วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

"ทวี" ห่วงค่าไฟแพง อัดรัฐซื้อไฟฟ้าเอกชนล้น-เพิ่มภาระประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ปริมาณไฟฟ้าสำรองปัจจุบันมากถึง 54% เป็นการผลักภาระให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าแพง แต่ผู้ขายไฟฟ้ามีกำไรร่ำรวยมหาศาล”

จากการเปิดเผยของของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ม.ค-พ.ค.65  สรุปว่า “การจัดหาไฟฟ้า ‘กำลังการผลิตตามสัญญา’ ณ เดือน พ.ค. 2565 มีจำนวน 51,038 เมกะวัตต์หรือย่อหน่วยว่า MW (ซึ่ง 1 MW เท่ากับ 1,000,000 วัตต์) แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยทุกสาขาธุรกิจ (อาชีพ) สูงสุดอยู่ที่ 33,177 MW  จึงมีปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นเกินมาก (Reserved Margin) จำนวนสูงถึง 17,861 MW หรือประมาณ 54% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2565 ซึ่งในอดีตรัฐจะอ้างตัวเลขว่าปกติแล้วกำลังการผลิตจะเกินกว่าปริมาณการใช้แค่เพียง 15-17% ก็เพียงพอแล้ว แต่ในการชี้แจงของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน ในการชี้แจงประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565 ระบุว่ามีปริมาณไฟฟ้าสำรอง 35% แต่ความจริงข้อมูลของกระทรวงพลังงานมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการใช้มากถึง 54% เพราะเกิดจากสัญญา (ไม่เป็นธรรม) บังคับให้รัฐซื้อจากเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าในราคาสัมปทาน ถึงไม่ใช้ก็ต้องซื้อ ซึ่งรัฐไม่ต้องรับผิดชอบเพราะผลักภาระส่วนเกินให้ประชาชนเป็นผู้เฉลี่ยจ่าย จึงทำให้ค่าไฟฟ้าสูงกว่าความเป็นจริง 

โรงไฟฟ้าเอกชนผลิตไฟเท่าไรรัฐก็ต้องซื้อหรือจ่ายค่าสำรองเครื่องจักรขั้นต่ำ แม้ความสามารถผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการไปมาก สำรองไฟฟ้าที่ล้นระบบเป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เป็นเงินภาษีอากรของประชาชนนำไปจ่าย และรัฐได้ซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในราคาค่อนข้างแพงโดยมีอายุรับซื้อถึง 25 ปี ทำให้เอกชนที่ขายไฟให้รัฐบาลมีกำไรมาก ๆ ร่ำรวยอย่างรวดเร็ว จากการตรวจสอบรัฐซื้อไฟฟ้ากับเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าเป็น 2 ส่วน คือ ค่า ADDER ที่เอกชนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและผลักภาระเป็นค่าไฟให้ประชาชนที่เรียกว่าค่า FT พบว่าสัมปทานกับเอกชนบางสัญญาในช่วงแรก ๆ ได้ค่า ADDER ราคา 8 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงและค่าไฟพื้นฐาน 3 บาท ทำให้รัฐบาลซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนในราคาแพงที่บางสัญญาราคาสูงประมาณ 11 บาท ก็มี  ส่วนไฟฟ้าที่รัฐบาลผลิตเองประมาณ 30% โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะมีต้นทุนราคาถูกมาก ๆ เช่น พลังงานไฟฟ้าจากเหมืองถ่านหินแม่เมาะ (ต้นทุน 1.60 บาท)

.

บริษัทที่ขายไฟฟ้าให้รัฐบาลจะมีกำไรร่ำรวยเป็มอัครมหาเศรษฐีภายในเวลาไม่กี่ปี จากข้อมูลของบริษัทที่มีสัมปทานขายไฟฟ้าให้กับรัฐบาล ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บางบริษัท อาทิ

.

-บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย โดยผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนต่อมาได้ขยายธุรกิจลงทุนในหุ้นอินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีทุนจดทะเบียน 11,733 ล้านหุ้น ราคาในตลาดหลักทรัพย์ตอนเข้าจดทะเบียนตอนแรกในปี 2560 อยู่ที่ 10 บาท เท่ากับมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market cap) เท่ากับ 117,330 ล้านบาท ต่อมาราคาหุ้นขึ้นไป 52.75 บาท ทำให้มูลค่าเพิ่มมาเป็น 618,915 ล้านบาท หรือคิดเป็นความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 500,000 ล้านบาท (ภาพแสดงราคาหุ้น)

.

-บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และต่อมามีการพัฒนา ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ไฟฟ้า มีทุนจดทะเบียน 3,730 ล้านหุ้น ราคาในตลาดหลักทรัพย์ตอนเข้าจดทะเบียนตอนแรกในปี 2556 ก่อนรัฐประหารเพียง 1 ปี อยู่ที่ 5.95 บาท เท่ากับมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเท่ากับ 22,193 ล้านบาท ต่อมาหลังรัฐประหารได้ขึ้นไปสูงสุดที่ 105.50 บาท หรือพุ่งขึ้นมาเป็น 393,515 ล้านบาท หรือมั่งคั่งขึ้นมามากถึง 371,322 ล้านบาท (ภาพแสดงราคาหุ้น)

จากที่ดูข้อมูล นักวิเคราะห์ยังคงให้ราคามูลค่าหุ้นของทั้งสองบริษัทตามกำไรจากธุรกิจหลัก คือ การผลิตไฟฟ้า ส่วนการขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมอื่น เป็นเพียงการเล่นข่าวที่มีผลต่อราคาในช่วงสั้น ๆ กล่าวโดยสรุปราคาหุ้นเป็นการสะท้อนผลประกอบการที่มาจากการได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยเอกชน จนสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยได้อย่างก้าวกระโดด และสามารถขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่รัฐกำหนดเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ได้แก่ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และดิจิทัล เป็นต้น

“พลังงานไฟฟ้า” เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชน การที่รัฐซื้อไฟฟ้าจากเอกชนแบบให้สัมปทานเอกชน รวมกันมากถึง 59% และนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 11% รวมรัฐการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนมากถึง 70% ซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศวางหลักการไว้ชัดเจนว่า กรณี สาธารณูปโภคกำหนดให้สัดส่วนการผลิตของรัฐต้องไม่น้อยกว่า 51% (มาตรา 56 วรรคสอง) แต่การที่รัฐผลิตไฟฟ้าเองเพียง 30% จึงน้อยกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด (ขาดอีก 21%) ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 

.

ไฟฟ้าที่ซื้อจากเอกชน (70%) และที่รัฐผลิตเอง (30%) รัฐนำมาถั่วเฉลี่ยราคากันแล้วขายไฟฟ้าให้ประชาชน อัตราค่าไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับประเภทของการใช้งาน ตัวอย่าง การขายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

.

อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน

-15 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1 – 15) หน่วยละ 2.3488 บาท

-10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 16 – 25) หน่วยละ 2.9882 บาท

-10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26 – 35) หน่วยละ 3.2405 บาท

-65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36 – 100) หน่วยละ 3.6237 บาท

-50 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 101 – 150) หน่วยละ 3.7171 บาท

-250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400) หน่วยละ 4.2218 บาท

-เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท

.

อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน

-150 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1 – 150) หน่วยละ 3.2484 บาท

-250 หน่วยต่อไป ( หน่วยที่ 151 – 400 ) หน่วยละ 4.2218 บาท

-เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท

.

แต่สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ ‘ไม่มีมิเตอร์ถาวร หรือสถานะมีทะเบียนบ้านชั่วคราว’  หรือประเภทที่ 6 ที่มีทะเบียนบ้านชั่วคราว รัฐขายไฟฟ้าใน ราคา 6.8025 บาท/หน่วย ที่คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำ ยากไร้ ยากจน จะอาศัยในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของตนเองและรัฐจะออกบ้านเลขที่ชั่วคราวให้

.

การปล่อยให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองปัจจุบันมากถึง 54% เป็นต้นทุนส่วนเกินที่คำนวณเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่อาจสูงถึง 2-4 แสนล้านบาทต่อปี (จากพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินกว่าแสนล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง) ที่รัฐผลักภาระให้ประชาชนจ่ายปีละมากกว่าแสนล้านบาท โดยประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น การไม่แก้ไขปัญหาแสดงให้เห็นถึงการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่สนใจความเหลื่อมล้ำ นำเงินจากประชาชนมาให้บริษัทผู้รับสัมปทานรัฐผ่านค่าไฟฟ้าจนทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจประเทศตกต่ำมากถึงมากที่สุดบริษัทโรงไฟฟ้าที่ขายไฟให้รัฐยังมั่นคงมีกำไร แต่ประชาชนประสบวิกฤติต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงถูกเอารัดเอาเปรียบ

.

ยิ่งในช่วงนี้เป็นช่วงค่าไฟฟ้าขาขึ้นและมีแนวโน้มจะไปถึง 5-6 บาทต่อหน่วยในอนาคตอันใกล้ตามข่าวเนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงแพงขึ้นจากสถานการณ์โลก และ ความผันผวนของค่าเงินบาท (เงินบาทอ่อนค่าเป็น 37 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์ แล้ว) ภาครัฐควรช่วยสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในครัวเรือน (Residential Solar Rooftop) หรืออุตสาหกรรม และ รับซื้อไฟที่เหลือให้เยอะขึ้น พร้อมจัดการให้ขั้นตอนการขออนุญาตต่าง ๆ ให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนลดต้นทุนค่าไฟได้ เนื่องจากผลิตไฟเองใช้เอง ที่สำคัญรัฐต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่เป็นสาธารณูปโภคให้ได้สัดส่วน 51% ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติโดยด่วนด้วย


วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

“ประชาชาติ” ติง นายกฯ-รัฐมนตรี ตอบไม่ตรงคำถาม ขอบคุณประชาชนสนใจการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

(21 กรกฎาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา ว่า นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ของพรรคฝ่ายค้าน ที่ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อนายชวน หลีกภัย  ประธานสภาผู้แทนราษฎร กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนอยู่ขณะนี้ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายชี้ให้เห็นประเด็นการทุจริตของรัฐบาล โดยครั้งนี้เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้ครั้งสุดท้าย ประชาชนจะได้นำบทเรียน รวมทั้งประมวลข่าวสาร ข้อมูล ข้อเท็จจริง ด้านบริหารราชการและงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล มาตัดสินใจประกอบการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ โดยส่วนตัว มองว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีรวม 11 คน ตอบคำถามของพรรคฝ่ายค้านตามที่กล่าวหาไม่ได้ นายกฯและรัฐมนตรียังตอบไม่ตรงคำถาม ซึ่งหากรัฐมนตรีไม่ตอบ แสดงว่าตอบคำถามไม่ได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็ถูกบันทึกอยู่ในที่ประชุมสภา

“หากไม่ตอบ ประชาชนจะเห็นว่ารัฐมนตรีตอบไม่ได้ ความผิดพลาดอยู่ที่รัฐมนตรี” นายมนตรี กล่าว

นายมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การอภิปรายของฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคประชาชาติมีมาตรฐานสูง มุ่งเน้นเจาะเรื่องทุจริตของรัฐบาลเป็นหลัก ตามข้อมูล-ข้อเท็จจริง เป็นการอภิปรายแบบมีหลักฐาน เพราะหากพูดความเท็จทำให้เกิดความเสียหายเอกสิทธิ์คงไม่สามารถคุ้มครองได้ ซึ่งจะเห็นว่า นายกฯและรัฐมนตรีที่ถูกพาดพิง แสดงความกังวลตลอดเวลา

“ผมขอขอบพระคุณประชาชนทุกภาคส่วน ที่ให้กำลังใจพรรคประชาชาติ และพรรคฝ่ายค้านทุกพรรค ในการทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ในครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสพบปะและเดินเยี่ยมกลุ่มผู้ชุมนุม และประชาชนที่มารวมตัวกัน เกาะติดการอภิปรายไม่ไว้วางใจบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาด้วย และได้เห็นบรรยากาศความไม่พอใจของประชาชน ที่มีต่อการชี้แจงของนายกฯและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายด้วย ทำให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ ไปต่อได้ยาก” นายมนตรี กล่าวในที่สุด








วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

"ทวี" เผย ประชาชาติ พร้อมศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ล็อกเป้ารัฐบาลทุจริตงบประมาณแผ่นดิน

(16 กรกฎาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนล่าสุด ในประเด็น การอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม นี้ ว่า "พรรคประชาชาติจะมีผู้อภิปรายอย่างน้อย 3 คน โดยจะอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กับรัฐมนตรีอีก 2 คน ในประเด็นเกี่ยวกับนโยบาย และความประพฤติ คุณลักษณะที่ทำให้เกิดความเสียหาย การทุจริตที่ร้ายแรง รวมทั้งการทุจริตงบประมาณแผ่นดิน ในส่วนของรัฐมนตรีเรายังไม่ขอเปิดเผยรายชื่อว่าเป็นใคร เพราะอาจทำให้มีการสกัดกั้นเรื่องของข้อมูล ซึ่งทราบว่าขณะนี้เริ่มมีการสกัดกั้นแล้ว"

"ทั้งนี้ พรรคประชาชาติมีความพร้อม ทุกคนเตรียมตัวอย่างดีสำหรับการอภิปราย อยากฝากถึงนายกฯ และรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายว่า เราไม่ได้มีความขัดแย้งกัน แต่จะชี้ให้เห็นว่าการไปบริหารราชการของท่าน ทำให้ประเทศได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งพรรคประชาชาติจะทำให้เต็มที่"

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า เกรงว่าระหว่างการอภิปรายจะเกิดการประท้วง จนทำให้การอภิปรายไม่ราบรื่นหรือไม่ ? นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า พรรคประชาชาติจะพูดในเนื้อหา โดยจะไม่มีประเด็นที่ใช้วาทกรรมให้เกิดการประท้วง ส่วนถ้าเขาจะประท้วงก็เป็นเรื่องธรรมดา เชื่อว่าประธานในที่ประชุมจะทำหน้าที่ได้ครับ

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

“ประชาชาติ” ห่วงเงินเฟ้อ กระทบเกษตรกร เตือนรัฐเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ

นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในประเด็น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนมิถุนายนปี 2022 สูงขึ้นร้อยละ 7.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 13 ปี และเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ที่อยู่ในอัตราร้อยละ 7.1 ว่า “เงินเฟ้อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้นสูง และอาจสูงขึ้นไปอีกในเดือนสิงหาคม จากการปรับตัวขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้สินค้าต่างๆ ที่ประชาชนต้องใช้อุปโภค-บริโภค ปรับขึ้นตาม”

“ภาวะดังกล่าว ทำให้พี่น้องเกษตรกร แบกรับต้นทุนไม่ไหวจึงมีการทยอยปรับขึ้นราคาผลิตผลทางการเกษตร และราคาอาหารสดทั้งระบบ สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ปล่อยให้ประชาชนเผชิญวิกฤต ส่งผลต่อทั้งต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งเป็นลูกโซ่ และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ซ้ำเติมปัญหาเกษตรกร ประเทศไทยพึ่งการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศสูงถึง 90-95% และปัจจุบันมูลค่าต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า” 

“ทิศทางในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 นั้น ประเมินว่า ภาวะเงินเฟ้อ มีแนวโน้มขยายตัวต่อไป ท่ามกลางภาวะผันผวนหลายปัจจัย รวมไปถึงสถานการณ์โรคระบาดที่ยังคงมีอยู่ รัฐต้องตระหนักว่า ภาคเกษตรเป็นแหล่งรายได้สำคัญของครัวเรือนไทยในชนบท ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือการรับจ้างในภาคเกษตร ภาครัฐจึงควรเร่งออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่โดยเร่งด่วนครับ” นายมนตรี บุญจรัส กล่าว 



"วันนอร์" แนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ทำหน้าที่ด้วยเกียรติยศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผมผ่านประสบการ์ณทางการเมืองเป็นสิบๆปี เห็นวัฏจักรการเป็นไปทางการเมืองไทยอยู่เยอะ มีตัวอย่างให้ได้สัมผัสอยู่มาก ผ่านการรับผิดชอบในด้านบริหาร ด้านนิติบัญญัติ รวมทั้งการทำงานพรรคการเมืองที่เป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่เราหวงแหนกันอยู่นี้
.
ผลการเลือกตั้งทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อยมาถึงการเลือกตั้งซ่อมที่ลำปาง มีความหมายทางการเมืองที่สะท้อนความคิดของประชาชนได้ดีและรวดเร็วยิ่ง ว่าเขาคิดอย่างไรกับการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน
.
ในฐานะนักการเมืองอาวุโส ย่อมเห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองในสังคมไทยเป็นอุทาหรณ์ได้เสมอ และทุกวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าประชาชนคนไทยส่วนมาก "มิได้ต้องการ" พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีทั้งหลายมาบริหารประเทศที่เผชิญกับความเสี่ยงสูงมากทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สวัสดิการ หรือแค่ความสามารถของพรรคแกนนำรัฐบาลที่มิอาจนำนโยบายที่ประกาศไว้ในช่วงเลือกตั้งเมื่อปี 62 ที่ผ่านมา เข้ามาทำให้เห็นเหมือนที่ประกาศไว้ใหญ่โต
.
หรือจะมีบ้างบางนโยบายที่ทำออกมาแล้ว ปรากฏถึงความหนักใจและห่วงใจจากหลายๆภาคส่วน ว่านโยบายที่ประกาศใช้นั้น มีผลร้ายมากกว่าผลดีต่อสังคม ยิ่งไปกว่านั้นความหวังของบรรดาเยาวชน คนรุ่นใหม่ ต่างก็แสดงออกมาโดยตลอดแล้วว่าค่อนข้างริบรี่ ไม่มีความมั่นใจในการสร้างชีวิตที่ดีภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้
.
สังคมเลยเผชิญกับความเสื่อมโทรม ยากแก่การไว้วางใจให้รัฐบาลชุดที่สืบทอดอำนาจมายาวนานกว่า 8 ปี บริหารประเทศได้ต่อไป


เราได้เห็นในสิ่งที่ไม่อยากจะเห็น ทั้งหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นโยบายที่ทำร้ายสังคมก็ถูกประกาศใช้ การวางคนที่ไม่ถูกต้องกับงาน ขยายเครือข่ายเพื่อการทุจริต การเอื้อเฟื้อตำแหน่งโดยมิพิจารณาถึงความสามารถ ความแร้นแค้นของประชาชนที่กลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามเมื่อยามผู้ได้ประโยชน์เป็นพรรคพวกของผู้มีอำนาจ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่กลายเป็นของเล่นที่จะเล่นเมื่อไรก็ได้ สัมปทานที่ผิดรูปผิดตัวประเทศชาติสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้ไปหลายประการ การขึ้นค่าครองชีพทั้งหลายในขณะที่ค่าจ้าง ค่าแรง ยังขึ้นได้ช้า
.
ในฐานะกัลยาณมิตร และเป็นนักการเมืองด้วยกัน ผมมีความเห็นให้พี่น้อง ส.ส. ทั้งหลายในทุกๆพรรค โปรดพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า เราในฐานะ "สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร" เป็น "ผู้แทน" ที่ต้องทำหน้าที่แทนประชาชนในเขตเลือกตั้งที่เลือกเรามา ต้อง "พูดความจริง" ในสิ่งที่ประชาชนรู้สึก ต้อง "กล้า" ในการสะท้อนความรู้สึกของประชาชน เหมือนที่ท่านทั้งหลายเคย "กล้า" อาสาเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อประชาชนในคราวก่อน


การอภิปรายไม่ไว้วางใจหนนี้ จะเป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเรา ส.ส.จะทำหน้าที่ในสมัยนี้ เช่นกันที่จะเป็น "โอกาสสุดท้าย" ของบรรดา ส.ส. ที่ติดชื่อไว้เป็น "ตัวแทนประชาชน" ว่าจะตัดสินใจทำหน้าที่ตามที่ประชาชนในพื้นที่ของเขาต้องการหรือว่าทำตาม "ใบสั่ง" ของคนไม่กี่คน ในนามประชาชนในเขตตนเอง ถ้าเป็นอย่างหลังนับว่า "อดสู" และน่าเศร้าอย่างยิ่ง
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร แต่กลับรับอามิจสินจ้าง กินกล้วย รับสินบน เพื่อความอยู่รอดของคนไม่กี่คน แต่กลับทำร้ายประชาชนในระยะยาว นอกจากจะใช้ชื่อประชาชนในการเสวยสุขกับตนเองแล้ว ยังเป็นการบิดเบือนจุดยืนของการเป็น "ผู้แทนปวงชน" แบบไม่อายฟ้าดิน
.
ในโอกาสที่ท่านกำลังจะทำหน้าที่สำคัญในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายในวาระนี้ ขอให้ท่านผู้แทนราษฏรทั้งหลาย จงคิดให้รอบคอบ คิดให้ดี ยึดมั่นในอุดมการณ์ตั้งต้นตั้งแต่วันแรกที่ท่านตัดสินใจทำงานการเมือง ก็เพื่อประชาชนมิใช่หรอ จงทำหน้าที่ด้วยเกียรติยศที่ท่านมี ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่ประชาชนในเขตรับผิดชอบของท่านเขาต้องการ ทำในสิ่งที่จะหยุดยั้งความล้มเหลวของชาติ
.
และท่านจะได้ประกาศอย่างสมภาคภูมิว่าท่านได้ทำหน้าที่เป็นส่วนสำคัญในชัยชนะของชาติ อย่าได้ให้คนรุ่นหลัง ตราหน้าท่านว่า ท่านเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาติถอยหลัง ทำลายอนาคตของพวกเขา รับใช้ผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่งจนลืมเสียว่า "อำนาจที่แท้จริงนั้นเป็นของประชาชน"
.
เมื่อนั้นวันที่ท่านจะถูกประชาชนตอบแทนการทำงานของท่านด้วยความดีใจหรือโกรธกริ้ว ท่านทั้งหลายพิจารณาเองกันได้ เพราะอย่างไรก็ดี กรรมก็ย่อมถูกตอบแทนไปตามกรรมนั้นเสมอ, ขอความร่วมมือช่วยประเทศชาติ ประชาชน กันนะครับ.
14 กรกฏาคม 2565
กรุงเทพมหานคร

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

“พรรคประชาชาติ” ก่อตั้ง “สถาบันการเมือง ประชาชาติ”

ผู้สื่อข่าวรายงานจากโรงแรมปาร์คอินทาวน์ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ว่า นายวันมูหะมัตนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย คณะกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ รวมทั้งสมาชิกพรรคประชาชาติ กว่า 400 คน จาก จังหวัดชายแดนใต้ เดินทางมาร่วมการอบรมหลักสูตรการเมืองประชาชาติ รุ่นที่ 1 โดยมี ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ผู้อำนวยการสถาบันการเมืองประชาชาติ เป็นผู้กล่าวรายงาน และชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน จากนั้น นายวันมูหะมัตนอร์ มะทา ในฐานะประธานในพิธีเปิดการอบรมและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ประชาชาติ  พรรคของเรา" จากนั้น เป็นการบรรยาย เรื่อง​“เราจะก้าวเดินไปพร้อมกัน เพื่อชัยชนะของประชาชน” โดย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โดยมีสื่อมวลชนในพื้นที่เดินทางมาร่วมทำข่าวความเคลื่อนไหวของพรรคประชาชาติในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก



พันตำรวจเอก ทวี  สอดส่อง กล่าวว่า พวกเราได้รับฟังปาฐกถาที่ทรงคุณค่าของท่านอ.วันนอ ที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่ผมขอเรียนเพิ่มเติมคือ “สถาบันทางการเมือง พวกเราอาจจะได้ยินชื่อ ‘สถาบัน’มาเยอะ เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันต่างๆนานา แต่สำหรับ สถาบันทางการเมืองก็มีอยู่หลายสถาบัน แต่ถ้าสถาบันทางการเมืองที่เป็นของประชาชน จะมีแห่งเดียว ก็คือ ‘พรรคการเมือง’ วันนี้ พรรคการเมืองหลายๆพรรคอาจจะไม่เข้าใจคุณค่าประชาชนหรือบางพรรคอาจจะ เข้าใจแต่ยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ่ง ที่ว่าพรรคการเมืองเป็นสถานบันของประชาชน เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ประชาชน จะสามารถเดินเข้าหาได้ และนักการเมืองต้องเดินเข้าหาประชาชน ตลอด 24 ชม.ในหนึ่งวัน ตลอดเวลาที่ตัวเองมีความทุกข์ ตลอดเวลาที่ตัวเองมีปัญหา และตลอดเวลาที่ตัวเองมีความสุขและอยากให้สังคมมีความสุขด้วย 

การเป็นสถาบันการเมืองพรรคประชาชาตินี้ อย่างน้อยจะต้องเป็นทั้ง ‘สะพาน’ และต้องเป็นทั้ง ‘กำแพง’ ให้กับประชาชน การเป็นสะพานเชื่อมประชาชนเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นทุนชีวิตได้รับแบ่งปันอำนาจทางการเมืองที่แท้จริง เป็นสะพานนำประชาชนเข้าไปมีพื้นที่ทางการเมืองใช้อำนาจในการบริหารการปกครอง การสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับประชาชน โดยใช้ช่องทางของพรรคการเมืองเขาสู่อำนาจนิติบัญญัติ ได้เข้าเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ นโยบาย มีอุดมการณ์ เป็นสะพานของพรรคเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่สำคัญต้องมีเป้าประสงค์เพื่อประชาชนมีความเจริญรุ่งเรือง มีความผาสุขอย่างเสมอหน้ากัน

พรรคประชาชาติมีอุดมการณ์หลายข้อ มีนโยบายหลายข้อ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือเรา ‘ให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ‘ ความเป็นคนมีความสำคัญ มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ดังนั้นบุคคลทุกคนไม่ว่าจะมีความเชื่ออุดมการณ์ ศาสนา หรือถิ่นกำเนิดหรือ เพศ หรือมาจากที่ใด คนทุกคนจะต้องมีความสิทธิ์เสรีภาพ คนทุกคนจะต้องมีเสรีภาพ คนทุกคนจะต้องมีความเสมอภาค มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความยุติธรรม รวมทั้งทุกคนต้องได้รับการพัฒนาอันนี้คือความเป็นพรรคประชาชาติ 

ที่บอกเป็นสะพานเข้าสู่พื้นที่นี้ คำว่าพื้นที่มีความหมายกว้าง ไม่ได้หมายถึงพื้นที่ดินเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ทางการศึกษา เข้าถึงรัฐสวัสดิการพื้นที่ทางอำนาจ พื้นที่ทางสมดุลย์ต่าง ๆ ให้กับคนทุกคนได้รับสิทธิเดินไปถึงอย่างเสมอหน้ากัน ปัจจุบันแค่พื้นที่ที่เป็นศักยภาพเป็นพื้นดิน คนปัตตานี ยะลา นราธิวาส เราก็ถูกรังแก เรื่องที่ดิน ที่ดินที่เคยอยู่เป็นร้อยปี เป็นบรรพบุรุษ วันดีคืนดีก็ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ประกาศเขตป่าไม้ ประกาศเขตที่ดินของรัฐมารุกล่ำมาทับที่ของประชาชาน อันนี้เป็นเพียงที่เราเห็นในสายตา แต่ที่เราไม่เห็นนี้คือ พื้นที่ของอุดมการณ์ พื้นที่ของสิทธิเสรีภาพ พื้นที่ทางความเสมอภาค แล้วพื้นที่ในการจะพัฒนารวมถึงพื้นที่แห่งความยุติธรรม เราถูกรุกล้ำเป็นอย่างมากโดยกฎหมายพิเศษ ซึ่งเกิดมานมนาน แต่สิ่งที่จะไปแก้นั้นได้สิ่งเดียว ก็คือ คงจะต้องใช้ช่องทางทางการเมืองนี้ คืออยากจะเรียนว่าพรรคประชาชาติ เป็นสะพาน 

พรรคประชาชาติเป็นกำแพงให้กับประชาชน ซึ่งกำแพงนี้ปกติจะใช่ปกป้องกันภัย จะต้องปกป้องกันพายุ แล้วก็จะใช่ปกป้องภยันตรายต่างๆ บ้านเรือนครอบครัว เรามีรั้วถือเป็นส่วนหนึ่งของกำแพง แต่กำแพงของพรรคประชาชาตินี้คือ จะต้องเป็นกำแพงปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้ถูกละเมิด หรือไม่ให้ใครใช้อำนาจไม่เป็นธรรมรังแกประชาชน พรรคต้องอยู่ในใจของประชาชน เป็นกำแพงในใจของประชาชน คือ เราจะต้องเป็นคนของประชาชน ถ้าพรรคประชาชาติไม่ได้รับความเชื่อมั่นกับประชาชนนี้ พรรคประชาชาติก็คือกำแพงสลาย สิ่งที่จะเป็นกำแพงให้กับประชาชนคือ ต้องมีความยุติธรรมกับประชาชน สิ่งที่จะเป็นกำแพงให้ประชาชน เราต้องมีความจริงใจ แล้วเราต้องปกป้อง ไม่ให้การทำลายของประชาชน

ความขัดแย้งของบ้านเมืองเราเดินมาไกลมาก ถ้าพูดภาคใต้ไปถามเด็กในสามจังหวัดกับไปถามเด็กในกรุงเทพหรือในเมืองหลวงนี้เหมือนคนละโลกเดียวกัน สมัยเป็นเลขา ศอ.บต. ลองให้ไปถามเด็กเยาวชนในสามจังหวัดนี้ สิ่งที่เขาต้องการนี้ เขาต้องการความสงบ เด็กต้องการความสงบ ต้องการความปลอดภัย เด็กต้องการไม่ให้คนในครอบครัวถูกเอาตัวไปแล้วถูกกักขัง แล้วบางครั้งมีการหายตัวไป พ่อแม่จะต้องได้รับผลกระทบ พี่น้องที่เป็นไทยพุทธไปทำงานไม่มีเรื่องกับใครทำไมจะต้องมาเสียชีวิต นี่คือครอบครัวเด็กกำพร้า ครอบครัวเด็กที่อยู่ในที่นี้ แต่พอเราไปถามเด็กในกรุงเทพฯ หรือในภูมิภาคอื่นๆในเวลาเดียวกันใน ณ ขณะนั้น เขาต้องการไปเล่น ต้องการไปสนุกสนาน ต้องการไปเที่ยว เขาต้องการเล่นบันเทิง ต้องการเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุด ความต้องการจึงมีความแตกต่างกันเหมือนคนละประเทศหรือคนละซีกโลก เห็นในจังหวัดชายแดนใต้ โหยหาความปลอดภัย ความสันติสุข ความสันติภาพ ในขนะที่เราอยู่ในที่นี่ ต้องการมีชีวิตเหมือนอย่างคนอื่น ไม่ต้องการอะไรพิเศษ แต่เราต้องการความเสมอหน้า

สันติสุขกับสันติภาพจะตรงกันข้ามกับยาเสพติด ที่ใดมีปัญหาเรื่องยาเสพติดที่นั่นจะไม่มีสันติสุข ที่ใดมีสันติสุขจะต้องไม่มียาเสพติดเข้ามา นี่ก็เป็นจุดเล็ก ๆ ของการทำงานทางการเมืองว่า วันนี้ประเทศไทยเราค่อนข้างน่าอับอาย ก็คือมีการประกาศให้กัญชา แม้จะด้วยทางการแพทย์ พอให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด ไม่ต้องมีโทษนี้ เราไม่สามารถไปยืนในเวทีโลกได้ เกิดจับพลัดในสมัยหน้าพรรคที่เสนอนโยบายกัญชาเกิดได้เป็นนายกรัฐมนตรี คือการเอายาเสพติดเข้ามายิ่งอายใหญ่ นี่เหมือนเราทำร้ายลูกหลาน การทำลายครอบครัว การที่พรรคไม่เห็นด้วยที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกัญชาไม่เป็นยาเสพติดแม้แต่ใช้เพื่อการสันทนาการนั้น คือตัวอย่างที่พรรคต้องเป็นกำแพงคุ้มครองสุขภาพและอนาคตของประชาชน

“พรรคประชาชาติ จึงไม่เห็นด้วยกับการให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดเพราะเราต้องการเป็นกำแพงปกป้องพี่น้อง เราต้องการเป็นกำแพง อย่างน้อยที่สุดจะต้องไม่ให้พี่น้องนี้ได้รับภัยคุกคามที่ภัยคุกคามชนิดนี้ ไม่ใช่คุกคามธรรมดา มันเป็นการคุกคามความเป็นมนุษย์”

ผมเคยเรียนมาจากทางการสืบสวนสอบสวน ทางอาชญวิทยา เขาก็จะมีเรื่องการลงโทษ การลงโทษจากเบาไปหาหนัก เขาบอกโทษชั้นเบาก็คือ จะมีโทษทางกฎหมายอาญา โทษปรับริบทรัพย์สิน โทษกักขัง โทษจำคุก โทษประหารชีวิต แต่โทษที่ทำลายชีวิตทั้งเป็น หรือมีชีวิตเหมือนคนไม่มีชีวิต คือ คนติดยาเสพติด ที่ถือว่าตายทั้งเป็น  ดังนั้น เราต้องป้องกัน ปกป้องพี่น้องของเรา ปกป้องลูกหลานของพวกเรา ปกป้องคนในครอบครัวของพวกเรา ไม่ให้ติดยาเสพติด 

เราไม่ได้พูดเพื่อไปทำร้ายใคร แต่จะพูดให้เห็นว่า นี่คือจุดยืนของพรรคประชาชาติ ที่ทำหน้าที่เป็นสะพานให้กับพี่น้องทุกคน เพื่อนำไปสู่ความเสมอภาค เพื่อนำไปสู่ความสมดุลย์ และทำหน้าที่เป็นกำแพงป้องกันไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีกับประชาชนเข้ามาหากับประชาชน ในฐานะของทางการเมืองก็คือ เราต้องพยายามคัดค้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม 

การแก้ปัญหาของประเทศชาติ ปัญหาสำคัญในการแก้ ทุกคนก็มีความคิดที่จะแก้ แต่ทำไมพอยิ่งแก้ ประเทศไทยยิ่งเหลื่อมล้ำ พอทำไมยิ่งแก้เศรษฐกิจของพวกเราทำไมถึงได้แย่ คือการแก้ปัญหาของประเทศชาติ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘การไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม‘ ที่เรียกกันว่า เผด็จการ 


เขาบอกสิ่งที่มนุษย์ต้องระวังมากที่สุด คืออะไรรู้ไหม ? สิ่งที่มนุษย์ต้องระวังมากที่สุด คือความคิด ความคิดนี้มันจะไปเป็นคำพูด คำพูดมันจะไปเป็นการกระทำ การกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกมันจะเป็นนิสัย ถ้าซ้ำแล้วซ้ำอีกยังทำอีกเขาเรียกเป็นพฤติกรรม ถ้าพูดในภาษาไม่สุภาพก็อาจจะบอกว่าเป็นสันดาน คราวนี้ความคิดที่เป็นปัญหามากที่สุดนี้ที่จะทำผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากนี้คือ ความคิดของผู้นำ ถ้าผู้นำมีความคิดที่มีปัญหาก็จะทำ จริงๆ บ้านเมืองไม่มีปัญหา บางทีบ้านเมืองมันเป็นปัญหาอีกชนิดหนึ่ง แต่เมื่อความคิดของผู้นำมีปัญหา ก็จะเอาปัญหาของตัวเองนี้มาแก้ปัญหา มันจึงทำให้เกิดปัญหาซ้อนปัญหา แล้วปัญหามันก็แก้ไม่ได้ อันนี้จึงได้เรียกว่า การที่จะแก้ปัญหาก็คือ จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม คือ ความมั่งคงของประชาชน ความคิดของประชาชน เมื่อรวมตัวกันนี้ เราถือว่าเป็นความมั่งคงของสังคม ความมั่งคงของประชาชน มันจะต้องเป็นความมั่นคงของประเทศชาติ ไม่ใช่ความมั่นคงของเจ้าหน้าที่รัฐ ความมั่นคงของคนที่อยู่ในสามจังหวัดทุกคน ทุกเชื้อชาติ ถ้าเป็นความมั่นคงตามความคิดของประชานที่เห็นร่วมกันแล้วนี้ อันนี้มันคือ ความมั่นคงที่แท้จริง ไม่ใช่ความมั่นคงของคนกลุ่มหนึ่ง แล้วทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งมีความทุกข์ 

.

การให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนแม้จะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิก ผมถือว่าเป็นทิศทางที่จะมีการแก้ปัญหาของประชาชนที่แท้จริง เรามาจัดงานสถาบันทางการเมืองของพรรคประชาชาติ เพราะคงไม่ได้จัดครั้งนี้ครั้งเดียว เพราะเราจะมาพบกันบ่อยๆ เพราะสิ่งหนึ่งประชาชนที่นั่งในที่นี้กับ ส.ส. หรือกับหน้าพรรค กับผมนี้ต้องรับรู้เรื่องการเมืองเท่าๆ กัน แล้วพวกเราก็ช่วยกันมาออกแบบว่า ภาพในอนาคตของเรา ภาพของอนาคตลูกหลานเรา ภาพในอนาคตของคนไทยทั้งประเทศ จะเป็นอย่างไร ? โดยผ่านทางช่องทางการเมือง แต่สิ่งที่เดินมาแน่นอน ก็คือ เขาบอกว่าอดีตคือบทเรียน ปัจจุบันและอนาคตคือความรับผิดชอบ 

.

อดีตเรามีบทเรียนมาแล้ววันนี้ แล้วในทางการเมืองต้องยอมรับว่า พี่น้องในสามจังหวัด เรามีความตื่นตัวทางการเมืองค่อนข้างสูง ถ้าไม่ตื่นตัวสูงนี้พรรคประชาชาติไม่ได้ ส.ส. มากที่สุดในสามจังหวัดนะครับ เพราะสิ่งที่พรรคประชาชาติได้นำเสนอได้จัดการแก้ปัญหานั้น เป็นปัญหาของประชาชนจริงๆ นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญที่พวกเราในที่นี้ไม่รับรัฐธรรมนูญปี’60 ไม่ว่าจะเป็นโยบายต่างๆ จนทำให้ใน 11 เขต เราได้มา 6 เขต แต่เวลาเดินทางมาอีก 8 เดือน ที่รัฐบาลนี้จะครบ 4 ปี เพราะการเลือกตั้งคราวที่แล้ว มันเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562

.

4 ปี ก็ 24 มีนาคม 2566 ถ้านับจากวันนี้ไปก็เหลืออีก 8 เดือน พรรคประชาชาติเราเกิดขึ้นอย่างน้อยที่สุด เราไม่โกหกตัวเอง เราเกิดขึ้นในการเป็นพรรคของภาคใต้ และกำเนิดจริงๆอาจอยู่ในสามจังหวัดด้วยซ้ำ แต่เราเป็นพรรคที่รู้ดีเรื่องภาคใต้ และปัญหาของคนไทยทั้งประเทศ พรรคจะใหญ่ได้จะต้องใหญ่ในเชิงนโยบาย ต้องใหญ่เชิงอุดมการณ์ ว่าจะเอาพวกเราไปสู่การอยู่ดีมีสุขได้อย่างไร ?

ในช่วงบ่าย เป็นการจัดเสวนาเรื่อง  “เราทำหน้าที่เพื่อทุกคน  และจะทำต่อไป” โดย นายซูการ์โน มะทา​​ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา เขต 2 , นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์​สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี เขต 4 , นายกูเฮง ยาวอหะซัน​ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส เขต 3 , นายอับดุลอายี   สาแม็ง​สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา เขต 3 , นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ​สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส เขต 4 และมี อาจารย์ ซัยนูรดีน นิมา จาก คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา​ โดยในช่วงท้ายของการอบรม มีพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณ สำหรับผู้ที่เข้ารับการอบรมด้วย