วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561

"ทนายวิญญัติ" ท้วง สนช. เอื้อประโยชน์ต่ออายุ ป.ป.ช.


ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี เดินทางมาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อกล่าวโทษคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเสียงข้างมาก สมาชิก สนช. จำนวน157คน ที่ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ต่ออายุการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ต่อไป อาจขัดรัฐธรรมนูญ-ตรากฎหมายเอื้อประโยชน์

วันนี้ (31 มกราคม 2561) เวลา10.00น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) พร้อมคณะทำงาน ได้มายื่นหนังสือกล่าวโทษ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จำนวน 157 คน ที่เห็นชอบกับ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.... มาตรา 178  และกล่าวโทษกรรมาธิการวิสามัญเสียงข้างมาก ที่แก้ไขเพิ่มเติมร่างฯของ กรธ.   โดยร่วมกันตรากฎหมายที่มิได้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป มีการเลือกปฏิบัติ มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง  ตามรธน. 2560 มาตรา 26 วรรคสอง  มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยให้มีผลให้ยกเว้นมิให้นำคุณสมบัติ ตาม รธน.2560 มาตรา 232 มาใช้บังคับ เพื่อเอื้อให้กรรมการ ป.ป.ช. 7  คน ที่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช.ให้สามารถดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.อยู่อีก 9 ปี ไม่ต้องถูก Set Zero  ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ การกำหนดคุณสมบัติของกรรมการในองค์กรอิสระขึ้นใหม่เพื่อการปฏิรูปประเทศ  สนช.ตรากฎหมายเอื้อประโยชน์กับคนเพียง 7 คน จึงทำไม่ได้ จึงเห็นว่าเป็นการกระทำเข้าข่ายร่วมกัน หรือสมยอม หรือรู้เห็นเป็นใจในการต่ออายุการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ทับซ้อนโดยทุจริต ขาดหลักนิติธรรม

"นอกจากนี้ ยังพบว่า นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ ได้พูดกับ กรรมาธิการฯท่านหนึ่งว่าขออยู่ 7 ปี แสดงว่านางสาวสุภา รู้ดีว่าตนเข้าข่ายขาดคุณสมบัติและต้องพ้นจากตำแหน่ง แสดงเจตนาพิเศษเพื่อให้มีการตรากฎหมายเพื่อต่ออายุของตน และกรรมการป.ป.ช.อีกหลายคน จึงเข้าข่าย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นการเอื้อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. รวมถึง นางสาวสุภาฯ ซึ่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. คนหนึ่งที่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญฯ ด้วย ให้สามารถอยู่ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกได้จนกว่าจะครบวาระ ซึ่งการได้ประโยชน์ดังกล่าวไม่อาจกระทำได้โดยชอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันเป็นความผิดตามมาตรา 123/1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157"
       
"เราในฐานะประชาชน ที่เชื่อว่า สภาแห่งนี้กระทำการที่ผิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างโจ่งแจ้ง ไม่ยึดหลักนิติธรรม มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ อาจทำให้บ้านเมืองไร้กฎกติกาและไม่ได้รับการยอมรับ เพราะผู้ตรากฎหมายกระทำผิดเสียเอง  จึงต้องทำหน้าที่ให้มีผู้รับผิดชอบต่อการกระทำเหล่านี้" ทนายวิญญัติ กล่าว








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น