้องคืนอำนาจก็ร่วมกันออกกฎหมายล้างผิดให้กันทั้งหมด ทั้งยังจะควบคุมประเทศต่อไปอีก 5 ปีโดยผ่าน ส.ว. ที่จะแต่งตั้งขึ้นเอง ด้วยข้ออ้างว่าเป็นระยะเปลี่ยนผ่านแต่แท้ที่จริงคือการสืบทอดอำนาจ ทำให้ตัวแทนที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาไม่มีอำนาจ ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลไกต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นแล้วก่อนการคืนอำนาจ

กลุ่มเผด็จการเข้าใจดีว่าหากประชาชนมีความสามัคคี ก็สามารถรวมพลังขับไล่พวกเค้าให้ออกไปได้อย่างไม่ยากเย็น ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 พวกเค้าจึงใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งรวมถึงการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือแบ่งประชาชนออกเป็นฝักฝ่าย จากนั้นทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามโดยใช้กฎหมายและกลไกของรัฐ ส่วนฝ่ายตนหลีกเลี่ยงการตรวจสอบโดยออกกฎหมายนิรโทษกรรมและกำลังจะล้างผิดให้กับพรรคพวกทั้งหมด จึงไม่มีใครต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่ทำไว้ทั้งสิ้น แม้ภายหลังตัวแทนที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาก็ไม่สามารถตรวจสอบคนเหล่านี้ได้เพราะถูกล้างผิดไปหมดแล้ว ซึ่งตรงกับคำกล่าวของ Lasswell ทุกประการ

เมื่อคนพวกนี้ยึดอำนาจรัฐสำเร็จ ก็ได้แต่งตั้งตัวเองและพรรคพวกมาเป็นผู้บริหารมีทั้งเงินเดือนและตำแหน่ง มีการอนุมัติวันเวลาทวีคูณและสองขั้นให้ตัวเองพรรคพวกเป็นโบนัสการยึดอำนาจ ส่วนประชาชนเป็นเพียงเหยื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ จึงต้องผจญกับความยากลำบากเองไม่ว่าจะเกิดจากการไม่มีน้ำทำนา ขายข้าวหรือยางไม่ได้ราคา หรือต้องตกงาน ทั้งยังถูกทวงบุญคุณแบบรายวันอีกด้วย ผมจึงอยากวิงวอนให้พี่น้องจากทุกสีและทุกกลุ่มการเมืองให้หยุดทะเลาะกัน แล้วหันมาจับมือเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นสากล อยู่บนหลักนิติธรรมและเคารพอำนาจของประชาชน เชื่อผมเถิดว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้นที่จะทำให้พวกเราจะยอมรับและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ วันใดที่พวกเราสามัคคีกันวันนั้นอำนาจจะกลับคืนมาเป็นของพวกเราทันที จากนั้นจับมือกันเอาพวกที่สร้างความเสียหายมารับกรรมที่พวกเค้าก่อขึ้นไม่ดีกว่าหรือ จะทะเลาะให้คนพวกนี้เสวยสุขโดยไม่ต้องรับผิดชอบไปเพื่ออะไร

วัฒนา เมืองสุข
14 มีนาคม 2559


วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2559

ถอดรหัสคำต่อคำ: ดร.ทักษิณ ชินวัตร สัมภาษณ์พิเศษ ไฟแนนเชียลไทมส์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไฟแนนเชียลไทมส์ ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  Lunch with the FT: Thaksin Shinawatra โดยทางกองบรรณาธิการ Social Media TV24 สถานีประชาชน ถอดความเป็นภาษาไทย มีเนื้อหาดังนี้


ในห้องส่วนตัวที่ปลอดจากเสียงของสมาชิกในครอบครัวที่สังสรรค์อาหารกลางวันในวันตรุษจีน ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้บอกฉันว่าสิ่งที่เขาเห็นในขณะนี้คือ “จินตนาการภาพในทางลบอย่างไม่มีเหตุมีผล” เกี่ยวกับตัวเขา  สองปีมาที่ฉันพยายามขอสัมภาษณ์เขา “ผมได้เงียบมาหลายปี แต่ตอนนี้น้องสาวผมเองบอกว่า ผมควรที่จะพูดอะไรบ้าง เพราะไม่เช่นนั้นความเข้าใจผิดๆ มันจะยังคงอยู่” ดร.ทักษิณอธิบาย  “ผมไม่ได้ต้องการต่อสู้เพื่อให้ได้กลับบ้าน แต่ผมกำลังสู้กับความอยุติธรรมที่มีต่อผมและผู้สนับสนุนผม”

ดร.ทักษิณ ยืนยัน  “ผมไม่สนใจที่จะกลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีอีกแล้ว ผมไม่บ้าพอที่จะทำแบบนั้น" กลับกัน เขากลับบอกว่าสิ่งที่เขาต้องการคือการเรียกร้องให้คณะรัฐประหารคืนเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับประชาชนชาวไทย

ดร.ทักษิณ เรียกร้องให้คณะนายทหารมานั่งคุยเจรจาเพื่อยุติปัญหาทางตันทางการเมืองของประเทศที่เคยมีอัตราความเจริญเติบโตสูงและมีสถานะประเทศผู้นำกลุ่มเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ต้องสะดุดหยุดลงกลับไปกลับมาระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือน “ประเทศของเราล้าหลังลงไปกว่า 10 ปี เราถอยหลังประเทศของเราแทนที่จะพัฒนาเดินหน้าสู่อนาคต” มากกว่านั้น “ประเทศไทยอาจจะเปรียบเทียบได้กับเกาหลีเหนือ” ดร.ทักษิณกล่าวถึงคณะรัฐประหารว่าจะมาสลายความขัดแย้ง ถ้าไม่อย่างนั้นก็อาจจะเปลี่ยนกรุงเทพให้เป็นกรุงเปียงยาง “ผู้ปกครองคนใดก็ตามที่ไม่ได้เคารพและไม่ใส่ใจประชาชน จะอยู่ได้ไม่นาน” เขากล่าว

เขามองตัวเองเป็นเหมือนกระบอกเสียงของฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่เห็นว่าการเคารพต่อผู้มีอำนาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อันเป็นลักษณะ “แบบไทยไทย” ที่ทิ้งหลักการของประชาธิปไตยของวินส์ตัน เชอร์ชิล และหลักระบบราชการของแม็กซ์เวเบอร์   ดร.ทักษิณมองว่า “แม้รัฐบาลพลเรือนที่จากการเลือกตั้งจะไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็ยังดีกว่าระบบการปกครองแบบทหาร”

ดร.ทักษิณ เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงพลังทางการเมืองใหม่ๆที่เกิดขึ้น ชนชั้นนำทางการเมืองของไทยพยายามสร้างภาพรัฐธรรมนูญที่ดูเป็นเสรีนิยม แต่รัฐธรรมนูญก็ยังแสดงให้เห็นถึงว่าละเลยใส่ใจต่อเสียงของคนต่างจังหวัด ในขณะที่ดร.ทักษิณ กลับให้คำมั่นสัญญาที่จะนำความเจริญร่ำรวยมาสู่ประเทศด้วยการช่วยเหลือชาวบ้านด้วยโครงการสินเชื่อรายย่อยและโครงการ 30บาทรักษาทุกโรค

เมื่อเราถามว่าที่ไหนอะไร  ที่ทำให้ ดร.ทักษิณฉุกคิดประเด็นการช่วยเหลือชาวชนบท เรากลับได้รับคำตอบที่น่าทึ่งมากว่า เขามองไปที่ชาวนาชาวสวนที่กระเสือกกระสนทำงานอย่างหนักในไร่ ตอนที่เขายังเป็นเด็กนั่งจักรยานยนต์ไปโรงเรียนกับพ่อ ต่อมาเมื่อโตขึ้นเค้าก็เห็นคนใช้แรงงานที่มารับจ้างทำงานอยู่ในไร่สวนส้มของพ่อเค้า “ผมรู้สึกว่าผมทำอะไรสักอย่างช่วยคนเหล่านี้ เพราะผมรู้ว่าจะต้องทำงานอย่างไร เหมือนที่ผมเริ่มต้นทำงานจากไม่มีอะไรเลยจนร่ำรวยกลายเป็นมหาเศรษฐี” ดร.ทักษิณบอกบางทีการวิ่งเล่นภายในสวนของพ่อเขาอาจสอนอะไรเขาบางอย่าง

ดร.ทักษิณ ใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อจะไม่เรียกร้องอะไรแบบกลับตาลปัตรเกินไปจากคณะรัฐประหาร แม้ว่าจะรังเกียจต่อรูปแบบการปกครองและร่างรัฐธรรมนูญที่จะทำให้นักการเมืองจากการเลือกตั้งต้องอ่อนแอลงไป

“ผมพยายามใช้เวลาในต่างประเทศให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ใช่แค่ลอยไปลอยมารอเวลากลับบ้าน” ดร.ทักษิณกล่าว “ผมแค่ต้องการทำอะไรบางอย่างที่เกิดประโยชน์กับผมและกับประเทศของผมในอนาคต”

ผมถามว่าทำไมบรรดาคณะทหารและเครือข่ายชนชั้นนำต่างเกลียดคุณมากมายขนาดนี้ ดร.ทักษิณดูนิ่งไปสักพัก เราถามซ้ำอีกครั้งเพื่อทำลายความเงียบ ดร.ทักษิณตอบกลับมาว่า “มันเกี่ยวกับความหวาดระแวง เพราะผมเป็นเพียงนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่สามารถชนะอย่างถล่มทลายและอยู่ครบเทอมคนแรก”

ดร.ทักษิณ พูดถึงบรรดานายพลทั้งหลายว่า “เขากังวลกันเกินไป” เกี่ยวกับท่าทีของเขา เขามัวแต่หลงอยู่การ  “เผาบ้านทั้งหลังเพื่อจับหนูหนึ่งตัว” ดร.ทักษิณเตือน “ผมเป็นแค่หนู แต่พวกเขาทำให้ผมดูกลายเป็นเสือ”

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

ถอดรหัสคำต่อคำ: ดร.ทักษิณ ชินวัตร สัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าวเอเอฟพี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดอะสเตรตส์ไทมส์ ได้อ้างอิงสำนักข่าวเอเอฟพี รายงานบทสัมภาษณ์ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังเดินทางกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐฯ



ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ที่นิวยอร์คว่า  รัฐบาลทหารไทยต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปให้นานเท่าที่จะนานได้ ในขณะเดียวกันตัวเขาไม่ได้ปฏิเสธว่าจะกลับสู่เส้นการเมืองอีกหรือไม่

เจ้าพ่อโทรคมนาคมผู้ซึ่งถูกรัฐประหารออกจากอำนาจในปี 2006 และปัจจุบันอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ได้กล่าวว่า เขา “หวัง”  ว่าจะได้กลับบ้าน แต่ต้องพิจารณาก่อนว่าการกลับบ้านของเขานั้น “ต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนของเขา”

ในเดือนพฤษภาคม 2014 คณะทหารได้ยึดอำนาจการปกครองของน้องสาวทักษิณ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และขณะนี้คณะทหารกำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถึงแม้ว่าหัวหน้าคณะรัฐบาลทหารจะให้คำปฏิญาณไว้ว่าจะให้มีการเลือกตั้งในปี 2017

ดร.ทักษิณ กล่าวว่า เขาไม่อาจเชื่อในคำมั่นสัญญาเรื่องเลือกตั้งและวิจารย์หัวหน้าคณะรัฐบาลทหารอย่างหนัก ที่อ้างเหตุผลการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อกำจัดการโกง

“ถ้าเราดูจากพฤติกรรมคณะรัฐบาลทหาร ดูเหมือนว่าเขาต้องการจะอยู่ในอำนาจนานที่สุดเท่าที่จะนานได้” ดร.ทักษิณได้กล่าวให้สัมภาษณ์ที่โรงแรมนิวยอร์ค ต่อข้อถามว่า รัฐบาลทหารจะครองอยู่ในอำนาจนานไปเท่าไร

อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้ย้ำถึงความกังวลเรื่องอนาคตของประเทศไทย ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกบังคับใช้

พรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากตระกูลชินวัตร ชนะการเลือกตั้งติดต่อกันตั้งแต่ปี 2001  นโยบายประชานิยมของพวกเขาเป็นที่นิยมในภาคเหนือ

เกือบ 2 ปีต่อมา ดร.ทักษิณกล่าวว่า คณะรัฐบาลทหารไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องการปรองดองเลย และ ไม่ได้อำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายด้วย เพียงแต่พยายามใช้กฏหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับพวกพ้องตัวเองเท่านั้น

ดร.ทักษิณ กล่าวว่า เขาต้องการเห็นประเทศเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน

"I'm not ruling myself out but I'm not having ambition to do it again," he said. "I'm 67 already now," he added. "I want to live my life peacefully."

“ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่กลับคืนสู่การเมืองอีก แต่ผมก็ไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะทำอีกครั้ง ตอนนี้ผมอายุ 67 ปีแล้ว ผมต้องการใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบ”

เขายืนกรานว่าขณะนี้เขามีความสุขที่ได้อาศัยอยู่ในดูไบ และท่องเที่ยวไปทั่วโลก โดยเฉพาะที่ปักกิ่งและลอนดอน เป็นสถานที่ชื่นชอบที่สุดของเขา

แต่เขาก็ได้ปรากฏตัวในสาธารณะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการให้สัมภาษณ์ในประเทศสิงคโปร์และมากล่าวปาฐกถาในงาน World Policy Forum  ในวันพุธที่เมืองนิวยอร์ค

ขณะที่บนท้องถนน กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสนับสนุนและต่อต้านดร.ทักษิณ ต่างฝ่ายต่างเริ่มตะโกนในขณะที่ทักษิณเริ่มพูด

อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ได้เริ่มต้นด้วยการกล่าวขอโทษสมาชิกสถาบันผู้ร่วมงานสำหรับการประท้วงที่เกิดขึ้นด้วย แต่เขาก็หวังว่าอย่างน้อย ผู้ชุมนุมน่าจะมีความสุข กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ในสหรัฐอเมริกา

ในสุนทรพจน์ของดร.ทักษิณส่วนหนึ่งได้แนะนำบทบาททางด้านความสัมพันธ์ของประเทศไทยที่ควรมีต่อต่อมหาอำนาจอย่างจีนและอเมริกา และในบทสัมภาษณ์ ดร.ทักษิณ ได้เตือนคณะรัฐบาลทหารถึงอุปสรรคถ่วงรั้งความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง

ดร.ทักษิณ แสดงความห่วงใยในตัวน้องสาว อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ซึ่งถูกดำเนินคดีจากคณะของรัฐบาลทหาร ซึ่งเธอและผู้สนับสนุนกล่าวว่ามันเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง “เรากังวลเกี่ยวกับความยุติธรรมที่เธอกำลังจะได้รับ” ดร.ทักษิณ กล่าวถึงการตัดสิทธิทางการเมืองน้องสาวจากคณะรัฐประหารว่า “เป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลมาก”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ศึกษาในระดับปริญญาเอกในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าได้มาเที่ยวที่นี่บ่อยครั้งและมาเยี่ยมเพื่อนฝูงที่นี่ด้วย นอกจากนี้ ดร.ทักษิณ ได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทที่เข้มแข็งมากขึ้น ในการสนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นพดลโต้ดอน ทักษิณแสดงวิสัยทัศน์สร้างสรรค์เพราะเป็นห่วงประเทศ

วันที่ 11 มีนาคม 2559 นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สิ่งที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดที่สถาบันนโยบายโลกที่นิวยอร์กเป็นวิสัยทัศน์ระดับโลกที่เสนอทางออกและชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างไทยและโลกผ่านความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ เช่น การส่งออก การลงทุน และจะทำอย่างไรให้ไทยได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงของโลก ท่านพูดอย่างสร้างสรรค์และไม่ได้โจมตีใครเลย ซึ่งอยากให้คนที่สนใจสามารถหาอ่านสุนทรพจน์ได้ตามเวปต่างๆ ดังนั้นที่มีคนบิดเบือนว่า นายทักษิณไปพูดโจมตีประเทศจึงไม่เป็นความจริง และการที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศไปพูดว่าสื่อไม่ควรลงข่าวเรื่องหมากัดคน ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการเปรียบเปรยที่นอกบริบทไปมากและภาษาเช่นนี้ตนเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเห็นว่านักการทูตที่มีมาตรฐานเขาไม่ค่อยใช้กัน มันสะท้อนสภาวะจิตใจของคนพูดได้ดี

“นายดอนควรเอาเวลาไปช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาการส่งออกตกต่ำอย่างต่อเนื่อง การลงทุนจากต่างประเทศลดลง 78% การเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปหยุดชะงักเพื่อช่วยผู้ส่งออกไทย ดีกว่าจะวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองบนพื้นฐานของข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ตนไม่ขอตอบโต้เพราะพ่อแม่สอนว่าสำเนียงส่อภาษากริยาส่อสกุล” นายนพดล กล่าว

"วัฒนา" หนุน "ทักษิณ" แสดงวิสัยทัศน์ แนะรัฐวางตัวเป็นกลาง-ลดความขัดแย้ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

"เมื่อทักษิณถูกเชิญไปพูด"

ผมเห็นปฏิกริยาของอีกฝ่ายที่แสดงออกมาเมื่อนายกทักษิณถูกเชิญให้ไปพูดที่ WPI แล้ว อดเป็นห่วงปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นไม่ได้ เรากำลังเป็นสังคมที่ขาดสติ แต่ที่น่ากลัวคือรัฐบาลกลับร่วมกับอีกฝ่ายทำให้ปัญหาความขัดแย้งบานปลายมากขึ้น

สิทธิในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ที่สากลให้การยอมรับ ถึงแม้จะเป็นการพูดถึงประเทศไทยก็เป็นมุมมองของผู้พูด ยิ่งเมื่อพิจารณาว่านายกทักษิณถูกเชิญให้ไปแสดงวิสัยทัศน์ในนามส่วนตัว จึงเป็นสิทธิของท่านโดยแท้ที่ใครก็ก้าวล่วงไม่ได้ ส่วนความเห็นของท่านที่ว่า "ความก้าวหน้าและความอยู่ดีกินดีของประชาชน อยู่ที่ความมีเสถียรภาพทางการเมือง และศักยภาพในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ" ก็เป็นการพูดบนหลักการเดียวกันกับที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือสหภาพยุโรปเคยมีความเห็น หากสิ่งที่นายกทักษิณพูดออกมาไม่ถูกต้อง ผลเสียย่อมจะตกแก่ท่านเองโดยประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน รัฐบาลหรือผู้มีส่วนได้เสียยังมีสิทธิที่จะชี้แจงได้ในภายหลัง รัฐบาลจึงไม่ควรกลัวความจริง เพราะหากทำดีมีผลงานแล้วไม่ว่าใครจะพูดจาอย่างไรย่อมจะโยกคลอนศรัทธาของประชาชนไม่ได้

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการลดความขัดแย้งด้วยการทำตัวเป็นกลาง แต่การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนฝ่ายที่คัดค้านนายกทักษิณ คือการที่รัฐบาลกำลังเลือกข้างทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็คงเป็นทางเดียวที่จะทำให้รัฐบาลและพรรคพวกที่สนับสนุนมีอำนาจ เพราะเมื่อใดก็ตามที่คนไทยรักใคร่ปรองดองต่อกัน คนพวกนี้จะไม่มีที่ยืนในสังคม พวกเค้าจึงพยายามสุมไฟความขัดแย้งให้เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยไม่เคยเห็นหัวประชาชน ไม่เคยออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของคนส่วนใหญ่ แต่จะวางเฉยหรือสะใจเมื่อเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน พวกเค้าสนับสนุนและเห็นด้วยกับการยึดอำนาจและควบคุมอำนาจของประชาชนไว้ให้นานที่สุด โดยมีข้ออ้างคือคนไทยยังทะเลาะกันทั้งที่พวกเค้าเองเป็นฝ่ายก่อและขยายผล คนเหล่านี้คือพ่อค้าอาวุธที่ได้ดิบได้ดีเพราะการที่คนไทยทะเลาะกัน แล้วทำไมคนไทยยังยอมให้คนเหล่านี้มีที่ยืนในสังคมอีก

วัฒนา เมืองสุข
11 มีนาคม 2559

“กิตติรัตน์” โต้ตัวเลขปิดบัญชีข้าว สร้างมูลหนี้ความเสียหายเพิ่มหวังโยนบาป ยิ่งลักษณ์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง โพสต์ข้อความผ่าน Facebook : Kittiratt Na-Ranong โดยมีเนื้อหาดังนี้

มีโอกาสติดตามการแถลงข่าว เรื่องการปิดบัญชี โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ของรัฐบาลก่อน แล้วอยากติงท่านปลัดกระทรวงการคลัง เป็นข้อสังเกตสัก 2 ประการ ซึ่งข้อสังเกต ประการแรกของผม คือ

ท่านยังคงรายงานตัวเลขทางบัญชี ของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ของรัฐบาลก่อนๆ ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งโครงการเหล่านั้นเกือบทั้งหมดไม่มีข้าวในสต๊อคคงเหลือ และไม่มีหนี้คงค้างแล้ว โดยโครงการเหล่านั้นน่ะ รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้จัดสรรงบประมาณไปคืนหนี้ อย่างต่อเนื่องให้จนหนี้คงค้างหมดสิ้น ไม่มีความจำเป็นต้องฟื้นฝอยมารายงานซ้ำๆ และเอาไปรวมกับโครงการฯ ที่กำลังเป็นคดีความอยู่แต่อย่างใด ยกเว้นท่านจะตกหลุม การรายงานให้แสดงตัวเลขสูงๆ เข้าไว้ตามแนวทางของเจ้าหน้าที่ยุคก่อนท่าน ที่ตั้งจุดยืนแบบปรักปรำกันให้ดูเป็นความเสียหายของการอุดหนุนชาวนาด้วยวิธีการ รับจำนำ ทั้งๆ ที่เป็นโครงการฯ ที่ต่างยุคหลากหลายรัฐบาล และไม่เกี่ยวกันกับโครงการฯ ที่ท่านปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานอนุกรรมการปิดบัญชีอยู่ แต่ถ้าท่านจะให้เกี่ยวกันให้จงได้ ก็ควรจะชี้แจงว่าโครงการเหล่านั้น รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ชำระหนี้ย้อนหลังให้มากเพียงใดจนโครงการฯ นั้นๆ ไม่มีหนี้คงค้างเหลืออยู่เลยทั้งๆ ที่อาจจะเอางบประมาณจำนวนดังกล่าวมาลดวงเงินหมุนเวียนของโครงการของรัฐบาลก่อนเท่านั้น ก็ย่อมทำได้ ผมรู้สึกไม่ดีและไม่เป็นธรรม ว่านอกจากความดีจะไม่ยกขึ้นมาแล้ว ยังทำให้คนตามข่าวตกใจกับตัวเลขทางบัญชีที่ทบเข้ามาอีกนับแสนล้านบาท

ประการที่สอง ตัวเลขทางบัญชีที่ท่านนำมาแถลงว่าขาดทุนเท่านั้นเท่านี้นั้น มีข้อสมมุติสำคัญคือ การประเมินราคาสินค้าคงคลัง ที่ขึ้นอยู่ความสามารถในการขายให้ได้ราคาที่ดี หรือไม่ดี และข้อสมมุติในเรื่องการเสื่อมสภาพของข้าวที่กำหนดกันขึ้นมาเอง ซึ่งก็ควรระบุให้สื่อมวลชนได้ทราบข้อสมมุติด้านราคา และ ข้อสมมุติด้านการเสื่อมสภาพให้ชัดเจน สาธารณชนจะได้ไม่คลางแคลงใจ เพราะที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่มีการดำเนินการขายที่ถูกกล่าวหาว่าไม่เหมาะสมจนข้าวที่ขายได้ราคาถูกแสนถูกทั้งๆ ที่มีผู้รู้ออกมาทักท้วง รวมทั้งการไม่เอาจริงเอาจังกับการเร่งขายข้าว ทั้งๆ ที่กระทรวงพาณิชย์เคยประกาศยุทธศาสตร์การระบายข้าวเอาไว้ หลังการรัฐประหารใหม่ๆ ซึ่งถ้าทำตามนั้นป่านนี้ ข้าวในสต๊อคก็คงหมดไปแล้ว และนำเงินไปลดเงินหมุนเวียนที่กู้มาดำเนินการจน เหลือน้อยทั้งต้นทั้งดอก แต่กลับขายถูก ขายช้า ตั้งข้อสมมุติการเสื่อมสภาพกันตามอำเภอใจ ค่าใช้จ่ายทางบัญชีมันจะไม่เบิกบานได้อย่างไร
ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะผมรักและเคารพ ดร.สมชัย สัจจพงษ์ เป็นอย่างยิ่ง ไม่อยากเห็นท่านถูกใครมองว่ากำลังตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดทั้งสิ้น

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

ถอดรหัสคำต่อคำ: ปาฐกถา ดร.ทักษิณ ชินวัตร ณ สถาบันนโยบายโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร ได้โพสต์ข้อความ ที่ถอดความจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในงานเสวนา Thaksin Shinawatra in Private Discussion จัดโดย สถาบันนโยบายโลก (World Policy Institute) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐฯ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ปาฐกถา ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ในงาน “สนทนาเป็นการส่วนตัว กับ ทักษิณ ชินวัตร”
(Thaksin Shinawatra in Private Discussion)
ณ สถาบันนโยบายโลก (World Policy Institute)
9 มี.ค. 2559, มหานครนิวยอร์ก

———————————————————

ท่านผู้ทรงเกียรติ แขกผู้มีเกียรติ ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

ผมต้องขอขอบคุณสถาบันนโยบายโลก (World Policy Institute) ที่ให้โอกาสผมได้มาร่วมบอกเล่าหลักคิดของผม และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องความท้าทายต่างๆ ซึ่งเกิดมาจากคําถามที่ว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าและผ่านพ้น ช่วงแห่งความเปลี่ยนแปลงและระยะเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร โดยเฉพาะในแง่มุมที่เชื่อมโยงกับด้านเศรษฐกิจ ภูมิภาค และโลกในบริบทปัจจุบัน

พวกเราทุกคนคงทราบกันดีว่า ไม่มีสังคมใดในศตวรรษที่ 21 ที่จะสร้างความก้าวหน้าและความกินดีอยู่ดีให้แก่ ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง หากสังคมคมนั้นขาดซึ่งหลักพื้นฐาน 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง ได้แก่ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ประการที่สอง ได้แก่ ศักยภาพในการสร้างกิจกรรมทาง เศรษฐกิจ ซึ่งนําไปสู่การเจริญเติบโตของประเทศ และความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงความสร้างสรรค์ให้กลายเป็น ความมั่งคั่งที่ต่อเนื่อง

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

ผมขออนุญาตเล่าถึง “เรื่องของสองนคร” ที่ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นโดยชาร์ลส์ ดิกคินส์ เรื่องเล่านี้เกี่ยวกับการพัฒนาคู่ ขนานของกรุงวอชิงตัน ดีซี และปักกิ่ง ซึ่งแต่ละนครมีประวัติศาสตร์ ความทุกข์ และความชิงชังของตนเอง เมื่อ ระยะเวลาผ่านไปนานปี ทั้งสองนครถูกมองว่าเป็นคู่ปรับที่แข่งขันกันนําเสนอโมเดลการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

โมเดลที่หนึ่ง ได้แก่ ระบบทุนนิยมตลาดเสรีซึ่งมีระบอบ “ประชาธิปไตยแบบเปิด” เป็นรากฐานของการพัฒนา เศรษฐกิจ อีกโมเดลหนึ่ง ได้แก่ ระบบทุนนิยมซึ่งนําโดยรัฐ (รูปแบบของสาธารณรัฐประชาชนจีน) ที่กํากับด้วย อํานาจศูนย์กลางจากพรรคเดียว

ทั้งสองโมเดลได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถนําไปปรับใช้จนประสบความสําเร็จจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยโมเดลของ สาธารณรัฐประชาชนจีน เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติของคณะผู้นําในประเทศ ณ เวลาขณะ นั้น ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติดังกล่าว เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในโลก ตะวันตก ที่ “การค้าเสรี” ได้สร้างประโยชน์แก่สาธารณรัฐประชาชนจีนที่กําลังปรับตัว จากระบบตลาดปิด สู่ระบบ ตลาดเปิดครึ่งใบ

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับว่าทั้งสองโมเดลจะต้องถูกปรับให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงใหม่ ซึ่งเกิดขึ้น จากความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบอุตสาหกรรม จากรูปแบบ “การผลิตสินค้าใน ประเทศเดียว” สู่ “ระบบเครือข่ายการออกแบบ การสรรหาปัจจัยการผลิต และการผลิตที่มีลักษณะข้ามชาติ เพื่อ ที่จะนําสินค้าชิ้นหนึ่งๆ ออกสู่ตลาด” ความเปลี่ยนแปลงนี้ ได้กลับตาลปัตรโครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ภายในประเทศต่างๆ และส่งผลให้การปรับตัวทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนในอดีต

พวกเรายังต้องทราบอีกว่าความก้าวหน้าของเทคนิคและเทคโนโลยีการบริหารความมั่งคั่งได้กลับตาลปัตรความ สัมพันธ์ระหว่างทุนและวิธีการผลิต ทั้งนี้ พวกเราทั้งหลายคงต่างเห็นพ้องกันว่า “สภาวะปกติใหม่ของโลกปัจจุบัน” (New Normal) จะเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าคุณพร้อมและมีศักยภาพที่จะ เปลี่ยนแปลงหรือไม่

ประเทศไทยก็ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสภาวะปกติ ใหม่ในเวทีโลก

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

อีกเรื่องราวหนึ่งซึ่งเป็นที่กล่าวขานถึง คือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับครูสอนภาษาอังกฤษในสาธารณรัฐประชาชนจีนผู้เคย ยากจน แต่ปัจจุบันติดอันดับผู้ร่ำรวยที่สุดของโลก ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้สร้างโรงงานหรือลงทุนในปัจจัยการผลิตใด แต่ ผู้คนทั่วไปกลับยินดีจ่ายเพื่อใช้บริการของเขา เพื่อเข้าถึงโครงข่ายอุปทานและอุปสงค์ขนาดใหญ่ ผมเชื่อว่าชาวจีน คนนี้คงต้องรู้สึกขอบคุณระบบอินเทอร์เน็ตเป็นแน่

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รูปแบบทางการค้าได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสําคัญ คุณูปการจาก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซกลายเป็นกลจักรใหม่ที่คอยส่งเสริมให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่บ้างทั้งในประเทศพัฒนา แล้วและประเทศกําลังพัฒนา

จากรายงานของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าการค้าอีคอมเมิร์ซประเภทธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ของโลกในปี พ.ศ. 2556 มีมูลค่ามากกว่า 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่อีคอมเมิร์ซประเภทธุรกิจกับผู้บริโภคของโลกยังคงอยู่ที่ระดับราว 1.2 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐ รูปแบบการค้าดังกล่าวกลับมีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและโอเชีย เนีย ซึ่งมีการประมาณการว่าอีคอมเมิร์ซประเภทธุรกิจกับผู้บริโภคจะขยายตัวจากระดับร้อยละ 20 สู่ระดับร้อยละ 37 ระหว่างปี พ.ศ. 2556 ถึง 2561 นอกจากนี้ การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดนที่ค่อยๆ ขยายตัวขึ้น ยังส่งผลให้ปริมาณ การขนส่งพัสดุภัณฑ์ขนาดเล็กระหว่างประเทศของโลกเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 48 ระหว่างปี พ.ศ. 2554 ถึง 2557

สําหรับภูมิภาคเอเชียและโลกตะวันตก ผมเชื่อว่าข้อมูลความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดังกล่าวคือเค้าลางของ โอกาสการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ ที่ “การเข้าถึงเครือข่าย” (Access to Network) คือหัวใจของ ความสําเร็จ โดยในที่นี้ หมายถึงเครือข่ายผู้บริโภคและปัจจัยการผลิตที่มีลักษณะข้ามชาติ แตกต่างออกไปจากรูปแบบเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 20 ซึ่ง “การเข้าถึงศูนย์กลาง” (Access to Center) คือเงื่อนไขของความสําเร็จ

ในปัจจุบัน นักธุรกิจผู้ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงานขนาดใหญ่หรือบรรษัทข้ามชาติ สามารถเข้าถึงลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลก และตอบสนองความต้องการบริโภคสินค้าของพวกเขาได้ โดยการเข้าถึงเครือข่ายการผลิตและการกระจายสินค้าซึ่ง เกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ เศรษฐกิจในวันนี้กระจายตัวออกจากศูนย์กลางอํานาจเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่กับการกระจายตัวของการบริโภคและการผลิต พวกเราคงสามารถ จินตนาการได้ง่ายๆ ถึงสถานการณ์ที่นักธุรกิจชาวอเมริกันสามารถขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์โดยตรงให้แก่ผู้บริโภคในฝั่งตะวันตกของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่นักธุรกิจเหล่านั้นไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปทําธุรกรรมที่นครปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ ในทางตรงกันข้าม ผู้ผลิตชาวจีนสามารถขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคในแถบนิวอิงแลนด์และมิดแอตแลนติกของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไม่ต้องผ่านนครนิวยอร์ก

“เศรษฐกิจเครือข่าย” ได้ส่งเสริมให้ประชาชน ซึ่งประกอบธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีศักยภาพในการผลิตและเข้าถึงลูกค้าได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง พวกเราในฐานะประชาคมโลกต้องให้ความสําคัญเป็นพิเศษแก่การสรรหาวิถีทางให้ประเทศต่างๆ สามารถร่วมลงทุนและร่วมเสี่ยงกับประชาชน เพื่อสร้างแนวร่วมการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

อีกหนึ่งเรื่องเล่านั้นเกี่ยวข้องกับการเกิดใหม่ของถนนสายหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครสนใจมานานนับตั้งแต่โปรตุเกสได้ค้นพบ เส้นทางเดินเรือจากทวีปยุโรปสู่เอเชีย โปรตุเกสเคยได้นําเสนอเส้นทางการค้าใหม่ซึ่งสร้างผลกําไรเป็นกอบเป็นกํา จากกิจกรรมการเดินเรือขนสินค้า แม้บางครั้งสินค้าอาจเสียหายไปกว่าครึ่ง แต่ก็ไม่ได้ทําให้ใครขาดทุนจนล้มละลาย เพราะด้วยเหตุที่ว่าอุปสงค์ความต้องการเครื่องเทศในยุคดังกล่าวมีมาก จึงทําให้พ่อค้าเดินเรือสามารถตั้งราคาขายที่สูงลิบได้

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

การขนส่งสินค้าหนักทางเรือเป็นสิ่งที่พวกเราคุ้นชินจนถึงยุคปัจจุบัน ในขณะที่เส้นทางการค้าทางบกจากทวีปเอเชีย ไปยังยุโรปกลับถูกลืมเลือนไปเป็นเวลานาน หากเศรษฐกิจโลกยังคงเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับในอดีตที่อ้างว่า หอมหวน คนส่วนใหญ่คงไม่จําเป็นต้องคิดที่จะสรรหาทางเลือกในชีวิต แต่ด้วยเหตุที่สถานการณ์โลกปัจจุบันดูไม่สู้ดี นัก ผมจึงเชื่อว่าแต่ละประเทศควรที่จะพิจารณาถึงทุกๆ ความเป็นไปได้

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามียุทธศาสตร์ 2 ประการที่มีศักยภาพในการเร่งการเติบโตและยกระดับ “คุณภาพของการ เติบโตทางเศรษฐกิจ” ที่เกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจเครือข่าย ประการที่หนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์ “One Belt, One Road” (OBOR) หรือยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ที่นําโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ระหว่าง 60 ประเทศ ซึ่งมีรายได้ประชาชาติรวมกันคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 50 ของรายประชาชาติของโลก

และยุทธศาสตร์อีกประการหนึ่ง คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership, TPP) ที่นําโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว 12 ประเทศ มีรายได้ประชาชาติรวมกันมากกว่าร้อยละ 40 ของรายได้ประชาชาติของโลก ทั้งนี้ ผมไม่ได้มองว่า ยุทธศาสตร์ทั้งสองเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แต่เป็นกระบวนการคู่ขนาน ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง จะสร้างผลประโยชน์ทาง เศรษฐกิจร่วมให้แก่ทั้งภูมิภาคเอเชียและโลกตะวันตก

พวกเราคงต้องก้าวข้ามมุมมองแบบเหมารวมที่ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงมหาอํานาจทางการเมืองซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ในสภาพความเป็นจริง พัฒนาการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา น่าจะทําให้พวกเราได้เห็นถึงการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ถือครองพันบัตรรัฐบาลสหรัฐรายใหญ่ที่สุดคิดเป็นมูลค่า 1.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีมูลค่าการค้ารวม (Total Trade) ที่ระดับ 5.21 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนโดยตรง (FDI) ของสหรัฐอเมริกาในสาธารณรัฐประชาชนจีนคิดเป็นมูลค่า 6.58 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การลงทุนโดยตรงของสาธารณรัฐประชาชนจีนในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ระดับมูลค่า 1.19 หมื่นล้าน ดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อพิจารณาถึงการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจดังกล่าว ผมเชื่อว่าภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ระหว่างยุทธศาสตร์การ พัฒนาอันสําคัญของสองมหาอํานาจทางเศรษฐกิจ ควรให้ความสําคัญแก่การขยายความร่วมมือเพื่อสร้างผล ประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกับประเทศคู่ค้าต่างๆ

ภูมิศาสตร์การเมืองของภูมิภาคเอเชียแห่งศตวรรษที่ 21 ควรเป็น เรื่องของการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความมั่งคั่งให้แก่ประชาชนแบบระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาค

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

ผมขออนุญาตเล่าถึงนิทานเรื่องสุดท้ายเกี่ยวกับร้านอาหารไทย ซึ่งไม่ว่าหัวหน้าพ่อครัวจะพร่ำสอนลูกศิษย์ใน อุปถัมภ์ของเขาอย่างไร ลูกศิษย์ก็กลับไม่สามารถผสมเครื่องปรุงได้ถูกต้อง ลูกค้าก็ถูกปล่อยปละให้นั่งรอจนหิวและหัวเสีย เมื่อลูกค้ากว่าครึ่งที่ได้รับประทานอาหาร ก็กลับต้องท้องร่วงตามๆ กันไป นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การเขียนตําราอาหารไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้ถูกต้องเป็นเรื่องสําคัญ

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

ในขณะที่หลายคนอาจเน้นย้ำถึงลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไปของประเทศไทยในแง่มุมทางประวัติศาสตร์และทิศทางการพัฒนา ประเทศไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความท้าทายของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้ ตลอดช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่อรายได้ประชาชาติของประเทศไทยและมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในประเทศไทยได้แสดงให้พวกเราได้เห็นอย่างชัดเจนถึงทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่เชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นเข้ากับชะตากรรมของเศรษฐกิจโลก

เมื่อพิจารณาถึงบริบทดังกล่าว พวกเราควรพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทยด้วยคําถามง่ายๆที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศสามารถเติบโตและแข็งแกร่งได้มากยิ่งขึ้นในภาวะโลกปัจจุบันหรือไม่ หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะสามารถวางโครงสร้างพื้นฐานเชิงสถาบันที่ เพียงพอเพื่อการลงทุน การผลิต การสร้างความร่วมมือ และธุรกิจให้แก่ประเทศไทยได้หรือไม่

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

เมื่อพิจารณาถึงเค้าโครงของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันคงเป็นไปได้ยากที่จะได้มาซึ่งรัฐบาลที่ตอบสนองต่อความ ต้องการของประชาชนและความท้าทายในศตวรษที่ 21 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้กําหนดให้วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 200 คนซึ่งจะถูกแต่งตั้งโดย “ผู้เชี่ยวชาญ” วุฒิสภาจะมีอํานาจมากยิ่งขึ้นในการยับยั้ง การออกพระราชบัญญัติต่างๆ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีขอบเขตอํานาจในการตัดสินคดีที่มากยิ่งขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะ มีอํานาจในการไต่สวนและวินิจฉัยคดี เมื่อมีบุคคลใดก็ตามได้ดําเนินการร้องเรียน โดยไม่ได้มีเงื่อนไขที่ว่ากรณีดัง กล่าวต้องเป็นข้อพิพาทจริงที่องค์กรทางการเมืองหรือศาลอื่นได้ดําเนินการยื่นเรื่องแก่ศาลรัฐธรรมนูญ

หากพวกเราคิดว่าหลักการแบ่งแยกอํานาจอธิปไตย คือรากฐานเพื่อการสร้างความเจริญเติบโตและเสถียรภาพของประเทศ หัวข้อสําคัญที่พวกเราต้องพิจารณาคงเป็นเรื่องที่ว่า อํานาจตุลาการจะล่วงล้ำอํานาจนิติบัญญัติและอํานาจบริหารหรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจของประเทศในยุคที่เศรษฐกิจโลกกําลังชะลอตัว ผมหวังว่า คงจะไม่มีการใช้อํานาจตุลาการที่เกินกว่าความจําเป็นอีกในอนาคต กรณีศึกษาในประเทศต่างๆ ได้แสดงให้พวกเราเห็นว่า การใช้อํานาจพิจารณาทบทวนโดยศาล (Judicial Review) โดยไม่ได้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบ อาจกลาย เป็นการใช้อํานาจอย่างไม่เหมาะสมและเป็น “ยุทธวิธีเตะถ่วงงาน” จนสุดท้ายก่อให้เกิดอุปสรรคในการดําเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

ผมเชื่อว่ารากฐานของประเทศในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรือง คือการสร้างความเชื่อถือในประชาคมโลก รัฐธรรมนูญควรยึดหลักนิติธรรมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำ เพื่ออํานวนความสะดวกและเกื้อหนุนให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชนใน ประเทศกับประชาคมโลก การค้าและการลงทุนจะไม่สามารถเจริญงอกงามได้ หากไม่มีหลักนิติธรรม เพราะหลักนิติธรรมคือรากฐานของการสร้างความเชื่อมั่น

ในช่วงแห่งความเปลี่ยนแปลงและระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ประเทศไทยต้องประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองเสีย ใหม่ และสรรหาวิถีทางที่สมเหตุสมผลเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและพลวัตรทางเศรษฐกิจ ผมเพียงแค่นํา เสนอถึงวิธีคิดและพิจารณาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน

"ทักษิณ" ติง ร่างฯรัฐธรรมนูญ ไม่เอื้อเศรษฐกิจ เปิดช่องอำนาจแทรกแซงฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ


10 มีนาคม 2559 สถาบันนโยบายโลก (World Policy Institute) ได้เชิญ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เข้าร่วมเสวนา "Thaksin Shinawatra in Private Discussion" ที่นครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ เมื่อเวลา 05.20น. ที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย

ดร.ทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า ร่างฯรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของไทย จะไม่สามารถวางโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งเสริมให้มีการลงทุน การผลิต และความร่วมมือระหว่างไทยกับต่างประเทศได้ เนื่องจากอาจเปิดช่องให้มีการแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร และ นิติบัญญัติ โดยอำนาจพิเศษของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และฝ่ายตุลาการ


ดร.ทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า “เมื่อพิจารณาถึงเค้าโครงของร่างฯรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันคงเป็นไปได้ยากที่จะได้มาซึ่งรัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและความท้าทายในศตวรษที่ 21 ในร่างฯรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ถูกแต่งตั้งจำนวน 200 คน วุฒิสภาจะมีอำนาจมากยิ่งขึ้นในการยับยั้งการออกพระราชบัญญัติต่างๆ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีขอบเขตอำนาจในการตัดสินคดีที่มากยิ่งขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยคดี เมื่อมีบุคคลใดก็ตามได้ดำเนินการร้องเรียน”  


“หากพวกเราคิดว่าหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย คือ รากฐานเพื่อการสร้างความเจริญเติบโตและเสถียรภาพของประเทศ หัวข้อสำคัญที่พวกเราต้องพิจารณาคงเป็นเรื่องที่ว่า อำนาจตุลาการจะล่วงล้ำอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารหรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจของประเทศในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว ผมหวังว่าคงจะไม่มีการใช้อำนาจตุลาการที่เกินกว่าความจำเป็นอีกในอนาคต กรณีศึกษาในประเทศต่างๆ ได้แสดงให้พวกเราเห็นว่า การใช้อำนาจพิจารณาทบทวนโดยศาล โดยไม่ได้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบ อาจกลายเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ เหมาะสมและเป็น ยุทธวิธีเตะถ่วงงาน จนสุดท้ายก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ” ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าว


วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

"เพื่อไทย" แถลงการณ์ แนะรัฐ เสนอสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ยุติปัญหาสงฆ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง การปฏิบัติของรัฐบาล และ คสช. ต่อพระสงฆ์ เช้านี้ โดยมีเนื้อหาดังนี้


แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่อง การปฏิบัติของรัฐบาล และ คสช. ต่อพระสงฆ์ 

ตามที่ปรากฏเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลจากการใช้อำนาจของ คสช.และรัฐบาลอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่ คสช. ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยอาศัยประกาศและคำสั่งของ คสช.เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล หลายคนต้องถูกทหารควบคุมตัวเข้าค่ายโดยอ้างว่าเพื่อปรับทัศนคติ หลายคนต้องถูกดำเนินคดีเพียงแค่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร หรือเพื่อตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล ทั้งที่กรณีดังกล่าวเป็นสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานของประชาชน

การละเมิดสิทธิมนุษยชนนับวันจะรุนแรงขึ้น ไม่เฉพาะแค่เพียงกับประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังก้าวล่วงไปดำเนินการกับพระสงฆ์ ซึ่งเป็นตัวแทนในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเหตุการณ์  ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ที่พระสงฆ์จำนวนหนึ่งจะเดินทางเข้าไปยังพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เพื่อทำกิจกรรมของสงฆ์แต่ถูกทหารเข้าขัดขวาง นำรถฮัมวี่ ซึ่งใช้ในราชการทหารมาขวางกั้นปิดไม่ให้พระสงฆ์ได้เข้าในเขตพื้นที่ทั้งที่เป็นพื้นที่ของสงฆ์ จนเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันระหว่างทหารกับพระสงฆ์ และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมาที่มีพระสงฆ์และประชาชน ในนามเครือข่ายองค์กรชาวพุทธ ได้นัดประชุมเพื่อแถลงท่าทีของเครือข่ายต่อความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เห็นว่ามติของมหาเถรสมาคม (มส.) ทำผิดขั้นตอนการเสนอการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยสถานที่ประชุมก็เป็นศูนย์ประชุมของวัดไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใด แต่กลับปรากฏว่าทั้งทหารและตำรวจได้เข้าขัดขวางการดำเนินการดังกล่าวจนการประชุมไม่อาจดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ ทั้งที่ประเด็นความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีความเคลือบแคลงสงสัยถึงอำนาจหน้าที่และความถูกต้องในข้อกฎหมาย ซึ่งพระสงฆ์ และประชาชนสมควรที่จะได้รับสิทธิในการแสดงออกซึ่งข้อท้วงติงได้

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การนำปฏิบัติการทางทหารมาใช้กับพระสงฆ์ดังกล่าวนอกจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังถือเป็นการไม่ให้ความเคารพในกิจกรรมของพระสงฆ์ในบวรพระพุทธศาสนาที่ต้องการแสดงออกในเรื่องที่อยู่ในกิจของสงฆ์ ซึ่งไม่ได้เคลื่อนไหวในทางการเมืองแต่อย่างใด ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

เนื่องจากศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของคนไทย และสถาบันทางศาสนาเป็นที่เคารพรักและศรัทธาของประชาชนไทยทุกส่วน ซึ่งนอกจากจะต้องให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองแล้ว รัฐบาลและ คสช. ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมใดๆของพระสงฆ์ตราบใดที่การแสดงออกดังกล่าวไม่ได้เป็นการผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง สิ่งใดที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ก็ควรรีบดำเนินการ เช่นการเสนอสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ไม่ควรปล่อยให้เกิดความขัดแย้งในสังคมต่อไป

พรรคเพื่อไทยตระหนักว่า ในสังคมเผด็จการดังที่เป็นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้นั้น แม้ผู้มีอำนาจจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่การใช้อำนาจก็ควรคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนด้วย การปฏิเสธไม่ยอมรับสิทธิเสรีภาพของฆราวาส ซึ่งได้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน และปัจจุบันได้มีการใช้อำนาจดังกล่าวก้าวล่วงไปถึงพระสงฆ์อันเป็นตัวแทนความเคารพนับถือและความศรัทธาของพี่น้องประชาชน นับได้ว่าประเทศนี้กำลังตกอยู่ในความเสื่อมถอยอย่างถึงที่สุด

พรรคเพื่อไทย
9 มีนาคม 2559