วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559
“เพื่อไทย” ติงไทยแพ้โหวตUNSC เหตุสอบตกสิทธิมนุษยชน
29 มิถุนายน 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ผลการเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council : UNSC) สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สอบตกในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนในสายตาประชาคมโลก ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีปัญหาการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และมีการดำเนินคดีบุคคลที่คิดต่างจำนวนมาก จนอาจส่งผลให้ประเทศไทยแพ้โหวต ทั้งๆ ที่ไทยทุ่มเทหาเสียงมานาน 4 ปี ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แถมไทยเรายังได้เปรียบคู่แข่ง คือ คาซัคสถาน ตรงที่ประเทศไทยเคยเป็นสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงฯ มาก่อน และมีผลงานโดดเด่นในการสนับสนุนภารกิจขององค์การสหประชาชาติมาโดยตลอด ในขณะที่ คาซัคสถาน เพิ่งลงสมัครเป็นครั้งแรก ทั้งยังเพิ่งเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติหลังไทยตั้ง 50-60 ปี
"นักวิเคราะห์ และสื่อมวลชนต่างประเทศ ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ไทยแพ้โหวต เป็นเพราะไทยมีการรัฐประหารบ่อยครั้ง และมีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจไม่ส่งผลดีต่อการทำหน้าที่สร้างความมั่นคง และส่งเสริมสันติภาพในทวีปยุโรปและเอเชีย ในขณะที่ คาซัคสถาน มีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าไทย นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังออกมาเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ นำประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาประกอบการพิจารณาลงคะแนนให้ประเทศไทย ในการเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงฯ ครั้งนี้ด้วย"
ร.ท.หญิง สุณิสา ระบุว่า "น่าสังเกตว่าคะแนนโหวตของไทยลดลงราว 30% จากเดิมมีเสียงสนับสนุนจาก 77 ประเทศ ในการโหวตรอบแรก เหลือเพียง 55 ประเทศ ในการโหวตรอบสอง และที่สำคัญ ยังมีกระแสข่าวว่าคาซัคสถานได้รับการสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย ทั้งๆ ที่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พยายามเอาอกเอาใจ จีน และ รัสเซีย มาตลอด ซึ่งสะท้อนว่ายุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลอาจมีข้อบกพร่อง และไม่ได้ช่วยให้ไทยมีสถานภาพที่ดีขึ้นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเตรียมตอบคำถามเหล่านี้ ทั้งต่อคนไทยและสังคมโลก ว่าประเมินตัวเองอย่างไร เหตุใดจึงแพ้โหวต นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้นในเรื่องการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยดูดีขึ้นในสายตาชาวโลก"
"ทั้งนี้ ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทยที่กำลังจะมีขึ้น รัฐบาลไม่ควรสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในการแสดงความเห็นเรื่องประชามติ เพราะประชาคมโลกกำลังจับตามองเราอยู่ ขอให้ดูตัวอย่างการลงประชามติในประเทศอังกฤษ ที่ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับข้อมูลสองด้าน เพราะประชาชนควรต้องได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนมากที่สุด ก่อนจะตัดสินใจในเรื่องอนาคตของประเทศ ส่วนจะโหวตอย่างไร ก็ปล่อยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ก็ไม่ยึดติดกับอำนาจ ยอมลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ทำให้ผู้นำของเขามีความสง่างามทางการเมือง และได้รับการชื่นชมจากผู้คนทั่วโลกที่ไม่ยึดติดเก้าอี้" ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น