วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2567

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เยือนเรือนจำชาย HMP Chelmsford ศึกษาแนวทางตรวจเรือนจำ และพัฒนาการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำของสหราชอาณาจักร

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงยุติธรรม ว่า ระหว่างเวลา 10.30-15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ โดยมีสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักร และสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยให้การต้อนรับ ในการเข้าร่วมศึกษาดูงานการตรวจเรือนจำ และมาตรการดูแลผู้ต้องขัง ณ เรือนจำชาย HMP  Chelmsford กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีอายุมากกว่า 200 ปี 

การศึกษาดูงานฯ ดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก Mr. Martin Lomas , Deputy Chief Inspector of His Majesty’s Inspectorate of Prisons (HMIP) และ Ms Sara Pennington , Inspector of HMIP บรรยายสรุปเกี่ยวกับองค์กร HMIP วิธีการตรวจเรือนจำ ประโยชน์จากการตรวจเรือนจำ การตรวจความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง  นอกจากนั้น ยังได้เข้าร่วมตรวจเรือนจำ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการรับตัว การคัดแยก การดูแลผู้ต้องขัง การฝึกทักษะอาชีพ การเตรียมความพร้อมกลับคืนสู่สังคม โดยยึดหลักการประเมิน 4 ข้อ ประกอบด้วย ความปลอดภัย (Safety) การเคารพ (Respect) การจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผูัต้องขัง (Purposeful activity) การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย (Preparation for release) รวมถึงการประเมินภาวะผู้นำในทุกระดับชั้นของผู้บริหารเรือนจำ ตลอดจนบรรยายสรุปกิจกรรม แนวทางในการฟื้นฟูผู้ต้องขัง เช่น การจัดกิจกรรมกระชับสัมพันธ์และเรียนรู้ทักษะด้านกีฬาฟุตบอล ระหว่างผู้ต้องขังกับ กับทีมฟุตบอลอาชีพที่มาช่วยเรือนจำแห่งนี้คือทีมจากสโมสรฟุตบอลเวสต์แฮมยูไนเต็ด (Westham United ) เป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ มีฉายาในภาษาไทยว่า "ทีมขุนค้อน"เป็นต้น



ทั้งนี้ การศึกษาดูงานฯ ดังกล่าว เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนามาตรการเพิ่มประสิทธิภาพงานราชทัณฑ์ในประเทศไทย อาทิ การสร้างระบบตรวจเยี่ยมเรือนจำของประเทศไทย การอบรมทักษะการตรวจเยี่ยมให้แก่ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม การพัฒนาการเรียนการสอนในเรือนจำ การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะและเชื่อมสัมพันธ์กับผู้ต้องขังด้วยความร่วมมือกับสมาคมกีฬา การพัฒนาระบบและมาตรการดูแลผู้ต้องขัง เป็นต้น รวมถึงเป็นรากฐานในการจัดโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร เพื่อพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับหลักนิติธรรมของไทยในภาพรวมต่อไป













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น