วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566

"ทวี" แนะรอ “SEA:สงขลา-ปัตตานี” ชะลอให้ประทานบัตรเหมืองหินสายบุรี

จากกรณี เครือข่ายประชาชนพิทักษ์เขาเตราะปลิง รวมตัวคัดค้านโครงการขอประทานบัตรเหมืองหินแกรนิต และบุกล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ที่เทศบาลตำบลเตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสำนักงานอุตสาหกรรมประจำจังหวัดปัตตานี และ บริษัท อิบนู อัฟฟานแกรนิต กรุ๊ป จำกัด โดยอ้างเหตุผลว่าไม่เปิดให้ประชาชนกลุ่มคัดค้านการขอประทานบัตรเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยนั้น


ล่าสุด สื่อมวลชนได้สอบถามเรื่องนี้มายัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ส่วนตัวขอให้กำลังใจประชาชน และขอเรียนว่าจุดยืนส่วนตัวให้ความสำคัญระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม การพัฒนาต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนรวม ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และต้องคำนึงถึงความยั่งยืน

การจัดทำโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ จะต้องมี “การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (Strategic Environmental Assessment) หรือ SEA ก่อน

.

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า กรณีพื้นที่ปัตตานีนั้น มีโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี SEA:สงขลา-ปัตตานี ที่เป็นผลมาจากการรุกขึ้นสู้ของ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ได้คัดค้านและชุมนุมเรียกร้องโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อปี 2564-2565 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลต้องชะลอโครงการ และต้องทำผลประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เสียก่อน

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.65 รัฐบาลให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลงนามสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในการจัดทำ SEA “แผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี” วงเงินค่าจ้าง 28.22 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษานาน 18 เดือน หรือแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567

.

ขณะที่การจัดทำ SEA ครั้งนี้ จะมีการจัดเวทีประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรวม 40 เวที และมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 3,000 คน แบ่งเป็นปี 2566 จำนวน 32 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 2,100 คน และปี 2567 จำนวน 8 เวที ผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 900 คน

.

จากการติดตามทราบว่ามีการประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27-29 พ.ค.66 จัดขึ้นที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งถือว่าทุกอย่างดำเนินการไปตามครรลองที่ควรจะเป็น

“จุดยืนส่วนตัว การทำโครงการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ต้องรอผลการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี หรือ SEA:สงขลา-ปัตตานี ให้เสร็จก่อน เพราะ SEA ครอบคลุมทั้ง 3 ด้านของการพัฒนา ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากแผนหรือแผนงานที่ไม่ยั่งยืน และที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียหรือเสื่อมสภาพของสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ หรืออาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณในการพัฒนาประเทศ” พ.ต.อ.ทวี กล่าวในที่สุด

.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น