วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2564

"ทวี" แนะ กยศ. ยกเลิกเบี้ยปรับ-งดดอกเบี้ย-พักชำระหนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” กยศ. กับ การไร้วินัยการเงินการคลัง !

ควรควบรวม กยศ. กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา


สื่อมวลชนได้เสนอข่าวกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อย่างต่อเนื่อง อาทิ  

- “สาวอึ้ง ติดหนี้ กยศ. ไม่จ่าย 1.7 หมื่น โดนยึดบ้านไม้หลังงาม 2” (เนชั่น)

- ““กรมบังคับคดี” แจงสาวแพร่เป็นหนี้ กยศ.1.7 หมื่นบาท แต่ถูกยึดบ้าน 2 ล้าน เหตุไม่ทำตามคำพิพากษา ซ้ำไม่เคยมาไกล่เกลี่ย” (ผู้จัดการ)

- “ผ่อนจนตายก็ไม่หมด! ลูกหนี้'กยศ.'จ่ายค่างวดนับปี‘เงินต้น’ไม่ลด-‘เบี้ยปรับ’เดินรายวัน” (สำนักข่าวอิศรา)

- “อดีตลูกหนี้ กยศ. ร้องโดน‘เบี้ยปรับ’เกือบเท่าเงินต้น-กลัวถูกยึดบ้าน กู้สหกรณ์ฯปิดยอด” (สำนักข่าวอิศรา)

- “กยศ. เอาจริง! เตรียมทำประวัติผู้กู้ยืม สกัดเบี้ยวหนี้” (มติชน)

- “กยศ. เล็งเปิดระบบเครดิตบูโร ใครเบี้ยวจ่ายหนี้ ลูกหลานกู้เรียนไม่ได้” (ประชาชาติ)

- “เบี้ยวหนี้ กยศ. ห้ามเป็น ข้าราชการสภา ขวางพวกชักดาบเรียนสถาบันพระปกเกล้า

การเมือง” (ข่าวสด)

- “กยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ ยืดชำระสูงสุด 30 ปี หักเงินลูกหนี้ ลดเหลือ 10 บาทต่อเดือน” (มติชน)

- “เจออีกราย! ลูกหนี้ กยศ.โดน ‘เบี้ยปรับ'โหด ท่วม‘เงินต้น’-ผ่อนหนี้ไม่ไหวขอ ‘ลดค่างวด’” (สำนักข่าวอิศรา)

- ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด!ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ‘เบี้ยปรับ’อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน ? (สำนักข่าวอิศรา)

- “ทวี สอดส่อง” เปิดบทบาท “กยศ.”ในสถานการณ์วิกฤตโควิด (สยามรัฐ) 

- “สร้างวินัยการเงิน! ‘กยศ.’ แจงเหตุเก็บ ‘เบี้ยปรับ’ หลังลูกหนี้โอดผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด” (สำนักข่าวอิศรา)

ฯลฯ

.

มีกรณีศึกษา ลูกหนี้ กยศ. คนหนึ่งที่ต้องชำระคืน กยศ. เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 480,421.86 บาท นั้น แบ่งเป็นหนี้เงินต้น 216,758.52 บาท หนี้ดอกเบี้ย 33,084.35 บาท และมีเบี้ยปรับสูงถึง 230,578. 99 บาท ซึ่งมากกว่าเงินต้น และที่ผ่านมาลูกหนี้ กยศ. รายดังกล่าว ไปผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมให้กับ กยศ. ตั้งแต่ พ.ย.2561 จนถึงปัจจุบัน รวม 34 งวด รวมเป็นเงิน 170,000 บาท แต่เงินที่ลูกหนี้ กยศ. รายนี้ ชำระให้ กยศ. นั้น ไม่ได้นำไปตัดเงินต้นแม้แต่บาทเดียว (สำนักข่าวอิศรา)

.

ทั้งนี้ทาง กยศ. เองก็ได้มีการชี้แจง ตามหนังสือ กยศ. ที่ กค 5116/2254 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่ทาง กยศ. ได้ส่งหนังสือชี้แจงถึงบรรณาธิการ สำนักข่าวอิศรา “..สาเหตุที่กองทุนกำหนดเงื่อนไขผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระจะต้องเสียเบี้ยปรับนั้น เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้ตรงเวลาเท่านั้น..”

.

พร้อมให้ข้อมูลว่า “โดยตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน มีนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากกองทุน จำนวนทั้งสิ้น 5,975,487 ราย ทั้งที่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและปลอดหนี้ 823,281 ราย ผู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,476,988 ราย ผู้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3,610,135 ราย ผู้เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 65,083 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564)”

.

“เบี้ยปรับสูง” ไม่ได้สร้างวินัยทางการเงิน ขัดต่อเจตนารมณ์การจัดตั้งกองทุน !

.

เหตุผลของ กยศ. “เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้ผู้กู้ยืม” ขัดแย้งต่อผลการศึกษาและวิเคราะห์โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฏร ว่า  “...การกำหนดอัตราเบี้ยปรับโดยอ้างอิงจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายเอกชน...อาจไม่เหมาะสมและควรพิจารณาทบทวนให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้กู้ยืมเงิน โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการจัดตั้งกองทุนประกอบด้วย”  ซึ่งการคิดอัตราเบี้ยปรับสูง ไม่ใช่เรื่องช่วยสร้างวินัยทางการเงินดังที่ กยศ.อ้าง และผิดวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน ซึ่ง ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีบทความกล่าวถึงปัญหาในการชำระหนี้ กยศ. ได้แสดงความเห็นว่า “...กรณีลูกหนี้ กยศ. ไม่จ่ายหนี้ ดอกเบี้ยปรับแพงมาก 18% จึงเกิดกรณีลูกหนี้ กยศ. ต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดมากกว่าเงินต้น...ปัญหาหนี้ กยศ. เหมือนภูเขาน้ำแข็ง มองจากภายนอกอาจจะเห็นว่าสาเหตุของการผิดชำระหนี้ของประชาชนกว่า 2 ล้านคนตามที่ กยศ. ระบุไว้จะมาจากความยากจน การขาดวินัยทางการเงิน และทัศนคติที่ว่าหนี้ กยศ. ไม่จำเป็นจะต้องชำระคืน แต่อย่างไรก็ดี ถ้าสอบถามประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ คำตอบที่ได้รับจะต่างกันชนิดที่เรียกว่าหนังคนละม้วน เพราะแท้ที่จริงแล้วต้นเหตุ คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเงินกู้นี้ในหลายมิติ” 

.

จากการวิเคราะห์งบการเงินของ กยศ. พบว่ามีรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม และรายได้เบี้ยปรับเงินให้กู้ยืมคิดเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก เงินที่ลูกหนี้ที่จ่ายคืนให้กลับทาง กยศ. การตัดชำระหนี้ คือ  ตัด “เบี้ยปรับ -> ดอกเบี้ย -> และเงินต้น” แม้ในขณะนี้ทาง กยศ. จะมีการปรับเปลี่ยนในส่วนของลำดับการตัดชำระหนี้ และรูปแบบการชำระหนี้ให้กับผู้ที่ยังไม่ถูกฟ้อง เป็นชำระไปตัด “เงินต้น->ดอกเบี้ย->และเบี้ยปรับ” แต่สำหรับผู้ที่ถูกฟ้องแล้ว จำนวนกว่า 1.2 ล้านรายเศษนั้น ลำดับการตัดชำระหนี้และรูปแบบการชำระหนี้ก็ยังเป็นแบบเดิม ที่ถือว่า “โหด” สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้กลับลูกหนี้กลุ่มนี้

.

จากงบการเงินของ กยศ. ในช่วงปี 2557 - 2563  จะพบว่ารายได้ของ กยศ. มาจาก “ดอกเบี้ยฯ” และ “เบี้ยปรับฯ” มากจริงๆ (ข้อมูลตามตาราง 1)          


- ปี 2557 ดอกเบี้ยฯ 2,374.22 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ 400.16 ล้านบาท

- ปี 2558 ดอกเบี้ยฯ 2,272.74 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ 2,868.95 ล้านบาท

- ปี 2559 ดอกเบี้ยฯ 2,897.06 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ 3,115.99 ล้านบาท

- ปี 2560 ดอกเบี้ยฯ 3,855.44 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ 2,400.60 ล้านบาท

- ปี 2561 ดอกเบี้ยฯ 3,758.87 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ 2,338.55 ล้านบาท

- ปี 2562 ดอกเบี้ยฯ 4,074.07 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ 2,564.52 ล้านบาท

- ปี 2563 ดอกเบี้ยฯ 3,302.44 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ2,520.15 ล้านบาท

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า กยศ. มีรายได้จาก เบี้ยปรับเงินให้กู้ยืมเป็นจำนวนเงินที่สูงมากปี 2557-2563 รวมเป็นจำนวนกว่า 16,203 ล้านบาทเศษ เฉลี่ยปีละ 2,315  ล้านบาทเศษ โดยในปี 2558 และ 2559 กยศ. มีรายได้จากเบี้ยปรับฯ สูงกว่ารายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเสียอีก

.

การใช้จ่ายเงินของ กยศ. ส่อไปทาง “ไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง”

นอกจากการคิดเบี้ยปรับกับผู้กู้ยืมที่สูงผิดปกติแล้ว ทาง กยศ. ยังมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการในการดำเนินคดี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่สูงมาก พบว่า กยศ. ได้นำเงินไปจ่ายให้สำนักกฎหมายหรือทนายความในการติดตามทวงหนี้กับลูกหนี้ ในการดำเนินคดี คดีละประมาณ 5,500 บาท ชั้นบังคับคดี คดีละประมาณ 8,750 บาท และค่าบริหารจัดการคดีละประมาณ 1,200 บาท ดังนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557-2563 ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เฉลี่ยปีละ 1,255 ล้านบาทเศษ โดยในปี พ.ศ.2562  มีรายจ่ายในส่วนนี้สูงมากถึง 1,667 ล้านบาทเศษ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาจากเงินภาษีอากรของประชาชน ที่ถูกนำไปใช้จ่ายในการทวงหนี้ ตามหนี้ประชาชน มีใครเคยตรวจสอบหรือไม่ว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และตรวจสอบได้หรือไม่ ? (ข้อมูลตามตาราง 2)   

- ปี 2557 ค่าบริหารจัดการฯ 719.95 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 8.33 ล้านบาท รวม 728.28 ล้านบาท

- ปี 2558 ค่าบริหารจัดการฯ 931.16 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 40.91 ล้านบาท รวม 972.07 ล้านบาท

- ปี 2559 ค่าบริหารจัดการฯ 1,382.59 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 37.53 ล้านบาท รวม 1,420.12 ล้านบาท

- ปี 2560 ค่าบริหารจัดการฯ 1,363.62 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 156.47 ล้านบาท รวม 1,520.09 ล้านบาท

- ปี 2561 ค่าบริหารจัดการฯ 1,077.27 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 470.97 ล้านบาท รวม 1,548.24 ล้านบาท

- ปี 2562 ค่าบริหารจัดการฯ 913.14 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 754.61 ล้านบาท รวม 1,667.75 ล้านบาท

- ปี 2563 ค่าบริหารจัดการฯ 292.49 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 639.37 ล้านบาท รวม 931.86 ล้านบาท

.

ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีคิดเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ กยศ. มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสะสม ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 ทำให้เงินกองทุน กยศ. และเงินสมทบจาก ADB ลดลงเป็นจำนวนเงิน 121,243 ล้านบาทเศษ คือ (ข้อมูลตามตาราง 3)   

- เงินกองทุน 468,673,515,000.- บาท

- เงินสมทบจาก ADB 100,000,000.- บาท

- รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสะสม 121,243,024,984.31 บาท

- รวมสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน 347,530,490,015.69 บาท

.

กยศ.ส่อไปทางไร้วินัยการเงินการคลัง อย่างไร ?

.

เนื่องจาก พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ไม่ได้บัญญัติการใช้เงินจากกองทุนเป็นค่าบริหารจัดการในการดำเนินคดี และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไว้ การจ่ายเงินดังกล่าวจำนวนเฉลี่ยปีละ 1,255 ล้านบาทเศษที่ได้มาจากเบี้ยปรับและดอกเบี้ยของลูกหนี้ กยศ. ที่ประสบปัญหามีความทุกข์อย่างแสนสาหัสและถือว่าเป็นเงินแผ่นดินนำไปจ่ายให้กับใคร ? เป็นการเอื้อประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลหรือไม่ ? และส่อไปทางไม่รักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกองทุน เพื่อให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา 

.

การดำเนินการของ กยศ. ไม่เป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี ข้อ 26 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 13 -14 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 28-29 ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ พิจารณาส่งเสริมมาตรการเข้าถึงการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  และกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนการสอนได้ในทุกช่วงชั้น ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน 

.

ส่วนตัวเห็นว่า ทาง กยศ. มีแนวทางอื่น ๆ ได้หลายแนวทางและหากมีความจำเป็นจะฟ้องร้องดำเนินคดี ก็ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการให้ ตาม พรบ.องค์กรอัยการฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 14 (5) ได้ วิธีการนี้จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความให้ดำเนินคดีนับพันล้านบาท 

.

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดวิกฤติโควิด-19 จึงเสนอให้ กยศ. ควรยกเลิกเบี้ยปรับ งดดอกเบี้ย และควรพักชำระหนี้ เงินต้นให้กับลูกหนี้ กยศ. ประมาณ 5-7 ปี และขอเสนอให้ควรควบรวม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กับ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา" ตามพระราชบัญญัติ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 54 วรรคหก ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยนำร่าง พรบ. ทั้ง 2 ฉบับ มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักการสิทธิมนุษยชนที่รัฐต้องส่งเสริมสิทธิพื้นฐานในเรื่องการกระจายโอกาสทางการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำของผู้ด้อยโอกาสและผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในสังคมไทย ให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

.

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

เลขาธิการพรรคประชาชาติ

.

#ทวีสอดส่อง #กยศ #กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา #กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น