วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

"ประชาชาติ" เยือนสุรินทร์ ห่วงปัญหาสิทธิเกษตรกร แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาอีสานตอนล่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผมได้มีโอกาสร่วมโครงการเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 2 ที่ หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ในประเด็น “สิทธิเกษตรกร : สินค้าราคาแพง ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูง ราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร” ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มเครือข่ายสมัชชาคนจน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีคนจน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักวิชาการ และสื่อมวลชน จัดเวทีสัญจร 4 ภาค 7 เวที ระหว่างเดือนเมษายนถึง เดือนมิถุนายน 2565 เพื่อเป็นการรณรงค์ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของคนจนและประชาชนอย่างเท่าเทียม ใช้เวทีดังกล่าวประกาศเชิญพรรคการเมืองมาร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกันผลักดันให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการสะท้อนเสียงของกลุ่มเกษตรกรภาคอีสานตอนล่าง 

จากที่ได้รับฟังแลกเปลี่ยนความเห็น ปัญหาหลักของกลุ่มคนจนอีสานตอนล่าง ส่วนใหญ่ เกิดจากปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ โดยเฉพาะเรื่อง ข้าวเปลือก ที่ตอนนี้ราคาตกต่ำ จนชาวนาจำนวนมากตัดสินใจไม่ขาย เก็บในยุ้งข้าวจนกว่าราคาข้าวจะขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับค่าปุ๋ยที่จ่ายไป ขณะที่การนำข้าวไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านบางประเภท ยังติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย ทำให้ชาวนาหรือเกษตรกร ต้องเผชิญปัญหาความจนซ้ำซาก จนขาดโอกาสที่จะต่อยอดพัฒนาอาชีพ เพื่อคุณภาพชีวิต


ปัจจุบันเกษตรกรถูกกดทับในหลายเรื่อง เมื่อเกษตรกรประสบปัญหาออกมาเรียกร้อง รวมทั้ง ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน วันนี้ที่ดินอยู่ในมือของรัฐ โดยรัฐมีความคิดอำนาจนิยม เอาอำนาจในที่ดินเก็บไว้กับตัว เช่น ที่ดินสปก. ซึ่งถึงเวลาแล้ว ที่ประชาชนจะลุกมาทวงถามสิทธิชุมชน ซึ่งรัฐต้องเลิกการใช้อำนาจแบบรวมศูนย์ ต้องกระจายอำนาจให้ชุมชน ชุมชนสามารถบริหารป่าชุมชนได้  ให้ที่ดินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน  และต้องแก้ปัญหาเรื่องน้ำ น้ำควรให้เกษตรกรใช้ในการเกษตรกรรม โดยต้องให้ท้องถิ่นจัดการแทนฝ่ายบริหาร และที่สำคัญ รัฐบาลต้องปรับแนวคิดว่า ประชาชนไม่ได้อยู่รับใช้รัฐบาล แต่รัฐบาลต้องรับใช้ประชาชน ครับ 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ได้เดินทางมากับคณะของ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย นายไชยพล เดชตระกูล คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคประชาชาติ นายนัฐพล​ กาวินคำ แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาชาติ และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดปทุมธานี พรรคประชาชาติ นายชัยกฤต เผ่าบุญเกิด อดีตผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดสกลนคร พรรคประชาชาติ และนายพลรักษ์ รักษาพล คณะทำงานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคประชาชาติ โดยจะมีการจัดเวทีสัญจร ครั้งที่ 3 ในวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2565 ที่ มหาวิทยาลัย​ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต





วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565

รองโฆษกเพื่อไทย สะท้อนปัญหาสมัชชาคนจน ย้ำพรรคฯไม่ทิ้งคนรากหญ้า

เครือข่ายสมัชชาคนจน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีคนจน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักวิชาการ และสื่อมวลชน เดินหน้าโครงการเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 2 ในประเด็น “สิทธิเกษตรกร : สินค้าราคาแพง ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูง ราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร” จัดเวทีสัญจร 4 ภาค 7 เวที ระหว่างเดือนเมษายนถึง เดือนมิถุนายน 2565 เพื่อเป็นการรณรงค์ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้เวทีดังกล่าวประกาศเชิญพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกันผลักดันให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมี นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมรับฟังปัญหาพี่น้องเกษตรกร 

นายชนินทร์ กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมเสวนาได้สะท้อนปัญหาความเดือดร้อนว่าตลอด 8 ปีท่ีผ่านมาการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทำร้ายและทำลาย เกษตรกรอย่างมหาศาล ปัจจุบันจำนวนครัวเรือนเกษตรกรในประเทศไทยมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ มีรายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงชีพ เกษตรกรผู้เฒ่าผู้แก่ต่างผลักดันลูกหลานให้ไปทำอาชีพอื่น เพราะอาชีพเกษตรกรถูกทำให้ไม่มีเกียรติ ไร้คุณค่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยกว่า 70% ไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยรายได้จากการทำเกษตร ต้องพึ่งพารายได้หลักจากงานบริการแทน จนอาจกล่าวได้ว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรในยุค พล.อ.ประยุทธ์ “ถูกบังคับให้จน” จนทั้งรายได้ที่ตกต่ำ และจนทั้งโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก ไม่สามารถพัฒนาอาชีพของตัวเอง เพราะรัฐบาลไม่มีศักยภาพเพียงพอในการหาตลาดให้กับสินค้าเกษตร จึงทำให้ผลผลิตทางการเกษตรต้องรอการขายให้กับตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียว สินค้าเกษตรท่ีรอเวลาขายไม่ได้ ก็ต้องยอมรับความเสียหาย เช่น ผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรอื่นท่ีถึงฤดูการเก็บเกี่ยวจำเป็นต้องขาย หากขายไม่ได้ก็ต้องทิ้ง ในขณะเดียวกันชาวนาซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ ต้องเก็บข้าวค้างยุ้งฉาง ไม่สามารถขายได้ เพราะราคาข้าวตกต่ำ มูลค่าการส่งออกตกต่ำลงเรื่อยๆจนแพ้เวียดนามาหลายปี และรัฐบาลยังล้มเหลวในการควบคุมต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ปล่อยให้ราคาปุ๋ย น้ำมันเชื้อเพลิง และอาหารสัตว์ พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนคล้ายกับการ “สร้างกับดักทางการเกษตร” เพราะเมื่อต้นทุนพุ่งสูงแต่ราคาผลผลิตตกต่ำ สุดท้ายบาปกรรมตกที่เกษตรกร คือยิ่งทำยิ่งเจ๊ง ทั้งนี้ ทางเครือข่ายเกษตรกรได้ฝากข้อเรียกร้องให้ทางภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิต สิทธิ์ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำและเมล็ดพันธุ์ต่างๆโดยชุมชนเอง ตลอดจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มเติมสิทธิของพี่น้องเกษตรกรให้เสมอภาคกับอาชีพอื่นๆ


นายชนินทร์ ยืนยันกับพี่น้องเกษตรกรว่า จากการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ของพรรคเพื่อไทยในวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยยืนยันจุดยืนเคียงข้างพี่น้องรากหญ้าทั่วประเทศ สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาให้เกษตรกร โดย

1.หาตลาดเร่งระบายสินค้า

2.ควบคุมต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรทันที 

3.ส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรอย่างเป็นระบบ ด้วยการพัฒนาสายพันธุ์ นำเทคโนโลยี AI เข้ามาร่วมวางแผนการทำการเกษตร 

4.ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าและยืดอายุสินค้าสำหรับสับเปลี่ยนขายผลผลิตนอกฤดู 

5.แก้ไขปัญหาไม่มีที่ดินทำกินและขาดเงินทุนในการพัฒนาอาชีพ


“ผลงาน พล.อ.ประยุทธ์เป็นที่ประจักษ์ว่า อยู่มาจะครบ 8ปี ไม่เคยแก้ไขปัญหาเกษตรกรได้สักเรื่อง เกษตรกรจนลงเรื่อยๆ อีกทั้งปล่อยม็อบชาวนาเคว้งหน้ากระทรวงการคลังกว่า 2 เดือน นับเป็นยุคมืดที่เกษตรกรไทยถูกปฏิบัติอย่างไร้เกียรติ หากรัฐบาลเพื่อไทยได้กลับมาบริหาร เราจะพลิกฟื้นความมั่งคั่งให้เกษตรกรไทย พัฒนาการเกษตรให้ทันสมัย ให้เกษตรกรไทยกลับมาภาคภูมิใจได้อีกครั้ง”ชนินทร์ กล่าว




“ทวี” ห่วงเกษตรกร ชี้ปัญหาสิทธิ์ที่ดิน ต้องเร่งแก้ไข-ลดความเหลื่อมล้ำ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นำคณะทีมงานพรรคประชาชาติ ร่วมกิจกรรมของเครือข่ายสมัชชาคนจน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีคนจน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักวิชาการ และสื่อมวลชน เดินหน้าโครงการเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 2 ในประเด็น “สิทธิเกษตรกร : สินค้าราคาแพง ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูง ราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร” จัดเวทีสัญจร 4 ภาค 7 เวที ระหว่างเดือนเมษายนถึง เดือนมิถุนายน 2565 เพื่อเป็นการรณรงค์ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้เวทีดังกล่าวประกาศเชิญพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกันผลักดันให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 


ผู้สื่อข่าวรายงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ว่า วันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคม นำโดย กลุ่มสมัชชาคนจน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีคนจน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักวิชาการและสื่อมวลชน เดินหน้าโครงการเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” จัดเวทีสัญจร 4 ภาค 7 เวที ระหว่างเดือนเมษายนถึง เดือนมิถุนายน 2565 เพื่อเป็นการรณรงค์ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจะใช้เวทีดังกล่าวประกาศเชิญพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกันผลักดันให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งวันนี้เป็นการจัดเวทีสัญจร ครั้งที่ 2 ในประเด็น “สิทธิเกษตรกร : สินค้าราคาแพง ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูง ราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร” มี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ และคณะ ประกอบด้วย นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะ ที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย นายไชยพล เดชตระกูล คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคประชาชาติ นายนัฐพล​ กาวินคำ แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาชาติ และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดปทุมธานี พรรคประชาชาติ นายชัยกฤต เผ่าบุญเกิด ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดสกลนคร พรรคประชาชาติ และนายพลรักษ์ รักษาพล คณะทำงานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคประชาชาติ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าอาชีพเกษตรกรคือยุ้งฉางของแผ่นดิน ที่ดินก็คือเงินของประชาชน ถ้าเราหว่านเมล็ดพันธุ์พืชไปในที่ดิน สิ่งที่งอกงามมาก็คือผลผลิต เป็นอาหารมาเลี้ยงสังคม สังคมใดไม่มีอาชีพเกษตรกร สังคมนั้นจะอยู่ลำบาก แต่วันนี้เป็นความโชคร้ายของประชาชนที่เป็นเกษตรกร เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตพูดถึงเกษตรกรว่า รัฐจะต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ให้เกษตรกรมีการผลิต มีตลาด และขายในราคาที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด ทว่าพอมาถึงรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งตนคิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เกลียดชังเกษตรกร เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุว่า เกษตรกรให้มีการผลิต มีการแข่งขัน และสามารถแข่งขันได้ในราคาตลาด คำว่า “ตลาด” เป็นของนายทุน ตลาดยิ่งถูกยิ่งดี คือเกษตรกรผลิตมา เมื่อไปขายในราคาตลาด ก็อย่าหวังเลยว่าจะมีกำไร 

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญปี 2517 เป็นรัฐธรรมนูญที่ตนเห็นว่าดีที่สุดฉบับหนึ่ง เขียนไว้ว่า คนที่เป็นเกษตรกร ต้องมีกรรมสิทธิ์และมีสิทธิในที่ดิน แต่รัฐธรรมนูญปี 60 เกษตรกรต้องยากไร้ก่อน ต้องยากจนก่อน ต้องมาแสดงตัวโดยให้ข้าราชการมาทำความสงสาร ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก่อน แล้วราชการก็จะไปปฏิรูปที่ดินให้ จนถึงวันนี้ที่ดินก็ไปอยู่กับคนรวยหมด ดังนั้นเราต้องกล้าเอาที่ดินเป็นรัฐสวัสดิการ 

“ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องกล้าเอาสิทธิชุมชนขึ้นมา ต้องเลิกรัฐรวมศูนย์ แล้วต้องกระจายอำนาจเรื่องที่ดิน ป่าไม้ ทุกกฎหมายไปสู่ชุมชนท้องถิ่นให้ได้ เรื่องที่ดินวันนี้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมาก วิธีแก้ไขท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ที่ดินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เหมือนสิทธิการศึกษา” เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ 

ส่วนปัญหาเรื่องน้ำที่เกษตรกรต้องมีน้ำใช้ในการเกษตรนั้น พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า น้ำกลายเป็นเครื่องมือของการคอร์รัปชั่น แทนที่จะปล่อยให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการ กลับไปสร้างสำนักบริหารน้ำ สร้างตึกสร้างอาคารเอาเงินทอน นี่คือความเลวร้ายที่สุด ประชาชนไม่ได้อยู่รับใช้รัฐบาล รัฐบาลเท่านั้นต้องอยู่รับใช้ประชาชน ถ้าทำได้ แค่นี้จะแก้ปัญหาได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจัดเวทีสัญจร ครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2565 ที่ มหาวิทยาลัย​ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2565

"ดร.สุชาติ" ห่วงของแพง-ค่าแรงถูก แนะเปลี่ยนผู้นำประเทศ



ศ.สุชาติ อดีตรมว.คลัง ระบุ ผู้นำต้องตั้งใจรับใช้ประชาชน จึงจะแก้ปัญหาความยากจนได้ ผู้นำขุนศึกศักดินามีแต่จะทำให้ประชาชนยากจนลง ประเทศไทยควรมีบำนาญประชาชน และประกันสังคมสำหรับประชาชนทุกคน และควรขึ้นค่าแรงเป็น 500 บาทต่อวัน

22 เมษายน 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา​ ประ​ชาชนไทยยากจนลงมาก ตัวเลขธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า​ จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน จาก​ 4.8 ล้านคน​ เป็น​ 6.7 ล้านคน​ ในช่วงปี 2558 ถึงปี 2561 เทียบกับประเทศจีนที่เคยมีคนจนกว่า 970 ล้านคน วันนี้ไม่มีคนจีนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนแล้ว

1.   เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ “ผู้นำต้องมีความตั้งใจรับใช้ประชาชน” ผู้นำแบบศักดินา เป็นเจ้าขุนมูลนาย นายทุนผูกขาด คิดแต่เป็นนายประชาชน เอาเปรียบประชาชน คอรัปชั่นเงินประชาชน จะไม่มีทางแก้ไขปัญหาความยากจนได้ มีแต่จะทำให้ประชาชนยากจนลง 

2.   การทำชื่อโครงการเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในแต่ละประเทศ จะมีชื่อคล้ายๆ กันหมด คือ การให้การศึกษาที่ดี การทำถนนเข้าสู่หมู่บ้านในชนบท การส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การเกษตรสมัย การส่งผลผลิตสู่ตลาดผ่านระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย  การนำอุตสาหกรรมจากเมืองสู่หมู่บ้าน หากประชาชนอยู่ในทะเลทรายในที่ทุรกันดาร รัฐก็จะสร้างคอนโดสร้างแฟลต ให้ย้ายมาอยู่ หาโครงสร้างบริการพื้นฐาน และหางานมาให้

3.   ประเทศจีนแก้ความยากจนได้ดีมาก วันนี้ประชาชนจีน ที่เคยอยู่ใต้เส้นความยากจน ไม่มีแล้ว ทั้งประเทศ เพราะผู้นำและรัฐบาลจีนตั้งใจรับใช้ประชาชน ทำโครงการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นอย่างตั้งใจ ไม่คอรัปชั่น ไม่เบียดบังเงินภาษีที่มาจากประชาชน แต่ประเทศเจ้าขุนมูลนายพ่อค้านายทุนผูกขาดแบบไทยๆ ที่มีโครงการชื่อเหมือนๆ กัน แก้ความยากจนไม่ได้ กลับทำให้คนยากจนเพิ่มขึ้นมากมาย เพราะไม่ตั้งใจ ทำตัวเป็นนายประชาชน จ้องแต่จะคอรัปชั่น เบียดบังเงินงบประมาณในโครงการช่วยเหลือประชาชน

4.   นอกจากนี้ ประเทศจีนยังจัดเงินสวัสดิการให้ประชาชน (Welfare) ที่ชราภาพอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เพื่อให้สามารถพึ่งตนเอง ไม่เป็นภาระลูกหลาน ดังนั้น ประเทศไทย คงต้องมีระบบบำนาญประชาชน สำหรับคนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปได้แล้ว รัฐบาลไทยควรจัดให้มีระบบสวัสดิการประชาชน โดยให้บำนาญประชาชนทุกคน เดือนละ 3,000 บาท (เป็นเงินที่ต้องใช้จ่ายขั้นต่ำ เป็นระดับเส้นความยากจนในประเทศไทย) ซึ่งปัจจุบันมี 11 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท เงินจำนวนนี้หามาจาก การลดขนาดรายจ่ายประจำของรัฐบาล ลดจำนวนกระทรวง ทบวง กรม และลดจำนวนรัฐมนตรีลง เลิกวุฒิสภา มีแต่ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชน ให้ทำในลักษณะคล้ายประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีรายได้ของชาติโดยรวม (GDP) ใหญ่กว่าไทยถึงกว่า 10 เท่า แต่มีเพียง 12 กระทรวง 18 รัฐมนตรี

5.   สำหรับประชาชนในวัยทำงาน ประเทศไทยควรให้มีระบบประกันสังคม (Social Security) ให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน โดยให้ประชาชนทุกอาชีพ ออมเงินตามความสามารถ โดยรัฐบาลใช้เงินภาษีร่วมสมทบเงินให้ประชาชนแต่ละคน เช่น ออมและสมทบฝ่ายละ 3-10% ของรายได้ เมื่อแต่ละคนอายุครบ 60 ปีแล้ว นอกจากจะได้เงินเดือนสวัสดิการ 3,000 บาทที่รัฐจัดให้ฟรีแล้ว ประชาชนแต่ละคน ยังจะได้เงินเดือนส่วนเพิ่ม ที่ออมไว้ตั้งแต่ยังหนุ่มสาวในระบบประกันสังคมด้วย ซึ่งรวมกันอาจได้ถึง 20,000 ถึง 30,000 บาทต่อเดือน

6.   ทุกวันนี้ สินค้าต่างๆ เริ่มขึ้นราคา โดยเฉพาะสินค้านำเข้า ประเภทน้ำมัน และโภคภัณฑ์ ยารักษาโรค และผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมี ทั้งนี้ เนื่องมาจากสงครามรัสเซียบุกยูเครน และจากการที่ประเทศใหญ่ๆ พิมพ์ธนบัตร มาใช้ในช่วงโรคระบาดโควิดมากเกินไป รัฐบาลไทย จึงควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้พอกิน จากวันละ 300 เป็น 500 บาท โดยรัฐควรปรับค่าเงินบาทให้แข่งขันได้ดีขึ้น จะขายสินค้าและบริการส่งออกได้มากขึ้น​ ได้เงินตราต่างประเทศมา​แล้ว​ ยังแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้​เศรษฐกิจ​เติบโตในอัตราสูงขึ้น​ ทำให้สามารถเพิ่มค่าแรงงานได้ ในขณะที่เอกชนก็ได้กำไรมากขึ้น และรัฐบาลได้เงินภาษีมากขึ้นด้วย

7.   ปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังถอยหลังลงคลอง รัฐบาลบริหารประเทศแบบผิดทิศทาง ทำให้หนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการกู้เงินมาแจก หนี้รัฐบาลคิดเป็น 62% ของรายได้ประเทศ (GDP) แล้ว และหนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นมากมาย เพราะประชาชนไม่มีงานทำ หนี้ครัวเรือนคิดเป็นกว่า 90 % ของ GDP หนี้ทั้ง 2 ประเภทรวมกันเกินกว่า 150% ของ GDP ประเทศต้องเปลี่ยนผู้นำเป็นคนรุ่นใหม่ที่รับใช้ประชาชน มีระบบความคิดใหม่ ทำให้ประชาชนมีอนาคต มีความใฝ่ฝัน ศ. สุชาติ ธาดาธำรงเวช กล่าวในที่สุด

วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2565

"ประชาชาติ" แนะรัฐส่งเสริมเกษตรกร หนุนใช้เกษตรอินทรีย์ พลังงานชีวมวล-ชีวภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะ ที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ซึ่งประกาศโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United  Nations  Environment Program : UNEP) ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Invest in our planet ลงทุนให้โลกของเราไปด้วยกัน เพื่อร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รักษาและปกป้องสุขภาพครอบครัวของเรา สิ่งที่องค์กรหรือทุกคนสามารถทำได้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกของเรา คือ ลงมือทำอย่างจริงจัง สร้างสรรค์และนำไปปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

ในมิติความมั่นคงด้านการเกษตรมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ประชาชนประกอบอาชีพในภาคเกษตรเป็นแหล่งรายได้สำคัญของครัวเรือนไทยในชนบท ต้องอาศัยปัจจัยการผลิตการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ ทั้งพืชไร่ไม้ผล, พืชเศรษฐกิจ, ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ รัฐจึงควรสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้พลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภัณฑ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิต ร่วมคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมนำเทคโนโลยีทันสมัยและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนความมั่นคงทางการเกษตรอย่างยั่งยืน

ปัจจัยการผลิตการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษที่หาได้ง่ายๆใกล้ตัวหรือในสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น เช่นพืชสมุนไพร เศษตอซังฟางข้าว หรือจุลินทรีย์ในธรรมชาติ สามารถผลิตเป็นปุ๋ย เป็นสมุนไพรหรือสารชีวภัณฑ์กำจัดโรคแมลงศัตรูพืช และเป็นวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรในราคาที่เข้าถึงได้ สร้างความมั่นคงทางการเกษตรและอาหารให้กับประชาชน และสร้างระบบผลิตปัจจัยทางการเกษตรที่ยั่งยืน รวมถึงมีส่วนร่วมรักษาสมดุลระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปได้ครับ


“ทวี” ชงแก้ 2 ประเด็นหลักช่วยลูกหนี้ กยศ. ปรับโครงสร้างบอร์ดเพิ่มการมีส่วนร่วม

เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผย กมธ.กฎหมาย กยศ. เตรียมเสนอ กรรมาธิการฯเชิญปลัดคลังหารือทบทวนประกาศหลักเกณฑ์บังคับนักศึกษาที่กู้ กยศ.ทำงานบำเพ็ญประโยชน์ 36 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่โควิดระบาด รัฐบาลขอความร่วมมือไม่ให้ออกจากบ้าน เผยดูแลตัวเองกับครอบครัวก็แย่แล้ว อย่าสร้างภาระให้อนาคตของชาติ พร้อมแก้โครงสร้าง “บอร์ด กยศ.” เพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก 5 เป็น 7 คน เน้นสร้างการมีส่วนร่วม ไม่ใช่มีแต่ข้าราชการเกษียณ 

วันที่ 21 เม.ย.65 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ห้องข่าวรัฐสภา แชนแนล” ช่วง “ประเด็นเป็นข่าว” ทางโทรทัศน์รัฐสภา ช่อง 10 ถึงกรณีที่ตัวแทนนิิสิต-นักศึกษา 12 สถาบัน เดินทางมาที่อาคารรัฐสภา เพื่อยืนเรื่องต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เรียกร้องให้มีการปรับแก้ในหลายประเด็น 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เมื่อวาน (20 เม.ย.) มีตัวแทนของนักศึกษา 12 สถาบัน ได้มายื่นเรื่องให้ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กยศ. ได้พิจารณาหลักๆ มีอยู่ 2 หัวข้อใหญ่ๆ ก็คือ  

กรณีปัจจุบันคณะกรรมการ กยศ. ไปออกประกาศของ กยศ.ในเรื่องคุณสมบัติเฉพาะของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้กู้ยืมกองทุน ทุกลักษณ์ทั้งกลุ่มผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์  สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก สาขาวิชาขาดแคลน และกลุ่มเรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ กยศ มีหลักเกณฑ์อยู่ข้อหนึ่งว่า “เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ” ทั้งนักเรียนหรือนักศึกษาผู้กู้ยืมรายใหม่ ผู้กู้ยืมรายเก่าที่เปลี่ยนระดับการศึกษา และผู้กู้ยืมรายเก่าที่เลื่อนชั้นทุกปีระดับการศึกษา สำหรับกรณีผู้กู้ยืมรายเก่าที่จะเลื่อนชั้นทุกปีของระดับการศึกษา จะกำหนดจำนวนให้ทำประโยชน์ต่อสังคม 36 ชั่วโมง ซึ่งประเด็นนี้ตัวแทนนักศึกษาเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 และคุณภาพครอบครัวชีวิตผู้กู้ปัจจุบันที่ยากลำบาก ระบบการเรียนยังเปลี่ยนไปใช้ออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ และมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานช่วยเหลือครอบครัวที่ยากลำบาก ผู้กู้ยืม กยศ เป็นกลุ่มมีฐานะยากไร้ ก็เลยเรียกร้องข้อให้ไปปรับปรุง ซึ่งหลักเกณฑ์นี้คณะกรรมการ กยศ อ้างว่าอาศัยอำนาจตาม มาตรา 39 พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ตัวแทนนักศึกษาอยากให้ คณะกรรมการ กยศ. ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 12 คน มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน  และผู้จัดการ กยศ ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งจากรัฐ ทางนักศึกษาอยากให้มีตัวแทนที่มาจากระบบการเลือกตั้งบ้าง เช่นประธานสภาการศึกษา นายกองค์กรนักศึกษาที่มีกระบวนการเลือกตั้งร่วมเป็นคณะกรรมการ เพราะว่าการกู้ยืมเงินเป็นเรื่องของนักเรียน นักศึกษา จึงต้องการสะท้อนปัญหาและความต้องการ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติจริงๆ คือ ถ้าเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ไปแต่งตั้งคนมีตำแหน่งในหน่วยงานต่างๆ มาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซ้ำอีกตำแหน่ง หรือกรรมการด้านกฎหมาย ก็ไปเอาอดีตข้าราชการเก่าที่ระดับต่ำกว่าหรือลูกน้องคณะกรรมการโดยตำแหน่งที่มีอยู่แล้ว ทั้งด้านนักกฎหมาย หรือด้านการเงินก็ไปเอาข้าราชการระดับรองๆ ที่เกษียณอายุไปในกระทรวงการคลังเข้ามา เหล่านี้นักเรียนนักศึกษาอยากมีส่วนร่วม จึงยื่น 2 เรื่องเข้ามา 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การแก้ไขในข้อเรียกร้องแรก ต้องชี้แจงทำความเข้าใจว่า ข้อเรียกร้องเรื่องคุณสมบัติผู้กู้ยืม กฏหมายให้อำนาจคณะกรรมการฯไปกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน ตามมาตรา 39 ตรงนี้ไม่มีอยู่ในกฎหมาย แต่คณะกรรมการไปออกหลักเกณฑ์ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฏหมายที่ส่งเสริมสนับสนุนเรื่องการศึกษาไม่ใช่ออกกฏเกณฑ์เป็นอำนาจนิยมและเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา  เพราะ กมธ.วิสามัญฯ เพิ่งพิจารณามาตรา 39 เราก็มีการแก้ไขให้กว้างขึ้น เพื่อให้กองทุนสามารสนับสนุนส่งเสรืมการศึกษาได้มากยิ่งขึ้น เดิมมีการล็อกคุณสมบัติอันหนึ่งที่จะกู้ได้ก็คือ “สัญชาติไทย” ซึ่ง กมธ ก็เห็นด้วยกับคุณสมบัติสัญชาติไทย แต่เรายังพบว่ามีบุคคลจำนวนมากที่เป็นคนไทยที่รอสถานะทางสัญชาติที่รัฐบาลอยู่ในกระบวนการอยู่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง หรือคนที่เกิดในประเทศไทยแล้วอยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติ คนกลุ่มนี้พอไปรอให้ราชการพิสูจน์สัญชาติ มันก็ช้ามากราชการมักอ้างงบประมาณและกำลังพลไม่มีพอทำงาน กว่าจะชี้ขาด บางทีอายุก็เลยวัยเรียนไปแล้วที่คนเหล่านี้ก็เป็นพลเมืองไทย เราก็อยากจะเปิดกว้างให้สามารถเข้ามากู้ยืมได้ จึงมีการแก้ไข 

ส่วนเรื่อง เงื่อนไขเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ หรือจิตอาสา ทุกคนที่เป็นผู้กู้ยืมและกรณีผู้กู้ยืมเก่าเลื่อนชั้นปีไปกำหนดอย่างน้อยต้อง 36 ชั่วโมง เป็นไปตามประกาศของ กยศ. เป็นเรื่องระเบียบภายใน แต่เป็นไปตามเจตนารมณ์กฏหมายหรือไม่ การศึกษาเป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรองรับต้องเป็นไปตามความถนัดของผู้เรียน ส่วนตัวอาจเสนอให้ที่ประชุมมีมติเชิญปลัดกระทรวงการคลัง ที่เป็นประธานกรรการ กยศ. ผู้ลงนามในประกาศ กยศ มาให้เหตุผล ตอบซักถาม แม้เป็นระเบียบที่ต้องไม่ขัดเจตนารมณ์ของกฏหมายที่ในเบื้องต้นมุมมองจะต่างกัน

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติเรื่อง การศึกษาต้องเป็นเสรีภาพตามศักยภาพของผู้เรียน การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องไปส่งเสริม แต่ประกาศนี้มีลักษณะเป็นอำนาจนิยมเกินไปหรือไม่ ก็ต้องมาถามกัน 

“นักเรียนนักศึกษากลุมนี้ ตัวเขาเองคือแรงงาน เขาจะต้องมาช่วยครอบครัวที่ไม่มีเงินด้วยยังต้องไปบำเพ็ญประโยชน์ในช่วงโควิดอีก ทำไมคุณไม่ไปบังคับกับคนมือบน หรือคนที่ร่ำรวย ให้ไปทำเพื่อสาธารณะประโยชน์ของแผ่นดิน แม้ในคณะกรรมาธิการมีผู้จัดการ กยศ.อยู่ด้วยแต่ท่าน ก็อาจจะตอบยาก เพราะว่าเป็นประกาศคณะกรรมการที่ออกโดยปลัดกระทรวงการคลัง และออกมาถึง 4 ฉบับ เมื่อเดือน ม.ค.64 จึงต้องถามเหตุผลเราอยากจะให้กฎหมาย กยศ.เป็นกฎหมายที่เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย” 

“ผมยังมองว่าประกาศที่ออกมาในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่เหมาะสมด้วยซ้ำ เพราะว่าคุณไปห้ามเขาออกจากบ้าน แล้วคุณก็ไปสั่งให้เขาทำสาธารณประโยชน์ คือการทำสาธารณประโยชน์ไม่ได้ทำอยู่ในบ้าน มันต้องเดินออกนอกบ้านไป แล้วเราไปจำกัดสิทธิพื้นที่ อันนี้เป็นปัญหา” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าว 

พ.ต.อ.ทวี ซึ่งเกาะติดและเป็นหัวหอกผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย กยศ.มาโดยตลอด กล่าวอีกว่า การแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ในครั้งนี้ เราคิดว่า คณะกรรมการ กยศ. ใน พ.ร.บ.ปี 60 มันเหมือนเป็นคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์จนเกินไป คือเป็นผู้เก็บเงิน กระทรวงการคลังก็เก็บเงินเก็บภาษี จะมีตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ เข้ามาก็มีเล็กน้อย ส่วนนั้นก็จะเป็น ผอ.สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร เลขาสภาพัฒฯ แล้วพอไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ก็เอาคนกลุ่มข้าราชการเกษียณเข้ามา 

ดังนั้นในการแก้ไขครั้งนี้ เราก็มีการเสนอให้แก้ไขโครงสร้างคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากเดิม 5 คน เป็น 7 คน และใน 7 คน คณะกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอโครงสร้างของผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นสัดส่วนที่ไม่ให้ระบบราชการไม่ชี้นำจนเกินไป แต่ต้องประกอบด้วยบุคคลที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการศึกษาให้กฎหมายนี้เกิดการมีส่วนร่วมมากที่สุด และก็เกิดประโยชน์มากที่สุด  เพราะการศึกษาในอนาคต รัฐธรรมนูญเราเขียนหมดเลย ต้องมีกองทุนสำหรับผู้ยากไร้ เขียนคำว่า “ต้องมี” ไม่ใช่ “ควรมี” (หรือพึงมี) ปรากฏว่าต้องมีกองทุนสำหรับผู้ยากไร้ ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี ปรากฏว่านี่เลยมาแล้วก็ย้งไม่มี

นอกจากนั้นยังมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปรากฏว่ากองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา กลับไปที่คนที่เรียนฟรี 15 ปี ถึง 99 % ซึ่งคนกลุ่มนี้เขามีเงินอยู่แล้ว คนที่ยากไร้กลับไม่มีกองทุน ฉะนั้นอาจถือได้ว่ารัฐไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นที่ประชุม กมธ.จึงต้องมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ  

“เราเคาะเบื้องต้นว่าให้มีการปรับปรุงผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วก็เปิดกว้างว่าจะปรับปรุงผุ้ทรงคุณวุฒิ 7 คนให้จากด้านใดบ้าง ซึ่งในตัวผมเอง สิ่งที่นักศึกษาเสนอมา อย่างเช่น สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มีกฎหมายของ พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) รองรับอยู่แล้ว ก็สมควรจะเลือกตัวแทนประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนก็มีความจำเป็น” 

พ.ต.อ.ทวี ในฐานะรองประธาน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กยศ. ยังบอกด้วยว่า กมธ.ทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง ตั้งใจให้เสร็จทันเปิดสมัยประชุมรัฐสภา แต่จะไม่รีบจนขาดความรอบครอบ หลายเรื่องตัว รมช.คลัง ที่เป็นประธาน กมธ. ก็ทักท้วงเองเลย หลังจากได้รับข้อมูลครบถ้วน 

ยกตัวอย่างง่ายๆ การไปเรียกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจากลูกหนี้ ใน พ.ร.บ.กยศ.ฉบับปัจจุบัน ทำให้ กยศ.มีสินทรัพย์ กยศ.ถึง 3 แสนล้านกว่าบาท การจะบริหารเงินตรงนี้ กฎหมายเดิมเปิดโอกาสไว้ในมาตรา 12 คือเงินที่เป็นกองทุน พรบ กยศ ปี 41 เราจะเอาแค่ดอกเบี้ยที่ไปฝากกับธนาคารพาณิชย์มาใช้เท่านั้น แต่ พรบ กยศปี 60 แก้ในยุค คสช ให้กองทุนสามจไปซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐได้ เช่น รัฐวิสาหกิจบางแห่ง มูลค่าหลักทรัพย์สูงขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นถ้า กยศ.เป็นมืออาชีพจริงๆ ต้องไม่ต้องไปเอากำไรจากเด็กนักศึกษาที่ไม่มีเงิน แต่ต้องบริหารจัดการให้เงินที่มีอยู่เพิ่มมูลค่ามากขึ้น 

“นักศึกษาเป็นหนี้ เขาต้องคืนเงินก็พอแล้ว เพราะสิ่งที่เขาคืนสังคมในเรื่องคุณภาพของคนที่ได้รับการศึกษาที่เป็นอนาคตที่ดี ถือว่าประเทศได้กำไร” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวในที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565

“มนตรี” เสนอ ยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง Connectivity Strategy ลดต้นทุน-ช่วยเกษตรกร

20 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.00น. ที่ผ่านมา มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดงานประชุมนานาชาติ International Conference on “International Security and the Environment” ภายใต้แนวคิดที่ว่า ห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตหลากหลายรูปแบบ องค์กรต่างๆ รวมทั้งบุคคลจำนวนมาก ต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรอไม่ได้ จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในการแก้ปัญหาโลกเพื่อที่จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในปี 2030 โดยการจัดงานดังกล่าว เพื่อเป็นเวทีสำหรับอภิปรายและแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงสร้างสรรค์  ร่วมกันถอดบทเรียนจากประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหภาพยุโรปในฐานะผู้นำด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศร่วมกับประเทศไทย กล่าวเปิดงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี Dr. Céline-Agathe Caro ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย (KAS) ดร.ประเสริฐ พัฒนพลไพบูลย์ ผู้อำนวยการ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) และมี นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย เข้าร่วมงานด้วย โดยมีทั้งบุคลากรในภาคประชาสังคม ภาคการเมือง ประชาชน นักศึกษา และเยาวชนที่สนใจ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก 

นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ระบุว่า ยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง (Connectivity Strategy) สำหรับอนาคตระหว่างประเทศ ในมิติเศรษฐกิจ, ความมั่นคงด้านการเกษตร มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด Covid19 ยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อการเติบโตไปสู่อนาคตที่มั่นคง ครัวเรือนไทยประกอบอาชีพหลากหลายโดยขึ้นอยู่กับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ โดยภาคเกษตรเป็นแหล่งรายได้สำคัญของครัวเรือนไทยในชนบท ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือการรับจ้างในภาคเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาในด้านการผลิต ส่วนใหญ่ยังคงผลิตสินค้าเกษตรรายย่อย และยังขาดการวางแผนและการจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงปัญหาสำคัญอย่างราคาต้นทุนการผลิต นั่นคือ ปุ๋ย 

ประเทศไทยพึ่งการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศสูงถึง 90-95% และปัจจุบันมูลค่าต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า  ทั้งๆที่ ประเทศไทยมีทรัพยากรที่สามารถผลิตปุ๋ยได้เอง คือแม่ปุ๋ยไนโตรเจนที่ได้จากก๊าซธรรมชาติ และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมที่มีแหล่งแร่โพแทสเซียม อีกทั้งมีการนำเข้าสารเคมีวัตถุอันตราย เฉลี่ยปีหนึ่งมูลค่า กว่าสามหมื่นล้านบาท ปริมาณแสน กว่าตัน 

ทางออกของการลดต้นทุนเกษตรกร คือ ประเทศไทยควรทบทวนเรื่องการสร้างโรงงานปุ๋ยแห่งชาติของตนเอง ซึ่งปัจจุบันนี้น่าจะคุ้มทุน รวมทั้งการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) เพื่อแลกเปลี่ยนปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 กับประเทศเพื่อนบ้าน เน้นการนำบายโพรดักส์ที่อยู่ในรูปปุ๋ยไนโตรเจนมาช่วยเกษตรกรให้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่นจุลินทรีย์ ทดแทนการใช้สารเคมีหรือวัตถุอันตรายเป็นต้น

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2565

นักศึกษายื่น กมธ.พิจารณา ผ่อนเกณฑ์กู้ กยศ.

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยน.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ เป็นตัวแทนรับยื่นหนังสือจากสภานักศึกษา องค์การบริหารนักศึกษาหน้าสโมสรนักศึกษา 14 องค์กร 12 สถาบัน เพื่อขอให้แก้ไขการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของนักเรียนและนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินกองทุน กยศ.

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เงื่อนไขเรื่องการดำเนินกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมสาธารณะดังกล่าวนั้นอยู่ในมาตรา 39 ของร่างกฎหมาย ซึ่งมาตราดังกล่าวกมธ.แก้ไขให้เปิดกว้างแล้ว เพื่อให้นักเรียนนิสิตและนักศึกษาสามารถเข้าถึงระบบการศึกษา และเงินกู้ยืม กยศ.ได้อย่างง่าย อย่างไรก็ตามการรับยื่นหนังสือในวันนี้จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของกมธ.เพื่อพิจารณาออกกฏหมาย กยศ.ให้เป็นกฎหมายที่มีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด.

ขณะที่ นายฐิรวัฒน์ แทบทับ ผู้แทนนักศึกษาฯ กล่าวว่าขอให้พิจารณาแก้ไขประเด็นที่กำหนดคุณสมบัติของผู้กู้ยืมเงิน ที่ต้องเก็บชั่วโมงดำเนินกิจกรรมสาธารณะ ให้ครบ 36 ชั่วโมงในระหว่างปีการศึกษา ก่อนปีการศึกษาที่จะขอกู้ยืมเงิน เพราะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักเรียนและนักศึกษาต่างไม่มีเวลาในการดำเนินกิจกรรมสาธารณะดังกล่าวให้ครบ 36 ชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด