วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2566

"ประชาชาติ" ส่ง "อับดุลอายี สาแม็ง" ประชันวิสัยทัศน์ นโยบายพรรคการเมือง ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากห้องประชุม ดร.สมศักดิ์ และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ชั้น 2 อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) นายอับดุลอายี สาแม็ง ผู้สมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา เขต 3 พรรคประชาชาติ หมายเลข 10 ร่วมประชันวิสัยทัศน์ “รวมพลังขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ : จับตา นโยบายพรรคการเมือง ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง” จัดโดย เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค ประกอบด้วย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เครือข่ายองค์กรชุมชนด้านสวัสดิการชุมชน กลุ่มองค์กรชุมชนด้านเศรษฐกิจฐานราก และเครือข่ายองค์กรชุมชนด้านการป้องกันและต่อต้านการทุจริต โดยมีนักศึกษา และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นจำนวนมาก

นายอับดุลอายี สาแม็ง ผู้สมัคร ส.ส.ยะลาเขต 3 พรรคประชาชาติ ในฐานะตัวแทนของพรรค กล่าวว่า การส่งเสริมชุมชนให้เข้มแข็ง เป็นเรื่องที่พูดกันมานานเป็นสิบๆ ปี แต่สำหรับภาคใต้โดยเฉพาะชายแดนใต้สุด 3 จังหวัด 4 อำเภอที่มีปัญหามาโดยตลอดนั้น เป็นเรื่องของส่วนเกิน 

“ผมดูวิธีการบริหารจัดการที่ผ่านมา ศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วก็กวาดรัศมีไปถึงเชียงใหม่ ก็ประมาณ 700-800 กิโลฯ เมื่อกวาดวงเวียนเสร็จเรียบร้อยแค่นครศรีธรรมราช หลุดจากนั้นไปเป็นเรื่องของส่วนที่มันเกินรัศมีจากวงเวียน เหตุที่ผมพูดแบบนี้ก็เนื่องจากว่า มันมีโครงสร้างที่มาจัดตั้งระบบของการปกครอง ก็คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.เกิดขึ้นมาอีก 1 องค์กรใหญ่ที่มาดูแลประเทศ”

“ตรงนี้ถ้าเรามีโอกาส เราก็อยากจะเสนอนโยบายหลักอย่างแรกเลยก็คือว่าจะต้องมาปรับโครงสร้างตัวนี้ใหม่ อย่างเช่น ขณะนี้ ศอ.บต. ผมดูๆ แล้วก็มาเป็นประเทศเล็กๆ มาอยู่ในประเทศใหญ่ ประเทศใหญ่ก็คือประเทศไทยทั้งหมด แต่ว่าใน 4–5 จังหวัดภาคใต้ ก็มีประเทศเล็กๆ แต่ระบบการปกครองนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง”

“นี่เราพยายามเข้าสู่ระบบประชาธิปไตย จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่ในขณะเดียวกันประเทศเล็กที่ผมว่า มันเป็นลักษณะของการใช้อำนาจรัฐที่สมบูรณ์แบบอยู่ อย่างเช่น ใช้อำนาจของ กอ.รมน. ใช้อำนาจทหาร โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีกฎหมายอีก 2 -3 ฉบับ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎหมายพิเศษอื่นอีก แล้วก็เพิ่มเป็นคำสั่งของ กอ.รมน. ที่อยู่ในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดด้วยซ้ำไป”

“ถ้าจะมาส่งเสริมชุมชนให้เข้มแข็ง ผมว่าอันดับต้น พรรคประชาชาติจะต้องมาปรับโครงสร้างตัวนี้ใหม่ โดยจะต้องการลดทอนเรื่องของ พ.ร.บ.ที่มันเกี่ยวข้อง ความหมายของผมตรงนี้ก็คือว่า ต้องการให้มีความเสมอภาคทั้งประเทศเสียก่อน มิฉะนั้นชุมชนที่อยู่นอกเหนือจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อาจจะมีโอกาสมาก แต่ว่า 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโอกาสน้อยลง เนื่องจากว่ายังมีกฎหมายลักษณะอย่างนี้เป็นตัวขวางอยู่ การเสนอเบื้องต้นคือว่าเราจะทำอย่างไรให้ พ.ร.ก. , พ.ร.บ.ที่มันใช้อยู่ในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปลดออกไปก่อน แล้วก็ให้เสมอเหมือนทุกภูมิภาคของประเทศนี้  นี่คือสิ่งที่เกิดเป็นเบื้องต้น” 

“สิ่งที่มันเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ชุมชนอาจจะมีปัญหามาโดยตลอด อย่างเช่น ที่พูดถึงกันอยู่เสมอว่าเราจะลดค่าไฟ เราจะลดค่าน้ำมัน เราจะลดค่าแก๊สหุงต้ม อะไรต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถามว่ามีเองไหม เราก็มีในเขตพื้นที่ของภาคใต้ ถ้าเช่นนั้นวิธีการที่จะไปทำเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล อย่างเป็นธรรม เป็นสิ่งที่จำเป็นตามมา”

“อย่างเช่นว่า เรามีแก๊สธรรมชาติอยู่ในทะเล ในกลุ่มของ JDA ที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคใต้ แล้วก็เชื่อมโยงไปกับประเทศมาเลเซีย เหล่านี้ถามว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไร แล้วก็ถามว่าสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ ณ ขณะนี้ ผลการผลิต ผลการขุดเจาะแก๊สธรรมชาติออกมาเพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างไร” 

“ผมก็มองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องการบริหารประเทศให้เกิดความมั่นคง ความเสมอภาคต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีความรู้ แต่ 3 จังหวัด 4 อำเภอที่มันมีปัญหามาโดยตลอด ก็คือระดับการศึกษาก็แย่กว่าที่อื่นในประเทศไทย เรื่องเศรษฐกิจปากท้องเราก็แย่กว่าที่อื่นในประเทศไทย ถามว่าเราจะกำหนดนโยบายว่าอย่างไร”

“คนภาคใต้ทั้งหมด 14 จังหวัดก็มียางพารา เรากำหนดไว้แล้วรอบต่อไปเราจะกำหนดราคายางไปเลย 80 บาท อย่างน้อยเป็นเรื่องของการเสริมรายได้ให้กับชุมชนที่จะมีมากขึ้น แต่เราก็มีปัญหามาโดยตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็มีโรคเชื้อราใบยางร่วงที่เกิดขึ้น เราเสียหายไป 3-4 แสนล้าน รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เอาใจใส่ ไม่ดูแล ไม่ไปทำอะไรเลย ต่อไปพรรคประชาชาติก็จะไม่ทอดทิ้ง ก็จะไม่ละเลยสิ่งที่เป็นปัจจัยหลักในเรื่องการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน เราจะต้องทำเร็วที่สุด อาจจะไม่ถึง 6 เดือนด้วยซ้ำไป”

นายอับดุลอายี ยังได้ตอบคำถามจากเครือข่ายองค์กรชุมชนว่า “จากคำถามความจริงผมอยู่ใต้จะตอบแทนคนอีสามก็ยากหน่อย แต่ว่าโดยหลักการแล้ว อย่างเช่นว่า กรณีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของน้ำ ผมดูแล้วมันไม่ใช่ประเด็นหลักสำคัญ แต่วิธีคิดก็คือ ตั้งความหวังไปที่ระบบของชลประทาน ระบบชลประทานก็คือง่าย เพิ่มจำนวนฝายให้มาก เพิ่มการเก็บกักน้ำลำธารคูคลองต่างๆ ตรงนี้มันเป็นโดยธรรมชาติ เมื่อน้ำเก็บกักได้นาน ก็เกิดการซึมผ่านใต้ดิน แล้วก็จะไปเกิดอีกจุดหนึ่ง เพิ่มปริมาณน้ำที่อยู่ใต้ดินมากขึ้น”


“การที่จะทำแหล่งน้ำให้กับทุกคนทุกหมู่บ้านมันอาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าโดยธรรมชาติแล้วเนื่องจากว่าปริมาณน้ำที่อยู่ตามลำธารคูคลองต่างๆ มันมากขึ้น และก็อยู่อย่างยั่งยืนแล้ว น้ำก็จะซึมผ่านไปยังอีกหลายๆ จุด จะเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดินมากขึ้น จะเกิดเป็นเรื่องของการดำเนินการในการใช้น้ำต่อไป ในเรื่องนี้ผมเคยอยู่ท้องถิ่นมากก่อน ผมก็ทำเรื่องนี้แล้วก็เกิดเป็นประเด็นผลประโยชน์ในการใช้น้ำมากขึ้นจริงๆ”

“เรื่องที่ 2 ที่ว่าอยู่ตามชายแดนคนงานจะทะลัก ผมอยู่ทางใต้ก็มีปัญหาเดียวกัน อย่างเช่นที่ อ.เบตง จ.ยะลา แต่เนื่องจากว่าความสมดุลเรื่องการใช้แรงงานระหว่างประเทศของมาเลเซียกับไทยก็ยังมีความสมดุลกันได้อยู่ คือคนมาเลเซียจะไม่ค่อยได้เข้ามาในประเทศไทยสักเท่าไหร่ แต่จะมีคนจากพม่า เขมร  ที่ผ่านมาเลเซียแล้วเข้ามาประเทศไทย ก็ใช้มาตรการร่วมระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อเข้ามากำกับดูแลปริมาณแรงงานต่างชาติที่เข้าทะลักมาประเทศไทย ซึ่งเราก็ทำได้ผลอยู่ในระดับหนึ่ง”

“ในเรื่องการสนับสนุนให้ตั้งองค์กรสภาชุมชนเข้มแข็งอย่างไรนั้น ผมเห็นว่าที่ผ่านมาเราก็พยายามส่งเสริมให้มีวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา เราก็ต้องมีการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้มากขึ้น ให้เกิดสภาพคล่องให้มีทุนหมุนเวียน อย่างที่หลายๆ พรรคก็มีการสนับสนุนนโยบายตรงนี้ พรรคประชาชาติก็เหมือนกัน ถึงจะเป็นพรรคเล็กๆ แต่เราจะมองอีกด้านหนึ่ง แหล่งลงทุนจะไม่ได้คาดหวังที่งบประมาณโดยลำพัง เราอาจจะต้องมีการจัดสรรที่ว่า ตอนต้นมีทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถทำเป็นเงิน ทำเป็นประโยชน์มาได้ เอาทรัพยากรธรรมชาติตั้งเป็นกองทุน 2 ระบบ เป็นกองทุนวิสาหกิจชุมชน และกองทุนของระบบการศึกษา เพื่อที่จะได้มาดำเนินการให้เกิดการขับเคลื่อนของวิสาหกิจเพื่อให้โตขึ้นในภาคเศรษฐกิจฐานรากของประเทศของเราต่อไป” 

“ส่วนเรื่องของความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการใช้ที่ดิน เป็นเรื่องที่เกิดการทับซ้อนจากประกาศพื้นที่ป่า เช่น เขตป่าไม้ เขตอุทยาน ไปทับซ้อนในที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนอยู่เดิม เหล่านี้ต้องไปสำรวจแล้วก็ไปดำเนินการใหม่ แล้วอาจจะมีการจัดสรรที่ดินให้เป็นของตนเอง นโยบายของเราคือต้องการให้ทุกคนมีที่ทำกินเป็นของตนเอง ไม่น้อยกว่า 20 ไร่”







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น