วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565

"เผ่าภูมิ" เตือนรัฐ งบปี '66 ส่อวิกฤต ตึงตัว-ล้าหลัง-ถูกตีกรอบ


“ดร.เผ่าภูมิ” ชงแนวคิด F.U.N.D. ประเมินงบปี '66 ชี้สอบตก ส่อวิกฤต ตึงตัวสุดขีด


ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่ประชุม ครม. เห็นชอบรายละเอียดงบปี '66 ว่า ขอเสนอแนวคิด F.U.N.D. เพื่อประเมินงบประมาณ ซึ่งจะพบว่างบปี '66 นั้นสอบตก ตีบตัน ตึงตัว และส่อวิกฤต ดังนี้


1. “Flexible” หรือ งบประมาณต้องยืดหยุ่น เผื่อเหลือเผื่อขาด แต่งบปี 66 กลับตึงตัวมาก ขาดดุลสูงชนเพดาน สำหรับงบปี '66 พ.ร.บ.หนี้สาธารณะให้ขาดดุลได้ 7.17 แสนล้านบาท งบปี '66 ก็ตั้งขาดดุลถึง 6.95 แสนล้านบาท นั่นคือเหลือช่องว่างเพียง 22,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งตึงตัวมาก หากเก็บภาษีไม่เข้าเป้าก็ชนเพดาน ถึงทางตันทันที นอกจากนั้น งบลงทุนก็ยังต่ำสุดติดพื้น ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง งบลงทุนต้องไม่น้อยกว่างบขาดดุล งบปี 66 ตั้งงบลงทุน 6.95 แสนล้านบาท เท่ากับงบขาดดุลที่ 6.95 แสนล้านบาทพอดี คือต่ำสุดเท่าที่เป็นไปได้ ถ้าเก็บภาษีไม่เข้าเป้าแม้แต่บาทเดียว ก็จะขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังทันที


2. “Up to Date” หรือ งบประมาณที่ทันต่อสถานการณ์ เข้ากับสภาวะปัจจุบัน งบ ปี'66 ถูกตั้งไว้ที่ 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งน้อยกว่างบ 64 ซึ่งอยู่ที่ 3.285 ล้านบาท ที่เป็นช่วงก่อนโควิด งบในช่วงวิกฤตกลับน้อยกว่างบในช่วงปกติ ทั้งๆที่ประเทศเสียหายและต้องซ่อมครั้งใหญ่จากโควิด แต่งบที่มีกลับลดลง เกิดจากการบริหารผิดพลาด ศก.หดตัว  รายได้จากภาษีทรุดหนัก จึงตั้งงบประมาณได้น้อย นอกจากนั้น งบ 66 ถูกตั้งภายใต้สมมติฐานว่า GDP จะโตที่ 3.7% ซึ่งตัวเลขเมื่อปลายปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีเรื่องราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และโอไมครอนที่ยืดเยื้อ ตัวเลข GDP นี้จึงไม่เป็นปัจจุบัน เมื่อ GDP น้อยกว่าคาด รายได้ภาษีก็จะต่ำกว่าคาด นั่นคือขาดดุลเพิ่ม ปัญหาคือขาดดุลเพิ่มไม่ได้แล้ว จะชนเพดานอยู่แล้ว และยังมีเรื่องงบลงทุนน้อยกว่าที่ขาดดุลไม่ได้อีก 


3. “No Boundary” หรืองบประมาณต้องไร้พรมแดน ไม่ถูกตีกรอบ ซึ่งประเด็นนี้งบ 66 ก็เป็นปัญหาอีก เพราะกรอบยุทธศาสตร์งบประมาณถูกตีกรอบไว้ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รธน.เขียนไว้ว่าต้องปฏิบัติตาม ไม่ทำก็ผิด ทั้งๆที่ในวันที่เขียนยุทธศาสตร์ชาติ โลกยังไม่รู้จักคำว่าโควิด ยังไม่ได้คิดเผื่อว่างบประมาณต้องออกแบบอย่างไรในวันที่ประเทศเสียหายหนัก งบ 66 จึงเป็นงบที่ถูกตีกรอบ เดินตามโลกไม่ทัน


4. “Debt Concern” หรือ งบที่รับผิดชอบต่อความมั่นคงทางการคลัง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขาดดุลลดลงต่อเนื่องทั้ง 3 ปี จาก 4 แสนล้าน เป็น 3 แสนล้าน และ 2.5 แสนล้าน และจะเป็นงบประมาณสมดุลในปี 60 แต่จากแผนการคลังระยะปานกลางของรัฐบาลปัจจุบันตั้งเป้าขาดดุลพุ่งขึ้นทุกปีจากนี้ ปี 66 ขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท ปี 67 ขาดดุล 7.1 แสนล้านบาท ปี 68 ขาดดุล 7.23 แสนล้านบาท และปี 69 ขาดดุล 7.36 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นภาพที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง และนี่ยังไม่นับการก่อหนี้จากเงินกู้นอกงบประมาณของรัฐบาลปัจจุบันอีกด้วย


พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า งบปี '66 นั้นสอบตกทั้ง 4 เกณฑ์ ตึงตัว ล้าหลัง ถูกตีกรอบ และไม่รับผิดชอบต่อภาระทางการคลังของประเทศ

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2565

"ทวี" รับหนังสือ ระงับการอนุญาตเดินหน้าเหมืองทองคำครั้งใหม่

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้าน รับหนังสือจาก "เครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์" เพื่อให้นำข้อมูลความเดือดร้อน ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เบรกรัฐเปิดเหมืองทองอัครารอบใหม่เหตุทำสุขภาพ วิถีชีวิต ประชาชนพัง ไร้การดูแลเยียวยาจากภาครัฐ ณ พรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า "ความอยู่รอดเป็นชีวิตสำคัญกว่ากฎหมาย แต่นี่ความอยู่รอดของชีวิตพี่น้องไปแลกกับอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมมีคำสุดท้ายว่ากรรม คือคนที่ได้รับกรรมคือพวกเราชาวบ้าน ที่สำคัญก็คือเราได้ผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย แม้แต่ประเทศของเขา เขายังไม่ทำเลย เพราะเขารักคนในประเทศเขา ไม่เหมือนกับผู้นำเราไม่จริงใจให้ประชาชน ผมเชื่อว่าทางพรรคฝ่ายค้านเรามีความจริงใจ เราอยากจะนั่งฟังเพราะว่าความยุติธรรมของพี่น้องบางทีไม่ต้องช่วยเหลือก็ได้ แค่ได้เล่าความจริงก็ได้ความยุติธรรมแล้ว แต่การเล่าความจริงของพวกเราเล่าให้รัฐบาล รัฐบาลเขาไม่ฟังพวกเรา แต่จะเรียนว่าทางพรรคฝ่ายค้านทุกคนมีความเข้าใจ ท่านผู้นำฝ่ายค้านหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นผู้เริ่มอภิปรายเรื่องเหมืองทองอัครา พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้นำไปพูดในสภา จากการอภิปรายเรื่องความผิดมันชัดเจน มันทำความผิดชัดเจนอยู่แล้ว แต่เนื่องระบบอาจจะเป็นเผด็จการเชิงรัฐสภาเกินไป แต่อย่างไรก็ตามทุกท่านมาวันนี้ด้วยความเข้าใจ ส่วนตัวพรรคประชาชาติพร้อมที่จะสนับสนุนผู้นำฝ่ายค้านเพื่อจะปกป้องคุ้มครองสุขภาพของพวกเราปกป้องชีวิตของพวกเราให้อยู่อย่างเป็นปกติสุข แล้วถ้าไม่นานเท่าไรจะมีการเลือกตั้ง วันนั้นอาจจะได้เห็น ขอให้พวกเราต่อสู้ต่อไป ขอบคุณมากครับ"


นางสาวพรีมสินี  สินทรธรรมทัช ตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์ พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ ยื่นหนังสือต่อนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยพันตำรวจเอก ทวี  สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อชาติ  นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมรับหนังสือและรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย 


นางสาวพรีมสินี กล่าวว่า ต้องการให้พรรคร่วมฝ่ายค้านนำผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำคิงส์เกตไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบกับการกระทำที่ใช้อำนาจพิเศษปิดเหมืองทองแล้วไม่ยอมต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดในชั้นอนุญาโตตุลาการ แต่กลับยินยอมอย่างง่ายดายให้กลับมาเปิดเหมืองใหม่เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลจะไม่เสียค่าโง่ โดยไม่มีการปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจของคนในพื้นที่ โดยพบว่าหลังจากผู้เชี่ยวชาญเก็บตัวอย่างปัสสาวะ เลือด น้ำและดิน ในช่วงปี 2557 พบว่า ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในพื้นที่รอบเหมือง 401 คนมีโลหะหนักในร่างกายเกินค่าปกติ   และเมื่อตรวจเลือดหลายครั้งก็ยังพบโลหะหนักค่าเกินกว่าปกติเช่นเดิม จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยังไม่มีการชดใช้หรือเยียวยาความเสียหาย และหาทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองแต่อย่างใด 


พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลเพิกถอนการต่ออายุประทานบัตรเหมืองและใบประกอบโลหกรรม รวมถึงระงับการเปิดพื้นที่สัมปทานแปลงใหม่เอาไว้ก่อน เพราะไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยขอให้ดำเนินการดังนี้


1.จัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ (EHIA) 

2.ตรวจสุขภาพของประชาชนโดยรอบพื้นที่อย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนเพื่อประเมินสารพิษและโลหะหนักที่สัมพันธ์กับเหมืองทองก่อนจะอนุญาตให้กลับมาเปิดเหมืองทองใหม่

3.จัดทำพื้นที่แนวกันชนจากผลกระทบต่างๆ โดยเหมืองจะต้อง อยู่ห่างจากชุมชนในรัศมีไม่ต่ำกว่า 5 กิโลเมตร

4.สอบวินัยและดำเนินคดีกับนายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  และข้าราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา 157 และฐานความผิดอื่นๆ ก่อนที่จะอนุญาตประทานบัตรและอื่นๆ 


ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านได้รับปากที่จะนำข้อมูลที่เครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์ เป็นเนื้อหาหลักที่จะนำเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะดำเนินการในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาโดยเร็วที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2565

"ดร.เผ่าภูมิ" หนุนสินเชื่อเศรษฐกิจฐานราก ผุดไอเดียทะเบียนกลางสินทรัพย์ค้ำประกัน

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาธุรกิจขนาดกลาง-ย่อม รายย่อย และธุรกิจรากหญ้า (MSMEs) เข้าไม่ถึงแหล่งทุนว่า

ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจฐานรากไทยคือ “การเข้าไม่ถึงแหล่งทุน” สภาพคล่องล้นแต่ไปไม่ถึงธุรกิจรายย่อย คนรวยเก็บเงิน ธนาคารกอดสินเชื่อ ธุรกิจรายย่อยหมดลมหายใจ 

ต้นตอสำคัญ คือ ธนาคารต้องการหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เป็น “อสังหาริมทรัพย์” เช่น ที่ดิน โรงงาน ตึกแถว แต่ ธุรกิจรายย่อยมีแต่สินทรัพย์ที่เป็น “สังหาริมทรัพย์” เช่น สินค้าการเกษตร คำสั่งซื้อ สิ่งมีชีวิตจากปศุสัตว์ อุปกรณ์เครื่องจักร สิ่งที่แบงค์ต้องการ รายย่อยไม่มี สิ่งที่รายย่อยมี แบงค์ก็ไม่รับ จึงเกิด Deadlock ของระบบสินเชื่อ เมื่อธุรกิจรายย่อยเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เงินในมือไม่มี โอกาสโตแทบเป็นไปไม่ได้ และบางส่วนต้องหันไปพึ่งสินเชื่อนอกระบบ 

ผมมองไปที่การจัดตั้ง “ทะเบียนกลางสินทรัพย์ค้ำประกัน”  หรือ Collateral Registry เป็นคำตอบสำคัญที่จะเข้าแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งสำเร็จอย่างมากใน จีน ลาตินอเมริกา แอฟริกา และประเทศกำลังพัฒนาที่มี MSMEs เป็นส่วนประกอบสูง

“ทะเบียนกลางสินทรัพย์ค้ำประกัน” จะเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางขนาดใหญ่ของรัฐสำหรับการขึ้นทะเบียนสินทรัพย์ค้ำประกันทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ทั้งประเทศ ทำให้ผู้ขอกู้และผู้ให้กู้มาเจอกันบนแพลตฟอร์มกลาง โดยผู้ขอกู้ขึ้นทะเบียนสินทรัพย์ที่จะใช้ค้ำประกัน ซึ่งรวมถึงสังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าการเกษตร คำสั่งซื้อ สิทธิเรียกร้องทางการเงิน สินทรัพย์ทางปัญญา สิ่งมีชีวิตจากปศุสัตว์ เครื่องจักรอุปกรณ์ และผู้ให้กู้ซึ่งประกอบด้วยแบงค์ นอนแบงค์ ผู้ให้กู้เอกชน สามารถคัดเลือกทำสัญญาให้กู้จากสินทรัพย์ค้ำประกันที่ผู้ขอกู้ลงทะเบียนไว้ โดยรองรับด้วยกฎหมายธุรกรรมในการยึดครองสินทรัพย์ค้ำประกันที่ได้ลงทะเบียนไว้หากผู้กู้ผิดสัญญา 

ทะเบียนกลางนี้ยังช่วยธุรกิจรายย่อยที่เครดิตไม่ดี ไม่มีความสัมพันธ์กับแบงค์ ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ และยิ่งมีการแข่งขันของผู้ให้กู้ในแพลตฟอร์มมากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงดอกเบี้ยที่ต่ำลง เป็นประโยชน์ต่อผู้กู้ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบสินทรัพย์ค้ำประกันว่าได้ผูกกับสินเชื่ออื่นไปแล้วหรือไม่ และปลายทางจะเป็นเครื่องมือต่อยอดสู่การใช้ Blockchain ในการทำ Peer-to-peer (P2P) lending ต่อไป

“ทะเบียนกลางสินทรัพย์ค้ำประกัน” จึงทำหน้าที่เหมือน “ตลาดกลางสินทรัพย์ค้ำประกัน” ของประเทศ เพื่อปลดล็อคปัญหาด้านสินเชื่อของไทย โดยเฉพาะ MSMEs ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญมากของเศรษฐกิจไทย กุญแจสำคัญคือ Free Flow of Credit หรือ กระแสสินเชื่อที่คล่องตัว เพื่อให้ MSMEs ไทยปลดปล่อยศักยภาพออกมาให้ได้

"ประชาชาติ" หนุนวาระสตรีสากล เคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณจูฟะห์-วรลักษณ์ ศรีสอาด เหรัญญิกพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

วันสตรีสากลเป็นการเฉลิมฉลองในวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีทั่วโลก และเป็นจุดสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี เพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในสิทธิตามกฎหมาย ให้ความช่วยเหลือสตรีและผู้ด้อยโอกาสที่ถูกกระทำความรุนแรง รวมทั้งพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำแก่สตรี เพื่อให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมากขึ้น

ดิฉัน มีความมุ่งหวังจะทำให้สตรีทุกกลุ่มได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง มีโอกาสและสามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้การเลือกปฏิบัติต่อสตรีได้รับการขจัดให้หมดไป หวังว่า ทุกภาคส่วนในสังคมจะร่วมกันปรับเปลี่ยนเจตคติให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพในศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ และสิทธิสตรี

ขอสนับสนุนให้พลังสตรีเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศสืบต่อไปค่ะ


"ประชาชาติ" ห่วงปัญหาเงินเฟ้อ กระทบเกษตรกร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ และที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน ปี 2565 ล่าสุด ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2565 ชะลอลง โดยการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนปรับลดลงจากความกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลงจากการระงับการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go 

ขณะที่การส่งออกสินค้าปรับลดลง และด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและอาหารสด เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมยังเปราะบาง แสดงถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย สะท้อนความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน เพราะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ส่งต่อเป็นลูกโซ่ไปยังผู้บริโภคปลายทางที่ราคาผักผลไม้และอาหารที่เกี่ยวกับภาคการเกษตรสูงขึ้นตามด้วย 

ดังนั้นจึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ หลีกทางให้กับคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารประเทศแทนได้แล้ว ก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจจะลุกลาม ส่วนแนวทางของพรรคประชาชาตินั้น มุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกษตรรู้จักการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภัณฑ์ทดแทนสารพิษ โดยจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรด้านต้นทุนการผลิตได้ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อให้ประชาชนและประเทศชาติ มีสุขภาพดีและมีสิ่งแวดล้อมปลอดภัยยั่งยืนครับ


วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2565

"วัฒนรักษ์" แนะรัฐแก้วิกฤติเศรษฐกิจ เข้าใจธุรกิจโลกยุคใหม่-เทคโนโลยี

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษ และผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยประสบกับปัญหาเศรษฐกิจหลายปีติดต่อกัน จนทำให้ธุรกิจ FinTech ส่วนใหญ่ไปไม่รอด แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานภาครัฐได้จัดสรรงบลงทุนสนับสนุน (Grant Base) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนั้นเป็นเพราะโครงการที่แต่ละกระทรวงจัดขึ้นนั้นมีแต่บริษัท FinTech ที่ตามล่ารางวัล เจ้าประจำเดิมๆ  ซึ่งหากจะให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงและยั่งยืนนั้นรัฐบาลควรให้การสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อย Soft Loan กับบริษัทที่มีศักยภาพ แต่ขาดสภาพคล่องในช่วงนี้ การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ (Regulation) ที่ภาครัฐกำกับดูแลควรจะให้ทันสมัยและตอบสนองกับความต้องการในยุคปัจจุบัน อาทิเช่น กฎหมายด้านภาษีคริปโตฯ ที่มีการจัดเก็บเป็นจำนวนมากส่งผลทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยน้อยลง ซึ่งจะผลักดันให้คนไทยส่วนใหญ่หนีไปลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้นรัฐจึงควรที่จะสนับสนุนให้คนไทยและหน่วยงานภาครัฐหันมาใช้ Platform ของคนไทย เพื่อเป็นพื้นฐานในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยเรา

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรแก้วิกฤตเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี การออกแบบองค์กร (Organization Design) โดยกำหนดรูปแบบ โครงสร้าง และบทบาทของหน่วยงานภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของโลกในยุคปัจจุบันและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะโลกในยุคนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นายกฯ ที่ดี ควรหาเงินเข้าประเทศ หาคนเก่งจากหลากหลายอาชีพมาช่วยกันพัฒนา และหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคนไทย เพราะในยุควิกฤตเศรษฐกิจอย่างทุกวันนี้ทำให้ประเทศไทยขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ทำให้นักลงทุนต่างประเทศไม่กล้าเข้ามาลงทุนในบ้านเรา และคนไทยที่มีโอกาสก็เอาเงินไปลงทุนในต่างประเทศ  ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ในยุค Web 3.0 Blockchain และยุค Meta หากประเทศไทยอยากที่จะหลุดออกจากวงจรของประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้ได้นั้น  เราจำต้องเข้าใจธุรกิจของโลกใหม่ พร้อมทั้งควรมีผู้นำที่เข้าใจและพร้อมที่จะปรับตัวเองให้ทันกับยุคสมัยอยู่เสมอ