วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566

"จาตุรนต์" ชูกระจายอำนาจ-ลดเหลื่อมล้ำ หนุนท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง


(วันที่ 22 มีนาคม 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ สุขุมวิท กรุงเทพฯว่าเครือเนชั่น ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา “ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง” มีการให้ตัวแทนพรรคการเมืองเปิดนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราพูดเรื่องกระจายอำนาจ ความจริงต้องพูดถึงบทบาทของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นว่า จะวางบทบาทแต่ละส่วนอย่างไรให้เหมาะสม ในโลกปัจจุบันมีเรื่องใหญ่มากเลยที่รัฐบาลต้องทำ และทำไม่ทัน ทำไม่ได้ดี รัฐบาลในส่วนกลาง ไม่ควรแย่งงานท้องถิ่น ไม่ควรทำแทนท้องถิ่น นี่คือหลักการใหญ่

.
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เราพูดกันในขณะนี้ โลกคือสังคมที่ใกล้ตัวเราเข้ามา ต้องการดูแล การแก้ปัญหา ต้องการบทบาทของท้องถิ่นในการพัฒนา ในการสร้างความเจริญ สังคมที่สูงวัย ต้องการที่จะมีการดูแลคนในชุมชน แล้วเราก็อยู่ในช่วงที่ดิจิทัลอีโคโนมี มีศักยภาพ อีคอมเมิร์ซแพร่หลายไปทั่ว เราต้องการพัฒนาสกิล ทักษะ สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องใกล้ตัวเข้ามา เราต้องมาคิดว่า ท้องถิ่นมีบทบาทหน้าที่นี้อย่างไร ?
.
“การเลือกตั้งท้องถิ่นผ่านไปแล้ว หลังสุดคือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เราเห็นความตื่นตาตื่นใจดังกล่าว เห็นบทบาท กทม.มากกว่าท้องถิ่นทั่วไป กำลังมีเทรนด์ โมเมนตั้มของท้องถิ่น ที่พูดต่อไปนี้จะนำไปสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ยึดอำนาจ การกระจายอำนาจก็ถอยหลัง ท้องถิ่นอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ก็เลยไม่มีท้องถิ่นพูดอะไรเท่าไหร่ มาวันนี้พ้นสภาพนั้นไปแล้ว กำลังเข้าสู่การเลือกรัฐบาลใหม่” นายจาตุรนต์ กล่าว


.
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ในขณะที่สังคมไทย ประเทศไทยกำลังต้องการกระจายอำนาจอย่างมาก เราจะพบว่า 9 ปีมานี้ จนถึงปัจจุบัน การกระจายอำนาจของไทย ถอยหลังที่สุดในรอบ 25 ปี เช่น การกำกับควบคุมจากส่วนกลางมีเต็มไปหมด คำสั่งครอบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่ การทำแผนต้องสอดคล้องกับแผนจังหวัด นี่คือเรื่องผิดเลย เพราะงานคนละส่วนกัน ท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องขึ้นกับจังหวัด แต่กฎหมายดังกล่าวทำให้ต้องทำตามแผน นอกจากนี้โครงการจำนวนมากต้องผ่านการอนุมัติของอำเภอ และผู้ว่าฯ ก็ผิดหลักอีก ทั้งที่ควรให้สภาฯท้องถิ่นอนุมัติไป
.
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันคำสั่ง คสช.เรือ่งการบริหารงานบุคคล หรือแต่งตั้งโยกย้ายก็ครอบเขาไว้ ทำให้ท้องถิ่นอยากจะได้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ก็ทำไม่ได้ ทำได้ช้า กว้างกว่านั้นการโยกย้ายต้องให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น สามารถดูว่าจะได้บุคลาการอย่างไร และให้เส้นทางความก้าวหน้าของข้าราชการท้องถิ่นเขาไปได้ทั่วประเทศ ต้องสมดุลอันนี้ ส่วนเรื่องการถ่ายโอนภารกิจชะงักไปมาก มีการดึงกลับไปส่วนกลาง การแบ่งงานไม่ชัดเจน เกิดความซ้ำซ้อน ทำอะไรไม่ได้จำนวนมาก เช่น ท้องถิ่นจัดงานประเพณี จัดกีฬาท้องถิ่น ไม่สามารถทำได้ เป็นต้น 

.
“ปัญหาใหญ่อยู่ที่คณะกรรมการกระจายอำนาจ ไม่ได้จัดแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน เราต้องการให้ท้องถิ่นรีสกิล อัพสกิล ส่งเสริมนวัตกรรม ฝึกอาชีพ แต่ สตง.อ้างว่าทำไม่ได้ เมืองสมัยใหม่ต้องการพัฒนา พรรคเพื่อไทยคิดว่า จังหวัดจัดการตนเอง ต้องการทำเรื่องนี้จริงจัง เราส่งเสริม จังหวัดไหนมีความพร้อม มีเงื่อนไขเหมาะสม เลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดนำร่อง ประมาณ 4-5 จังหวัด นโยบายพรรคเพื่อไทย” นายจาตุรนต์ กล่าว
.
แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า การเพิ่มรายได้จากเดิม 30% มันช้ามาตลอดในช่วง 9 ปีนี้ ไม่มีการจัดแบ่งรายได้ให้สอดคล้องกับภารกิจ ไม่ได้ทำมานานแล้ว การสั่งให้ท้องถิ่นทำนู่นนี่ งานต่าง ๆ ไปฝากไว้กับท้องถิ่น เบี้ยยังชีพ นมโรงเรียน อาหารกลางวัน งานใหม่ ๆ สั่งไป ไปคิดเงินในบัญชีฝ่ายท้องถิ่น 29-30% ไปอยู่ในนั้น งานที่ท้องถิ่นจะทำ โดยความต้องการของท้องถิ่น โดยประชาชนในพื้นที่ ทำไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ต้องทำงานที่รัฐบาลสั่งมา
.
“หลังสุดแย่มากคือสภาผู้แทนราษฎรพิจารณางบ อปท. ผิดอย่างที่สุด สิ่งที่ต้องทำ ยกเครื่องคณะกรรมการกระจายอำนาจ จัดแบ่งหน้าที่ เงินงบประมาณกันใหม่ บุคลากรดูแลใหม่ ขั้นต่อไปแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่กดทับท้องถิ่น สุดท้ายคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญเอาท้องถิ่นกลับมาในรัฐธรรมนูญเพื่อให้สถานะกลับมาเหมือนเดิม” นายจาตุรนต์ กล่าว

.
เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไร ? ต่อข้อเสนอให้ปรับปรุงแนวทางการแบ่งภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่างรัฐกับท้องถิ่น (1 ใน 9) ให้มีสัดส่วนให้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เช่น 2:8 หรือ 3:7 เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจระหว่างรัฐกับท้องถิ่น นายจาตุรนต์ กล่าวว่าโดยรวมท้องถิ่นควรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับรายได้ของรัฐ สัดส่วนที่ว่าจะให้เป็น 35% ต้องเพิ่มเข้าไป โดยเพิ่มงาน ภารกิจ และบุคลากร เป็นค่าใช้จ่ายที่เขาต้องดูแล แต่การเพิ่มทำได้หลายวิธี วิธีสุดท้ายคือเงินอุดหนุน ควรเปลี่ยนเป็นอุดหนุนทั่วไป มากกว่าอุดหนุนเฉพาะกิจ ส่วนภาษีออกแบบได้หลายแบบ หลายภาษี รวมทั้งการเพิ่มภาษีใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับท้องถิ่น ภาษีเดิมของท้องถิ่น ไม่ใช่รัฐบาลสั่งระงับไม่ต้องเก็บบ่อย ๆ แบบนี้ไม่ได้ ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเพียงตัวอย่าง จะมูลค่าเพิ่มก็ได้ หรือภาษีอื่นก็ได้กับท้องถิ่น ไม่ใช่เป็นเรื่องว่าต้องเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น
.
“เมื่อคำนวณทั้งหมดทั้งระบบ ควรเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม สัดส่วนให้แก่ท้องถิ่นเพิ่ม แต่มันจะไม่พอ จริง ๆ แล้วเรื่องรายได้ท้องถิ่น ต้องวางระบบใหม่ ภาษีตัวไหนเหมาะให้ใครกันแน่ หรือภาษีตัวไหนยกให้ใครไปเลย ให้ประชาชนรู้ว่า การเก็บภาษีนี้ องค์กรไหนใช้ เขาจะได้ตรวจสอบได้ การแบ่งอำนาจเกินไป คนไปใช้มีหลายฝ่าย ชาวบ้านไม่รู้ตรวจสอบกับใคร” นายจาตุรนต์ กล่าว
.
เมื่อถามว่า การกระจายอำนาจคือการโอนงาน คน และงบให้ท้องถิ่น การโอนงานควรโอนอะไรบ้าง มีมุมมองอย่างไร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เรื่องสาธารณสุขมีโอน รพ.สต. แต่ยังมีปัญหาที่ยังไม่ได้ดูแลทั้งงบ และบุคลากร ทำให้เพิ่มบุคลากรกันขึ้น เนื่องจากบุคลากรไม่ได้ตามไป รพ.สต. ท้องถิ่นจึงต้องหาเพิ่ม ไม่มีคนคุมว่ากำลังคนทำอย่างไร เพิ่มรายจ่ายประจำอีก


.
“ท้องถิ่นใหญ่ ๆ มีศักยภาพน่าจะทำบริการสาธารณสุขมากกว่า รพ.สต. อย่าง กทม.ทำได้ มีโรงพยาบาลอยู่ ท้องถิ่นอื่นที่มีศักยภาพน่าจะทำได้ เรื่องการศึกษา เป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่ว่าในสถานการณ์ขณะนี้ที่นักเรียนน้อยลงมา โรงเรียนหลายแห่งอยู่ไม่ได้ อย่าเพิ่มโรงเรียน สพฐ. แต่หาทางส่งเสริมให้ท้องถิ่นเพิ่มโรงเรียน การดูแลเรื่องการศึกษายุคปัจจุบัน ไม่ใช่คิดแค่โรงเรียน หรืออาชีวะเท่านั้น การฝึกอาชีพ ส่งเสริมนวัตกรรมทั้งหลาย ต้องเป็นบทบาทของท้องถิ่น การเรียนรู้ตลอดชีวิต ท้องถิ่นต้องทำได้ แต่บทบาทอีกหลายด้านในโลกยุคปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ศึกษา และสาธารณสุข แต่รวมถึงการสร้างกิจกรรม รายได้เข้ามาในท้องถิ่น สตง.ไม่เข้าใจ ทำให้เขาทำไม่ได้ เขาคิดแค่ว่าเป็นรายจ่าย เอาเงินไปใช้ แต่ท้องถิ่นคิดได้ว่า จัดกิจกรรมมีรายได้เข้ามาในท้องถิ่น” นายจาตุรนต์ กล่าว

.
เมื่อถามว่า ปัจจุบันมีการพูดถึงเขตปกครองพิเศษทางเศรษฐกิจ เขตปกครองพิเศษทางวัฒนธรรม หรือการรวมกลุ่มจังหวัดในการพัฒนา พรรคของท่านมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ? นายจาตุรนต์ กล่าวว่า สำหรับเขตปกครองพิเศษทางวัฒนธรรม เข้าใจยากและนึกไม่ออกว่าหมายถึงอย่างไร ส่วนเขตปกครองพิเศษทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุน EEC ก็เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่พรรคเพื่อไทยจะเสนอเขตเศรษฐกิจพิเศษในทางที่น่าจะก้าวหน้ากว่า EEC ในสัก 4-5 จังหวัด ภาคละ 1 แห่ง มีการยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทั้งหลาย โดยเฉพาะนวัตกรรม ทำเรื่องใหม่แล้วมีปัญหาติดขัด กฎระเบียบ การบังคับใช้กฎหมาย ระบบแรงงานข้ามชาติเป็นต้น ต้องมีการแก้ไข ส่วนที่ไม่ได้ใช้คำนี้ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่คือเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง เลือกผู้ว่าฯจังหวัด เป็นเรื่องภาพรวม เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น