วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

"แซนด์-ชยิกา" ห่วงวิกฤตโควิด ติงรัฐฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้า

ที่พรรคเพื่อไทย จัดงานเสวนาออนไลน์เรื่อง การบริหารวิกฤตโควิด-19 และสภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทย นำโดยนางนลินี ทวีสิน ประธานคณะทำงานต่างประเทศ พร้อมกับแกนนำพรรคเข้าร่วม ได้แก่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง และอดีต รมว.พาณิชย์ รวมทั้ง นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ โดยบรรยากาศการเสวนามีผู้เข้าชมผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมชม และผู้สื่อข่าวต่างประเทศตั้งคำถามกับผู้ร่วมเสวนาด้วย 

นางสาวชยิกา กล่าวว่า "แผนวัคซีนคือกุญแจสู่การปลดล๊อคประเทศจากวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ หากแผนฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้า ไม่หลากหลาย และเพียงพอ ก็จะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าไทยกำลังประสบอีกปัญหา คือรัฐบาลบริหารล้มเหลว เศรษฐกิจอาจใช้เวลาฟื้นตัวถึง 4 ปี รัฐต้องแสดงภาวะผู้นำ รับฟังเสียงประชาชนก่อนจะสายเกินแก้ค่ะ"

ทางด้าน นางนลินี กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และมีความกังวลอย่างมาก 3 ประเด็นคือ 1.การจัดลำดับความสำคัญและประสิทธิภาพในการจัดการกับโรคระบาด 2.วิธีการจัดสรรและกระจายทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาและฟื้นฟูประเทศชาติ 3.ความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาล จึงจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาการบริหารจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล 

ขณะที่นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน จีดีพีมีอัตราการเติบโตที่ช้ากว่าหนี้สาธารณะแม้ก่อนการระบาด การว่างงานสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด จุดอ่อนของการคลังคือหนี้สาธารณะที่สูงจนเกือบชนเพดาน ฐานะการคลังอ่อนแอจนเสี่ยงเข้าสู่วงจรอุบาทว์  หากรัฐยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดและยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงได้ เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อย 4 ปี ซึ่งเป็นเวลาหลังจากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป และมีรัฐบาลใหม่ที่เข้าใจวิธีแก้ปัญหา ทั้งนี้เพื่อไทยเสนอให้รัฐบาลคิดนอกกรอบและไม่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมเดิม ๆ เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างได้ผลทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังที่เกื้อหนุนกัน กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การแก้ไขกฎระเบียบ และการแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน และ ภาครัฐ-ประชาชน 

กรณีมีผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการรายย่อยกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไม่ได้นำประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ดังจะเห็นได้จาก พรก.เงินกู้ 5 แสนล้านที่กำลังอภิปรายอยู่ในสภาไม่ได้มีการใช้งบประมาณเพื่อแก้วิกฤตโควิดที่รากเหง้าอย่างเพียงพอ สำหรับมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจรัฐบาลควรพิจารณาให้ “เงินกู้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย” เมื่อถึงมือภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยผู้รับภาระคือธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ แทนมาตรการทางการคลังที่กำลังอ่อนแอ และไม่มีประสิทธิภาพอย่างในปัจจุบัน พร้อมลดภาระภาษีเพื่อให้ประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แม้รัฐจะมีรายได้รวมลดลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น