วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

“กิตติรัตน์” โต้ตัวเลขปิดบัญชีข้าว สร้างมูลหนี้ความเสียหายเพิ่มหวังโยนบาป ยิ่งลักษณ์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง โพสต์ข้อความผ่าน Facebook : Kittiratt Na-Ranong โดยมีเนื้อหาดังนี้

มีโอกาสติดตามการแถลงข่าว เรื่องการปิดบัญชี โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ของรัฐบาลก่อน แล้วอยากติงท่านปลัดกระทรวงการคลัง เป็นข้อสังเกตสัก 2 ประการ ซึ่งข้อสังเกต ประการแรกของผม คือ

ท่านยังคงรายงานตัวเลขทางบัญชี ของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ของรัฐบาลก่อนๆ ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งโครงการเหล่านั้นเกือบทั้งหมดไม่มีข้าวในสต๊อคคงเหลือ และไม่มีหนี้คงค้างแล้ว โดยโครงการเหล่านั้นน่ะ รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้จัดสรรงบประมาณไปคืนหนี้ อย่างต่อเนื่องให้จนหนี้คงค้างหมดสิ้น ไม่มีความจำเป็นต้องฟื้นฝอยมารายงานซ้ำๆ และเอาไปรวมกับโครงการฯ ที่กำลังเป็นคดีความอยู่แต่อย่างใด ยกเว้นท่านจะตกหลุม การรายงานให้แสดงตัวเลขสูงๆ เข้าไว้ตามแนวทางของเจ้าหน้าที่ยุคก่อนท่าน ที่ตั้งจุดยืนแบบปรักปรำกันให้ดูเป็นความเสียหายของการอุดหนุนชาวนาด้วยวิธีการ รับจำนำ ทั้งๆ ที่เป็นโครงการฯ ที่ต่างยุคหลากหลายรัฐบาล และไม่เกี่ยวกันกับโครงการฯ ที่ท่านปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานอนุกรรมการปิดบัญชีอยู่ แต่ถ้าท่านจะให้เกี่ยวกันให้จงได้ ก็ควรจะชี้แจงว่าโครงการเหล่านั้น รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ชำระหนี้ย้อนหลังให้มากเพียงใดจนโครงการฯ นั้นๆ ไม่มีหนี้คงค้างเหลืออยู่เลยทั้งๆ ที่อาจจะเอางบประมาณจำนวนดังกล่าวมาลดวงเงินหมุนเวียนของโครงการของรัฐบาลก่อนเท่านั้น ก็ย่อมทำได้ ผมรู้สึกไม่ดีและไม่เป็นธรรม ว่านอกจากความดีจะไม่ยกขึ้นมาแล้ว ยังทำให้คนตามข่าวตกใจกับตัวเลขทางบัญชีที่ทบเข้ามาอีกนับแสนล้านบาท

ประการที่สอง ตัวเลขทางบัญชีที่ท่านนำมาแถลงว่าขาดทุนเท่านั้นเท่านี้นั้น มีข้อสมมุติสำคัญคือ การประเมินราคาสินค้าคงคลัง ที่ขึ้นอยู่ความสามารถในการขายให้ได้ราคาที่ดี หรือไม่ดี และข้อสมมุติในเรื่องการเสื่อมสภาพของข้าวที่กำหนดกันขึ้นมาเอง ซึ่งก็ควรระบุให้สื่อมวลชนได้ทราบข้อสมมุติด้านราคา และ ข้อสมมุติด้านการเสื่อมสภาพให้ชัดเจน สาธารณชนจะได้ไม่คลางแคลงใจ เพราะที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่มีการดำเนินการขายที่ถูกกล่าวหาว่าไม่เหมาะสมจนข้าวที่ขายได้ราคาถูกแสนถูกทั้งๆ ที่มีผู้รู้ออกมาทักท้วง รวมทั้งการไม่เอาจริงเอาจังกับการเร่งขายข้าว ทั้งๆ ที่กระทรวงพาณิชย์เคยประกาศยุทธศาสตร์การระบายข้าวเอาไว้ หลังการรัฐประหารใหม่ๆ ซึ่งถ้าทำตามนั้นป่านนี้ ข้าวในสต๊อคก็คงหมดไปแล้ว และนำเงินไปลดเงินหมุนเวียนที่กู้มาดำเนินการจน เหลือน้อยทั้งต้นทั้งดอก แต่กลับขายถูก ขายช้า ตั้งข้อสมมุติการเสื่อมสภาพกันตามอำเภอใจ ค่าใช้จ่ายทางบัญชีมันจะไม่เบิกบานได้อย่างไร
ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะผมรักและเคารพ ดร.สมชัย สัจจพงษ์ เป็นอย่างยิ่ง ไม่อยากเห็นท่านถูกใครมองว่ากำลังตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น