วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2565

"ทวี สอดส่อง" แนะสอบปม ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

สัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” คำชี้แจง รฟม ยิ่งเพิ่มข้อสงสัยว่า 

“การทุจริตมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาทมีจริง”

กรณี สำนักสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง โต้ BTS ปมทุจริต สัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อนั้น เห็นว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุน 235,320 ล้านบาท ที่การประมูลรอบแรกเมื่อปี 2563 หากไม่ยกเลิก และ BTS ชนะการประมูล รัฐจะอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาท แต่ในการประมูลรอบสองเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ซึ่ง BEM ชนะการประมูล รัฐต้องอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ในทางเทคนิคก็คือสร้างสิ่งเดียวกัน  ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565 รฟม ได้ออกแถลงการณ์คำชี้แจงนั้น ไม่ได้ตอบชี้แจงให้หายสงสัยในประเด็นของการทุจริต ที่รัฐต้องรับภาระแพงขึ้นประมาณ 68,612 ล้านบาท  ซึ่งต้องใช้ภาษีของพี่น้องประชาชนมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐในส่วนนี้  แต่การชี้แจงของ รฟม ได้เพิ่มความสงสัยและน่าเชื่อว่าการทุจริตมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท มีจริง เพราะ

1. ข้อกล่าวหา “รฟม เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล” ทำไมต้องกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 2 “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้องานเลย ที่เปลี่ยนคือคุณสมบัติผู้เสนอราคาโดยเพิ่มคุณสมบัติเดินรถไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศไทยเท่านั้นมาจากต่างประเทศก็ได้ ส่วนคุณสมบัติผู้รับเหมาต้องมีผลงานตรงกับรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จเท่านั้น ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการ กีดกันไม่ให้มีผู้เข้าแข่งขันมากราย และไม่เป็น international competition Bidding ตาม มติ ครม  เพียงเพราะต้องการกีดกันไม่ให้ BTS ที่เข้าประมูลครั้งแรกได้  แต่ไม่สามารถเข้าประมูลตามหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 2 ได้  ซึ่งการยกเลิกการประมูลที่ 1 นั้น ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า ‘การยกเลิกการประมูลดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย’  ปมสงสัยการทุจริต คือการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล “ลดคุณสมบัติผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่เพิ่มคุณสมบัติผู้รับเหมาขึ้น” ทั้งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้องานเลย เนื้องานก่อสร้างยังคงเดิม แต่ “การกีดกัน BTS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ประเทศไทยยาวนานประมาณ 23 ปี (ประเทศไทยมีผู้ให้บริการเดินรถมีเพียง 3 รายเท่านั้น) ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่เพราะขาดคุณสมบัติต้องห้ามด้านการรับเหมา ทำให้ผู้เสนอราคาได้แค่รายเดียวคือ BEM ซึ่งเสนองานแพงกว่ากลุ่ม BTS ที่เสนอราคาครั้งที่ 1 มากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท จึงมีคำถามว่า ทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินเพิ่มถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ?

การที่  รฟม. ชี้แจงว่า “เอกชนที่ยื่นข้อเสนอฯ ทั้ง 2 ราย ได้รับคืนซองเอกสารข้อเสนอฯ แล้ว จึงไม่สามารถกลับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อีกและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่” ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเสมือน “ถามช้างตอบม้า ถามวัวตอบควาย” ตอบไม่ตรงคำถาม สิ่งที่ประชาชนและสังคมต้องการทราบว่าทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินเพิ่มมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน และมีใครบ้างเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ ?

2. กรณีไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ให้กลุ่ม ITD ที่เข้าประมูล ประธานบริหารและกรรมการ ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ขัดพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 33 ไม่อาจผ่านคุณสมบัติได้ (การที่กลุ่ม ITD เข้ามาจึงเข้าลักษณะเป็นเพียงจัดให้เป็นคู่เทียบ) ดังนั้น ด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่มีสภาพบังคับให้เอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว ไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน แต่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ดันทุรังให้บริษัท ITD ผ่านทั้งเกณฑ์คุณสมบัติ และเทคนิค แม้จะมีเสียงทักท้วงถึงความไม่ถูกต้อง จึงมองได้อย่างเดียวว่า มีเจตนาเคลือบแฝง คือต้องการให้มีผู้ผ่านเกณฑ์มากกว่า 1 ราย เพื่อเปิดซองราคา เป็นคู่เทียบ ที่กล้าทำก็เพราะน่ารู้อยู่แล้วว่าใครจะเป็นผู้ชนะ และถึงแม้เกิดการพลิกล็อก ITD ยื่นขอเงินสนับสนุนต่ำกว่า ก็ยังสามารถจัดการตี ITD ให้ตกในขั้นตอนสุดท้ายได้อยู่ดี โดยไม่ว่าจะออกหน้าใหน ผู้ได้ผลประโยชน์ก็ยังเป็นผู้รับเหมาเจ้าเดิมอยู่ดี

3. ตามมาตรา 10 พ.ร.บ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

“เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดซึ่งมีอํานาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณาหรือการดําเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ละเว้นไม่ดําเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดําเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น มีความผิดฐานกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท”

พฤติการณ์และการกระทำเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ” เป็นอำนาจที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นกระบวนการ ถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนที่ใช้เป็น “มติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ที่มีมูลเชื่อได้ว่า “รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ถึงการล็อคเสปค กีดกันและเอื้อประโยชน์ แต่ “เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณาหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ” ยังละเว้นไม่ดําเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดําเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคา”  อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 ที่เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง และทำให้รัฐต้องรับภาระแพงมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องใช้ภาษีของพี่น้องประชาชนมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐในส่วนนี้ หรือชดเชยโดยการเรียกค่าโดยสารจากพี่น้องประชาชนจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

จึงขอชี้เบาะแสให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และหน่วยงานบังคับใช้กฏหมายในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่และอำนาจในการสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่เป็นหน้าที่ของรัฐและประชาชนต้องช่วยกันขจัดอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผู้ที่ชี้การชี้เบาะแส รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครอง (ตามมาตรา 63) และหน้าที่ของปวงชนชาวไทยต้องไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น