วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"ดร.ประเสริฐ" แนะตรวจโควิดเชิงรุก ถามรัฐ "เราจะได้ฉีดวัคซีนเดือนไหน?"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

เรื่องเร่งด่วนในการรับมือกับ Covid19 คือ การให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีน ได้อย่างทั่วถึง พร้อมๆกับการตรวจคัดกรองเชิงรุก

“เราจะได้ฉีดวัคซีนเดือนไหน?” คำถามนี้เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าดูในยุโรปที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดที่มีผู้ติดเชื้อวันละมากกว่า 10,000คนนั้น เขาได้มีการขึ้นทะเบียนหรือการรับรองวัคซีนในสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข โดยเร่งระบบการรับรองแล้วดำเนินการการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งราว 10 ประเทศได้เริ่มฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 5 ล้านโดส และในเดือนมกราคมปี64 ก็ะมีการฉีดวัคซีนอีกหลายสิบเท่า คาดว่าจะเป็นร้อยล้านโดส

แสดงให้เห็นการบริหารจัดการที่ เราไม่จำเป็นจะต้องขึ้นกับวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพราะในปัจจุบันมีวัคซีนที่ผลิตจาก ยุโรป อเมริกา จีน ฯลฯ ให้เลือก ซึ่งรัฐบาลควรรีบจัดหามาให้เพียงพอและกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรวัคซีน เช่น จัดสรรเร่งด่วนให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ และ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

และ เมื่อสถานการณ์การระบาดขยายตัวออกไป ความต้องการวัคซีนก็จะมากขึ้นตามไปด้วย จึงควรเปิดให้ภาคเอกชนมาสนับสนุนในการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ อย่างที่สิงคโปร์ดำเนินการ เพื่อให้มีปริมาณวัคซีนเพียงพอและทั่วถึง

นอกจากนี้ การใช้มาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก คือ มิใช่การรอผู้ที่เจ็บป่วยอาการเริ่มหนักหรือหนักแล้วมาตรวจเชื้อที่โรงพยาบาล ซึ่งต้องมาวินิจฉัยและติดตามสอบสวนโรคผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากโดยเฉพาะในภาวะที่มีผู้ติดเชื้อกระจายตัวไปในหลายพื้นที่

การตรวจคัดกรอง จึงควรรุกเข้าไปที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อด้วย เพื่อคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ แล้วรักษาดูแลผู้ที่ติดเชื้อให้หาย ในส่วนผู้ที่ไม่ติดเชื้อจะได้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติต่อได้ โดยมีการดูแลพื้นที่นั้นๆ อย่างเข้มงวด เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ.

วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"โฆษกเพื่อไทย" อัดรัฐไร้ประสิทธิภาพ หละหลวมปล่อยโควิดระบาด

ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค เพื่อไทย กล่าวถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่า รัฐบาลต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ซึ่งในวิกฤติมีโอกาสเสมอ รัฐบาลควรมีมาตรการในการปรับรื้อระบบแรงงานต่างด้าวใหม่ทั้งระบบ และควรผ่อนปรนมาตรการทางกฎหมาย เพื่อนำเอาแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่แสดงตน มาตรวจคัดกรองโรค เพื่อสามารถจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น อยากเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ จะเห็นได้ว่าเกิดจากการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่หละหลวม ปล่อยให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย หรือแม้แต่การแพร่ระบาดในบ่อนการพนันที่จังหวัดระยอง ที่มีการลักลอบเล่นการพนัน สะท้อนให้เห็นถึงความหย่อนประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของรัฐบาล ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมและปราบปรามเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธาน ศบค. ซึ่งควรมีความรับผิดชอบโดยตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปัจจุบันเราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นตัวจำกัดและควบคุมโรค แต่อำนาจในการสั่งการต่างๆ ของรัฐบาล ดูเหมือนแยกส่วนและไร้ประสิทธิภาพ รัฐรวมศูนย์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นเพียงโครงสร้าง แต่การแบ่งหน้าที่ยังมีปัญหาอยู่ และยังไม่มีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน เราต้องอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปอีกอย่างน้อยประมาณ 2 ปี รัฐบาลต้องหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ที่นอกเหนือไปจากมาตรการแจกเงินเท่านั้น ซึ่งในปี 2564 เราอยากเห็นความหวังและโอกาสที่รัฐบาลจะเสริมสร้างและพัฒนาแรงงานใหม่ๆ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในตลาดการค้าใหม่ๆ เพื่อให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้

"รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย" โต้รัฐ แก้โควิดผิดพลาด-มาตรการล้มเหลว

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม วอนนักการเมืองอย่าฉวยโอกาสใช้โควิด-19 เล่นเกมการเมือง ว่า ใจคอพล.อ.ประยุทธ์ จะโยนบาปคนอื่นทุกเรื่องเลยหรือ นอกจากโทษรัฐบาลก่อน โทษข้าราชการ โทษประชาชน โทษสื่อมวลชน โทษนักการเมือง เคยคิดจะแอ่นอกขอโทษประชาชนอย่างจริงใจบ้างหรือไม่? จากปัญหาการแพร่ระบาดรอบแรกมาถึงระลอกใหม่ นอกจากการปั้นคำกลบเกลื่อนความผิดพลาดที่รัฐบาลการ์ดตกเสียเอง มีการแก้ไขเชิงโครงสร้างอะไรที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ รัฐบาลล็อคดาวน์ผิดพลาด มาตรการแทบทุกอย่างล้มเหลว เยียวยายังล้มเหลว ไหนรัฐบาลบอกว่าโควิดกระจอก แต่รัฐบาลแพ้ทางโควิด แก้ปัญหาล่าช้า ตามแก้ไม่ทันปัญหาตลอดเวลา พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานไม่สมศักดิ์ศรี และสวนทางกับโพลที่ยกย่องเกินจริง สวนทางกับการประเมินจากประชาชน

"คนดีชอบแก้ไข แต่คนที่เอาแต่โทษคนอื่น จะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร กว่าจะรู้ว่าโควิดไม่กระจอก บางทีประชาชนอาจจะออกมาไล่จนอยู่ไม่ได้" นายอนุสรณ์ กล่าว 

"เพื่อไทย" ห่วงภาคธุรกิจกระทบโควิด แนะรัฐเลิกเอื้อเฉพาะทุนใหญ่

“เพื่อไทย” ห่วง โควิดระบาดทำธุรกิจ SMEs เจ๊งอีกมาก เตือน 30 ธันวาคม ไทยถูกตัดจีเอสพี ครั้งที่ 2 และอาจโดนเรื่องอื่นอีก แนะ “ประยุทธ์” ช่วย SMEs จริงจัง เลิกเอื้อเฉพาะทุนใหญ่ 

นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส. หนองคาย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิดครั้งใหม่ที่เกิดจากความล้มเหลวของฝ่ายความมั่นคง ที่ปล่อยให้มีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเถื่อนเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของคนในชาติทั้งที่รู้กันว่าเมียนมาร์มีผู้ติดเชื้อไวรัสเป็นจำนวนมาก โดยการระบาดของไวรัสได้เริ่มขยายในวงกว้าง และเริ่มทำความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

ทั้งนี้คาดกันว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 2 แสนล้านบาทแล้วและอาจจะเพิ่มขึ้นอีก โดยธุรกิจ SMEs จะได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยจะมีธุรกิจ SMEs ปิดตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ด้านอาหารทะเลจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะคนจำนวนมากจะไม่กล้าทานอาหารทะเลที่เชื่อว่ามีการใช้แรงงานต่างด้าวที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด และการที่รัฐบาลส่งอธิบดีกรมประมงออกมาทานกุ้งโชว์ เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารทะแลที่ผ่านการต้มสุกแล้ว จะไม่แพร่เชื้อ แต่แทนที่จะใช้กุ้งจากจังหวัดสมุทรสาคร กลับใช้กุ้งที่มาจากบริษัทใหญ่โดยมีกล่องโชว์ยี่ห้ออย่างเห็นได้ชัด ยิ่งตอกย้ำปัญหาการเอื้อนายทุนใหญ่มากกว่าธุรกิจรายย่อย ทั้งๆที่มีพ่อค้าขายกุ้งในจังหวัดสระแก้วต้องฆ่าตัวตายเพราะขายกุ้งไม่ได้ และหากรัฐบาลยังไม่อาจสร้างความมั่นใจขนาดพลเอกประยุทธ์ไม่ยอมกินกุ้งเอง แต่กลับส่งนายอนุชา นาคาศัย รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปกินกุ้งแทน ยิ่งสร้างความคลางแคลงใจให้กับประชาชน นี่เฉพาะธุรกิจอาหารทะเลเท่านั้น และธุรกิจ SMEsอื่นๆก็ได้ผลกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะ SMEs ธุรกิจท่องเที่ยวที่น่าจะโดนผลกระทบซ้ำเติมเพิ่มขึ้นจากเดิมขึ้นไปอีก 

นอกจากนี้ ในวันที่ 30 ธันวาคมที่จะถึงนี้จะถึงกำหนดวันที่สหรัฐตัดจีเอสพีไทยเป็นครั้งที่ 2 ในสินค้า 231 รายการ มูลค่ากว่า 25,433 ล้านบาท หลังจากตัดครั้งแรก จำนวน 531 รายการ มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท มีผลวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างสหรัฐกับไทย และจะส่งผลให้การส่งออกไทยที่ติดลบและย่ำแย่อยู่แล้วย่ำแย่มากขึ้นไปอีก อีกทั้งวุฒิสภาสหรัฐยังได้ส่งหนังสือท้วงติงไทยในเรื่องการต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบ ซึ่งไทยอาจจะโดนมาตรการด้านอื่นซ้ำเติมอีก อย่างเช่นข้อหาการปั่นค่าเงินบาท ทั้งที่ความจริงคือค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากทั้งที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ติดลบหนักและการส่งออกก็ติดลบ แต่กลับโดนข้อหานี้ แสดงว่าสหรัฐต้องการแสดงความไม่พอใจกับรัฐบาลไทยใช่หรือไม่ ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงความคิดและหลักปฏิบัติ ก็น่าเป็นห่วงว่าประเทศไทยอาจจะโดนมาตรการลงโทษอย่างอื่นเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับ SMEs ส่งออกของไทยอย่างมาก เพราะทุกวันนี้ SMEs ส่งออก ก็แย่กันอยู่แล้วจากปริมาณการส่งออกที่ลดลงแถมค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่ามาก 

ในภาวะผันผวนนี้ พลเอกประยุทธ์จะต้องตั้งหลักคิดให้ดี เพราะหากยังบริหารจัดการไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกหรือฝืนกระแสโลก เศรษฐกิจไทยที่แย่อยู่แล้วจะไม่ฟื้น อีกทั้งธุรกิจ SMEs จะได้รับผลกระทบมากสุด อยากเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์มาสนใจช่วยเหลือธุรกิจ SMEs มากกว่าที่จะคิดข่วยเจ้าสัวอย่างเดียว เพราะหาก SMEs เจ๊งและปิดกิจการกันมาก จะเกิดการว่างงานมากและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้ยากหรือไม่ฟื้นเลย

"ภัทร ภมรมนตรี" ยืนยันไม่ได้ติดโควิด

"ภัทร ภมรมนตรี" เผยผลตรวจ ยืนยัน ไม่ติดเชื้อโควิด-19 หลังร่วมประชุม กมธ.สภาฯ ใกล้ชิดบุคคลต้องสงสัยติด"โควิด" ส่วนผลตรวจผู้ร่วมประชุมทั้งหมด ออกวันนี้

นายภัทร ภมรมนตรี อนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ คาสิโนออนไลน์ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบซึ่งผมว่าในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการชุดดังกล่าวมีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และนั่งใกล้ชิดกับบุคคลที่ ปรากฏเป็นข่าว 

ดังนั้น เพื่อความสบายใจ จึงได้เดินทางไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่โรงพยาบาลรามคำแหง ซึ่งผลที่ออกมา "ไม่พบการติดเชื้อไวรัสโควิค-19" จึงขออนุญาตประชาสัมพันธ์เพื่อให้ เกิดความสบายใจ

ทั้งนี้ ผลตรวจของบุคคลที่เข้าร่วมประชุม และผู้ ที่ปรากฏตามข่าวว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีความชัดเจนในวันนี้ ซึ่งนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานการประชุม ย้ำว่าไม่ต้องการให้เกิดความตระหนก เพราะไทม์ไลน์ ของบุคคลดังกล่าวยังไม่จัดเจน ซึ่งหากมีผลตรวจออกจึงจะประเมินได้ว่าได้รับเชื้อจากที่ใดและติดมาจากบุคคลใด 

สำหรับการประชุมในวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 30 คน ซึ่งได้กำชับ ให้ทุกคนไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 พร้อมแยกกักตัว 14 วันและดูอาการของตนเองอย่างใกล้ชิด 





วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"ทวี" แนะรัฐทบทวนกฎหมายห้ามทำแท้ง

“ทวี สอดส่อง” ส.ส.ประชาชาติ ระบุกฎหมายห้ามทำแท้งเขียนไว้ตั้งแต่สมัย ร.1 ใช้เรื่อยมาจนปัจจุบัน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับมิได้  ถ้าไม่แก้ไขจะทำให้เกิดการทำแท้งเสรี

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้อภิปรายในญัตติพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา

พันตำรวจเอก ทวี ได้อภิปรายว่า เรื่องการทำแท้ง ต้องยอมรับว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อประมาณ 216 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2347) มีปรากฏหลักฐานจากสภาผู้แทนราษฎร จนต่อมาได้บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มาตรา 301 ที่บัญญัติว่า ‘หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี’ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ว่ามาตรา 301 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ที่บัญญัติว่า ‘บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย’ โดยให้เวลาไปแก้ไขภายใน 360 วัน ซึ่งจะครบประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังจากนั้นมาตรา 301 สิ้นผลไป เพราะขัดรัฐธรรมนูญ หากไม่แก้ไขกฏหมายจะทำให้ประเทศไทยทำแท้งได้เสรี ซึ่งเหลือเวลาอีก 50 วัน สืบเนื่องจากเป็นการต่อสู้ของนางสาวศรีสมัย เชื้อชาติ ได้ต่อสู้เพราะถูกตำรวจ สภ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จับกุม จากการที่ตนเป็นแพทย์แล้วทำแท้งถูกดำเนินคดี จึงต่อสู้คดีว่าข้อหาทำแท้งตามกฏหมายอาญาขัดรัฐธรรมนูญส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยและมีคำวินิจฉัยว่ามาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญได้วางเงื่อนไขว่าต้องเขียนกฎหมายใหม่ภายใน 1 ปี

พันตำรวจเอก กล่าวอีกว่า การทำแท้งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่นับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด หรือนับถือศาสนาอิสลาม ถือว่าการทำแท้งเป็นการกระทำผิดหลักศาสนาและเป็นบาป อย่างไรก็ตามการนำกฎหมายฉบับนี้เข้ามาพิจารณา ไม่ใช่การทำแท้งเสรี แต่หากปล่อยไว้พ้นกำหนดจะไม่มีสภาพบังคับจะเป็นเรื่องการทำแท้งเสรีจึงอยากเรียนให้เข้าใจ นี่ไม่ใช่การทำแท้งเสรีแต่จะต้องแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ตลอดระยะเวลา 216 ปีที่ผ่านมาควรจะต้องมีการทบทวน แต่ไม่เคยมีการทบทวนเลย การเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการลดทอนความเป็นอาชญากรให้ลดลง ในหญิงที่มีความจำเป็นต้องทำแท้งภายในอายุครรภ์ หรือมีบุตรใน 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือน ไม่มีความผิด แต่ถ้าทำแท้งเกินจากตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์จะมีความผิดต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน รัฐบาลได้ฟังความเห็นจากแพทย์เป็นหลัก ในเรื่องของคำว่า ‘อาชญากร’ นั้นเห็นว่าไม่ได้หมายความถึงคนที่กระทำกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดเท่านั้น แต่ให้รวมถึงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้วย ถ้าเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น เพราะกฎหมายไทยในระยะหลังที่ออกโดยคณะรัฐประหารจะเป็นกฎหมายที่ผู้มีอำนาจต้องการจะบังคับยึดครองอำนาจต่อ จึงออกกฏหมายเพื่อบังคับกดทับใช้กับคนไร้อำนาจ ดังนั้นการปฏิรูปกฎหมายอาญาและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องให้เกียรติแก่คุณศรีสมัย เชื้อชาติ ที่ขึ้นมาสู้จนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายอาญาเรื่องการทำแท้งขัดรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจาก 200 กว่าปีมาถึงวันนี้ 

เหตุผลในการทำแท้งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก หากยึดหลักการอยู่รอดเป็นมนุษย์ย่อมสำคัญกว่ากฎหมาย สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลต้องมีความสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามการที่จะบัญญัติกฎหมาย จะต้องเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ในการอยู่ร่วมกันกฎหมายจะต้องชอบด้วยเหตุผลและอาจจะต้องชอบด้วยศีลธรรม เมื่อถึงวาระที่ 2 ต้องให้ความสำคัญกับคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้น เพราะทางรัฐบาลได้เขียนหลักการที่กว้างมาก กรรมาธิการต้องพิจารณาปรับปรุงว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมและประโยชน์จากกฎหมาย เรื่องการมีบุตรนั้นมีความสำคัญ เราจะทำอย่างไรที่จะให้มนุษย์ที่เกิดมาในประเทศนั้นหรือสังคมนั้นเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ จึงอยากเรียนให้เข้าใจว่าการทำแท้งเป็นภยันตรายต่อสังคมหรือไม่? ผู้ทำแท้งเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหาย หรือเป็นผู้กระทำผิดอย่างไร เราต้องยอมรับว่าไม่ได้ยกเลิกการทำแท้ง แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่แก้ไขประเทศไทยจะมีการทำแท้งเสรี และกฏหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องคำนึงถึงภัยอันตรายต่อสังคม มีสัดส่วนที่เหมาะสมไม่ใช่โทษหนักจนกลายเป็นการทารุณกับหญิงที่ประสบปัญหา จะทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฏหมายได้

"จิราพร" เตือนรัฐอย่าอ้างโควิด ยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญ

“จิราพร” เร่งรัฐบาลแก้โควิด19 ระลอกใหม่ ดักคออย่าใช้เป็นข้ออ้างเพื่อยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญ 

นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฯ เปิดเผยว่า หลังจากมีการยุติการประชุมกลางคัน ในวันที่ 17 ธันวาคม 2563 และ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ยังสั่งงดการประชุมกะทันหัน ในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าในสัปดาห์นี้ประธานคณะกรรมาธิการฯ แจ้งว่าจำเป็นต้องงดการประชุมในวันที่ 24-25 ธันวาคม 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งการงดการประชุมติดต่อกันถึง 3 ครั้งอาจกระทบต่อกรอบเวลาการพิจารณาของกรรมาธิการที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 มกราคม 2564 และจะต้องนำรายงานของคณะกรรมาธิการและผลการพิจารณาให้รัฐสภาพิจารณาช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และลงมติวาระที่สามก่อนปิดสมัยประชุมฯ

“การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 นั้นสำคัญ แต่การแก้รัฐธรรมนูญก็ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนที่จะเป็นเครื่องมือในการพาประเทศออกจากวิกฤตโดยเร็วที่สุด จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโควิด19 ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ติดต่อกันหลายเดือน แต่กลับปล่อยปละละเลยการสกัดตรวจตามแนวชายแดน จนเกิดการระบาดของโควิด19 ระลอกใหม่ และกระทบต่อการประชุมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ อย่าทำให้ประชาชนแคลงใจว่ารัฐบาลจงใจใช้โควิด19 เป็นข้ออ้างในการยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญ” นางสาวจิราพร กล่าว


"เผ่าภูมิ" เสนอรัฐ 4 ข้อ เลี่ยงล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

ศูนย์นโยบายเพื่อไทย เสนอ 4 แนวคิด ล็อกดาวน์-คุมโรค อย่างไรให้สมดุล ค้านล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับการล็อกดาวน์และคุมโรคให้สมดุล ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ การล็อกดาวน์ทั้งประเทศนั้นต้องไม่เกิดจากการตัดสินในมิติของความรู้สึก ความกลัว และความตระหนก แต่อยากให้พิจารณาเงื่อนไขการสากลที่ใช้เพื่อตัดสินการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ นั่นคือ 1. ล็อกดาวน์เมื่อจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าระบบสาธารณสุขรับมือไหว นำไปสู่การเสียชีวิตในอัตราเร่ง และ 2. ล็อกดาวน์เมื่อระบบติดตาม สืบสวน ค้นหา นั้นได้ล้มเหลวและไม่สามารถหาทิศทางการกระจายของโรคได้อีกต่อไป ซึ่งทั้ง 2 เงื่อนไขนี้ ปัจจุบันประเทศไทยเราไปไม่ถึง ฉะนั้นอยากให้เรียนรู้บทเรียนจากในอดีตที่ใช้การล็อกดาวน์ทั้งประเทศอย่างไม่สมเหตุสมผล ทำให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศอย่างใหญ่หลวงและเกินความจำเป็นไปมาก

2. หากจะต้องล็อกดาวน์ การล็อกดาวน์เชิงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า โดยเน้นไปที่พื้นที่ก่อกำเนิดโรค พื้นที่การกระจายของโรค แต่ทั้งนี้ถ้าจะล็อกดาวน์ตรงไหน ต้องใช้ความเข้มงวดแบบจริงจัง เพราะต้นทุนของการล็อกดาวน์นั้นสูง มิใช่ล็อกดาวน์ให้ประชาชนทำมาหากินไม่ได้ แต่ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มเสี่ยงไปมาได้อย่างเสรี 

3. การตรวจโรคเชิงรุกกับกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดครั้งนี้ ต้องคิดแยกกันระหว่างปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการต้องค้นหาโรคเร่งด่วน กับปัญหาระยะยาวเรื่องการลักลอบของแรงงานผิดกฎหมาย หากนำสองเรื่องนี้มารวมกันแล้วใช้แนวทางด้านกฎหมายรุนแรงจัดการอย่างเดียวแล้วผลคือ แรงงานต่างด้าวจะหลบหนี กบดานและกระจายตัวไปทั่วประเทศ เพื่อหลบเลี่ยงความผิดด้านกฎหมาย ทั้งนี้ควรแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน โดยการตรวจโรคแรงงานต่างด้าวกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุด โดยการตรวจแบบไม่ระบุตัวตน โดยยึดหลักมนุษยชน หลีกเลี่ยงการขู่จับกุมในช่วงนี้ เพราะจะยิ่งสร้างปัญหาการกระจัดกระจายของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 

4. ประชาชนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ในรอบนี้เกิดจากผู้มีรายได้น้อย ผู้ใช้แรงงานต่างด้าว พ่อค้าแม่ค้าในตลาด รัฐบาลต้องเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตซึ่งการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในช่วงแรก มีผลอย่างมีนัยสำคัญของการระบาดของโรค รัฐบาลต้องเร่งจัดหาและกระจายหน้ากากอนามัยให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หากจัดหาหน้ากากอนามัยให้ประชาชนอย่างพอเพียงแล้ว แนวคิดการบังคับการสวมหน้ากากอนามัยก็สมควรนำมาพิจารณา

วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"ดร.ประเสริฐ" แนะรัฐเร่งจัดหาวัคซีน หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีการขยายตัวของจำนวนผู้ติดเชื้อ Covid19 ซึ่งมีต้นตอมาจากตลาดกุ้ง มหาชัย จนคุณหมอต่างๆให้ความเห็นว่าเป็นการระบาดครั้งใหม่หรือระลอกใหม่นั้น

การตรวจหาเชื้อและมาตรการควบคุมเรื่องแรงงานต่างด้าว ได้ถูกนำมาปฏิบัติในวงกว้าง ซึ่งเป็นการดำเนินการที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อควบคุมสถานการณ์  

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การจัดหาวัคซีนและเร่งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกันให้แก่คนจำนวนมากก็มีความจำเป็นเร่งด่วนไม่แพ้กัน รวมถึงการดูแลราคาสินค้าจำเป็นในการดำรงชีพไม่ให้มีการปรับตัวขึ้นจนกระทบชีวิตของประชาชน. #โควิด19 #COVID19

"ขัตติยา" อัดเจ้าหน้าที่รัฐคอรัปชั่น ปล่อยแรงงานข้ามชาติหลุดเข้ามาแพร่โควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "เดียร์-ขัตติยา สวัสดิผล" เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

“งานนี้ใครเห็นแก่ตัว? ใครควรเป็นคนรับผิดชอบ?”

ข่าวการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมาย นำมาซึ่งการระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่ ทำให้คนไทยต้องกลับมาใช้ชีวิตด้วยความวิตกกังวลและหวาดกลัวกันอีกครั้ง

คำถามคือ การกลับมาระบาดระลอกใหม่นี้ เกิดจากความผิดใคร? แรงงานผิดจริงหรือ? 

เถียงไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติเป็นทุนสำคัญของการประกอบธุรกิจ เมื่อคิดให้ประเทศกลับมามีชีวิต รัฐบาลก็ควรจะอำนวยความสะดวกโดยการออกนโยบายอื่นๆ อย่างสอดคล้องกัน เพื่อให้แรงงานเดินทางเข้ามาได้ มีการตรวจคัดกรอง ลงทะเบียน เพื่อมีข้อมูลตรวจสอบให้พร้อม และการจัดการที่พร้อมรับมือไม่ว่าจะกับการระบาดของโรคหรือด้านประชากร 

เมื่อภาคธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานคนพร้อมเปิด แต่การเรียกแรงงานข้ามชาติกลับเข้ามา การออกใบอนุญาตทำงาน และการบริหารจัดการพื้นที่ตรวจคนเข้าเมืองแถบชายแดนของภาครัฐกลายเป็นเรื่องยุ่งยากและเรื่องมาก รัฐไม่มีนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกให้เลย ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้เรียกว่า 'มาก' สำหรับแรงงานค่าแรงขั้นต่ำ (หรืออาจจะต่ำกว่านั้น) จึงเป็นที่มาของการลักลอบเข้าเมืองแลกกับการจ่ายเงินสินบน ซึ่งอาจจะถูกกว่าและเข้ามาได้จริง มากกว่า (หรือเปล่า?)

พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองก็มี พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ชื่อกฎหมาย) ก็มี แนวทางปฏิบัติในการเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางในพื้นที่จังหวัดชายแดนในช่วงพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็มี ถ้าเรายึดตามหลักกฎหมายและหลักการก็คงดี ใช้บรรทัดฐานเดียวกันทุกสัญชาติ 

รัฐบาลควรออกนโยบายผ่อนปรนเพื่อให้ง่ายแก่นายจ้างในการนำแรงงานข้ามชาติกลับเข้ามาในประเทศไทย เข้มงวดในการตรวจตราการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่ามีการเรียกรับสินบนหรือไม่ อำนวยความสะดวกในการตรวจหาเชื้อโควิดและจัดหาสถานที่กักกันโรคที่รัฐกำหนด

แต่ที่ผ่านมาและในวันนี้...ดูเหมือนจะยึดหลักตามใจฉัน

เมื่อการบังคับใช้กฎหมายไม่มีหลักที่แน่นอน ทำเป็นปิดหูปิดตาไม่ได้ยินได้เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ คอรัปชั่นแทบทุกระดับ การลักลอบเข้ามาของแรงงานข้ามชาติแบบผิดกฎหมายคงไม่ใช่เรื่องแปลก

ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้ามาได้แล้ว นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะเอาผิดอย่างที่สุด แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานบอกว่าอาจจะมีการนิรโทษกรรมให้ เพื่อเขาจะได้ไม่หลบหนีและจูงใจในการนำมาตรวจหาเชื้อโควิด

คำถามคือ ถ้าเราเป็นแรงงานที่ลักลอบเข้ามา เราจะเอาอย่างไรดี?

งานนี้ใครเห็นแก่ตัว? ใครควรเป็นคนรับผิดชอบ? ... กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวล มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลค่ะ

วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"วัฒนรักษ์" แนะ 5 มาตรการแก้ฝุ่น PM2.5

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 6 ปี ที่ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เกิดขึ้นและนับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สังคมอดสงสัยไม่ได้ว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำอะไรอยู่ ทำไมถึงไม่แก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่มีผลต่อสุขภาพโดยตรงกับประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการนโยบาย พรรคเพื่อไทย ณ วันที่ 21 ธ.ค. ได้วิเคราะห์แล้วพบว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดนี้เกี่ยวกับปัญหาฝุ่นพิษยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน และคงเป็นไปได้ยาก จากข้อความของเฟซบุ๊กในนามว่า “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayuth Chan O Cha” ซึ่งได้กล่าวถึงปัญหา PM2.5  ที่ว่า ช่วงนี้ของทุกปีประเทศไทยจะเข้าสู่วังวนปัญหาฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ซึ่งเกิดจากไอเสียรถยนต์ การเผาขยะ เผาเศษวัสดุภาคเกษตรกรรม และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเหล่านี้ เราได้ยินกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นการดำเนินการแก้ไขใดๆ ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และเราคนไทยจะต้องทนกับปัญหานี้ไปอีกนานเท่าไร

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทย มีความเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นกรณีเร่งด่วน เราขอเสนอยุทธวิธีแก้ไขดังนี้

1. แจกหน้ากาก N95 ให้ใช้เพียงพอกับชีวิตประจำวัน ของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็ก เพราะถือเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็ก เพราะคนกลุ่มนี้มีความจำเป็นที่ต้องใช้ และคนจำนวนมากก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้

2. ติดตั้งหอฟอกอากาศที่ได้มาตรฐานตามจุดที่มีค่ามลพิษเกินมาตรฐานและสถานที่มีคนสัญจรจำนวนมาก ซึ่งหอฟอกอากาศที่ได้มาตรฐานนั้น ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นในบริเวณใกล้เคียงได้ทันที

3. ดำเนินการเช่ารถโดยสารประจำทาง 5,000 คัน ที่เป็นรถไฟฟ้า (EV) เพราะปัจจุบัน ขสมก. มีจำนวนสาย 108 เส้นทาง และผู้โดยสารกว่า 3 ล้านคนต่อวัน รถที่มีอยู่จำนวน 3,509 คัน ใช้งานได้จริงเพียง 2,715 คัน ซึ่งไม่เพียงพอกับจำนวนคนที่ใช้ และยังเป็นการเพิ่มมลพิษทางอากาศอีกด้วย เพราะรถโดยส่วนใหญ่เก่า ซึ่งเครื่องยนต์ไม่สมบูรณ์ ขับทั้งวัน จะยิ่งทำให้เพิ่มปริมาณมลพิษให้กับคนกรุงเทพฯ 

4. ส่งเสริมให้คนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษทางอากาศ โดยรัฐบาลควรมีนโยบายไม่เก็บภาษีรถประจำปีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและสร้างที่ชาร์จแบตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศให้ได้ 10,000 จุด ภายในระยะเวลา 3 ปี และปรับลดค่าทางด่วนให้กับรถยนต์ไฟฟ้าในอัตราที่เหมาะสม

5. จัดการโรงงานไฟฟ้าถ่านหินให้หมดจากประเทศไทยภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อลดมลพิษ และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดทุกรูปแบบ ส่งเสริมการลงทุ่นร่วมกับต่างชาติ

คนส่วนใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพราะระบบ Feeder ของเค้าสมบูรณ์ สามารถเดินทางได้สะดวก ซึ่งหากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหามลพิษ และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างจริงจังและชัดเจน แต่ ณ เวลานี้ คนไทยกลับต้องกลับมาพบเจอกับปัญหาโควิด-19 รอบสอง เพราะรัฐบาลบกพร่องการดูแลพื้นที่ด้านพรมแดนหรือไม่ หากรัฐบาลการ์ดตกแบบนี้ จะไปดูแลใครได้ หากพล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจถึงปัญหา และมีความจริงใจแก้ไขเรื่องนี้ คนไทยคงไม่ต้องเผชิญกับ 3 ปัญหาที่น่ากลัว คือ 1.ฝุ่นพิษ PM2.5 2.โควิด-19 และ 3.วิกฤตเศรษฐกิจ และนี่หรือคือของขวัญปีใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มอบให้กับประชาชน

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"พิชัย" ประกาศชัยชนะ เลือกตั้ง อบจ. เชียงใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) เชียงใหม่ แถลงช่วงดึกวันอาทิตย์ (20 ธ.ค.) ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้ง 

นายพิชัย ได้กล่าวขอบคุณคะแนนบริสุทธิ์ของชาวเชียงใหม่ที่เลือกให้มาดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตนเองและทีมงานจะตั้งใจทำงานเพื่อประโยชน์ของชาวเชียงใหม่และจะเร่งผลักดันนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ พร้อมยืนยันว่าเงินงบประมาณพัฒนาจังหวัดมาจากภาษีและจะบริหารให้เป็นประโยชน์กับชาวเชียงใหม่มากที่สุด ทั้งกองทุนธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายย่อย สวนสาธารณะ สนามกีฬา ปัญหาหมอกควัน ทั่งหมดนี้จะเร่งศึกษาและดำเนินการ แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องรอ กกต. ประกาศผลอย่างเป็นทางการก่อน  

วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"โฆษกเพื่อไทย" โต้ถนัดใช้ปากทำงาน แรงงานต่างด้าวทะลัก-รัฐล้มเหลวคุมโควิด

โฆษกเพื่อไทยอัดรัฐล้มเหลวคุมโควิด-19 ถนัดใช้แต่ปากทำงาน ปล่อยแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทยต้นเหตุโควิดระบาดอีกรอบ 

นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจนพบผู้ติดเชื้อ 516 รายรวมยอดติดเชื้อสะสมจังหวัดเดียวถึง 548 รายว่า เป็นความผิดพลาดของรัฐบาล โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ที่เอาแต่ใช้ปากในการทำงาน  จนทำให้สถานการณ์เลวร้าย บานปลาย ลุกลามไปเรื่อยๆ ทั้งที่ยังคงมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมานานกว่า 9 เดือน  ขณะที่มีกระแสข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดนปล่อยปละละเลยให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศ  โดยมีกระแสข่าวรายงาน ว่ามีการจ่ายเงินค่าหัวคนละ 3,000-4,000 บาท จนทำให้แรงงานที่เข้ามาเป็นแหล่งที่มาของโควิด-19 ที่ระบาดรอบ 2 ในขณะนี้  

นอกจากการระบาดในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครแล้ว พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมากคือกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงปัจจุบัน เข้ามาทำงานในร้านอาหาร รวมถึงห้างสรรพสินค้าต่างๆ เป็นจำนวนมาก  ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งหามาตรการป้องกันและแก้ไขอย่างด่วน ไม่เช่นนั้นการแพร่กระจายของเชื้อจะทวีความรุนแรงมากกว่านี้

"การที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขออกมาให้สัมภาษณ์ว่าโรคโควิด-19 เป็นแค่โรคหวัดธรรมดา เป็นเชื้อโรคกระจอกงอกง่อย เป็นหนึ่งในวิธีการใช้ปากทำงาน เป็นเรื่องถนัดของรัฐบาลชุดนี้  ส่วนพลเอกประยุทธ์เองถนัดรับชอบ แต่ไม่รับผิด เอาแต่คุยโวโอ้อวดว่าสามารถจัดการการระบาดของโรคได้เป็นอันดับหนึ่งเพราะดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีน้อย การที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อย เป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้ตรวจโรคแบบปูพรมเหมือนต่างประเทศ ที่ให้ประชากรสามารถตรวจหาโรคได้ฟรีถ้าสงสัยว่ามีอาการ งบประมาณที่มีไว้แก้ปัญหา รัฐบาลเอาไปทำอะไรบ้าง ประชาชนอยากรู้ " นางสาวอรุณีกล่าว

"อนุดิษฐ์" เปิดสำนักงานสายไหม บริการประชาชนป้องกันโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

#สายไหมการ์ดไม่ตก

อดทนอีกนิดครับ แล้วผ่านไปด้วยกันอีกครั้ง สำนักงาน ส.ส.นอ.อนุดิษฐ์ เขตสายไหม ขอใช้สำนักงานของเราเป็น #ศูนย์อาสาสมัครป้องกันโควิด19 เขตสายไหม

📍สำนักงานตั้งอยู่ที่ ถนนสายไหม ซอย 9 

ภารกิจเร่งด่วนที่จะ #ดำเนินการทันที

✅อาสาสมัครเข้าทำการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ในบริเวณสถานที่สาธารณะ วัด โรงเรียน  ป้ายรถเมล์ ตลาดสด ฯ ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข

✅หากชุมชน  หน่วยงานในพื้นที่เขตสายไหม 

มีความประสงค์ที่จะต้องการรับบริการติดต่อมาที่สำนักงานของเราได้ทันทีครับ

อย่าลืมนะครับ

•เว้นระยะห่างทางสังคม

•หลีกเลี่ยงไปในที่ที่คนเยอะ

•ใส่แมส ล้างมือบ่อยๆ

•รับผิดชอบร่วมกันโดยไม่ปกปิดข้อมูลอยู่ในกลุ่มเสี่ยง 

ด้วยรักและห่วงใยครับ

#สายไหมต้องรอด

สายไหมการ์ดไม่ตก










วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"เดียร์-ขัตติยา" ชวนใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อบจ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "เดียร์-ขัตติยา สวัสดิผล" เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

เมื่อการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา ฝ่ายประชาธิปไตยต้องพ่ายแพ้ต่อระบบเผด็จการเพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ทำให้เราต้องเจอกับการสืบทอดอำนาจของนายกทหาร

แต่วันพรุ่งนี้ (20 ธันวาคม) พี่น้องทุกจังหวัดทั่วประเทศ(ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) จะได้สิทธิในการจับปากกาอีกครั้งเพื่อเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายกอบจ. และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือส.อบจของตัวเอง โดยไม่มีส.ว.มาช่วยเลือกซ้ำ ซึ่งอบจ.เป็นองค์กรที่ดูแลสารทุกข์สุกดิบของพี่น้องในแต่ละจังหวัดได้ใกล้ชิดที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนส่งเดินทาง การศึกษา สภาพความเป็นอยู่ของแต่ละหมู่บ้าน เป็นต้น

เดียร์จึงอยากขอเชิญชวนให้พี่น้องทุกท่านรักษาสิทธิของตนด้วยการไปเลือกตั้งนายกอบจ.และส.อบจ. ผู้สมัครคนไหนที่พี่น้องเชื่อว่ามีนโยบายที่ดี ทำงานได้จริง ใกล้ชิดประชาชน ไม่ฝักใฝ่เผด็จการ

หากใครติดธุระไปเลือกตั้งไม่ได้ อย่าลืมแจ้งเหตุก่อนหน้าวันเลือกตั้ง 7 วันหรือหลังวันเลือกตั้ง 7 วันนะคะ จะได้ไม่ถูกตัดสิทธิในการออกเสียงคราวหน้า คิดเข้าข้างตัวเองเผื่อไว้ว่าจะได้มีสิทธิออกเสียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อย่านิ่งเฉยที่จะไปใช้สิทธิ เพื่อทำให้ทุกคนรู้ว่า “จังหวัดเราจะไม่เหมือนเดิม แต่จังหวัดเราจะดีกว่าเดิม” ค่ะ

#20ธันวาไปเลือกตั้ง

"แซนด์-ชยิกา" ชวนชาวเชียงใหม่ เลือกตั้งนายก อบจ.

โค้งสุดท้าย! "ชยิกา" ชวนเลือก นายก อบจ. จากฝั่งประชาธิปไตย เชื่อลดทอนอำนาจเผด็จการ เพิ่ม อำนาจประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "แซนด์-ชยิกา วงศ์นภาจันทร์" บุตรสาวนางเยาวเรศ ชินวัตร เผยแพร่ข้อวามผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ทำไมต้องเลือกนายก อบจ.? เป็นคำถามที่หลายคนอาจสงสัย คำตอบก็คือ ที่ผ่านมานานาอารยะประเทศทั่วโลก ล้วนแล้วแต่มีแนวคิดในการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น ด้วยหลักความเชื่อที่ว่า ประชาชนของเขาเหล่านั้นมีศักยภาพในการดูแลตนเองและบ้านเกิดหรือท้องถิ่นที่พวกเขาอาศัยอยู่ 

ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมาเป็นเวลา กว่า 6 ปี มิหนำซ้ำยังออกแบบให้ประเทศไทยถูกบริหารงานโดยรัฐราชการแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ประเทศไทยที่เคยมีศักยภาพกลับถูกกดทับเอาไว้ ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น 

การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่ได้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นมานานถึง 8 ปี หากเราไม่เลือกนายก อบจ. ที่ส่งในนามพรรคการเมืองจากฟากฝั่งประชาธิปไตยเท่านั้นแล้ว จะเป็นการเปิดทางให้เผด็จการปูทางสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป ด้วยการแทรกซึมอำนาจเข้าสู่ระดับชุมชน 

ในฐานะศิษย์เก่าพรรคเพื่อไทย ดิฉันเห็นว่าหากเราเลือกนายก อบจ. ที่มาจากพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการทำนโยบายให้เป็นจริงได้ จะสร้างความแตกต่างให้กับท้องถิ่นอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยงานส่วนใหญ่ของนายก อบจ. เป็นเรื่องของการสร้าง ซ่อมถนน แต่ในยุคนี้ที่ปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ งานของท้องถิ่นที่สำคัญไปกว่านั้นคือการสร้างเมือง สร้างจังหวัดของท่านให้เป็นเมืองที่ทำมาค้าขึ้น สร้างงาน สร้างรายได้ ให้พี่น้องกลับมากินดีอยู่ดีอีกครั้ง 20 ธันวาคมนี้ ดิฉันขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกคน ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. กันนะคะ ช่วยกันแสดงให้เห็นว่าคนในท้องถิ่นจะไม่ทนต่อเผด็จการอีกต่อไปค่ะ #20ธันวาไปเลือกตั้ง #เชียงใหม่    


วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" ลุยสู้ศึก อบจ. เชียงใหม่ ยืนยัน "ทักษิณ" สนับสนุนผู้สมัครได้

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบพรรคเพื่อไทย กรณีที่อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ได้เผยแพร่คลิปช่วยหาเสียงสนับสนุนนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ ว่า เป็นการครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ และยังขอให้ยุบพรรคเพื่อไทยนั้น

ตนในฐานะที่เป็นอดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย และปัจจุบันทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงของ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ขอเรียนว่า เรื่องนี้ต้องแยกประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง กับการบริหารพรรคออกจากกัน เพราะการเลือกตั้งนั้นจะมีกฎหมายและระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ ว่า อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ซึ่งกรณีที่ท่านอดีตนายกทักษิณ ได้ทำจดหมายและคลิปภาพและเสียงสนับสนุนนายพิชัยและโพสต์ลงเฟสบุ๊คของตนเองนั้น ในระเบียบของ กกต. สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกทักษิณหรือใครที่ต้องการเชียร์ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งก็สามารถโพสต์สนับสนุนได้ เพียงแต่หากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกินห้าพันบาทก็แจ้งให้ผู้สมัครทราบ หากผู้สมัครยอมรับก็นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับการที่ท่านอดีตนายกทักษิณจะไปควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำการบริหารหรือการดำเนินกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยเลย หากเปรียบเทียบกับกรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 24 มีนาคม 2562 ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง แม้ พลเอกประยุทธ์ จะเป็นแคนดิเดตนายกของพรรคพลังประชารัฐแต่พลเอกประยุทธ์ก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย อีกทั้งไม่ได้เป็นสมาขิกพรรคพลังประชารัฐ กกต.ได้มีความเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ สามารถช่วยพรรคพลังประชารัฐและผู้สมัครหาเสียงได้ เพียงแต่ต้องไม่กระทำการขัดต่อมาตรา 78 ของกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เท่านั้น โดยพลเอกประยุทธ์ ได้ช่วยผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐหาเสียงทั้งปรากฏตัวบนเวทีปราศรัย ส่งคลิปภาพและเสียงของตนเองที่สนับสนุนผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐและนำไปเปิดบนเวทีปราศรัยหาเสียงก็ทำมาแล้วในหลายเวที ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ทั้งที่พลเอกประยุทธ์ มิได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หากถือว่าการที่ท่านอดีตนายกทักษิณทำจดหมายและพูดสนับสนุนนายพิชัยในการเลือกตั้งนายก อบจ. กับการที่พลเอกประยุทธ์ช่วยพรรคพลังประชารัฐและผู้สมัครของพรรคหาเสียง ส.ส. จะไม่ชัดเจนยิ่งกว่าหรือ? 

ตนจึงขอฝากไปยังกกต.ว่าต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นธรรม และขอฝากไปยังนายศรีสุวรรณ จรรยา ว่าถ้าคิดจะเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญตามชื่อสมาคมที่ตนเองเป็นเลขาจริง การจะร้องเรียนอะไรก็ควรให้เป็นสาระมากกว่านี้ และอย่าทำอะไรโดยมีวาระแอบแฝงหรือมีเบื้องหลัง การจะสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองนั้นมีวิธีอื่นทำได้อีกเยอะ ขอให้นายศรีสุวรรณ ไปดูว่าเรื่องที่ตนเองไปยื่นคำร้องตามหน่วยงานต่างๆ นั้น มีกี่เรื่องที่เป็นสาระบ้าง อย่าสร้างภาระแก่หน่วยงานของรัฐให้มากไปกว่านี้เลย ควรเอาเวลาไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนมากกว่า เช่นการตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะดีกว่า ช่วงนี้ใกล้วันเลือกตั้งการจะทำอะไรที่มีผลกระทบต่อคะแนนนิยมของผู้สมัคร อาจผิดกฎหมายเลือกตั้งได้ และตนก็อยากถามนายศรีสุวรรณว่า ทุกวันนี้ทำอาชีพอะไรเป็นหลักแหล่ง และมีรายได้จากทางไหนถึงมีเวลาไปเที่ยวร้องเรียนคนอื่นไปทั่ว และอย่าเที่ยวร้องซ้ำซาก



"วันนิวัติ" ห่วงคนละครึ่งเอื้อชนชั้นกลาง ย้ำประชาชนทุกคนต้องได้ประโยชน์

“วันนิวัติ” ชี้คนละครึ่งประชาชนทุกคนต้องได้ประโยชน์ อัดคณะกรรมการสมานฉันท์แค่ปาหี่การเมืองหวังซื้อเวลาของรัฐบาล

นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า คณะกรรการสมานฉันท์ที่รัฐสภากำลังดำเนินการในสรรหาคณะกรรมการนั้น เป็นเพียงเกมการเมืองที่รัฐบาลหวังซื้อเวลาของรัฐบาลเท่า ไม่คิดจะปรองดองสมานฉันท์ด้วยใจจริง

เพราะตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร ตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็ไม่เคยแสดงความจริงใจกับทุกฝ่าย มองนักการเมืองเป็นคู่ขัดแย้ง  ไม่ยอมรับการมีอยู่ของอำนาจประชาชน ยึดอำนาจการบริหารประเทศไว้แต่เพียงผู้เดียว ล่าสุดมองประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้ง พร้อมดำเนินคดีกับกลุ่มประชาชนนับร้อยคดี ดังนั้นการสมานฉันท์ปรองดองคงเกิดยากหากผู้นำรัฐบาลไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล และไม่รับฟังเสียงประชาชน

นายวันนิวัติ กล่าวด้วยว่า กรณีที่พลเอกประยุทธ์ประกาศว่าโครงการคนละครึ่ง ที่ได้รับการตอบรับจากประชาชน ก็บอกว่ามาจากความคิดตัวเอง  ซึ่งแสดงว่าที่ผ่านมา 6 ปีไม่เคยคิดโครงการที่มีประโยชน์กับประชาชนใช่หรือไม่ หรือที่ผ่านมาพอโครงการไหนไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนก็บอกว่าคนอื่นคิด อย่างนั้นหรือ ดังนั้นที่ผ่านมา 6 ปี รัฐบาลมีผลงานอะไรทีประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

“โครงการคนละครึ่ง เป็นโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนส่วนหนึ่ง แต่เอื้อประโยชน์กับชนชั้นกลาง คนที่มีความพร้อม รัฐบาลควรกำหนดรูปแบบที่ชัดเจนและครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เพราะเมื่อเป็นภาษีของประชาชน ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลหวังซื้อเสียงล่วงหน้า” นายวันนิวัติ กล่าว

"ทวี" แนะยกเลิกรัฐรวมศูนย์ กระจายอำนาจท้องถิ่น-แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“ทวี สอดส่อง” ส.ส.ประชาชาติ ระบุแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ด้วยการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ยกเลิกรัฐรวมศูนย์ 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้อภิปรายในญัตติเสนอตั้งคณะกรรมาธิการท้องถิ่น

พันตำรวจเอก ทวี ได้อภิปรายว่า พยายามหาทางออกในการแก้ปัญหาของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และอำนาจที่คนไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุด พบว่าต้องยกเลิก”รัฐรวมศูนย์” และใช้”ชุมชนเป็นศูนย์กลาง” เพราะคนที่จะรู้จักชุมชนและท้องถิ่นดีที่สุดคือคนในท้องถิ่น แต่ปัญหาที่เป็นรากเหง้าใหญ่จริงๆหลังการรัฐประหารได้ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นน้อยมาก สร้างรัฐราชการ อุ้มชูทุนนิยม การกระจายอำนาจน้อยจนกระทั่งไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น และเพิ่งจะเริ่มมีการเลือกตั้งท้องถิ่น และรูปธรรมตัดโอกาสการกระจายอำนาจคือการเขียนรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นการดองหรือกำจัดอำนาจท้องถิ่น 

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวอีกว่า หากดูรัฐธรรมนูญมาตรา 162 เขียนว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลมีนโยบายบริหารประเทศต้องอยู่ภายใต้หน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายของรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ จะเห็นว่าทั้ง 3 ข้อที่ยังคับไว้ไม่เคยใส่ใจและไม่เห็นคุณค่าของการกระจายอำนาจเลย 

รัฐบาลที่ดีที่สุดคือรัฐบาลที่เคารพและฟังเสียงประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยการกระจายอำนาจ งบประมาณ โอกาส ในการปกครองการบริหารให้ท้องถิ่น แต่หากรัฐบาลใดเข้าไปดำเนินการจะถูกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จัดการทันที เพราะเขียนล็อคไว้ไม่ให้ทำ รัฐธรรมนูญหมวด 14 เรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องยอมรับว่าเราได้ถอยหลังไปมาก จากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่เป็นอำนาจนิยม จึงถือว่าเป็นรากเหง้าของปัญหาความเหลื่อล้ำในประเทศไทย

พันตำรวจเอก ทวี เห็นด้วยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยากจะตั้งกรรมาธิการสามัญชุดนี้ แต่เรามีกรรมาธิการการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นและการปกครองรูปแบบพิเศษอยู่แล้ว ผมคิดว่ามันไม่ได้อยู่ที่การตั้งคณะกรรมาธิการสามัญหรือวิสามัญ แต่ทางออกที่ดีที่สุดคือการคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน ถ้าจะให้คอรัปชั่นน้อยที่สุด ก็คืนให้กับครอบครัว ถ้าคืนให้ครอบครัวไม่ได้ ก็คืนให้ชุมชนท้องถิ่น คือรูปแบบการปกครองท้องถิ่น

ต้องยอมรับว่ามีความซ้ำซ้อนในงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น และในกระบวนการทำงานต้องอาศัยท้องถิ่นแต่ถ้องถิ่นเหมือนเป็นผู้รับใช้แรงงาน ไม่ได้คิดและควบคุมการบริหารจัดการ แม้แต่ในคณะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาส่วนใหญ่พูดแต่เรื่องการกระจายอำนาจ ถามว่าเรามีกรมทางหลวงแล้วมีกรมทางหลวงชนบทอีกหน่วยหนึ่ง ทั้งที่มันอยู่ในท้องถิ่นอยู่แล้ว ทำไมไม่เอางบประมาณและอำนาจกรมทางหลวงชนบทให้ท้องถิ่นทำ 

ในกรณีการจัดการเรื่องน้ำ ในการการดำเนินแหล่งน้ำจากกระทรวง กรมแล้วถ่ายโอนน้ให้ท้องถิ่น เช่นการขุดบ่อน้ำบาดาล บ่อละ 10-14 ล้านบาท หรือย่อขนาดใช้เงินน้อยกว่าเมื่อส่วนกลางสร้างเสร็จก็ถ่ายโอนให้ท้องถิ่นทั่วประเท ผมได้ตรวจสอบส่งคนไปสำรวจมีทั้งบ่อเล็กบ่อมหญ่กว่า 1 พันแห่ง ส่วนใหญ่ พบว่าใช้งานไม่ได้เป็นปัญหากับท้องถิ่นเกือบหมดเลย นี่คือการใช้งบประมาณฟุ่มเฟือยแล้วส่งให้ท้องถิ่นแต่ท้องถิ่นใช้ไม่ได้ เพราะไม่ได้ต้องการประจานงบประมาณสักแต่จะทำ ทำแล้วใช้งานไม่ได้ นี่คือเรื่องอันตรายมาก ท้องถิ่นเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ดี ทำไมไม่ให้เขาจัดการเอง

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญ อยากจะขออนุญาต ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแต่ละพรรคว่าเราสามารถนำบุคคลภายนอกและคนที่รู้เรื่องท้องถิ่นอย่างดีเป็นกรรมาธิการวิสามัญ

มีข้อมูลการจัดงบประมาณที่มีความเจ็บปวดเมื่อเทียบกับงบประมาณท้องถิ่น อบต จำนวน 7 พันแห่งเศษ มีงบประมาณประจำปีตั้งแต่ 20ถึง90 ล้านบาทเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากมีความคิดรัฐบาลสร้างรัฐรวมศูนย์ พบว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้งบประมาณ 500 ล้านบาทเศษ  แต่งบประมาณประชุมของคณะกรรมการกฤษฎีกามากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งมากกว่า อบต.เกือบทั้งประเทศเสียอีก แสดงให้เห็นว่าวันนี้รัฐบาลไม่เคยใส่ใจประชาชน และองค์กรท้องถิ่น มีการบริหารแบบรัฐรวมศูนย์ ด้อยคุณค่าประชาชนนั่นคือไม่ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและให้อำนาจท้องถิ่น


"พิชัย" ชี้ "ประยุทธ์" ปัญหารุมเร้า ห่วงคนไทยจะตายจากฝุ่น-พิษเศรษฐกิจ

“พิชัย” ชี้ “ประยุทธ์” ปัญหารุมเร้า ห่วง คนไทยจะตายจาก ฝุ่นPM 2.5 พิษเศรษฐกิจ หรือ โควิด แนะ ต้องคิดล่วงหน้าไม่ใช่ตามแก้ 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ ได้ไปหาเสียง นายก อบจ. ที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้กัน นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร เบอร์ 1 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีปัญหาหลายด้านรุมเร้าและถูกวิจารณ์อย่างมาก ทั้งเรื่อง ฝุ่น PM2.5 เรื่อง “คนละครึ่ง” “เที่ยวด้วยกัน”ปัญหาการทุจริตที่ ปปช. เปิดเผย ปัญหาจะไปดวงจันทร์ทั้งที่คนจะอดตาย ปัญหาค่าเงินบาทแข็งทั้งที่เศรษฐกิจย่ำแย่ อีกทั้งความพยายามแก้ตัวเรื่องหนี้ที่จะพุ่งทะลุในปีหน้า โดยอยากอธิบายดังนี้ 

ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กลับมาหลอกหลอนคนไทยอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็มีปัญหานี้มาตลอดและสถานการณ์ก็ย่ำแย่ขึ้นเรื่อยๆ พลเอกประยุทธ์กลับไม่มีแนวทางที่จะแก้ไข ทั้งๆที่มีคำแนะนำจากนักวิชาการหลายด้านและจากตนแต่กลับไม่ทำเลย เรื่องหนึ่งที่ตนได้เสนอมาหลายปีแล้ว คือการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าทดแทนรถยนต์ใช้น้ำมัน เพื่อจะลดฝุ่น อีกทั้งยังช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในประเทศให้เกิดขึ้นด้วย เป็นต้น ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลได้เร่งแก้ไขอย่างจริงจัง 

ปัญหาโครงการ “คนละครึ่ง” ช่วยเหลือประชาชนที่กำลังลำบาก แม้จะเป็นนโยบายที่คนสนใจกันมาก แต่ก็มีปัญหามาก เพราะแทนที่จะให้กับทุกคนกลับให้คนเข้าไปแย่งกัน ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถลงทะเบียนได้ อีกทั้งคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีก็ไม่สามารถลงทะเบียนได้เช่นกันโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เพราะสุดท้ายประชาชนทุกคนจะต้องร่วมใช้หนี้นี้ร่วมกันจากเงินที่กู้มาแจกนี้ ส่วน โครงการ “เที่ยวด้วยกัน” ก็ปรากฏมีการทุจริตจำนวนมากจนต้องหยุดโครงการชั่วคราว 

เมื่อพูดถึงการทุจริตก็ต้องโยงไปถึงเรื่องที่ ปปช. ออกมาแถลงว่ามีการทุจริตเกือบ 3 แสนล้านบาท ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนรัฐบาลอย่างมาก ทั้งที่ ปปช. เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลเลือกขึ้นมาเอง โดยเชื่อว่าเมื่อไหร่พลเอกประยุทธ์หมดอำนาจ ข้อมูลการทุจริตจะปรากฏเพิ่มขึ้นอีกมาก และการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ ก็จะมีการเปิดเผยข้อมูลการทุจริตให้ได้ทราบกัน 

ทั้งโครงการ “คนละครึ่ง” และ “เที่ยวด้วยกัน” จะเป็นนโยบายเพื่อช่วยประชาชนเพียงชั่วคราวเท่านั้น เหมือนโครงการ “ชิมช้อปใช้” ในอดีต ที่ใช้แล้วก็หมดไป ไม่ได้สร้างรายได้ที่ถาวรและไม่ได้เสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งประโยชน์ต่อจีดีพีจะมีน้อยมากเพราะเป็นเงินจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจีดีพี อีกทั้งยังจะทำให้รัฐบาลก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐานของประเทศที่ขาดการลงทุน และ การส่งออกทรุด แต่อย่างใด แถมปัจจุบันค่าเงินบาทยังแข็งค่ามาก แต่รัฐบาลกับแบงค์ชาติกลับไม่ทำอะไร ยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจทรุดหนักลงอีก ย้อนแย้งกับที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คลัง ที่ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะต้องเลิกแจกเงิน แล้วมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่เอาแต่เยียวยา

ในขณะที่ประชาชนกำลังลำบากกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ แถมยังมาเจอฝุ่น PM2.5 แต่รัฐมนตรีในครม.พลเอกประยุทธ์กลับวาดฝันจะส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายใน 7 ปี ซึ่งย้อนแย้งกับความรู้สึกของประชาชนที่กำลังลำบากอย่างมาก ประชาชนสิ้นหวังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะตายจาก ไวรัสโควิด พิษเศรษฐกิจ หรือ ฝุ่นPM2.5 อะไรก่อนกัน แต่รัฐบาลกลับมีปัญญาคิดนอกกรอบได้แค่จะส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์

กรอบคิดเพียงเท่านี้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เพราะพลเอกประยุทธ์ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจและการมองล่วงหน้า แม้กระทั่งเรื่องหนี้สาธารณะก็ยังพยายามเถียงว่าในปัจจุบันมีหนี้แค่ 7.848 ล้านล้านบาท หรือ 49.34% โดยไม่ได้มองว่าในอนาคต รัฐบาลยังจะต้องกู้เงินอีกมาก วงเงินช่วยเหลือประชาชน 1 ล้านล้านบาท ยังกู้มาใช้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งและคงต้องกู้อีก อีกทั้งงบประมาณปี 64 จะขาดดุลอีก 6.3 แสนล้าน การจัดเก็บภาษีปีนี้น่าจะขาดประมาณ 2-3 แสนล้านบาท และการจัดเก็บภาษีในปีหน้าก็น่าจะจัดเก็บได้ขาดอีก จีดีพีปีนี้ก็จะติดลบ ดังนั้นหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปีหน้าจะพุ่งสูงมาก ดังนั้น รัฐบาลต้องมองล่วงหน้าในทุกเรื่องไม่ใช่คิดแต่จะอ้างตัวเลขช่วงนี้ โดยไม่มองเห็นอนาคต ซึ่งเป็นแบบนี้มาตลอด 6 ปี ประเทศถึงไม่ได้พัฒนาเลย

หากจำกันได้ ตนได้เคยเตือนมาตลอดว่าประเทศไทยโชคไม่ดีที่มีปัญหาทางการเมืองในช่วงที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์ยังมีกรอบคิดเหมือนเดิม ที่ปรับตามโลกไม่ทัน เศรษฐกิจไทยจะย่ำแย่และล้าหลังอย่างรวดเร็วมาก ประเทศไทยจะตกยุคอย่างไม่ทันรู้ตัว และประชาชนจะยิ่งลำบากกันอีกมาก ซึ่งเชื่อว่าตอนนี้คนจำนวนมากเริ่มรู้สึกกันแล้ว และหวังว่าผลการเลือกตั้ง นายก อบจ. จะเป็นการส่งสัญญาณความไม่พอใจของประชาชนให้ไปถึงพลเอกประยุทธ์ได้

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"ทวี" อัดรัฐใช้อำนาจมิชอบ-ข้าราชการฟ้องแต่งตั้งโยกย้ายนับหมื่นคดี

“ทวี สอดส่อง” ส.ส.ประชาชาติ ระบุรัฐบาลใช้อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย พบข้าราชการฟ้องเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายเป็นหมื่นคดี

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้อภิปรายรับทราบรายงานขอฃศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองประจำปี 2562 

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า ประเทศไทยได้เปลี่ยนจากระบบศาลเดี่ยวเป็นศาลคู่ 3 ศาล หลังจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ศาลปกครองมีแค่ 2 มาตรา คือมาตรา 197 และ 198 แต่ในสองมาตรานี้ได้เปลี่ยนหลักการการบริหารประเทศ ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเราจะมีอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ อำนาจบริหารเรามองว่าองค์กรอิสระหรือองค์กรรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นอำนาจบริหาร ที่ศาลปกครองพิจารณาคดีได้แม้แต่รัฐสภาที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็ถูกฟ้องที่ศาลปกครอง แต่ปัจจุบันองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ60 ศาลปกครองไม่สามารถพิจารณาได้เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติห้ามศาลปกครองไว้ เป็นการเปลี่ยนหลักการประชาธิปไตย ทำให้องค์กรอิสระ เช่น กกต., ป.ป.ช. หรือองก์กรอัยการหากไม่สามารถมาที่ศาลปกครองได้ อ้างว่าใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่แปลกมาก ซึ่งต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่องค์กรเหล่านี้ไม่สามารถตรวจสอบได้โดยศาลปกครอง ในสมัยนี้จำเป็นต้องพึ่งศาลยุติธรรม ซึ่งไม่สามารถทำได้เพราะจะมีกระบวนการที่ยุ่งยาก และมีกฏหมายระเบียบภายในที่อาจทำไม่ได้เป็นคำถามที่คลางแคลงใจต่อประชาชนว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ60 ไม่สามารถตรวจสอบได้

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า เห็นใจศาลปกครองที่ยังมีคนไม่เข้าใจเนื่องจากที่ 2 ศาล (ศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด) ขณะที่ศาลยุติธรรมมี 3 ศาล (ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา) ขนาดสภาผู้แทนยังไม่เข้าใจ เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการร่างพระราชบัญญัติ กสทช.ไปกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะเป็น กสทช. ไปเอาตุลาการศาลปกครองระดับรองอธิบดี เท่ากับรองอธิบดีอัยการ หนือเท่ากับรองอธิบดีศาลยุติธรรม ทั้งที่บุคคลต่างๆเหล่าเทียบกับตุลาการศาลปกครองระดับเพิ่งบรรจุใหม่ เช่นผู้สมัครเข้าเป็นตุลาการศาลปกครองต้องเป็นหัวหน้าศาลยุติธรรมอย่างน้อยถึงสามปีถึงจะสมัครเป็นตุลาการชั้นต้นได้ หากมองความยุติธรรมก็ควรจะอยู่ในตำแหน่งที่เท่ากัน บทบาทของศาลปกครองเป็นประโยชน์อย่างสูงยิ่งต่อรัฐสภา เพราะหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาคือมีหน้าที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติอีกส่วนหนึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานรัฐบาล ซึ่งการบริหารงานของรัฐบาลคือการใช้อำนาจรัฐ การที่ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ไปฟ้องศาลปกครองเป็นสิ่งสะท้อนรัฐใช้อำนาจไม่ถูกต้อง หรือการกระทำของรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตึงได้ฟ้องต่อศาลปกครองเป็นที่พึ่ง ซึ่งวันนี้ศาลปกครองมีคดีที่ยังค้างอยู่เป็นหมื่นคดี การที่มีตุลาการ 267 คน แต่ปริมาณคดีมากนี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าความล่าช้า ซึ่งความล่าช้าถือว่าไม่ใช่ความยุติธรรม

พันตำรวจเอก ทวี ได้แนะนำว่าการนำเสนอรายงานในครั้งต่อไป ให้รายงานข้อมูลพร้อมนำผลของคดีมารายงานด้วย เช่นคดีบริหารงานบุคคล คดีวินัย ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล แต่งตั้งโยกย้ายหรือทางวินัยพบว่ามีการฟ้องร้องเป็นหมื่นคดี แสดงถึงความล้มเหลวของรัฐบาลได้ ปัจจุบันที่ปล่อยให้ข้าราชการมาฟ้อง มองว่าน่าจะเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้าราชการจึงฟ้องคดีกับศาลปกครอง

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า เห็นด้วยกับการรับตุลาการศาลปกครองเพิ่มขึ้น จะต้องมีกระบวนการคัดเลือกผู้มีความรู้ และคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเป็นตุลาการ มิเช่นนั้นการมีกฎหมายที่เป็นธรรม แต่ผู้ใช้กฎหมายและตุลาการไม่ยุติธรรม จะทำให้มีความล้มเหลวมากยิ่งขึ้น

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563

“วัฒนรักษ์” เร่ง “ประยุทธ์” ออก 5 มาตรการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ

“วัฒนรักษ์” เร่ง “ประยุทธ์” ออก 5 มาตรการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ หากสนใจสุขภาพและอยากแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจริง

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในขณะนี้ประเทศไทยติดอันดับ 3 ของเมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากแอปพลิเคชั่น Air Visual ระบุว่าสภาพอากาศโดยทั่วไปของกรุงเทพมหานคร ตามมาตรฐาน US AQI อยู่ที่ 190 ซึ่งคุณภาพของอากาศเช่นนี้ส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้ออกมายอมรับว่าพื้นที่ในกทม.อากาศจะแย่จนถึงวันที่ 17 ธ.ค. และคำตอบที่เราได้รับจากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงเหมือนเดิม คือค่าไอเสียเกินมาตรฐานและปัญหาการกดทับของสภาพอากาศที่เกือบจะไม่มีลม จึงทำให้ กทม. เกิดสถานการณ์ฝุ่นสะสม ซึ่งปัญหาฝุ่นพิษแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนไทย โดยส่วนใหญ่จะเกิดประมาณเดือน พ.ย. - ก.พ. โดยเราจะต้องทนรับกับปัญหาเช่นนี้ในทุกๆ ปี ซึ่งทางพรรคเพื่อไทย ห่วงใยในสุขภาพของคนไทยทุกคน ดังนั้นจึงอยากจะเห็นรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ เร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพราะฝุ่นพิษนี้ส่งผลร้ายต่อสุขภาพของคนไทย

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะใส่ใจและพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะในเรื่องปัญหาฝุ่นพิษอย่างจริงจังจากทุกๆ ฝ่าย พรรคเพื่อไทยขอเสนอแนววิธีการดังนี้

1.ควรดำเนินการติดตั้งระบบการแจ้งเตือนมลพิษตามสถานที่สุ่มเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าเวลาและพื้นที่ไหนที่ควรจะต้องระวัง เพราะปัญหาฝุ่นพิษส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในบริเวณเดิม 

2.พิจารณาภาษีฝุ่นพิษ โดยโรงงานต่าง ๆ ที่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นตามปริมาณที่ปล่อยเกิน และถ้าหากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายใน 1 ปี จะต้องถูกดำเนินการปิดโรงงานอย่างจริงจัง และเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการในการเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว จึงควรจะจัดทำมาตรการลดภาษีให้แก่ผู้ประกอบการที่สามารถลดปริมาณมลพิษได้ 

3.เริ่มยุทธการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มดำเนินการฉีดน้ำจากที่สูง ฉีดน้ำล้างถนน และติดสปริงเกอร์บนตึกสูงเพื่อพ่นละอองน้ำ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ถนนที่รถติด เป็นต้น และรัฐบาลควรที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

4.สร้างระบบ Big Data โดยจัดเก็บข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง ที่จะมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานล่วงหน้าได้ ซึ่งถ้าหากเรามีข้อมูลและเครื่องตรวจที่เพียงพอ เราก็จะสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ เพื่อที่โรงเรียน บริษัท และทางราชการจะได้มีเวลาเพื่อเตรียมตัวรับมือ

5.เร่งนำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละลอง ที่มีมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 มาร่วมดำเนินการกับภาคประชาชนโดยด่วน เพราะหลายหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย ได้มีการทำวิจัยกันมานานแล้ว และขณะนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนควรจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษอย่างจริงจังและทันที

ปัญหาฝุ่นพิษคือปัญหาเร่งด่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะต้องเร่งแก้ไข เพราะในหลายประเทศสามารถแก้ไขได้แล้ว แต่ไทยเรายังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย และหากเราอยากให้ไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนไทยทุกคน ดังนั้นเราจึงควรเร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษโดยด่วน เพราะหากอากาศยังคงแย่แบบนี้ ก็คงไม่มีใครอยากที่จะเที่ยวในประเทศไทยอีกต่อไป

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563

“เพื่อไทย" ติงรัฐบาล ไม่จริงใจแก้รัฐธรรมนูญ

“เพื่อไทย" ติงรัฐบาล ไม่คิดแก้ไม่แก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น อัดพรรคร่วมรัฐบาลไม่ควรดูถูกการตัดสินใจของประชาชน

นาย นพ ชีวานันท์ ส.ส. อยุธยา ในฐานะรองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า กรณีที่พรรคร่วมรัฐบาล ให้เหตุผลว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงจากประชาชนทั้งหมด อาจจะมีจุดอ่อนในเรื่องของการไม่ครอบคลุมผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และหากไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปร่วมเป็น ส.ส.ร. 

กรณีดังกล่าวพรรคร่วมรัฐบาลไม่ควรดูถูกประชาชนโดยตรง เพราะการที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอยากให้ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อรักษาสิทธิ์ของประชาชน และเชื่อมั่นว่าการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับ

นายนพ กล่าวด้วยว่า ประชาชนในปัจจุบันสนใจความเป็นไปประเทศ และการเมืองกว่าในอดีต  ดังนั้นขอให้เชื่อมั่นว่าประชาชนจะคัดสรร ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามานั่งเขียนกฎหมายแทนเขาได้อย่างแน่นอน และในฐานะนักการเมืองเชื่อมั่น ในการตัดสินใจของประชาชน

“ที่น่าเป็นห่วงคือความจริงใจ ของรัฐบาล ที่รัฐบาลบอกว่าอยากแก้นั้นจริงใจหรือไม่? เพราะการแสดงออกของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่มีท่าทีที่จริงใจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งไม่คิดจะแก้ไขตั้งแต่ต้น เพราะหากแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นการปิดโอกาสอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปอีกนาน หรือ อยากอยู่นาน ของพลเอกประยุทธ์ตามคงเป็นเรื่องยาก กรณีดังกล่าวจะเป็นตัวชี้วัดว่าพลเอกประยุทธ์ว่าจะจริงใจกับประชาชน หรือคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ของชาติ” นายนพ กล่าว

"เรืองไกร" เร่ง "ประยุทธ์" สอบ AOT แก้ไขสัญญา กระทบรายได้รัฐ

"เรืองไกร" เร่งประยุทธ์สอบ AOT แก้ไขสัญญา ผ่าน ครม. หรือไม่? ผิดวินัยการเงินการคลังหรือไม่?

นายเรืองไกร อดีต ส.ว. เปิดเผยว่า เห็นข่าวอดีตรมว.คลัง ตั้งประเด็นผ่านสื่อเกี่ยวกับ AOT แก้ไขสัญญาลดรายได้ที่ภาคเอกชนต้องจ่ายตามสัญญาเดิมโดยมีข้อสงสัยนั้น เรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับรายได้ของภาครัฐ และอาจเป็นเหตุให้งดโบนัสพนักงาน AOT ด้วย ตนจึงทำหนังสือถึงนายกฯประยุทธ์ เพื่อให้ชี้แจงและดำเนินการ ดังนี้

1. คณะรัฐมนตรีเคยมีมติให้ AOT แก้ไขสัญญาดังกล่าว หรือไม่?

2. การที่ AOT แก้ไขสัญญาดังกล่าว เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนหรือไม่ ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือไม่? และฝ่าฝืน พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 27 หรือไม่?

3. เรื่องนี้มีการร้องไปที่กระทรวงการคลัง ปัจจุบัน กระทรวงการคลังดำเนินการ หรือไม่?

4. การประมูลตามสัญญาปัจจุบันอาจมีความไม่ชอบด้วย TOR นายกฯ รู้หรือไม่? และกล้าตรวจสอบหรือไม่? 

5. ขอให้นายกฯ ลงมากำกับดูแลด้วยตนเอง ได้หรือไม่? เพราะที่ผ่านมาอาจมีการวิ่งเต้นและร้องขอจากหลายฝ่ายเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้

นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า ได้ส่งหนังสือพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้องถึงนายกฯ ในเช้าวันนี้ (วันที่ 14 ธ.ค.) ทางไปรษณีย์ EMS

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"ทักษิณ" เผยเพื่อไทยหนุนประชาธิปไตย ไม่เสียใจคนลาออกมุ่งโจมตีพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ช่วงนี้ได้ข่าวมีหลายคนที่เดินออกจากพรรคเพื่อไทย หลายคนออกมาโจมตีบ้านเดิมของตัวเอง ผมในฐานะคนที่รักพรรคนี้ซึ่งเป็นพรรคที่ได้วางรากฐานมาตั้งแต่ครั้งเป็นไทยรักไทยมาจากอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่ต้องการเห็นประเทศพัฒนาไปข้างหน้าภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง (1)

เราจึงได้รวบรวมคนที่มีแนวคิด และอุดมการณ์เดียวกันกับเราจนมาเป็นพรรคการเมืองใหญ่ ที่ผ่านมา เพื่อรักษาอุดมการณ์นั้น ผมได้ต่อสู้ และสูญเสียอะไรไปมาก ทั้งการไม่ได้อยู่ในแผ่นดินเกิด ไม่ได้อยู่กับครอบครัว และคนที่ผมรัก (2)

ผมทำเต็มที่มาตลอดเพื่อเดินบนเส้นทางแห่งอุดมการณ์ที่ผมได้ให้สัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน และคนที่ฝากความหวังไว้ ดังนั้นผมไม่เสียใจที่วันนี้จะมีคนเดินจากไปเพื่อไปมีเส้นทางใหม่ เพราะผมคงไปบังคับหัวใจใครให้อยู่กับพรรคตลอดไปไม่ได้ (3)

ผมจึงขอขอบคุณคนที่ยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย พรรคที่ผมเคยวางรากฐานไว้ ผมเชื่อว่า อุดมการณ์ที่มั่นคงของพรรคจะนำพาพรรคไปสู่ความสำเร็จได้อย่างที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต และจะยังสามารถเป็นที่พึ่งที่หวังให้ประชาชนได้อย่างที่เคยเป็นมา (4)

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" ห่วงคนละครึ่งไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม ขยายความเหลื่อมล้ำสังคม

“เพื่อไทย” แนะเพิ่มช่องทางเปิดโอกาสเข้าถึงโครงการรัฐ ชี้คนละครึ่งไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม หวั่นรัฐขยายความเหลื่อมล้ำในสังคม

นายปิยวัฒน พันธ์สายเชื้อ ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงโครงการคนล่ะครึ่ง ว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการที่ดีสามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาประชาชนประสบปัญหารายได้ไม่พอจ่าย หลายครอบครัวมีปัญหาทางเศรษฐกิจ การจัดทำโครงการดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาประชาชนได้ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีข้อจำกัด เพราะประชาชนในหลายพื้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชนบท ในต่างจังหวัด คนเฒ่าคนแก่ ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี  ไม่มีโทรศัพท์ระบบสมาร์ทโฟน ไม่สามารถลงทะเบียนร่วมโครงการได้ ส่งผลให้ประชาชนเสียโอกาสรับประโยชน์จากโครงการรัฐ

นายปิยวัฒน กล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรเพิ่มช่องทางในการช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายที่รัฐบาลจัดทำขึ้น เพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงโครงการรัฐไปยังประชาชนทุกกลุ่ม สร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชนทุกคน โครงการดีแต่ไม่รอบครอบและไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่วนใหญ่ประชาชนที่ได้ประโยชน์คือคนที่เข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งก็จะเป็นคนกลุ่มเดิมที่เคยได้ในโครงการแจกเงินของรัฐในหลายโครงการ ดังนั้นรัฐบาลจำต้องเพิ่มช่องทางพร้อมเปิดโอกาสให้กลุ่มประชาชนที่เข้าไม่ถึงและในพื้นที่ห่างไกล หากไม่ทำจะรัฐจะขยายความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้น

"พิชัย" เสนอพัฒนาการค้าชายแดน ฟื้นเศรษฐกิจ-ยกระดับเงินบาท

“พิชัย” เสนอ แนวทางพัฒนาการค้าชายแดนช่วยฟื้นเศรษฐกิจ แนะ ยกระดับเงินบาทเป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาค แต่ “ประยุทธ์” ทำไม่ได้ เพราะขาดความเชื่อมั่น

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ ได้ลงพื้นที่หาเสียง นายก อบจ. ที่จังหวัดหนองคาย ให้กับ นายธนพล ไลละวิทย์มงคล เบอร์ 2 พรรคเพื่อไทย โดยกล่าวว่า จังหวัดหนองคาย มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนา ซึ่งหากไม่มีการปฏิวัติในปี 2557 ป่านนี้คงมีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเชื่อมต่อไปถึงประเทศจีน และทำให้จังหวัดหนองคายพัฒนาไปแล้ว ไม่ต้องมารอไม่ทราบเมื่อไหร่จะเสร็จ ซึ่งหากทำเสร็จก่อนหน้านี้ จะช่วยทำให้หนองคายเป็นฮับของการค้าและการลงทุนของภูมิภาคนี้ได้ อีกทั้งยังจะช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดหนองคายได้อย่างมาก

ปัจจุบัน ประชาชนชาวหนองคายได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากจากความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ รายได้ลดลงกันหมด การค้าขายฝืดเคือง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะข้าวและยางพารา โดยยังไม่มีทิศทางที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างไร? 

ทั้งนี้ จังหวัดหนองคายยังมีการค้าขายชายแดนจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีปัญหาความยุ่งยากของระเบียบศุลกากรซึ่งควรจะต้องแก้ไขให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น และจะช่วยทำให้การค้าขายชายแดนสะดวกมากขึ้น โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ทั้งนี้ต้องปรับปรุงระเบียบและพิธีการศุลกากรของจังหวัดชายแดนทุกจังหวัดทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกและไม่เป็นอุปสรรคกับการค้าขายบริเวณชายแดน อีกทั้งยังสนับสนุนห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ในอนาคต เพียงแค่คอยระวังการลักลอบนำเข้ายาเสพติดและของผิดกฎหมายเท่านั้น 

นอกจากนี้ยังพบว่า การแข็งค่าของเงินบาทเป็นอุปสรรคต่อการค้าชายแดนอย่างมาก โดยเงินบาทช่วงหนึ่งได้แข็งค่าทะลุ 30 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐแล้วในวันนี้ ซึ่งแข็งค่าที่สุดในรอบ 12 เดือน โดยอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทต่อเงินกีบของลาวก็ได้พุ่งขึ้นถึง 24% จาก 250 กีบต่อบาท เป็น 310 กีบต่อบาท ซึ่งทำให้สินค้าของประเทศไทยมีราคาสูงมาก ทำให้ขายสินค้าได้ลดลง และจากข้อมูลพบว่าการค้าชายแดนของไทยตลอด 10 เดือน ตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคม การค้าขายชายแดนของไทยทั้งหมดลดลง 4.11 % กับลาวลดลง 5.21% กับ มาเลเซียลดลง 14.67% กับ เมียนมาร์ลดลง14.85% กับเวียดนามลดลง 13.77% กับกัมพูชาลดลง 1.16% เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลและแบงค์ชาติจะต้องร่วมมือกันเร่งแก้ไขโดยด่วน เพราะจะส่งผลกระทบกับการส่งออก และจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดหนักมากขึ้น 

การค้าขายชายแดนส่วนใหญ่จะใช้เงินบาทเป็นสกุลหลักในการซื้อขาย ซึ่งมีมูลค่าการค้าขายระหว่างกันที่สูงมากและมีแนวโน้มที่สูงขึ้นไปอีก  ดังนั้นประเทศไทยจึงควรพัฒนายกระดับเงินบาทให้เป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาค ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากในหลายด้าน และ ประเทศเพื่อนบ้านก็จะได้ประโยชน์ด้วย ทั้งนี้ไทยมีเงินทุนสำรองต่างประเทศในระดับสูง ซึ่งทำให้เงินบาทมีความมั่นคงและเป็นที่น่าเชื่อถือ แต่ประเทศจะต้องเปลี่ยนแปลงให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ไม่ทำอะไรที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเหมือนปัจจุบัน ที่ถูกวุฒิสภาสหรัฐส่งหนังสือตำหนิพฤติกรรมของรัฐบาล โดยแนะนำให้ไทยพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและให้รับฟังผู้ชุมนุม อย่าได้คุกคามประชาชนและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเหมือนที่ทำอยู่ ซึ่งนับเป็นความน่าอับอายอย่างมาก แถมรัฐบาลยังส่งโฆษกรัฐบาลมาแก้ตัวแบบน้ำขุ่นๆ ขัดต่อความจริงที่ปรากฏในภาพและคลิปข่าวที่กระจายไปทั่วโลกแล้ว 

ดังนั้น หากพลเอกประยุทธ์ยังเป็นผู้นำประเทศไทยจะไม่เหลือความน่าเชื่อถืออีกต่อไป การพัฒนาและการริเริ่มความคิดสร้างสรรค์เพื่อจะพัฒนาประเทศจะทำไม่ได้เลย นับเป็นการถ่วงความเจริญของประเทศอย่างแท้จริง

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"โฆษกเพื่อไทย" โวย รัฐธรรมนูญถูกฉีกบ่อย ทำไทยถดถอย-ด้อยค่า-ล้าหลัง

"โฆษกเพื่อไทย" ชี้รธน.ไทย 88 ปี ถูกฉีกบ่อยสุดในโลก ถูกทำให้ถดถอย  ด้อยค่า ล้าหลัง หวัง ส.ส.ร.ชุดใหม่และผู้มีอำนาจ เปิดทางออกให้ประเทศ

นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญทั่วโลก ล้วนเป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงค์ของคนในชาติ ที่เห็นพ้องต้องกันว่า จะกำหนดรูปแบบการปกครองแบบใด  ผ่านกฎหมายสูงสุด กำหนดการใช้อำนาจรัฐผ่านใคร  แล้วใครคือผู้ใช้อำนาจนั้น  กำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างไร ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ 

ตัวอย่างที่มั่นคงที่สุดคือ สหรัฐอเมริกาใช้รัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวมาตลอด 233ปี  ทั้งที่มีการต่อสู้ทางความคิด ในรูปแบบไหน เกิดกลุ่มความคิด  ความขัดแย้งทางผิวสี เกิดวิกฤตหลายครั้ง แต่สหรัฐฯไม่เคยฉีกรัฐธรรมนูญ  เพราะระบบการปกครองกองทัพที่เป็นระบบโดยผู้นำประเทศเป็นผู้นำเหล่าทัพสูงสุด ขณะที่ประชากรภายประเทศมีความเชื่อถือและยึดมั่นในกรอบกติกานี้ แม้จะได้ผู้นำที่มีนโยบายสุดขั้ว  แต่ยังยึดมั่นในตัวกฎหมายสูงสุด   หรือแม้แต่อังกฤษที่ผจญกับวิกฤติการเมือง-เศรษฐกิจ  มีความคิดต่างหลากหลายรูปแบบ  แต่ไม่เคยทำรัฐประหาร ผู้นำยังเชื่อมั่นรัฐธรรมนูญ  เดินตามกรอบกติกาที่มีมา ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐธรรมนูญคือเสาหลักที่จะละเมิดไม่ได้  แม้ไทยจะไม่สามารถนำบริบทของในต่างประเทศมาใช้ได้  แต่เป็นสิ่งที่เราควรหันกลับมามองตัวเราเองว่า  ทั่วโลกเห็นถึงหลักการสูงสุดของประเทศร่วมกัน ไม่มีการทำลายหลักของชาติอย่างง่ายดาย  

โฆษกพรรคเพื่อไทยยังกล่าวอีกด้วยว่ามองกลับมาที่ประเทศไทย หลักของประเทศกลับถูกฉีกแล้วเขียนใหม่นับครั้งไม่ถ้วน  ในรอบ 88 ปี นับจากปีที่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 2475  ทั้งที่เราท่องจำกันว่ารัฐธรรมนูญ คือกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ  แต่ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์กฎหมายในลำดับศักดิ์ที่ต่ำกว่า กลับมีผลบังคับเหนือรัฐธรรมนูญในหลายกรณี  จนสังคมเกิดความเคลือบแคลงใจ  รัฐธรรมนูญไทยกำลังถูกทำให้ถดถอย ด้อยค่าและล้าหลังลงหรือไม่  ความมั่นคงและยั่งยืนของรัฐธรรมนูญถูกทำลายด้วยการทำรัฐประหารหรือไม่? 

ขณะที่รัฐธรรมนูญหลายฉบับเริ่มต้นด้วยปากกระบอกปืน พรากการมีส่วนร่วมของประชาชน  ขณะที่รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นมาจากคนไม่กี่คน ไม่ได้คำนึงถึงประชาชนอันเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ในวันรัฐธรรมนูญปีนี้ หวังว่า การตั้ง ส.ส.ร.ในครั้งนี้จะสำเร็จลุล่วงและแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง และจะต้องไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหลังจากนี้

"เราจะสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่ออนาคตของลูกหลาน และพาไปสู่ทางออกประเทศอย่างสันติและยั่งยืนต่อไป เพื่อรัฐธรรมนูญในฝันที่เป็นประชาธิปไตยอย่างจริง" นางสาวอรุณีกล่าว

"จาตุรนต์" หนุนประชาชนเรียกร้องแก้ รธน. อัดรัฐซื้อเวลาอยู่ในอำนาจ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

[ อย่าให้การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเพียงเกมซื้อเวลาเพื่ออยู่ในอำนาจ ] 

นับตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาเมื่อ 89 ปีที่แล้ว รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งแล้วเขียนใหม่นับครั้งไม่ถ้วน กลายเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำและผู้ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนทั้งหลายใช้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรและรักษาอำนาจให้อยู่ในมือของพวกตน ไม่ใช่เป็นกฎหมายสูงสุดจริงๆ ไม่ได้มีไว้สำหรับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและไม่ได้เป็นหลักประกันว่าอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างก็เพียงบางฉบับที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็อยู่ได้ไม่นาน

การรำลึกถึงวันรัฐธรรมนูญในช่วงสิบกว่าปีมานี้ไม่อาจเป็นไปด้วยความภาคภูมิใจแต่อย่างใด หากเป็นการใช้เวลาทบทวนปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศที่สะท้อนให้เห็นจากความเลวร้ายของรัฐธรรมนูญ กับการที่ต้องมาคิดกันว่าทำอย่างไรประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญที่มีความหมายเป็นกฎหมายสูงสุดที่ทุกคนเป็นเจ้าของประเทศอย่างเท่าเทียมกัน และทำอย่างไรที่เมื่อได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว รัฐธรรมนูญนั้นจะไม่ถูกฉีกตามอำเภอใจของชนชั้นนำอีกต่อไป

วันรัฐธรรมนูญปีนี้ หลายๆ ฝ่ายในสังคมไทยน่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันมากขึ้นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาหนักหนาสาหัสและหากประเทศไทยจะก้าวพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้ จำเป็นที่จะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญกันเสียใหม่ 

ซึ่งก็มีความพยายามจากพรรคการเมืองและประชาชนในการผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญและขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา

การแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่มีปัญหาสำคัญ 2 เรื่อง คือ 

1.ที่มาและองค์ประกอบของ ส.ส.ร. 

กับ 2. การกำหนดว่า ส.ส.ร. สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้มากน้อยเพียงใด

พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว. หลายคน ดูจะไม่ต้องการให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ต้องการให้บางส่วนมาจากการสรรหาแต่งตั้ง ซึ่งก็หมายความว่าตั้งใจจะกำกับการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามความเห็นของพวกตน ไม่ยินยอมให้ประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญดังที่หลายฝ่ายอยากจะให้เกิดขึ้น

ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ไม่ได้ห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่งไว้ เพียงแต่กำหนดว่าการแก้หมวดใดมาตราใดหรือเรื่องใดจะต้องมีการลงประชามติ แต่พรรคร่วมรัฐบาลกลับประกาศชัดเจนว่าห้ามแก้บางหมวดบางมาตราไว้ตั้งแต่ต้น

การที่พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.จำนวนไม่น้อยมีท่าทีเช่นนี้ ทำให้ไม่อาจคาดหวังได้เลยว่า การแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่ จะเป็นไปตามความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ยิ่งดูจากผู้ที่พรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสภาส่งมาเป็นกรรมาธิการด้วยแล้ว ยิ่งต้องตั้งคำถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.ต้องการจะให้แก้รัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ หรือทั้งหมดนี้เป็นเพียงเกมซื้อเวลาให้พลเอกประยุทธ์และพวกอยู่ในอำนาจไปนานๆ เท่านั้น

เมื่อไม่อาจคาดหวังอะไรจากการแก้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ นักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญและเรียกร้องทางการเมืองในประเด็นต่างๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไป อาจจะมองว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐสภากำลังทำอยู่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาของบ้านเมืองที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะเกิดการหันหลังให้กับกระบวนการทางรัฐสภาและรัฐสภาก็จะไม่อยู่ในจุดที่เป็นเวทีหรือที่ๆ จะช่วยหาทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งของประเทศอีกต่อไป

รัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกรัฐสภาจึงจำเป็นต้องทบทวนหาทางทำให้รัฐสภาและการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นเวทีและทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งของประเทศที่กำลังเข้มข้นขึ้นทุกที

#วันรัฐธรรมนูญ

#แก้รัฐธรรมนูญ

ขัตติยา สวัสดิผล - รัฐธรรมนูญไทย: กฎหมายสูงสุดที่ควรมาจากประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "เดียร์-ขัตติยา สวัสดิผล" เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

รัฐธรรมนูญไทย...กฎหมายสูงสุดที่ควรมาจากประชาชน ส.ส.ร. ควรมาจากประชาชน “ทั้งหมด”

วันที่ 10 ธันวาคม หรือวันรัฐธรรมนูญ วนมาถึงอีกครั้ง แน่นอนว่าเดียร์ขัดใจกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอยู่ไม่น้อย 

ประเทศไทยมีคำฮิตติดปากว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” และ “รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ”

เมื่อประเทศไทยเรามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งแปลว่าทุกคนมีสิทธิ เสียง และเสรีภาพเท่าเทียมกัน การอยู่ร่วมกันโดยไม่ทะเลาะจึงจำเป็นต้องทำกฎระเบียบพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม เราควรจะต้องใช้กฎระเบียบพื้นฐานตัวนี้เป็นหลักสูงสุด และขยายกิ่งก้านสาขาไปเป็นกฎในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการอยู่ร่วมกันภายในประเทศในทุกมิติ กฎระเบียบพื้นฐานตัวนี้แหละ ที่เราจะเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ”

เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญคือกฎระเบียบพื้นฐานที่เราจะต้องเอามาใช้เป็นหลักเพื่อให้ประชาชนในประเทศอยู่กันอย่างสงบสุข การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาสักฉบับก็ควรมาจากประชาชนทุกคน เมื่อประชาชนมีจำนวนมากเกินไปที่จะเข้ามาร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ การให้ประชาชนเลือกตัวแทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญคือวิธีที่ดีที่สุด เพราะนั่นหมายถึงประชาชนให้อำนาจบุคคลที่ตนเลือกเข้าไปทำหน้าที่แทน เช่นนี้จึงจะเหมาะสมกับคำฮิตที่ว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพราะคนที่มีอำนาจสูงสุดนั่นแหละ คือคนที่ร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้นเองผ่านตัวแทนที่ตนเลือก 

รัฐธรรมนูญที่ประเทศไทยต้องการจึงต้องไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกลุ่มคนที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยพวกเผด็จการ เพราะพวกเผด็จการมันคือพวกที่ยึดอำนาจสูงสุดไปจากประชาชนด้วยการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง

ที่เขียนมาทั้งหมด เดียร์แค่อยากจะบอกว่า แค่เริ่มต้นที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2560 มันก็ผิดแล้ว เพราะมันถูกร่างขึ้นโดยคนกลุ่มเดียวที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชนที่ถืออำนาจสูงสุดอยู่เลย เขาว่ากันว่า...รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกร่างขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารปี 2557 จริงหรือไม่...เดียร์ว่าทุกท่านคงมีคำตอบอยู่ในใจ

“กฎหมายรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ ก็เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของร่างกายมนุษย์ ขนาดเรานอนผิดท่าเรายังปวดหลัง แล้วหากกระดูกสันหลังเราพัง เราจะลุกขึ้นเดินไปข้างหน้ากันได้อย่างไร?”

ช่วยกันทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญกลับคืนสู่มือประชาชนเถอะค่ะ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีคุณค่าสมราคากับที่ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย

สุขสันต์วันรัฐธรรมนูญค่ะ

"ทวี" หนุนแก้รัฐธรรมนูญ ที่มา สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเพิ่มเติม ร่วมเสวนา เรื่อง "สสร. กับก้าวต่อไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ที่จัดโดยคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และองค์กรเครือข่าย ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ ประธานครช., นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ., นายพนัส ทัศนียานนท์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และนายคํานูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ กมธ.

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวในระหว่างการเสวนาว่า ประเด็นการเสวนาว่า วันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ หลังจากคณะราษฏรยึดอำนาจโดยคณะราษฎร ประมาณ 5 เดือนมีการจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จในวันที่ 10 ธันวาคม 2457 จึงกำหนดเป็นวันรัฐธรรมนูญ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ จาก ‘รัฐสมบูรณาญาสิทธิราช’ เป็น ‘รัฐราษฎร’ แต่ผมจะชอบพูดว่า ‘รัฐประชาชาติ ชาติหมายถึงประชาชน’ ที่หมายถึงประชาชนพลเมืองของประเทศทุกคน การเกิดรัฐธรรมนูญทำให้เกิดชุมชนใหม่ที่มาจากราษฎร ชุมชนที่หนึ่งคือ ‘คณะรัฐมนตรี’ ซึ่งเดิมอาจจะมาโดยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช แต่คณะรัฐมนตรีใหม่มีโอกาสมาจากราษฎรสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐมนตรีที่มาจากชาวบ้านชุมชน ที่สองคือ ‘สภาผู้แทนราษฎร’ ในขณะนั้นมี’สภาเดียว’ มาจากชาวบ้าน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติเราภาคภูมิใจคือได้มีคนที่มีชาติพันธุ์มลายูได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรจากผลพวงของรัฐธรรมนูญที่เป็นรัฐประชาชาตินั่นคือท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา และยังเกิดรัฐข้าราชการที่มาจากระบบการศึกษา ที่ไม่ได้มาจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช การศึกษา ของราษฎรแข่งขันกันศึกษา เกิดนักเรียนทุนขึ้นมามากมาย นี่คือจุดเปลี่ยน รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 เป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุด ใช้มานานเกือบ 14 ปี แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือวงจรอุบาทว์ คือการรัฐประหารเมื่อปี 2490 หลังจากนั้นมา เราจะเห็นวงจรนี้มาตลอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คือการยึดอำนาจ เขียนรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีรัฐมนตรีหรือรัฐบาล แต่สถานการณ์วันนี้คิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนของศตวรรษได้คือเงื่อนไขของสังคมประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป และสภาพที่คนมองเห็นภัยว่ามาจากรัฐธรรมนูญ 60 เป็นภัยของมวลมนุษย์ จึงมีการเรียกร้องให้แก้ไข ทั้งที่ใช้ไปไม่ถึง 3 ปี และเงื่อนไขที่เป็นตัวแปรสำคัญมากคือผู้นำ ถ้าผู้นำประเทศ ที่ไม่ศัทธาต่อประชาธิปไตย เป็นผู้ฉีกรัฐธรรมนูญและยังมีเงื่อนไขสำคัญอีกข้อหนึ่งที่มองไม่เห็นและผมเดาไม่ออก คือเงื่อนไขของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่น่าเชื่อเลยว่าวันนี้การชุมนุมของประชาชนพูดถึงรัฐธรรมนูญและปัญหาความไม่เสมอภาค สมัยก่อนนั้นการชุมนุมแค่ขับไล่ แต่คราวนี้พูดถึงรัฐธรรมนูญ พูดถึงรัฐสวัสดิการ สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ สิทธิที่ไม่เสมอกัน และมีประเด็นพูดที่สภาว่าทำไมมีลิฟต์แยกชนชัน คือลิฟต์เฉพาะ ส.ส. และ ส.ว.แยกกับประชาชน ทั้งที่เป็นเงินภาษีของประชาชน เป็นคนไม่เท่ากันหรือเปล่า วันนี้เหมือนคนด้านบนจะอ้างว่าเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ แต่ยุคสมัยนี้หรือการตื่นรู้ของสังคม รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของคนที่นั่งอยู่ข้างบน แต่เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน เราก็ยังมีความเชื่อมั่นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะคืนอำนาจให้แก่เจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้จัดทำ เพราะเป็นพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย 

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ฝ่ายค้านเสนอได้ศึกษากันมาเป็นปี เราจัดทำร่างให้แก้ไขได้ เงื่อนไขชองรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีจำนวนหมวดมากที่สุดคือ 17 หมวด และนอกจากจะมีหมวดที่เป็นรัฐธรรมนูญ รัฐสภา ยังมีรัฐอิสระ นั่นคือศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านมี 212 เสียง ซึ่งครึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือ 375 ฝ่ายค้านแก้ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ฝ่ายค้านจะหวังจากพรรคร่วมรัฐบาลเช่นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย จะสนับสนุนเพราะ พปชร สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี จึงคงไม่ยากแก้ เมื่อจะแก้รัฐธรรมนูญเสียงครึ่งหนึ่งรัฐสภาคือ 366 คน 

ร่างเสนอแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลเกิดจากแคร์ความรู้สึกของ ส.ว.ต้องการเอาใจ ส.ว.ก็เลยกำหนดเสียง 3 ใน 5 นั่นคือ ประมาณ440 คน มันเป็นเรื่องที่ยากมาก ใ่ายค้านเสนอให้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เพราะอาจจะแก้ให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.ตัดอำนาจ ส.ว.แต่หาก ส.ว.มาจากการคัดสรรตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาจสกการแต่งตั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ 

แต่บนความโชคร้ายก็มีความโชคดี ผมให้เครดิตแก่คนนอกสภาที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญ60เป็นภัยคุกคาม เมื่อฝ่ายค้านเสนอแก้ไข ฝ่ายรัฐบาลเสนอตาม กับ ส.ว.เห็นว่าชาติบ้านเมืองมีความสำคัญ ก็มาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พรรคร่วมฝ่ายค้านเน้นย้ำจุดยืนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี สสร.ที่มาจากกระบวนการทางประชาธิปไตยมากขึ้น ต้องยอมรับว่าเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านมีน้อยกว่าเสียงฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านมี 212 เสียง ส่วนฝ่ายรัฐบาลรวมกับ ส.ว.มี 522 เสียง ในรัฐสภา ส.ส.ฝ่ายค้านเราต้องมีเหตุและผล เราควจะไปโน้มน้าวให้เขาโหวตสนับสนุนด้วยคงยาก แต่เชื่อมั่นว่าเขาจะนึกถึงประชาชน

พันตำรวจเอก ทวี มองออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ประชาชน 2.รัฐธรรมนูญ 3.ผู้บริหาร โดยปกติเราต้องให้ความสำคัญสูงสุดแก่ประชาชน ต้องสูงสุดกว่ารัฐธรรมนูญและองค์กรต่างๆ เพราะประชาชนเป็นมนุษย์ เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรักความหวงแหนและมีส่วนในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญที่ผ่านการร่างโดย สสร.มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 มีอายุแต่ 2 ปีกว่า ฉบับปี 2511 มีอายุ 3 ปี ฉบับปี 2540 มีอายุ 8 ปี ฉบับปี 2550 มีอายุ 7 ปี แต่รัฐธรรมนูญปี 2475 ที่ไม่ได้มาจาก สสร.มีอายุ 14 ปี แสดงว่าการจะทำรัฐธรรมนูญมันไม่ใช่แค่ สสร.อย่างเดียว แต่ตัวรัฐธรรมนูญจะต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ได้คุณค่าจากรัฐธรรมนูญ คิดว่ากระบวนการประชาธิปไตยในส่วนของ สสร.มีความสำคัญ รัฐธรรมนูญที่เราคิดว่าเป็นประชาธิปไตย ได้แก่รัฐธรรมนูญปี 40 ยังไม่ผ่านประชามติ แต่รัฐธรรมนูญที่คนไม่ชอบ เห็นว่ามีความเลวร้าย อย่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านประชามติ ดังนั้นกระบวนการประชาธิปไตยในการมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ จะทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนมีการขับเคลื่อนและมานำเสนอเป็นกฎหมายให้ สสร. อาจ ตั้งกรรมาธิการสามัญหรือวิสามัญที่เผยแพร่ให้แสดงความคิดเห็นร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อประชาชนมีส่วนกำหนดชะตากรรมตนเองแล้ว ประชาชนจะมีความรัก ความหวงแหนรัฐธรรมนูญของตนเอง