วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

"เมื่อไหร่จะหยุด?" ทักษิณ ชินวัตร FB ถามผู้มีอำนาจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


เรียน พี่น้องที่เคารพรัก

ผมตั้งใจที่จะหยุด โดยไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ รวมทั้งไม่ต้องการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่จะถูกมองหรือถูกอ้างว่าไปขัดขวางการทำงานของรัฐบาลทหารมานานมากแล้ว มิใช่เพราะกลัวรัฐบาลทหาร แต่เพราะผมตระหนักดีว่า พี่น้องร่วมชาติเรากำลังลำบาก โดยเฉพาะปัญหาปากท้องที่มีแต่จะย่ำแย่ลงทุกวัน จึงอยากให้รัฐบาลทหาร ได้ใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างเต็มที่

แต่ระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้นในบ้านเมือง รัฐบาลกลับพยายามป้ายสี โดยพูดให้คนเข้าใจว่า ตัวผมอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ หรือลากผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุระเบิดตรงแยกราชประสงค์บริเวณพระพรหม หรือเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในเขตจังหวัดภาคใต้ ก็จะโยนบาปมาให้ผมทันที ซึ่งทุกครั้งความจริงก็ปรากฏในภายหลังว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลเองทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวผมเลย

ไม่เพียงแต่ตัวผมคนเดียว ครอบครัวของผมก็ตกเป็นเหยื่อของการกล่าวหา ใส่ร้ายป้ายสี และถูกกระทำมาโดยตลอด ล่าสุดคือเรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ป ซึ่งหากมีการกระทำผิดจริงแล้ว รัฐบาลที่มาจากผลพวงของการรัฐประหาร 2-3 รัฐบาลที่ผ่านมา ย่อมต้องเอาผิดผมไปนานแล้ว คงไม่ปล่อยไว้จนกระทั่งหมดอายุความ จึงค่อยใช้ “อภินิหารทางกฎหมาย” มาเล่นงานผมแบบนี้ ซึ่งผมขอเรียนว่า ในหลักการของกฎหมายสากล จะต้องไม่มีการใช้อำนาจหรืออภินิหารใดๆ นอกเหนือไปจากการใช้ “ความเที่ยงตรงและเป็นธรรม” ในการสั่งฟ้องหรือตัดสินคดีเท่านั้น

ครั้งนี้ ผมจำเป็นต้องออกมาพูดอีกครั้ง เนื่องจากมีความพยายามที่จะสร้างภาพว่า ตัวผมเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกับขบวนการล้มล้างระบอบการปกครองของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมยอมรับไม่ได้ ตัวผมขอยืนยันว่าผมมีความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และเคยถวายงานเจ้านายทุกพระองค์ ด้วยหัวใจแห่งความจงรักภักดีมาตลอด และมีความเชื่อมั่นที่แน่วแน่มั่นคง ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง และผมเชื่อว่า ระบอบการปกครองของไทยเรานี้ ประกอบกับพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ คือสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยของเรารักษาเอกราชและความเป็นไทยมาได้ตราบจนทุกวันนี้

ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของไทย คือการปฏิวัติรัฐประหารมากกว่า และการรัฐประหารตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ ใช้ข้ออ้างที่แทบไม่เคยเปลี่ยน คือความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การทุจริตคอรัปชั่น แต่ทั้งนี้ ภายใต้การปกครองของทหาร ประชาชนไม่มีโอกาสตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาลเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการรัฐประหารครั้งใดที่ไม่ใช้หลักนิติธรรมในการแก้ปัญหา ก็จะยิ่งทำให้ความไม่เข้าใจและความเห็นต่างกลับบานปลาย กลายเป็นความขัดแย้งที่จะแก้ไขได้ยากขึ้นทุกที

ผมต้องจากประเทศไทยที่ผมรักสุดชีวิตมาร่วมสิบเอ็ดปีแล้ว ต้องจากบ้านที่เคยอยู่ จากครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่ง เนื่องจากการรัฐประหาร จากนั้นแล้ว ยังถูกใส่ร้ายป้ายสี รวมถึงถูกกลั่นแกล้งด้วยการตั้งคณะบุคคลซึ่งเป็นปฏิปักษ์ขึ้นมาตรวจสอบโดยไม่ใช้หลักนิติธรรม ซึ่งผมอยากให้พี่น้องได้รับทราบว่า ผมยินดีแบกรับความเจ็บปวดและความรู้สึกโดดเดี่ยวนี้ไว้ทั้งหมด ขอเพียงบ้านเมืองมีความปรองดอง สามารถเดินไปข้างหน้าได้ และพี่น้องหายทุกข์ยาก ผมก็พอใจและมีความสุขแล้ว

สำหรับกระบวนการปรองดองที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ผมขอให้ทุกฝ่ายโปรดตัดผมออกจากสมการไปได้เลยครับ ผมไม่ต้องการให้ใครมาเสนออะไรเพื่อช่วยตัวผม และในทางกลับกัน ผู้มีอำนาจก็ไม่ควรใช้อภินิหารและกระทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดผมเพียงคนเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม และต้องไม่เลี้ยงไข้ความ “ขัดแย้ง” ให้ยืดเยื้อ เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป ดังเช่นที่หลายๆ คนรู้สึกได้อยู่ทุกวันนี้
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมานี้ คนไทยทุกคนอยู่ในห้วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้หัวใจของเราทุกคนแตกสลาย พวกเราจึงควรใช้เวลานี้ มาร่วมกันทำสิ่งดีๆ ให้เกิดแก่บ้านเมือง รู้รักสามัคคี จริงใจในการสร้างความปรองดอง ซึ่งจะส่งผลให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข เพื่อเป็นการส่งเสด็จพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้ายให้สมพระเกียรติ ด้วยความจงรักภักดีอย่างแท้จริง

สุดท้ายผมอยากจะบอกว่า “ผมคือคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่เติบโตจากครอบครัวธรรมดาครอบครัวหนึ่ง และวันนี้ก็ยังเป็นคนธรรมดาคนเดิม ผมถือว่าผมโชคดีมากแล้ว ที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมี ได้สนองงานรับใช้สังคมไทยในฐานะต่างๆ มาไม่น้อยกว่า 35 ปี และจะขอรับใช้ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ผมรักนับถือ เคารพ และเทิดทูน ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ไม่ว่าผมจะอยู่ ณ หนใดบนพื้นพิภพนี้”
ผมหยุดแล้วครับ ท่านล่ะ เมื่อไหร่จะหยุดสักที อย่ารักชาติ รักสถาบันฯ เพียงแค่คำพูดกันเลยครับ

วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

"ดร.ทักษิณ ไม่ใช่โจทก์ไม่ใช่จำเลย" เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กับ คำถาม-ตอบประเด็น หุ้นชินฯ


กองบรรณาธิการ Social Media สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 เรียบเรียงเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ ของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ต่อสื่อมวลชน ในฐานะฝ่ายกฏหมาย ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในประเด็นที่รัฐใช้ "อภินิหารทางกฏหมาย" ปิดใบประเมินเรียกเก็บภาษี 1.7 หมื่นล้านบาท ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : ไม่ใช่โจทก์ไม่ใช่จำเลย หลายคนก็ไปบอกว่าเป็นจำเลย ใช้ภาษาก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกร้องที่ 1 ก็คือ ท่านทักษิณ ที่ 2, 3, 4 รายละเอียดก็คือ คุณหญิงพจมาน แล้วก็คุณโอ๊ค คุณเอม หลังจากที่ทาง คตง. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีแนวความคิดตั้งแต่ปลายปี 2557 ว่าจะต้องเก็บภาษีจากคำพิพากษา น่าจะทำได้ ทีนี้ สตง. เป็นองค์กรอิสระที่มี 2 องค์กรอยู่ในตัวเดียวกัน คือ องค์กรกลุ่มก็คือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน องค์กรเดียวก็คือตัวผู้ว่าฯสตง. เรื่องนี้คนมักไม่เข้าใจ ก็ไปคิดว่าผู้ว่าฯสตง. ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ กลับไปหาอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดูได้มีชี้ไว้ อันนี้ก็ให้ชัดเจน ทีนี้ สตง. เนี่ย คตง. ไม่มีหน้าที่ออกหนังสือ เพราะฉะนั้น ที่เห็นมาตลอดก็คือตัวผู้ว่าฯอภิสิทธิ์ก็คือคนออกหนังสือ แต่ในแนวความคิดที่บอกว่า จะขอให้เอามาตรา 3 อัฎฐ มาขยายการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 ก็ทำไม่ได้ แล้วก็จบไปแล้ว ด้วยคำวินิจฉัยที่ 41/2560 ของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ผู้สื่อข่าวก็คงจะเห็นแล้ว

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : ทีนี้ก็ยังมีความพยายามตีความ ฟังมาหลายกระแส ทั้งสื่อฯที่ลง ทั้งโฆษกรัฐบาล ทั้งรองนายกฯวิษณุ ที่ไปตีความอภินิหารขึ้นมา ก็ฟังมาว่าเป็นแนวความคิดของคนใน สตง. เอง ก็จะเป็น คตง. หรือ สตง. เดี๋ยวค่อยว่ากัน ถ้ามีการฟ้องร้อง ก็คงได้นำสืบพยานกันให้ชัดเจน ก็ไปอธิบายความว่าอายุความภาษี คือการออกหมายเรียกเนี่ย อายุความ 5  ปีมันจบไปแล้ว แต่หนี้ภาษีตามประมวลกฎหมายแพ่งมัน 10 ปี อันนี้ถูกต้อง แต่นับเมื่อไหร่ อันนี้เดี๋ยวจะอธิบายความ เมื่อรัฐบาลได้ประชุมกัน 2 รอบ น่าจะมีคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ผมให้ความเคารพ ท่านประธาน คตง. อ.ชัยสิทธิ์ ก็คงจะมีการชี้แนะให้ความเห็นไว้ ว่า อายุความ หมายเรียกต้องถือว่าที่ออกหมายเรียกให้คุณโอ๊ค คุณเอมได้ออกไปแล้ว เมื่อศาลได้พิพากษาไปแล้ว คุณโอ๊ค คุณเอมถือหุ้นแทนท่านทักษิณ ก็ถือว่าหมายเรียกนั้นมีการออกไปแล้ว ไม่ต้องขยาย และอายุความ 10  ปี ก็ไปนับจากหมายเรียก หมายเรียก 2 ฉบับหลัง มีการไปนับว่า คุณโอ๊ค คุณเอม ครบกำหนดยื่นภาษี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2550 พอนับ 10 ปี ก็มีเหตุว่า 31 มีนาคม 2560 ที่จะถึงวันศุกร์นี้ เป็นเหตุให้ต้องรีบออกหนังสือแจ้งประเมิน


นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : วันนี้ผมก็เลยมาท้วงว่าเลขหมายประเมิน 320 , 321 มี 2  ฉบับ คุณโอ๊คฉบับนึง คุณเอมฉบับนึง มันออกโดยอาศัยฐานอำนาจ การตีความเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ถามว่าทำไมเป็น (2) อันนี้ต้องไปถาม คตส. ที่เพิ่งจะออกมาพูดกัน บางคนก็พูดอธิบายความว่าทำเรื่อง คนทำเรื่องจริงคือคนนี้ คือเรืองไกรเองเป็นคนทำ ทำตั้งแต่อยู่ในรายงานวุฒิสภา ก็คุยกัน ขณะนั้นผมก็ยังอยู่ตรง คตส. ตรงที่ปรึกษาผู้ว่าฯสตง. เราก็อธิบายมาสรรพากร ว่าเงินได้ของคุณโอ๊ค คุณเอมในฐานะเป็นกรรมการแอมเพิลริช เมื่อได้ส่วนต่างราคาหุ้น มันจึงเข้ามาตรา 40 (2) ฟังให้ดีนะครับ (2) เหมือนเงินเดือนเรา เหมือนค่าจ้าง ค่าที่ปรึกษา นี่เป็นเหตุที่ให้กรมสรรพากรต้องฟัง คตส. เสร็จแล้วก็ทำการยกเลิกหนังสือ 2 ฉบับแรก หนังสือหมายเรียกประเมิน 2 ฉบับแรก อธิบายอยู่ในหนังสือแล้ว ซึ่งตอนนั้นเข้าใจว่ากรมสรรพากรบอกว่าเป็นมาตรา 40 (8)  ฟังดีๆนะครับ (2) กับ (8) ใช้ 40 (8)  ประเมินคุณโอ๊ค คุณเอมไปก่อน ขณะที่ยังไม่ถึงขั้นตอนวินิจฉัย ขั้นตอนการออกตัวเลข คตส. อธิบายความบอกว่าให้ยกเลิก 2 ฉบับนั้น มาใช้ 40 (2) เป็นเหตุให้อายุความที่นับนั้นมาเป็น 31 มีนาคม 2560

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : อธิบายสั้นๆง่ายๆว่า มาตรา 40 (2) กับ (8) ประมวลรัษฎากร มาตรา 39 เงินได้พึงประเมินคืออะไร? คงพอทราบ ประเภทเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มี 4 วงเล็บ อยู่ในมาตรา 40 คือ (1) คือเงินเดือน , (2) ที่ปรึกษา , (4) ก็คือเรื่องหุ้น เงินปันผล , (5) คือค่าเช่า , (6) วิชาชีพอิสระ , (7) รับเหมา และ (8) การพาณิชย์และการอื่นๆที่ไม่เข้า (1) - (7) เหตุที่ตีความว่าเป็น 40 (2) ก็เพราะคุณโอ๊ค คุณเอมเป็นกรรมการแอมเพิลริช แต่ถ้าวันนี้กลับมาตีความว่า คุณโอ๊ค คุณเอมไม่ใช่ เป็นตัวแทนตัวการ ผมก็จะมาท้วงว่า ถ้าท่านนายกฯทักษิณเป็นไปตามคำพิพากษาก็ต้องใช้หนังสือประเมิน 2 ฉบับแรก ที่ คตส. ยกเลิก ต้องกลับไปใช้ 40 (8) ทีนี้มาดูว่าเหตุเกิดเมื่อไหร่? กรณีนี้ ตีความง่ายๆ จริงๆมันวันที่ 20 มกราคม 2549 แต่รายงานเป็น 23 เอา 23 มกราคม 2549 เงินได้ตามมาตรา 40 (5) , (6) , (7) , (8) ถ้าเกิดขึ้นระหว่าง 1 มกราคม - 30 มิถุนายนของแต่ละปี ให้ยื่นแบบภาษีครึ่งปี คือ ภงด. 90 อันนี้คือฉบับแรก เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้ากรมสรรพากรจะดำเนินการตามมติ ครม. จะเดินตามอภินิหารของคุณวิษณุ หรือใครก็แล้วแต่ ตามใน คตง. และ สตง. ผมเห็นว่าทำไม่ได้แล้ว เพราะว่าถ้าตีความกลับไปตามหมายเรียก 2 ฉบับแรก นายกฯทักษิณมีหน้าที่ยื่นแบบ 30 กันยายน 2549 ไม่ใช่ 31 มีนาคม 2560 อย่างที่เข้าใจ แล้วก็ต้องไปย้อนเอาหมายเรียก 2 ฉบับแรกกลับมาใช้ในการประเมิน ถามว่าทำได้ไหม ไม่ได้ เอกสารยกเลิกการประเมินแนบอยู่ในหนังสือคำร้องทั้งหมดแล้ว เพราะกรมสรรพากรโดยคำแนะนำของ คตส. ให้ยกเลิก จะไปนับว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ยศในขณะนั้น หรือ อดีตท่านนายกฯทักษิณ มาเสียภาษี 31 มีนาคม 2560 ก็ไม่ได้ เพราะวันที่เกิดเงินได้พึงประเมินคือ 23 มกราคม 2549 ถ้าเกิด 23 กรกฎาคม 2549 อายุความก็จะจบวันศุกร์ ชัดเจนนะครับ นี่คือเหตุที่ว่าต้องเอาหนังสือประเมินทั้ง 4 ฉบับ ที่เรียกว่าหมายเรียก เลขที่ 546 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 อันนี้ไปถึงคุณโอ๊ค เลขที่ 547 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 ไปถึงคุณเอม ในแบบหนังสือประเมินเขียนชัดครับครึ่งปีแล้วถึงออก แล้วทำไมต้องออก 6 พฤศจิกายน 2549 ทำไมไม่ออกหลังวันที่ 31 มีนาคม 2550 เมื่อ คตส. ให้ยกเลิก สรรพากรก็มีหนังสือไปเรียกมาว่าขอยกเลิก เนื่องจาก คตส. แนะนำมา จึงออกเลข 320 ในวันที่ 30 มีนาคม 2550 คือออกหลังจากครบกำหนดยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดาเป็นรายปี เหมือนพวกเราวันนี้ ภายในวันศุกร์ต้องยื่นแล้ว ใครมีเงินได้ 2-3 ประเภท ก็ยื่นเป็น 90 ใครมีประเภทเดียวก็ 91



นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : เสร็จแล้วปรากฏว่าพอออกหมายประเมินคำนวณภาษีเสร็จ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ คือคุณโอ๊ค คุณเอมก็ต้องใช้สิทธิ์อุทธรณ์ภายใน 30 วัน ก็อุทธรณ์ กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ก็ออกหนังสืออุทธรณ์มา 2 ฉบับ คือเลข 385 และ 386 แนบอยู่ในเอกสารทั้งหมดแล้วนะครับ ลง 22 กันยายน 2552 บอกว่าการประเมินเนี่ยตามมาตรา 40 (2) เพราะคุณโอ๊ค คุณเอมเป็นกรรมการแอมเพิลริช ถูกต้องแล้ว แต่ให้ลดค่าปรับหรือเบี้ยปรับเหลือกึ่งหนึ่ง คือปรับหนึ่งเท่าเหลือครึ่งนึงของหนึ่งเท่า แต่เงินเพิ่ม ไม่มีอำนาจในบทบัญญัติให้ลดได้ อันนี้เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ลงเช่นนี้ก็คือเห็นด้วยกับการประเมิน คุณโอ๊คคุณเอมก็มีสิทธิ์ฟ้องศาลภาษีอากรกลาง ก็ฟ้องไป ศาลก็รวมสำนวน เป็นเลขคดีที่เป็น 242 , 243 ที่ว่า ผมก็ถ่ายหน้าที่เกี่ยวข้อง คุณโอ๊ค คุณเอมก็สู้ว่าการประเมิน ขณะที่สู้คดีเนี่ยก็เกิดการยึดทรัพย์ วันนี้หลายคนก็ไปอ้างหน้า 100 จริงๆอยู่ในราชกิจจาจะเป็นหน้า 66-67 ที่พูดถึงเนี่ย มาตรา 61 ที่ต้องการเรียกเก็บภาษีนายกฯทักษิณก็ไปแปลความเกินไป เพราะในนั้นมาตรา 61 เนี่ยให้เรียกเก็บกับชื่อผู้ที่มีปรากฏอยู่ในหนังสือสำคัญก็ได้ มีคำว่าก็ได้ ศาลพิพากษาเสร็จแล้วก็มีการพิจารณาในคดีศาลภาษีอากรกลาง ศาลภาษีอากรกลางถูกฟ้อง

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : ฟังดีๆนะครับ เมื่อเช้ายังดูข่าวว่าหลายสื่อฯก็ไปบอกว่าสรรพากรฟ้อง ไม่ใช่ สรรพากรเป็นจำเลย คุณโอ๊ค คุณเอมเป็นโจทก์ฟ้อง เมื่อมีคดียึดทรัพย์ ศาลภาษีอากรกลางก็วินิจฉัยชัดเจนแล้วว่า การที่ออกหนังสือประเมิน 2 ฉบับ ไปยังคุณโอ๊ค คุณเอมไม่ชอบ คำตัดสินอยู่ในหน้า 77 คำพิพากษาอยู่ในหน้า 78 คำที่ฟ้องอยู่หน้า 14-15 ฟ้องว่าขอให้เพิกถอนหนังสือ เพิกถอนการประเมิน ก็คือเพิกถอนหนังสือที่เกี่ยวข้อง และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เนี่ยครับก็เกิดประเด็นตามมาอีก มีคนไปยกคำวินิจฉัย 39 /2555 ขึ้นมา ก็ถามว่าถ้าหุ้นเป็นของท่านนายกฯทักษิณ อันนี้เป็นการถือแทน แปลว่าอะไร? คณะกรรมการวินิจฉัยไม่ตอบ ตอบว่าความชัดเจนอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกานักการเมือง อม.1/2553 และคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางแล้ว ส่วนข้อ 2 ก็ไปตีความอีกว่า ถ้าบอกอย่างนี้ก็แปลว่าต้องไปเก็บภาษี ไม่ใช่ครับ เขาบอกเพียงแต่ว่ากรมสรรพากรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป สรรพากรจึงวินิจฉัยว่าเก็บไม่ได้แล้ว นี่คือข้อโต้แย้งตั้งแต่ปี 2555 คำวินิจฉัยภาษีอากร มี 41/2560 อันนี้บังคับใช้หลังวันประกาศราชกิจจาฯ เพราะเป็นบททั่วไป แต่คำวินิจฉัย 39/2555 ให้บังคับตั้งแต่วันที่ออกคำวินิจฉัย ประกาศเมษายน แต่ออกต้นมีนาคม วันที่ 12 มีนาคม อันนี้รายละเอียดผมดูหมดแล้ว


นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : ผมถึงบอกว่าขอเตือน วันนี้มาขอเตือนว่า เจ้าหน้าที่ ข้าราชการประจำ ทราบว่า ผมเห็นใจ มีความลำบากใจ เพราะเอกสารที่ผมเอามาก็คือเอกสารสรรพากรเนี่ยละครับ เอามายันให้ท่านเห็นว่าท่านจะต้องใช้คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง คำพิพากษาศาลฎีกาฯ เป็นกำแพงพิงหลัง ถ้าไปฟังมติ ครม. ไปฟังความเห็น สตง. จะโดย คตง. หรือผู้ว่า สตง. ก็แล้วแต่ มันไม่ใช่ความแพ่ง คือการสู้ความแพ่ง ถ้ายึดอายัดทรัพย์ มันจะนำไปสู่เหตุแห่งการฟ้องคดีอาญาตามมา แล้วไม่ใช่ 157 อย่างเดียว ความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีมาตรา 123 /1 ตามมาด้วย เพราะฉะนั้นคนที่ปรากฏเป็นข่าว คนที่อยู่ในเรื่อง ครม. อะไรเนี่ย ผมเก็บหมดแล้ว

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : แต่ด้วยความประสงค์ของท่านนายกฯทักษิณที่ทราบมาช่วงท้ายๆ ท่านก็บอกว่า หาทางพูดคุยกัน อย่าให้มีการฟ้องร้องเลย เพราะว่าที่ผ่านมา ท่านก็อยู่ของท่านเฉยๆ อยู่ต่างประเทศเนี่ย 10 กว่าปีแล้ว ครอบครัวก็ไม่ได้เจอหน้า โดยเฉพาะภริยา ท่านก็พูดก็กล่าวบอกว่าไม่ได้เจอหน้ากันนานแล้ว แล้วก็ทราบว่าบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องเนี่ย อาจจะไม่ได้ยึดหลักกฎหมาย ท่านก็บอกว่าบางคนเนี่ยอาจจะมีอคติเป็นการส่วนตัวกับท่าน อันนี้ก็เป็นเบื้องหลังลึกๆ รายละเอียดผมทราบหมด แต่พูดตรงนี้ยังไม่ได้ คงไปว่ากันในศาล ความหมายตามข่าวของมาตรา 8 ผมยังเห็นว่าถ้ามีการยื่นไปจริง จะเป็นความผิดอีกขั้นตอนหนึ่ง จะใช้มาตรา 8 โดยเอาหนังสือประเมินที่ถูกศาลเพิกถอนไปแล้วมาใช้คงไม่ได้ และถ้าจะใช้ต้องไปใช้ 2 ฉบับแรก ที่ คตส. ให้ยกเลิก


แล้วตอนนี้คุณทักษิณทราบในเรื่องของการประเมินหรือยัง?
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : เข้าว่าท่านทราบข้อความตามหนังสือของผม ฟังดีๆนะ เราต้องดูว่าที่ปรากฏตามข่าวหนังสือนั้นเป็นอะไร เพราะในข่าวพูดถึงมาตรา 8 ซึ่งมี 3 วรรค ไปอ่านดีๆ ถ้าผมดูจากข่าวมันเป็นวรรค 2 มันก็ไม่ถูกแล้ว มันต้องใช้วรรค 1 ก่อน

ทั้งหมดที่คุณเรืองไกรอธิบายมา คือเหมือนว่าถ้าตามมาตรา 8 เดิมเขาใช้มาตรา 8 วรรค 2 แต่ถ้าอ้างอิงตามศาลภาษีอากรกลาง ก็กลับไปใช้มาตรา 8 อีกก็คือไม่ได้ใช่หรือไม่?
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : ไม่ได้แล้วครับ เกินมาตรา 19 เกิน 5 ปี

คำว่านอมินี นี่ไม่ได้ใช่หรือไม่?
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : ไม่ได้ เพราะพิพากษา ลง 26 กุมภาพันธ์ 2553 หนังสือประเมินลง 30 เมษายน 2550 ขณะนั้นยังไม่มีใครรู้ สรรพากรก็ไม่รู้ สตง. ก็ไม่รู้ ผมเองก็ยังไม่รู้ ว่าศาลจะพิพากษาคดียึดทรัพย์ว่าท่านทักษิณเป็นตัวแทน เป็นตัวการ คุณโอ๊ค คุณเอมเป็นตัวแทน เข้าใจหรือไม่ครับ? เพราะฉะนั้นคุณจะเอาเหตุของปี 2553 ย้อนเวลาไปเป็นปี 2550 แล้วก็ทึกทักเอาว่าอันนั้นเป็นการประเมินท่านทักษิณไปในตัว ไม่ได้ มันย้อนเวลาอย่างนั้นไม่ได้ หมาย 2 ฉบับแรกถูก คตส. ให้กรมสรรพากรยกเลิก เอกสารก็คือหนังสือที่ขออนุญาตเอ่ยนามท่านนะครับ นางวณี ทัศนมณเทียร ผอ.สำนักตรวจสอบภาษีอากรกลาง ลงวันที่ 30 เมษายน 2550 อ้างถึงหมายเรียก 546 , 547 ด้วยทางราชการมีความประสงค์จะพบท่านเพื่อจะแจ้งว่า มีข้อความที่มีการยกเลิกหมายเรียกฉบับที่อ้างถึงตั้งแต่ต้น ชัดไหมครับ 2 ฉบับแรกที่ออกโดยมาตรา 40 (8) ถูกยกเลิก 2 ฉบับหลังที่ออกต่อจากนี้ศาลเพิกถอน


ศาลภาษีเพิกถอน?
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : ใช่ครับ หน้า 77 และหน้า 78 ในคำพิพากษา

แล้วจะนับอายุความคดีอย่างไร?
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : มันนับไม่ได้ เพราะมันเลย ตอนนี้ต้องถามว่าอายุความนี้ เหตุเกิด 23 มกราคม 2549 ถ้าเป็น 40 (8) มกราคมก็เป็นรายได้ครึ่งปีแรกต้องยื่นภาษีครึ่งปี ภงด.94 ภายใน 30 กันยายน 2549 เพราะฉะนั้น อายุความเริ่มนับหลัง 30 กันยายน 2549 ถ้านับตามกฎหมายแพ่ง อายุความ 10 ปี  มาตรา 167 เดิมเป็น 193/31 อะไรที่ว่านี่นะครับ ต้องนับ 1 ตุลาคม 2549 ก็มาจบ 30 กันยายน 2559 เลยมาแล้วเกือบ 6 เดือน

แต่โดยปกติ ถ้ายื่นเป็นบุคคลธรรมดา ต้องยื่น 31 มีนาคม ไม่ใช่หรือ?
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : ไม่ใช่ครับ อันนั้นเฉพาะมาตรา (1) , (2) ให้ยื่นเต็มปี เหมือนพวกเรา เราเป็นนักข่าวผมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

ต้องยื่นครึ่งปีหลังด้วยหรือไม่?
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : อีกครึ่งปีหลังก็นำมารวมกับครึ่งปีแรกที่ให้มา เขาขอเก็บภาษีก่อน อันนี้มีในฎีกาเยอะครับ แต่อธิบายยากเพราะหลายคนต้องมานั่งอ่านต้องเข้าใจ

ถ้าสรรพากรยังจะเดินตามที่ว่าอ้างอภินิหารทางกฎหมาย?
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : มันไม่ได้สู้แพ่งไงครับ ที่เป็นห่วงก็คือมันต้องสู้กันด้วยคดีอาญา แล้วถ้าจะใช้เนี่ย เข้าใจตรงกันแล้วว่าเป็น 40 (8) เพราะนายกฯทักษิณไม่ใช่กรรมการแอมเพิลริชแล้วในวันที่ซื้อขายหุ้น ก็ต้องเป็น 40 (8) อายุความตามแพ่ง อายุความหมายเรียกตามมาตรา 49 เลยหมดแล้ว


คุณทักษิณก็พร้อมที่จะต่อสู้ใช่หรือไม่?
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : ท่านไม่อยากต่อสู้หรอกครับ ท่านถึงบอกให้ผมมาในทางฐานะที่อยู่ในทีม หาวิธีมาคุยกัน อธิบายให้เข้าใจ อย่าต้องมานั่งมีความกันเลย คือถ้าบอกว่าแจ้งแล้ว ภายใน 30 วันไม่มา ก็ไปเจอกันในศาล ผิดถูกก็ให้ศาลตัดสิน มันไม่ใช่ความแพ่งอย่างเดียวครับ อาญาตามมาแน่นอน

อยากจะขอเจรจากับสรรพากร?
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : ไม่ ท่านไม่มีสิทธิ์เจรจาอยู่แล้ว เพราะว่าสิทธิ์ของท่านมันไม่เกิด เพราะว่ามันหมดไปแล้ว

ที่ท่านบอกให้มาคุยให้เกิดความเข้าใจ ให้มาคุยกับใคร?
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ : ผมในฐานะที่บอกแล้วว่า เรื่องนี้มันเริ่มจากผมเป็นส่วนสำคัญนะครับ ผมก็ยังไม่อยากเป็นตัวแทนท่านเต็มตัว เพราะว่าถ้าจะเป็นผมก็ต้องหาวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งให้ท่านมอบอำนาจให้ แล้วผมก็ต้องติดอากร 30 บาท ผมถึงจะกระทำการได้ หนังสือที่อยู่ในหมายนี้ก็เป็นหนังสือมอบอำนาจทุกครั้ง ไม่งั้นก็พูดคุย แต่ในฐานะที่เรามีส่วนเกี่ยวข้องและอย่างไม่เป็นทางการ วันนี้ถึงอยากได้มาเตือน ใช้คำว่าขอเตือนเลยนะ เพราะมีส่วนร่วม หลายคนก็บอกว่าผมมาบีบมานี่นู่นนั่น คดีเก่าที่มีความกับผมยังไม่จบ เพราะงั้นคุณเบญจา เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร คนที่คืนเช็คผม ก็ยังไม่จบ วันนี้ยังจะมีอีกเหรอ มันไม่ใช่แค่กรมสรรพากรอย่างเดียว ยังมีอีกหลายคนที่เกี่ยวข้อง

หมายเหตุ -
TV24 - "เรืองไกร" บุกเตือนสรรพากร เรียกภาษี "หุ้นชินฯ" ขัดกฏหมาย 
https://youtu.be/_dxvb74pkqI

"ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีภาระภาษี" นพดล ปัทมะ กับ คำถาม-ตอบประเด็น หุ้นชินฯ


กองบรรณาธิการ Social Media สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 เรียบเรียงเนื้อหาการแถลงข่าว ของ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะ ฝ่ายกฏหมาย ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในประเด็นที่รัฐใช้ "อภินิหารทางกฏหมาย" ปิดใบประเมินเรียกเก็บภาษี 1.7 หมื่นล้านบาท ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ยืนยัน ไม่มีภาระภาษี
นพดล ปัทมะ : ตามที่มีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ได้ปิดเอกสารการประเมินเรียกเก็บภาษีจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวเลขกลมๆประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ผมในฐานะที่เป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและทีมกฎหมายในเรื่องนี้ ผมอยากจะกราบเรียนอย่างนี้ครับว่า ทีมกฎหมายเห็นว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีภาระภาษีตามกฎหมายตั้งแต่ต้นนะครับ ไม่ใช่มีเจตนาเลี่ยงภาษี แต่ท่านไม่มีภาระภาษีตั้งแต่ต้น

จะอุทธรณ์หรือไม่?
นพดล ปัทมะ : ดร.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกประเมินมีสิทธิ์ที่จะเรื่องนี้ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในเวลา 30 วัน คำตอบก็คือ เราเชื่อว่า เราจะสามารถจัดทำเอกสารและก็ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน ได้นะครับ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการฟอร์มทีมนักกฎหมายขึ้นมาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะแล้วนะครับ โดยเห็นว่าจะสามารถอุทธรณ์และชี้แจงได้ทุกประเด็น ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการเรียกประเมินภาษีนี้ เอกสารที่ยื่นวันนี้มีหลายแผ่นนะครับ ทางทีมกฎหมายของผมจะไปค่อยๆดู เพื่อที่จะตอบ ข้อโต้แย้งในทุกประเด็นนะครับ

ธุรกรรมการซื้อขายเสมอว่าไม่ได้เกิดขึ้น
นพดล ปัทมะ : ประเด็นที่สำคัญ อยากจะกราบเรียนเพื่อนสื่อมวลชนอย่างนี้ครับ เราเห็นว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีภาระและความรับผิดที่จะต้องชำระภาษี เนื่องจากหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงหลายข้อ แต่ขอเน้น 2 ข้อ ในเบื้องต้นก่อน มีหลายข้อนะครับ แต่ 1 ใน 2 ข้อนั้น คือ
  • ผมขอย้ำครับ เคยมีคำพิพากษาสรุปความตอนหนึ่งได้ว่า หุ้นที่นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทาน ซื้อมาจากแอมเพิลริช เป็นหุ้นของ ดร.ทักษิณและภริยา นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทานถือหุ้นไว้แทนและไม่ใช่เจ้าของแท้จริงของหุ้นครับ ในความเห็นของทีมกฎหมายและตัวผมก็คือ เจ้าหน้าที่จะสรุปว่ามีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวระหว่างแอมเพิลริช และนายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทาเพื่อประเมินภาษีได้อย่างไร? ในเมื่อหุ้นนั้นมันเป็นของท่าน ดร.ทักษิณ นะครับ ในเมื่อหุ้นเป็นของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร นะครับ ในเมื่อหุ้นเป็นกรรมสิทธิ์เป็นของ ดร.ทักษิณและภริยามาแต่ต้น ธุรกรรมการซื้อขายจึงเสมอเหมือนว่าไม่ได้เกิดขึ้น อันนี้เป็นนัยสำคัญทางกฎหมายในเมื่อหุ้นเป็นของ ดร.ทักษิณและภริยา ธุรกรรมระหว่าง แอมเพิลริช กับ คุณโอ๊ค คุณเอม ถือเสมือนว่าไม่ได้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีเงินได้และภาระภาษีนะครับ ประเด็นอยู่ตรงนี้ นอกจากหุ้นจะเป็นของ ดร.ทักษิณ แล้ว ท่านยังเอาหุ้นของตัวเองไปขายในตลาดหลักทรัพย์อันนี้เป็นประเด็นที่สองที่ทำให้ไม่มีภาระภาษีครับ นั่นคือประเด็นของเนื้อหาสาระข้อต่อสู้บางส่วน
  • แต่ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นก็คือเรื่องนี้มันจบไปแล้วขาดอายุความไปแล้ว เพราะฉะนั้นการที่กรมสรรพากรการที่บอกว่าไปพบ มิราเคิลออฟลอว์ หรือเรียกว่า อภินิหารทางกฎหมาย ที่บอกว่าที่ออกหมายเรียกไปให้คุณโอ๊ค คุณเอม ถือเสมือนเป็นตัวแทนของ ดร.ทักษิณ ที่เป็นตัวการ ข้อต่อสู้นี้รับฟังไม่ได้ครับ เพราะว่าคุณโอ๊ค คุณเอม ไม่ใช่ตัวแทนของ ดร.ทักษิณ เป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทนเท่านั้น ดังนั้นการส่งหมายเรียกไปยังคุณโอ๊ค คุณเอม ไม่ถือเสมือนว่าส่งไปให้ ดร.ทักษิณ นะครับไม่ได้ผูกพันตัว ดร.ทักษิณ อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง 

ภาษีหุ้นชินฯ จบไปนานแล้ว
นพดล ปัทมะ : ผมก็เลยอยากจะสรุปเพื่อสื่อมวลชนในวันนี้ว่าจริงๆเรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ปจบไปนานแล้ว มันเกิดขึ้นหลายรัฐบาลผ่านมาหลายคน ผ่านอธิบดีก็หลายท่าน แต่ทำไมมีความพยายามที่จะประเมินภาษีอีกครั้งหนึ่ง ผมก็ขอต้องใช้คำพูดนี้แหละครับให้พี่น้องประชาชนว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรีเองท่านก็บอกให้สัมภาษณ์เองว่า เรื่องนี้กรมสรรพากรระบุว่า อาจดำเนินการไม่ได้นะครับ ผมเชื่อมั่นในกรมสรรพากรโดยเฉพาะความเห็นในขณะนั้น คำถามก็คือทำไมวันนี้จึงมาปิดประกาศประเมินภาษีอีกทั้งๆที่แต่ก่อนก็เคยบอกว่าประเมินภาษีไม่ได้นะครับ จึงมีคำถามที่หลายคน นักกฎหมาย-พี่น้องประชาชนสอบถามมาก็คือว่า เรื่องนี้มันมีการดำเนินการที่เท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน และสอดคล้องตามหลักนิติธรรมหรือไม่? มันมีคำถามนี้อยู่ในใจของคนหลายคนโดยเฉพาะตัวท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ

จะดำเนินการอย่างไรต่อ?
นพดล ปัทมะ : ผมอยากจะกราบเรียนเพิ่มเติมครับ ในกรณีที่มีการดำเนินการใดๆที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและหลักนิติธรรม ในกรณีที่มีการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อ ดร.ทักษิณ ขอเรียนครับ ท่านขอสงวนสิทธิ์ในการที่จะดำเนินการฟ้องร้องตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นๆ และดำเนินการอื่นๆที่จำเป็นตามขบวนการยุติธรรมในเวลาต่อไปครับ จะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวท่านเอง แต่สิทธิ์ของตัวท่านเองก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่ท่านอดีตนายกฯทักษิณท่านเห็นว่าจำเป็นจะต้องรักษาระบบกฎหมายและหลักนิติธรรมของประเทศเอาไว้ เพราะหลักนิติธรรมมีความจำเป็นครับ ในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นของประเทศ ท่านเห็นอย่างนี้ครับว่าแม้ตัวท่านจะอยู่ในต่างประเทศ ท่านเห็นว่าท่านอยากเห็นประเทศมีหลักนิติธรรม เพราะมันจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความปรองดองนะครับ อันนี้เป็นเอกสารที่ผมอยากจะพยายามที่จะอ่านตามตัวอักษรเพื่อให้ตรงกันนะครับ

ฟ้องกรมสรรพกรอย่างเดียวหรือว่าจะฟ้องในส่วนอื่นด้วย?
นพดล ปัทมะ : ตอนนี้ทีมกฎหมายกำลังไปพิจารณา ผมตอบอย่างนี้ได้ไหมครับว่าคงจะมีการดำเนินการฟ้องร้องตามมาตรา 157 ในเวลาที่เหมาะสม ส่วนจะฟ้องใคร แค่ไหน เพียงไร ในชั้นนี้ทีมกฎหมายจะไปดูรายละเอียดเอกสารที่เป็นหมายประเมินในวันนี้นะครับ แล้วจะไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าจะดำเนินการกับท่านใดได้บ้าง ผมได้รับอนุญาตให้แถลงในชั้นการฟ้องร้องในมาตรา 157 เพียงแค่นี้ เพราะว่าทีมกฎหมายต้องไปหารือกันถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง แต่คงจะมีการดำเนินการปกป้องสิทธิ์ของท่านตามที่จะพึงมีอย่างแน่นอนครับ


หลังจากที่ทำการขออุทธรณ์ใน 30 วัน แต่หากคณะกรรมการอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ ขั้นตอนต่อไปจะทำอย่างไร?
นพดล ปัทมะ : อันนี้เป็นคำถามสมมุติว่าเขาจะไม่รับอุทธรณ์นะครับ ผมอยากจะเรียนว่าทางทีมทนายเชื่อว่าเรามีประเด็นที่เป็นสาระสำคัญในการต่อสู้ทั้งทางข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง แล้วก็หวังว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะรับอุทธรณ์และพิจารณาด้วยดีนะครับ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรในชั้นต้นนี้ คงยังไม่สามารถไปสรุปได้ในชั้นนี้ แต่มันมีกระบวนการต่อเนื่องต่อไปนะครับ ก็คือในชั้นศาลภาษีอากร ศาลภาษีอากรกลางต่อไป เป็นกระบวนการทางการศาลต่อไปครับ

ถ้าเขาไม่รับอุทธรณ์ใน 30 วัน เราก็จะไปฟ้องศาลภาษีอากรกลางใช่ไหม?
นพดล ปัทมะ : คือผมพูดในเชิงกฎหมายว่ามันมีขั้นตอนหลังจากการพิจารณาในชั้นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไป ก็คือในชั้นศาลภาษีอากรกลาง

ขั้นตอนต่อไป…?
นพดล ปัทมะ : คือ ผมพูดในเชิงขั้นตอนตามกฎหมายว่า ถ้าคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์วินิจฉัยออกมาว่า สมมุตินะครับ ดร.ทักษิณ ไม่มีภาระภาษี ขั้นตอนในส่วนฝ่ายของ ดร.ทักษิณ ก็สิ้นสุดแค่เพียงเท่านี้จริงไหมครับ? ก็ไม่ดำเนินการต่อ ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่มีภาระภาษี แต่ถ้าพิจารณาอีกแบบหนึ่ง มันก็มีขั้นตอนตามกฎหมายที่จะพิจารณาดำเนินการในชั้นศาลภาษีอากรกลางครับ

กระบวนการทางคุณทักษิณเอง ยืนยันว่า การใช้อภินิหารทางกฎหมายไม่ถูกต้องมาตลอด เมื่อเราเข้าสู่กระบวนการเช่นนี้ มันจะเป็นการยอมรับเสียเองหรือไม่ว่ากระบวนการมันไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น แต่เราไปยอมรับกระบวนการ?
นพดล ปัทมะ : เราจำเป็นจะต้องใช้สิทธิ์อุทธรณ์ครับ แล้วเราสามารถพูดได้ว่า ขั้นตอนหรืออภินิหารทางกฎหมาย มันไม่มีหลักนี้  มันมีแต่หลักนิติธรรม มันมีแต่หลักกฎหมายที่ชัดเจน เราก็ต้องไปพูดไปเขียนในอุทธรณ์ของเราว่าเรื่องนี้มันจบสิ้นไปแล้ว ไม่สามารถใช้อภินิหารทางกฎหมายเพื่อบอกว่ามันยังไม่ขาดอายุความ และขณะเดียวกันมันก็มีเนื้อหาสาระทางกฎหมาย ที่ไม่มีความรับผิดที่จะต้องรับชำระภาษีตั้งแต่ต้น เพราะเป็นการขายหุ้นของตนเองในตลาดหลักทรัพย์


อย่างที่ย้ำว่าธุรกรรมเป็นเสมอเหมือนว่าไม่ได้เกิดขึ้น แต่ว่าในทางอดีตที่ผ่านมา การทำธุรกรรมที่เป็นการขายหุ้นของคุณโอ๊ค คุณเอม ก็มีการเกิดขึ้น ตรงนี้มันจะสมเหตุสมผลเหรอครับว่า ธุรกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้น?
นพดล ปัทมะ : ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ครับ อย่างที่ผมอ้างในคำพิพากษาของศาลนะครับ ศาลท่านตัดสินว่า หุ้น 1,400 กว่าล้านที่เสนอขายให้แก่กองทุนเทมาเส็ก ในปี 2549 และหุ้น 329 ล้านหุ้นเศษ รวมอยู่ในนั้น ศาลท่านตัดสินว่าเป็น ดร.ทักษิณและภริยาคงไว้ซึ่งหุ้นนั้นนะครับ คำพิพากษาของศาลตัดสินว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้นเป็นของท่าน ดร.ทักษิณ เพราะฉะนั้นอธิบายต่อไปก็คือว่า ความเห็นของทีมกฎหมายและความเห็นของนักกฎหมายทั่วไปก็คือว่ากรรมสิทธิ์จะต้องติดอยู่กับคนหนึ่งคนใด เจ้าของกรรมสิทธิ์ในขณะนั้นยังเป็นของ ดร.ทักษิณและภริยา เพราะฉะนั้นกรรมสิทธิ์มันยังไม่โอนไปยังแอมเพิลริช และมันจะไม่สามารถโอนมายังคุณโอ๊คกับคุณเอมได้ และคุณโอ๊คคุณเอมเอาไปขายซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น เมื่อ กรรมสิทธิ์ยังติดกับ ดร.ทักษิณ ตั้งแต่ต้น ไม่ขาดสายต่อเนื่องนะครับ ตั้งแต่ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี จนกระทั้งถึงเวลาขายในเวลาปี 2549 ท่านเอาหุ้นของท่าน ซึ่งกรรมสิทธิ์ติดกับตัวท่าน เพราะฉะนั้นจึงถือเสมอเหมือนว่าท่านเอาของตัวเองไปขายและขายในตลาดหลักทรัพย์ ที่สำคัญคือขายในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีครับ

ตอนที่ขายให้กับกองทุนเทมาเส็ก ยังเป็นชื่อของคุณโอ๊ค คุณเอมในการขาย?
นพดล ปัทมะ : อย่างที่ผมเรียน ผู้พิพากษาศาลฎีกาตัดสินในปี 2553 การขายเกิดขึ้นเมื่อปี 2549 ใช่ไหมครับ ศาลตัดสินเมื่อปี 2553 แล้วก็ศาลภาษีอากรกลางก็ตัดสินต่อมา เพราะฉะนั้นคำพิพากษาของศาลปี 2553 ท่านตัดสินไว้ว่า หุ้นยังคงเป็นของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร คงไว้ซึ่งกรรมสิทธิ์ คือใช้คำนี้ ศาลภาษีอากรกลางบอกว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้น ผมอ้างจากศาลภาษีอากรกลางว่า กรรมสิทธิ์ในหุ้นเป็นของ ดร.ทักษิณ ชินวัตรและภริยา

แต่ก็มีคำตัดสินของศาลเมื่อไม่นานมานี้ กรณี เบญจา แล้วก็ศาลได้ระบุว่าเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษี?
นพดล ปัทมะ : คนละประเด็นกันครับ และนอกจากนั้นคำพิพากษาในคดีคุณเบญจา ยังไม่ถึงที่สุดครับ ยังต้องมีการอุทธรณ์ฎีกาต่อไป แต่คำพิพากษาที่บอกว่า ดร.ทักษิณและภริยา ยังคงไว้ซึ่งหุ้นในชินคอร์ปนั้นเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดแล้วครับ เมื่อปี 2553 ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ถามคำถามนี้ เพราะเป็นประเด็นที่เป็นเทคนิคทางกฎหมาย และก็เป็นผลของคำพิพากษา และกรรมสิทธิ์ติดกับตัวท่านตลอด

แนวทางการต่อสู้จะหยิบยกคำพิพากษาของภาษีอากรกลางเมื่อปี 2553 มาสู้ได้หรือไม่? ว่ามีการถอนหมายเรียกประเมินจากคุณโอ๊ค คุณเอมไปแล้ว?
นพดล ปัทมะ : ขอบคุณสำหรับคำถาม แสดงว่าติดตามเรื่องนี้ค่อนข้างใกล้ชิด ทีมกฎหมายจะสู้ในทุกประเด็น ทั้งเรื่องของเนื้อหาสาระและทั้งในเรื่องของเทคนิค คำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้องเราก็จะใช้คำพิพากษาของศาลด้วย เพราะว่าคำพิพากษาได้ตัดสินไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จะพิจารณาคำพิพากษาของศาลด้วย


การอุทธรณ์ครั้งต่อไปน่าจะอาทิตย์หน้าใช่หรือไม่? อะไรจะก่อนจะหลังระหว่างอุทธรณ์กับขบวนการฟ้องร้องตามมาตรา 157?
นพดล ปัทมะ : อุทธรณ์เป็นขั้นตอนแรกที่จะทำต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เข้าใจว่านับตั้งแต่วันปิดใบประเมินครับ เข้าใจว่าเช่นนั้น ส่วนจะยื่นวันไหน ก็ต้องให้เวลาทีมกฎหมายได้ไปทำงานกันนิดนึง แล้วก็ถ้าวันไหนที่ยื่นก็จะมีการชี้แจงต่อเพื่อนสื่อมวลชนอีกครั้งหนึ่งครับ

ทีมกฎหมายมีใครบ้างครับ?
นพดล ปัทมะ :ผมเป็นหนึ่งในนั้น ผมพูดได้เพราะว่าเป็นตัวผมเอง แต่ชื่อชัดเจนหรือคนที่เกี่ยวข้องขออนุญาตได้ปรึกษาหารือกันก่อนดีกว่า เพราะว่ามันเป็นสิทธิส่วนบุคคลของบางท่าน แล้วก็ถึงเวลาที่เหมาะสมก็คงสามารถชี้แจงได้ ไม่ได้เป็นความลับอะไรนะครับ แต่หมายถึงว่าขอให้มีความชัดเจนเพิ่ม เพราะตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เราหารือกันก่อนที่จะได้รับหนังสือประเมินนะครับ ขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องของการที่จะดูในรายละเอียดและเป็นข้อกฎหมายทุกประเด็น เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องมีทีมที่เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้นครับ


นพดล ปัทมะ : ขอบคุณเพื่อนสื่อมวลชนครับ ขอบคุณทุกท่านครับ สวัสดีครับ

หมายเหตุ -  
TV24 - "นพดล" แถลงค้านรัฐรีดภาษีหุ้นชินฯ เตรียมอุทธรณ์-ฟ้องกลับม.157
https://youtu.be/oqK88pvzNOU

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

"นพดล" แถลงค้านรัฐรีดภาษีหุ้นชินฯ เตรียมอุทธรณ์-ฟ้องกลับม.157


วันนี้ (28 มีนาคม 2560) นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชี้แจงแนวทางการต่อสู้คดี หลังจากที่กรมสรรพากรนำใบแจ้งประเมินเรียกเก็บภาษีประจำปีไปปิดไว้ที่บริเวณหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า จากการหารือของฝ่ายกฎหมาย ยืนยัน ดร.ทักษิณ ไม่มีภาระภาษีมาตั้งแต่ต้น เพราะมีคำพิพากษาว่าหุ้นที่คุณพานทองแท้และคุณพินทองทา ซื้อมาจากบริษัทแอมเพิลริช เป็นหุ้นของ ดร.ทักษิณ และภริยา ดังนั้น คุณพานทองแท้และคุณพินทองทาเป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทน ไม่ใช่เจ้าของหุ้น ธุรกรรมการซื้อไม่ถือว่าเกิดขึ้น รวมถึงการขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็ก กระทำการตลาดหลักทรัพย์จึงไม่มีภาระภาษีเช่นเดียวกัน อีกทั้งคดีภาษีนี้ขาดอายุความไปแล้ว จึงไม่สามารถขยายเวลาเพื่อประเมินภาษีได้

ฝ่ายกฎหมายจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ เรื่องนี้ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันนี้ เพื่อชี้แจงในทุกประเด็น เชื่อว่าคณะกรรมการอุทธรณ์จะรับฟังข้อเท็จจริงตามกฎหมาย ซึ่งหากตัดสินว่าไม่มีภาระภาษีเรื่องนี้ก็ยุติ แต่หากคณะกรรมการฯ ชี้ว่าต้องชำระภาษี ก็จะยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง และยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 และตามกฎหมายอื่นๆ เพื่อรักษาสิทธิ และระบบกฎหมายตามหลักนิติธรรม

วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560

"เรืองไกร" บุกเตือนสรรพากร เรียกภาษี "หุ้นชินฯ" ขัดกฏหมาย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ตัวแทนทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยเดินทางมายื่นหนังสือที่กรมสรรพากรวันนี้ ให้พิจารณาทบทวนเพื่อยุติการตรวจสอบและการจะประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ความพยายามของรัฐบาลที่กดดันให้กรมสรรพากรทำการประเมินและเรียกเก็บภาษีจากอดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้

นายเรืองไกร กล่าวว่า หากกรมสรรพากรมีการส่งหมายเรียกเพื่อประเมินภาษีมายังอดีตนายกรัฐมนตรี ก็ต้องมาดูในรายละเอียดของหนังสือดังกล่าวก่อนว่ามันคือ อะไร และหากกรมสรรพากรอ้างอิงคำสั่งของศาลภาษีอากรกลาง ในการใช้มาตรา 19 เพื่อมาดำเนินการในส่วนนี้ก็คงจะไม่ได้ เพราะเกินกำหนดเวลามาแล้ว และจะเอาหมายเรียกที่เคยออกเมื่อปี 2550 มาใช้ก็คงจะไม่ได้อีก ดังนั้นแม้กรมสรรพากรจะอ้างว่าทำตามคำสั่งของรัฐบาล ก็เห็นว่าทำไม่ได้แล้ว เพราะหมายเรียกที่เคยออกเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2550 ศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนไปแล้ว ส่วนหมายเรียกเมื่อ 6 พ.ย. 2549 ก็ได้ถูกยกเลิกเช่นเดียวกัน





"พิชัย" เตือนรัฐ หลัง "อาลีบาบา" เมินลงทุนในไทย


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า "ตามที่ อาลีบาบา ประกาศว่าจะไปตั้งศูนย์กระจายสินค้าในประเทศมาเลเซีย แทนที่จะตั้งในประเทศไทย ทั้งๆที่ประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกว่า และนายแจ๊ค หม่า ยังเคยมาเยือนไทยถึง 2 หน และรัฐบาลอ้างเสมอว่าสนิทสนมมากกับนายแจ๊ค หม่า แต่รัฐบาลกลับไม่สามารถชักชวนให้อาลีบาบามาตั้งในประเทศไทยได้ นายแจ๊ค หม่า บอกว่าได้คุยกับนายกฯ มาเลเซีย 10 นาที ก็ตัดสินใจเลย แสดงให้เห็นความแตกต่างของวิสัยทัศน์ของผู้นำที่เขามองออก โดยเหตุผลหนึ่งที่นายแจ๊ค หม่า เลือกที่จะตั้งในประเทศมาเลเซียคือ มาเลเซียมีความเป็นมิตรทางธุรกิจ ซึ่งหากพิจารณาประเทศไทยที่มีปัญหาทางการเมืองมายาวนานและยังไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ อีกทั้งระบอบการปกครองที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก และองค์กรความโปร่งใสสากลยังจัดระดับความโปร่งใสของไทยหล่นมาอยู่อันดับที่ 101 จากอันดับที่ 76 แถมล่าสุด ไทยยังถูกจัดอันดับการจ่ายสินบนอยู่อันดับที่ 3 แย่กว่า เมียนมาร์และกัมพูชาเสียอีก นอกจากนี้การที่ไทยยังไม่ยอมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การห้ามรถยนตร์ Uber ให้บริการ และการยังยึดติดกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หลายประเทศกำลังจะเลิกแล้ว และยังมี พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ และ ซิงเกิลเกตเวย์ ที่เป็นอุปสรรคกับธุรกิจออนไลน์ในอนาคตตามที่ได้เคยเตือนแล้วหลายหน และ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งล่าสุดยังจะมีอภินิหารของกฏหมาย ที่สื่อต่างประเทศมองว่าเป็นการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่จะเรียกเก็บภาษีจากกำไรของหุ้นที่รัฐยึดกำไรไปหมดแล้วอีก  จึงไม่แปลกใจเลยที่ทำไม อาลีบาบา และ แจ๊ค หม่า ถึงเลือกจะตั้งศูนย์กระจายสินค้าในมาเลเซียแทนที่จะเป็นประเทศไทย"

"การที่ไทยเสียโอกาสครั้งนี้นับเป็นความเสื่อมถอยของประเทศอย่างมากและหวังว่ารัฐบาลจะได้กลับมาพิจารณาสาเหตุและหาทางแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนของธุรกิจที่เป็นอนาคตของโลกได้ มิเช่นนั้นประเทศก็จะค่อยๆล้าหลังและเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆตามที่ธนาคารโลกออกมาเตือนและจะเป็นเหมือนทฤษฎีกบถูกต้มของกลุ่มอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ที่ได้ออกมาเตือนรัฐบาล และตนก็เคยเตือนเช่นเดียวกันมาโดยตลอด" นายพิชัยกล่าว

"เพื่อไทย" ไม่ขวางปรองดอง-แนะรัฐจริงใจฟังเสียงประชาชน


นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีแนวทางเรื่องการปรองดองและการหาทางออกของประเทศที่พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ ขอเรียนให้ทราบว่าผู้ใหญ่ในพรรคมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับผู้รับผิดชอบหากมีการดำเนินงานที่ยึดอยู่ในหลักการ และมีความจริงใจที่จะร่วมมือกันนำพาประเทศไทยก้าวข้ามความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในทุกวิถีทาง

ขอเรียนว่าข้อเสนอในการตั้งคณะกรรมการอิสระนั้น พรรคเพื่อไทยเสนออยู่บนหลักการที่เป็นสากล และเชื่อว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะคณะกรรมการอิสระย่อมประกอบไปด้วยบุคลากรที่มาจากทุกภาคส่วน มีองค์ความรู้หลากหลาย และที่สำคัญที่สุดก็คือสามารถคัดสรรบุคคลที่มีความเป็นกลางมาร่วมกันแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้ เมื่อคณะกรรมการมีความเป็นอิสระและไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผลการศึกษาและแนวทางตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ ย่อมได้รับการยอมรับจากประชาชนทุกหมู่เหล่า และยังสามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการปลดล็อคประเทศได้อย่างมั่นใจ ดังนั้นการตั้งคณะกรรมการอิสระภายหลังจากคณะทำงานเรื่องปรองดองของ คสช. เก็บข้อมูลจากทุกฝ่ายมาครบถ้วนแล้วจึงควรจะเป็นแนวทางที่ดีกับประเทศและเป็นที่ยอมรับของประชาชน มองมุมไหนก็ไม่น่าจะมีอะไรที่เสียหาย

และถ้าตกลงใจกล้าทำเพื่อประชาชน หัวหน้า คสช. จะดูหล่อในสายตาสังคมเสียด้วยซ้ำ และยังใช้ได้ต่อเนื่องยาวนานดีกว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีแต่คนตั้งคำถาม

นายจิรายุกล่าวว่า “ไม่ใช่พอเสนออะไรที่จะหาทางออกร่วมกัน ก็จะมีกลุ่มบุคคลบางประเภทยังได้ดีมีตำแหน่งบนความขัดแย้ง และยังมีพรรคการเมืองที่ชอบแต่เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น กล่าวหาคนนั้นคนนี้ไปเรื่อยๆ เพราะได้ดีจากการสร้างความขัดแย้งให้สังคมวันนี้ประชาชนเขามีความรู้ไปไกลแล้ว

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่มีลูกสมุนของพรรคการเมืองหนึ่งออกมากล่าวหาว่า แบบมั่วนิ่มว่ามีการเสนอเรื่องนิรโทษกรรมในที่ประชุมจากพรรคเพื่อไทยนั้น ถึงวันนี้ตนไม่คิดว่ายังมีนักการเมืองที่ชอบ มุสา และกล้าหากินกับความขัดแย้งด้วยมุกเดิมๆเหลืออยู่อีก เพราะถึงวันนี้ควรสำนึกกันได้แล้วว่าความขัดแย้งที่คนกลุ่มนี้ร่วมกันก่อขึ้น มันคือใบอนุญาต ที่จะยังไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนนั่นเอง ช่วงว่างๆ 2-3 ปี ที่ตกงาน แทนที่จะเอาเวลาไปศึกษาคิดค้นนโยบายดีๆเพื่อประชาชน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำตามวิถีทางของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยตามเจตจำนงค์ ที่เขียนกันไว้ แต่กลับยกโขยงกันมามุสากล่าวเท็จเพื่อสร้างความขัดแย้งในสังคม จะได้ไม่มีใครกล่าวหาได้ว่า ตั้งรัฐบาลในค่ายทหารได้

ตนไม่ได้แปลกใจในพฤติกรรมนี้ แต่เสียดายแฟนคลับที่เหนียวแน่นกับพรรคการเมือง นั้นๆคงต้องผิดหวังกับพฤติกรรมแบบนี้ไปอีกนาน

วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560

"เพื่อไทย" โต้รัฐขวางปรองดอง-ขอกรรมการอิสระ


พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีที่รัฐบาลระบุข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยเป็นการขัดขวางกระบวนการปรองดองว่า "ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยที่ยื่นต่อปลัดกระทรวงกลาโหม ให้มีคณะกรรมการอิสระเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดองขั้นสุดท้าย เป็นข้อเสนอที่เราได้เสนอในการพูดคุยที่กระทรวงกลาโหมก่อนหน้านี้ ตอนนั้นพูดไปเพียงสั้นๆ และบอกจะส่งรายละเอียดตามไปอีกครั้ง ซึ่งเขาก็ยินดี ยืนยันเราไม่ได้ขัดขวางการเดินหน้าสร้างความปรองดอง พรรคเพื่อไทยพร้อมให้ความร่วมมือในการสร้างความปรองดองของรัฐบาล"

วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

"อนุสรณ์" ถามรัฐ 5 ข้อ ตรวจสอบงบจัดซื้อเรือดำน้ำ


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน ว่า การเร่งรัดจัดซื้อเรือดำน้ำ มีคำถามมากมายจากภาคประชาสังคม พุ่งตรงเข้าใส่รัฐบาล ทั้งเรื่องภาระงบประมาณ สภาพเศรษฐกิจของประเทศ การพิจารณาอย่างรอบคอบเหมาะสมก่อนตัดสินใจจัดซื้อ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตระหนัก และขอตั้งคำถามมายังรัฐบาลดังนี้

1. ตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเคยมีการต่อสู้รบพุ่งกับใครทางทะเลหรือไม่? ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านถือว่าดีอยู่หรือไม่? มีการต่อสู้ทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่? ถ้าหากไม่มีภัยคุกคามทางทะเล ทำไมรัฐบาลจึงดึงดันรีบร้อนที่จะซื้อเรือดำน้ำในเวลานี้?

2. สภาพภูมิศาสตร์และข้อมูลสมุทรศาสตร์ของท้องทะเลไทยที่ตื้น การใช้เรือดำน้ำสามารถถูกตรวจจับได้ง่าย กองทัพสามารถใช้ประโยชน์จากเรือดำน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่?

3. สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่รัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ต้องจัดทำงบประมาณขาดดุล เงินคงคลังเหลือน้อย การใช้งบประมาณ 13,400 ล้านบาท ในการซื้อเรือดำน้ำลำแรก จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเงินคงคลังและกระทบรัฐบาลมากขึ้นหรือไม่?

4. การซื้อเรือดำน้ำลำแรก 13,400 ล้านบาทและอีก 2 ลำ จะเป็นการผูกพันงบประมาณอีกกว่า 20,000 ล้านบาท ถือว่ามีความเป็นธรรมกับรัฐบาลต่อไปหรือไม่?

5. การจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำครั้งนี้ มีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด? เป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบใด? และใครหรือองค์กรใดจะเป็นคนตรวจสอบ

ในสภาพเศรษฐกิจที่มีปัญหาข้างต้น อยากขอให้รัฐบาลตอบคำถามภาคประชาสังคมก่อนที่จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยหากนำเงินงบประมาณส่วนนี้มาดูแลประชาชนด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข จัดสวัสดิการคนสูงอายุ น่าจะเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชน อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามสโลแกนของรัฐบาล

หน่วยงานความมั่นคง บุกล้มงานเปิดตัวหนังสือ "ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา"


เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ และหน่วยงานความมั่นคง บุกเข้าระงับงานเปิดตัวหนังสือ "ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา" ของ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ในเวลา 10.00น. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , ดร.สุรสาล ผาสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสิงห์บุรี , นายสมคิด เชื้อคง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี , นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลพบุรี และนายนิยม ช่างพินิจ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพิษณุโลก มีกำหนดการเปิดตัวหนังสือ "ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา" ณ ร้านพลอยนารี สวนรถไฟ

โดยก่อนที่จะถึงเวลาการจัดงานดังกล่าว ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ และหน่วยงานความมั่นคง บุกเข้ามาในพื้นที่พร้อมมีการสั่งให้ระงับการจัดงาน พร้อมป้ายประกาศจำนวน 2 ป้ายมาติด อ้างเป็นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 หากฝ่าฝืนถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจและถ่ายบัตรประชาชนผู้ที่เข้าออกในบริเวณดังกล่าวเอาไว้ด้วย

นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย พูดคุยกับ พ.ต.อ.เศกสิทธิ์ สุภาอ้วน ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เพื่อสอบถาม ถึงเหตุที่ไม่อนุญาต ให้เปิดตัวหนังสือ "ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา" โดยหลังจากการเจรจา นายสมคิด เชื้อคง เปิดเผยว่า "คงไม่สามารถดำเนินการจัดงานต่อไปได้ เพื่อความสบายใจ ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และร้าน พลอยนารี อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวนายสมคิดมองว่า การเปิดตัวหนังสือ คงไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง ที่สำคัญหนังสือดังกล่าว เป็นหนังสือที่นำมาจำหน่าย ไม่ใช่หนังสือที่นำมาแจกฟรี"

สำหรับสาระสำคัญของหนังสือนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ระบุว่า "หนังสือทำลายจำนำข้าวแต่ฆ่าชาวนา  เป็นเพียงการ สะท้อนคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวนาใน 14 จังหวัด ว่าระหว่างที่ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวฯและหลังยุติโครงการรับจำนำข้าวฯมีความแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร? ขณะที่อีกมุมหนึ่ง เป็นการชี้แจง ถึงสาระสำคัญและกระบวนการดำเนินการจัดการโครงการรับจำนำข้าวฯ ถือเป็นข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่จะชี้แจงให้สังคมเห็นว่า โครงการรับจํานําข้าวฯ ไม่ได้ขาดทุนหรือเสียหายตามที่หลายฝ่ายพยายามกล่าวอ้าง โดยเงินที่ได้จากการจัดจำหน่ายหนังสือบางส่วนจะแบ่งไปช่วยเหลือพี่น้องชาวนา ซึ่งจะได้นำเงินในส่วนดังกล่าว ไปแบ่งเบาภาระ และชำระหนี้คืนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ด้านนายสมคิด เชื้อคง ระบุว่า วันนี้ยังไม่มีการ จำหน่ายหนังสือหรือแจกหนังสือให้กับพี่น้องสื่อมวลชน เพื่อความสบายใจ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ยืนยันว่าการขายหนังสือ ยังเดินหน้าต่อไปในราคาเล่มละ 250.- บาท ซึ่งอาจจะดูช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือเริ่มต้นจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือที่กำลังจะเกิดขึ้น