วันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

"จาตุรนต์" เตือน คสช. ฝืนลาก ป.ป.ช. อยู่ต่อ ขัดรัฐธรรมนูญ


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ทั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. ถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด พรป. จะหักล้างหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

คุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ในรัฐธรรมนูญในมาตรา 232 ส่วนลักษณะต้องห้ามของผู้ที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 216

กรรมการ ป.ป.ช. บางคนในชุดนี้สรรหาโดยการที่ คสช. ออกคำสั่งกำหนดองค์ประกอบกรรมการสรรหาขึ้นใหม่ให้ประธาน สนช. และรองนายกฯร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วย

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ใช้กับกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับ ป.ป.ช. ซึ่งอิงตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงอ่อนกว่าที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปัจจุบันอย่างมาก ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นประเด็นที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ในขณะนี้ คือ ถ้าเป็นข้าราชการประจำจะต้องเคยเป็นอธิบดีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และถ้าเคยเป็นข้าราชการการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี

กรรมการบางคนขาดคุณสมบัติ บางคนเข้าลักษณะต้องห้าม โดยเฉพาะประธาน ป.ป.ช. ขาดทั้งคุณสมบัติและเข้าลักษณะต้องห้ามด้วย จึงไม่สามารถเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญนี้ได้

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดว่ากรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับจะอยู่ในตำแหน่งอีกนานเท่าใด ให้กำหนดโดย พรป.

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า สนช. จะใช้ พรป. ต่ออายุให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือทั้งสองอย่างได้หรือไม่?

ดูจากเจตนาของการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดคุณสมบัติไว้สูงมาก ที่ต่อมาเรียกกันว่าเป็นคุณสมบัติขั้นเทพ กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้เข้มงวดเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาล อย่างที่โอ้อวดกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง รัฐธรรมนูญนี้ย่อมมีเจตนาให้ใช้เรื่องเหล่านี้ทันที ไม่ใช่อีก 7-8 ปีข้างหน้า

สนช. จะทำได้อย่างมาก ก็คือ กำหนดใน พรป. ให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้พ้นไปทันทีที่ พรป. ใช้บังคับ แต่ให้รักษาการต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่หรือมากกว่านั้น ก็คือ ให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ใช่ให้ชุดนี้เป็นไปจนครบวาระ ทั้งที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามอย่างที่เป็นอยู่

การออก พรป. นั้น ต้องทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ซึ่งกำหนดว่า เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และต้องมุ่งหมายให้มีการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ

การต่ออายุกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ทั้งชุดไปจนกว่าจะหมดวาระเดิมนั้น จึงขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน

หาก ป.ป.ช. ชุดนี้ยังทำหน้าที่ต่อไป ก็เท่ากับเรากำลังมี ป.ป.ช. ที่ตั้งโดยการแทรกแซงของ คสช. จนได้คนของ คสช. มาคุม ป.ป.ช. ในขณะที่ คสช. กำลังทำทุกอย่างเพื่อให้พวกตนได้อยู่ในอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง

ปัญหาก็คือ ถ้า คสช. ทำสำเร็จ ตั้งรัฐบาลนายกฯคนนอกได้ ใครจะตรวจสอบรัฐบาล จะไม่เกิดการทุจริตคอรัปชั่นกันใหญ่หรือ?

นี่หรือ คือ รัฐธรรมนูญปราบโกง

นี่หรือ คือ ที่ คสช. บอกว่าเข้ามาเพื่อปราบคอรัปชั่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น