วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

“พรรคประชาชาติ” ก่อตั้ง “สถาบันการเมือง ประชาชาติ”

ผู้สื่อข่าวรายงานจากโรงแรมปาร์คอินทาวน์ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ว่า นายวันมูหะมัตนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย คณะกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ รวมทั้งสมาชิกพรรคประชาชาติ กว่า 400 คน จาก จังหวัดชายแดนใต้ เดินทางมาร่วมการอบรมหลักสูตรการเมืองประชาชาติ รุ่นที่ 1 โดยมี ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ผู้อำนวยการสถาบันการเมืองประชาชาติ เป็นผู้กล่าวรายงาน และชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน จากนั้น นายวันมูหะมัตนอร์ มะทา ในฐานะประธานในพิธีเปิดการอบรมและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ประชาชาติ  พรรคของเรา" จากนั้น เป็นการบรรยาย เรื่อง​“เราจะก้าวเดินไปพร้อมกัน เพื่อชัยชนะของประชาชน” โดย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โดยมีสื่อมวลชนในพื้นที่เดินทางมาร่วมทำข่าวความเคลื่อนไหวของพรรคประชาชาติในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก



พันตำรวจเอก ทวี  สอดส่อง กล่าวว่า พวกเราได้รับฟังปาฐกถาที่ทรงคุณค่าของท่านอ.วันนอ ที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่ผมขอเรียนเพิ่มเติมคือ “สถาบันทางการเมือง พวกเราอาจจะได้ยินชื่อ ‘สถาบัน’มาเยอะ เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันต่างๆนานา แต่สำหรับ สถาบันทางการเมืองก็มีอยู่หลายสถาบัน แต่ถ้าสถาบันทางการเมืองที่เป็นของประชาชน จะมีแห่งเดียว ก็คือ ‘พรรคการเมือง’ วันนี้ พรรคการเมืองหลายๆพรรคอาจจะไม่เข้าใจคุณค่าประชาชนหรือบางพรรคอาจจะ เข้าใจแต่ยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ่ง ที่ว่าพรรคการเมืองเป็นสถานบันของประชาชน เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ประชาชน จะสามารถเดินเข้าหาได้ และนักการเมืองต้องเดินเข้าหาประชาชน ตลอด 24 ชม.ในหนึ่งวัน ตลอดเวลาที่ตัวเองมีความทุกข์ ตลอดเวลาที่ตัวเองมีปัญหา และตลอดเวลาที่ตัวเองมีความสุขและอยากให้สังคมมีความสุขด้วย 

การเป็นสถาบันการเมืองพรรคประชาชาตินี้ อย่างน้อยจะต้องเป็นทั้ง ‘สะพาน’ และต้องเป็นทั้ง ‘กำแพง’ ให้กับประชาชน การเป็นสะพานเชื่อมประชาชนเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นทุนชีวิตได้รับแบ่งปันอำนาจทางการเมืองที่แท้จริง เป็นสะพานนำประชาชนเข้าไปมีพื้นที่ทางการเมืองใช้อำนาจในการบริหารการปกครอง การสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับประชาชน โดยใช้ช่องทางของพรรคการเมืองเขาสู่อำนาจนิติบัญญัติ ได้เข้าเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ นโยบาย มีอุดมการณ์ เป็นสะพานของพรรคเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่สำคัญต้องมีเป้าประสงค์เพื่อประชาชนมีความเจริญรุ่งเรือง มีความผาสุขอย่างเสมอหน้ากัน

พรรคประชาชาติมีอุดมการณ์หลายข้อ มีนโยบายหลายข้อ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือเรา ‘ให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ‘ ความเป็นคนมีความสำคัญ มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ดังนั้นบุคคลทุกคนไม่ว่าจะมีความเชื่ออุดมการณ์ ศาสนา หรือถิ่นกำเนิดหรือ เพศ หรือมาจากที่ใด คนทุกคนจะต้องมีความสิทธิ์เสรีภาพ คนทุกคนจะต้องมีเสรีภาพ คนทุกคนจะต้องมีความเสมอภาค มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความยุติธรรม รวมทั้งทุกคนต้องได้รับการพัฒนาอันนี้คือความเป็นพรรคประชาชาติ 

ที่บอกเป็นสะพานเข้าสู่พื้นที่นี้ คำว่าพื้นที่มีความหมายกว้าง ไม่ได้หมายถึงพื้นที่ดินเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ทางการศึกษา เข้าถึงรัฐสวัสดิการพื้นที่ทางอำนาจ พื้นที่ทางสมดุลย์ต่าง ๆ ให้กับคนทุกคนได้รับสิทธิเดินไปถึงอย่างเสมอหน้ากัน ปัจจุบันแค่พื้นที่ที่เป็นศักยภาพเป็นพื้นดิน คนปัตตานี ยะลา นราธิวาส เราก็ถูกรังแก เรื่องที่ดิน ที่ดินที่เคยอยู่เป็นร้อยปี เป็นบรรพบุรุษ วันดีคืนดีก็ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ประกาศเขตป่าไม้ ประกาศเขตที่ดินของรัฐมารุกล่ำมาทับที่ของประชาชาน อันนี้เป็นเพียงที่เราเห็นในสายตา แต่ที่เราไม่เห็นนี้คือ พื้นที่ของอุดมการณ์ พื้นที่ของสิทธิเสรีภาพ พื้นที่ทางความเสมอภาค แล้วพื้นที่ในการจะพัฒนารวมถึงพื้นที่แห่งความยุติธรรม เราถูกรุกล้ำเป็นอย่างมากโดยกฎหมายพิเศษ ซึ่งเกิดมานมนาน แต่สิ่งที่จะไปแก้นั้นได้สิ่งเดียว ก็คือ คงจะต้องใช้ช่องทางทางการเมืองนี้ คืออยากจะเรียนว่าพรรคประชาชาติ เป็นสะพาน 

พรรคประชาชาติเป็นกำแพงให้กับประชาชน ซึ่งกำแพงนี้ปกติจะใช่ปกป้องกันภัย จะต้องปกป้องกันพายุ แล้วก็จะใช่ปกป้องภยันตรายต่างๆ บ้านเรือนครอบครัว เรามีรั้วถือเป็นส่วนหนึ่งของกำแพง แต่กำแพงของพรรคประชาชาตินี้คือ จะต้องเป็นกำแพงปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้ถูกละเมิด หรือไม่ให้ใครใช้อำนาจไม่เป็นธรรมรังแกประชาชน พรรคต้องอยู่ในใจของประชาชน เป็นกำแพงในใจของประชาชน คือ เราจะต้องเป็นคนของประชาชน ถ้าพรรคประชาชาติไม่ได้รับความเชื่อมั่นกับประชาชนนี้ พรรคประชาชาติก็คือกำแพงสลาย สิ่งที่จะเป็นกำแพงให้กับประชาชนคือ ต้องมีความยุติธรรมกับประชาชน สิ่งที่จะเป็นกำแพงให้ประชาชน เราต้องมีความจริงใจ แล้วเราต้องปกป้อง ไม่ให้การทำลายของประชาชน

ความขัดแย้งของบ้านเมืองเราเดินมาไกลมาก ถ้าพูดภาคใต้ไปถามเด็กในสามจังหวัดกับไปถามเด็กในกรุงเทพหรือในเมืองหลวงนี้เหมือนคนละโลกเดียวกัน สมัยเป็นเลขา ศอ.บต. ลองให้ไปถามเด็กเยาวชนในสามจังหวัดนี้ สิ่งที่เขาต้องการนี้ เขาต้องการความสงบ เด็กต้องการความสงบ ต้องการความปลอดภัย เด็กต้องการไม่ให้คนในครอบครัวถูกเอาตัวไปแล้วถูกกักขัง แล้วบางครั้งมีการหายตัวไป พ่อแม่จะต้องได้รับผลกระทบ พี่น้องที่เป็นไทยพุทธไปทำงานไม่มีเรื่องกับใครทำไมจะต้องมาเสียชีวิต นี่คือครอบครัวเด็กกำพร้า ครอบครัวเด็กที่อยู่ในที่นี้ แต่พอเราไปถามเด็กในกรุงเทพฯ หรือในภูมิภาคอื่นๆในเวลาเดียวกันใน ณ ขณะนั้น เขาต้องการไปเล่น ต้องการไปสนุกสนาน ต้องการไปเที่ยว เขาต้องการเล่นบันเทิง ต้องการเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุด ความต้องการจึงมีความแตกต่างกันเหมือนคนละประเทศหรือคนละซีกโลก เห็นในจังหวัดชายแดนใต้ โหยหาความปลอดภัย ความสันติสุข ความสันติภาพ ในขนะที่เราอยู่ในที่นี่ ต้องการมีชีวิตเหมือนอย่างคนอื่น ไม่ต้องการอะไรพิเศษ แต่เราต้องการความเสมอหน้า

สันติสุขกับสันติภาพจะตรงกันข้ามกับยาเสพติด ที่ใดมีปัญหาเรื่องยาเสพติดที่นั่นจะไม่มีสันติสุข ที่ใดมีสันติสุขจะต้องไม่มียาเสพติดเข้ามา นี่ก็เป็นจุดเล็ก ๆ ของการทำงานทางการเมืองว่า วันนี้ประเทศไทยเราค่อนข้างน่าอับอาย ก็คือมีการประกาศให้กัญชา แม้จะด้วยทางการแพทย์ พอให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด ไม่ต้องมีโทษนี้ เราไม่สามารถไปยืนในเวทีโลกได้ เกิดจับพลัดในสมัยหน้าพรรคที่เสนอนโยบายกัญชาเกิดได้เป็นนายกรัฐมนตรี คือการเอายาเสพติดเข้ามายิ่งอายใหญ่ นี่เหมือนเราทำร้ายลูกหลาน การทำลายครอบครัว การที่พรรคไม่เห็นด้วยที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกัญชาไม่เป็นยาเสพติดแม้แต่ใช้เพื่อการสันทนาการนั้น คือตัวอย่างที่พรรคต้องเป็นกำแพงคุ้มครองสุขภาพและอนาคตของประชาชน

“พรรคประชาชาติ จึงไม่เห็นด้วยกับการให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดเพราะเราต้องการเป็นกำแพงปกป้องพี่น้อง เราต้องการเป็นกำแพง อย่างน้อยที่สุดจะต้องไม่ให้พี่น้องนี้ได้รับภัยคุกคามที่ภัยคุกคามชนิดนี้ ไม่ใช่คุกคามธรรมดา มันเป็นการคุกคามความเป็นมนุษย์”

ผมเคยเรียนมาจากทางการสืบสวนสอบสวน ทางอาชญวิทยา เขาก็จะมีเรื่องการลงโทษ การลงโทษจากเบาไปหาหนัก เขาบอกโทษชั้นเบาก็คือ จะมีโทษทางกฎหมายอาญา โทษปรับริบทรัพย์สิน โทษกักขัง โทษจำคุก โทษประหารชีวิต แต่โทษที่ทำลายชีวิตทั้งเป็น หรือมีชีวิตเหมือนคนไม่มีชีวิต คือ คนติดยาเสพติด ที่ถือว่าตายทั้งเป็น  ดังนั้น เราต้องป้องกัน ปกป้องพี่น้องของเรา ปกป้องลูกหลานของพวกเรา ปกป้องคนในครอบครัวของพวกเรา ไม่ให้ติดยาเสพติด 

เราไม่ได้พูดเพื่อไปทำร้ายใคร แต่จะพูดให้เห็นว่า นี่คือจุดยืนของพรรคประชาชาติ ที่ทำหน้าที่เป็นสะพานให้กับพี่น้องทุกคน เพื่อนำไปสู่ความเสมอภาค เพื่อนำไปสู่ความสมดุลย์ และทำหน้าที่เป็นกำแพงป้องกันไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีกับประชาชนเข้ามาหากับประชาชน ในฐานะของทางการเมืองก็คือ เราต้องพยายามคัดค้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม 

การแก้ปัญหาของประเทศชาติ ปัญหาสำคัญในการแก้ ทุกคนก็มีความคิดที่จะแก้ แต่ทำไมพอยิ่งแก้ ประเทศไทยยิ่งเหลื่อมล้ำ พอทำไมยิ่งแก้เศรษฐกิจของพวกเราทำไมถึงได้แย่ คือการแก้ปัญหาของประเทศชาติ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘การไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม‘ ที่เรียกกันว่า เผด็จการ 


เขาบอกสิ่งที่มนุษย์ต้องระวังมากที่สุด คืออะไรรู้ไหม ? สิ่งที่มนุษย์ต้องระวังมากที่สุด คือความคิด ความคิดนี้มันจะไปเป็นคำพูด คำพูดมันจะไปเป็นการกระทำ การกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกมันจะเป็นนิสัย ถ้าซ้ำแล้วซ้ำอีกยังทำอีกเขาเรียกเป็นพฤติกรรม ถ้าพูดในภาษาไม่สุภาพก็อาจจะบอกว่าเป็นสันดาน คราวนี้ความคิดที่เป็นปัญหามากที่สุดนี้ที่จะทำผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากนี้คือ ความคิดของผู้นำ ถ้าผู้นำมีความคิดที่มีปัญหาก็จะทำ จริงๆ บ้านเมืองไม่มีปัญหา บางทีบ้านเมืองมันเป็นปัญหาอีกชนิดหนึ่ง แต่เมื่อความคิดของผู้นำมีปัญหา ก็จะเอาปัญหาของตัวเองนี้มาแก้ปัญหา มันจึงทำให้เกิดปัญหาซ้อนปัญหา แล้วปัญหามันก็แก้ไม่ได้ อันนี้จึงได้เรียกว่า การที่จะแก้ปัญหาก็คือ จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม คือ ความมั่งคงของประชาชน ความคิดของประชาชน เมื่อรวมตัวกันนี้ เราถือว่าเป็นความมั่งคงของสังคม ความมั่งคงของประชาชน มันจะต้องเป็นความมั่นคงของประเทศชาติ ไม่ใช่ความมั่นคงของเจ้าหน้าที่รัฐ ความมั่นคงของคนที่อยู่ในสามจังหวัดทุกคน ทุกเชื้อชาติ ถ้าเป็นความมั่นคงตามความคิดของประชานที่เห็นร่วมกันแล้วนี้ อันนี้มันคือ ความมั่นคงที่แท้จริง ไม่ใช่ความมั่นคงของคนกลุ่มหนึ่ง แล้วทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งมีความทุกข์ 

.

การให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนแม้จะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิก ผมถือว่าเป็นทิศทางที่จะมีการแก้ปัญหาของประชาชนที่แท้จริง เรามาจัดงานสถาบันทางการเมืองของพรรคประชาชาติ เพราะคงไม่ได้จัดครั้งนี้ครั้งเดียว เพราะเราจะมาพบกันบ่อยๆ เพราะสิ่งหนึ่งประชาชนที่นั่งในที่นี้กับ ส.ส. หรือกับหน้าพรรค กับผมนี้ต้องรับรู้เรื่องการเมืองเท่าๆ กัน แล้วพวกเราก็ช่วยกันมาออกแบบว่า ภาพในอนาคตของเรา ภาพของอนาคตลูกหลานเรา ภาพในอนาคตของคนไทยทั้งประเทศ จะเป็นอย่างไร ? โดยผ่านทางช่องทางการเมือง แต่สิ่งที่เดินมาแน่นอน ก็คือ เขาบอกว่าอดีตคือบทเรียน ปัจจุบันและอนาคตคือความรับผิดชอบ 

.

อดีตเรามีบทเรียนมาแล้ววันนี้ แล้วในทางการเมืองต้องยอมรับว่า พี่น้องในสามจังหวัด เรามีความตื่นตัวทางการเมืองค่อนข้างสูง ถ้าไม่ตื่นตัวสูงนี้พรรคประชาชาติไม่ได้ ส.ส. มากที่สุดในสามจังหวัดนะครับ เพราะสิ่งที่พรรคประชาชาติได้นำเสนอได้จัดการแก้ปัญหานั้น เป็นปัญหาของประชาชนจริงๆ นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญที่พวกเราในที่นี้ไม่รับรัฐธรรมนูญปี’60 ไม่ว่าจะเป็นโยบายต่างๆ จนทำให้ใน 11 เขต เราได้มา 6 เขต แต่เวลาเดินทางมาอีก 8 เดือน ที่รัฐบาลนี้จะครบ 4 ปี เพราะการเลือกตั้งคราวที่แล้ว มันเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562

.

4 ปี ก็ 24 มีนาคม 2566 ถ้านับจากวันนี้ไปก็เหลืออีก 8 เดือน พรรคประชาชาติเราเกิดขึ้นอย่างน้อยที่สุด เราไม่โกหกตัวเอง เราเกิดขึ้นในการเป็นพรรคของภาคใต้ และกำเนิดจริงๆอาจอยู่ในสามจังหวัดด้วยซ้ำ แต่เราเป็นพรรคที่รู้ดีเรื่องภาคใต้ และปัญหาของคนไทยทั้งประเทศ พรรคจะใหญ่ได้จะต้องใหญ่ในเชิงนโยบาย ต้องใหญ่เชิงอุดมการณ์ ว่าจะเอาพวกเราไปสู่การอยู่ดีมีสุขได้อย่างไร ?

ในช่วงบ่าย เป็นการจัดเสวนาเรื่อง  “เราทำหน้าที่เพื่อทุกคน  และจะทำต่อไป” โดย นายซูการ์โน มะทา​​ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา เขต 2 , นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์​สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี เขต 4 , นายกูเฮง ยาวอหะซัน​ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส เขต 3 , นายอับดุลอายี   สาแม็ง​สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา เขต 3 , นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ​สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส เขต 4 และมี อาจารย์ ซัยนูรดีน นิมา จาก คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา​ โดยในช่วงท้ายของการอบรม มีพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณ สำหรับผู้ที่เข้ารับการอบรมด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น