วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564

คอนราดฯ-สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดเสวนาหลักรัฐธรรมนูญในปี2021 :ความท้าทายและแนวโน้ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิคอนราด-อเดนาวร์ (KAS) นำโดย Dr. Céline-Agathe Caro ผู้แทนมูลนิธิคอนราดประจำประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) โดย ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ จัดงานเสวนาวิชาการแบบออนไลน์ ในประเด็น "หลักรัฐธรรมนูญในปี2021 : ความท้าทายและแนวโน้ม” เพื่อหาคำตอบว่าอะไรคือความท้าทายและแนวโน้มของรัฐธรรมนูญในอนาคต? โดยมีผู้ร่วมงานประมาณ 220 คน 



ทั้งนี้ ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ ในนามสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าว เชิญชวนทุกท่านให้มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมิติของภาพกว้าง เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้มีแค่มิติของการแก้ระบบการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมิติอื่นๆที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมการเลือกตั้งท้องถิ่น การยึดโยงกับประชาชน และบทบาทของรัฐธรรมนูญที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเป็นพลเมืองประชาธิปไตย 

ทางด้าน ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมแสดงทัศนะ โดยระบุว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะต้องมีหลักนิติรัฐ และต้องยึดหลักรัฐธรรมนูญนิยม บทบาทรัฐธรรมนูญในต่างประเทศนั้น รัฐธรรมนูญมีทั้งการตรวจสอบถ่วงดุลย์อำนาจและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าเราจะเข้าใจรัฐธรรมนูญต้องรู้หลักรัฐธรรมนูญนิยมก่อน รัฐธรรมนูญต้องทำเพื่อประชาชน และออกแบบองค์กรต่างๆเพื่อให้ใช้อำนาจแทนประชาชน

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย ว่า อยากให้มองรัฐธรรมนูญทั้งส่วนของเนื้อหาและกระบวนการ เวลาเราพูดถึงรัฐธรรมนูญ หลายคนมองว่ารัฐธรรมนูญไทยอายุสั้น เฉลี่ยฉบับละ 4 ปีครึ่ง ขณะที่ทั้งโลกรัฐธรรมนูญมีอายุเฉลี่ย 17 ปี รัฐธรรมนูญยิ่งมีส่วนร่วมกับประชาชนมากเท่าไหร่ รัฐธรรมนูญนั้นจะยิ่งมีความชอบธรรมมากขึ้น และรัฐธรรมนูญจะอายุยืนยาวขึ้น รัฐธรรมนูญที่ดี จะต้องตอบโจทย์และแก้ปัญหาของประเทศนั้นๆได้

ผศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า "พลเมือง" ไม่จำกัดกรอบแค่เรื่องของรัฐธรรมนูญ หรือการเป็นพลเมืองไทยหรือพลเมือง 4.0 แต่เราต้องไปให้ถึง GLOBAL CITIZEN หรือ พลเมืองโลก ที่ไม่มีพรมแดน และไม่ใช่แค่ความคิดเชิงรัฐธรรมนูญที่มองพลเมืองเป็นแค่ปลายทาง เพราะพลเมืองเกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐต้องเชื่อในการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน อันนี้ถึงตอบโจทย์ของประเทศ ตัวอย่างในพื้นที่เช่น กรณีหมอกควันไฟป่าเคยใช้การออกกฎหมายหรืออิงกับกฎของส่วนกลางกลับไม่ได้ผล แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นเรื่องการบริหารจัดการร่วมกันของคนในพื้นที่ กลับแก้ปัญหาได้ดีขึ้น นี่พิสูจน์ได้ว่าพลเมืองไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่ประชาชนต้องเห็นว่าปัญหาเกี่ยวข้องกับตัวเขาเอง จึงจะนำมาสู่การออกแบบรัฐธรรมนูญในฐานะเครื่องมือในการแก้ปัญหา

ผศ.ชาญณวุฒิ ไชยรักษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ชี้ว่า จากวิกฤติโควิด ทำให้เราเห็นถึงบทบาทของราชการส่วนภูมิภาคในการบริหารสถานการณ์แบบ Area based (เชิงพื้นที่)มากขึ้น เราจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญมีส่วนส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายมากขึ้น อย่างที่ต่างประเทศมี Social enterprise รวมถึงการพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในมิติการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็ว เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญสัมพันธ์กับการออกแบบนโยบายของพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญตั่งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ทำให้พรรคการเมืองต่างปรับใช้นโยบายประชานิยมตามแบบพรรคไทยรักไทย แต่ไม่ใช่ทุกพรรคที่มีนโยบายประชานิยมแล้วจะถูกใจประชาชน แม้ว่า พลเอกประยุทธ์จะเคยวิพากษ์วิจารณ์โครงการประชานิยมของรัฐบาลก่อนรัฐประหาร แต่หลังรัฐประหาร พรรคพลังประชารัฐ กลับมีนโยบายประชานิยมเสียเอง เพื่อให้สังคมยอมรับ ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ยั่งยืนจะต้องส่งเสริมการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ต้องแก้ปัญหาสวัสดิการของประชาชน รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจด้วย

ขณะที่ ผศ.เชิงชาญ จงสมชัย จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เชิญชวนให้ทุกคนมองมิติของการแก้รัฐธรรมนูญ ในส่วนของความหมายของการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมที่แท้จริง พร้อมย้ำว่ารัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมจากประชาชนจะช่วยให้แก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น