วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559

"จาตุรนต์" ติง ร่างฯรธน.เลวร้ายกว่าที่คิด เตือน กรธ.แสดงธาตุแท้

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


เลวร้ายกว่าที่คิด

เห็นร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นแล้วพบว่าเนื้อหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้มีอยู่ครบถ้วนและยังมีเนื้อหาส่วนที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อนเพิ่มเติมขึ้นมาอีกทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น

ร่างรัฐธรรมนูญนี้ทำให้อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชนชาวไทย แต่อำนาจทั้งหลายอยู่กับองค์กรและกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มาจากประชาชนและไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเช่นวุฒิสภา องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนุญซึ่งประชาชนตรวจสอบไม่ได้ เป็นการทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลอย่างสิ้นเชิง ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างนี้การเลือกตั้งจะไร้ความหมายคือประชาชนได้ไปเลือก แต่เลือกไม่ได้ รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะบริหารไม่ได้ ตอบสนองความต้องการของประชาชนไม่ได้และถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอไม่มีเสถียรภาพและอยู่ไม่ได้นาน ร่างนี้เป็นร่างที่สร้างเงื่อนไขและแรงจูงใจให้สังคมก้าวสู่วิกฤตที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการล้มรัฐบาล การขัดขวางการเลือกตั้งทำได้ง่าย เปิดช่องให้เกิดการตีความที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิไตยเช่นการให้มีรัฐบาลคนนอกที่อาจปกครองประเทศเป็นเวลานาน
เมื่อปรากฏว่าตัวรัฐธรรมนูญเองสร้างวิกฤต แต่ก็จะพบว่ารัฐธรรมนูญนี้แก้ไม่ได้แล้ว การแก้ความขัดแย้งจึงเหลือเพียงการฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น

รัฐธรรมนูญแบบนี้จึงกำลังทำให้ประเทศเดินเข้าสู่วงจรเดิมคือมีเลือกตั้งแล้วก็เกิดการล้มรัฐบาลและฉีกรัฐธรรมนูญโดยความร่วมมือกันของกลุ่มคนที่สามารถกระทำผิดกฎหมายได้โดยไม่มีขีดจำกัดเนื่องจากระบบยุติธรรมล้มเหลวและไม่ได้รับการแก้ไข ร่วมกับกลไกในรัฐธรรรมนูญที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน

เมื่ออ่านร่างทั้งหมดแล้วจะพบว่าร่างนี้มีเนื้อหาที่เลวร้ายกว่าที่เคยเปิดเผยมาก่อนหน้านี้คือเป็นรัฐธรรมนูญฉ้อฉลที่วางหมากกลไว้อย่างซับซ้อน แต่ละส่วนเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบเพื่อให้แน่ใจว่าอำนาจทั้งหลายจะไม่อยู่ที่ประชาชนเลย เป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งรองรับการปกครองที่เป็นเผด็จการอย่างถาวร แต่แม้ว่าเนื้อหาที่เปิดเผยแล้วในขั้นนี้จะเป็นปัญหาอย่างร้ายแรงแล้วก็ตาม กระบวนการที่จะทำให้เกิดการปกครองที่เป็นเผด็จการอย่างถาวรยังไม่สิ้นสุด ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังได้ปูทางให้กระบวนการนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วทั้งการออกกพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปสำคัญๆที่ล้วนแต่จะเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและประชาชนไม่มีส่วนร่วมใดๆแต่จะมีผลไปอีกยาวนาน

คณะกรรมการร่างยังได้แสดงธาตุแท้ของตนโดยปราศจากความละอายใดๆด้วยการเขียนบทเฉพาะกาลที่อาจกล่าวได้ว่าเลวร้ายยิ่งกว่าตัวร่างเองคือนอกจากจะกำหนดว่าจะเกิดขึ้นอะไรขึ้นอีกเพื่อให้ระบบเผด็จการที่ออกแบบไว้มีความสมบูรณ์แล้วยังรับรองบรรดาประกาศ คำสั่งและการกระทำของคสช.หรือของหัวหน้าคสช.ที่ใช้บังคับอยู่หรือที่จะใช้บังคับต่อไปให้เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่ปรากฏในมาตรา 270 มาตรานี้มีความหมายคือเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่คสช.ทั้งเรื่องที่ทำมาแล้วและที่จะทำต่อไปซึ่งจะหมายความว่าคสช.และหัวหน้าคสช.จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ผิดกฎหมายใดๆทั้งสิ้น เมื่อรวมเข้ากับมาตรา 257 แล้วจะมีความหมายว่าประเทศไทยจะอยู่ภายใต้การปกครองของคสช.ที่อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวงรวมทั้งรัฐธรรมนูญเองแม้ในช่วงที่มีการลงประชามติและการเลือกตั้งเรื่อยไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญนี้กำลังจะยืดเวลาของการที่ประเทศไม่เป็นนิติรัฐและไม่มีหลักนิติธรรมให้ยาวนานออกไป ใครที่หลงเข้าใจว่าเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วบ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนจะมีเสรีภาพมากขึ้นจึงต้องทำความเข้าใจเสียใหม่

ส่วนใครที่หวังว่าเมื่อมีการเลือกตั้งขึ้นแล้วบ้านเมืองจะดีขึ้น วิกฤตจะไม่เกิดขึ้น รัฐบาลจะแก้ปัญหาของประเทศตามที่ประชาชนต้องการ เศรษฐกิจจะดีขึ้นและประชาชนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น คงต้องขอเรียนให้ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะทำลายความหวังทั้งหลายนั้นอย่างแน่นอน

วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

"ยิ่งลักษณ์" สักการะย่าโม ชักดาบสู้อุปสรรค


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ด้วยรถตู้โฟล์กสวาเกนสีดำ ทะเบียน นบ 1 กรุงเทพมหานคร เพื่อกราบสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ในโอกาสที่มาทอดผ้าป่าสามัคคี ในหลายอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา โดยมีอดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง, นายวิรัช รัตนเศรษฐ, นางทัศนีย์ รัตนเศรษฐ, นายอธิรัช รัตนเศรษฐ, นายโกศล ปัทมะ, นายจรูญพงศ์ พันธุ์ศรีนคร, นายประพิศ นวมโคกสูง และประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา กว่า 300 คน มายืนถือดอกกุหลาบ เพื่อมอบให้เป็นกำลังใจให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กันอย่างคึกคัก และตะโกนคำว่า “ยิ่งลักษณ์สู้ๆ” กันตลอดทางเดินขึ้นมาบนลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา และทหารจากกองทัพภาคที่ 2 รวมกว่า 30 นาย มายืนสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ คณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ประกอบพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ด้วยเครื่องสักการะทั้งอาหารคาว หวาน และยังได้มีการนำดาบปลอกสีแดง ขึ้นมาบวงสรวง พร้อมกับชักดาบชูขึ้นตะโกนคำว่า สู้ๆ เพื่อแสดงออกถึงการต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี ก่อนที่จะนำพวงมาลัย มาคล้องคอรูปหล่อจำลองท้าวสุรนารี เพื่อทำการสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครราชสีมา หลังจากนั้นได้เดินทางขึ้นรถตู้เพื่อเดินทางไปทอดผ้าป่าที่ อ.ชุมพวง โดยไม่ยอมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด ทั้งนี้ คณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีกำหนดการที่จะเดินทางไปทอดผ้าป่าสามัคคี ที่ จ.ชัยภูมิ ในวันที่ 30 มกราคมด้วย













"ยิ่งลักษณ์" FB โต้แย้งกระบวนการสอบสวน คดีจำนำข้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ดิฉันมีความจำเป็นต้องเขียนหนังสือผ่านเฟสบุ๊คอีกครั้งหนึ่งในการโต้แย้งกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโดยวันนี้ได้มอบหมายให้ทนายไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แม้ดิฉันจะรู้คำตอบว่าอย่างไรเสียท่านคงไม่สนใจ เพราะถ้าหากสนใจจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะดิฉันได้ทำหนังสือถึงท่าน จำนวน 6 ฉบับและประธานคณะกรรมการฯ คุณจิรชัย มูลทองโร่ย ที่กำลังจะให้การกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ที่กล่าวหาว่าดิฉันทำความเสียหาย จำนวน 6 ฉบับเช่นกัน แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีความเห็นหรือการกระทำใดๆ ที่บ่งบอกว่าจะนำหนังสือของดิฉันเข้าไปพิจารณา อีกทั้งไม่เคยได้รับการแจ้งผลใดๆ กลับมาว่าสั่งดำเนินการอย่างไร และยังคงทำไปตามเป้าหมายของคณะกรรมการ

ดิฉันจึงขอสรุปใจความของหนังสือโต้แย้งดังนี้

1. ดิฉันได้โต้แย้งทั้งผู้ออกคำสั่งและผู้แต่งตั้งว่าดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539 มาตรา 8 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2559 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฎิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2559

2. ขณะนี้คดีความทางอาญายังไม่สิ้นสุด จึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ ในกระบวนการยุติธรรม

3. การฟ้องเอาผิดให้ดิฉันชดใช้ค่าเสียหายโดยกระทรวงการคลังนั้นไม่ถูกต้องเพราะกระทรวงการคลังไม่ใช่ผู้เสียหาย

4. ยังไม่มีการประเมินค่าความเสียหายที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ดิฉันที่กำลังจะถูกชดใช้ค่าเสียหายแต่ผู้เดียวทั้งที่คดีความยังไม่สิ้นสุด

ดังนั้น ดิฉันจึงขอใช้ช่องทางนี้สื่อสารไปยังทุกท่านที่เกี่ยวข้องได้โปรดพิจารณาข้อเรียกร้องและโต้แย้งของดิฉันให้ยุติตามกระบวนความของกฎหมายก่อน และโปรดอย่าพิจารณาคดีของดิฉันเหตุเพราะ มี มาตรา 44 คุ้มครองหรือกฎหมายอื่นที่จะออกมาคุ้มครองภายหลังค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

ตำรวจบุกยึด “ตุ๊กตาลูกเทพ” เลี่ยงภาษี


เนื่องมาจากปัจจุบันมีการนิยมซื้อตุ๊กตาลูกเทพกันอย่างกว้างขวาง อาจเป็นช่องทางให้แก่มิจฉาชีพในการนำเป็นเครื่องมือในการกระทำผิดกฎหมาย ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งการให้ บก.ปอศ.ดำเนินการตรวจสอบถึงแหล่งผลิตและแหล่งจัดจำหน่ายตุ๊กตาดังกล่าว

พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก., พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผบก.ปอศ. ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.เกรียงศักดิ์ กัลยาวัฒนเจริญ ผกก.1 บก.ปอศ. ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปอศ. เข้าตรวจสอบแหล่งจำหน่ายตุ๊กตาลูกเทพตามที่ปรากฏตามสื่อในขณะนี้ โดยเข้าตรวจสอบย่านตลาดสำเพ็ง ศูนย์การค้าย่านวังบูรพา และร้านค้าย่านบางแค ผลการตรวจสอบปรากฏว่าตุ๊กตาลูกเทพเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศ นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยซึ่งจะต้องมีการเสียภาษีนำเข้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในเบื้องต้นร้านค้าที่ถูกตรวจสอบยังไม่สามารถนำเอกสารการเสียภาษีมาแสดงได้จึงได้ดำเนินการตรวจยึดไว้เพื่อรอการตรวจสอบ ขณะนี้สามารถทำการตรวจยึดตุ๊กตาลูกเทพได้จำนวน 52 ตัว มูลค่าความเสียหายจำนวน 104,000 บาท ทั้งนี้ตุ๊กตาลูกเทพจะมีการจำหน่ายกันในราคาตั้งแต่ 500 – 5,000 บาท ซึ่งหากมีการปลุกเสกแล้วจะเพิ่มราคาอีก 500 บาท ระหว่างนี้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ.กำลังกระจายกำลังตรวจสอบขยายผลแหล่งจำหน่ายตุ๊กตาลูกเทพ ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล



วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559

“เพื่อไทย” สอน “มีชัย” หยุดยัดเยียด รัฐธรรมนูญ


นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้รองรับว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติเราจะเดินไปต่อได้อย่างไร และจะทำให้ประชาชนไม่สนใจรับฟังเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะชี้แจงให้ประชาชนรับทราบในเร็ว ๆ นี้ว่า  ไม่รู้ว่าท่านคิดได้อย่างไร ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนขึ้นมาดีจริงและเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงจะกลัวอะไร วิธีคิดเช่นนี้ของท่านในแง่หลักทางวิชาการไม่น่าจะถูกต้องและเป็นการเห็นแก่ตัวเสียมากกว่า เพราะถ้าเป็นของดีจริงไม่น่าจะเกรงกลัวว่าประชาชนจะไม่เอาด้วย นี่เท่ากับเป็นการพยายามที่จะปิดกั้นความคิดเห็นต่าง การรับรู้ ให้ได้เกิดการเปรียบเทียบเชิงวิชาการได้และเหมือนกับเป็นการบีบบังคับให้ประชาชนต้องรับฟังในสิ่งที่พวกท่านอยากให้เขาได้ยินได้ฟังเท่านั้นเอง

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า พวกท่านเคยคิดย้อนกลับไปหรือไม่ การที่พวกท่านตั้งโจทย์ว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกทิ้งไปโดยคสช. เป็นตัวสร้างปัญหาให้บ้านเมือง หรือเป็นเพราะเกิดการปฎิวัติยึดอำนาจ จึงต้องมานั่งเขียนขึ้นมาใหม่ และพวกท่านเลยถือโอกาสลดทอนอำนาจฝ่ายบริหาร สิ่งที่พวกท่านคิดกันขึ้นมาเองหรือจินตนาการขึ้นมาว่า เป็นปัญหาของบ้านเมืองเพราะนักการเมืองใช้อำนาจหน้าที่หาประโยชน์เข้าพวกพ้อง เพื่อโยนความผิดทั้งหมดให้นักการเมืองนั้น  

"ท่านเองก็อาจจะตีโจทย์ผิดเองก็เป็นได้ ทุกวันนี้สังคมไทยถูกปิดหูปิดตามาโดยตลอด และก็ถูกกลุ่มคนเดิม ๆ คิดว่าคนไทยเรายังไม่ฉลาดพอที่จะได้รับรู้อะไรที่เปิดกว้างได้จึงต้องเอาอะไรมายัดเยียดให้และมาครอบงำเอาไว้ก่อน อยากขอร้องให้ท่านผู้เจริญทั้งหลายต้องคิดกันเสียใหม่ได้แล้ว บ้านเมืองจะได้ก้าวไปข้างหน้าได้ และต้องรู้จักหัดยอมรับความจริงกันบ้าง เพราะยิ่งท่านทำแบบนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คงจะถูกประชาชนคว่ำทิ้งอย่างไม่เป็นท่าอย่างแน่นอน" นายสุรพงษ์ กล่าว

เพื่อไทย ชี้ร่างฯรธน.ไม่ผ่าน แนะกรธ. คืนอำนาจประชาชน


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการณ์รองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะนำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาใช้บังคับ ว่า ควรแก้ปัญหาด้วยเหตุผล มิใช่ด้วยอารมณ์ หากทำเช่นนั้นก็สะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของคสช. ซึ่งนายมีชัย ก็เป็น 1 ใน คสช. ว่าต้องการสืบทอดอำนาจหรือไม่ เพราะการใช้กติกาดังกล่าวตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนอยู่ขณะนี้ และจะยิ่งประสบกับปัญหาโลกล้อมประเทศกระชับมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านประชามติก็หมายความว่า ประชาชนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญรวมทั้งไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ เพราะรัฐบาลเป็นผู้ตั้งกรธ. จึงควรรีบคืนอำนาจให้ประชาชนและนำรัฐธรรมนูญที่เคยใช้มาระยะหนึ่งมาปรับใช้ เช่น ปี 40 หรือ 50 การที่กรธ.ให้ความสำคัญกับการปราบโกง ปราบการทุจริตคอรัปชั่น ตนเห็นด้วย และไม่กลัวการตรวจสอบ แต่เราเกรง การโกงอำนาจประชาชน มากกว่า ด้วยการกำหนดกติกาที่อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชนอย่างแท้จริง ประการสำคัญการกำหนดกติกาด้วยระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม บัตรเลือกตั้ง 1 บัตร 1 คน 1 เสียง แต่สามารถเลือกส.ส.ได้ทั้ง 2 ระบบ คือ ทั้งระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกนี้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ นอกจากไทยแลนด์โอนลี่ ซึ่งตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากเพื่อให้คะแนนเสียงกระจัดกระจาย ไปสู่พรรคเล็ก พรรคน้อย

นายชวลิต กล่าวอีกว่า การที่กรธ.กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอบุคคลที่จะป็นนายกรัฐมนตรีมา 3 ชื่อก็เพื่อประโยชน์ในการเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอกนั่นเอง อันจะทำให้ประเทศของเราไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งไม่มีเสถียรภาพแล้ว เราจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนได้อย่างไร โจทย์ที่สำคัญของประเทศในขณะนี้คือ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชน ซึ่งตรงกับโพลทุกสำนักที่ได้สำรวจความเห็นประชาชนไว้ ทางแก้มีอยู่ประการเดียว คือ การทำกติกาให้เป็นประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง และที่สำคัญจะต้องกำหนดกติกาให้การเมืองมีเสถียรภาพและต่อเนื่อง จึงจะได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งในประเทศและประชาคมโลก ประชาคมภูมิภาค

ส่วนการจะตรวจสอบการเมืองอย่างไรนั้น ให้กระทำได้เต็มที่ เพียงแต่ถ่วงดุลให้เหมาะสม และองค์กรที่จะตรวจสอบให้ยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยไม่ใช่เป็นอำนาจที่ 4 หรือเป็นซุปเปอร์องค์กรดังที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตนยังหวังที่จะเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ ขณะนี้ประเทศไทยเติบโตต่ำสุดใน 10 ประเทศอาเซียน อย่าให้ตกต่ำไปกว่านี้อีกเลย

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

“วัฒนา” ติงร่างฯรธน. ไม่เคารพอำนาจประชาชน-ไม่เป็นประชาธิปไตย


นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่า การกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย เผยแพร่ ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เศษขยะประชาธิปไตย

ระยะนี้ผมเห็นสมุนเผด็จการทั้งหลายดาหน้าออกมาสนองคุณข้าวแดงแกงร้อน ที่เผด็จการเมตตาราดรดหัวให้ได้มีกินมีใช้ในระหว่างที่เผด็จการครองเมือง บางคนออกมาปกป้องชื่นชมผลงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเผด็จการที่แม้จะเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกประณาม เช่นกรณีทหารใช้ผ้าคลุมหน้าใช้กำลังอุ้มตัวจ่านิวเพราะเหตุตรวจสอบการทุจริตในโครงการของกองทัพ บางคนออกมาชื่นชมร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัยที่แทบทุกพรรคการเมืองออกมาคัดค้าน สมุนเผด็จการเหล่านี้ยังบิดเบือนเป็นทำนองว่า ที่นักการเมืองต่อต้านเพราะเป็นยาแรงต่อต้านการทุจริต ขจัดคนไม่ดีออกไปเพื่อให้คนดีมีความสามารถมีที่ยืนในเวทีการเมือง

ปกติผมเป็นคนให้เกียรติทุกคนและตัดสินคนจากการกระทำเสมอ ผมไม่เคยกล่าวหาผู้คนที่ คสช แต่งตั้งเข้ามาทำงานว่าเป็นคนเลวหรือเป็นสมุนเผด็จการ เว้นแต่การกระทำจะแสดงให้เห็นว่าเลือกที่จะอยู่ข้างเผด็จการแต่ปฏิเสธผลประโยชน์ของประชาชน คนเหล่านี้คือขยะทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยที่ผมไม่อยากเสียเวลาด้วย ผมจึงขอชี้แจงเพื่อให้พี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ทราบว่า ที่พวกผมต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพในอำนาจและเจตนารมณ์ของประชาชน มีวัตถุประสงค์ทำให้การเมืองอ่อนแอ รวมทั้งกำหนดให้องค์กรอิสระมีอำนาจเหนือรัฐสภาที่มาจากประชาชน ดังนั้น คำว่ายาแรงทางการเมืองจึงเป็นเพียงวาทกรรม ที่ขยะทางการเมืองเหล่านี้ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อกลบเกลื่อนเจตนาที่แท้จริง จงสำเหนียกไว้เถิดว่าคนที่มาจากประชาชนไม่มีใครกลัวยาแรงและยอมรับการตรวจสอบเสมอ จะมีแต่พวกขยะทางการเมืองเท่านั้นที่กลัวและกำลังจะหนีการตรวจสอบโดยอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับนี้นิรโทษกรรมให้ ขยะทางการเมืองเหล่านี้ไม่เคยกล้าออกมาพูดว่า พวกเขาไม่ต้องการการนิรโทษกรรมและพร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบ ก็ขนาดคำว่านิรโทษกรรมซึ่งอยากได้จนตัวสั่นยังหลีกเลี่ยงไปใช้คำว่า "รับรองการดำเนินการ" พฤติกรรมที่ขี้ขลาดแบบนี้ยังมีหน้าออกมาแสดงความเห็น ดังนั้น ก่อนจะมากล่าวหาคนอื่นช่วยมองตัวเองก่อน ถ้ามองไม่เห็นผมแนะนำให้หงายกะลาขึ้นแล้วตักน้ำใส่ลงไปคงพอมองเห็นตัวเองได้บ้าง

วัฒนา เมืองสุข
25 มกราคม 2559

“เพื่อไทย” ห่วงประชาชนลำบาก ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ชาติเสียหาย


นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า โพลล่าสุดสำรวจพบว่า ประชาชนถึง 92.19 % เป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจย่ำแย่ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยจึงมีความกังวลว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังหลงทาง เข้าใจว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้น ทั้งๆที่ปัจจุบันทุกอย่างกำลังย่ำแย่และประชาชนกำลังลำบากมาก โดยเฉพาะเกษตรกรและคนหาเช้ากินค่ำที่แทบไม่มีเงินจะประทังชีวิตแล้ว นอกจากนี้การส่งออกก็ไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักยังห่วงว่าการส่งออกปี 2559 นอกจากจะไม่เพิ่มแล้วยังอาจจะติดลบด้วยซ้ำ ดังนั้นที่บอกว่าจะโตถึง 5% จึงเป็นไปได้ยาก และที่น่าห่วงกว่าคือการลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลงไป 78% แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่หายไปหมดแล้ว เพราะขนาดญี่ปุ่นนักลงทุนรายใหญ่ของไทยที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลยกทั้งทีมไปเจอแต่การลงทุนจากญี่ปุ่นกลับลดลงถึง 81% ซึ่งเคยเตือนแล้วว่าญี่ปุ่นจะยิ้มรับแต่เขาจะไม่ลงทุน ทุกอย่างกำลังเสื่อมถอยตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยเตือนมาโดยตลอด แต่โฆษกรัฐบาลกลับหาว่าเป็นการบิดเบือน ซึ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลไม่เข้าใจ และกำลังเดินผิดทาง

และการที่รัฐบาลพยายามอ้างว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดีเพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดีอาจจะไม่จริงทั้งหมด เพราะประเทศอื่นๆในอาเซียนเติบโตสูงมาก ยิ่งประเทศไทยไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกนานเท่าไหร่ ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเวียดนามก็จะยิ่งได้ประโยชน์มากเท่านั้น เพราะการส่งออกของเวียดนามขยายตัวถึง 8.1% ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเวียดนามโตถึง 6.68% ในปี 2559 และการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากเพราะได้ออกจากไทยไปลงทุนเวียดนามแทน ซึ่ง ยิ่งไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยช้าเท่าไหร่เวียดนามและประเทศต่างๆในอาเซียนก็จะได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น การลงทุนที่ลดลงมากจะทำให้การส่งออกในอนาคตยิ่งย่ำแย่ และการเติบโตจะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นจึงอยากเตือนให้รัฐบาลได้เห็นภาพที่แท้จริงและอย่าหลอกตัวเอง เพราะประชาชนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนมากที่สุด

"อนุสรณ์" แนะ ไก่อู หยุดใส่ร้าย ติงความเชื่อมั่นประเทศตกต่ำ-ส่งออกลด


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว กรณี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปร่วมงานของสภาคองเกรส ประเทศสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 64 ประจำปี 2016 ในวันที่ 4 ก.พ. 2559 ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ตามคำเชิญนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโฆษกรัฐบาลไม่มีความเข้าใจทางเศรษฐกิจเลย จึงอยากแนะให้กลับไปอ่านย้อนหลังทุกเรื่องที่นายพิชัยได้ท้วงติงรัฐบาลตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันว่าเป็นความจริงหรือไม่ เพราะหากรัฐบาลจะได้รับฟังนายพิชัยตั้งแต่แรก เศรษฐกิจก็คงจะไม่ย่ำแย่ขนาดนี้ ทั้งการส่งออกที่ลดฮวบลง การลงทุนต่างประเทศที่หดหายเกือบ 80% และความเชื่อมั่นต่างประเทศตกต่ำถึงขีดสุด ประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ซึ่งถ้าเป็นผู้มีความรู้ทางเศรษฐกิจจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี จะมาใส่ร้ายกันมั่วๆไม่ได้ และถ้าหากนายพิชัยให้ข้อมูลแบบใส่ร้ายและไม่เป็นความจริง สื่อหลายสำนักคงไม่ตั้งให้เป็นกูรูเศรษฐกิจ และที่โดนเรียกปรับทัศนคติหลายหนก็เพราะทนเห็นประเทศจะย่ำแย่ไม่ได้จึงต้องออกมาเตือน แม้กระทั่งล่าสุดที่ออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2559 ว่าจะยุ่งยากและย่ำแย่ และโฆษกรัฐบาลออกมาตอบโต้ แต่พอเปิดทำงานเศรษฐกิจโลกก็ตกต่ำจริงโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน และราคาน้ำมันก็ตกต่ำเหลือ 20 กว่าเหรียญตามที่นายพิชัยคาดการณ์ ซึ่งหากรัฐบาลยังมีแนวคิดแบบเดิมไม่รับฟังข้อมูลรอบด้าน จะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ และอยากให้คนที่รู้เรื่องอย่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงว่าสิ่งที่นายพิชัยพูดมานั้นใส่ร้ายและบิดเบือนหรือไม่ จะได้วัดเครดิตกัน และรัฐบาลต้องถามตัวเองว่าที่ทำอยู่จะฟื้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ หรือแค่ทำการตลาดเท่านั้น ทั้งนี้ การที่คองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ รัฐสภาอียู จะเชิญใคร เขาต้องพิจารณาแล้วว่ามีความรู้ความสามารถ และเป็นตัวแทนของฝั่งประชาธิปไตย ถ้าหากรัฐบาลคิดว่าจะล็อบบี้ได้ รัฐบาลก็ควรจะล็อบบี้ให้เขาเชิญคนของรัฐบาลไปแทน และความจริงคือคงไม่สามารถพูดอะไรให้ประเทศได้เสียหายได้มากกว่าการประกาศจะปิดประเทศแล้ว ดังนั้นจึงอยากให้โฆษกรัฐบาลเองที่ต้องระมัดระวังการให้ข้อมูลที่อาจเป็นการบิดเบือนแก่ประชาชน เพราะหากประชาชนเชื่อและนำข้อมูลไปตัดสินใจทางเศรษฐกิจอาจจะผิดพลาดถึงกับหมดตัวได้

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2559

สั่ง "ประยุทธ์" เลิกแขวะ "ยิ่งลักษณ์" สุรพงษ์ชี้ นายกฯที่ดีต้องไม่อคติ


นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้นำเอาหวายลูกนิมิตจากการสร้างอุโบสถ ที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ได้ไปร่วมในพิธีตัดลูกนิมิตในต่างจังหวัดมามอบให้คนที่ท่านรักและเคารพนับถือเพื่อให้เป็นศิริมงคลแก่ชีวิตและได้ร่วมกันอนุโมทนาบุญด้วยกัน ตามความเชื่อถือของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธมาแต่โบร่ำโบราณ นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ได้แจกของขลังหรือตะกรุดอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้าใจ มิน่าท่านจึงมักจะเข้าใจอะไรต่อมิอะไรผิดๆอยู่เสมอ จึงทำให้การแก้ปัญหาหลายๆเรื่องของท่านผิดพลาด

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การทำงานในตำแหน่งนายกฯนั้นหนักและมีความเครียดมากพวกเราเข้าใจดี แต่การให้สัมภาษณ์ของท่านก็ ไม่ควรใช้คำพูดกระแนะกระแหนผู้อื่น หรือใช้คำพูดไปก้าวล่วงความรู้สึกผู้อื่นในทำนองว่าของขลังก็ป้องกันหรือสู้กฎหมายไม่ได้ ผู้นำประเทศไม่ควรแสดงความมีอคติกับผู้ใดจนออกนอกหน้า เพราะนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีความของท่านอยู่ในชั้นศาล และนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ไม่เคยพูดจาก้าวล่วงพล.อ.ประยุทธ์เลย นี่ก็นับได้ว่าเป็นสุภาพสตรีที่น่าเคารพน่านับถือ และการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ปลูกผักขึ้นมากินเองก็น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนไทยเราได้ทำตามเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ฝืดเคียงเช่นทุกวันนี้

“วัฒนา” สอน “ประยุทธ์” จำนำข้าว-รัฐอุ้มยาง แตกต่างกัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

ผมอ่านข่าวเรื่องที่ท่านนายกมอบหมายให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงตอบโต้ถึงความแตกต่างของโครงการแทรกแซงยางพารากับโครงการรับจำนำข้าว แต่เหตุผลที่โฆษกฯ จำมาแถลงนั้นไม่ถูกต้องและมีความคลาดเคลื่อน ความจริงแล้วทั้งสองโครงการมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรเหมือนกัน แต่การดำเนินการที่ขาดความเข้าใจจึงทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสองโครงการอย่างมีนัยสำคัญ คือ

1. โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นโครงการที่ถือเป็นนโยบายสาธารณะ ตามมาตรา 84 (8) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ส่วนโครงการแทรกแซงยางพาราไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับเพราะถูกท่านฉีกทิ้ง หากจะอ้างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ก็เป็นกฎหมายในระดับรองที่มีศักดิ์ศรีต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ
2. โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นการช่วยชาวนาที่ต้นน้ำ ชาวนาได้รับเงินที่โอนเข้าบัญชีโดยไม่มีการรั่วไหลกว่า 800,000 ล้านบาท ซึ่งท่านเองก็เคยจ่ายเงินให้ชาวนาด้วยวิธีเดียวกันหลังจากที่ยึดอำนาจ แต่การแทรกแซงยางพาราด้วยการรับซื้อยางแผ่นเป็นการช่วยนายทุนหรือพ่อค้า เนื่องจากชาวสวนยางขายน้ำยางเพราะไม่มีปัญญาไปซื้อเครื่องมือมารีดเป็นยางแผ่น ความแตกต่างคือนายกยิ่งลักษณ์รับจำนำจากชาวนาแต่ท่านซื้อจากนายทุน
3. ผลของการดำเนินนโยบายแทรกแซงที่ถูกต้อง ทำให้ราคาข้าวในสมัยนายกยิ่งลักษณ์สูงกว่ารัฐบาลนี้เกือบเท่าตัว ส่วนราคายางที่เคยต่ำสุดคือกิโลกรัมละ 80 บาท ส่วนสมัยนี้ 80 บาทซื้อได้ 4 กิโลกรัม ทำให้ชาวสวนยางทนไม่ไหวผูกคอตายไปก่อนหน้านี้แล้วหลายคน นอกจากนี้ในระหว่างเกือบ 3 ปีที่บริหารประเทศ เศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีอัตราการเติบโตเกือบร้อยละ 20 หรือเติบโตกว่าร้อยละ 6 ต่อปี การส่งออก การบริโภคภายในและการลงทุนมีการขยายตัว รัฐจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย ประชาชนมีเงินออมเพิ่มขึ้นและหนี้สาธารณะต่ำกว่าร้อยละ 50 ของจีดีพี ส่วนรัฐบาลนี้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำสุดในภูมิภาค การส่งออกติดลบ การบริโภคภายในหดตัว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตกลงไปเกือบร้อยละ 80 นี่ก็คือความแตกต่าง
4. ส่วนที่บอกว่าโครงการรับจำนำข้าวมีการบริหารที่ทุจริตซึ่งรัฐบาลรู้แล้วไม่แก้ไข นั้น ท่านไม่ต้องกังวลเพราะเรื่องที่กำลังกล่าวหานั้น อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ศาลจะเป็นผู้ตัดสินไม่ใช่ท่านที่เป็นคู่กรณีเพราะยึดอำนาจมา

ท้ายสุดที่ท่านกำลังแสดงอาการประชดว่า นายกยิ่งลักษณ์กำลังแจกของศักดิ์สิทธิ์เป็นตะกรุด 3 ดอก แต่ไม่สามารถสู้กฎหมายได้ นั้น สิ่งที่ท่านนายกยิ่งลักษณ์แจกให้กับนักข่าวนั้นคือหวายที่ห่อหุ้มลูกนิมิตที่ท่านไปทำบุญมา โบราณถือว่าเป็นมงคล เห็นจะมีแต่นักโทษและผีเท่านั้นที่กลัวหวาย ส่วนคนดีไม่มีใครกลัวหวาย และที่บอกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่สามารถสู้กฎหมายได้นั้น ผมขอเรียนด้วยความภูมิใจว่าแม้นายกยิ่งลักษณ์จะเป็นหญิงและไม่เคยอวดอ้างว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมอันสูงส่ง แต่ท่านก็เข้าสู่กระบวนยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองอย่างกล้าหาญ ไม่จำเป็นต้องใช้บริการของพวกเนติบริกรให้ชาวโลกกล่าวหาว่าขี้ขลาดหลบหนีการตรวจสอบ นี่คือความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งครับ

วัฒนา เมืองสุข
22 มกราคม 2559

อบอุ่น! เผยภาพถ่ายสุดประทับใจ "ครอบครัวชินวัตร"

เผยภาพถ่าย "ครอบครัวชินวัตร" ที่ดูแล้วอบอุ่นหัวใจเป็นที่สุด นอกจากจะเป็น "อดีตนายกรัฐมนตรี" ในหัวใจประชาชนชาวไทยแล้ว "ดร.ทักษิณ ชินวัตร" ก็ยังเป็นฮีโร่ของลูกๆ และพี่ชายที่แสนดีของน้องสาว "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อีกด้วย วันนี้เรามาดูภาพอีกมุมน่ารักๆ "ครอบครัวชินวัตร" กันครับ




วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

จัดให้! "ยิ่งลักษณ์" โพสต์ภาพหวายลูกนิมิต หลัง "ประยุทธ์" สนใจถามหาของขลังบ้านอดีตนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่าย สังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


"หวายลูกนิมิต" ตามคติความเชื่อว่า หวายที่โอบอุ้มลูกนิมิตไว้ ถือว่าหวายนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์เทียบเคียงเท่ากับลูกนิมิต หาใช่ตะกรุดไม่ เพราะฉะนั้นการมอบหวายลูกนิมิตนั้น ตามประเพณีท่ีพุทธศาสนิกชน คนไทยถือปฎิบัติมาแต่โบราณว่าถ้ามีโอกาสได้ร่วมบุญตัดหวายลูกนิมิตสำหรับการสร้างพระอุโบสถใหม่ ก็จะนำหวายที่ได้ มามอบให้ญาติพี่น้องคนใกล้ชิดและบุคคลท่ีรักและนับถือเพื่อเป็นสิริมงคล และอนุโมทนาบุญร่วมกันค่ะ


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า  เมื่อเวลา 16.00น. วันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.  ได้สนทนากับผู้สื่อข่าวว่า “พวกเธอฉลาดกว่าพี่กันทั้งนั้น เรียนก็สูง” ก่อนจะหันมาถามผู้สื่อข่าวที่ได้ไปติดตามทำข่าว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดสวนผักข้างบ้านในซอยโยธินพัฒนา 3  เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า “ว่าไงไปปีใหม่กับเขามาสนุกมั๊ย?”  เมื่อผู้สื่อข่าวตอบว่า “สนุก” พล.อ.ประยุทธ์ ถามต่อทันทีว่า “ได้อะไรมาหรือเปล่า ของขลังเขลิงอะไร ได้มาหรือเปล่า ไหนห้อยมาหรือเปล่า?”  พร้อมกับขอดู

"ยรรยง" สอน "วรงค์" ฟังไม่ได้ศัพท์ สับสนสัญญาขายข้าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผมจำเป็นต้องตอบโต้ 'นายวรงค์' อีกครั้ง แม้ผมจะมีความรู้สึกส่วนตัวที่ติดลบในระดับตํ่าสุดต่อพฤติกรรมของนายวรงค์ก็ตาม (ผมเคยระบุเหตุผลในเฟสบุ๊คเพจนี้เมื่อ 9 พ.ย. 2558) เพราะต้องการให้สังคมได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนไม่บิดเบือนนะครับ

ประเด็นแรก นายวรงค์พยายามชี้ว่าบริษัทคอฟโก้เป็นรัฐวิสาหกิจหนึ่งเดียวที่รัฐบาลจีนให้ทำสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจีกับประเทศอื่นดังนั้น การซื้อขายข้าว 1 ล้านตันตามสัญญาที่กำลังดำเนินการในขณะนี้จึงเป็นแบบจีทูจีอย่างแน่นอน

ผมคิดว่านายวรงค์อาจจะเป็นประเภทฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียดหรืออาจจะเข้าใจผิดในสิ่งที่ผมได้นำเสนอว่าบริษัทคอฟโก้ได้แปรสภาพเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจค้าขายทั่วไป คอฟโก้และบริษัทลูกได้จดทะเบียนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ดังนั้น คอฟโก้จึงอาจดำเนินการใน 2 ลักษณะ คือ เป็นผู้ซื้อขายแทนรัฐบาล และทำธุรกิจการค้าแบบหากำไรเหมือนบริษัทอื่นๆ ดังนั้นต้องดูว่าในการทำธุรกรรมแต่ละกรณีที่บริษัทคอฟโก้เป็นคู่สัญญานั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร

คำถามในประเด็นนี้ที่ผมเสนอให้ช่วยกันพิจารณาก็คือ ถ้าคอฟโก้ต้องการซื้อข้าวของเอกชนคือข้าวฤดูใหม่ (เพราะทราบดีว่ารัฐบาลไม่มีข้าวใหม่เพราะไม่ได้รับจำนำ)และรัฐบาลฝ่ายผู้ขายก็ทราบดีว่ามีข้าวในสต็อครัฐบาลที่จะต้องเร่งขายอยู่จำนวนมากแต่กลับไปขายข้าวของเอกชน

พูดง่ายๆว่าถ้าผู้ซื้อต้องการข้าวไปทำธุรกิจการค้าและผู้ขายก็ขายข้าวของเอกชนค้าข้าว ถ้าคู่สัญญามีวัตถุประสงค์เช่นนี้ถือว่าเป็นสัญญาแบบจีทูจีใช่หรือไม่

ส่วนที่นายวรงค์ตั้งคำถาม(เพื่อตอกหน้าผม)ว่าผมไม่ทราบหรือว่ารัฐบาลเคยทำสัญญาขายข้าวกับคอฟโก้มาตลอดรวมทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น ผมขอย้อนถามว่านายวรงค์ไม่รู้จริงๆหรือแกล้งโง่ว่าการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับคอฟโก้ทุกครั้งตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ (จีนซื้อข้าวเพื่อส่งไปช่วยคิวบา)เป็นต้นมา เป็นการซื้อขายข้าวของรัฐบาลทั้งนั้น แต่ที่อาจทำให้เกิดความสับสนคือสัญญาระหว่างคอฟโก้กับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่ทำในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน ไม่ใช่สัญญาจีทูจีครับ

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับสัญญาจีทูจี 4 ฉบับ เป็นประเด็นสำคัญของคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ผมจะไม่ตอบเพราะจะเป็นการชี้นำซึ่งผมเข้าใจว่าตามมารยาทเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง ผมเข้าใจว่านายวรงค์ก็ถูกระบุให้เป็นพยานคนหนึ่งด้วยเช่นกัน

ผมเองถ้าไม่ถูกพาดพิงและถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีอดีตปลัดกระทรวง ก็คงจะไม่ชี้แจงละเอียดขนาดนี้นะครับ

ยรรยง พวงราช
21 มกราคม2559

วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

คนไทยปลื้ม! “คณิน” ยัน “ยิ่งลักษณ์” ลงส.ส.ได้อีก


นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 ได้กล่าวถึงกรณีที่โฆษก กรธ. กล่าวถึง  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งถูก สนช. ลงมติถอดถอนจะต้องถูกตัดสิทธิ 5 ปี เมื่อพ้น 5 ปี แล้วจึงจะมีสิทธิสมัคร ส.ส. ได้ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า เป็นการมองด้านเดียว โดยจงใจที่จะมองข้ามความจริงที่ว่า ระหว่างที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ใช้บังคับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง จึงไม่ได้ถูกตัดสิทธิ 5 ปีตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนั้นถูกยกเลิกไปก็ต้องถือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฯ เป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่ถูกตัดสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น

การที่ สนช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งนั้น  ไม่มีผลอะไร เพราะขณะนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มีตำแหน่งใดๆ แล้ว แต่ถึงขนาด  จะเหมาเอาว่า เพราะถูก สนช. ถอดถอนออกจากตำแหน่งก็เลยถูกตัดสิทธิ 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยนั้น ไม่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมองในมิติของหลักกฎหมาย  หรือหลักรัฐศาสตร์

นายคณิน กล่าวว่าถึงแม้จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ ให้ สนช. ทำหน้าที่วุฒิสภาด้วย แต่ก็เป็นวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ ไม่ใช่วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ถือว่าได้ตายไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  และก่อนที่จะตายในวันดังกล่าววุฒิสภาก็ไม่เคยได้ลงมติถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้น จะมาเหมาเอาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกตัดสิทธิ 5 ปี ได้อย่างไร ?

นายคณิน กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายจริยธรรมของ นายมีชัย ฯ ซึ่งเป็นทั้ง  คสช. และเป็นประธาน กรธ. ด้วย ว่าจะตั้งธงไว้อย่างไร ? เพราะการที่ สนช. ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฯ และต้องถูกตัดสิทธิ 5 ปี ด้วย ก็อาจถูกมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งกันในทางการเมืองได้ เพราะถ้าไม่ถูกปฏิวัติก็ไม่มี สนช. เมื่อไม่มี สนช. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฯ ก็ไม่ถูก  ถอดถอน และเมื่อไม่เคยถูกถอดถอนก็จะไม่ถูกตัดสิทธิ 5 ปี นั่นจึงจะเรียกว่าเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ แต่ถ้าถูกปฏิวัติแล้วยังถูกตัดสิทธิ 5 ปี อีก ก็ไม่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่เรียกว่าเป็น “ขบวนการทำลายล้างคู่ปรปักษ์ทางการเมือง” มากกว่า

ดังนั้นจึงต้องจับตาดู กรธ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายมีชัย ฯ ว่าจะตัดสินใจเรื่องนี้  อย่างไร ? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเอาไปเทียบเคียงกับ กรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทั้ง  นายมีชัย ฯ และ ดร.วิษณุ ฯ ได้พร้อมใจกันการันตีว่ามีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะเหตุที่ถูกสั่งปลดออกราชการฐานยื่นเอกสารเท็จเข้ารับราชการทหาร ที่สำคัญ นายอภิสิทธิ์  ถูกปลดออกราชการ ฐาน ประพฤติมิชอบในวงราชการ ในระหว่างที่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 102 (6) ยังมีผลใช้บังคับอยู่ จึงถือว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแล้ว ตรงกันข้ามกับในระหว่างที่รัฐธรรมนูญปี 2550 มีผลใช้บังคับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ดังนั้น ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฯ จะเขียนออกมาอย่างไรก็ไม่มีผลทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องถูกตัดสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งแต่ประการใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสิทธิ 5 ปี หรือตัดสิทธิตลอดชีวิตก็ตาม

นายคณิน กล่าวในที่สุดว่า อย่าลืมว่า ในทางการเมืองถือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฯ เป็นฝ่ายถูกกระทำ เนื่องจากถูกยึดอำนาจและไล่ออกจากตำแหน่ง โดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ จึงสมควรได้รับการเยียวยามากกว่า ไม่ใช่ถูกซ้ำเติม  โดยกระบวนการที่ไม่ปกติ ในสถานการณ์พิเศษ เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในระบบกฎหมายไทย ว่า “ผู้ถูกกระทำ ห้ามเยียวยา ผู้กระทำ ห้ามเอาเรื่อง” มันจะเป็นอย่างนั้นไป แล้วจะไปเรียกร้องหาความปรองดองได้อย่างไร ?

"สุรพงษ์" ถามกลับ "ประยุทธ์" หลังประชามติ-ร่างฯรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน


นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ได้ฝากคำถามผ่านสื่อมวลชนมาถึงตน โดยท่านได้ถามว่า ถ้าวันหน้าตนกลับสู่วงการการเมือง จะยอมรับกฎหมายหรือไม่? ขอชี้แจงว่า ถ้าประชาชนได้ผ่านประชามติและเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างฉบับนี้ ตนก็ต้องยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะภายใต้หลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย ต้องยอมรับกฎกติกาด้วยการเคารพเสียงข้างมากอยู่แล้ว และคนไทยทุกคนก็ต้องเคารพกฎหมายภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็ขอให้ท่านนายกฯ สบายใจได้ เพราะวันนี้ประเทศไทยได้เดินหน้ามาไกลเกินกว่าที่จะถอยหลังกลับไปได้อีกแล้ว ตนเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชนคนไทยทุกคนก็คงจะต้องออกมาตัดสินอนาคตของประเทศและของตนเอง ซึ่งตนจะไม่อารมณ์เสียหรือหงุดหงิดเลย ถ้าประชาชนจะเลือกเส้นทางเดินในระบอบประชาธิปไตยตามที่คนส่วนใหญ่หรือเสียงข้างมากเขาต้องการ

"อยากฝากขอให้นายกฯ ระบุให้ชัดเจนว่า ถ้าทำประชามติแล้วปรากฏว่า ไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ท่านจะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับใดมาประกาศใช้ หรือจะถามประชาชนในการทำประชามติไปเลยว่า ประชาชนจะเลือกรัฐธรรมนูญฉบับใดให้นำกลับมาใช้ หากไม่เห็นชอบกับฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ก็จะเป็นการช่วยให้ไม่ต้องขยายหรือยืดเวลาตามที่ระบุในโรดแม็ปออกไปอีก"

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

"จาตุรนต์" หวั่นร่างฯรธน.ใหม่ นำสังคมไปสู่วิกฤติ


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมรัฐธรรมนูญว่า ยังมีปัญหาในเชิงระบบโครงสร้างโดยรวมคือโดยมากการจะร่างรัฐธรรมนูญจะมองไปที่ประเด็นหลักการ และส่วนใหญ่ก็พยายามดูไปที่ประเด็นที่สำคัญ ตนคิดว่า การดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อมาถึงขั้นนี้ คงจะต้องเอาประเด็นสำคัญๆมาเชื่อมโยงกันแล้วจะทำให้เห็นโครงสร้างและระบบที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้กำลังจะสร้างขึ้น ซึ่งระบบที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะสร้างขึ้นเป็นระบบที่จะตัดอำนาจของประชาชนออกไป และให้บ้านเมืองอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมขององค์กรและบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งองค์กรและบุคคลดังกล่าวนี้มีจำนวนไม่น้อยที่จะเชื่อมโยงกับคสช. เช่น องค์กรอิสระหลายองค์กร ซึ่งกว่าจะถึงตอนที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้คงจะได้รับการแต่งตั้งจากคสช.แล้วเป็นส่วนใหญ่ และจะอยู่ในหน้าที่ต่อไป

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ระบบนี้จะทำให้การเลือกตั้งไม่มีความหมาย และอำนาจของรัฐสภาก็จะถูกแบ่งไปเป็นของผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในขณะที่องค์กรทั้งหลายที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้ง ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการกำกับ ควบคุม และกำหนดการดำรงอยู่ของรัฐบาล ก็จะทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งอ่อนแออย่างมาก การเมืองไม่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ เงื่อนไขที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้สร้างไว้จะทำให้รัฐบาลบริหารงานอะไรไม่ได้ เพราะจะถูกกำกับโดยการร่วมกันกำกับขององค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญนี้ยังสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่วิกฤติ ส่งเสริมให้เกิดวิกฤติ คือเมื่อรัฐบาลอยู่ได้ยาก ล้มง่าย และการเลือกตั้งก็ถูกขัดขวางได้โดยง่าย จะเป็นแรงจูงใจให้คนคิดที่จะขัดขวางการเลือกตั้งโดยวิธีง่ายๆคือ พรรคการเมืองไม่ส่งสมัคร และรณรงค์โหวตโน

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ภาวะวิกฤติจะนำไปสู่การใช้ความมาตรา 7 โดยศาลรัฐธรรมนูญ และจะนำไปสู่การที่องค์กรและบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหลายจะมีอำนาจในการบริหารได้นาน ดังนั้น จะเป็นระบบที่ทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นไม่มีความหมายอะไรเลย เท่ากับว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยหลงเหลืออยู่ ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ทำให้สังคมไทยต้องมาตัดสินใจว่า จะต้องให้รัฐธรรมนูญนี้สักแต่ว่าผ่านไปเพื่อให้มีการเลือกตั้ง แล้วหวังว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น ต่างประเทศจะยอมรับ เศรษฐกิจจะดีขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย หรือต้องมายอมเสียเวลากันในการทำให้ร่างรับธรรมนูญนี้ไม่ผ่าน และมาพูดกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรกับการร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นที่จะตามมาคือ จะทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศเป็นที่ยอมรับโดยเร็ว หรือจะทำอย่างไรให้เกิดการเลือกตั้งที่มีความหมายโดยเร็ว

“ผมคิดว่า จากเนื้อหาการร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้ผู้สนใจทั้งหลาย ทั้งโดยบุคคล องค์กร และพรรคการเมืองต่างๆจะตั้งคำถามต่อการเห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านในขั้นลงประชามติหรือไม่เร็วขึ้นกว่าเดิม คือ เมื่อมีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วก็เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ฝ่ายต่างๆที่สนใจปัญหาบ้านเมืองจะต้องมาร่วมกันคิดอย่างจริงจัง ว่าจะเอาอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และมีความจำเป็นที่ใครที่เข้าในในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องรีบบอกประชาชนว่า ถ้ามีร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ที่หวังว่าจะให้มีการเลือกตั้งแล้วจะแก้ปัญหาได้ไม่เป็นจริงเลย” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า เขาไปร่างรัฐธรรมนูญแล้วปิดทางในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการที่กำหนดเงื่อนไขพิสดารว่าต้องได้เสียงจากทุกพรรคการเมือง หรือพรรคเล็กๆรวมกันอย่างน้อย 10% และต้องได้เสียงส่วนหนึ่งจากวุฒิสภาด้วย เท่ากับเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้เลย มีความหมายไม่ต่างกับการบัญญัติว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขไม่ได้ ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขให้สังคมไปสู่วิกฤติที่ไม่มีทางออกโดยสันติ หรือโดยระบบ ซึ่งจะเป็นความเสียหายใหญ่หลวงมากสำหรับประเทศไทย

"สุรพงษ์" เตือนร่างฯรัฐธรรมนูญ จะไม่ผ่านประชามติ เพราะ ไม่ฟังเสียงประชาชน


นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เคยเตือนสติกันหลายครั้งแล้วว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติหากเขียนขึ้นมาแบบไม่ฟังเสียงจากประชาชนอย่างแท้จริง และไม่เป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากลและกรธ.ก็พยายามไปอ้างโพล ต่างๆ ว่าคนส่วนมากเห็นด้วยและในที่สุดก็จะเป็นการละเลงงบประมาณแผ่นดินเล่น ทิ้งๆขว้างๆ แต่ก็เข้าใจได้ว่าอาจจะเป็นเพราะมีความตั้งใจที่จะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ก็ได้ เพราะคสช. อาจจะมีความมั่นใจว่าเก่งและสามารถบริหารบ้านเมืองไปได้ และก็คงมั่นใจว่ายังไงประชาชนก็คงไม่อยากได้นักการเมืองทุจริตขี้โกง ถึงขั้นกรธ.ออกมาระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง อะไรทำนองนั้นซึ่งก็ชี้ชัดให้เห็นว่าตรรกในการตีความและความเข้าใจของกรธ. ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ไปแอบพบปะและพูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ต้นน่าจะผิดพลาดไป

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ต่อจากนี้ไปปัญหาก็ต้องอยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะต้องตัดสินใจอย่างไรเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศดังคำถามที่จะมีขึ้นดังต่อไปนี้คือ 1.หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ผ่านการทำประชามติในครั้งนี้ ท่านจะต้องยกร่างกันใหม่หรือไม่ 2.ท่านจะต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน อีกเท่าไร ใช้เวลาอีกนานเท่าไร ใครจะมารับผิดชอบเป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน และนายมีชัยแล้ว หรือจะเป็นเนติบริกรคนสุดท้าย คือนายวิษณุ 3.ท่านจะต้องขยายโรดแมปออกไปอีกกี่เดือน และท่านจะอธิบายชี้แจงให้ประชาคมโลกว่าอย่างไร ความน่าเชื่อถือของท่านในสายตาประชาคมโลกจะเป็นอย่างไร 4.ท่านคิดว่าพวกท่านเดินหน้ามาถูกทางแล้วหรือ และท่านแก้ปัญหาประเทศได้ดีขึ้นจริงหรือ หรือว่าทุกวันนี้กำลังเดินมาผิดทางใช่ไหม คำถามทั้ง 4 ข้อนี้ก็เป็นเพียงคำถามเบื้องต้นที่อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ช่วยกรุณาตอบชี้แจงให้สังคมไทยทราบ และถ้าท่านคิดว่ารับธรรมนูญ ที่กำลังจะร่างแล้วเสร็จในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้มีแนวโน้มจะไม่ผ่านประชามติเพราะหลายพรรคการเมืองต่างก็ไม่เห็นด้วยแล้ว ก็ควรจะรีบแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆก่อนที่จะไปทำประชามติแล้วไม่ผ่าน หรือถูกคว่ำทิ้งไปโดยประชาชนซึ่งจะทำให้ท่านเสียหน้ายิ่งกว่าเมื่อตอนที่รธนฉบับนายบวรศักดิ์ถูกคว่ำทิ้งไปเสียอีก

"ยรรยง" ติงรัฐไม่ชี้แจง แนะขายข้าวต้องโปร่งใส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


มีการเปิดเผยข่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการลงนามสัญญาขายข้าวแบบจีทูจีหรือแบบรัฐต่อรัฐให้บริษัทคอฟโก้ของจีน 1 ล้านตัน แต่ผู้ซื้อต้องการข้าวฤดูใหม่ซึ่งไม่มีในสต็อครัฐบาล จึงต้องนำข้าวของเอกชนไปส่งให้ผู้ซื้อแทน

ผมไม่ค่อยมั่นใจว่าใครกันแน่ที่จะได้ประโยชน์จากการขายข้าวในลักษณะนี้ และมีข้อสงสัยหลายประการที่อยากตั้งเป็นประเด็นให้ช่วยกันคิด โดยไม่เรียกร้องให้

รัฐบาลออกมาชี้แจง เพราะเคยเรียกร้องให้ชี้แจงหลายเรื่อง เช่น การขายข้าวเสื่อมให้โรงงานผลิตไฟฟ้าและผลิตปุ๋ย ก็ไม่เคยได้รับคำชี้แจง ผมมีข้อสังเกตและข้อสงสัยดังนี้

1. การซื้อขายข้าวล็อตนี้เป็นแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีจริงหรือไม่ ซึ่งผมขอให้ช่วยพิจารณา 2 ประเด็น คือ (1) บริษัทคอฟโก(COFCO) มาซื้อขายข้าวในลักษณะที่เป็นรัฐหรือหน่วยงานของรัฐผู้ซื้อ(รัฐบาลจีน)
หรือในลักษณะที่เป็นการทำธุรกิจเอกชน เพราะความจริงแล้วบริษัทคอฟโก้ได้แปรสภาพเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจแบบเอกชนและเป็นบริษัทที่ไปจดทะเบียนขายหุ้น(listed)ที่ตลาดหุ้นฮ่องกงมาหลายปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีบริษัทในเครือคอฟโก้อีกหลายบริษัทที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งบริษัท COFCO Rice เป็นบริษัทลูกที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อีกบริษัทหนึ่งด้วย

ข้อน่าคิดก็คือ ถ้าบริษัทคอฟโก้ต้องการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐจริงทำไมต้องระบุเงื่อนไขว่าต้องการข้าวฤดูใหม่เท่านั้น ทั้งๆที่คอฟโก้รู้ดีว่ารัฐบาลนี้ไม่มีข้าวฤดูใหม่เพราะไม่ได้รับจำนำและข้าวใหม่อยู่ในมือพ่อค้าเอกชนแล้วเกือบทั้งหมด และ(2) ข้าวที่รัฐบาลไทยตกลงขายให้คอฟโก้ก็ไม่ใช่ข้าวของรัฐ จึงมีผลเท่ากับขายข้าวของเอกชนใช่หรือไม่

2. ประเด็นทีผมสงสัยและขอเชิญชวนให้ช่วยกันวิเคราะห์ก็คือ ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์และใครคือผู้เสียประโยชน์? ผมขอเสนอให้ช่วยกันพิจารณาว่าจริงหรือไม่ดังนี้

ผู้ได้ประโยชน์ คือ 1. บริษัทคอฟโก้ได้ซื้อข้าวคุณภาพดีราคาถูกเพราะมีรัฐบาลไทยเป็นประกัน และ 2. ผู้ส่งออกข้าวไทยที่ได้ซื้อข้าวฤดูใหม่ไว้ในมือแล้วได้ขายข้าวในนามรัฐบาลไทย

ส่วนผู้เสียประโยชน์คือ 1. รัฐบาลไทยเพราะเสียโอกาสที่จะขายข้าวของรัฐที่มีอยู่ในสต็อคจริงๆ และต้องเสียค่าเก็บรักษาข้าวเหล่านี้ต่อไปอีก นอกจากนี้ยังต้องผิดชอบและรับภาระเสมือนเป็นผู้ขายอย่างแท้จริงเพราะถือว่าขายข้าวในนามรัฐบาลไทย และ 2. ชาวนาไทย เพราะได้ขายข้าวไปแล้วในราคาต่ำ

มีคำถามที่ควรได้คำตอบให้ชัดเจนก่อนที่รัฐบาลจะเซ็นสัญญาคือ การขายข้าวล็อตใหญ่นี้กำหนดราคาเท่าใด สูงหรือต่ำกว่าราคาตลาด ถ้าต่ำกว่าราคาตลาดรัฐบาลหรือผู้ส่งออกต้องรับภาระ ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลนี้เคยแถลงว่าจะดำเนินการให้โปร่งใส เปิดเผยให้ประชาชนทราบนะครับ

คราวนี้ผมไม่ขอเรียกร้องและยังไม่ขอฟันธง แต่อยากขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดพิจารณาและเสนอแนะรัฐบาลให้ตัดสินใจให้ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติส่วนรวมจริงๆด้วยครับ

ยรรยง พวงราช
19 มกราคม 2559

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

"วัฒนา" เปรียบมีชัย "อัครมหาเนติบริกร" สนองคุณ คสช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


"อัครมหาเนติบริกร"

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมสรุปว่าจะมีการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่ถูกต้องของ คสช แต่ไม่รวมถึงการกระทำที่ทุจริต ฟังการให้สัมภาษณ์ของนายมีชัยแล้วเหมือนดูดี เพราะจะนิรโทษกรรมให้เฉพาะการกระทำที่ถูกต้องเท่านั้น คำถามของผมคือถ้าถูกต้องแล้วต้องมาเสียเวลานิรโทษกรรมอีกเพื่ออะไร ดังนั้น คำว่า "ถูกต้อง" ในความหมายของนายมีชัยจึงเป็นความถูกต้องแบบศรีธนญชัย คือถูกต้องเพราะกฎหมายที่พวกเนติบริกรเขียนขึ้นบอกให้ถือว่าถูกต้อง แต่ไม่ใช่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมหรือถูกต้องตามความคิดของวิญญูชน อันได้แก่กรณีตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่บัญญัติให้บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช หรือหัวหน้า คสช ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด

ส่วนที่บอกว่าจะไม่นิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่ทุจริตนั้น คือคำพูดที่ไม่มีความหมายใดๆ เลย เพราะคำว่าทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาหมายถึง "การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น" เนื่องจาก คสช อยู่ในฝ่ายใช้กำลังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารจึงอาจมีข้ออ้างว่ามิได้ทำการทุจริต แต่ที่จริงแล้วคำว่าทุจริตมีความหมายกว้างกว่าที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง "ประพฤติชั่วคดโกงไม่ซื่อตรง" ซึ่งสอดคล้องกับที่องค์กรระหว่างประเทศด้านความโปร่งใส (Transparency International) ให้คำจำกัดความไว้หมายถึง "การใช้อำนาจที่ได้รับความไว้วางใจในทางที่ผิดเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล" (Corruption is the abuse of entrusted power for private gain) ดังนั้น การที่ คสช ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ย่อมถือได้ว่าเป็นการทุจริตที่ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม

นับแต่ คสช ได้ยึดอำนาจการปกครองไปจากประชาชน มีการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามแสดงความคิดเห็นต่างจาก คสช การบังคับเอาบุคคลที่มีความเห็นต่างไปปรับทัศนคติ การทรมานบุคคลที่ถูกจับกุม การเลือกจับกุมคุมขังเฉพาะผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง การห้ามคนเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงการบังคับพลเรือนให้ขึ้นศาลทหาร การกระทำที่กล่าวมาทั้งหมดคือการละเมิดต่อสิทธิของความเป็นคนหรือที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน ซึ่งในทางสากลถือเป็นความผิดต่อมวลมนุษยชาติ (crime against humanity) ที่มีความเลวร้ายเสียยิ่งกว่าความผิดใดๆ ถึงขนาดที่จะต้องถูกดำเนินคดีโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมความเสียหายที่ประเทศชาติได้รับจากการบริหารโดยรัฐบาลที่ คสช ตั้งขึ้น

แต่ด้วยบทบัญญัติของมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว อันเป็นบริการที่พวกเนติบริกรแบบนายมีชัยเคยจัดไว้ให้ จึงทำให้นายมีชัยและคณะใช้เป็นโอกาสสนองคุณให้กับ คสช ที่จะไม่ต้องรับกรรมที่ทำไว้กับประเทศนี้หากรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ จึงเป็นคำถามที่ท้าทายมายังพี่น้องประชาชนว่า เราจะปล่อยให้คนที่ก่อกรรมทำเข็ญกับประเทศนี้ลอยนวล เพื่อกลับมายึดอำนาจจากประชาชนซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยมีผู้คนแบบนายมีชัยและคณะรวมถึงผู้คนในกระบวนการยุติธรรมช่วยสร้างความชอบธรรมให้ เพียงอ้างคำว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ทั้งได้ที่อำนาจมาจากการใช้อาวุธ สำหรับผมบอกล่วงหน้าได้เลยว่าไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ "ฉบับไม่เห็นหัวประชาชน" โดยเด็ดขาดเป็นอะไรก็เป็นกัน

วัฒนา เมืองสุข
18 มกราคม 2559

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559

ครองใจประชาชน! เผยผลสำรวจ “พรรคเพื่อไทย” คะแนนนิยมนำหน้า ประชาธิปัตย์


กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คะแนนนิยมพรรคการเมืองไทย ในยุคห้ามทำกิจกรรมพรรคการเมือง” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,052 คน พบว่า คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ร้อยละ 20.3 นำหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่คะแนนนิยมระดับร้อยละ 19.5 โดยพรรคประชาธิปัตย์ มีความนิยมลดลง สัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2558 ส่วนคะแนนนิยมพรรคการเมืองอื่น อาทิ พรรครักประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 1.3 พรรคชาติไทยพัฒนา มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และพรรคภูมิใจไทย อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ตามลำดับ

“จาตุรนต์” ติงร่างฯรธน.ปัญหามาก ถามนายกฯคนนอก-เป็นประโยชน์กับใคร?


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า เท่าที่ดูเนื้อหาการร่างรัฐธรรมนูญ เห็นได้ว่ามุ่งเน้นจำกัดบทบาทรัฐบาล ทั้งเรื่องนโยบาย การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และเรื่องงบประมาณ ที่นำไปสู่เงื่อนไขรัฐบาลถูกล้มได้โดยง่าย โดยเฉพาะการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญใหม่นี้ จะเป็นการเลือกตั้งที่ถูกขัดขวางได้ง่าย โดยไม่ต้องมีการไปล้อมหน่วยเลือกตั้ง หรือที่รับสมัคร เพราะว่ากำหนดไว้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะต้องได้เสียงมากกว่าผู้ที่ไปโหวตโน ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทย อย่างภาคใต้ และภาคอีสาน ถ้ามีพรรคการเมืองไม่เข้าร่วมการเลือกตั้ง หรือขัดขวางการเลือกตั้ง แล้วรณรงค์ให้โหวตโน ก็จะไม่มีทางได้ผู้แทนราษฎรในเขตนั้น และอาจถึงขั้นไม่มีใครกล้าลงสมัคร เพราะว่าถ้าเขาได้เสียงต่ำกว่าโหวตโน จะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้อีก

"เมื่อสถานการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยว่า บ้านเมืองเกิดวิกฤติจำเป็นต้องมีรัฐบาลมาบริหารประเทศ เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง จะสามารถลงมติเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ และอยู่บริหารประเทศอีกนานๆ เท่ากับยึดอำนาจโดยไม่ต้องรัฐประหาร เมื่อมาถึงขั้นนั้น ประชาชนจะได้เห็นว่า รัฐธรรมนูญอย่างนี้เป็นปัญหามาก และรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ได้แล้ว เพราะจะมีการร่างไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญได้อีกแล้ว ก็จะทำให้บ้านเมืองไปสู่วิกฤติ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ กรธ.จะกำหนดหากบุคคลใดก็ตาม รวมทั้งครม.รู้เห็นเป็นใจต่อการแปรญัตติเพื่อให้นักการเมือง ส.ส. ส.ว.มีส่วน ได้ส่วนเสียต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณ จะต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือครม.อาจต้องไปทั้งคณะ รวมถึงต้องชดใช้เงินด้วยนั้น ความจริงเห็นพูดถึงงบประมาณมาเป็นระยะๆ แล้ว ทั้งในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่พูดแค่ปัญหา ไม่พูดถึงการแก้ปัญหาว่า จะมีระบบดูแลอย่างไร เช่น มีคณะกรรมการดูแลไม่ให้มีการแปรญัตติที่กลัวกันหรือไม่ และจริงๆในรัฐธรรมนูญก่อนนี้ก็ห้าม ส.ส.แปรญัตติอยู่แล้ว

การที่รัฐมนตรีจะเอาลงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากๆ ก็มีการป้องกันอยู่แล้วในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่แล้ว ไม่ให้มีการแก้ไข ถ้าไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม และถ้ารัฐมนตรีคนหนึ่งโยกงบประมาณต้องผิดทั้ง ครม.จะเป็นลักษณะเดียวกันกับ การที่ผิดคนหนึ่งลงโทษทั้งองค์กรอีก สุดท้ายทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้เลย รัฐบาลถูกล้มได้ง่าย ถ้ามีความพยายามจับผิดรัฐมนตรีได้คนหนึ่ง ก็ทำให้ล้มไปทั้งรัฐบาล เป็นเงื่อนไขทำรัฐบาลอ่อนแอ บริหารไม่ได้ และอยู่ได้ไม่นาน จะนำไปสู่การที่ผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้งมาใช้อำนาจแทน ส่วนการตรวจสอบฝ่ายบริหารกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน มีจำนวนไม่ถึง 1 ใน 5 ในการยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรธ.เปิดช่องให้ขอเปิดอภิปรายได้โดยไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่เป็นการยื่นอภิปรายเพื่อให้ ครม.หรือนายกฯได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและชี้แจงปัญหา เช่นเดียวกับ ส.ว.ก็มีสิทธิยื่นเปิดอภิปรายครม.นั้น

อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเคยเปิดให้มีการอภิปรายง่าย โดยไม่มีเงื่อนไขอะไร แล้วก็พบว่า ทำให้ฝ่ายค้านเอาเรื่องที่เป็นเท็จมาใส่ร้ายผู้ถูกอภิปราย ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ จึงกำหนดถ้าจะอภิปราย เพราะเชื่อว่ามีการทุจริต หรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ จะต้องยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ถ้าเหตุไม่พอ ก็ไม่สามารถอภิปรายได้ ดังนั้น ถ้า กรธ.จะเปิดอภิปรายได้ง่ายขึ้น ต้องมาดูว่าจะเป็นประโยชน์กับใครกันแน่ มาทำให้รัฐบาลในสภาพที่ไม่ต้องทำอะไรเสียมากกว่า

"วัฒนา" ติงรัฐอุ้มยาง สูญ6พันล้าน หวั่นเสียค่าโง่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

"แทรกแซงยางพารา ค่าโง่รอบสอง"

ผมเห็นมติ ครม อนุมัติกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราตามที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอแล้ว ยิ่งสงสารพี่น้องชาวสวนยางภาคใต้ที่สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้มาตั้งแต่ต้น ถ้าจำกันได้ผู้รับผิดชอบที่เสนอโครงการครั้งนี้ คือคนเดียวกับที่ ครม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 เคยอนุมัติเงินจำนวน 6,000 ล้านบาท ให้ไปแทรกแซงยางพาราในโครงการมูลภัณฑ์กันชนและเป็นคนเดียวกับเจ้าของวลีที่เคยบอกว่า การผลักดันราคายางไปที่กิโลกรัมละ 80 บาท เป็นเรื่อง "กล้วยๆ" ท้ายสุดประชาชนต้องเสียเงินงบประมาณแผ่นดินไป 6,000 ล้านบาทเพื่อแลกกับราคายางที่ไหลลงมาเป็น 4-5 กิโลร้อย ผมถือว่านั่นคือการเสียค่าโง่รอบแรก

สำหรับมาตรการตามมติ ครม เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ดูเหมือนจะช่วยชาวสวนยางทั้งประเทศ เพราะไม่ได้ระบุแหล่งผลิตแต่เอาเข้าจริงคือการช่วยชาวสวนยางภาคใต้ เพราะยางในภาคอื่นๆ อยู่ในช่วงที่เรียกว่า "ปิดกรีด" คงเหลือเพียงยางในภาคใต้เท่านั้น แต่พี่น้องชาวสวนยางภาคใต้รายย่อยก็ยังคงไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพารา มีมติให้รับซื้อยางแผ่นไม่รมควันชั้น 3 หรือยางแผ่นดิบในราคากิโลกรัมละ 45 บาท เบื้องต้นจำนวน 100,000 ตัน ชาวสวนยางที่แท้จริงผลิตและขายน้ำยางกับขี้ยางหรือยางก้อนเป็นรายวัน ผู้ผลิตยางแผ่นจึงมีเฉพาะนายทุนหรือผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ที่สำคัญขณะนี้ยางอยู่ในมือพ่อค้าหมดแล้ว ท่านผู้นำเคยตำหนิสื่ออย่าติทหารทำงานไม่เป็น ครั้งแรกสูญเงินไป 6,000 ล้านบาทได้ยางราคา 4-5 กิโลร้อย มาตรการคราวนี้ชาวสวนยางรายย่อยก็ไม่ได้ประโยชน์อีก ท่านคงต้องออกคำสั่งตามมาตรา 44 กำหนดให้ถือว่าแบบนี้คือ "การทำงานเป็น"

ถึงแม้รัฐบาลอาจจะมีข้ออ้างว่าการรับซื้อยางแผ่นดิบเพื่อต้องการให้น้ำยางราคาขึ้นก็ตาม แต่เป็นมาตรการที่เลื่อนลอย เพราะมิได้กำหนดราคานำตลาด (indicative price) สำหรับน้ำยางที่ชาวสวนยางควรขายได้ รวมทั้งมิได้มีมาตรการใดๆ มาบังคับให้พ่อค้าต้องรับซื้อน้ำยางจากชาวสวนยางในราคานำตลาดที่รัฐบาลกำหนด รัฐบาลยังไม่มีกลไกไปรับซื้อถึงมือชาวสวนยางที่กรีดยางรายวันและไม่มีที่เก็บสต๊อก รวมถึงไม่มีกลไกที่จะจ่ายเงินตรงถึงมือชาวสวนยางเหมือนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ ธกส เป็นผู้จ่ายเงินผ่านบัญชีให้กับชาวนาโดยตรง ท้ายสุดชาวสวนยางก็ต้องยอมขายน้ำยางให้กับพ่อค้าและถูกกดราคาเหมือนเดิม เพราะน้ำยางไม่สามารถเก็บไว้นานได้ เปิดโอกาสให้พ่อค้าหรือนายทุนเป็นผู้เก็บสต๊อคยางราคาถูกไว้เรียกร้องเอาจากรัฐบาลในรอบต่อไป ส่วน 3 หน่วยงานหลักที่รัฐบาลให้ไปรับซื้อคือ อคส คสช และการยางแห่งประเทศไทย นั้น ผมถามจริงๆ ว่าท่านจะให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติไปรับซื้อยางจริงๆ อย่างนั้นหรือ ผมเชื่อแล้วว่าทหารทำงานเป็นท่านไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อีก ที่ผ่านมาเกือบสองปีคนไทยคงซาบซึ้งแล้วว่า คสช ได้ทำงานให้กับประเทศนี้ประสบความสำเร็จมากเพียงใด

คงจำกันได้ว่าในช่วงที่ยางออกใหม่ๆ ที่พี่น้องชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนแต่ถูกรัฐบาลข่มขู่สารพัด จึงทำให้พี่น้องชาวสวนยางที่แท้จริงไม่กล้าเคลื่อนไหว ต้องยอมขายน้ำยางในราคาถูกๆ ให้พ่อค้าเป็นผู้เก็บสต๊อค ชาวสวนยางที่แท้จริงไม่มีโอกาสทราบเลยว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือ ยกเว้นขาใหญ่ที่สามารถยกหูโทรหาบุคคลสำคัญของรัฐบาลได้ คนพวกนี้ภาษาตลาดหุ้นเค้าเรียกอินไซ้ด์เด้อ พี่น้องชาวสวนยางภาคใต้ของผมจึงเป็นคนที่น่าเห็นใจที่สุด อุตส่าห์ยอมเชื่อแกนนำยกพลมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่เวลาเดือดร้อนไม่มีใครยอมช่วยแม้กระทั่งเชือกที่ผูกคอตายยังต้องซื้อเอง แถมความเดือดร้อนของพี่น้องยังกลายเป็นเครื่องมือทำมาหากิน สร้างความร่ำรวยให้กับอินไซ้ด์เด้อบางคนอีก แบบนี้เค้าเรียกว่าเสียค่าโง่รอบสอง บริหารได้ดีแบบนี้อย่าใช้บริการของเนติบริกรนิรโทษกรรมหนีการตรวจสอบก็แล้วกัน

วัฒนา เมืองสุข
17 มกราคม 2559

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559

"วัฒนา" ยกหมอมงคลสอน "สุเทพ" คิดผิดปิดกรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


เปิดใจ "กำนันสุเทพ"


ผมอ่านข่าวที่หมอมงคล ณ สงขลา โพสต์ลงเฟซบุ๊ค รำลึกเหตุการณ์ชัตดาวน์กรุงเทพเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่าเป็นการทำผิดมหันต์ในชีวิต ผมไม่ขอมีความเห็นต่อโพสต์ของหมอมงคล รวมทั้งไม่ได้รู้สึกดีใจหรือสะใจกับชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับคนที่เรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ เพราะมันคือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติที่ผมและคนไทยทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่ในเรื่องเดียวกันที่ท่านประธานมูลนิธิ กปปส ให้สัมภาษณ์ว่าหากย้อนกลับไปได้ยังทำแบบเดิมนั้น ผมคงไม่มีความเห็นเช่นกันเพราะเป็นวิธีคิดทางการเมืองของท่าน ส่วนผมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเพราะเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย คนไทยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันแม้จะมีพื้นฐานการศึกษาหรือชาติตระกูลที่ต่างกันก็ตาม ผมยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่มาจากประชาชนและยินดีก้มหัวให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ แต่ผมไม่ยอมถอยให้กับเผด็จการโดยเด็ดขาด

ส่วนที่ท่านให้สัมภาษณ์ตำหนิต่างชาติทำนองว่าไม่มีสิทธิมาก้าวก่ายเป็นเรื่องภายในประเทศ เรายังไม่เคยยุ่งกับเรื่องประเทศอื่นเพราะฉะนั้นต่างชาติก็ไม่ควรยุ่งกับเรื่องของเรา นั้น ยังเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะคำว่าเรื่องภายในหรือกิจการภายใน (internal affairs) ที่ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงไม่ได้หมายถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการกำหนดเจตจำนงค์ของตนเอง (self-determination) ของประชาชนในรัฐนั้นๆ อันถือเป็นกิจการภายใน แต่ไม่หมายความรวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เรามีพันธกรณีอยู่ เช่น กฏบัตรสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ เราจึงมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ประชาคมโลกจึงมีความชอบธรรมในการติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกตามที่ผูกพันไว้

ตั้งแต่มีการยึดอำนาจมามีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามแสดงความคิดเห็นต่างจาก คสช การบังคับเอาบุคคลที่มีความเห็นต่างไปปรับทัศนคติ การจับกุมคุมขังผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง การห้ามคนเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงการบังคับพลเรือนให้ขึ้นศาลทหาร การกระทำที่กล่าวมานี้ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธกรณีอยู่ต่างชาติจึงมีความชอบธรรมที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องได้ ส่วนที่บอกว่าเราไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของประเทศอื่นนั้น ท่านคงลืมเหตุการณ์ที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยในสมัยนายชวน หลีกภัย ได้เสนอนโยบาย "พัวพันอย่างสร้างสรรค์" (constructive engagement) ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 31 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2541 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาการเมืองภายในของประเทศพม่าแต่ไม่มีภาคีสมาชิกใดเอาด้วย จนไทยต้องถอยด้วยการเปลี่ยนแนวทางเป็น "พัวพันอย่างยืดหยุ่น" (flexible engagement) แต่ก็ยังถูกปฏิเสธจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แบบนี้ยังบอกว่าเราไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของใครอีกเหรอครับ

วัฒนา เมืองสุข
 16 มกราคม 2559

"วัฒนา" ถาม 2 ปีผ่านไป สังคมไทยได้อะไรจาก Shutdown กรุงเทพ?

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


"ชัตดาวน์กรุงเทพ"

ผมอ่านข่าวที่คุณหมอมงคล ณ สงขลา โพสต์เฟซบุ๊ครำลึกเหตุการณ์ชัตดาวน์กรุงเทพเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่าเป็นการทำผิดมหันต์ในชีวิต สำหรับผมการยึดอำนาจเป็นสิ่งเลวที่สุดที่ผมไม่เคยเห็นด้วยมาแต่ต้น แต่ต้องอดทนให้กลุ่มคนพวกนี้ได้ทำงานพิสูจน์ตัวเอง

 เมื่อเวลาผ่านไปก็เห็นว่าคนเหล่านี้ทำเพื่อพวกพ้อง เช่น การอนุมัติสองขั้นให้กับพรรคพวก จากนั้นอนุมัติวันทำงานทวีคูณให้กับทหารตำรวจทุกคนในประเทศนี้ สองรายการนี้ใช้เงินไปเกือบหนึ่งแสนล้านบาทแต่อ้างว่าไม่มีเงินไปช่วยพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน การปฏิรูปไม่มีอะไรเป็นชิ้นอันนอกจากการใช้มาตรา 44 จัดการกับคนอื่นที่ไม่ใช่พวกพ้อง การบริหารประเทศล้มเหลวและไม่เคยแสดงความรับผิดชอบ แถมพูดจาอวดอ้างตนเป็นคนดีแต่กลัวการตรวจสอบและไม่เคยให้เกียรติประชาชน

 การจัดทำรัฐธรรมนูญก็ถูกคนพวกนี้นำไปปู้ยี่ปู้ยำ สิ่งที่ประธาน กรธ. บอกว่าเป็นสูตรจำเป็นที่ต้องมีในรัฐธรรมนูญคือการนิรโทษกรรมให้ คสช. ซึ่งก็แปลว่าคนพวกนี้มีสิทธิจะทำกับประเทศอย่างไรก็ได้ เพราะนิรโทษกรรมกันไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว เมื่อเกิดการทุจริตในโครงการที่เกี่ยวกับกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดซื้อเรือเหาะ การจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดลวงโลก หรือการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ นอกจากจะตรวจสอบไม่ได้แล้ว คนที่แสดงตัวว่าจะตรวจสอบกลับถูกคุกคามและถูกดำเนินคดี

 แม้กระทั่งพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่เดือดร้อนซึ่งสนับสนุนคนพวกนี้ ยังถูกข่มขู่จะดำเนินคดีหากออกมาเคลื่อนไหว ส่วนผมโดนมาทุกแบบ ถูกคุกคาม ถูกติดตามความเคลื่อนไหว ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ถูกห้ามเดินทางไปต่างประเทศและถูกลอบทำร้ายร่างกาย

 ผมเชื่อว่ามีคนรู้สึกแบบคุณหมอเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผมไม่ได้บอกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ดีที่สุด หากแต่เป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชนที่ท่านสามารถตรวจสอบได้โดยไม่ถูกคุกคามและไม่ถูกยัดข้อหาเหมือนที่เผด็จการทำกับท่าน ผมไม่ได้รู้สึกดีใจหรือสะใจที่เห็นชะตากรรมเกิดขึ้นกับพวกท่าน เพราะมันคือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศที่ผมและทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของด้วย ปัญหาคือพวกเราจะทำแค่บ่นแล้วปล่อยให้คนพวกนี้ใช้อำนาจตามใจชอบอย่างนั้นหรือ

วัฒนา เมืองสุข
15 มกราคม 2559

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

“ยรรยง” สอนรัฐซื้อยาง เปรียบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ช่วยชาวนา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ขอเชียร์ให้รัฐบาลรีบรับซื้อยางพาราเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางก่อนราคาดิ่งตกเหว
มาตรการรับซื้อยางโดยตรงจากชาวสวนยางเป็นคำเฉลยคำตอบว่าการรับจำนำข้าว
เพื่อช่วยชาวนาเป็นการทำหน้าที่ของรัฐที่ถูกต้องเหมาะสมและจำเป็น ผมขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายเลิกอคติและหยุดบิดเบือนและประทับตราบาปว่า การช่วยเหลือเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำข้าวหรือรับซื้อยางเป็นประชานิยมที่เลวร้าย

ผมรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้รับทราบข่าวว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางโดยจะเข้าไปรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรงในราคาสูงกว่าราคาตลาดแต่ไม่เกินกิโลกรัมละ 45- 60 บาท จำนวนไม่เกิน 1 แสนตัน ซึ่งผมเข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้ได้ตระหนักแล้วว่าการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นภารกิจและหน้าที่พื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของรัฐ และรัฐบาลชุดนี้ได้ก้าวข้ามกับดักประชานิยมได้แล้ว

ที่ผมดีใจอีกอย่างคือ รัฐบาลเริ่มเข้าใจถูกต้องว่าสภาพของปัญหาที่แท้จริงคือเรื่องตลาดและราคายางที่ตกตํ่าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ที่รัฐบาลออกมารับซื้อก็เพื่อปรับกลไกตลาดให้เกิดสมดุล เพราะผลผลิตทั้งโลกประมาณปีละ 12.8 ล้านตัน ในขณะที่มีการใช้ยางปีละประมาณ 12.2 ล้านตัน ผลผลิตในไทยปีละประมาณ 4.5 ล้านตัน ส่งออกปีละประมาณ 3.7 ล้านตัน จึงมีอุปทาน ส่วนเกิน (surplus supply) คือปริมาณผลผลิตมากกว่าการใช้อยู่ประมาณปีละ 7-9 แสนตัน ซึ่งเป็นตัวฉุดราคาสินค้าเกษตรชนิดนั้นให้ตกตํ่าทั้งหมด (Marginality Theory) ซึ่งมีผลเหมือนกันทั้งยางพาราและข้าว

การที่รัฐบาลเข้าไปรับซื้อยางหรือรับจำนำข้าวจากเกษตรกรเป็นการสร้างแรงกดดันให้พ่อค้าหรือผู้ใช้ไม่ให้กดราคาเกษตรกรเพราะรัฐเข้ามาช่วยอุ้มสต็อกส่วนเกินไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องแย่งรับซื้อยางหรือข้าวแพงขึ้นเพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะใช้หรือบริโภค ดังจะเห็นได้จากราคาข้าวเปลือกเจ้า5%ช่วงที่ไม่มีโครงการรับจำนำราคาตลาดเฉลี่ยประมาณตันละ 6000-7500 บาท แต่เมื่อมีโครงการรับจำนำสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีราคาสูงขึ้นเป็นตันละ 9000-11500 บาท

เหตุผลที่ผมเชียร์ให้รัฐบาลรีบออกไปรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรง ก็เพราะเป็นมาตรการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการรับจำนำข้าวช่วยชาวนาแทบทุกประการ ซึ่งพอสรุปง่ายๆดังนี้

1. เป็นมาตรการแทรกแซงราคาที่ต้องการกดดันให้ราคาสูงขึ้น โดยรัฐเข้าไปอุ้มเกษตรกรโดยการรับซื้อในราคานำตลาด
(เช่นราคาตลาดแผ่นยางดิบ กก.ละ 32 บาท รัฐบาลรับซื้อ กก.ละ 45-60 บาท) เป็นการเพิ่มทางเลือกและอำนาจต่อรองให้เกษตรกร
2. ทำให้เงินถึงมือเกษตรกรโดยตรงโดยการรับซื้อหรือรับจำนำจากเกษตรกรโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเร็วขึ้นและมากขึ้น

แต่มีข้อแตกต่างกันคือ การรับจำนำข้าวเกษตรกรมีสิทธิไถ่ถอนภายใน 4 เดือน แต่ การรับซื้อยางพาราเกษตรกรไม่มีสิทธิไถ่ถอนเพราะเป็นการโอนสิทธิเด็ดขาดให้ รัฐไปเลย

ผมเห็นว่าการรับซื้อยางพาราจะประสบความสำเร็จคือสามารถผลักดันให้ราคายางสูงขึ้นได้ต้องรับซื้อในราคาสูงและในปริมาณที่มากพอ(เทียบกับอุปทานส่วนเกินที่มีอยู่ประมาณ 7-9 แสนตัน) ทำนองเดียวกับที่ต้องรับจำนำข้าวปริมาณมาก พูดง่ายๆคือต้องใช้ยาแรง

ผมจึงขอเสนอให้รัฐบาลรับซื้อยางในราคาสูง ( กก.ละ 45-60 บาท น่าจะเหมาะสม)
แต่ถ้ารับซื้อเพียง 1 แสนตัน น่าจะไม่พอเพราะในสถานการณ์ปัจจุบันมีอุปทานส่วนเกินค่อนข้างสูง (คาดว่าประมาณ 7-9 แสนตัน) และเกษตรกรชาวสวนยางที่เดือดร้อนมีจำนวนมากกว่า 1.6 ล้านครัวเรือน ถ้ารับซื้อจำกัดจะมีปัญหาการรับซื้อกระจายไม่ทั่วถึง

ผมเชื่อมั่นว่าการที่รัฐบาลรับซื้อยางจะทำให้ทุกฝ่ายรวมทั้งรัฐบาล คสช. แม่นํ้าทั้งห้าสายและฝ่ายตุลาการได้ปรับมุมมองและทัศนคติเกี่ยวกับนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรและให้ถูกต้องซึ่งจะทำให้สังคมสามารถก้าวข้าม "กับดักประชานิยมได้อย่างแท้จริง"

ประชาชนจำนวนมากให้กำลังใจ "ยิ่งลักษณ์" ขึ้นศาลฯไต่สวนคดีจำนำข้าว


บรรยากาศสด ขณะนี้ จากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงแล้วตามที่ศาลมีกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน ในเวลา 09.30 น. โดยมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ อัยการนำพยานไต่สวนนัดแรก ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดไว้ให้ไต่สวนพยานฝ่ายอัยการ รวม 14 ปาก ภายในเวลา 5 นัด ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559, วันที่ 17 และ 26 กุมภาพันธ์ 2559, วันที่ 4 และ 23 มีนาคม 2559 โดยขณะที่พยานชุดแรก ที่คณะทำงานอัยการ โจทก์ จะส่งให้องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ทั้ง 9 คนไต่สวน ก็จัดเตรียมไว้ 4 ปากด้วยกัน ซึ่งศาลกำหนดเวลาไต่สวนพยานไว้ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น เวลา 09.30–16.00 น. ซึ่งเป็นขั้นตอนเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดี

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า "เรามีความพร้อมในเนื้อหา วันนี้(15มกราคม) เป็นวันสืบพยานของฝ่ายโจทก์ ซึ่งอาจมีการให้การของฝ่ายโจทก์ เนื่องจากมีพยานปากใหม่ที่ยังไม่เคยให้การในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคงจะมีคำถามเพิ่มเติม เราจะพยายามทำอย่างเต็มที่และว่าไปตามเนื้อหา ซึ่งคงต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ในส่วนพยานฝ่ายตนก็พร้อมนำเสนอข้อมูลต่อสู้ในเดือนเมษายนนี้ต่อไป"


















#TV24 #BreakingNews บรรยากาศสด ขณะนี้ จากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงแล้วตามที่ศาลมีกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน ในเวลา 09.30 น. โดยมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมากทั้งนี้ อัยการนำพยานไต่สวนนัดแรก ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดไว้ให้ไต่สวนพยานฝ่ายอัยการ รวม 14 ปาก ภายในเวลา 5 นัด ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559, วันที่ 17 และ 26 กุมภาพันธ์ 2559, วันที่ 4 และ 23 มีนาคม 2559 โดยขณะที่พยานชุดแรก ที่คณะทำงานอัยการ โจทก์ จะส่งให้องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ทั้ง 9 คนไต่สวน ก็จัดเตรียมไว้ 4 ปากด้วยกัน ซึ่งศาลกำหนดเวลาไต่สวนพยานไว้ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น เวลา 09.30–16.00 น. ซึ่งเป็นขั้นตอนเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดี
Posted by TV24 สถานีประชาชน on 14 มกราคม 2016



#TV24 #BreakingNews บรรยากาศสด ขณะนี้ จากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงแล้วตามที่ศาลมีกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน ในเวลา 09.30 น. โดยมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมากทั้งนี้ อัยการนำพยานไต่สวนนัดแรก ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดไว้ให้ไต่สวนพยานฝ่ายอัยการ รวม 14 ปาก ภายในเวลา 5 นัด ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559, วันที่ 17 และ 26 กุมภาพันธ์ 2559, วันที่ 4 และ 23 มีนาคม 2559 โดยขณะที่พยานชุดแรก ที่คณะทำงานอัยการ โจทก์ จะส่งให้องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ทั้ง 9 คนไต่สวน ก็จัดเตรียมไว้ 4 ปากด้วยกัน ซึ่งศาลกำหนดเวลาไต่สวนพยานไว้ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น เวลา 09.30–16.00 น. ซึ่งเป็นขั้นตอนเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดี
Posted by TV24 สถานีประชาชน on 14 มกราคม 2016



#TV24 #BreakingNews บรรยากาศสด ขณะนี้ จากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงแล้วตามที่ศาลมีกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน ในเวลา 09.30 น. โดยมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมากทั้งนี้ อัยการนำพยานไต่สวนนัดแรก ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดไว้ให้ไต่สวนพยานฝ่ายอัยการ รวม 14 ปาก ภายในเวลา 5 นัด ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559, วันที่ 17 และ 26 กุมภาพันธ์ 2559, วันที่ 4 และ 23 มีนาคม 2559 โดยขณะที่พยานชุดแรก ที่คณะทำงานอัยการ โจทก์ จะส่งให้องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ทั้ง 9 คนไต่สวน ก็จัดเตรียมไว้ 4 ปากด้วยกัน ซึ่งศาลกำหนดเวลาไต่สวนพยานไว้ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น เวลา 09.30–16.00 น. ซึ่งเป็นขั้นตอนเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดี
Posted by TV24 สถานีประชาชน on 14 มกราคม 2016