วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2565

“ทวี” ชื่นชมการประกวดสุนทรพจน์ภาษามลายู

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ชื่นชมการประกวดสุนทรพจน์ภาษามลายู ชี้ "สูญสิ้นภาษา คือการสูญสิ้นชาติพันธุ์" แนะไทยใช้ประชาคมอาเซียน เป็นช่องทางนำภาษามลายูสู่สากล เพื่อการเรียนรู้ พร้อมพัฒนาเศรษฐกิจ  ย้ำประเทศไทยโชคดีมีพี่น้องชายแดนใต้ใช้ภาษามลายู


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวในงาน PIDATO หรือประกวดสุนทรพจน์ภาษามลายู ว่า “ช่วงที่ผมเป็นเลขาธิการ  ศอ.บต. เรามีวาระสำคัญคือการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน โดยประชาคมอาเซียนจะมีประชากรประมาณ 600 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็น 1 ใน 10 ของประชากรโลก ถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจและสังคมที่ใหญ่คล้ายเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่เขามีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจประมาณอันดับ 8 ของโลก รองจากจีน บราซิล อินเดีย หรืออเมริกา 

ในประชาคมอาเซียนที่เรารวมตัวกัน เราก็พบว่ามีพี่น้องที่เป็นมุสลิมอยู่ประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ประมาณ 250 ล้านคน หลักๆประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน แล้วก็ในอาเซียนจะมีประชากรที่นับถือศาสนาพุทธอยู่ประมาณ 150 ล้านคน ก็คือเวียดนาม ไทย และเมียนมา เรามีประชาคมอาเซียนที่นับถือศาสนาคริสต์ ประมาณ 85 ล้านคน ก็คือ ฟิลิปปินส์ และยังมีศาสนาฮินดู นี่คือประชาคมอาเซียน 


พี่น้องมุสลิมที่เอ่ยชื่อประเทศ ไม่ใช่ว่าเป็นในประเทศที่เป็นศาสนาพุทธ หรือศาสนาคริสต์ จะไม่มีมุสลิม ยกตัวอย่าง ประเทศไทย  ในการรวมตัวเป็นอาเซียนก็ต้องมีพี่น้องมลายูมุสลิม ซึ่งอันนี้ผมมองว่าเป็นโอกาสของประชาคมอาเซียนและเป็นโอกาสของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่มีพี่น้องที่เป็นมลายูมุสลิม และเป็นพี่น้องที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอาเซียน 

เราเข้าสู่อาเซียนมานานหลายสิบปี มาถึงวันนี้ แต่เรายังขาดการใช้โอกาส เราจะเห็นว่าในการพัฒนาของตะวันตกได้ถูกด้อยค่าหรือมีความถดถอย เนื่องจากการพัฒนาเป็นไปในแนววัตถุ เป็นไปในแนวผลประโยชน์ส่วนตัว จึงทำให้ทิศทางการพัฒนาเกิดความด้อยลง สิ่งที่ทำให้เรามองเห็นก็คือว่า ความเป็นอาเซียนที่เป็นที่หลอมรวมของพหุวัฒนธรรม ก็คือศาสนาที่เรามีศาสนาหลอมรวมกัน ถือเป็นความเข้มแข็ง


ผมยังจำได้ว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2557 ก่อนที่จะยึดอำนาจ เราได้มีสถาบันภาษามลายู แล้วก็มีวิธีการที่สถาบันภาษามลายูจะพัฒนาภาษามลายูที่ถือว่าเป็นสิ่งเดียวที่จะแสดงความเป็นชาติพันธุ์ที่แสดงความเป็นชาติ แสดงความภูมิใจ ก็คือใช้วิธีการประกวดสุนทรพจน์ ผู้ที่นั่งอยู่ในที่นี้เกือบทุกคนได้ไปเป็นผู้จัด เพราะการประกวดสุนทรพจน์เป็นการหลอมรวมความคิด หลอมรวมสติปัญญา แล้วมาเรียบเรียงเป็นภาษา 

ที่สำคัญก็คือภาษามลายูเป็นภาษาสากล อะไรที่ใช้กันมากกว่า 1 ประเทศ เป็นภาษาสากล การประกวดสุนทรพจน์ก็คือการพัฒนาภาษามลายู อักษรยาวีหรือภาษาของคนปัตตานี คนสตูลก็บอกว่าเป็นภาษาของคนสตูล ไปสู่ภาษาสากล คือมลายูสากล อันนี้ถือเป็นความชาญฉลาด เป็นความคิดของนักปราชญ์ที่นั่งอยู่ในที่นี้ เพื่อต้องการยกสถานะของภาษามลายูที่ถูกทอดทิ้ง เราปล่อยให้โต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม อุสตาซ หรือผู้นำศาสนาได้รักษาปกป้องแล้วก็พัฒนา ซึ่งในหลายครั้งไม่ได้พัฒนาเป็นระบบ 


วันนี้ภาษาเรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอาเซียน โดยเฉพาะอาเซียนที่เป็นคนส่วนใหญ่ หรือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะจุดเริ่มต้นของภาษาก็คือเราต้องสื่อสารกัน ผมเองก็ยังเชื่อมั่นว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมมลายู เป็นโอกาสของประเทศไทย ไม่ใช่เป็นอุปสรรคเลย เป็นโอกาสที่จะสร้างความเจริญ เป็นโอกาสที่จะเอามรดกที่ล้ำค่า มรดกทางวัฒนธรรมที่เรามีอยู่และเรารักษาไว้นี้ ไปสื่อสาร ไปจุดการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ สร้างความเจริญให้กับลูกหลาน 

งานในวันนี้ผมคิดว่า คนอาจจะมองว่าเป็นแค่การประกวดสุนทรพจน์ แต่วันนี้ที่แฝงลึกไว้ก็คือมาหลอมรวมกัน เพื่อจะพัฒนาภาษา แล้วสิ่งที่จะปรากฏเราจะได้ไปบอกกับประเทศที่สื่อสารด้วยภาษามลายู แล้วเราต้องการจะถ่ายทอดภาษามลายู ประเทศไทยต้องภูมิใจว่า ภาษามลายูก็คือภาษาของประเทศไทย ถึงเวลาแล้วที่ควรจะยกระดับภาษามลายูเป็นภาษาราชการ แต่สิ่งที่เราบอกว่าการยกระดับภาษามลายูเป็นภาษาราชการนั้นมันอาจจะยาก 


แต่วันนี้เรามีช่องทางของอาเซียน เพราะอาเซียนเชื่อว่าความเป็นคนมุสลิมหรือความเป็นคนทั่วไป เขาต้องใช้ภาษาเพื่อความอยู่รอด เพื่อสันติภาพ และก็เพื่อความยั่งยืนในการอยู่รอดของลูกหลาน เราหนีไม่พ้นเราต้องใช้ศักยภาพของภาษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 


พูดในสมัยรัฐบาลชุดนี้เขาอาจจะไม่สนใจ แต่ผมเชื่อมันว่าวันนี้เมื่ออาเซียนนำไปแล้ว เขาต้องการนำภาษามลายูเป็นภาษาราชการ หรือเป็นภาษาที่สอง รองจากภาษาอังกฤษ  ไม่ใช่รองจากภาษาของประเทศเจ้าของภาษา  


ผมก็คิดว่าพี่น้องในสามจังหวัด เมื่ออาเซียนถือว่าเป็นจุดความสามัคคี แล้วอาเซียนก็เห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่แล้วว่า ต้องการเอาภาษามลายูขึ้นมาเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาทุกประเทศ เขมรยังพูดภาษามลายูเลย ยังส่งเสริมเลย อันนี้ก็คือจุดสำคัญ งานในวันนี้ถือว่าสำคัญยิ่ง ผมพูดเสมอว่าอันนี้คือทางออก เหมือนคนมองเห็นทุกอย่างแต่มองไม่เห็นขนตาของตัวเองที่มีความสำคัญ


ท้ายที่สุดก็ขอแสดงความชื่นชมจริงๆ ไม่ทราบว่าหลังจากปี 2557 การจัดจะใหญ่กว่านี้หรือไม่ ตอนนั้นเรามีสถาบันภาษามลายู เรามีสถานีทีวีมลายู มีสถานีวิทยุมลายู  เมื่อวานผมพาคณะของสมาคมโรงเรียนเอกชน 5 จังหวัด ก็คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล ไปเยี่ยมกรุงเทพมหานครน (กทม.) ท่านชัชชาติ (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.) โทรมาบอกท่านติดภารกิจ ท่านให้ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.มาต้อนรับ 


ผมยังบอกกับสมาคมที่ไปด้วยกัน รู้ไหมในช่วงที่เราจะสร้างสันติภาพ เราใช้สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ให้ท่านอุสตาซฮาซัน ตอยิบ มาพูดกับ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก เพื่อทำความเข้าใจกับการสร้างสันติภาพว่า สันติภาพมีความสำคัญ สรุปท่านได้บรรยายหมด สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจะไปถามเรื่องการพูดคุยสันติภาพ เพราะ พล.อ.นิพัทธ์ เป็นคนที่ที่น่าเชิดชู เพราะเขาไปสร้างสันติภาพที่อาเจะห์ แต่เขาสร้างสันติภาพภาคใต้ไม่ได้ เพราะพอยึดอำนาจ (ปี 2557) ก็ย้าย พล.อ.นิพัทธ์ ไป  ท่านนิพัทธ์ ได้ตอบเป็นคำคมสุดท้ายว่า ทำไมสันติภาพจึงไม่เกิด เพราะผู้มีอำนาจเขาไม่รู้ตัวเองว่าเขาไม่รู้เรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่คือคำตอบ


ผมตั้งใจที่จะมาสื่อสาร อยากให้เห็นว่า ภาษามลายูมีความสำคัญ อย่างที่คติพจน์ของพี่น้องมลายูบอกว่า ‘การสูญสิ้นภาษา คือการสูญสิ้นชาติพันธุ์’ อันนี้อยากให้พวกเรารักษาไว้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น