วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เลือกตั้ง 2566 : “พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง” ปักหมุด พรรคประชาชาติ ทิ้งทวนหาเสียงโค้งสุดท้าย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 พ.ค.2566) นับถอยหลังอีกเพียง 2 วันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 14 พ.ค.นี้ เป็นวันเลือกตั้ง ยิ่งใกล้ช่วงโค้งสุดท้ายในการหาเสียงของพรรคประชาชาติยิ่งเข้มข้นมากขึ้น


บรรยากาศล่าสุด เวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคประชาชาติ จัดขึ้น ที่ หน้าสนามที่ว่าการอำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยวันนี้มีประชาชน จาก เขต 5 อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ เขต 2 อ.รามัน จ.ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง หมื่นกว่าคน เพื่อหาเสียงขอคะแนนให้ผู้สมัครเบอร์ 4 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ และผู้สมัครเบอร์ 11 นาย ซูการ์โน มะทา ซึ่ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ หมายเลข 11 อ้อนขอคะแนนเสียงให้ ส.ส. ทั้งเขตและพรรค



เนื้อหาการปราศรัยของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ มีการนำเสนอนโยบายพรรคทุกมิติที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งพัฒนา การแก้ปัญหา และการชูอุดมการณ์พรรค โดยประชาชนให้ความสนใจ นโยบายการขจัดปัญหาความยากจน เรื่องที่ดินทำกินนโยบายรัฐสวัสดิการตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงเสียชีวิต การสร้างสันติภาพ และ ล้างหนี้ กยศ.เรียนฟรีมีคุณภาพถึงปริญญาตรี รวมทั้งต่างเชื่อมั่นว่า เมื่อเข้าเป็นรัฐบาลประชาชาติเข้าถึงได้ง่ายและจะเกิดการพัฒนาและแก้ปัญหา


พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวปราศรัย โดยมีเนื้อหา ระบุว่า ปัญหาทั้งหลายที่เราต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ปัญหาการคอรัปชั่น หรือปัญหาอื่นๆที่ร้ายแรงในสังคม เป็นเพียงปลายเหตุ เพราะต้นเหตุของปัญหานี้

.
ประการที่ 1) เกิดจากความไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นต้องสร้างความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาให้ได้ ระบอบประชาธิปไตยคือ ระบอบที่การปกครองนั้น มาจากการยอมรับของผู้ถูกปกครอง ผู้ที่ขึ้นมาปกครองไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนที่มีฐานันดร ไม่ใช่คนที่มีความเหนือกว่า ไม่ว่าจะสถานะ ฐานะทรัพย์สินต่างกัน แต่เขาปกครองได้ เพราะคนอื่น ๆ ทั้งหลายนั้นยอมรับเขา การยอมรับคือต้องให้เขาเลือก จะเลือกด้วยวิธีการอะไรต่าง ๆ อันนั้นคือให้การให้ความยอมรับ ไม่ใช่อยู่ที่ตัวคนที่ขึ้นมาปกครองว่าเขาจะเป็นเทวดา หรืออะไรต่างๆนั้น ไม่สำคัญ เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมคิดว่า ถ้าหากว่าเราให้ระบบประชาธิปไตยก้าวเดินต่อไป รากฐานของความเป็นชาติเนี่ยมันจะได้รับการสานต่อ มันจะได้รับการปลูกฝัง และก็สร้างความมั่นคงขึ้นทีละก้าวนะครับ

.
ประการที่ 2) คือ ต้องมีการกระจายอำนาจลงไปสู่ระดับชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจในอนาคตของตัวเองได้ นี่คือกระบวนการที่เรียกว่าประชาธิปไตย

.
ประการที่ 3) คือ ต้องมีความยุติธรรม เกิดมาเป็นมนุษย์จะยากดีมีจน มีฐานะร่ำรวยหรือยากจนแต่ค่าของชีวิตเท่ากันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความรักความสามัคคี ก็คือการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นให้จงได้ และ ประการที่ 4) คือต้องมีการปฏิรูป คำว่าปฏิรูปในที่นี้คือ การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยกระบวนการสันติและประชาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น