วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

“พิชัย” แนะทีมเศรษฐกิจรัฐบาลอย่าหลอกตัวเอง เร่งแก้ปัญหาให้ถูกทาง

   


     นาย พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การส่งออกติดลบเป็นเดือนที่ 4 ติดกันความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และผลสำรวจของประชาชนพบว่า 74.1% คิดว่าเศรษฐกิจมีแต่ทรงกับทรุด ซึ่งเป็นไปตามที่ได้เคยเตือนไว้แล้ว ดังนั้นจึงอยากให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้รับสภาพความเป็นจริงของ เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จะได้แก้ไขได้อย่างถูกวิธี การที่ ม.ร.ว ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ออกมาบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นจากการเก็บภาษีแวตได้เพิ่มขึ้น แต่กรมสรรพากรกลับบอกว่าจะเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าถึง1.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการขัดแย้งกันอย่างชัดเจน หรือ บอกว่าเศรษฐกิจฟื้นจากเจริญเติบโตในไตรมาสแรกที่ 3 % ทั้งๆที่โตมาจากฐานเดิมปีที่แล้วที่ ติดลบ แถมยังมีการเปลี่ยนวิธีการคำนวณใหม่ ซึ่งนักวิชาการยังสงสัยเพราะในไตรมาสแรกนี้การส่งออกลดลงถึง - 4.65% และหากได้ สอบถามประชาชนจะพบว่ายังลำบากมาก ชาวนาขายข้าวไม่ได้ราคา ชาวสวนยาง และ ชาวสวนปาล์ม ต้องขาดทุนป่นปี้ ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมลูก แรงงานก็รายได้ลดเพราะขาดรายได้จากโอที คนหาเช้ากินค่ำ พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ก็ย่ำแย่ไปด้วยเพราะขายของไม่ได้ โจรผู้ร้ายชุกชุม ห้างสรรพสินค้าและบริษัทใหญ่ๆยอดขายตกกันเป็นแถว ทิศทางอนาคตของประเทศก็แย่เพราะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาเลยตั้งแต่ต้นปี แล้วอย่างนี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นได้อย่างไร ดังนั้นจึงอยากให้รับสภาพความเป็นจริงและเร่งแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี ซึ่งหากมองไม่เห็นสภาพนี้ก็ควรจะมีการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


ดังนั้นจึงอยากฝาก 5 คำถามไปยังรัฐบาลและทีมเศรษฐกิจให้ช่วยตอบดังนี้

1) การที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเชื่อว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้ว ดังนั้นจึงไม่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่กำลังลำบากมาก เช่น เกษตรกรที่ประสพปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร

2) การที่กระทรวงคมนาคมมีแผนงานการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน แต่ทีมเศรษฐกิจกลับบอกว่าไม่มีเงิน ทั้งๆที่มีเงินล้นระบบธนาคารอยู่ในปัจจุบันถึง 8-9แสนล้านบาท แสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพในวิธีคิดของทีมเศรษฐกิจหรือไม่

3) การขยายโรดแมปใน การเลือกตั้งออกไปอีกจะมีผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนในประเทศ และต่างประเทศหรือไม่ จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจฟื้นช้าหรือทรุดตัวอีกหรือเปล่า

4) การที่ประธานกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญออกมาบอกว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาให้อำนาจแก่ประชาชนทั้งๆที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น จะนำไปสู่ปัญหาความเชื่อมั่นเพิ่มเติมหรือไม่

5) ทิศทางอนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร การสร้างความเชื่อมั่น การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจะเป็นอย่างไร เพราะเห็นแต่ได้ยินว่าฟื้นหรือไม่ฟื้นแต่ยังไม่เห็นบอกว่าอนาคตจะพัฒนาอย่างมั่นคงต่อไปได้อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น