วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564

"คอนราดฯ-ไอดีเอส" เสวนานโยบายการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศของไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิคอนราด-อเดนาวร์ (KAS) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) โดย ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ จัดงานเสวนาวิชาการแบบออนไลน์ ในประเด็น "นโยบายการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศของไทย" โดยมีวิทยากรจากหลากหลายมิติ คุณนภาจรีย์ จิวนันทประวัติ ผู้จัดการอาวุโสด้านโครงการมูลนิธิคอนราด-อเดนาวร์ ดร.ธีรรัตน์ สาเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ และเลขานุการกรรมาธิการการต่างประเทศ ดร.อันธิกา ปรียานนท์ เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก สำนักงานสหประชาชาติ (UN ESCAP) กรุงเทพฯ ดร.จุฑามณี สามัคคีนิชย์ และ ผศ.ชาญณวุฒ ไชยรักษา อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และ รัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ ในนามสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้ เป็นความมุ่งหมายของทาง มูลนิธิคอนราด-อเดนาวร์ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย และ คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมิติความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมไปถึงนโยบายการพัฒนาระหว่างประเทศที่เป็นความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของสหภาพยุโรป บทบาทของสหประชาชาติ UN ที่มีต่อการพัฒนาประเทศต่างๆ การดำรงอยู่ของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันนี้ ไม่สามารถแยกออกจากความเป็นประชาคมโลก และ พลเมืองโลกได้  โดยเฉพาะหลังยุค Globalization เป็นต้นมาทำให้ประเทศต่างๆ เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนทั้งสินค้าทรัพยากร การเคลื่อนย้ายของประชากรต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆเกิดความท้าทายใหม่ๆขึ้น ซึ่งความท้าทายเหล่านั้นที่เรียกว่า Global Problems จำเป็นที่ต้องแก้ไขโดยบริบทของการเมืองระหว่างประเทศ เป็นทางออกของประชาคมโลก หรือ Global Solution สำหรับหลายๆประเทศที่ต้องมาขบคิดแสวงหาทางออกร่วมกัน การจัดงานในวันนี้ เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมองด้านต่างๆ ว่าบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในการบรรลุภารกิจเพื่อแก้ไขปัญหาของมวลมนุษยชาติ การแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศด้วยกัน มีการขับเคลื่อนในมิติต่างๆอย่างไรบ้างครับ

ทั้งนี้ ดร.ธีรรัตน์ สาเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ และเลขานุการกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมแสดงทัศนะ โดยกล่าวถึงบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในกิจการต่างประเทศเอาไว้ 3 ข้อหลักๆ ได้แก่ (1.) การพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เนื่องจากความร่วมมือไม่ว่าจะเป็นสนธิสัญญา การติดต่อการค้า หรือการลงทุน ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศทั้งสิ้น นอกจากนี้การช่วยเหลือคนไทยที่ประสบปัญหาในประเด็นต่างๆในต่างประเทศ มีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศนั้นๆ ดังนั้นความสัมพันธ์ที่ดีของประเทศไทยกับนานาประเทศจึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของ Covid-19 ที่มีประเด็นที่ละเอียดซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น ประเด็นในด้านการ Quarantine ก่อนการเดินทาง หรือการช่วยเหลือนักเรียนไทยหรือแรงงานไทยที่ติดค้างอยู่ต่างประเทศ และปัญหาการเรียกร้องความเป็นธรรมในบริเวณเขตชายแดน เป็นต้น ทำให้บทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยิ่งทวีความสำคัญยิ่งขึ้นไป (2.) การเสนอแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานช่วยเหลือประชาชน หรือการเชิญเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศมาให้ข้อมูลเพื่อหาทางช่วยเหลือ รวมถึงการหางบประมาณมาใช้ในการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินต่างๆ เป็นต้น และ (3.) การแสดงจุดยืนในฐานะพลเมืองโลก ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่รวมถึงประเด็นในระดับระหว่างประเทศด้วย โดยมีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การแสดงจุดยืนให้ประเทศพม่าหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน เป็นต้น (4.) การเสริมสร้างความเข้มแข็ง หรือการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง หรือกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง (5.) การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประชาคมอาเซียน เนื่องจากปัญหาภายในประเทศหลักๆมาจากการที่ประเทศไทยขาดความมั่นคงทางการเมือง ทำให้ความสัมพันธ์กับต่างประเทศถดถอย เพราะสูญเสียความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ โดยมีสาเหตุมาจากการไม่เคารพสิทธิและเสรีภาพ หรือสิทธิมนุษยชน หรือหลักการสากลต่างๆ เป็นต้น บทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงมีความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดร.ธีรรัตน์ ได้กล่าวด้วยว่า “วิสัยทัศน์หรือภาวะผู้นำของผู้นำประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญและมีผลต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย”

ทางด้าน คุณนภาจรีย์ จิวนันทประวัติ ผู้จัดการอาวุโสด้านโครงการมูลนิธิคอนราด-อเดนาวร์ กล่าวว่า ได้อธิบายว่าชื่อมูลนิธิมาจากชื่อของนายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany) เนื่องจากผู้ร่วมก่อตั้งมีความประทับใจในแนวทางการบริหารงานของท่าน ที่ทำให้เกิดความมั่นคงทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศเยอรมัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งคือ การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ (Liberty) ความเสมอภาค (Equality) และภราดรภาพ (Fraternity) ของคนในเยอรมันและคนทั่วโลก เนื่องจากมูลนิธิฯมีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย (Democracy) โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy) เพราะเป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม (Participation) มูลนิธิฯจึงได้มีสาขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเป็นส่วนใหญ่ ในประเทศไทยมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจ โดยได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ของรัฐสภาด้วย นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯยังเชื่ออีกว่าความยุติธรรม (Justice) จะสามารถลดความขัดแย้งได้ จึงได้พัฒนาส่งเสริมหลักนิติธรรม (Rule of Law) ของประเทศไทยมาโดยตลอด ทั้งในด้านระบบและด้านบุคลากร ตลอดจนการพัฒนากฎหมาย โดยวิทยากรให้ความเห็นว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่พัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ตามความเหมาะสมและความต้องการของประชาชน

ขณะที่ ดร.อันธิกา ปรียานนท์ เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก สำนักงานสหประชาชาติ (UN ESCAP) กรุงเทพฯ ได้ร่วมแสดงทัศนะโดยระบุว่า UN ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยประเทศผู้ก่อตั้งเริ่มแรก 51 ประเทศ ซึ่งได้มีการออกกฎบัตรสหประชาชาติ (Charter of the United Nations) อันเป็นข้อตกลงที่บรรดาประเทศผู้ก่อตั้งและร่วมเป็นสมาชิก UN ได้ให้สัตยาบันเข้าผูกพัน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และหลักการ ตลอดจนวิธีการดำเนินงานต่างๆของ UN ถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศและสัญลักษณ์การเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการของ UN ปัจจุบัน UN มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ นับรวมประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ปี 1946 หน่วยงานที่เป็นฟันเฟืองหลักของ UN ในงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relation) คือ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (General Assembly: GA) หลักการคือ ประเทศสมาชิกทุกประเทศจะเข้าประชุมที่ GA โดยแต่ละประเทศจะมี 1 เสียง (Vote) เท่าเทียมกัน ซึ่งประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศสมาชิก UN และพยายามให้ได้รับการยอมรับเสมอมา และนอกจากนี้ มีอีกหนึ่งหน่วยงานที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (The United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UN-ESCAP) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างสันติภาพและความมั่นคงของโลก UN-ESCAP ถือเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ใหญ่ที่สุดของ UN เนื่องจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีประชากรถึง 4.1 พันล้านคน หรือ 2 ใน 3 ของประชากรโลก อย่างไรก็ดีประเทศไทยก็พยายามเป็นสมาชิกที่ดีและกระตือรือร้นในเวที UN-ESCAP เสมอมาเช่นเดียวกันกับเวทีอื่นๆของ UN นอกจากนี้สำนักงานใหญ่ของ UN-ESCAP ก็ตั้งอยู่ที่ประเทศไทยด้วย ทำให้เกิดประโยชน์ในมิติต่างๆตามมามากมาย หนึ่งในประโยชน์ที่ประเทศไทยรวมถึงประเทศเล็กๆอื่นๆได้รับจาก UN หรือ UN-ESCAP ก็คือ สามารถหลีกเลี่ยงการเจรจาที่มีลักษณะเป็นแบบฝั่งหนึ่งได้ประโยชน์อีกฝั่งหนึ่งเสียประโยชน์ได้ (Zero-sum Game) นับเป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนามากยิ่งขึ้น รวมถึงโอกาสในการได้รับการสนับสนุนหรือความร่วมมือจากนานาประเทศด้วยในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมนานาชาติ (International Society) อีกหนึ่งผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการเป็นสมาชิก UN หรือ UN-ESCAP คือ การได้รับการยอมรับจากสังคมโลก หรือภาพพจน์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาประชาโลก นอกจากนี้ยังได้บุคลากรที่มีความรู้ในระดับผู้เชี่ยวชาญมาช่วยงานในด้านต่างๆด้วย เช่น การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร (Capacity Building) พลังงาน (Energy) และการจัดการภัยพิบัติ (Disaster Relief) เป็นต้น












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น