วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

"ทวี" ย้ำร่างฯ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ ต้องยึดโยงประชาชน-สิทธิมนุษยชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ “ให้ยึดโยงประชาชนและสิทธิมนุษยชน”
.
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง กับ ส.ส.พรรคประชาชาติ และคณะ ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กำหนดให้พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นหรือต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าสวนแห่งชาติ และกำหนดให้พื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนให้เพิกถอนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ทับซ้อนออกและให้กรมที่ดินดำเนินการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมายหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

.
นอกจากนี้ กำหนดให้การพิจารณาอนุญาตเพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพิจารณา โดยให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย ตามหลักการสิทธิชุมชนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย
.
ปัจจุบัน พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ในพื้นที่ 77 จังหวัด มีพื้นที่ตามความเป็นจริงทั้งหมดประมาณ 60,379,343.94 ไร่ (แต่พื้นที่ตามประกาศท้ายกฎหมายก่อนทำการปรับปรุงฯประมาณ 146,376,720.90ไร่) แบ่งตามแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลางประมาณ 4,177,584.76 ไร่ ภาคตะวันออกประมาณ 1,863,461.61 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 12,395,887.17 ไร่ ภาคใต้ประมาณ 4,479,425.77 ไร่ ภาคใต้และภาคใต้ชายแดนประมาณ 1,561,206.85 ไร่ และภาคเหนือประมาณ 35,901,777.78 ไร่
.
ร่างได้เสนอแก้ไขการอนุญาตตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ที่ให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และปัญหาพื้นที่ที่หมดอายุการอนุญาต การดำเนินการ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2546 มีผลบังคับใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดกระบี่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยแก้ไขเพิ่มเติมว่า
.
“การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพิจารณา โดยให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
.
เหตุที่ต้องมีการแก้ไข ในการพิจารณาการใช้ประโยชน์เพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพิจารณา และประชาชน ชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์นำจัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองและเป็นคนในพื้นที่เป็นหลัก หรือนำพื้นที่ไปจัดการให้เป็นป่าชุมชน ฟื้นฟูสภาพป่า ป่าในเมือง หรือป่าเศรษฐกิจชุมชน
.
ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้อนุญาตผู้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ รวมทั้งหมด 8,119 ราย แบ่งเป็น ส่วนราชการ 6,467 ราย และภาคเอกชน 1,652 ราย ในพื้นที่มากเกือบ 4 ล้านไร่ ( ข้อมูลที่รวบรวมยังไม่ครบทุกแปลงประมาณ 3.79 ล้านไร่ ) ที่รัฐให้เช่าในราคาถูกมากๆ บางแปลงไร่ละ 50 สตางค์/ปี ในจำนวนนี้ มีการอนุญาตให้นายทุนเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันและปลูกยางพารา 115 ราย ในพื้นที่กว่า 222,322.26 ไร่ ขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
.

.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น