“พ.ต.อ.ทวี” พอใจภาพรวม “เอ็มโอยูว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล” เหตุครอบคลุมทุกเรื่อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ เล็งเปลี่ยนภารกิจหน่วยปฏิบัติ โดยเฉพาะ กอ.รมน. เลิกระบบ “ทวิรัฐ” เปลี่ยนให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นความมั่นคงของรัฐกับความผาสุกของประชาชนต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ขณะที่สมรสเท่าเทียมไม่บังคับ ไม่ขัดแย้งศาสนา แนะทางออกแก้ 112 ป้องกันการใส่ร้าย หากผู้ถูกร้องไม่ผิด ผู้ร้องต้องรับโทษ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “มอร์นิ่งเนชั่น” ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 เมื่อวันอังคารที่ 23 พ.ค.66 ถึงภาพรวมความพึงพอใจ 23 ข้อของเอ็มโอยู ว่า ใน 23 ข้อเป็นจำนวนมากเป็นส่วนของพรรคประชาชาติที่ได้บอกกับประชาชนเอาไว้ ซึ่งเอ็มโอยูเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ โดยปกตินโยบายสาธารณะเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องทำอะไร แต่สิ่งสำคัญที่เราไม่ค่อยพูดถึงคือ รัฐบาลไม่ควรทำอะไรและรัฐบาลต้องไม่ทำอะไร ก็คือรัฐบาลจะต้องไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือหลักความยุติธรรม อันนี้สำคัญมาก
ทุกวันนี้เราจึงมีกระบวนการข้อหนึ่งคือ ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปราชการ ปฏิรูปกองทัพ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะกฎหมายที่ดีถ้าถูกใช้โดยคนไม่สัตย์ซื่อ หรือไม่ธำรงไว้ซึ่งการจะคุ้มครองสิทธิของประชาชน ก็จะทำให้บ้านเมืองไม่ยุติธรรม ความยุติธรรมเป็นเป้าหมายของการรวมตัวเป็นประเทศชาติ ซึ่งในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน เราต้องแยกผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม และต้องใช้ระบบคุณธรรม ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาสิ่งนี้ถูกละเลย
“สิ่งที่สำคัญในเอ็มโอยูจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจ, รายได้, การปฏิรูปที่ดิน ซึ่งวันนี้เรามีปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินมาก จะต้องกล้ามาทำ แล้วก็ที่สำคัญความไม่ยุติธรรมมากที่สุดคือการจัดทำงบประมาณ เราจะต้องมาสร้างประสิทธิภาพ และยังมีอีกหลายๆ เรื่อง ในเรื่องปัญหาเกษตรกรก็เขียนไว้เยอะมากเลย การประมงอะไรต่างๆ แม้แต่เรื่องแรงงาน ระบบสวัสดิการ โดยรวมๆ พรรคประชาชาติก็พอใจในข้อเสนอ โดยเฉพาะเราต้องแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นมายาวนาน ต้องแก้ให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืน”
@@ สมรสเท่าเทียมไม่บังคับ ไม่ขัดแย้งศาสนา
พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงประเด็นสมรสเท่าเทียมในเอ็มโอยูว่า เรื่องการยืนยันและการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ใช่มาตรการบังคับ แล้วทางพรรคแกนนำก็เขียนไว้ว่า โดยจะไม่บังคับกับประชาชนที่มีความขัดแย้งกับหลักการศาสนาที่ตนเองนับถือ อันนี้ไม่ได้ใช้กันทุกคน สิ่งนี้ท่านอาจารย์วันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ) และคณะก็ได้ดู เพราะว่าบริบทหรืออัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่เราก็เขียนอาจจะไม่ใช่ศาสนาอิสลามอย่างเดียว ไม่ใช่มุสลิมอย่างเดียว ศาสนาอื่นก็เหมือนกัน เราพยายามมองเรื่องพหุวัฒนธรรม
@@ เลิกแก้ปัญหาใต้แบบ “ทวิรัฐ” เปลี่ยนให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ในประเด็นเรื่องการทบทวนภารกิจของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า พรรคที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลือกมากที่สุด คือพรรคประชาชาติ รองลงมาก็คือพรรคก้าวไกล ดังนั้นเราถือเป็นตัวแทนของประชาชน เราจึงได้บรรจุเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไป มันไม่ใช่ปัญหาของคนภาคใต้อย่างเดียว มันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาครั้งหลัง 20 ปีใช้เงินไป 5 แสนล้านบาท ยังไม่ได้รวมเงินตามหน่วยงานปกติ ตามฟังก์ชั่น (งบฟังก์ชั่น) แต่สันติภาพยังไม่เกิดขึ้น เราจึงเห็นว่าภารกิจหรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ใช้ความมั่นคงของรัฐอยู่เหนือความยุติธรรมของประชาชน ทุกอย่างต้องมีการทบทวน
“ในช่วงที่พรรคประชาชาติเราหาเสียง เราจะเปลี่ยนภารกิจของ กอ.รมน.จากความมั่นคงของรัฐเป็นความมั่นคงของประชาชน งบที่ไป กอ.รมน.นั้น คน กอ.รมน.มีแค่ 120 กว่าคน แล้วไปเอาข้าราชการมาบรรจุเป็นกำลังพล ใช้เงิน เมื่อก่อนเกือบหมื่นล้าน เดี๋ยวนี้ 7,000 ล้าน แต่ขณะที่ประชาชน 2-3 ล้านคน กลับไม่ได้รับการดูแลคุณภาพชีวิต ปัญหาปากท้อง ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน การศึกษา อันนี้ถือเป็นสันติภาพเบื้องต้น”
“เราจะต้องเปลี่ยนภารกิจบทบาท กอ.รมน. เราอาจจะต้องเปลี่ยนระบบวิธีคิดจากรัฐซ้อนรัฐ เป็นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง จริงๆ มันเป็นเรื่องการบริหารราชการ ไม่ได้ไปแก้กฎหมาย ไม่ได้ไปแก้อะไรเลย คราวที่แล้วนายกฯ มียศนำหน้าเป็นพลเอก แต่ตอนนี้นายกฯเป็นนายแล้ว และเรื่องหลักการการเมืองนำการทหารมันมีมานานแล้ว แต่เพิ่งมาเปลี่ยนหลังยึดอำนาจให้ทหารนำการเมือง”
“ผมมองว่าวันนี้มันจะพัฒนาไปอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง คือต้องใช้ความยุติธรรมและการศึกษานำการทหาร นำการเมืองด้วยซ้ำไป เพราะภาคใต้อยู่ในภาวะของความหวาดระแวง ความไม่เข้าใจ ที่สำคัญในสามจังหวัดไม่ใช่พี่น้องที่เป็นมุสลิมอย่างเดียว เรามีพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธและพี่น้องที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีความปลอดภัยและมีอนาคต”
“สันติภาพกับการแบ่งแยกดินแดนเป็นคนละเรื่องกัน สันติภาพคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดินแดนเราจะแบ่งแยกไม่ได้อยู่แล้ว มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ว่าเราต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เรียกว่า ‘พหุวัฒนธรรม’ เมื่อก่อนเราแก้ปัญหาแบบ ‘ทวิรัฐ’ คือคนถือปืนกับคนมีความขัดแย้ง แต่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมเลย วันนี้เราต้องกล้าให้ประชาชนมีส่วนร่วม“
@@ ความมั่นคงของรัฐกับความสุขประชาชนต้องเป็นเรื่องเดียวกัน
“เราต้องมานิยามก่อนว่า ความมั่นคงของรัฐกับความสุขของประชาชนต้องเป็นเรื่องเดียวกัน วันนี้ภารกิจของ กอ.รมน. เหมือนมองแค่ความมั่นคงของรัฐ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส แย่งกันเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรมากที่สุด ดังนั้นรัฐต้องไปดูแล อย่างเช่น อาชีพประมงถูกทำลายด้วยออกกฎหมายเหมือนห้ามทำการประมง พ.ร.ก.การประมง ลักษณะอย่างนี้ กอ.รมน.ต้องมาดูแลเรื่องพวกนี้ด้วย ไม่ใช่ กอ.รมน.เอางบไปเรื่องการข่าว พอเป็นเรื่องการข่าว เป็นเรื่องหวาดระแวง เป็นเรื่องความมั่นคงหมด ที่ผมพูดไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลนะ แต่เป็นมุมมองของผม”
“ในรายละเอียดเอ็มโอยู เราต้องมาคุยกัน ทุกพรรคการเมืองจะมีคณะทำงานทำนโยบาย ซึ่งทางพรรคประชาชาติได้เตรียมรายละเอียดไว้ทุกข้อ ทั้ง 23 ข้อ และก็มีบางข้อที่ไม่ได้ใส่ไว้ ที่เราเสนอ เรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องหนี้สินเกษตรกร หนี้สินทางด้านการศึกษา เช่น กยศ. หนี้สินครู หนี้สินข้าราชการ”
“พรรคประชาชาติมีองค์ความรู้ว่า เวลาใช้นี้ต้องไปหักเงินต้นที่กู้ยืมก่อน แต่ที่ผ่านมา เวลาเราส่งเงินไปใช้หนี้ไปใช้เบี้ยปรับและดอกเบี้ยก่อน หากเหลือจึงไปหักเงินต้น จึงเห็นว่าใช้หนี้ไปเท่าไหร่เงินต้นไม่ลดลงเลยเราต้องแก้ลำดับการใช้หนี้ว่าเงินที่ใช้ไปต้องหักเงินต้นก่อน แล้วจึงไปหักดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ แม้มีแก้กฎหมายแพ่ง ซึ่งมันแก้ไปแล้ว แต่ว่าหนี้เก่า ยังไม่ได้ประโยชน์ ส่วนหนี้ กยศ. เราก็ต้องผลักดันให้แก้ ขณะนี้กองทุน กยศ ยังไปนำไปปฏิบัติที่ลูกหนี้จำนวนมากจ่ายเงินไปอาจเกินเงินต้นที่กู้ยืมจะต้องได้รับประโยชน์เราสิงที่จะผลักดันในอนาคตต้องมีระบบฟื้นฟูบุคคลธรรมดามาใช้ สิ่งต่างๆ พวกนี้ก็คือบางส่วนที่ไม่อยู่ในนี้ อันนี้คือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่อย่างนั้นสถาบันการเงิน หรือแบงก์ ก็รวยอยู่อย่างเดียว”
@@ แนะทางออก 112 หากผู้ถูกร้องไม่ผิด ผู้ร้องต้องรับโทษ
กรณีไม่มีประเด็นแก้ไขมาตรา 112 ในเอ็มโอยู พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หลักการ 23 ข้อไม่มีประเด็นเรื่องนี้ แต่ว่าจะมีอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องความยุติธรรม เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย
“ผมเองเคยเป็นอธิบดีดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) เคยอยู่กองปราบ การที่กฎหมายทุกชนิด ไม่ว่ากฎหมายจะดีแค่ไหน จะยุติธรรมแค่ไหน มันก็เป็นเพียงกฎหมาย แต่โดยผู้พิทักษ์กฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือผู้พิพากษาที่มีความสัตย์ซื่อ แม้แต่เรื่อง 112 เราน่าจะถึงเวลาแล้วว่า หมวดความผิดเรื่องความมั่นคงตามกฎหมายอาญาเดิมคงไม่ไปแก้ แต่วิฯอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) หรือการที่จะกำหนดผู้เสียหาย ไม่ใช่ว่านักร้องเรียนก็ไปร้องได้ มันขาดหลักเกณฑ์”
“อันนี้ผมคิดว่าก็มีหลายคนพูดไว้ แต่เรายังไม่ลงรายละเอียด เพราะแนวความคิดเรื่องการไปแก้เนื้อหาวิฯอาญา หรือมี พ.ร.บ.ผู้เสียหายฯ ที่กำหนดขั้นตอนการเป็นผู้เสียหายว่า ผู้ที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษ จะต้องมีสถานะเป็นผู้เสียหายอย่างไร แล้วก็มีองค์กรในการดูเรื่องนี้”
“ผมคิดว่าเรื่องนี้ก็มีความสำคัญ ถ้าเราไปเถียงกันเรื่องโทษว่ามากหรือน้อย ในหลักอาชญาวิทยา คือโทษต้องเป็นภยันตรายต่อสังคมแค่ไหน ซึ่งมุมมองภยันตรายต่อสังคมหรือความสุขของประชาชนในแต่ละประเทศมันจะต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งคือเราจะต้องไม่ใช้เรื่องนี้ไปกลั่นแกล้ง หรือไปถึงเรื่องความคิดที่มันใช่-ไม่ใช่ แล้วตอนหลังมันก็ขยายไปทั่ว”
“ในเอ็มโอยูไม่มีเรื่องนี้ ก็ต้องดูว่าพรรคก้าวไกลจะเสนออย่างไร แต่ในพรรคประชาชาติเราเห็นว่า วันนี้มันมีกระบวนการที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีหากคนที่ถูกกล่าวหาไม่ผิด ผู้ที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษอาจจะต้องรับโทษ ไม่ใช่ว่ายืมมือใคร หรือบัตร์สนเท่ห์ใบเดียวก็ไปทำร้ายคนอื่น”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น