วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2565

“ทวี สอดส่อง” นำพรรคร่วมฝ่ายค้าน รับหนังสือเครือข่ายยางไทย แก้ปัญหายางพารา-ปาล์มน้ำมันตกต่ำ

(13 ธันวาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานจากอาคารรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 10.30น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย นายมนตรี บุญจรัส คณะกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ และ รองโฆษก พรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย และนายไชยพล เดชตระกูล คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ ด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาชาติ, นายพิทยบรรณ​ ว่องปรีชา , นายพลรักษ์ รักษาพล คณะทำงานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคประชาชาติ รับมอบหนังสือจาก นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา-ปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เรื่อง การแก้ไขปัญหายางพารา-ปาล์มน้ำมัน ราคาตกต่ำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน โดยมีพรรคร่วมฝ่ายค้าน รับหนังสือพร้อมกันในครั้งนี้ด้วย


พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า "การกำหนดนโยบายยางพาราต้องเป็นส่วนสำคัญของทุกพรรคการเมือง โดยทำยางพาราให้มีเสถียรภาพในทุกภาคส่วน ต้องใส่ใจให้เป็นยางพาราแบบครบวงจร ผลักดันให้ยางพาราเป็นผลผลิตที่ส่งออกสูงที่สุดในโลก"


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าเนื้อหาหนังสือได้ระบุว่า เนื่องจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน เป็นอาชีพหลักของเกษตรกรไท และยังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้ให้กับประเทศมหาศาลปีละหลายแสนล้านบาทเป็นอันดับต้นๆ ของโลก  แต่เป็นปัญหาเรื่องของราคาที่ผันผวนขาดเสถียรภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปยางพารา-ปาล์มน้ำมันทั้งระบบครบวงจร เพื่อให้ยางพารา-ปาล์มน้ำมัน และเกษตรกรดำรงชีพอยู่ได้อย่างถาวรมั่นคงและยั่งยืน 


ดังนั้น ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา-ปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย จึงมีแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

.

1.) แนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 1.1 ขอให้เร่งรัดให้มีการชดเชยเงินประกันรายได้ให้กับเกษตรกรตามนโยบายแห่งรัฐโดยเร่งด่วน 1.2 เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดต้นทุนการผลิต พืชผลทางการเกษตรเสียใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ 

2.) แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างมั่นคงและยั่งยืน 2.1 แก้ปัญหาด้านการตลาดโดยการผลักดันให้เกิดเป็นตลาดซื้อขายจริง 2.2 ขับเคลื่อนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าและการใช้ยางในประเทศ โดยเฉพาะนโยบายการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ 2.3 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการส่งเสริมปลูกยางจากเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกยางแบบผสมผสานให้สอดคล้องกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นไปตามแบบแผนของ ก.ย.ท. (ป่าสวนยาง) 

2.4 ส่งเสริมงบประมาณด้านการส่งเสริมอาชีพ เสริมเพิ่มรายได้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ประมงครบวงจร เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในยามวิกฤต 2.5 เร่งรัดพิสูจน์สิทธิ์พื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ทับซ้อนเพื่อสอดคล้องกับกฎหมายกีดกันทางการค้า (FSC) เพื่อให้ทันตามกำหนดภายในระยะเวลา 2 ปี จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาและดำเนินการแก้ไขต่อไป 




นอกนั้นยังมีเรื่องโครงการชะลอยาง ซึ่งเป็นปัญหาของกลุ่มเครือข่ายยาง เพื่อผนึกเข้าร่วมกันเป็นประเด็นในการแก้ไขปัญหายางพารา จาก 4 กลุ่มสวนยาง เช่น ภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศ สมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปยางพารารมควัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น