วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563

"วัฒนรักษ์" ส่งสัญญาณเตือนรัฐ เร่งแก้วิกฤตเศรษฐกิจ


ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษ และหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า "จากการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ออกมาประกาศ คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ว่าจะติดลบร้อยละ 5.5 และ บมจ.หลักทรัพย์ภัทร ได้ออกประกาศว่า GDP ไทยปีนี้จะติดลบถึงร้อยละ 9 ซึ่งเป็นตัวเลขติดลบที่สูงสุดที่สุดในรอบ 20 ปี นอกจากภาวะเงินฝืดแล้ว ประชาชนก็ยังไม่มีเงินจะจับจายใช้สอย ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรที่จะปรับคณะรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจด่วน  ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยต้องพึงระวัง ในเรื่องของการตกต่ำทางเศรษฐกิจ (Economic Recession)  ซึ่งหากปล่อยให้เกิดการภาวะ Economic Recession อย่างต่อเนื่อง จนถึงภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำจนถึงขั้นสุด จะส่งผลให้การแก้ไขฟื้นฟูให้กลับมาสู่ สภาวะปกตินั้นจะทำได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลไม่สามารถทำได้ ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นที่กล่าวมาแล้วประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างไร?"

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า "จากสถิติของ ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ มีการประชุมกันเพียงแค่เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ รัฐบาลควรจัดให้มีการประชุมกันอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างทันสมัยและเหมาะสมทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ และในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่ควรเปลี่ยนเฉพาะ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการคลังเท่านั้น แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ฯ ควรจะมีการปรับทั้งครม.ด้านเศรษฐกิจ ถึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด โดยต้องพิจารณาให้มีการเปลี่ยนในหลายส่วนเพื่อเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่องสัมพันธ์และทันท่วงที อาทิเช่น  รมว.พาณิชย์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา, รมว.อุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม, รมว.เกษตรและสหกรณ์, รมว.คมนาคม รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, รมว.พลังงาน, รมว.มหาดไทย, รมว.แรงงาน, รมว.อุตสาหกรรม และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อมั่นว่าตนเองมีความเป็นผู้นำสูง (Leader) ก็ควรที่จะมีการจัดหาผู้จัดการ (Manager) ที่มีความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหา เพื่อบริหารจัดการให้เกิดผลกระทบด้านลบให้น้อยที่สุด และหาแนวทางในการสร้างกำไรจากทรัพยากรที่มีอยู่ให้มากที่สุด เพราะทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสแทรกอยู่เสมอ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น