วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2566

“ทวี” ดับร้อนประชามติเอกราช เปิดเวทีรับฟัง ”องค์กรพุทธ”

“ทวี สอดส่อง” ดับร้อน “ประชามติแยกดินแดน” ลุยนราธิวาสเปิดเวทีรับฟังความเห็นองค์กรพุทธชายแดนใต้เป็นพรรคแรก ครั้งแรกตั้งแต่หลังเลือกตั้ง พี่น้องพุทธดีใจ หนุนประชาชาติได้เก้าอี้รัฐมนตรีดับไฟใต้ เสนอตั้งคณะทำงานดูแลความมั่นคงกลุ่มคนพุทธปลายด้ามขวาน พร้อมเร่งฝ่ายความมั่นคงอัพเดตรายชื่อกลุ่มก่อความไม่สงบ ยอมรับตกใจมีการทำประชามติจำลอง

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.พัฒนวุฒิ อังคะนาวิน, นายธนาวิทย์ ไชยานุพงศ์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาชาติ เดินทางไปร่วมรับประทานอาหารเที่ยงที่วัดพรหมนิวาส ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น พร้อมร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้กับ “ผู้แทนองค์กรพุทธ” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี 

บรรยากาศการพูดคุย ผู้แทนองค์กรพุทธกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความดีใจที่พรรคประชาชาติเป็นพรรคการเมืองแรกลงมาพบองค์กรพุทธ หลังได้สนทนากันรู้สึกว่าทางพรรคมีความเข้าใจปัญหา และอยากร่วมทำงานกับพรรคประชาชาติ 

นอกจากนี้ ยังเสนอให้พรรคประชาชาติตั้งคณะทำงาน 1 ชุดเพื่อพัฒนาความมั่นคงของพี่น้องไทยพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ตรวจสอบรายชื่อกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือกลุ่มก่อความไม่สงบที่หลบหนีตามบัญชีรายชื่อของหน่วยความมั่นคงที่มีอยู่ ให้ตรงกับปัจจุบัน (อัพเดตรายชื่อผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเสียใหม่) เพราะน้ำตาไม่ว่าของพุทธหรือมุสลิม เวลาร้องไห้ก็เหมือนกันหมด พบความลำบากเหมือนกัน 

ผู้แทนองค์กรพุทธชายแดนใต้ ยังกล่าวถึงกิจกรรมการทำ “ประชามติจำลอง” สอบถามความเห็นเรื่องการทำประชามติเอกราชปาตานีให้ถูกกฎหมายด้วย โดยบอกว่า รู้สึกตกใจที่มีการจัดกิจกรรมแบบนี้ แต่ก็ยังตั้งความหวังกับพรรคประชาชาติที่จะมาแก้ปัญหาในภาคใต้ให้กับทุกคนได้ โดยขอให้พรรคประชาชาติได้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงที่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย 

ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวในวงพูดคุยว่า ทุกพรรคจะส่งคนลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนจริงๆ ซึ่งคณะทำงานชุดใหญ่ (คณะทำงานสนองตอบปัญหาของประชาชน เรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) น่าจะมีการประชุมอีก 1-2 ครั้ง แล้วน่าจะนำคณะชุดใหญ่ลงมารับฟังในพื้นที่ 

“พรรคประชาชาติ ถ้าไม่แก้ปัญหาภาคใต้ แล้วไปแก้ปัญหาที่อื่น ก็ไม่ต้องมีพรรคประชาชาติ เราเชื่อว่าเราจะตั้งรัฐบาลได้ และผลักดันนโยบายที่รับปากกับประชาชน ไม่ว่าทางด้านเศรษฐ์กิจ การศึกษา สร้างความเจริญให้พื้นที่ต่างๆ ไม่ได้สร้างเฉพาะคนภาคใต้ ต้องสร้างให้คนทั้งประเทศ ในแง่ของศาสนา ต้องเรียนว่าคนพุทธต้องอยู่ได้ พระต้องอยู่ได้ วัดต้องอยู่ได้ ต้องอยู่ได้อย่างได้รับเกียรติ เช่นเดียวกับคนมุสลิมที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสามจังหวัด แต่คนมุสลิมจะต้องอยู่ในประเทศไทยได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน” เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ 

ด้าน พระครูโฆสิตสุตาภรณ์  เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม กล่าวว่า เรื่องภาคใต้ ไม่มีเรื่องไหนสำคัญกว่าปัญหาความไม่สงบ และเชื่อว่าพรรคประชาชาติรู้ปัญหาดี สมมุติว่าพรรคประชาชาติได้เป็นรัฐบาล สมมุติว่าท่านทวีได้เป็นรัฐมนตรี อยากให้เป็นรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ในการแก้ปัญหาภาคใต้โดยตรง 

“คนที่อยู่ในพื้นที่และเข้าใจปัญหาดีจะรู้ว่าจะต้องแก้อย่างไร เพราะถ้าท่านไปเป็นรัฐมนตรีเกษตร ใครก็เป็นได้ในประเทศนี้ และบางทีคนที่จะมาแก้ปัญหาในระดับนโยบายเรื่องภาคใต้ เกือบ 20 ปีมีคนบาดเจ็บ มีความเจ็บปวด ทุกคนอยากให้ปัญหานี้มันยุติไปในทางที่ควรจะเป็น อยากให้ ส.ส.ทุกคนที่เข้าไปในสภาอย่าไปคิดว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่มาร่วมคิดแก้ปัญหา เพราะปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาชาติ ไม่ใช่ปัญหาของพุทธ มุสลิม ไม่ใช่ปัญหาของใครเลย แต่มันเป็นปัญหาของพวกเราทั้งประเทศ และกระบวนการแก้ปัญหาโดยวิธีการแสวงหาทางออกทางการเมือง เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ขอให้กำลังใจ อยากให้มีรัฐบาลแก้ปัญหานี้ได้จริง” เจ้าอาวาสวัดยะหริ่ง กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ผ่านมาพรรคประชาชาติถูกจับโยงกับกิจกรรม “ประชามติเอกราชปาตานี” เพราะมีบุคคลระดับรองหัวหน้าพรรคไปร่วมงานสัมนาที่ ม.อ.ปัตตานี ด้วย เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาทางพรรคก็ยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน แต่ก็ยังมีความพยายามจากบางฝ่ายไปยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบพฤติกรรมของพรรค 

.

แต่การลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ พ.ต.อ.ทวี และคณะ โดยได้พบกับผู้แทนองค์พุทธชายแดนใต้ ทำให้ภาพลักษณ์และแรงกดดันที่มีต่อพรรคลดน้อยลง เพราะนับเป็นพรรคการเมืองแรกที่เปิดเวทีรับฟังพี่น้องชาวพุทธในพื้นที่ ตั้งแต่หลังเลือกตั้งเป็นต้นมา และทางพรรค โดยเฉพาะ พ.ต.อ.ทวี ก็ร่วมกิจกรรมกับพี่น้องไทยพุทธอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด

วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2566

สุดคึกคัก! “วันนอร์-ทวี” นำพรรคประชาชาติ สัมมนาเดินหน้าเตรียมความพร้อม ว่าที่ ส.ส.ใหม่

(10 มิถุนายน 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท  กรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ผ่านมา พรรคประชาชาติ นำโดย นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา  หัวหน้าพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมคณะ ว่าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบเขตเลือกตั้ง จัดงานสัมมนา การเตรียมตัวสำหรับบทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฯ โดย มีการกล่าวขอบคุณ และให้กำลังใจ ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค และทีมงานเบื้องหน้าเบื้องหลัง ของผู้สมัคร ส.ส. ทุกคน และกล่าวแสดงความยินดีกับ ว่าที่ ส.ส. ของพรรคประชาชาติ ที่ร่วมกันแสดงถึงความมุ่งมั่นในการทำเพื่อประชาชน



สำหรับเนื้อหาการเสวนา ประกอบด้วย การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อเสนอต่อ กกต. ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  โดย คุณอนุสรา  มู่ฮัมหมัด นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย ยังมีเนื้อหาการอบรม การพูดในที่ชุมชน และเทคนิคการปราศรัย การนำเสนอภาพลักษณ์ การพัฒนาบุคลิกภาพ ความรู้เกี่ยวกับหลักการพูดการสื่อสาร ความรู้เกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการประชาสัมพันธ์  ตลอดจนการฝึกปฏิบัติการเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ และหลักการพูด การสื่อสารเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ขณะที่ในช่วงค่ำ จะมีอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ ปี พ.ศ.2562 ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรด้วย  โดยมีการจัดงาน 2 วัน ระหว่างวันที่ 10-11 มิถุนายน 2566



ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ว่าที่ ส.ส. ของพรรคประชาชาติ มีทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย 

1. นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา หัวหน้าพรรค และ ว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 

2. พ.ต.อ.ทวี  สอดส่อง เลขาธิการพรรค และ ว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

3. นายกมลศักดิ์  ลีวาเมาะ ว่าที่ ส.ส. จังหวัดนราธิวาส

4. นายสมมุติ  เบ็ญจลักษณ์ ว่าที่ ส.ส. จังหวัดปัตตานี

5. นายวรวิทย์ บารู ว่าที่ ส.ส. จังหวัดปัตตานี

6. นาย สาเหะมูหามัด อัลอิดรุส ว่าที่ ส.ส. จังหวัดปัตตานี

7. นายซูการ์โน  มะทา ว่าที่ ส.ส. จังหวัดยะลา 

8. นายอับดุลอายี  สาแม็ง ว่าที่ ส.ส. จังหวัดยะลา

9. นายสุไลมาน บือแนปีแน ว่าที่ ส.ส. จังหวัดยะลา















































วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566

"ทวี" แนะรอ “SEA:สงขลา-ปัตตานี” ชะลอให้ประทานบัตรเหมืองหินสายบุรี

จากกรณี เครือข่ายประชาชนพิทักษ์เขาเตราะปลิง รวมตัวคัดค้านโครงการขอประทานบัตรเหมืองหินแกรนิต และบุกล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ที่เทศบาลตำบลเตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสำนักงานอุตสาหกรรมประจำจังหวัดปัตตานี และ บริษัท อิบนู อัฟฟานแกรนิต กรุ๊ป จำกัด โดยอ้างเหตุผลว่าไม่เปิดให้ประชาชนกลุ่มคัดค้านการขอประทานบัตรเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยนั้น


ล่าสุด สื่อมวลชนได้สอบถามเรื่องนี้มายัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ส่วนตัวขอให้กำลังใจประชาชน และขอเรียนว่าจุดยืนส่วนตัวให้ความสำคัญระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม การพัฒนาต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนรวม ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และต้องคำนึงถึงความยั่งยืน

การจัดทำโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ จะต้องมี “การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (Strategic Environmental Assessment) หรือ SEA ก่อน

.

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า กรณีพื้นที่ปัตตานีนั้น มีโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี SEA:สงขลา-ปัตตานี ที่เป็นผลมาจากการรุกขึ้นสู้ของ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ได้คัดค้านและชุมนุมเรียกร้องโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อปี 2564-2565 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลต้องชะลอโครงการ และต้องทำผลประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เสียก่อน

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.65 รัฐบาลให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลงนามสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในการจัดทำ SEA “แผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี” วงเงินค่าจ้าง 28.22 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษานาน 18 เดือน หรือแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567

.

ขณะที่การจัดทำ SEA ครั้งนี้ จะมีการจัดเวทีประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรวม 40 เวที และมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 3,000 คน แบ่งเป็นปี 2566 จำนวน 32 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 2,100 คน และปี 2567 จำนวน 8 เวที ผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 900 คน

.

จากการติดตามทราบว่ามีการประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27-29 พ.ค.66 จัดขึ้นที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งถือว่าทุกอย่างดำเนินการไปตามครรลองที่ควรจะเป็น

“จุดยืนส่วนตัว การทำโครงการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ต้องรอผลการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี หรือ SEA:สงขลา-ปัตตานี ให้เสร็จก่อน เพราะ SEA ครอบคลุมทั้ง 3 ด้านของการพัฒนา ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากแผนหรือแผนงานที่ไม่ยั่งยืน และที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียหรือเสื่อมสภาพของสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ หรืออาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณในการพัฒนาประเทศ” พ.ต.อ.ทวี กล่าวในที่สุด

.

วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566

"ประชาชาติ" รับเรื่องร้องเรียน-ขอความยุติธรรม แก้ปัญหาประมง

(2 มิถุนายน 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานพรรคประชาชาติ กรุงเทพฯ ว่า เมื่อเวลา 14.00น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และว่าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และ นายพิสุทธิ์ อังจันทร์เพ็ญ ฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาชาติ และนายมนตรี บุญจรัส คณะกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ รับเรื่องร้องเรียน ขอความเป็นธรรมจาก นายศรัณย์ แก้วชัยเจริญกิจ, นายกฤษดา ตั้งวิชิตฤกษ์ และนายขันธ์ชัย ซิ้มสกุล ในฐานะกลุ่มตัวแทนผู้ได้รับปัญหาความเดือดร้อน จากกรณีปัญหาประมง โดยข้อบังคับทางกฎหมายสร้างผลกระทบกับประชาชน ซึ่งพรรคประชาชาติ จะร่วมพิจารณาศึกษาข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำประมง เพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาช่วยประมงไทยต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566

"พ.ต.อ.ทวี" ติงแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ ขัดเจตนารมณ์ประชาชน

(1 มิถุนายน 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในประเด็นกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางคน มีแนวคิดที่จะเสนอรัฐบาลแห่งชาติ โดย  พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า "แนวคิดดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะในกระบวนการประชาธิปไตย ประชาชนไปเลือกตั้งแล้ว ซึ่งคำว่าชาติในความหมายของรัฐบาลแห่งชาติ ไม่ใช่ชาติของประชาชน แต่เป็นชาติของบางคนที่กำลังจะหมดอำนาจ แต่คล้ายกับว่ายังต้องการตำแหน่งและผลประโยชน์ จึงสร้างเรื่องขึ้นมาเพราะอาจมีความวิตกกังวล ซึ่งเป็นธรรมดาของคนที่อยู่ในอำนาจจนเคยชิน วันนี้ทุกอย่างเดินตามขั้นตอนอยู่แล้ว เราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เชื่อมั่นเสียงของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยรวมกว่า 70% ฉะนั้น ถ้าหากใครไม่พอใจผลที่ออกมาก็ขอให้เขารอไปอีก 4 ปีครับ"