วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" แถลง รัฐเลื่อนซื้อเรือดำน้ำ เพราะทนกระแสต้านไม่ไหว

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่กระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้กองทัพเรือ (ทร.) พิจารณาเลื่อนหรือชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 ออกไปว่า ตอนจะดันซื้อเรือดำน้ำนายกรัฐมนตรีบอกว่าเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการ แต่พอจะถอยใช้อำนาจนายกฯ ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเป็นการกระทำเข้าข่ายครอบงำการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ถ้าภาคประชาชนไม่ส่งสัญญาณเตือนแรงๆ นายกฯ จะถอยหรือไม่ ทั้งนี้ ขอตั้งขอสังเกตว่าเหตุที่นายกฯ ถอย เพราะจำนนต่อหลักฐาน หรือเดินฝ่าแรงต้านไม่ไหว ไม่ใช่การถอยแบบมีสำนึก เพราะถ้าสำนึกต้องไม่ใช่แค่เลื่อน หรือชะลอไว้ 1 ปี แต่ต้องเลื่อนให้นานกว่านั้น หรือยุติการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 ไปเลย ถ้าประชาชนไม่ลุกฮือ ป่านนี้คงหวานคอแร้งรัฐบาลไปแล้ว หวังว่าเมื่อไม่ซื้อเรือดำน้ำแล้ว คงไม่หันไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ประเภทอื่นทดแทน สภาพวิกฤติเศรษฐกิจหนักขนาดนี้ ประชาชนจะไม่ทนอีกต่อไป 

นายอนุสรณ์ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ว. ออกมาแสดงความเห็นว่าไม่ขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ว่า พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าการให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นความชอบธรรมที่ทุกฝ่ายปฏิเสธได้ยาก วันนี้บ้านเมืองมีปัญหาไปต่อลำบาก จึงมีความเห็นพ้องร่วมกันในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ รวมทั้งยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ส.ว. ยอมถอยแล้ว หากรัฐบาลมีความจริงใจเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ การแก้มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นแนวทางที่มีทุกฝ่ายเห็นพ้องมากที่สุด ไม่มีประเด็นความขัดแย้ง เชื่อว่าแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. จะเป็นทางออกของประเทศ

นายอนุสรณ์ กล่าวถึงกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะจัดทำหนังสือยกเลิกการแบนพาราควอตถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า ท่าทีนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยหรือไม่ การยกเลิกการแบนพาราควอต เป็นแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายกรัฐมนตรีมีแนวทางการบริหารความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างไร หรือหรี่ตาข้างหนึ่งเล่นปาหี่ สุดท้ายพ่อค้าได้ประโยชน์ ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้เสนอยุทธศาสตร์อาหารปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นคงและหลักประกันสุขภาพทางอาหาร ถ้ารัฐบาลปฏิเสธแนวทางนี้ โดยการยกเลิกการแบนพาราควอต ประโยชน์จะตกอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์ เพียงบางกลุ่มแล้วผลักประชาชน ผู้บริโภคทั่วโลก ที่หวังพึ่งพิงอาหารปลอดภัยจากประเทศไทย ซึ่งเป็นครัวของโลก ให้เผชิญกับความเสี่ยงโดยรัฐบาลได้ทำลายหลักประกันอาหารปลอดภัยทิ้งไป

ขณะที่ นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอตั้งคำถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกรณีค่าเสียหายจากการใช้มาตรา 44 ไปสั่งปิดเหมืองทองอัคราว่าในวันนี้ยังคงยืนยันคำพูดที่ว่าจะขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวอยู่หรือไม่ ซึ่งทุกคนรอดูท่าที พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร ทั้งนี้ เงินภาษีของพี่น้องประชาชนมีไว้ใช้ในยามวิกฤติหรือพัฒนาประเทศ ไม่ได้มีไว้เสียค่าโง่จากการตัดสินใจผิดพลาดของรัฐบาล

"ชลน่าน" สอน "ประยุทธ์" รับผิดชอบความเสียหายคดีเหมืองทอง

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณาสุข เปิดเผยว่า กรณีที่รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม  ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด วงเงิน 111,155,700 บาท ภายหลังจากที่บริษัทคิงส์เกตฯโดย ร้องรัฐบาลไทย กรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับการประกอบการกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ  ทำให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ต้องระงับการประกอบกิจการไปตั้งแต่ปี 2560 ทั้งหมดนี้คงต้องรอว่าคำวินิจฉัยคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นไร 

ทั้งนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบทั้งหมด เพราะใช้คำสั่งของคสช.ไปสั่งปิดเหมืองทอง  ซึ่งกระทำมิได้เพราะผิดข้อตกลงทางการค้า  รวมทั้งทางคิงส์เกต ต่างประเทศเขาไม่ยอมรับ  มาตรา 44 ที่คสช.บังคับใช้  เป็นแค่กฎหมายเฉพาะกิจที่มีผลแค่ในประเทศไทย

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นพลเอกประยุทธ์ ประกาศว่าจะรับผิดชอบเองหากเกิดความเสียหาย  มาถึงเวลานี้กลับปัดความรับผิดชอบ  นำเงินภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายในการต่อสู้คดี  อีกทั้งที่ผ่านมามีการจ่ายค่าทนายความไปแล้ว 500-600 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่เปิดเผยกับประชาชนว่าใช้เงินในส่วนไหน

“พลเอกประยุทธ์นำราชอาณาจักรไทย เข้าสู่ข้อพิพาทกับบริษัทคิงส์เกต หากมีคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ  ออกมาว่าไทยแพ้  ราชอาณาจักรไทยต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ต้องถามว่าพลเอกประยุทธ์ จะให้ราชอาณาจักรไทยต้องรับผิดชอบแทนความผิดที่ตัวเองก่อหรือไม่  คงต้องถามว่าพลเอกประยุทธ์จะแสดงรับผิดชอบอย่างไร  หรือ คนไทยทั้งประเทศ ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหาย แทนความผิดพลาดที่พลเอกประยุทธ์ก่อขึ้น”นายแพทย์ชลน่าน กล่าว

"เพื่อไทย" จัดเสวนา "ปลูกโอกาส สร้างเมืองสตาร์ทอัพ"

"สุดารัตน์" ชวน "Start Up" ไทยรื้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคการเติบโต วงเสวนาชี้ รัฐราชการไทยเป็นปัญหา โวย! โควิด-19 มา ผู้ประกอบการรายเล็กเจ๊ง ส่วนเงินเยียวยา 5 แสนล้านลงท้องทุนรายใหญ่


ที่พรรคเพื่อไทย โดยสถาบันสร้างไทย จัดเสวนา "ปลูกโอกาส สร้างเมืองสตาร์ทอัพ" นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายการและเปิดประเด็นในการเสวนา 

คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำถึง แนวทางของพรรคเพื่อไทยต่อ Start Up โดย Focus 2 อย่าง คือ เงินกู้ของรัฐ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจและ SMEs หลัง covid -​ 19 ระบาด มีอยู่ 5 แสนล้านบาท ซึ่งทั้ง SME, กลุ่มstartup และวิสาหกิจชุมชน ควรจะได้เงินก้อนนี้ และแม้รัฐมีการกระจาย แต่ SME รายใหญ่ได้ประโยชน์ ขณะที่รายเล็กกำลังจะตาย ส่วนที่สองคือ การดูกฎระเบียบและแก้ไขกฎหมายต่างๆที่ล้าหลังเป็นอุปสรรคการเติบโตธุรกิจใหม่ รวมถึง startup กลุ่ม SMEs วิสาหกิจชุมชนต่างๆด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีคณะทำงานที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ และการจัดเวทีพูดคุยในลักษณะนี้ รวมถึงการคุยวงเล็บเพื่อลงในรายละเอียดหรือ Detail ต่างๆ จะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ SME, ธุรกิจรายเล็ก และ Start Up ของไทยให้เติบโตขึ้น

ส่วนผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย

(1) นางสาว ชาริณี กัลยาณมิตร ผู้ก่อตั้ง MOXY ร้านค้าไลฟ์สไตล์ออนไลน์สำหรับผู้หญิง

(2) นายอมฤทธิ์ เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Hubba Coworking Space และ Techsauce Media

(3) นายอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้ง Ricult ซึ่งเป็น Start Up AgriTech เพื่อเกษตรกรที่มูลนิธิบิล เกตส์ ให้ทุนกว่า 100 ล้านบาท 

(4) นางสาวช่อขวัญ ช่อผกา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเลเวทเต็ด เอสเตท จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านองค์ความรู้อุตสาหกรรมกัญชาและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน Cannabis Technology      

(5) นายสรณัญช์ ชูฉัตร ประธานบริษัท อีทราน จำกัด ซึ่งเป็น Start Up สายยานยนต์ จักรยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนานวัตกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด 

โดยต่างย้ำถึงการต้องพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก Start Up แชะสะท้อนถึงปัญหาและอุปสรรคที่ Start Up ไทยไม่เติบโต โดยเฉพาะปัญหาจากกฎเกณฑ์ต่างๆของภาครัฐ ตลอดจนวิสัยทัศน์ผู้มีอำนาจและระบบราชการของรัฐไทย ที่ยุ่งยากและล่าช้าในการดำเนินการ ที่น่าสนใจคือ

นางสาวชาริณี ผู้ก่อตั้ง MOXY กล่าวตอนหนึ่ง โดยเปรียบเทียบการสนับสนุนของรัฐบาลประเทศต่างๆกับประเทศไทยที่แตกต่างกันมาก โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะลดการลงทุน แต่จะคอย support ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ลองผิดลองถูกและพยายามทำให้เกิดผลกำไร มีกลไกหรือเป็น Partner ให้เลือกทำงานได้ มีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆในการสร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งการดำเนินการภาครัฐต้องสนับสนุน ไม่เช่นนั้น Start Up จะไปไม่รอด 

โดยในต่างประเทศ ภาครัฐจะถามความเห็นหรือรับฟังผู้ประกอบการเป็นหลัก ในภาษา Start Up คือ ก่อนที่จะทำอะไรต้องถามลูกค้าก่อน ว่าเขาจะไปหรือว่าจะเอาหรือเปล่า ไม่ใช่คิดแค่ว่าทำแล้ว เดี๋ยวลูกค้าจะตามมาเอง ดังนั้น ภาครัฐต้องคุยกับ Start Up ก่อนว่าจะทำอะไรและทำที่ไหน สำหรับไทยนั้น เงินอาจจะมี แต่การกระจายเงินทุนยังคิดกลไกไม่ออกหรือรัฐจะทำเอง ทั้งที่ควรจะให้ Start Up เป็นคนคิดหรือคิดร่วมกัน

นายอมฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Hubba กล่าวว่า โมเดล Start Up ที่เมืองนอกมีเยอะ หลายคนจึงถามว่าทำไมไทยจึงไม่มี พร้อมขยายความว่าที่ต่างประเทศเกิดได้ เพราะรัฐบาลต่างประเทศมองว่า รัฐไม่ได้รู้ดีเท่ากับผู้ประกอบการและปล่อยให้นักลงทุนแข่งขันกัน ภาครัฐอาจไม่ได้หวังกำไรในส่วนนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่เสียอะไร เพราะเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วย โดยราวปี 2558 การที่ผู้ประกอบการจะทำ E-commerce ขึ้นมาก็กลัวโดนโกง แต่สุดท้ายก็กลัวการ disruption มากกว่า ท่ามกลางการขยายตัวขึ้นของอา ลีบาบา จากประเทศจีน จึงเกิดกลุ่มบริษัทที่ทำ E-commerce หลายกลุ่มขึ้นในหลายประเทศ

นางสาวช่อขวัญ ผู้นำด้านองค์ความรู้อุตสาหกรรมกัญชา กล่าวว่า ธุรกิจด้านนี้ไม่ค่อยมีคนเข้ามาทำ เพราะเคยผิดกฎหมายและยังมีอคติในสังคมอยู่ แม้เม็ดเงินจากธุรกิจกัญชา จะมีมหาศาล แต่ตกอยู่กับทุนขนาดใหญ่ ชาวบ้านธรรมดาเข้าไม่ถึง ขณะที่เมื่อมีวิกฤตโควิด - 19 ทุกอย่างก็ยุติลง และ Start Up ไม่ได้เกิดหรือเติบโตขึ้น พร้อมยืนยันว่า การดำเนินการหรือการปลูกกัญชาเองโดยของรัฐ จะไม่ให้ผลผลิตที่งอกงาม เพราะไม่มีองค์ความรู้ หรือมีชุดข้อมูลที่ไม่ใกล้เคียงความเป็นจริง  และปัจจุบันมี Start Up ประมาณ 3-4 รายที่เท่านั้น เหลือเป็น "บิ๊ก" หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ส่วนชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงโอกาส ทั้งข้อมูลและระบบต่างๆภายใต้เงื่อนไขคือ ต้องดำเนินการเรื่องกัญชากับรัฐเท่านั้น แม้คนมองเห็นว่า การปลูกกัญชาขายจะนำพาออกจากความจนได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะคนจนเข้าไม่ถึงการปลูกจากเงื่อนไขต่างๆที่รัฐไทยกำหนดขึ้นมา

นายสรณัญช์ ผู้พัฒนานวัตกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด กล่าวว่า Start Up มีประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการใช้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ แต่รัฐไทยติดกับระบบราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา Start Up และแผนที่ให้ Start Up พัฒนาและแข่งกันเองอย่างเดียว เป็นเรื่องอันตราย โดยเห็นว่า ควรเอามันสมองของ Start Up ไปช่วยคิดหลายๆอย่างที่เกินกว่าระบบราชการหรือเกินกว่าที่ภาครัฐจะฝันถึงได้ ที่ไม่ใช่แค่ความคิดความอ่านเท่านั้น แต่เอามาช่วยกันสร้างวิสัยทัศน์, Project หรืออะไรบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศโดยใช้เคสหรือกรณีศึกษาของ Start Up จะทำให้ประเทศเดินเร็วขึ้น 2-3 เท่า เมื่อเปรียบกับการขับเคลื่อนด้วยระบบราชการอย่างปัจจุบัน 














วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"สุดารัตน์" ขวางรัฐ ใช้ภาษีประชาชนสู้คดีปิดเมืองทองอัครา

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

บาทเดียวของภาษีประชาชน ก็ไม่ควรต้องเสียให้กับความผิดพลาดที่เผด็จการก่อไว้

เพื่อไทย เสนอแปรญัตติตัดงบค่าใช้จ่ายเรื่องข้อพิพาทเหมืองทองอัครา

ภาษีประชาชนต้องไม่เสียไปกับความลุอำนาจของเผด็จการ

1 ม.ค.60 ปิด #เหมืองทองอัครา  ด้วยอำนาจเผด็จการ โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 72/2559

18 ก.ย.62 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าหัวหน้าคสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่สามารถนำเงินของรัฐที่เก็บจากภาษีอากรของประชาชนมาจ่ายได้ 

ในเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศชัดเจน จะรับผิดชอบคดีปิดเมืองทองอัคราด้วยตัวเอง ก็อย่าพูดเอาหล่ออย่างเดียว โดยหลอกลวงประชาชนไปวันๆ 

ค่าสู้คดี รัฐจ่ายไปให้แล้ว 389 ล้าน 

ค่าเสียหายที่จะต้องจ่ายตามมา หากแพ้คดีอีกเกือบ 40,000 ล้าน 

ประกาศจะรับผิดชอบเอง 

ก็ช่วยควักเงินจ่ายเองด้วยค่ะ 

โดยกรรมาธิการงบประมาณของพรรคเพื่อไทยจะเสนอตัดงบประมาณส่วนนี้ออกทั้งหมดค่ะ

#บาทเดียวของคนไทย ก็ไม่ขอจ่ายเป็นค่าโง่ให้เผด็จการ

"ทวี" ท้วงรัฐ ถลุงงบสู้คดีเหมืองทองอัครา

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

การนำเงินภาษีอากรไปทุ่มกับ “ค่าใช้อำนาจตาม ม.44 คดีเหมืองทองอัครา” ทั้งที่  พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า “จะรับผิดชอบด้วยตัวเอง” เป็นการเหมาะสมแล้วหรือ ? 

ตามที่รัฐบาลโดย สำนักงบประมาณและกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอของบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2564 ต่อสภาผู้แทนราษฏร ใช้ชื่อ “แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบรายจ่ายอื่น จำนวน 111,115,700 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด”  นั้น

ปรากฎคำชี้แจงของหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 6 อาคารรัฐสภา ว่า กรณีบริษัทอัคราไมนิ่ง จังหวัดพิจิตร ที่ถูกดำเนินคดีเป็นผลมาจากการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ในการสั่งปิดนั้น ในการประกอบการของบริษัทอัคราไมนิ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จะมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ หลังจากนั้นมีการตรวจสอบพบว่าจากการตรวจเลือดของประชาชนพบสารหนักในร่างกายเกินค่ามาตรฐานเป็นจำนวนมาก รัฐบาลในขณะนั้นมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ลงพื้นที่และตรวจสอบตามหลักฐานต่างๆ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าปัญหาที่เกิดจากประชาชนในพื้นที่เกิดจากเหมืองหรือไม่ และมีข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้คนในพื้นที่ในการสนับสนุนการทำเหมือง รัฐบาลในขณะนั้นจึงต้องการที่จะปกป้องประเด็นเรื่องสุขภาพประชาชนในพื้นที่จึงเลือกที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการสั่งปิดเหมืองแร่ทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

จากคำชี้แจงดังกล่าว เป็นการยืนยันว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อจริง “ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าปัญหาที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่เกิดจากเหมืองหรือไม่”  ดังนั้นใช้อำนาจมาตรา 44 ปิดเหมืองอัคราไมนิ่ง ทั้งที่ไม่มีหลักฐาน และข้อเท็จจริงไม่สามารถสรุปได้ จึงเป็นการใช้อำนาจ ม 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายและขัดหลักนิติธรรม ถือเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

จากข้อมูลวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่สภาฯ  พบว่ามีการใช้งบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน 2562 และ 2563 ในการต่อสู้คดีส่วนหนึ่งแล้ว คือ ในปีงบประมาณ 2562 ได้งบประมาณในลักษณะเดียวกันไปจำนวน 60,000,000 บาท และปีงบประมาณ 2563 ได้ไปจำนวน  217,778,100 บาท

ความเห็นส่วนตัวนั้น เรื่องการควบคุมมลพิษและการรักษาสิ่งแวดล้อม ทุกภาพส่วนต้องให้ความสําคัญในการคุ้มครองสิทธิแต่ต้องดำเนินการอยู่บนกฏหมาย หลักนิติธรรมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และในกรณีดังกล่าวประเทศไทยมีกฏหมายปกติอยู่แล้ว คือ ตามพระราชบัญญัติ แร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งอำนาจในการปิดเหมืองนั้นหากมีอันตรายต่อสุขภาพ มาตรา 125 และมาตรา 126 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 กำหนดให้อธิบดีสั่งระงับใบอนุญาตได้  จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ที่เป็นอำนาจเผด็จการในการสั่งปิด 

คำสั่ง มาตรา 44 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา จนต่อมาเมื่อ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 บริษัท คิงส์เกตฯ ได้นำคดีเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย โดยเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 22,672 ล้านบาท เนื่องจากการสั่งปิดเหมืองที่เป็นการละเมิดตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ปัจจุบันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคดีอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสำนวนและคาดว่าคำวินิจฉัยที่ออกมานั้นน่าจะอยู่ในปลายปี พ.ศ.2563 หรือในช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 จะทราบผลคำตัดสิน

กรณี คดีเหมืองทองอัคราไมนิ่ง เป็นการตอกย้ำว่ามีการเลือกปฏิบัติของรัฐบาล ที่เรียกว่า “สองมาตราฐาน” เพราะ ในเรื่องประเทศไทยถูกต่างชาติฟ้องร้องเรื่องทำนองเดียวกันเหมือนทองอัคราไม่นิ่ง จำนวนหลายคดี ใน WTO ซึ่ง กมธ วิสามัญฯ งบประมาณปี 64 ได้ตั้งคำถามกับ กระทรวงพาณิชว่า :กระทรวงพาณิช โดย กรมเจรจาการค้ามีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งนี้ มีคดีความเป็นจำนวนมากที่ ประเทศ ไทยถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เช่นคดี ฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ฟ้องร้องประเทศไทย ให้ชดใช้เงินเป็นจำนวนเกือบประมาณ 80,000 ล้านบาท แต่ประเทศไทยกลับมีการใช้ทนายอาสา และทนายคนดังกล่าว เคยทำงาน อยู่ในสำนักงานทนายความของคู่กรณีและต่อมาประเทศไทยแพ้คดีให้กับคู่กรณี เป็นต้น

กระทรวงพาณิชโดย กรมเจรจาการค้าตอบชี้แจงว่า : “คดี ฟิลิป มอริส มีหน่วยงานจำนวนมากเข้ามาสนับสนุนงานทางคดี การจ้างทนายความ เกิดจากการหารือกันของคณะทำงาน” 

ซึ่งทราบว่าหน่วยงานในคดี ฟิลิป มอริสว่า หน่วยงานต้องการให้รัฐบาลจ้างทนายให้ เพื่อสร้างความมั่นใจเพื่อต่อสู้คดี เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ต้องการทนายขอแรงหรือทนายอาสา แต่รัฐบาลไทยกลับมีใช้ทนายของ  ACWL ซึ่งเป็นทนายอาสาหรือทนายขอแรง ที่ WTO จัดทนายไว้สำหรับช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาจากสำนักกฎหมาย ACWL และมีการตรวจสอบข้อมูลพบว่าทนายความที่มาต่อสู้ให้ไทย เคยทำงานอยู่ที่สำนักงานทนายความ หรือบริษัทกฎหมายที่คู่กรณี (ฟิลิปปินส์) ว่าจ้าง จึงไม่มีหลักประกันเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งในคดีดังกล่าวประเทศไทยได้แพ้คดี ถึง 2 ครั้ง 

การใช้เงินภาษีอากรจ่ายจำนวนมากเพื่อ เป็น “ค่าใช้อำนาจมาตรา 44“ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยยืนยันว่า “จะรับผิดชอบด้วยตัวเอง” เพราะดำเนินการมาตั้งแต่ต้น(ข่าวจากสื่อมวลชน ระบุจากที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 62) เห็นว่าเพื่อความชอบธรรมต้องให้ประชาชนและทุกภาคส่วนสามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณได้อย่างกว้างขวางต่อไป

"ยุทธพงศ์" เร่ง "ประวิตร" เปิดหนังสือซื้อเรือดำน้ำ ถาม "จีทูจี" จริง ทำไมโอนบัญชีเข้าเอกชน?

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สัดส่วนพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลักฐานหลังจากอ้างว่ามีการทำหนังสือสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ เนื่องจากพบว่าการทำหนังสือสัญญาซื้อขายเรือดำน้ำลำแรก เมื่อเดือน พ.ค.60 ทั้ง พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือขณะนั้น ในฐานะผู้แทนฝ่ายไทย และบริษัทเอกชนของจีน ในฐานะตัวแทนฝ่ายจีน ต่างก็ไม่มีหนังสือรับมอบอำนาจจากรัฐ (Fulls Power) ทั้ง 2 ฝ่าย และยังพบว่าการโอนจ่ายค่างวดเรือดำน้ำลำแรก เป็นการโอนไปบริษัทเอกชนของจีน ไม่ได้โอนไปที่กระทรวงการคลังหรือกระทรวงกลาโหมของจีน หากมีการทำสัญญาซื้อขายเรือดำน้ำแบบรัฐต่อรัฐจริง อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ด้วย เนื่องจากเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่รัฐสภายังไม่เคยตั้งเห็น แต่การจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรก และยังพบว่ารายงานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน หน้า 17 ระบุความเห็นด้วยว่า สัญญาการซื้อขายรัฐต่อรัฐไม่มีข้อผูกมัด สามารถเลื่อนจัดซื้อเรือดำน้ำได้พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามยื้อเวลา เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการเลื่อนวาระพิจารณาเรื่องเรือดำน้ำหลายครั้ง









วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย-คอนราดฯ เสวนา: Challenges and Trends in Public policy in 2020

สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) นำโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง ร่วมกับ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ มูลนิธิจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ให้การสนับสนุนและความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านต่างๆ จัดประชุมวิชาการ “Challenges and Trends in Public policy in 2020”  โดยมีนักวิชาการ อาทิ ดร.บุญเลิศ ว่องวิบูลย์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญณวุฒ ไชยรักษา อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร , นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ , นายพลนชชา จักรเพ็ชร ฯลฯ และผู้แทนภาคเอกชนที่สนใจ เข้าร่วมงานเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ 

ทั้งนี้ Dr. Céline-Agathe Caro ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย กล่าวระหว่างการเปิดงานเสวนาว่า การจัดทำนโยบายและการดำรงอยู่ของพรรคการเมือง อุดมการณ์ของพรรคการเมืองจะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวถึงนโยบายสาธารณะของพรรคการเมืองโดยชี้ว่า ที่ผ่านพรรคการเมืองลดความสำคัญของนโยบาย เมื่อมีรัฐบาลก็มีลักษณะการใช้นโยบายต่อจากรัฐบาลที่ผ่านมามากกว่าการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองหรือรัฐบาลใหม่ ประเทศไทย เมื่อต้องประสบกับการระบาดของโควิด-19 ก็ยังไม่พบลักษณะการนำเสนอนโยบายที่ทำให้เห็นว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะที่ต้องการนโยบายหรือยุทธศาสตร์ การระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้สถานการณ์วันนี้ มีคำถามสำคัญว่าเราจะพึ่งเศรษฐกิจในประเทศอย่างไร เพราะเศรษฐกิจระหว่างประเทศเสียหายไปอย่างมาก และภายในประเทศจะเอากำลังมาจากไหน ซึ่งหลังจากนี้ไปควรจะต้องแก้ไขปัญหาตรงนี้มากขึ้น

ขณะที่ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความท้าทายและแนวโน้มนโยบายสาธารณะในประเทศไทย ระบุว่าหลัง รัฐประหาร 2557 นโยบายสาธารณะหลายๆ ด้านไม่ได้รับการให้ความสำคัญ ทำให้เสียโอกาสไปขนานใหญ่ ระบบของส่งมวลชนของไทยยังมีปัญหาหลายด้านและเกิดช่องว่างการบริการ ซึ่งรัฐบาลในอนาคตจะต้องเข้ามาดูเรื่องนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะการทำให้การบริการครอบคลุมพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม
























วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" แถลงยืนยัน แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร.เป็นไปได้จริง

เพื่อไทยออกแถลงยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร.เป็นไปได้จริงเพื่อยกร่างฉบับใหม่ให้ประชาชนลงประชามติเป็นทางออกที่ดีที่สุดการแตะหมวด 1 และ 2 อาจถูกกล่าวหาดำเนินคดีล้มล้างการปกครอง ด้าน ปชป.จะแก้ไขเพียงอำนาจเลือกนายกฯ ของ สว.อย่างเดียว

เว็บไซต์พรรคเพื่อไทยเผยแพร่แถลงการณ์ท่าทีของพรรคต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังเป็นที่ถกเถียงว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ลงชื่อในญัตติขอแก้ไขประเด็นของสมาชิกวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญหลายมาตราทั้งอำนาจและการมีอยู่ของ สว.

โดยแถลงการณ์ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหามากมายแทบทุกหมวดและยังโยงใยเกี่ยวข้องกันในหลายหมวดหลายมาตรา ซึ่งตัวแทนพรรคการเมืองในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขรับธรรมนูญก็เห็นพ้องต้องกันหมด แต่พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่งหรือหลายประเด็น ไม่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมุ่งสืบทอดอำนาจระบอบเผด็จการอำนาจนิยมกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนได้

พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าการสร้างกลไกให้ประชาชนเป็นผู้ร่างและให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ การให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด







วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" ย้ำจุดยืน ปิดสวิตช์รัฐธรรมนูญเผด็จการ

นายภาควัต ศรีสุรพล สส.พรรคเพื่อไทย จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ผมขอยืนยันครับ เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตราที่มีปัญหา รวมทั้งที่มาของ ส.ว. 250 คน พรรคเพื่อไทยมีมติร่วมกันกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เรายืนหยัดเรื่องนี้ ทั้งไม่เห็นด้วยและคัดค้านตั้งแต่เริ่มมีร่างรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย และพี่น้องประชาชนไม่มีส่วนร่วม 

เจตนารมณ์ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ การคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และส่งกลับไปให้ ประชาชนเป็นผู้ออกแบบใหม่ทั้งหมด จึงได้นำมาซึ่งการยื่นแก้มาตรา 256 คือแก้ไขวิธีการแก้ที่ยุ่งยาก โดยมีจุดมุ่งหมายคือการเลือกตั้ง สสร.

เมื่อมี สสร.ที่เป็นผู้แทนจากประชาชนแล้ว ก็จะมาร่วมกันออกแบบรัฐธรรมนูญครับ  มาตราไหนมีปัญหาก็ลงรายละเอียดไปแก้ไขรายมาตรา เมื่อร่างเสร็จแล้วก็จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมาให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ได้ลงประชามติอีกครั้ง ว่าจะโหวตรับหรือไม่รับ โดยในระหว่างการรณรงค์ประชาชนจะมีอิสระในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่

ฉันทามติของพี่น้องประชาชนจะเป็นคำตอบของเรื่องนี้ทั้งหมด

ส่วนประเด็นเรื่อง ปิดสวิทช์ส.ว. ส่วนตัวผมก็เห็นตรงกับพี่น้องส่วนใหญ่ ว่าเราควรปิด แต่จะปิดได้ก็ต้องแก้ทั้งฉบับด้วย หากจะดึงดันปิดสวิทช์ ส.ว. ทันที เราทำไม่ได้เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้เสียงของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ดังนั้นหากไม่มี ส.ว.เราก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ การแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่สำเร็จครับ

เหมือนเรากำลังจะเข้าบ้าน แต่ไม่มีกุญแจ วันนี้กุญแจดอกเดียวเท่านั้น ที่เป็นใจความของเรื่องทั้งหมด และยุติปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมือง คือ การตั้ง สสร.ให้สำเร็จ 

และผมเองก็อยากเห็น ท่าน ส.ว. จับมือกับ ส.ส. โดยใช้รัฐสภาแห่งนี้ เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศเพื่อให้ได้ "รัฐธรรมนูญโดยประชาชน เพื่อประชาชน" อย่างแท้จริงครับ

"จิรายุ" อัดรัฐบริหารประเทศ 6ปี สูญเปล่า

"จิรายุ" บ่นเซ็ง ประเทศบนน้ำมือพลเอกประยุทธ์ หลังปรับ ครม. แทนที่จะเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ปชช. มัวแต่กินเกาเหลา หลังรมต.ช่วยคลังหักหน้า รมว.คลัง  ปรีดี กลางวง ครม.กรณีตั้ง อ.สรรพสามิตทำเอาบิ๊กตู่สะอึกถึงสั่งถอนวาระตั้งในวง ครม. ชี้ไหนละ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเสียเวลาประเทศไทย

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวถึง กรณีเกาเหลาเรียกพี่ของกระทรวงการคลัง ที่มีรัฐมนตรีว่าการ น้องใหม่อย่างนายปรีดี ดาวฉาย ถูกหักหน้ากลางวงที่ประชุม ครม. ในเรื่องการตั้งอธิบดีกรมสรรพสามิต ที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงขึ้นโต้เถียงกันกลางวง ครม.

“การปรับคณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเร็วๆนี้ ประชาชนคาด หวังว่าจะเร่งแก้ไขปัญหา เศษฐกิจของประเทศ แต่ผ่านมากว่าหนึ่งเดือนยังไม่เห็นแนวนโยบายอะไรที่เป็นรูปธรรมที่จะฟื้นฟูประเทศนอกจากการเตรียมการขยายเพดานกู้เงินสร้างหนี้ให้ประชาชนเพิ่ม และ การไม่ลงรอย ใน คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่ตอนนี้มีคนอกหักพรรคบ้านนี้ ยืนถือเลื่อยไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก “

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า นอกจากประชาชนจะไม่สามารถคาดหวังสิ่งใดๆได้แล้วในรัฐบาลชุดนี้ และยังทำให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากภาคเอกชนเช่นนายปรีดี ดาวฉาย และคนอื่นๆในตำแหน่งรองนายกฯ ก็อาจเป็นเพียงแค่หัวโขน  สร้างภาพให้ ทีมเศรษฐกิจของพลเอกประยุทธ์ดูดี แต่เอาเข้าจริงๆ ก็เล่นกันคนละคีย์  เพราะแค่เริ่มต้นประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาก็พอเห็นแล้วว่า "ประเทศเราจะไปไม่รอด" และจะปรับ ครม.อีกกี่หนกี่รอบก็ไม่เป็นประโยชน์ใดๆกับประเทศ หากยังดำเนินนโยบาย "กู้เพื่อชาติ" จนเป็นหนี้กันไปเป็นร้อยปีอย่างนี้ คงต้องเรียกว่า "6ปีบิ๊กตู่ที่สูญเปล่า" จริงๆ นายจิรายุ กล่าว

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" แจง ขอโทษที่ไม่ถูกใจ ขอโทษที่ไม่สะใจ แต่ใช้ได้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.วันนิวัติ สมบูรณ์  ผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น  พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


"ขอโทษที่ไม่ถูกใจ ขอโทษที่ไม่สะใจ แต่ใช้ได้จริง"

มติ ส.ส.เพื่อไทย ยืนยันแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 เปิดทางให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชนเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า แนวทางของพรรคคือการเปิดทางให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยการเปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ตาม ม.256 แต่ในส่วนของการลดอำนาจ ส.ว. ม.272 นั้นต้องยืนอยู่บนความเป็นไปได้ด้วย แต่ก็ไม่ได้ปิดทางที่จะพูดคุยร่วมกันในอนาคต

ในกระบวนการการแก้รัฐธรรมนูญนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่น ต้องใช้เสียง ส.ส.กึ่งหนึ่งของรัฐสภา และ สว.จำนวน 1ใน3 เพื่อเห็นชอบให้ผ่านวาระที่1ไปได้ และถึงแม้ต่อให้ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลยกมือช่วยกัน แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือจาก ส.ว. การแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่อาจเริ่มต้นได้ 

การที่พรรคเพื่อนบ้าน ยื่นแก้ ม.272 หรือที่เรียกกันว่า 'ปิดสวิตช์ ส.ว.' นั้นเปรียบได้กับการให้ ส.ว.ตัดแขนตนเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีทางที่ใครจะยอมทำแบบนั้นกับตนเองได้ 

ในเวลานี้มีพรรคการเมืองหลายกลุ่มที่ได้ยื่นแก้รัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 

1. กลุ่มลดกระแส คือ ไม่ได้มีความต้องการที่จะแก้มาแต่ต้น แต่ยื่นแก้เพื่อลดกระแสสังคมเท่านั้น

2. กลุ่มสร้างกระแส คือ อาจมีหรือไม่มีความต้องการที่จะแก้ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ละมาตราที่ยื่นไปแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ยื่นเพื่อสร้างกระแสให้เป็นประเด็นในสังคม และเพื่อดึงมวลชนมาฝั้งตนเองเท่านั้น

3. กลุ่มเจตนาจริง คือมีความต้องการที่จะการแก้ด้วยเจตนาจริง ต้องการให้เกิดขึ้นจริง หวังผลสัมฤทธิ์ 

หากแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดั่งที่กล่าวมา 'พรรคเพื่อไทย' น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 เนื่องจากได้ประกาศเจตนารมย์การแก้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ก่อนมีการเลือกตั้งว่า ต้องการแก้ ม.256 เพียงมาตราเดียว เพราะต้องการให้ประชาชนได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีความคิดว่าเราไม่ควรไปคิดแทนประชาชน อีกทั้งความเหมาะสมของช่วงเวลา และสถานการณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ 

หากมองข้ามสิ่งเหล่านี้ จากที่เราจะได้ ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่เราจะไม่ได้อะไรเลย ข้อเรียกร้องของนิสิต นักศึกษา และประชาชน #จะสูญเปล่า 

อาจจะไม่ถูกใจทุกคน อาจจะไม่ทันใจใครหลายคน แต่เราคิดอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ ไม่โลกสวยเพราะเจ็บมาเยอะ โลกความจริงเป็นอย่างไร อะไรทำได้ เราจะพยายามทำเพื่อประชาชนอย่างถึงที่สุด

"ขอโทษที่ไม่ถูกใจ ขอโทษที่ไม่สะใจ แต่ใช้ได้จริง"

....

ดร.วันนิวัติ สมบูรณ์

ผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น

พรรคเพื่อไทย

25 สิงหาคม 2563

"ยุทธพงศ์" ขวางซื้อเรือดำน้ำ โต้กลับปม G2G เก๊

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย และในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน  ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564 แถลงข่าวถึงประเด็นกองทัพเรือได้พาดพิงถึงพรรคเพื่อไทยว่ากรณี G2G การจัดซื้อเรือดำของกองทัพเรือไม่ใช่ G2Gเก๊ ไม่เหมือนจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นG2G เก๊ ซึ่งตนขอชี้แจงข้อเท็จจริง ประเด็นแรกการที่คณะอนุกมธ. เสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่ได้เป็นการเล่นเกมการเมืองและไม่มีปัญหาใดๆ กับกองทัพเรือ แต่เป็นการทำหน้าที่อนุ กมธ. ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบงบประมาณให้เป็นไปอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจภายในภายในประเทศ

ประเด็นที่2.กองทัพเรือชี้แจงว่าในการจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำนั้นเป็นงบประมาณของกองทัพ ความจริงคือ งบประมาณของกองทัพก็คือเงินภาษีของประชาชนจึงจำเป็นต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด  

ประเด็นที่3 การที่คณะอนุ กมธ.คัดค้านการจัดซื้อเรือดำน้ำในครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจประชาชนมีความเดือดร้อนจึงควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนก่อน  

ประเด็นที่4. การจัดซื้อเรือดำน้ำไม่มีความผูกพันใดๆ ในสัญญา และไม่มีความเสียหายแต่อาจจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศคือไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งรัฐบาลสามารถเจรจาได้โดยชี้แจงให้เห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยมีภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ มีปัญหาด้านงบประมาณซึ่งจีนน่าจะเข้าใจ เพื่อจะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ  และประเด็นสุดท้ายการทำสัญญาซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ(G2G) นั้นเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ขอให้กองทัพเรือนำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full powers) มาชี้แจง  

พร้อมขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีให้เจรจากับทางกองทัพเรือ ขอให้ชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำออกไปก่อนเนื่องจากขณะนี้ประชาชนมีความเดือดร้อนจากวิกฤตเศรษฐกิจควรนำเงินงบประมาณมาให้ความช่วยเหลือประชาชนก่อน และยืนยันว่าตนได้ทำหน้าที่ ส.ส.และ กมธ.งบประมาณ ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบงบประมาณ ว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำจากประเทศจีน 22,500 ล้านเหมาะสมหรือไม่กับสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์โรคโควิด-19 ในขณะนี้  และไม่ได้นำประเด็นเรือดำน้ำมาเล่นเกมการเมืองและไม่ได้หวังผลโจมตีกองทัพเรือแต่อย่างใด

"เพื่อไทย" ยืนยัน 99.99% ไม่เข้าร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมพรรค ว่า ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยได้มีการขอมติ ส.ส. ต่อประเด็น การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 272 ร่วมกับพรรคก้าวไกล ที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

ส่วนใหญ่เห็นชอบกับการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 คือการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าเราไม่ควรไปคิดแทนประชาชน และถ้าหากเดินตามแนวทางนี้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ และ พรรคเพื่อไทยก็ได้ลงชื่อและดำเนินการตามแนวทางนี้มาโดยตลอด ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางมาตรา 272 ลดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกช่วงเวลา ซึ่งก่อนที่จะมีการลงมติ ที่ประชุมได้เปิดให้ ส.ส. ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และมีการเปิดโหวตโดย 1. ไม่ร่วมลงชื่อ 2. ร่วมลงชื่อ และ 3. ฟรีโหวต ผลสรุปการลงมติคือ 99.99% ที่ไม่เข้าร่วมลงชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 มีเพียง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ที่มีความเห็นว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ในการตัดสินใจ ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่?

ทั้งนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า แนวทางของพรรคคือการเปิดทางให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยการเปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ตามมาตรา 256 ส่วนมาตรา 272 วันนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะดำเนินการ แต่ก็ไม่ได้ปิดทางที่จะพูดคุยร่วมกันในอนาคต

"วัฒนา" โต้ข่าวเพื่อไทยไม่สู้ เผยรำคาญพวกพูดเอาหล่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

ผมและพรรคเพื่อไทยเคยประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น โดยระหว่างการรณรงค์ประชามติผมถูก คสช. ส่งคนมาอุ้มตัวไปควบคุมหลายครั้งเพราะประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญรวมทั้งยังถูกดำเนินคดีทั้งที่ศาลอาญาและศาลทหาร 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาโกงอำนาจประชาชนและสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประเทศจะไม่มีทางสงบสุข บ้านเมืองจะเกิดความขัดแย้งและเศรษฐกิจจะเสียหาย เนื่องจากกติกาการเลือกตั้งที่ออกแบบมาจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแออันจะทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพแบบที่กำลังเป็น

เมื่อมีโอกาสพรรคเพื่อไทยจึงต้องรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอาประชาธิปไตยคืนให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด แต่เนื่องจากการแก้ไขจะต้องได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาหรือ 375 เสียง โดยในจำนวนนี้จะต้องมี ส.ว. ลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 84 คน ดังนั้น การแก้ไขจึงต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่ด้วย หากเสนอเงื่อนไขที่เสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ยกเว้นไม่ต้องการแก้

ดังนั้น ที่หลายคนประณามว่าพรรคเพื่อไทยไม่สู้ ผมอยากให้คนที่พูดลองถามตัวเองว่าหากพรรคยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบที่หลายคนต้องการจะมี ส.ส. พรรครัฐบาลและ ส.ว. มาโหวตสนับสนุนหรือไม่ นั่นคือเราจะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้และความเสียหายจะตกกับประชาชน การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เรื่องสู้หรือไม่สู้ แต่จะต้องหวังผลให้เกิดความสำเร็จเพื่อเอาอำนาจคืนให้กับประชาชนให้มากที่สุด เลิกพูดเอาหล่อเหยียบหัวเพื่อนสร้างกระแสตีกินไปวันๆ น่ารำคาญและน่ารังเกียจครับ

วัฒนา เมืองสุข

25 สิงหาคม 2563

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"เก่ง-การุณ" ย้ำ "เพื่อไทย" ยังเห็น "ก้าวไกล" เป็นมิตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เก่ง-การุณ โหสกุล โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

พี่ๆน้องๆก้าวไกลครับ

ผมขอพูดจากใจนะครับ ว่าผมไม่สบายใจเลย ที่เห็นข้อความจากข่าว...


ผมขอยืนยันครับว่า พรรคเพื่อไทยเรา ไม่เคยเห็นพี่น้องในฝ่ายเราเป็นอื่นเลยนอกจากมิตรที่จะต้องร่วมกันสู้เพื่อความหวังอันสูงสุดของพี่น้องประชาชน คือ ...“ประชาธิปไตย”


ไม่มีหรอกครับ..

ใครเหนือใคร

ใครเป็นผู้นำใครเป็นผู้ตาม

ใครได้ซีนมากกว่ากัน

ใครสู้มากกว่าใคร


ทุกคนที่สู้มาก็เจ็บกันมาทั้งนั้น

พี่น้องผมก็อยู่ในเรือนจำหลายคน

ผมเองก็ยังมีคดีก่อการร้ายติดตัวอยู่

เราก็ยังยืนหยัดที่จะสู้


เราร่วมกันเดินครับ เห็นไม่ตรงกันตรงไหนก็หาจุดตรงกลางร่วมกัน


ถ้าชนะก็ชนะด้วยกันทั้งหมด เพื่อประชาชน

ถ้าจะแพ้ก็ร่วมกันแพ้ไปกับประชาชน


ผมหวังว่าทุกคนคงจะมองเห็นความหวังดีของผมนะครับ

"ภูมิธรรม" ถามรัฐถลุงงบซื้อเรือดำน้ำ ฉลาดน้อย หรือ เห็นแก่ตัว?

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“สิ่งใดเร่งด่วนกว่า และควรรีบทำ”

ซื้อเรือดำน้ำและยุทโธปกรณ์…

เพื่อความพึงใจของฝ่ายมั่นคง

 VS แก้ไขเศรษฐกิจ…

เพื่อชีวิตและ แก้วิกฤติปากท้อง ประชาชน……

ความดันทุรัง ของฝ่ายความมั่นคง รัฐบาลนี้ ที่ใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาทมาจัดซื้อยุทโธปกรณ์ และเรือดำน้ำ ด้วยงบประมาณมหาศาลมากขึ้นทุกปี นับแต่มีการรัฐประหาร ในปี 2557 เป็นต้นมา

ในขณะที่ประเทศประสบภาวะวิกฤติ

เศรษฐกิจตกต่ำ รุนแรง และ ประชาชน กำลังทุกข์ยาก แสนสาหัส 

และกำลังจะตกงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหลายล้านคน. 

แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำนั้นซ้ำเติมปัญหาของประเทศ และทุกข์ร้อนของประชาชนหรือไม่?

คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปจากการบริหารประเทศที่ผ่านมาหากจะบอกว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ

“เห็นความเดือดร้อนของประชาชน…เล็กเท่ามด ....เห็นความต้องการ ของฝ่ายตนยิ่งใหญ่ เร่งด่วน และต้องรีบตอบสนอง”

“ไม่รู้ว่าฉลาดน้อย หรือ เห็นแก่ตัว”

ถึงได้ยอมตัดสินใจ ใช้งบประมาณ จำนวนมหาศาลในภาวะวิกฤติ

เพื่อการนี้……

อย่าทำให้ประชาชน รู้สึกเสื่อมความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไปมากกว่านี้เลยครับ 

เพราะแทบทุกเรื่องที่ทำนั้น “ยากจะฝืนใจ…ยากจะทำใจยอมรับ เพิ่มมากขึ้นทุกวัน”

ภูมิธรรม เวชยชัย

24 สิงหาคม 2563

"ชวลิต" สุดเศร้า! เผยเยาวชนถาม ซื้อเรือดำน้ำทำไม? หนูไม่มีจะกิน

 "ชวลิต" อึ้ง เด็กมัธยมนครพนมถามกลางวงเสวนา "ซื้อเรือดำน้ำทำไม"  หนูไม่มีจะกิน

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2563 สำนักประชาสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎร ได้นำโครงการรัฐสภาสัญจรไปจัดที่โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว จังหวัดนครพนม โดยจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ "เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง" ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยเด็กนักเรียนมัธยมปลายที่เป็นคณะกรรมการนักเรียน กว่า 20 โรงเรียน จำนวน 200 คนเศษ

วิทยากร เป็น ส.ส.นครพนม ทั้ง 4 เขต คือ นายศุภชัย โพธิ์สุ นายไพจิต ศรีวรขาน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ นางมนพร เจริญศรี โดยนายศุภชัย โพธิ์สุ ซึ่งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานเปิดการเสวนาและบรรยายพิเศษ

ช่วงเปิดโอกาสให้ซักถาม มีนักเรียนสตรีคนหนึ่งถามว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีเงินจะใช้ในการบริหารประเทศ ทราบจากข่าวล่าสุดว่า รัฐบาลจำเป็นต้องไปกู้เงินมาใช้อีกกว่า 2 แสนล้านบาท จากเดิมที่รัฐบาลนี้ไปกู้มาแล้วมากมายมหาศาลใช้เวลาเกือบ 100 ปีถึงจะใช้หมด 

นั่นในส่วนของรัฐบาล ในส่วนของพวกหนู ครอบครัวหนู รายได้พ่อ แม่ ครอบครัวของหนูลดลง มีแต่หนี้สิน ไม่มีเงินจะใช้จ่าย ไม่มีเงินจะเรียน ขอถามว่า ลำบากกันทั้งรัฐบาล ลำบากกันทั้งประชาชน ทำไมรัฐบาลจึงจะเอาเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดไปซื้อเรือดำน้ำ ทำไมไม่ช่วยเหลือประชาชนก่อน

ผมได้ให้ ส.ส.มนพร เจริญศรี ซึ่งเป็น กมธ.งบประมาณปีนี้ เป็นผู้ตอบ โดย ส.ส.มนพร ฯ ได้ตอบคำถามโดยสรุปว่า อนุ กมธ.ซึ่งมาจากซีกฝ่ายค้าน ได้ช่วยกันอภิปรายคัดค้านการซื้อเรือดำน้ำกันอย่างเต็มกำลังแล้ว เพื่อให้นำงบก้อนนี้มาดูแลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเฉพาะหน้าก่อน ครั้นถึงเวลาลงมติ คะแนนเสียงอนุ กมธ.เท่ากัน. 4 : 4 แต่ประธานอนุ กมธ.เป็นของรัฐบาล ได้ลงคะแนนอีก 1 เสียง เป็น 5 : 4

เห็นชอบให้ซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่ กมธ.ซีกฝ่ายค้านยังไม่ถอดใจ จะสู้ต่อใน ห้องประชุมใหญ่ในคณะ กมธ.งบประมาณ และ ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในชั้นการพิจารณา วาระ 2..3 ต่อไป

ส่วนผมได้ช่วยตอบปัญหานี้ในภาพรวมว่า 80 กว่าปีประชาธิปไตย ประเทศไทยมี การรัฐประหารติดอันดับโลก ถึง 13 ครั้ง กบฎ 11 ครั้ง ถ้าการรัฐประหารดีจริง ประเทศไทยคงเป็นมหาอำนาจของโลกไปแล้ว ประชาชนคงไม่ลำบากยากแค้นเช่นทุกวันนี้ หลังรัฐประหารครั้งใด ก็ร่างกติกา ร่างรัฐธรรมนูญกันที และกติกาที่ออกมา ล้วนเอื้อประโยชน์กับผู้ยึดอำนาจทุกครั้ง เกิดความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรมในบ้านเมืองตามมา ได้เล่าย้อนหลังไปถึงปี 2516 ที่นิสิต นักศึกษา ได้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย จนเกิดวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516             

ปัจจุบันปี 2563 โลกไปไวมาก การเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นทางการเมืองลงมาถึงเด็กนักเรียนมัธยม และจะว่าเด็กไม่มีความรู้ก็ไม่ได้ เห็นได้จากคำถามที่คม ตรงประเด็น ทั้งรัฐบาลก็แย่ ต้องกู้เงินมาใช้ ทั้งชาวบ้านก็แย่ที่ไม่มีจะกิน แล้วจะซื้อเรือดำน้ำมาใช้ขณะนี้ทำไม รัฐบาลช่วยตอบที อย่าให้เด็กประท้วงได้ ยังดีที่ รัฐบาลไหวตัวทัน รับแก้รัฐธรรมนูญตามเสียงเรียกร้องของทุกฝ่าย แต่ปัญหาเศรษฐกืจข้างหน้า ใหญ่โตมโหฬาร ทางแก้ จะขอเสนอในการอภิปรายทั่วไปตาม รธน.มาตรา 152 คอยติดตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยครับ

"จาตุรนต์" แนะรัฐยกเลิกสัญญาซื้อเรือดำน้ำ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงขนาดนี้ รายได้ของรัฐจะต่ำกว่าเป้าอย่างมาก ที่คิดว่าจะขาดดุลงบประมาณและต้องกู้เงินจะไม่มีทางเป็นไปตามแผน อีกสักระยะหนึ่งก็จะพบว่ารัฐบาลไม่มีเงินใช้ทำโครงการต่างๆรวมทั้งการเยียวยาดูแลผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหลายล้านคน

ถึงเวลานั้นจะพบว่ามีโครงการหนึ่งยังคงเดินหน้าต่อไปแบบหยามน้ำใจคนทั้งชาติคือการซื้อเรือดำน้ำเพิ่มขึ้น ประชาชนจะยอมหรือ 

ที่เถียงกันอยู่ว่าโครงการซื้อเรือดำน้ำเป็นเรื่องจีทูจี รัฐต่อรัฐ หรือไม่? จะตรวจสอบให้ชัดก็ดี แต่ไม่ว่าจะเป็นรัฐต่อรัฐหรือรัฐกับเอกชน ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ คือสามารถยกเลิกได้ทั้งนั้น ยิ่งยังไม่มีสัญญาอะไรยิ่งยกเลิกง่าย

มีปัญหาแค่ว่าต้องการคอมมิชชั่นกันอยู่หรือเปล่า

ผลประโยชน์ต่อประเทศทางด้านความมั่นคงไม่มีอยู่แล้ว เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ไม่ต้องกลัว มิตรประเทศต้องเข้าใจว่าประชาชนไทยทั้งประเทศกำลังเดือดร้อน จะมาซื้อเรือดำน้ำเปล่าประโยชน์อยู่ทำไม

ถึงขั้นกรรมาธิการ ลงมติยกเลิกโครงการนี้เสียเถิด พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายอย่าไปกลัวประยุทธ์จนเกินไป เกรงใจประชาชน คิดถึงประเทศกันบ้างก่อนจะพังกันทั้งระบบ

ถึงเวลาที่กองทัพเรือจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากกว่าผลประโยชน์ของผู้นำเหล่าทัพแล้ว

"อนุสรณ์" เตือนรัฐหยุดยั่วยุ นักศึกษา

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ระบุ ไม่ได้สั่งจัดทำ คลิปเพลง "ธงชาติ" ข้าราชการนำมาลงช่อง YouTube เอง ว่า คนไทยเหลือพื้นที่รับฟังพล.ท.สรรเสริญ น้อยลง ตั้งแต่ จีที 200 ผังล้มเจ้า วันนี้กำลังพยายามจะทำให้กรมประชาสัมพันธ์ เป็นเหมือนหนังสือพิมพ์ดาวสยาม วิทยุยานเกราะ บ่มเพาะความเกลียดชัง ด้อยค่าแพร่มลทิน นักเรียนนิสิตนักศึกษา แย่งงาน ไอโอ 300 ของทหารมาดำเนินการเองหรือไม่ หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความจริงใจเข้าใจความสำคัญของปัญหา ต้องย้ายพล.ท.สรรเสริญ พร้อมกับตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง รวมถึงท่าทีของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ระบุ ถ้าไม่อยากถูกจับให้ไปจัดชุมนุมทุ่งกุลาร้องไห้ ว่า ตอนกปปส.ชุมนุม เป่านกหวีด ชัตดาวน์ ประเทศ ไม่เห็นผบ.ตร.ออกมาไล่ หรือประชดประชัน ให้ไปชุมนุมที่อื่นเลย โมเดลการแก้ปัญหาแบบนี้ บ่อนการพนันกลางกรุงไม่รู้ว่าต้องแก้โดยการให้ย้ายออกไปเปิดต่างจังหวัดด้วยหรือไม่ ในความเป็นจริงวันนี้ ประชาชนปลดแอกกระจายไปทั่วประเทศ แทนที่จะจ้องจับแกนนำดำเนินคดี ควรให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาได้เข้าถึงสิทธิ เสรีภาพการชุมนุมภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่ควรมีการดำเนินการเกินจากกรอบของกฎหมาย ไม่ควรมีการข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบ ในวันชุมนุมใหญ่ 19 กันยายน 2563 ผบ.ตร.ควรให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีการนำรถตัดสัญญาณการสื่อสารเข้าไปในสถานที่ชุมนุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องส่งสัญญาณ ไม่ให้มีการดำเนินการยั่วยุ หรือสร้างสถานการณ์ให้เกิดการเผชิญหน้าทุกกรณี