วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559
“พรรคเพื่อไทย” แพร่แถลงการณ์ แนะรัฐให้ความเป็นธรรมคดีจำนำข้าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ผ่านเว็บไซต์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ตามที่รัฐบาลโดยความเห็นชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เตรียมการที่จะออกคำสั่งทางปกครองให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชำระค่าเสียหายที่อ้างว่าเกิดจากการดำเนินการ "โครงการรับจำนำข้าว" เป็นจำนวนเงินประมาณ 35,000 ล้านบาทนั้น พรรคเพื่อไทยได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริง หลักกฎหมายและเหตุผลทั้งปวงแล้วเห็นว่า การใช้คำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบายสาธารณะของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่อาจกระทำได้ และขัดต่อกฎหมาย หลักนิติธรรม และพันธกรณีระหว่างประเทศ ด้วยเหตุผล ดังนี้
1. โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อันถือเป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะ
เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงไม่อาจใช้เกณฑ์เรื่องกำไรหรือขาดทุนเพื่อกำหนดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินได้ เช่นเดียวกับนโยบายสาธารณะอื่นๆ การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่อาจถือว่าเป็นการทำละเมิดที่จะนำมาเป็นเหตุเพื่อเรียกค่าเสียหายจากนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องได้
2. รัฐบาลนี้ได้อำนาจมาโดยผลพวงจากการที่ คสช. ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลเดิมที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีได้แสดงความคิดเห็นผ่านสาธารณชนหลายครั้งว่าไม่เห็นด้วยกับ “โครงการรับจำนำข้าว” รัฐบาลจึงขาดความเป็นกลาง และถือเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับอดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น การที่รัฐบาลจะใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครอง เพื่อเรียกค่าเสียหายและใช้คำสั่งของหัวหน้า คสช. เปลี่ยนแปลงกลไกทางกฎหมายปกติให้อำนาจของหน่วยงานรัฐ ยึด อายัด ทรัพย์สินอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องได้ทันทีโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมทางศาล และศาลยังมิได้มีคำพิพากษา การกระทำดังกล่าวเป็นการทำละเมิดหรือไม่นั้น จึงเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรมและละเมิดสิทธิของอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรม กรณีดังกล่าวหากรัฐบาลเห็นว่ามีการทำละเมิดและประสงค์จะเรียกค่าเสียหาย ก็ควรใช้ช่องทางฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดว่าได้มีการทำละเมิดจริงหรือไม่?
3. กระบวนการเรียกให้ชำระค่าเสียหาย โดยใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครองล้วนเกิดจากรัฐบาลและ คสช. ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ในการตรวจสอบและกำหนดค่าเสียหายโดยอ้างว่าเกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ ทั้งๆ ที่การดำเนินโครงการดังกล่าว หน่วยงานของรัฐเท่านั้นเป็นผู้ทำนโยบายไปปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น คณะกรรมการดังกล่าวก็อยู่ในการกำกับหรือการบังคับบัญชาของรัฐบาลและ คสช. ที่สามารถจะชี้นำการดำเนินการได้ทุกอย่าง การตรวจสอบและการเรียกค่าเสียหายจึงขาดความเป็นกลางและไม่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรมได้ จึงขัดต่อหลักนิติธรรม
4. พรรคเห็นว่าแทนที่รัฐบาลจะเรียกค่าเสียหายจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยใช้กลไกทางคดีแพ่งปกติ และใช้กฎหมายที่มีอยู่ แต่รัฐบาลและหัวหน้า คสช. กลับเลือกที่จะใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครอง และอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ คสช. ร่างขึ้น ออกคำสั่งฉบับที่ 39/2558 และ ฉบับที่ 56/2559 โดยให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งให้ไม่ต้องรับผิด และให้อำนาจกรมบังคับคดีบังคับทางปกครองแทนที่จะเป็นหน่วยงานปกติ จะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถถูกตรวจสอบตามกฎหมายปกติได้ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขัดต่อหลักความเสมอภาคที่กำหนดว่าบุคคลย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
5. มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีเนื้อหาขัดหลักการประชาธิปไตย ขัดหลักนิติธรรม และขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจ อำนาจตามมาตรานี้มิได้มาจากความยินยอมของประชาชนแต่เป็นสิ่งที่หัวหน้า คสช.เขียนให้อำนาจตนเอง ยิ่งกว่านั้น มาตรา 44 ได้กำหนดเงื่อนไขที่หัวหน้า คสช.จะสามารถใช้อำนาจได้ ซึ่งพรรคเห็นว่าการออกคำสั่งฉบับที่ 39/2558 และ ฉบับที่ 56/2559 มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่มาตรา 44 กำหนดไว้ ดังนั้นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งดังกล่าวจึงขัดหลักนิติธรรม
จากการที่กฎหมายเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งโดยการฟ้องต่อศาลแพ่ง ดังเช่นที่เคยยื่นฟ้องอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาแล้ว รัฐบาลในขณะนั้นมิได้มีที่มาจากการรัฐประหารและมิได้เป็นคู่ขัดแย้งกับจำเลยคนดังกล่าว แต่ก็ยังเลือกใช้วิธีการฟ้องต่อศาลแพ่ง ในทางกลับกัน รัฐบาลปัจจุบันซึ่งมาจากการรัฐประหารซึ่งทำให้รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายจำนำข้าวต้องพ้นไป จึงควรต้องดำเนินการด้วยความเป็นกลาง และเป็นธรรมต่อผู้ที่ถูกกล่าวหา เพื่อให้สาธารณชนได้รู้สึกว่ากระบวนการทั้งปวงไม่ใช่การดำเนินการที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่เป็นการดำเนินการทางกฎหมายที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ตามหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน
จากเหตุผลข้างต้น พรรคเพื่อไทยจึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครองให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดและชำระค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว หากรัฐบาลและ คสช. ประสงค์ที่จะพิสูจน์ว่ามีการทำละเมิดจริงหรือไม่? และใครเป็นผู้ทำละเมิดรวมถึงมีความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรในโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลและ คสช. ควรสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ดี ยึดมั่นในหลักนิติธรรมและปฏิบัติตามกฎหมายโดยการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ดังเช่นที่เคยกระทำมาในอดีต เพื่อให้ศาลแพ่งเป็นผู้พิจารณาตัดสินเรื่องความรับผิดทางแพ่งและกำหนดค่าเสียหาย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย อันจะเป็นการผดุงความยุติธรรมที่แท้จริง พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าการเคารพหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน จะนำไปสู่ความยุติธรรม และความสามัคคีปรองดองของคนในชาติต่อไป
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
12 ตุลาคม 2559
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
TV24 สถานีประชาชน
ตอบลบทีวี รับได้แต่ภาพ มีเสียงเพลงเปิดตลอดทั้งวัน
เป็นมาหลายวันแล้ว นับแต่ทหารมาเตือน อนุสรณ์ ที่สถานี