วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ทวี สอดส่อง: สร้างหนี้สาธารณะ: “กู้หนี้ใหม่ใช้หนี้เก่า ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม หนี้สินล้นพ้นตัว ลูกหลานต้องรับกรรม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

สร้างหนี้สาธารณะ: “กู้หนี้ใหม่ใช้หนี้เก่า ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม หนี้สินล้นพ้นตัว ลูกหลานต้องรับกรรม”

ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ของไทยเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดขนาดของเศรษฐกิจ โดยปัจจุบัน GDP ของไทยเท่ากับ 15.60 ล้านล้านบาท แต่ไทยมีหนี้สาธารณะ จำนวน 8.56 ล้านล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วน 54.28% ต่อ GDP หรือเฉลี่ยแล้วคนไทยทุกคนเป็นหนี้ประมาณ 130,000 บาทเศษ (ยอดหนี้สาธารณะ/จำนวนประชากรไทย) ในปี 2565 มีหนี้สาธารณะที่ครบกำหนดต้องชำระคืนเจ้าหนี้ จำนวน 529,918 ล้านบาท แต่รัฐบาลหารายได้ไม่เพียงพอต่อการจ่ายหนี้ จึงต้องกู้หนี้ใหม่มาชำระหนี้เก่าดังกล่าว แต่ก็จ่ายได้เพียง 293,464 ล้านบาท โดยแยกเป็นการจ่ายคืนเงินต้นเงินกู้จำนวน 100,000 ล้านบาทและต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ 193,464 ล้านบาท ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองอำนาจบริหารประเทศทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. หรือนายกรัฐมนตรี  กว่า 7 ปีที่ผ่านมา มีการกู้เพิ่มจาก 5.69 ล้านล้านบาท ในปี 2557(วันที่ 30 กันยายน 2557) เป็น 8.56 ล้านล้านบาท (ถึงเดือนเมษายน 2564 ) ที่เป็นการกู้เพื่อนำมาชดเชยการขาดดุลจากที่รัฐจัดเก็บรายได้ไม่พอกับรายจ่ายรัฐบาลตาม พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2558-2564  กับการกู้หนี้ใหม่ ตาม พรก.กู้เงิน ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้าน จากข้อมูลพบว่าช่วงหนึ่งปีระหว่างเดือนมีนาคม 2563 - เมษายน 2564  มีการกู้หนี้เพิ่มจำนวน 1,574,703 ล้านบาท หรือกู้หนี้เพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 100,000 กว่าล้านบาท

รัฐบาลไม่มีแนวทางการชำระหนี้เงินกู้ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนนอกเสียจากการกู้หนี้ก้อนใหม่มาจ่ายคืนหนี้เงินกู้ก้อนเก่าเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือเพื่อการนำไปลงทุน ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เจริญเติบโตขึ้น กับการลดลงของ GDP ประมาณ 100,000 ล้านบาทตามลำดับย่อมทำให้รัฐบาลไม่สามารถหารายได้มาชำระหนี้ก้อนโตดังกล่าวได้และจะส่งผลให้หนี้เพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนฯว่าเงินกู้มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 2.95% ซึ่งดอกเบี้ยเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่นำไปสู่การล้มละลายได้

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564  รัฐบาลได้ออก พรก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มเติมอีกจำนวน 5 แสนล้านบาท มีระยะเวลากู้เงินได้ถึง 30 กันยายน 2565 นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 อีกจำนวน  7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากรัฐบาลกู้เงินครบเต็มจำนวนที่ตั้งไว้ จะรวมเป็นการกู้หนี้เพิ่มขึ้นอีก 1.2 ล้านล้านบาท และเมื่อรวมกับหนี้ที่กู้ไว้เดิม (ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564) จะทำให้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะรวมเป็นจำนวน 9.76 ล้านล้านบาท ในขณะที่ GDP ของประเทศกลับไม่โตขึ้นเลย ดังนั้น หากคำนวณสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP พบว่าอาจเพิ่มสูงถึง  62.58% ซึ่งเกินกรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายที่กำหนดเพดานไว้ที่ไม่เกิน 60% 

จากการทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาพบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยไม่พัฒนาและมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนอารยะประเทศ ทั้ง ๆ ที่มีฐานทรัพยากรที่ดี เพราะระบบการเมืองมีปัญหา เป็นระบบรัฐราชการที่มีทหารนำ ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีการผูกขาดและสืบทอดอำนาจเผด็จการ ทั้งนี้ จากการศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยควบคู่กับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ตามผลการศึกษาของ Varieties of Democracy Institute หรือ  V-Dem ซึ่งได้ศึกษาความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ในโลก ผลการประเมินของ V-Dem พบว่าประเทศไทยได้คะแนนลดต่ำลงเหลือเพียง 15 จาก 100 คะแนน ในปี 2019 ทั้งนี้ ไทยเคยได้ 32 คะแนนจาก 100 คะแนน ในปี 2009 และจากงานวิจัยนี้ ประเทศไทย เป็น 1 ใน 25 ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มระบอบเผด็จการแบบปิด ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับความเป็นเสรีประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี 2009 ประเทศไทยเคยอยู่ในกลุ่มที่สูงกว่าที่เรียกว่าระบอบกึ่งเผด็จการ ประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มเผด็จการแบบปิดนี้เป็นประเทศด้อยพัฒนา นับว่าการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยกำลังจะตกต่ำถึงขีดสุดจนเป็นที่น่าอดสู อันดับคะแนนความเป็นประชาธิปไตยของไทยตกลงไปอยู่อันดับที่ 139 จาก 179 ประเทศ นอกจากนี้ คะแนนความเป็นประชาธิปไตยของไทยถูกจัดกลุ่มต่ำลงจากประเทศกลุ่มล่าง 30% ในปี 2009 เป็นกลุ่มล่าง 20%  ในปี 2019 เทียบเคียงได้กับประเทศดัง เช่น รวันดา หรือ คาเมรูน ที่อยู่ภายใต้ระบอบกึ่งเผด็จการ หรือ พม่าก่อนการปฏิวัติครั้งล่าสุดอีกด้วย

นอกจากนี้ การศึกษางานวิจัยของ Global Corruption Barometer Asia 2020 ที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในชาติ กรณีประเทศไทย พลเมืองไทย 88% มองว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ และ 47% เห็นว่านายกฯมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน โดย 85% ให้ความเห็นว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหาคอร์รัปชันยังมีอยู่คงเดิมหรือเพิ่มขึ้น และ 73% เห็นว่าองค์กรปราบคอร์รัปชันของไทยไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นว่า 7 ปีกว่าที่ผ่านมาของพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ

ความคาดหวังที่คนไทยเคยมีต่อรัฐบาลประการหนึ่ง คือ การปราบคอร์รัปชัน เนื่องจากเป็นประเด็นที่ถูกใช้เป็นหนึ่งในข้ออ้างในการทำรัฐประหารที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะพยายามประกาศให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นวาระเร่งด่วน แต่ผลงานกลับไม่เป็นที่ประจักษ์ อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างกว่า 65% คิดว่าคนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันได้ ทั้งนี้ผลการศึกษาจากต่างประเทศมักไม่สอดคล้องกับผลการวิจัยขององค์กรในประเทศที่อาจได้ผลลัพธ์ที่เข้าข้างรัฐบาล

ในด้านภาพลักษณ์ของรัฐบาลและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในยุคปัจจุบันมีสูงมาก จากรายงานการศึกษาวิจัยของ Global Corruption Barometer Asia 2020 ที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในชาติ กรณีประเทศไทยดัชนีรับรู้การทุจริตคอร์รัปชันเปรียบเทียบระหว่าง 180 ประเทศในโลก หรือ Corruption Perception Index (CPI) เป็นตัวชี้วัดอันหนึ่ง พบว่าการประเมินคะแนนของไทยตกจากอันดับที่ 85 ในปี 2557 ที่มี 38 คะแนน มาอยู่ที่อันดับ 104 ในปี 2563 มีคะแนนลดลงเหลือเพียง 36 คะแนน และอยู่ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยมาตรฐานโลก (43 คะแนน) 

การใช้จ่ายเงินกู้เพื่อป้องกัน และรักษาด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19  รัฐบาลได้ใช้เงินกู้อย่างไม่เกิดประสิทธิภาพทั้งด้านการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดที่ล่าช้า ไม่หลากหลาย ด้านมาตราการป้องกันที่บกพร่อง ไม่เตรียมพร้อมในรักษาพยาบาลมีความล้มเหลวปล่อยให้มีผู้เสียชีวิตและติดเชื้อจำนวนมาก ที่ต้นต่อเกิดจากการบริหารงานแบบรัฐราชการรวมศูนย์อำนาจนิยม   ในด้านการเยียวยา ฟื้นฟูที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและจากมาตราการของรัฐบาลที่มีความเดือดร้อนอย่างทั่วหน้าเสมอหน้ากันแต่รัฐบาลได้ตั้งกฏเกณฑ์คัดกรองประชาชน ต้องแสดงความยากลำบาก ความเป็นคนน่าสงสารหรือเป็นคนยากไร้ ที่ถือว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่ทุกคนต้องมีสิทธิเสมอกัน ต้องมีความเสมอภาค มีประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลทั้งที่ประชาชนทุกคนต่างได้รับผลกระทบเหมือนกัน และเงินที่ช่วยเหลือเยียวยาเป็นเงินภาษีของประชาชน

กรณี เงินกู้ที่รัฐบาลนำไปลงทุน พบว่ามีการกระจุกตัวที่ใช้ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ หรือเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของนักลงทุน ไม่มีการกระจายงบประมาณไปยังภาคส่วนอื่นของประเทศที่คนไทยทุกค้นต้องรวมกันใช้หนี้ ยังไม่สมดุล ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาค อาทิ รัฐมุ่งเน้นการแก้ปัญหาการจราจร ไม่มุ่งเน้นการบริการด้านขนส่งมวลชนที่ทำให้คนทุกคนมีความเสมอภาคในการเดินทางโดยบริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ ปลอดภัยเป็นสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนได้รับ รัฐใช้เงินกู้มาบริการคนชั้นกลาง และคนร่ำรวยด้วยการสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ในเมืองหลวงที่ค่าโดยสารราคาแพง ส่วนประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่ได้รับความสนใจกลับไปลดขนาดทางเท้าทำให้คนเดินเท้าลำบาก ไม่คำนึงถึงคนยากไร้  รัฐเน้นสร้างสนามบิน รถไฟความเร็วสูงที่ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดคือเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดสถานี เจ้าของที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า รวมถึงผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ยังใช้บริการรถเมล์ รัฐกลับไม่ได้ให้ความสนใจลงทุนหรือยกระดับการบริการให้กับประชาชนกลุ่มนี้เลย รถเมล์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันในเมืองหลวงก็มีสภาพเก่า บางส่วนใช้งานมานานกว่า 30 ปี ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ และยังก่อมลภาวะอีกด้วย ขณะที่ประชาชนต้องการรถเมล์ที่มีคุณภาพมาตรฐานที่ดี มีความปลอดภัยทนทาน ในการเดินทางระหว่างจังหวัดผู้มีรายได้น้อยมักใช้บริการรถโดยสาร บขส. รถตู้ รถไฟ มากกว่า ซึ่งเงินกู้ที่นำไปลงทุนก็ไม่พบว่ามีการนำไปใช้เพื่อพัฒนาระบบรถโดยสารสาธารณะที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องหันไปใช้จักรยานยนต์ รถกระบะนั่งท้าย เป็นหนี้เป็นสิน และยังต้องเสี่ยงชีวิตต่ออุบัติเหตุอีก ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน รัฐบาลอยู่ในวงจรการสร้างหนี้สาธารณะ “กู้หนี้ใหม่ใช้หนี้เก่า ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม ดอกเบี้ยเงินกู้วิ่งไม่หยุด” มองไม่เห็นอนาคตว่าจะชดใช้หนี้หมดได้เมื่อไร หรือลดลงได้เท่าไร

กล่าวโดยสรุป ตลอดระยะเวลา 7 ปีกว่าที่ผ่านมารัฐบาล พลเอกประยุทธ์ฯ หัวหน้า คสช และนายกรัฐมนตรี ได้กู้เงินสร้างหนี้สาธารณะจำนวนมาก ยิ่งในปีปัจจุบันรัฐได้กู้หนี้ในจำนวนสูงสุดในประวัติศาสตร์แต่รัฐบาลไม่มีแนวทางจัดหารายได้มาใช้หนี้ ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อความมั่นคงของผู้มีอำนาจ กองทัพ สร้างรัฐราชการรวมศูนย์ด้วยการก่อหนี้ใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง วิธีการกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่าที่ไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ แล้วยังมีภาระดอกเบี้ยที่วิ่งไม่หยุดทำให้หนี้เพิ่มขึ้นที่เป็นมะเร็งร้ายอาจนำพาประเทศไปสู่การล้มละลายได้ การเป็นหนี้จะสร้างความทุกข์เพิ่มแก่คนไทยซึ่งมีทุกข์มากล้นอยู่แล้วจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองและจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การสร้างหนี้ประชาชนทั้งประเทศต้องร่วมกันใช้หนี้อย่างเสมอหน้า ถ้านำเงินกู้ไปใช้อย่างไม่คุ้มค่าเพื่อคนบางกลุ่ม บางพื้นที่แล้ว หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ที่ส่อไปในทางทุจริตคอร์รัปชัน จะเป็นการสร้างมรดกบาปแก่ลูกหลานในอนาคตมากยิ่งขึ้น


พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

และเลขาธิการพรรคประชาชาติ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น