วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

"ทนายยิ่งลักษณ์" โต้ "วรงค์" ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 5


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

วันนี้ (11 ก.ค. 60) ขอแสดงความคิดเห็น กรณีที่ นายวรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาพูดถึง กรณีทีมทนายความของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อขอให้ศาลฎีกาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 5 กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดหรือแย้ง กับ มาตรา 235 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าเป็นการประวิงคดีนั้น ก็อยากจะยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการประวิงคดี แต่เป็นไปตาม สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในกระบวนการยุติธรรม ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 ย่อมจะต้องต่อสู้คดี ทั้งในข้อเท็จจริง และ ข้อกฎหมายในเรื่องที่ถูกกล่าวหา

การที่นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ออกมาให้ข่าวเช่นนั้น น่าจะไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมายในการพิจารณาคดีของศาล และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บังคับใช้แล้ว ทำให้การให้ข่าวของนายวรงค์เกิดความสับสน และกดดันการพิจารณาคดีของศาล และ ยังเป็นการสร้างความเสียหาย ให้กับ น.ส. ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และทีมทนายความเป็นอย่างมาก ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และเกิดความเสียหาย ในฐานะหนึ่งในทีมทนายความ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบคดีนี้ จำเป็นต้องชี้แจง ข้อเท็จจริง ว่า

1.คดีนี้สืบเนื่องมาจาก ก่อนที่อัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้นั้น ได้มีอดีตกรรมการ ป.ป.ช. เจ้าของสำนวนยืนยันว่า รายงานการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่กล่าวหา น.ส. ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มีพยานหลักฐานแน่นหนาไม่ต้องไต่สวนใดๆ เพิ่มเติมอีก และได้การกล่าว “ตำหนิ” อดีตอัยการสูงสุดในขณะนั้น และเร่งรัดให้ฟ้องคดี จนอดีตอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องต่อ น.ส. ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยต่อศาลฎีกา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558

2. ชั้นพิจารณาคดีของศาลนั้น ศาลได้ใช้มาตรา 5 ของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ “ในการพิจารณาคดี ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร” ทำให้โจทก์อาศัยกฎหมายดังกล่าว เพิ่มเติมพยานหลักฐานใหม่ ทั้งพยานบุคคล และพยานเอกสารอีกจำนวนกว่าแสนแผ่นเข้ามาในคดี ดังนี้

  • 2.1 เอกสารเกี่ยวกับ รายงานผลการตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ชุด มล.ปนัดดา ดิศกุล ฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นการที่จัดทำขึ้นมาใหม่ภายหลังจาก น.ส. ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นตำแหน่งแล้ว 7 เดือน และอ้างพยานบุคคล ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้ไต่สวนไว้เพิ่มเติมเข้ามาอีก
  • 2.2 เอกสารเกี่ยวกับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คดีหมายเลขดำที่ ปช. 03-2-240/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ปช. 007-2-5/2558 ระหว่าง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข กับพวกรวม 3 คน ผู้กล่าวหา นายภูมิ สาระผล กับพวกรวม 111 คนผู้ถูกกล่าวหา เอกสารในสำนวนคดีอาญาคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ นายภูมิ สาระผล กับพวกรวม 21 คน จำเลย จำนวน 7 หมื่นกว่าแผ่น ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช ไม่ได้ไต่สวนไว้ในคดีนี้ 

ซึ่งในการเพิ่มเติมพยานหลักฐานใหม่ ทั้งพยานบุคคล และพยานเอกสาร โดยอาศัยมาตรา 5 ของกฎหมาย วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ในตอนท้ายที่ระบุว่า “และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร” ในขณะนั้นจำเลยได้คัดค้านการอ้างเอกสารใหม่ต่อศาลแล้วว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ และได้รับความเสียหาย เพราะ จำเลยไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านเอกสารที่เพิ่มใหม่เสียตั้งแต่ในชั้นสอบสวนที่ถูกกล่าวหา และประการสำคัญเอกสารใหม่ที่เพิ่มเป็นเรื่องที่กล่าวหาจำเลยในคดีอื่นที่มิได้รวมการพิจารณากับคดีของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี

3.ในระหว่างการพิจารณา รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 โดยมีบัญญัติไว้ในมาตรา 235 วรรค 6 ว่า การพิจารณาของศาลฎีกา และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้นำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติเป็นหลักในการพิจารณา แต่ก็ได้เพิ่มเติมข้อความตอนท้าย ว่า และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้” ซึ่งแตกต่างและขัดแย้งกับ มาตรา 5 ของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ในตอนท้ายที่ระบุว่า “และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร” โดยไม่มีเงื่อนไขในเรื่องการไต่สวนเพิ่มเติมเช่นเดียวกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้แล้ว จึงถือว่ากฎหมายที่ศาลใช้รับเอกสารเพิ่มเติมใหม่ของโจทก์ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

4. ทีมทนายเห็นว่า การพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ ควรสอดคล้องต้องตรงกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เปลี่ยนไปจากมาตรา 5 ของกฎหมายที่ใช้ในขณะที่โจทก์เพิ่มเอกสารใหม่ต่อศาล เมื่อขณะนี้การพิจารณาของศาลฎีกาฯ ยังไม่เสร็จสิ้น หากปล่อยให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นจะทำให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ หมดโอกาสและเสียสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองไว้โดยสิ้นเชิง อีกทั้งจะทำให้ไม่มีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายที่เป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และทำให้เรื่องที่จำเลยร้องขอ และมีข้อโต้แย้งต่อกฎหมายที่ศาลฎีกาฯ ใช้ในการพิจารณาคดีว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รับการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นสาระสำคัญที่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญเสียให้สิ้นกระแสความก่อนที่ศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาในคดีนี้

ผมเห็นว่าตลอดมา น.ส. ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความร่วมมือในการพิจารณาคดีของศาล ไม่เคยขอเลื่อนการพิจารณาคดี และมีการสืบพยานจำเลยทุกนัด อันทำให้เห็นได้ว่าไม่มีพฤติการณ์ประวิงคดีแต่อย่างใด แต่เมื่อมีข้อกฎหมายที่สำคัญ และเป็นข้อกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา ซึ่งมีอัตราโทษสูง ก็ขอโอกาสต่อ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ได้ต่อสู้คดีทั้งในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายให้ครบถ้วนก่อนที่ศาลจะได้มีคำพิพากษาในคดีนี้

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 5
http://www.mx7.com/view2/zYFndoOh7PQGdjBj

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 235 วรรค 6 
http://www.mx7.com/view2/zYFocJ8gbl0vG9Q6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น