วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2567

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดกิจกรรมการประชุมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2567 เพื่อให้ปัญหายาเสพติดหมดไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

วันนี้ (2 มีนาคม 2567) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรมการประชุมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมี พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำศาสนา ผู้แทนภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม PENDULA CONVENTION HALL โรงแรมปาร์คอินทาวน์ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี


โอกาสนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหายาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะยาบ้าที่เป็นยาเสพติดหลักที่แพร่ระบาดในไทยที่มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 80 ของการใช้ยาเสพติดในประเทศ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสังคมเป็นมูลค่ามากมายมหาศาล รวมถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตของผู้เสพ ผู้ติดยาบ้า และครอบครัว คนใกล้ชิดชุมชน เพราะปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมเป็นอย่างมาก โดยได้มอบนโยบายเน้นย้ำ ขอให้ทุกภาคส่วนเอาจริงเอาจัง ในการช่วยเหลือลูกหลาน ให้พ้นจากยาเสพติดให้ได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหายาเสพติด จะกระทำโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะไม่สำเร็จ จะต้องมีการบูรณาการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน อันจะเป็นแนวทางที่จะได้รับความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น แม้ปัญหายาเสพติดอาจไม่หมดไปในสังคมและในโลกนี้ แต่พวกเรา พี่น้องประชาชน จะต้องเข้าใจ และอยู่กับมันให้ได้โดยไม่มีผลกระทบในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งมีท่านแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะลดความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบของยาเสพติด โดยมุ่งเน้น การจับกุมผู้ค้ารายย่อยในชุมชน การค้นหาผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับการรักษา และขยายผลจับกุมไปยังผู้ค้า ผู้บงการและนายทุน อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมออยู่แล้วนั้น ในวันนี้ ถือเป็นมิติใหม่ ของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เราจะนำพลังความเข้มแข็งของภาคประชาชน ความเข้มแข็งของศาสนา ความมั่นคงในอัตลักษณ์ ความสามัคคีของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ของพี่น้องจังหวัดชายแดนใต้ เราจะใช้พลังแห่งความดีงามที่มีอยู่มาช่วยเหลือพี่น้อง ลูกหลาน ในชุมชนของเราให้ปลอดภัยจากยาเสพติด ด้วยตัวเราเอง



ทางด้าน พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า กิจกรรมการประชุมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในมิติของศาสนา การพัฒนา และชุมชนพหุวัฒนธรรม ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันนี้ ศอ.บต. ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการจัดตั้ง "ศูนย์ประสานงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดในมิติของศาสนา และภาคประชาสังคม จังหวัดชายแดนภาคใต้" (ศปส.ศส.จชต.) พร้อมทั้งแต่งตั้ง คณะผู้บริหารศูนย์ฯ และ คณะกรรมการศูนย์ฯ เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยให้ความสำคัญกับลักษณะ อัตลักษณ์ และจุดแข็งของสังคมที่ยึดหลักศาสนาดำเนินวิถีชีวิต จึงกำหนดกรอบแนวคิดของการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวม 3 มิติหลัก ได้แก่ 1. มิติทางศาสนาและพหุวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มบทบาทผู้นำสถาบัน องค์กรทางศาสนา 2. มิติการพัฒนา เพื่อเพิ่มบทบาทการพัฒนาและแก้ไขปัญหาพื้นฐาน และ 3. มิติชุมชน เพื่อเพิ่มจิตอาสาในชุมซนและเพิ่มบทบาทกลไกนอกภาครัฐ รวมพลังป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านชุมชน ร่วมกับของกลไกภาครัฐในวันนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ การรวมพลังชุมชนเข้มแข็ง ด้วยธรรมนูญหมู่บ้าน “ฮูกุมปากัต” การบรรยาย ในหัวข้อ ข้อคิดเห็นในงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยพลังชุมชน และการบรรยายในหัวข้อ การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยได้รับเกียรติจาก นายมูฮัมมัดซูวรี สาแล  นายกสมาคมสถาบันปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย นายเสรี ศรีหะไตร อตีด ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงและจังหวัดบุรีรัมย์ และพลโทสุวรรณ เชิดฉาย  ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ร่วมบรรยายพิเศษในครั้งนี้ด้วย โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย ผู้นำศาสนา ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน สมาคมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สมาคมเมืองดาหลาพัฒนาพี่น้องไทย ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด จิตอาสา อาสาสมัครภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และจังหวัดสงขลา) รวมจำนวนทั้งสิ้น 750 คน 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น