วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

“ชยิกา” ย้ำนโยบายเพื่อไทย ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ดูแลแรงงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ


#TV24 1 พฤษภาคม 2558 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "แซนด์-ชยิกา วงศ์นภาจันทร์" (บุตรสาว นางเยาวเรศ ชินวัตร) ในฐานะอดีตคณะทำงานจัดทำนโยบายพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook : Sand Wongnapachant โดยมีเนื้อหาดังนี้


วันแรงงานแห่งชาติ นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องชาวแรงงาน ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ นอกจากกลุ่มแรงงานเป็นกลจักรสำคัญสำหรับในภาคการผลิตมวลรวมของประเทศแล้ว เนื่องจากแรงงานคือประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ แรงงานเองจึงเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอีกด้วย พูดง่ายๆก็คือ ความกินดีอยู่ดี และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงาน ส่งผลให้คนไทยทั้งประเทศกินดีอยู่ดีตามไปด้วย

ที่ผ่านมารัฐบาลทักษิณ และ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงมุ่งเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน 2 ส่วนคือ
1. สวัสดิการแรงงาน หรือ หลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค และ 2. นโยบายสร้างรายได้ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ปริญญาตรี 15,000 บาท

สำหรับการดูแลด้านคุณภาพชีวิตแรงงาน นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท รุ่นที่ 8 เป็นผู้บุกเบิกและผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผ่านรัฐบาลทักษิณจนเป็นที่รู้จักกันในนาม “30 บาทรักษาทุกโรค” นั้น มีหลักปรัชญานโยบายเพื่อสร้าง “ความเข้าถึง” (Access) และ “เท่าเทียม” (Equality) ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่จำเป็นต้องได้รับการ “บริจาค” หรือ “เสียสละ” จากใคร

ต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ สานต่อนโยบายดังกล่าวในนามของ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ด้วยการพัฒนา ปรับปรุง “คุณภาพ” (Quality) การให้บริการที่ต่อเนื่องครอบคลุมประชาชนมากขึ้น ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้ทุกโรงพยาบาล โดยไม่มีการถามสิทธิ และไม่ต้องสำรองจ่าย ตลอดจนขยายขอบเขตการดูแลค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยโรคไตและผู้ติดเชื้อเอชไอวี เด็กแรกเกิด คนชรา ผู้พิการ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น

สำหรับการดูแลด้านการสร้างรายได้ให้กับประชาชนกลุ่มแรงงาน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และ เงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท ซึ่งนโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ โดยต้นทุนแรงงาน 300 บาท ไม่ใช่ “ปัญหาเศรษฐกิจ” อย่างที่บางคนหยิบจับเอามาโจมตี เพราะถ้ารัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ภาคเอกชนอยู่ได้ ด้วยการส่งเสริมการส่งออก ดึงดูดนักลงทุน นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ หรือสามารถเร่งการลงทุนโดยภาครัฐได้ เมื่อภาคเอกชนมีรายได้ ก็จะสามารถจ่ายค่าแรงได้ด้วย เพราะท้ายที่สุด ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันด้วย “ราคา” แต่ต้องแข่งขันกันที่การสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” เพื่อสร้างความ “แตกต่าง” ผลักดันให้แรงงานไทยจาก “แรงงานกึ่งฝีมือ” ไปเป็น “แรงงานมีฝีมือ”

1 ความคิดเห็น: