วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2561

"ชวลิต" อัดรัฐบริหารรัฐวิสาหกิจไร้ประสิทธิภาพ-กระทบเศรษฐกิจ


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า 4 ปี คสช. ควรยอมรับความจริงเชิงประจักษ์ว่า เศรษฐกิจฐานรากย่ำแย่ เห็นได้จากชาวบ้านบ่นกันถ้วนทั่วว่า เงินในกระเป๋าถดถอย หนี้สินครัวเรือนเพิ่มพูน โพลทุกสำนักสำรวจครั้งใดปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง เป็นปัญหาสำคัญสูงสุดมาตลอด 4 ปี

นายชวลิต กล่าวว่า ยังมีอีกภาคส่วนหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบว่ากำลังประสบปัญหาในเชิงนโยบายและการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดการตรวจสอบ คือ บรรดารัฐวิสาหกิจทั้งหลาย ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง ปรากฎว่า 4 ปี ของ คสช. และรัฐบาล รัฐวิสาหกิจหลายแห่งกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก สะท้อนนโยบายที่ผิดพลาด และการตั้งบอร์ดที่ไม่มีประสบการณ์เข้าไปบริหาร ทั้งนี้ ขอให้ติดตามอีกหลายรัฐวิสาหกิจที่พนักงานเริ่มทนสภาพความเสียหายต่อไปไม่ไหว ทั้งจากนโยบายของรัฐบาล และความรู้ ความสามารถของบอร์ดที่ทำให้องค์กรและประเทศชาติเสียประโยชน์

นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลถูกวิพากษ์อย่างมากมาตลอดว่า การตั้งบุคคลที่ไม่มีประสบการณ์เข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทำให้รัฐวิสาหกิจนั้นๆ เสียโอกาสในการแข่งขัน ทำความเสียหายให้กับประเทศอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบหรอกว่า รัฐวิสาหกิจมีงบลงทุนประจำปีมากพอๆ กับงบลงทุนของรัฐบาล นับเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนควรติดตาม และให้ความสำคัญในการตรวจสอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ

นายชวลิต กล่าวในที่สุดว่า ปกติในการลงทุนพัฒนาประเทศที่สมบูรณ์ ภาคเอกชนจะนำหน้า ภาครัฐสนับสนุน เดินไปด้วยกัน เกื้อกูลสนับสนุนกัน เหมือนกับคนที่ต้องเดินสองขา ร่างกายถึงจะสมดุล แต่ประเทศไทยขณะนี้ ลงทุนโดยภาครัฐเป็นหลัก เพราะภาคเอกชนไม่เชื่อมั่นรัฐบาล จึงเหมือนกับเดินขาเดียว กลายเป็นคนพิการที่เดินกระโผลกกระเผลก ทั้งยังพิการซ้ำซ้อนจากงบประมาณที่ทุ่มเทลงไปมหาศาลในรอบ 4 ปี แต่ผลลัพธ์ที่กลับคืนมาปรากฎว่า รวยกระจุกกับภาคส่วนกลุ่มทุนบางกลุ่ม แต่จนกระจายในภาคเกษตรและผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ดังนั้น เวลา 4 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นเครื่องพิสูจน์เชิงประจักษ์แล้วว่า ด้วยระบบการเมือง การปกครองที่ไม่ปกติ และผู้บริหารที่ยึดติดในอำนาจสมควรที่จะหันมามองตัวเองว่า สมควรที่จะพอแล้วหรือยังกับอำนาจที่ทำความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชน


ขอฝากข้อสังเกตว่า ผู้นำที่อยู่ในอำนาจบนความทุกข์ยากของประชาชนจะนั่งอย่างเป็นสุขได้อย่างไร? อารมณ์จะกราดเกรี้ยว หงุดหงิดง่าย ขาดสติ จึงฝากให้นำหลักพุทธมาปฏิบัติ คือ ละวางจากอำนาจ ให้บ้านเมืองเดินไปตามครรลองที่ควรจะเป็น เฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรใช้กลไกอำนาจรัฐปูทางสืบทอดอำนาจ เพราะยิ่งจะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น